บท 16
“พระเยซู . . . ทรงรักเขาจนถึงที่สุด”
1, 2. พระเยซูทรงใช้เวลาเย็นวันสุดท้ายกับเหล่าอัครสาวกของพระองค์อย่างไร และทำไมช่วงสุดท้ายนี้นับว่ามีค่าสำหรับพระองค์?
ขณะที่ชุมนุมกับเหล่าอัครสาวกของพระองค์ในห้องชั้นบนของบ้านหลังหนึ่ง ณ กรุงเยรูซาเลม พระเยซูทรงทราบว่านี่เป็นเย็นวันสุดท้ายที่พระองค์อยู่กับพวกเขา. เวลาใกล้เข้ามาแล้วที่พระองค์จะเสด็จกลับไปหาพระบิดา. ภายในไม่กี่ชั่วโมง พระเยซูก็จะถูกจับกุม และความเชื่อของพระองค์ก็จะถูกทดสอบอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน. กระนั้น ถึงแม้ทราบว่าในไม่ช้าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ พระองค์ก็ยังทรงคำนึงถึงความจำเป็นของพวกอัครสาวก.
2 พระเยซูได้เตรียมเหล่าอัครสาวกไว้สำหรับการจากไปของพระองค์ แต่พระองค์ยังคงมีอีกหลายสิ่งที่จะบอกเพื่อช่วยพวกเขาเผชิญกับเหตุการณ์ในวันข้างหน้า. ดังนั้น พระองค์ทรงใช้เวลาอันมีค่าช่วงท้าย ๆ นี้เพื่อสอนพวกเขาถึงบทเรียนสำคัญที่จะช่วยพวกเขาให้รักษาความซื่อสัตย์. ถ้อยคำที่พระองค์ตรัสแสดงถึงความอบอุ่นและความสนิทสนมที่สุดเท่าที่พระองค์เคยตรัสกับพวกเขา. แต่ทำไมพระเยซูทรงห่วงใยพวกอัครสาวกมากกว่าห่วงตัวพระองค์เอง? ทำไมช่วงท้าย ๆ ที่อยู่กับพวกเขาจึงมีค่ายิ่งสำหรับพระองค์? คำตอบสรุปได้คำเดียวคือ ความรัก. พระองค์มีความรักอย่างลึกซึ้งต่อพวกเขา.
3. เราทราบได้อย่างไรว่าพระเยซูมิได้คอยจนกระทั่งเย็นวันสุดท้ายจึงแสดงความรักต่อเหล่าสาวกของพระองค์?
3 หลายสิบปีต่อมาเมื่อเริ่มนำเรื่องราวที่มีขึ้นโดยการดลใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ในตอนเย็นวันนั้น อัครสาวกโยฮันได้เขียนว่า “เพราะก่อนเทศกาลปัศคาพระองค์ทรงทราบว่าเวลานั้นมาถึงแล้วที่พระองค์จะออกจากโลกนี้ไปหาพระบิดา พระเยซูได้ทรงรักพวกของพระองค์ซึ่งอยู่ในโลกนี้ และทรงรักเขาจนถึงที่สุด.” (โยฮัน 13:1, ล.ม.) พระเยซูมิได้คอยจนถึงค่ำวันนั้นจึงจะแสดงความรักต่อ “พวกของพระองค์.” ตลอดงานรับใช้ของพระเยซู พระองค์ให้ข้อพิสูจน์เกี่ยวกับความรักที่พระองค์มีต่อเหล่าสาวกในหลายวิธี. เราสมควรจะพิจารณาดูบางวิธีที่พระองค์แสดงความรัก เพราะโดยการเลียนแบบพระองค์ในเรื่องนี้ เราพิสูจน์ตัวว่าเป็นสาวกแท้ของพระองค์.
