ตอน 3
มีคนทำให้โกรธและเสียความรู้สึก เมื่อเรามี “สาเหตุจะบ่น”
“พี่น้องหญิงคนหนึ่งในประชาคมมาหาว่าฉันขโมยเงินของเธอไป พอพี่น้องในประชาคมรู้ บางคนก็เข้าข้างฉันบางคนก็เข้าข้างเธอ แล้วทีหลังพี่น้องหญิงคนนั้นก็มาบอกฉันว่าตอนนี้เธอรู้แล้วว่าฉันไม่ได้ขโมยเงินของเธอไป ถึงเธอจะขอโทษฉันแล้ว แต่ฉันก็คิดว่ายังไงฉันก็จะไม่ยกโทษให้”—ลินดา
คุณเคยเป็นเหมือนลินดาไหมที่เพื่อนร่วมความเชื่อทำให้เสียความรู้สึก? น่าเศร้า บางคนเจอเรื่องแบบนี้จนไม่อยากทำกิจกรรมคริสเตียนอย่างที่เคยทำ คุณเคยเจอเรื่องแบบนี้ไหม?
มีใครไหมที่จะมา “ขัดขวางความรักที่พระเจ้าแสดงต่อเรา”?
ต้องยอมรับว่าการให้อภัยเพื่อนร่วมความเชื่อที่ทำให้เราเจ็บเป็นเรื่องยากจริง ๆ อย่างไรก็ตาม คริสเตียนก็ควรรักกัน (ยอห์น 13:34, 35) ถ้าพี่น้องทำผิดต่อเรา เราคงเสียใจและเจ็บปวดมาก—สดุดี 55:12
คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าบางครั้งคริสเตียนก็ทำให้คนอื่น “มีสาเหตุจะบ่น” (โคโลสี 3:13) แต่ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเรา ก็อาจไม่ง่ายที่จะรับมือ มีอะไรบ้างที่ช่วยเราได้? ขอให้เราดูหลักการ 3 ข้อในคัมภีร์ไบเบิล
พระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ของเราเห็นทุกสิ่ง พระยะโฮวาเห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์และความไม่ยุติธรรมที่เราเจอ (ฮีบรู 4:13) ยิ่งกว่านั้น พระองค์เข้าใจและร่วมความรู้สึกกับเราด้วยเวลาที่เราเจอปัญหา (อิสยาห์ 63:9) พระยะโฮวาจะไม่ยอมให้ “ความยากลำบาก ความทุกข์” หรืออะไรก็ตาม แม้แต่พี่น้องร่วมความเชื่อมา ‘ขัดขวางความรักที่พระองค์แสดงต่อเรา’ (โรม 8:35, 38, 39) ดังนั้น เราไม่ควรยอมให้ใครหรืออะไรมาทำให้เราห่างจากพระยะโฮวา
การให้อภัยไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย การที่เราให้อภัยคนที่ทำผิดต่อเรา ไม่ได้หมายความว่าเราเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ขออย่าลืมว่าพระยะโฮวาไม่เคยเห็นด้วยกับการทำบาป แต่พระองค์ให้อภัยคนที่ทำบาปถ้าเห็นว่าสมควร (สดุดี 103:12, 13; ฮาบากุก 1:13) พระยะโฮวาบอกให้เราอภัยให้คนอื่น พระองค์อยากให้เราเลียนแบบพระองค์ที่ ‘ไม่โกรธตลอดไป’—สดุดี 103:9; มัทธิว 6:14
การไม่เก็บความโกรธไว้เป็นผลดีต่อเรา ลองนึกภาพว่า คุณเอาหินก้อนหนึ่งที่หนักประมาณ 1 หรือ 2 กิโลกรัมมาถือไว้ แล้วเหยียดแขนออกไปข้างหน้า ถ้าถือไม่นานก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้านานล่ะ? คุณจะถือได้นานแค่ไหน? เป็นนาที เป็นชั่วโมง หรือมากกว่านั้นไหม? คุณคงถือได้ไม่นานเพราะเมื่อยแขนมาก! ยิ่งถือนานคุณก็จะรู้สึกว่าหินก้อนนั้นหนักขึ้นทั้ง ๆ ที่น้ำหนักของหินไม่ได้เปลี่ยน การเก็บความโกรธไว้ก็เหมือนกัน ยิ่งเก็บไว้นาน ถึงจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยิ่งทำให้เราเจ็บปวด พระยะโฮวาเลยสนับสนุนให้เลิกโกรธเพราะจะเป็นผลดีต่อตัวเราเอง—สุภาษิต 11:17
“ฉันรู้สึกว่าพระยะโฮวากำลังพูดกับฉัน”
อะไรช่วยให้ลินดาหายโกรธพี่น้องร่วมความเชื่อที่กล่าวหาเธอ? อย่างหนึ่งคือ ลินดาคิดถึงเหตุผลต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการให้อภัย (สดุดี 130:3, 4) การทำอย่างนี้ทำให้เธอรู้ว่า ถ้าเราเต็มใจให้อภัยคนอื่น พระยะโฮวาก็จะให้อภัยเรา (เอเฟซัส 4:32-5:2) หลังจากเข้าใจแล้วว่าความรู้สึกแง่ลบส่งผลต่อเธออย่างไร ลินดาบอกว่า “ฉันรู้สึกว่าพระยะโฮวากำลังพูดกับฉัน”
ต่อมา ลินดาหายโกรธและให้อภัยพี่น้องหญิงคนนั้น ตอนนี้ทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทกัน ลินดาเองก็รับใช้พระยะโฮวาต่อไป ขอให้มั่นใจว่าพระยะโฮวาอยากช่วยให้คุณทำอย่างนั้นด้วย