จงยอมอยู่ใต้อำนาจที่พระเจ้าแต่งตั้งด้วยความภักดี
“พระยะโฮวาทรงเป็นผู้พิพากษาของเรา, พระยะโฮวาทรงเป็นผู้บัญญัติกฎหมายของเรา, พระยะโฮวาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของเรา.”—ยะซายา 33:22, ล.ม. (ฉบับแปลเก่าข้อ 23.)
1. ปัจจัยอะไรที่ทำให้ชาติอิสราเอลโบราณมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนชาติใด?
ชาติอิสราเอลได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี 1513 ก่อน ส.ศ. ในเวลานั้น ชาตินี้ยังไม่มีนครหลวง, ไม่มีแผ่นดินตั้งถิ่นฐาน, และไม่มีกษัตริย์ที่เห็นได้ด้วยตา. พลเมืองของชาตินี้เคยตกเป็นทาสมาก่อน. อย่างไรก็ตาม ชาติใหม่นี้ยังมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนชาติใดในอีกด้านหนึ่ง. พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นผู้พิพากษา, ผู้บัญญัติกฎหมาย, และกษัตริย์ที่ไม่ประจักษ์แก่ตาของชาตินี้. (เอ็กโซโด 19:5, 6; ยะซายา 33:22, ล.ม.) ไม่มีชาติอื่นใดจะกล่าวอ้างเช่นนั้นได้เลย!
2. เกิดคำถามอะไรขึ้นในเรื่องวิธีที่ชาติอิสราเอลได้รับการจัดระเบียบ และทำไมคำตอบในเรื่องนี้จึงสำคัญสำหรับเรา?
2 เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแห่งระเบียบและพระเจ้าแห่งสันติสุข เราจึงคาดหมายได้ว่าชาติใดก็ตามที่พระองค์ทรงปกครองจะมีการจัดระเบียบอย่างดี. (1 โกรินโธ 14:33) นั่นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริงกับชาติอิสราเอล. แต่องค์การที่ประจักษ์แก่ตาทางแผ่นดินโลกจะได้รับการชี้นำจากพระเจ้าที่ไม่ประจักษ์แก่ตาได้อย่างไร? เป็นประโยชน์ที่เราจะพิจารณาถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงปกครองชาติโบราณนี้ โดยสังเกตเป็นพิเศษว่าการดำเนินการของพระองค์กับชาติอิสราเอลเน้นความสำคัญของการยอมอยู่ใต้อำนาจด้วยความภักดีต่อผู้ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งอย่างไร.
วิธีที่พระเจ้าทรงปกครองชาติอิสราเอล
3. ในทางปฏิบัติ พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมการชี้นำให้แก่ไพร่พลของพระองค์โดยวิธีใด?
3 ถึงแม้พระยะโฮวาทรงเป็นกษัตริย์ที่ไม่ประจักษ์แก่ตาของชาติอิสราเอล พระองค์ทรงแต่งตั้งพวกผู้ชายที่สัตย์ซื่อให้เป็นตัวแทนที่มองเห็นได้ของพระองค์. มีพวกหัวหน้าประชาชน, หัวหน้าตระกูล, และผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นผู้พิพากษา. (เอ็กโซโด 18:25, 26; พระบัญญัติ 1:15) อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลงความเห็นว่า หากไม่ได้รับการชี้นำจากพระเจ้า พวกผู้ชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้สามารถพิพากษาเรื่องราวต่าง ๆ โดยทางใดทางหนึ่งด้วยความสังเกตเข้าใจและความเข้าใจอย่างที่ไม่มีทางจะผิดพลาดได้. พวกเขาไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถอ่านหัวใจเพื่อนร่วมนมัสการของพวกเขา. กระนั้น เหล่าผู้พิพากษาที่เกรงกลัวพระเจ้าสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนร่วมความเชื่อได้เพราะคำแนะนำนั้นอาศัยพระบัญญัติของพระยะโฮวาเป็นหลัก.—พระบัญญัติ 19:15; บทเพลงสรรเสริญ 119:97-100, ล.ม.
4. แนวโน้มอะไรที่พวกผู้พิพากษาที่สัตย์ซื่อของชาติอิสราเอลพึงระวัง และทำไม?
