จงให้อภัยกันอย่างใจกว้าง
“จงทนกันและกันเรื่อยไปและให้อภัยกันอย่างใจกว้าง.”—โกโล. 3:13
1, 2. เหตุใดคุณควรพิจารณาว่าคุณเต็มใจจะให้อภัยคนอื่นหรือไม่?
พระคำของพระยะโฮวาช่วยเราให้เรียนรู้ว่าพระองค์มีทัศนะเช่นไรต่อบาปและทรงรู้สึกอย่างไรเมื่อเราทำผิด. พระคำของพระองค์ยังบอกเราหลายอย่างเกี่ยวกับการให้อภัย. ในบทความก่อน เราได้เรียนรู้ว่าทำไมพระยะโฮวาทรงให้อภัยดาวิดและมะนาเซ. พวกเขาสำนึกเสียใจอย่างแท้จริงในสิ่งที่พวกเขาได้ทำ สารภาพผิด และตั้งใจที่จะไม่ทำผิดซ้ำอีก. พวกเขากลับใจอย่างแท้จริง พระยะโฮวาจึงทรงแสดงความโปรดปรานต่อพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง.
2 ขอให้เรามาพิจารณาความเต็มใจของเราเองในการให้อภัยผู้อื่น. คุณจะรู้สึกอย่างไรต่อมะนาเซถ้าญาติคนหนึ่งของคุณต้องตายเพราะการกระทำของเขา? คุณจะให้อภัยมะนาเซได้ไหม? ปัจจุบัน เรามีชีวิตอยู่ในโลกที่ชั่วช้า รุนแรง และเห็นแก่ตัว. เหตุใดคริสเตียนควรเรียนรู้ที่จะให้อภัย? ถ้าคุณถูกสบประมาทหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม อะไรจะช่วยคุณให้ควบคุมอารมณ์ แสดงปฏิกิริยาอย่างที่พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้คุณทำ และเต็มใจให้อภัย?
เหตุใดเราจำเป็นต้องให้อภัย
3-5. (ก) พระเยซูทรงยกอุทาหรณ์อะไรเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องให้อภัย? (ข) เราเรียนอะไรได้จากอุทาหรณ์ของพระเยซูที่มัดธาย 18:21-35?
3 เราต้องเต็มใจให้อภัยคนที่ทำผิดต่อเรา ไม่ว่าเขาเป็นสมาชิกของประชาคมคริสเตียนหรือไม่. การทำเช่นนี้ช่วยเราให้รักษาสันติสุขกับคนในครอบครัว เพื่อน คนอื่น ๆ และกับพระยะโฮวา. พระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงคาดหมายให้คริสเตียนให้อภัยคนอื่น ไม่ว่าเขาทำผิดต่อเราบ่อยเพียงไร. พระเยซูทรงยกอุทาหรณ์เรื่องทาสคนหนึ่งที่เป็นหนี้นายของเขาเพื่อแสดงให้เห็นเหตุผลที่เราต้องให้อภัย.
4 ทาสคนนี้เป็นหนี้นายเป็นเงินเทียบเท่ากับค่าแรงของกรรมกร 60,000,000 วัน แต่นายได้ยกหนี้ให้เขา. หลังจากนั้น ทาสก็ออกไปและพบเพื่อนทาสที่เป็นหนี้เขาเป็นเงินเทียบเท่ากับค่าแรงเพียง 100 วัน. เพื่อนทาสของเขาขอผัดผ่อนหนี้ แต่ทาสที่นายยกหนี้ก้อนโตให้จับเพื่อนทาสไปจำไว้ในคุก. การกระทำของเขาทำให้นายโกรธมาก. นายกล่าวว่า “ ‘เจ้า . . . ควรเมตตาเพื่อนทาสของเจ้าอย่างที่เราเมตตาเจ้ามิใช่หรือ?’ ด้วยความกริ้ว นายจึงส่งตัวเขา [ทาสที่ไม่ยอมผัดผ่อนหนี้] ให้ผู้คุมจนกว่าเขาจะใช้หนี้หมด.”—มัด. 18:21-34
5 พระเยซูทรงยกอุทาหรณ์เรื่องนี้เพื่อแสดงให้เห็นจุดสำคัญอะไร? พระเยซูทรงอธิบายว่า “พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงปฏิบัติกับเจ้าทั้งหลายอย่างนั้นแหละถ้าพวกเจ้าแต่ละคนไม่อภัยให้พี่น้องจากใจจริง.” (มัด. 18:35) เราเป็นคนไม่สมบูรณ์และทำผิดเสมอ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเชื่อฟังพระยะโฮวาได้อย่างครบถ้วน. แต่พระองค์ทรงเต็มพระทัยให้อภัยเราและลบล้างความผิดของเราให้หมดไปราวกับว่าเราไม่เคยทำผิด. ดังนั้น ถ้าเราต้องการเป็นมิตรกับพระยะโฮวา เราต้องให้อภัยผู้อื่น. นี่คือสิ่งที่พระเยซูทรงหมายถึงเมื่อตรัสในคำเทศน์บนภูเขาว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายให้อภัยการผิดที่มนุษย์ทำต่อเจ้า พระบิดาของเจ้าผู้สถิตในสวรรค์ก็จะให้อภัยเจ้าด้วย แต่ถ้าเจ้าทั้งหลายไม่ให้อภัยความผิดของพวกเขา พระบิดาของเจ้าก็จะไม่ให้อภัยความผิดของเจ้าเช่นกัน.”—มัด. 6:14, 15
6. เหตุใดจึงไม่ง่ายเสมอไปที่จะให้อภัย?