แสดงความอดทน
4, 5. (ก) ทำไมพระเยซูต้องอดทนในการปฏิบัติต่อเหล่าอัครสาวก? (ข) พระเยซูทรงแสดงออกอย่างไรเมื่ออัครสาวกสามคนไม่ได้เฝ้าระวังขณะอยู่ในสวนเกทเซมาเน?
4 ความรักและความอดทนเกี่ยวข้องกัน. 1 โกรินโธ 13:4 (ล.ม.) กล่าวว่า “ความรักอดกลั้นไว้นาน” และความอดกลั้นไว้นานเกี่ยวข้องกับการอดทนกับคนอื่น. พระเยซูต้องอดทนไหมในการปฏิบัติต่อเหล่าสาวก? ใช่แล้ว พระองค์ต้องอดทนจริง ๆ! ดังที่เราเห็นในบท 3 อัครสาวกช้าในการพัฒนาความถ่อมใจ. พวกเขาโต้เถียงกันมากกว่าหนึ่งครั้งว่าใครเป็นใหญ่ที่สุดในท่ามกลางพวกเขา. พระเยซูมีปฏิกิริยาอย่างไร? พระองค์ทรงพิโรธและตอบสนองด้วยความขุ่นเคืองไหม? ไม่ พระองค์ทรงหาเหตุผลกับพวกเขาด้วยความอดทน แม้แต่เมื่อมี “การเถียงกัน” เกี่ยวกับประเด็นนี้ในเย็นวันสุดท้ายที่พระองค์อยู่กับพวกเขาด้วยซ้ำ!—ลูกา 22:24-30; มัดธาย 20:20-28; มาระโก 9:33-37.
5 ต่อมาในคืนสุดท้ายนั้น เมื่อพระเยซูเสด็จไปสวนเกทเซมาเนพร้อมกับอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คน ความอดทนของพระองค์ถูกทดสอบอีกครั้งหนึ่ง. โดยละอัครสาวกแปดคนไว้ พระเยซูพาเปโตร, ยาโกโบ, และโยฮันเดินลึกเข้าไปในสวน. พระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “ตัวเราเป็นทุกข์นักแทบถึงตาย. จงรออยู่ที่นี่และเฝ้าระวังกับเรา.” พระองค์เสด็จห่างออกไปเล็กน้อยแล้วเริ่มอธิษฐานด้วยใจแรงกล้า. หลังจากอธิษฐานเป็นเวลานาน พระองค์ทรงกลับมาหาอัครสาวกสามคน. พระองค์ทรงพบอะไร? ในช่วงเวลาแห่งการทดลองอันสำคัญที่สุดนี้ พวกเขาผล็อยหลับไป! พระองค์ทรงดุพวกเขาไหมเนื่องจากพวกเขาไม่ได้เฝ้าระวัง? ไม่ พระองค์ทรงกระตุ้นเตือนพวกเขาด้วยความอดทน. ถ้อยคำที่พระองค์ตรัสด้วยความกรุณาแสดงให้เห็นความเข้าใจในความเครียดที่พวกเขาประสบอยู่รวมทั้งความอ่อนแอของพวกเขา.a พระองค์ตรัสว่า “แน่ล่ะ ใจพร้อม แต่เนื้อหนังอ่อนแอ.” พระเยซูยังคงอดทนต่อไปในค่ำวันนั้น ทั้ง ๆ ที่พระองค์เสด็จมาพบพวกเขานอนหลับไม่ใช่ครั้งเดียว แต่อีกสองครั้งด้วยซ้ำ!—มัดธาย 26:36-46, ล.ม.
6. เราจะเลียนแบบพระเยซูได้อย่างไรในการปฏิบัติต่อผู้อื่น?