4 อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องสำหรับการเป็นผู้พิพากษามีมากกว่าการมีความรู้ในพระบัญญัติ. เนื่องจากเป็นคนไม่สมบูรณ์ พวกผู้เฒ่าผู้แก่จำต้องคอยระวังที่จะเหนี่ยวรั้งแนวโน้มใด ๆ ในการทำตามใจตนเอง เช่น ความเห็นแก่ตัว, ความลำเอียง, และความโลภที่อาจบิดเบือนการพิพากษาตัดสินของพวกเขา. โมเซบอกกับพวกเขาดังนี้: “เจ้าทั้งหลายอย่าเห็นแก่หน้าผู้ใดในการพิพากษา; จงฟังท่านผู้ใหญ่ผู้น้อยเหมือนกัน; เจ้าทั้งหลายอย่ากลัวผู้ใด เพราะการพิพากษานั้นเป็นการของพระเจ้า.” ถูกแล้ว พวกผู้พิพากษาของชาติอิสราเอลทำหน้าที่พิพากษาแทนพระเจ้า. ช่างเป็นสิทธิพิเศษที่มีเกียรติอย่างยิ่ง!—พระบัญญัติ 1:16, 17.
5. นอกจากจัดตั้งพวกผู้พิพากษาแล้ว พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอะไรอีกเพื่อดูแลไพร่พลของพระองค์?
5 พระยะโฮวาทรงทำการจัดเตรียมอย่างอื่นเพื่อดูแลความจำเป็นฝ่ายวิญญาณแก่ไพร่พลของพระองค์. แม้แต่ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางไปถึงแผ่นดินตามคำสัญญาด้วยซ้ำ พระองค์ทรงบัญชาให้พวกเขาสร้างพลับพลาเพื่อเป็นศูนย์กลางในการนมัสการแท้. พระองค์ยังทรงจัดตั้งคณะปุโรหิตให้สอนพระบัญญัติ, ถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชา, และเผาเครื่องหอมถวายในเวลาเช้าและเย็น. พระเจ้าทรงตั้งอาโรน พี่ชายของโมเซ ให้เป็นมหาปุโรหิตคนแรกของชาติอิสราเอล และแต่งตั้งเหล่าบุตรชายของอาโรนให้ช่วยบิดาของตนทำหน้าที่ต่าง ๆ.—เอ็กโซโด 28:1; อาฤธโม 3:10; 2 โครนิกา 13:10, 11.
6, 7. (ก) พวกปุโรหิตกับพวกเลวีที่ไม่ใช่ปุโรหิตมีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร? (ข) เราได้บทเรียนอะไรจากข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเลวีทำหน้าที่แตกต่างกัน? (โกโลซาย 3:23)
6 การเอาใจใส่ความจำเป็นฝ่ายวิญญาณสำหรับประชาชนหลายล้านคนเป็นงานที่ใหญ่โต และพวกปุโรหิตก็มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกันแล้ว. ดังนั้น จึงทรงจัดให้คนอื่น ๆ จากตระกูลเลวีทำหน้าที่ช่วยพวกปุโรหิต. พระยะโฮวาตรัสสั่งโมเซว่า “เจ้าต้องให้พวกเลวีไว้กับอาโรนและบุตรชายทั้งหลายของอาโรน. พวกเขาเป็นผู้ที่ทรงให้ไว้, ให้ไว้แก่เขาจากบุตรชายอิสราเอล.”—อาฤธโม 3:9, 39, ล.ม.
7 พวกเลวีเหล่านี้ได้รับการจัดระเบียบอย่างดี. พวกเขาถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มตามเชื้อวงศ์ คือ เฆระโชน, โคฮาธ, และมะรารี โดยเชื้อวงศ์หนึ่งได้รับงานมอบหมายอย่างหนึ่ง. (อาฤธโม 3:14-17, 23-37) งานมอบหมายบางอย่างอาจดูเหมือนสำคัญกว่าอย่างอื่น แต่งานทุกอย่างล้วนขาดไม่ได้. งานของลูกหลานโคฮาธแห่งตระกูลเลวีทำให้พวกเขาต้องอยู่ใกล้กับหีบสัญญาไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของพลับพลา. แต่ไม่ว่าจะอยู่ในเชื้อวงศ์โคฮาธหรือไม่ก็ตาม พวกเลวีต่างก็ได้รับสิทธิพิเศษที่น่าพิศวง. (อาฤธโม 1:51, 53) น่าเศร้า บางคนไม่หยั่งรู้ค่าสิทธิพิเศษที่ได้รับ. แทนที่จะยอมอยู่ใต้อำนาจที่พระเจ้าแต่งตั้งด้วยความภักดี พวกเขาเริ่มไม่พอใจและปล่อยให้ความหยิ่ง, ความมักใหญ่ใฝ่สูง, และความอิจฉาริษยา เข้าครอบงำพวกเขา. ชาวเลวีคนหนึ่งที่ชื่อโคราเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น.