6 คุณคงเห็นด้วยว่าเราควรให้อภัยคนอื่น แต่คุณอาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะทำอย่างนั้น. ทั้งนี้ก็เพราะเราอาจมีอารมณ์หรือความรู้สึกที่รุนแรงเมื่อมีคนทำผิดต่อเรา. เราอาจรู้สึกโกรธหรือรู้สึกว่าถูกทรยศ. เราอาจอยากให้คนที่ทำผิดถูกลงโทษหรือถึงกับอยากแก้แค้นเสียเอง. ที่จริง บางคนรู้สึกว่าเขาไม่มีวัน จะให้อภัยคนที่ทำผิดได้. ถ้าคุณรู้สึกแบบนี้ คุณจะเต็มใจให้อภัยคนอื่นอย่างที่พระยะโฮวาทรงคาดหมายได้อย่างไร?
จงวิเคราะห์ความรู้สึกของคุณ
7, 8. อะไรจะช่วยคุณให้อภัยเมื่อคนอื่นปฏิบัติต่อคุณอย่างไม่กรุณา?
7 เราอาจรู้สึกโกรธมากเมื่อมีใครทำไม่ดีต่อเราหรือเราคิดว่าถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย. ชายหนุ่มคนหนึ่งเล่าว่า “มีอยู่ครั้งหนึ่ง . . . เมื่อผมโกรธมาก ผมเดินออกจากบ้านไปและสาบานว่าจะไม่กลับมาอีกเลย. วันนั้นเป็นวันที่อากาศแจ่มใส่ ผมเดินไปเรื่อย ๆ ตามถนนเล็ก ๆ ที่สวยงาม. สภาพแวดล้อมที่สวยงามและความเงียบสงบทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจขึ้น. หลังจากผ่านไปหลายชั่วโมงความโกรธก็มลายหายไปแล้วผมก็นึกเสียใจที่โกรธขนาดนั้น.” ดังที่ประสบการณ์นี้แสดงให้เห็น ถ้าคุณใช้เวลาบ้างเพื่อให้ใจเย็นลงและมองเรื่องต่าง ๆ อย่างไม่มีอคติ นั่นอาจช่วยคุณไม่ให้ทำอะไรที่จะทำให้คุณเสียใจในภายหลัง.—เพลง. 4:4; สุภา. 14:29; ยโก. 1:19, 20
8 แต่จะว่าอย่างไรถ้าคุณยังโกรธอยู่? จงพยายามหาสาเหตุว่าทำไม คุณจึงโกรธ. นั่นเป็นเพราะว่าคุณไม่ได้รับความยุติธรรมไหม? หรือเป็นเพราะมีใครบางคนพูดหรือทำต่อคุณอย่างไม่มีมารยาท? หรือเพราะคุณรู้สึกว่าเขาตั้งใจทำให้คุณเจ็บใจ? การกระทำของเขาเลวร้ายจริง ๆ ไหม? การวิเคราะห์และการเข้าใจเหตุผลที่คุณโกรธจะช่วยให้คุณรู้ว่าหลักการอะไรในพระคัมภีร์จะช่วยคุณให้ปรับเปลี่ยนความรู้สึกได้. แล้วคุณก็จะสามารถแสดงปฏิกิริยาอย่างที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัย. (อ่านสุภาษิต 15:28; 17:27) การหาเหตุผลเช่นนั้นจะช่วยคุณให้มองเรื่องต่าง ๆ ตามความเป็นจริงและพร้อมจะให้อภัยมากขึ้น. แม้ว่าการทำเช่นนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พระคำของพระเจ้าสามารถช่วยคุณให้ตรวจสอบ “ความคิดและความมุ่งหมายในใจ” และช่วยคุณให้เลียนแบบพระยะโฮวาในเรื่องการพร้อมจะให้อภัย.—ฮีบรู 4:12
คุณควรรู้สึกโกรธไหม?