6 เป็นเรื่องหนุนใจที่สังเกตว่าพระเยซูมิได้หมดหวังในตัวพวกอัครสาวก. ความอดทนของพระองค์ก่อผลดีในที่สุด เพราะชายที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้เรียนรู้ความสำคัญของการเป็นคนที่ทั้งถ่อมใจและระวังระไว. (1 เปโตร 3:8; 4:7) เราจะเลียนแบบพระเยซูในการปฏิบัติต่อคนอื่นได้อย่างไร? ผู้ปกครองโดยเฉพาะต้องเป็นคนอดทน. เพื่อนร่วมความเชื่ออาจเข้าหาผู้ปกครองพร้อมกับปัญหาของเขาขณะที่ผู้ปกครองเองก็เหนื่อยล้าหรือวุ่นวายใจเนื่องจากความกังวลของตนเอง. บางครั้ง คนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออาจช้าในการตอบรับคำแนะนำ. ถึงกระนั้น ผู้ปกครองที่อดทนจะสั่งสอนแนะนำ “ด้วยใจอ่อนโยน” และจะ “ปฏิบัติต่อฝูงแกะด้วยความอ่อนโยน.” (2 ติโมเธียว 2:24, 25, ล.ม.; กิจการ 20:28, 29, ล.ม.) บิดามารดาสมควรเลียนแบบพระเยซูในการแสดงความอดทนด้วย เพราะบางครั้งบุตรอาจช้าในการตอบรับคำแนะนำหรือการแก้ไข. ความรักและความอดทนจะช่วยบิดามารดามิให้เลิกล้มความพยายามที่จะอบรมบุตรของตน. ความอดทนเช่นนั้นอาจให้ผลตอบแทนมากจริง ๆ.—บทเพลงสรรเสริญ 127:3.
เอาใจใส่ความจำเป็นของพวกเขา
7. พระเยซูทรงเอาใจใส่ความจำเป็นทางด้านร่างกายและด้านวัตถุของเหล่าสาวกของพระองค์โดยวิธีใดบ้าง?
7 ความรักปรากฏชัดโดยการกระทำที่ไม่เห็นแก่ตัว. (1 โยฮัน 3:17, 18) ความรัก “ไม่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง.” (1 โกรินโธ 13:5, ล.ม.) ความรักกระตุ้นพระเยซูให้เอาใจใส่ความจำเป็นทางด้านร่างกายและด้านวัตถุของเหล่าสาวก. บ่อยครั้ง พระองค์ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของพวกเขาก่อนที่พวกเขาพูดถึงความจำเป็นของตัวเองด้วยซ้ำ. เมื่อทรงเห็นว่าพวกเขาเหนื่อย พระองค์แนะนำพวกเขาให้ไปกับพระองค์เพื่อ “หาที่สงัดหยุดพักหายเหนื่อยสักหน่อยหนึ่ง.” (มาระโก 6:31) เมื่อพระองค์สังเกตว่าพวกเขาหิว พระองค์ทรงริเริ่มเลี้ยงอาหารพวกเขา—พร้อมกับคนอื่นหลายพันคนที่ได้มาฟังพระองค์สอน.—มัดธาย 14:19, 20; 15:35-37.
8, 9. (ก) อะไรแสดงว่าพระเยซูทรงสำนึกถึงความจำเป็นทางด้านวิญญาณของเหล่าสาวกและทรงสนองความจำเป็นของพวกเขา? (ข) เมื่ออยู่บนหลัก พระเยซูแสดงความห่วงใยอย่างลึกซึ้งต่อสวัสดิภาพของมารดาของพระองค์อย่างไร?