“ท่านทั้งหลายต้องการแสวงหาตำแหน่งปุโรหิตด้วยหรือ?”
8. (ก) โคราเป็นใคร? (ข) อะไรอาจเป็นเหตุให้โคราเริ่มมองพวกปุโรหิตจากเพียงแง่คิดของมนุษย์?
8 โคราไม่ได้เป็นหัวหน้าตระกูลเลวี และไม่ได้เป็นหัวหน้าเชื้อวงศ์โคฮาธ. (อาฤธโม 3:30, 32) ถึงกระนั้น เขาเป็นหัวหน้าคนหนึ่งที่ได้รับความนับถือในอิสราเอล. หน้าที่การงานของโคราอาจทำให้เขาเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับอาโรนและเหล่าบุตรชายของอาโรน. (อาฤธโม 4:18, 19) เนื่องจากได้เห็นความไม่สมบูรณ์ของชายเหล่านี้ด้วยตาของตนเอง โคราอาจหาเหตุผลทำนองนี้: ‘เห็นชัดเจนว่าพวกปุโรหิตเหล่านี้มีข้อบกพร่อง แต่ฉันก็ยังถูกคาดหมายให้อยู่ใต้อำนาจพวกเขา! ไม่นานมานี้ อาโรนได้ทำรูปโคทองคำขึ้น. การนมัสการรูปโคนั้นทำให้ประชาชนของเราตกเข้าสู่การบูชารูปเคารพ. แต่ตอนนี้ อาโรนพี่ชายของโมเซกำลังรับใช้ในฐานะมหาปุโรหิต! ช่างเข้าข้างกันจริง ๆ! และนาดาบกับอะบีฮู ลูกชายของอาโรนล่ะ? จริง ๆ แล้ว พวกเขาก็ขาดความนับถืออย่างยิ่งต่อสิทธิพิเศษของตนในงานรับใช้ จนพระยะโฮวาถึงกับต้องลงโทษพวกเขาถึงตาย!’a (เอ็กโซโด 32:1-5; เลวีติโก 10:1, 2) ไม่ว่าโคราจะคิดเช่นไร เห็นได้ชัดว่าเขาเริ่มมองพวกปุโรหิตจากแง่คิดของมนุษย์. นั่นนำเขาเข้าสู่การกบฏต่อต้านโมเซและอาโรน และต่อต้านพระยะโฮวาในที่สุด.—1 ซามูเอล 15:23; ยาโกโบ 1:14, 15.
9, 10. ข้อกล่าวหาอะไรที่โคราและพวกที่ร่วมกบฏได้ต่อว่าโมเซ และทำไมพวกเขาน่าจะรู้ดีว่าไม่ควรทำเช่นนั้น?
9 เนื่องจากโคราเป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่ง จึงไม่ยากที่เขาจะรวบรวมคนอื่น ๆ ที่มีความคิดเห็นเหมือนกันกับเขา. โครา พร้อมกับดาธานและอะบีราม หาผู้สนับสนุนได้ 250 คน ทั้งหมดเป็นหัวหน้าชุมนุมชน. พวกเขาพากันไปหาโมเซและอาโรน แล้วกล่าวว่า “ชุมนุมชนทั้งสิ้นล้วนเป็นผู้บริสุทธิ์ และพระยะโฮวาสถิตท่ามกลางพวกเขา. แล้วไฉนท่านจึงยกตัวเองเหนือประชาคมของพระยะโฮวา?”—อาฤธโม 16:1-3, ล.ม.