9, 10. (ก) คุณอาจแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อมีใครทำให้คุณโกรธ? (ข) การมีทัศนะในแง่บวกและพร้อมที่จะให้อภัยอาจเปลี่ยนมุมมองของเราอย่างไร?
9 มีหลายสถานการณ์ในชีวิตที่อาจทำให้คนเราโกรธ. ตัวอย่างเช่น ขณะที่คุณขับรถอยู่อาจมีรถอีกคันหนึ่งเกือบจะมาชนรถของคุณ. คุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไร? คุณคงเคยอ่านข่าวที่ว่าคนขับรถที่เดือดดาลทำร้ายคนขับรถอีกคันหนึ่ง. แต่ในฐานะคริสเตียนคุณไม่ต้องการทำอย่างนั้นแน่ ๆ.
10 นับว่าดีกว่าสักเพียงไรที่จะวิเคราะห์เรื่องที่เกิดขึ้นก่อน. คุณอาจมีส่วนผิดเหมือนกันเพราะตอนนั้นคุณอาจใจลอยไม่ทันระวัง. หรืออาจเป็นเพราะรถของคนนั้นมีปัญหาอะไรบางอย่าง. จุดสำคัญของเรื่องนี้ก็คือเราจะโกรธน้อยลงได้ถ้าเรามีความเข้าใจ ตระหนักว่าเราไม่รู้ทุกอย่าง และพร้อมจะให้อภัย. ท่านผู้ประกาศ 7:9 กล่าวว่า “อย่าให้ใจของเจ้าโกรธเร็ว, เพราะความโกรธมีประจำอยู่ในทรวงอกของคนโฉดเขลา.” หลายครั้ง เราอาจคิดว่าคนอื่นตั้งใจทำให้เราโกรธ. แต่จริง ๆ แล้วนั่นอาจเป็นเพียงข้อผิดพลาดเพราะความไม่สมบูรณ์หรือเราเองอาจเข้าใจผิด. ดังนั้น ขอให้จำไว้ว่าคุณอาจไม่รู้ข้อเท็จจริงทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นทำหรือพูด. จงพร้อมจะแสดงความรักและให้อภัยเขา. คุณจะมีความสุขมากขึ้นถ้าคุณทำอย่างนั้น.—อ่าน 1 เปโตร 4:8
‘ขอให้สันติสุขนั้นกลับมาสู่พวกเจ้า’
11. เราควรรู้สึกอย่างไรไม่ว่าผู้คนจะตอบรับการประกาศของเราหรือไม่?
11 คุณจะควบคุมตัวเองได้อย่างไรถ้ามีคนแสดงกิริยาที่หยาบคายต่อคุณขณะที่คุณประกาศ? เมื่อพระเยซูทรงส่งสาวก 70 คนให้ไปประกาศ พระองค์ทรงบอกพวกเขาให้อวยพรทุกบ้านที่พวกเขาไปเยี่ยมให้มีสันติสุข. พระเยซูตรัสว่า “ถ้ามีผู้ที่แสวงหาสันติสุขอยู่ที่นั่น สันติสุขของพวกเจ้าจะอยู่กับเขา. แต่ถ้าไม่มี สันติสุขนั้นจะกลับมาสู่พวกเจ้า.” (ลูกา 10:1, 5, 6) เรามีความสุขเมื่อผู้คนตอบรับการประกาศของเรา เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้นพวกเขาจะได้รับประโยชน์จากข่าวสารของเรา. แต่บางครั้งผู้คนแสดงปฏิกิริยาไม่เป็นมิตรเลย. ถ้าอย่างนั้นเราควรทำเช่นไร? พระเยซูตรัสว่าสันติสุขที่เราอวยพรให้แก่เจ้าของบ้านนั้นควรยังอยู่กับเราต่อไป. เราควรจากบ้านแต่ละหลังไปพร้อมกับสันติสุขในหัวใจเราไม่ว่าผู้คนปฏิบัติต่อเราอย่างไร. ถ้าเราโกรธเมื่อถูกยั่วยุ เราก็ไม่สามารถรักษาสันติสุขในหัวใจเราได้.