10 พวกที่กบฏน่าจะรู้ดีว่าไม่ควรท้าทายอำนาจโมเซ. ไม่นานก่อนหน้านี้ อาโรนกับมิระยามได้ทำสิ่งเดียวกันนี้. อันที่จริง ทั้งสองคนนี้หาเหตุผลคล้ายกันกับของโคราด้วยซ้ำ! ตามที่บันทึกในพระธรรมอาฤธโม 12:1, 2 (ล.ม.) พวกเขาถามว่า: “พระเจ้าตรัสโดยทางโมเซเท่านั้นหรือ? พระองค์ตรัสทางเราด้วยมิใช่หรือ?” พระยะโฮวาทรงสดับฟังอยู่. พระองค์ทรงสั่งให้ โมเซ, อาโรน, และมิระยาม ไปชุมนุมกันที่ทางเข้าพลับพลาประชุมเพื่อทรงชี้แจงเรื่องการเลือกผู้นำของพระองค์. จากนั้น โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่คลุมเครือ พระยะโฮวาทรงตรัสว่า “ถ้าจะมีผู้ทำนาย [“ผู้พยากรณ์,” ล.ม.] ท่ามกลางเจ้าทั้งหลายแล้ว, เราเป็นยะโฮวาจะสำแดงแก่คนนั้น, แลเราจะตรัสสนทนาด้วยเขาในความสุบินนิมิต. แต่โมเซทาสของเราเป็นสามิภักดิ์ในบรรดาการงานของเราก็ไม่เป็นดังนั้น [“โมเซผู้รับใช้ของเราหาเป็นเช่นนั้นไม่! ท่านได้รับมอบหมายให้ดูแลเรือนทั้งสิ้นของเรา,” ล.ม.].” จากนั้น พระยะโฮวาทรงลงโทษมิระยามให้เป็นโรคเรื้อนชั่วคราว.—อาฤธโม 12:4-7, 10.
11. โมเซได้จัดการกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโคราอย่างไร?
11 โครากับพวกที่อยู่ฝ่ายเขาต้องรู้เหตุการณ์นั้นดีอยู่แล้ว. ข้ออ้างในการกบฏของพวกเขาจึงฟังไม่ขึ้น. ถึงกระนั้น โมเซพยายามหาเหตุผลอย่างอดทนกับพวกเขา. ท่านกระตุ้นให้พวกเขาหยั่งรู้ค่ามากขึ้นต่อสิทธิพิเศษที่ได้รับ โดยกล่าวว่า “เป็นการเล็กน้อยแก่ท่านทั้งหลายหรือ ซึ่งพระเจ้าของพวกอิสราเอลได้เลือกท่านทั้งหลายออกจากชุมนุมชนอิสราเอล เพื่อนำท่านทั้งหลายมาใกล้พระองค์?” เปล่า ไม่เป็น “การเล็กน้อย” เลย! พวกเลวีได้รับมากอยู่แล้ว. พวกเขายังอยากได้อะไรอีก? คำกล่าวต่อมาของโมเซเปิดโปงความคิดในหัวใจพวกเขา: “ท่านทั้งหลายต้องการแสวงหาตำแหน่งปุโรหิตด้วยหรือ?”b (อาฤธโม 12:3; 16:9, 10, ล.ม.) แต่พระยะโฮวาทรงมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการกบฏต่อต้านอำนาจที่พระองค์แต่งตั้ง?
องค์ผู้พิพากษาของอิสราเอลเข้าแทรกแซง
12. ชาติอิสราเอลต้องทำอะไรเพื่อจะรักษาสัมพันธภาพอันดีกับพระเจ้าไว้?
12 เมื่อพระยะโฮวาทรงประทานพระบัญญัติแก่ชาติอิสราเอล พระองค์บอกกับพวกเขาว่า ถ้าเขาเชื่อฟัง เขาจะกลายเป็น ‘ชาติบริสุทธิ์’ และเป็นชาติบริสุทธิ์เรื่อยไปตราบเท่าที่พวกเขายอมรับการจัดเตรียมของพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 19:5, 6) แต่บัดนี้ การกบฏอย่างเปิดเผยกำลังมุ่งหน้าต่อไป จึงเป็นเวลาเหมาะที่องค์ผู้พิพากษาและผู้บัญญัติกฎหมายของอิสราเอลจะทรงเข้าแทรกแซง! โมเซกล่าวกับโคราว่า “พรุ่งนี้เช้าให้ท่านกับบรรดาพรรคพวกของท่านมาต่อพระพักตร์พระยะโฮวา, ทั้งท่านกับเขากับอาโรนด้วย. แลให้ทุกคนเอากะถางไฟของเขาใส่เครื่องหอมมาต่อพระพักตร์พระยะโฮวา ให้ทุกคนถือกะถางไฟของเขา ทั้งสองร้อยห้าสิบกะถางนั้น, ทั้งท่านเองกับอาโรนทุกคนถือกะถางไฟมา.”—อาฤธโม 16:16, 17.
13. (ก) ทำไมการเผาเครื่องหอมถวายพระยะโฮวาของพวกกบฏจึงเป็นการทำเกินสิทธิ์? (ข) พระยะโฮวาทรงจัดการกับพวกกบฏอย่างไร?
13 ตามพระบัญญัติของพระเจ้า เฉพาะพวกปุโรหิตเท่านั้นที่จะเผาเครื่องหอมถวายได้. ความคิดในเรื่องการเผาเครื่องหอมถวายพระยะโฮวาโดยชาวเลวีที่ไม่ใช่ปุโรหิตนั้นน่าจะทำให้พวกที่กบฏได้สติ. (เอ็กโซโด 30:7; อาฤธโม 4:16) แต่ไม่เป็นเช่นนั้นกับโคราและฝ่ายที่สนับสนุนเขา! วันรุ่งขึ้น โครา “ก็ร่วมชุมนุมชนที่ทางเข้าเต็นท์นัดพบ ประจัญหน้าเขาทั้งสอง [โมเซและอาโรน].” บันทึกนั้นบอกเราว่า “พระเจ้าตรัสกับโมเสสและอาโรนว่า ‘จงแยกตัวออกเสียจากชุมนุมชนนี้ เพื่อเราจะผลาญเขาเสียในพริบตาเดียว.’” แต่โมเซและอาโรนวิงวอนขอให้สงวนชีวิตประชาชนเหล่านี้ไว้. พระยะโฮวาทรงทำตามคำขอของพวกเขา. แต่ส่วนโครากับพรรคพวกของเขานั้น “ไฟออกมาจากพระเจ้า เผาผลาญคนทั้งสองร้อยห้าสิบที่ได้ถวายเครื่องหอมนั้นเสีย.”—อาฤธโม 16:19-22, 35,c ฉบับแปลใหม่.
14. ทำไมพระยะโฮวาจึงลงมือจัดการอย่างเด็ดขาดต่อชุมนุมชนอิสราเอล?
14 น่าแปลกใจจริง ๆ ชาวอิสราเอลที่ได้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงจัดการกับพวกกบฏอย่างไรนั้นไม่ได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์นี้. “ในวันพรุ่ง คนทั้งปวงในพวกยิศราเอลก็ได้พูดบ่นติเตียนต่อโมเซแลอาโรนว่า ‘ท่านทั้งหลายได้ประหารชีวิตคนของยะโฮวา.’” ชาวอิสราเอลกำลังเข้าข้างฝ่ายคบคิดการกบฏ! ในที่สุด ความอดทนของพระยะโฮวาก็ถึงที่สุด. ในตอนนี้ ไม่มีใครสักคนเดียว ไม่ว่าโมเซหรืออาโรน ที่จะขอการอภัยให้ประชาชนเหล่านี้ได้. พระยะโฮวาทรงบันดาลให้เกิดภัยพิบัติแก่บรรดาคนที่ไม่เชื่อฟัง และ “คนทั้งปวงที่ตายด้วยโรคภัยนั้นนับได้หมื่นสี่พันเจ็ดร้อยคน, แต่คนที่ตายในการของโครานั้นต่างหาก.”—อาฤธโม 16:41-49.
15. (ก) ทำไมพวกอิสราเอลไม่ควรลังเลใจยอมรับตำแหน่งผู้นำของโมเซและอาโรน? (ข) เรื่องนี้สอนอะไรคุณเกี่ยวกับพระยะโฮวา?