12. ตามที่เปาโลกล่าวในเอเฟโซส์ 4:31, 32 เราควรทำอย่างไร?
12 ขอให้พยายามรักษาสันติสุขของคุณไว้ในทุกสถานการณ์ ไม่เพียงในการประกาศเท่านั้น. การพร้อมจะให้อภัยคนอื่นไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเห็นชอบกับการกระทำผิดหรือคิดว่าการกระทำนั้นไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย. แต่การให้อภัยหมายความว่าคุณไม่ขุ่นเคืองการกระทำผิดเช่นนั้นอีกต่อไปและรักษาสันติสุขของคุณไว้. บางคนครุ่นคิดในแง่ลบและคิดแต่ว่าคนอื่นปฏิบัติต่อเขาไม่ดีขนาดไหน. นั่นทำให้เขาไม่มีความสุข. อย่าให้ความคิดเช่นนั้นครอบงำคุณ. จงจำไว้ว่าคุณจะมีความสุขไม่ได้เลยถ้าคุณเก็บความขุ่นเคืองไว้. ด้วยเหตุนั้น จงให้อภัย!—อ่านเอเฟโซส์ 4:31, 32
จงแสดงปฏิกิริยาอย่างที่พระยะโฮวาพอพระทัย
13. (ก) คริสเตียนจะ “กองถ่านเพลิง” ไว้บนศีรษะของศัตรูได้อย่างไร? (ข) ผลอาจเป็นเช่นไรเมื่อเราสุภาพอ่อนโยนต่อคนที่ทำไม่ดีต่อเรา?
13 บางครั้งคนที่ไม่ใช่คริสเตียนอาจทำไม่ดีต่อคุณ. แต่คุณอาจช่วยเขาให้สนใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิลได้. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ ‘ถ้าศัตรูของท่านหิว จงให้อาหารเขากิน ถ้าเขากระหาย จงให้อะไรเขาดื่ม เพราะที่ท่านทำอย่างนี้จะเป็นเหมือนการกองถ่านเพลิงไว้บนศีรษะของเขา อาจทำให้ใจที่แข็งกระด้างของเขาอ่อนลงและเขาอาจทำการดี.’ อย่าให้ความชั่วเอาชนะท่าน แต่จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.” (โรม 12:20, 21) เมื่อคุณแสดงท่าทีที่สุภาพแม้แต่เมื่อผู้คนโกรธคุณ เขาอาจเปลี่ยนทัศนคติหรือถึงกับทำดีต่อคุณ. ถ้าคุณเข้าใจและเมตตาสงสารคนที่ทำไม่ดีต่อคุณ คุณอาจช่วยเขาให้เรียนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลได้. ไม่ว่าเขาจะตอบสนองอย่างไร การกระทำที่สุภาพอ่อนโยนของคุณอาจทำให้คนนั้นสงสัยว่าทำไมคุณจึงแตกต่างจากคนอื่น.—1 เป. 2:12; 3:16
14. ทำไมคุณควรเต็มใจให้อภัยไม่ว่าคนอื่นจะทำไม่ดีต่อคุณขนาดไหนก็ตาม?
14 มีบางคนที่เราไม่ควรคบหาด้วย เช่น คนที่เคยเป็นพี่น้องในประชาคมแต่ทำผิด ไม่กลับใจ และถูกตัดสัมพันธ์. ถ้าคนนั้นเคยทำให้คุณเจ็บใจ อาจเป็นเรื่องยากมากที่คุณจะให้อภัยเขาแม้แต่เมื่อเขากลับใจแล้ว เนื่องจากบาดแผลทางอารมณ์ต้องใช้เวลาเยียวยา. ถ้าอย่างนั้น คุณควรอธิษฐานขอพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปเพื่อช่วยคุณให้เต็มใจให้อภัยคนที่กลับใจ. เป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องทำอย่างนี้ เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าคนนั้นคิดหรือรู้สึกอย่างไร. แต่พระยะโฮวาทรงรู้. พระองค์ทรงตรวจดูแนวโน้มในส่วนลึกที่สุดของคนนั้นและทรงอดทนกับการกระทำผิดของเขา. (เพลง. 7:9; สุภา. 17:3, ล.ม.) นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พระคัมภีร์บอกว่า “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย. จงหาทางทำสิ่งที่คนทั้งปวงเห็นว่าดี. ถ้าเป็นได้ จงพยายามสุดความสามารถเพื่อจะอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง. พี่น้องที่รัก อย่าแก้แค้นเสียเอง แต่ให้พระเจ้าเป็นผู้สำแดงพระพิโรธ เพราะมีคำเขียนไว้ดังนี้ ‘พระยะโฮวาตรัสว่า การแก้แค้นเป็นธุระของเรา เราจะตอบแทน.’ ” (โรม 12:17-19) เราไม่รู้ทุกสิ่งอย่างที่พระยะโฮวาทรงรู้ และคัมภีร์ไบเบิลบอกเราให้เลิกตัดสินคนอื่น. (มัด. 7:1, 2) แต่เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรงตัดสินอย่างถูกต้อง.