15 ผู้คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องสูญเสียชีวิตเลย. หากเพียงพวกเขาได้คิดหาเหตุผลในเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน. พวกเขาอาจถามตัวเองด้วยคำถามอย่างเช่น: ‘ใครที่ได้เสี่ยงชีวิตของพวกเขาไปปรากฏตัวต่อหน้าฟาโรห์? ใครที่ได้เรียกร้องให้ปล่อยพวกอิสราเอลเป็นอิสระ? หลังจากที่พวกอิสราเอลได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว ใครกันที่ได้รับเชิญให้ขึ้นไปบนภูเขาโฮเรบเพียงลำพัง เพื่อสนทนาหน้าต่อหน้ากับทูตของพระเจ้า?’ ประวัติอันโดดเด่นของโมเซและอาโรนให้ข้อพิสูจน์ถึงความภักดีต่อพระยะโฮวาและความรักต่อประชาชนเหล่านี้อย่างไม่มีข้อสงสัย. (เอ็กโซโด 10:28; 19:24; 24:12-15) พระยะโฮวาไม่ได้ทรงพอพระทัยในความตายของพวกกบฏ. แต่เมื่อเห็นได้ชัดว่าผู้คนเหล่านั้นมุ่งหน้าต่อไปในการกบฏของพวกเขา พระองค์ก็ทรงลงมือจัดการอย่างเด็ดขาด. (ยะเอศเคล 33:11) เรื่องทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพวกเราสมัยนี้. เพราะเหตุใด?
การระบุตัวผู้เป็นร่องทางนั้นในทุกวันนี้
16. (ก) มีหลักฐานอะไรที่น่าจะทำให้ชาวยิวในศตวรรษแรกเชื่อมั่นว่าพระเยซูเป็นตัวแทนของพระยะโฮวา? (ข) พระยะโฮวาทรงแทนที่คณะปุโรหิตที่สืบมาจากตระกูลเลวีด้วยสิ่งใด และทำไม?
16 ทุกวันนี้ มี “ชาติ” ใหม่ชาติหนึ่งที่มีพระยะโฮวาเป็นผู้พิพากษา, ผู้บัญญัติกฎหมาย, และกษัตริย์ที่ไม่ประจักษ์แก่ตาของชาตินี้. (มัดธาย 21:43, ล.ม.) “ชาติ” นี้ก่อกำเนิดในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช. ในตอนนั้น พลับพลาในสมัยโมเซถูกแทนที่ด้วยพระวิหารอันงดงามที่กรุงเยรูซาเลม ซึ่งพวกเลวียังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่นั่น. (ลูกา 1:5, 8, 9) อย่างไรก็ตาม ในปี ส.ศ. 29 พระวิหารอีกหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นพระวิหารฝ่ายวิญญาณ ถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีพระเยซูคริสต์เป็นมหาปุโรหิต. (เฮ็บราย 9:9, 11) เกิดคำถามขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับอำนาจที่พระเจ้าแต่งตั้ง. พระยะโฮวาจะทรงใช้ใครให้นำ “ชาติ” ใหม่นี้? พระเยซูทรงพิสูจน์ตัวว่าภักดีอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อพระเจ้า. พระองค์ทรงรักผู้คน. พระองค์ทรงทำหมายสำคัญหลายอย่างที่อัศจรรย์. อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกันกับบรรพบุรุษที่คอแข็งของพวกเขา พวกเลวีส่วนใหญ่ปฏิเสธไม่ยอมรับพระเยซู. (มัดธาย 26:63-68; กิจการ 4:5, 6, 18; 5:17) ในที่สุด พระยะโฮวาทรงแทนที่คณะปุโรหิตที่สืบมาจากตระกูลเลวีนี้ด้วยสิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไปมาก นั่นคือคณะปุโรหิตหลวง. คณะปุโรหิตหลวงนี้มีมาจนถึงปัจจุบัน.
17. (ก) ชนกลุ่มใดในทุกวันนี้ที่ประกอบกันขึ้นเป็นคณะปุโรหิตหลวง? (ข) พระยะโฮวาทรงใช้คณะปุโรหิตหลวงอย่างไร?