15. อะไรจะช่วยให้ความโกรธของเราลดน้อยลง?
15 ถ้าคุณรู้สึกว่ายากที่จะให้อภัยคนที่ทำไม่ดีต่อคุณแม้ว่าเขากลับใจแล้ว การระลึกเสมอว่าเขาเองก็ต้องรับมือความยุ่งยากเหมือนกันอาจช่วยคุณได้. เขาเป็นคนไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกับเรา. (โรม 3:23) พระยะโฮวาทรงเมตตาสงสารมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ทุกคน. ด้วยเหตุนั้น จึงนับว่าเหมาะที่จะอธิษฐานเพื่อคนที่ทำไม่ดีต่อเรา. เมื่อเราอธิษฐานเพื่อเขา ความโกรธที่เรามีต่อเขาก็จะลดน้อยลง. พระเยซูทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราไม่ควรเก็บความขุ่นเคืองไว้ แม้ว่าคนนั้นจะทำไม่ดีต่อเราขนาดไหน. พระองค์ตรัสว่า “จงรักศัตรูของเจ้าต่อ ๆ ไปและอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงเจ้าต่อ ๆ ไป.”—มัด. 5:44
16, 17. คุณควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อผู้ปกครองตัดสินว่าคนที่ทำผิดนั้นกลับใจ และเพราะเหตุใด?
16 พระยะโฮวาทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบให้คริสเตียนผู้ปกครองเป็นผู้ตัดสินว่าคนที่ทำผิดร้ายแรงกลับใจหรือไม่. ผู้ปกครองเหล่านี้ไม่รู้ทุกสิ่งอย่างที่พระเจ้าทรงรู้ แต่พวกเขาพยายามตัดสินโดยอาศัยหลักการในคัมภีร์ไบเบิลและด้วยการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์. ดังนั้น เมื่อพวกเขาตัดสินหลังจากที่ได้อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาแล้ว เราก็มั่นใจได้ว่าการตัดสินนั้นสอดคล้องกับทัศนะของพระเจ้า.—มัด. 18:18
17 ในสถานการณ์เช่นนี้ เราต้องภักดีต่อพระเจ้า. เราควรไว้วางใจวิธีที่พระยะโฮวาทรงจัดการปัญหาและยอมรับการตัดสินของผู้ปกครอง. เมื่อผู้ปกครองตัดสินว่าคนนั้นกลับใจ คุณจะให้อภัยและแสดงความรักต่อเขาไหม? (2 โค. 2:5-8) การทำเช่นนี้อาจไม่ง่าย โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นผู้เสียหายหรือเกี่ยวข้องกับผู้เสียหาย. แต่ถ้าคุณไว้วางใจพระยะโฮวาและวิธีที่พระองค์ทรงจัดการปัญหาในประชาคม คุณก็จะทำสิ่งที่ถูกต้อง. คุณจะแสดงให้เห็นว่าคุณให้อภัยจริง ๆ อย่างใจกว้าง.—สุภา. 3:5, 6
18. ถ้าคุณให้อภัยอย่างใจกว้างคุณจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง?
18 ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตยอมรับว่าการพร้อมจะให้อภัยมีประโยชน์หลายอย่าง. การให้อภัยช่วยสลายความโกรธและความเศร้าที่เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วย และช่วยให้คนเรามีสายสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น. แต่ถ้าเราไม่ยอมให้อภัยเราก็จะเครียดและเสียสุขภาพ และอาจทำให้เราเข้ากับคนอื่นได้ยาก. แต่ที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเราพร้อมจะให้อภัยคนอื่น เราจะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวาพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์.—อ่านโกโลซาย 3:12-14