17 ใครประกอบกันเป็นคณะปุโรหิตหลวงในทุกวันนี้? อัครสาวกเปโตรตอบคำถามดังกล่าวในจดหมายที่เขียนขึ้นโดยการดลใจฉบับแรกของท่าน. เปโตรเขียนถึงสมาชิกผู้ถูกเจิมแห่งพระกายของพระคริสต์ดังนี้: “ท่านทั้งหลายเป็น ‘เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้, เป็นคณะปุโรหิตหลวง, เป็นชาติบริสุทธิ์, เป็นไพร่พลที่เป็นสมบัติพิเศษ, เพื่อท่านทั้งหลายจะประกาศเผยแพร่คุณความดีอันล้ำเลิศ’ ของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.” (1 เปโตร 2:9, ล.ม.) จากคำกล่าวนี้ เห็นได้ชัดว่าในฐานะเป็นกลุ่ม เหล่าผู้ติดตามที่ได้รับการเจิมของพระเยซูนี้ประกอบกันขึ้นเป็น “คณะปุโรหิตหลวง” ซึ่งเปโตรเรียกด้วยว่าเป็น “ชาติบริสุทธิ์.” พวกเขาประกอบกันขึ้นเป็นร่องทางที่พระยะโฮวาทรงใช้เพื่อประทานคำสั่งสอนและการชี้นำฝ่ายวิญญาณให้ไพร่พลของพระองค์.—มัดธาย 24:45-47.
18. พวกผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับคณะปุโรหิตหลวง?
18 ผู้ทำหน้าที่แทนคณะปุโรหิตหลวงคือบรรดาผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมต่าง ๆ แห่งไพร่พลของพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก. พวกผู้ชายเหล่านี้สมควรได้รับความนับถือและการสนับสนุนอย่างสุดหัวใจจากพวกเรา ไม่ว่าพวกเขาเป็นผู้ถูกเจิมหรือไม่. เพราะเหตุใด? เพราะโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระยะโฮวาทรงเป็นผู้แต่งตั้งพวกเขาให้ทำหน้าที่ผู้ปกครอง. (เฮ็บราย 13:7, 17) เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
19. ในทางใดที่ว่าพวกผู้ปกครองได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์?
19 ชายที่อาวุโสเหล่านี้บรรลุข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนในพระคำของพระเจ้าซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระวิญญาณ. (1 ติโมเธียว 3:1-7; ติโต 1:5-9) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าพวกเขาได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์. (กิจการ 20:28) พวกผู้ปกครองต้องคุ้นเคยกับพระคำของพระเจ้าโดยตลอด. เช่นเดียวกับองค์ผู้พิพากษาสูงสุดที่แต่งตั้งพวกเขา พวกผู้ปกครองยังต้องเกลียดชังสิ่งใดก็ตามที่ดูเหมือนเป็นการพิพากษาที่ลำเอียง.—พระบัญญัติ 10:17, 18.
20. พวกผู้ปกครองที่ทำงานหนักได้ทำอะไรที่ทำให้คุณหยั่งรู้ค่าพวกเขา?
20 แทนที่จะท้าทายอำนาจของพวกเขา เราหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อพวกผู้ปกครองที่ทำงานหนัก! ประวัติงานรับใช้อย่างซื่อสัตย์ของพวกเขา บ่อยครั้งเป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้เราเกิดความไว้วางใจ. พวกเขาเตรียมตัวอย่างดีเพื่อนำการประชุมต่าง ๆ, พวกเขาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเราในการประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร” และให้คำแนะนำจากพระคัมภีร์เมื่อเราจำเป็นต้องได้รับ. (มัดธาย 24:14, ล.ม.; เฮ็บราย 10:23, 25; 1 เปโตร 5:2) พวกเขามาเยี่ยมเมื่อเราเจ็บป่วย และปลอบใจในยามที่เราโศกเศร้า. พวกเขาสนับสนุนผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอย่างภักดีและไม่เห็นแก่ตัว. พระวิญญาณของพระยะโฮวาสถิตอยู่กับพวกเขา; พวกเขาได้รับความพอพระทัยจากพระองค์.—ฆะลาเตีย 5:22, 23.
21. พวกผู้ปกครองต้องคอยระวังในสิ่งใด และทำไม?
21 แน่ล่ะ พวกผู้ปกครองเป็นคนไม่สมบูรณ์. โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของพวกเขา พวกเขาจึงไม่พยายามเป็นนายเหนือฝูงแกะซึ่งเป็น “มรดกของพระเจ้า.” แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาถือว่าตัวเองเป็น ‘เพื่อนร่วมงานเพื่อความยินดีของพี่น้องของพวกเขา.’ (1 เปโตร 5:3, ล.ม.; 2 โกรินโธ 1:24, ล.ม.) ผู้ปกครองที่ทำงานหนักด้วยใจถ่อมรักพระยะโฮวา และพวกเขารู้ว่า ยิ่งพวกเขาเลียนแบบพระองค์ได้ใกล้เคียงมากเท่าใด พวกเขาก็ยิ่งจะทำประโยชน์ให้กับประชาคมได้มากขึ้นเท่านั้น. โดยคำนึงถึงข้อนี้ พวกเขาจึงพยายามเลียนแบบพระเจ้าโดยปลูกฝังคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความรัก ความเมตตาสงสาร และความอดทนอดกลั้น.
22. การทบทวนเรื่องราวของโคราได้เสริมสร้างความเชื่อของคุณให้เข้มแข็งขึ้นอย่างไรในองค์การของพระยะโฮวาซึ่งประจักษ์แก่ตา?
22 เรามีความสุขสักเพียงไรที่มีพระยะโฮวาเป็นผู้ครอบครองที่ไม่ประจักษ์แก่ตา, มีพระเยซูคริสต์เป็นมหาปุโรหิตของเรา, มีสมาชิกผู้ถูกเจิมแห่งคณะปุโรหิตหลวงเป็นผู้สอนเรา, และมีเหล่าคริสเตียนผู้ปกครองที่สัตย์ซื่อเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่เรา! ถึงแม้ว่าไม่มีองค์การใดที่กำกับดูแลโดยมนุษย์จะสมบูรณ์แบบ แต่เราก็ปลาบปลื้มใจที่สามารถรับใช้พระเจ้าด้วยกันกับเพื่อนร่วมความเชื่อที่ซื่อสัตย์ซึ่งยอมอยู่ใต้อำนาจที่พระเจ้าแต่งตั้งด้วยความยินดี!
[เชิงอรรถ]
a เอละอาซารกับอีธามาร บุตรชายอีกสองคนของอาโรน เป็นแบบอย่างที่ดีในการรับใช้พระยะโฮวา.—เลวีติโก 10:6.
b ดาธานกับอะบีราม ผู้คบคิดการกบฏร่วมกับโครา เป็นคนในตระกูลรูเบน. จึงดูเหมือนพวกเขาไม่ได้ปรารถนาตำแหน่งปุโรหิต. ในกรณีของพวกเขา เขารู้สึกขุ่นเคืองความเป็นผู้นำของโมเซ และเนื่องจากจนถึงขณะนั้น ความคาดหวังของพวกเขาที่จะได้อยู่ในแผ่นดินตามคำสัญญายังไม่สำเร็จเป็นจริง.—อาฤธโม 16:12-14.
c ในสมัยปฐมบรรพบุรุษ หัวหน้าครอบครัวเป็นตัวแทนภรรยาและลูก ๆ ของเขาจำเพาะพระเจ้า ถึงกับถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าแทนพวกเขา. (เยเนซิศ 8:20; 46:1; โยบ 1:5) อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งพระบัญญัติขึ้น พระยะโฮวาทรงแต่งตั้งพวกผู้ชายจากเชื้อวงศ์ของอาโรนให้เป็นปุโรหิตซึ่งเครื่องบูชาต่าง ๆ จะต้องถวายผ่านทางพวกเขา. ดูเหมือนว่า 250 คนที่กบฏนั้นไม่เต็มใจร่วมมือกับวิธีการที่ปรับเปลี่ยนใหม่นี้.
คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
• พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอะไรด้วยความรักเพื่อดูแลพวกอิสราเอล?
• เหตุใดข้ออ้างในการกบฏของโคราต่อโมเซและอาโรนจึงฟังไม่ขึ้น?
• เราได้บทเรียนอะไรจากวิธีที่พระยะโฮวาทรงจัดการกับพวกกบฏ?
• เราจะแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อการจัดเตรียมของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 9]
คุณถือว่างานมอบหมายใด ๆ ในการรับใช้พระยะโฮวาเป็นสิทธิพิเศษไหม?
[ภาพหน้า 10]
“แล้วไฉนท่านจึงยกตัวเองเหนือประชาคมของพระยะโฮวา?”
[ภาพหน้า 13]
ผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งทำหน้าที่แทนคณะปุโรหิตหลวง