8 พระเยซูทรงสำนึกถึงความจำเป็นทางฝ่ายวิญญาณของพวกสาวกและทรงสนองความจำเป็นของพวกเขา. (มัดธาย 4:4; 5:3) ในการสอน บ่อยครั้งพระองค์ทรงให้ความเอาใจใส่พวกเขาเป็นพิเศษ. พระองค์ทรงกล่าวคำเทศน์บนภูเขาเพื่อผลประโยชน์ของพวกสาวกโดยเฉพาะ. (มัดธาย 5:1, 2, 13-16) ตอนที่พระองค์สอนโดยใช้อุทาหรณ์ “เมื่อว่างคนพระองค์จึงทรงอธิบายสิ่งสารพัตรแก่เหล่าสาวกให้แจ้ง.” (มาระโก 4:34) พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่าพระองค์จะแต่งตั้ง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เพื่อทำให้แน่ใจว่าเหล่าสาวกของพระองค์จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีทางฝ่ายวิญญาณในสมัยสุดท้ายนี้. ทาสสัตย์ซื่อนี้ซึ่งประกอบด้วยพี่น้องของพระเยซูกลุ่มเล็ก ๆ ที่อยู่บนโลกซึ่งถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ ได้จัดเตรียม “อาหาร” ฝ่ายวิญญาณ “ในเวลาอันเหมาะ” อย่างซื่อสัตย์นับตั้งแต่ปี 1919 เป็นต้นมา.—มัดธาย 24:45
9 ในวันที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ พระองค์ได้แสดงให้เห็นความห่วงใยต่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของผู้ที่พระองค์ทรงรักด้วยวิธีที่ทำให้ซาบซึ้งใจ. ขอนึกภาพฉากเหตุการณ์ต่อไปนี้. พระเยซูอยู่บนหลัก กำลังประสบความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัส. เพื่อจะสูดลมหายใจ ดูเหมือนว่าพระองค์ต้องยกตัวขึ้นโดยใช้พระบาทยัน. ไม่ต้องสงสัยว่าการทำเช่นนี้ทำให้พระองค์เจ็บปวดอย่างรุนแรงขณะที่ตะปูซึ่งตอกพระบาทของพระองค์ทำให้แผลฉีกขาดและหลักก็ครูดหลังของพระองค์ที่ถูกเฆี่ยน. การพูดซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมลมหายใจคงต้องเป็นไปด้วยความยากลำบากและทำให้เจ็บปวด. กระนั้น แม้กำลังจะสิ้นพระชนม์อยู่แล้ว พระเยซูก็ยังตรัสถ้อยคำที่แสดงให้เห็นความรักอันลึกซึ้งที่พระองค์มีต่อมาเรีย มารดาของพระองค์. เมื่อเห็นมาเรียกับอัครสาวกโยฮันยืนอยู่ใกล้ ๆ พระเยซูตรัสกับมารดาของพระองค์ด้วยเสียงดังพอที่ผู้ยืนดูอยู่จะได้ยินว่า “หญิงเอ๋ย ดูซิ! บุตรของท่าน!” ครั้นแล้วพระองค์ตรัสกับโยฮันว่า “ดูซิ! มารดาของเจ้า!” (โยฮัน 19:26, 27, ล.ม.) พระเยซูทรงทราบว่าอัครสาวกผู้ซื่อสัตย์จะเอาใจใส่ดูแลไม่เพียงความจำเป็นทางด้านร่างกายและด้านวัตถุของมาเรียเท่านั้น แต่สวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเธอด้วย.b
10. บิดามารดาจะเลียนแบบพระเยซูได้อย่างไรขณะที่เขาเอาใจใส่ความจำเป็นของบุตร?
10 บิดามารดาผู้ห่วงใยพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะไตร่ตรองดูตัวอย่างของพระเยซู. บิดาผู้ซึ่งรักครอบครัวอย่างแท้จริงจะจัดหาให้พวกเขาทางด้านวัตถุ. (1 ติโมเธียว 5:8) หัวหน้าครอบครัวที่สมดุลและเปี่ยมด้วยความรักจัดเวลาไว้เพื่อการพักผ่อนและนันทนาการเป็นครั้งคราว. สำคัญยิ่งกว่านั้น บิดามารดาคริสเตียนจัดเตรียมเพื่อสนองความจำเป็นทางด้านวิญญาณของบุตร. โดยวิธีใด? บิดามารดาเช่นนั้นจัดให้มีการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในครอบครัวเป็นประจำ และเขาพยายามจะทำให้ช่วงเวลาศึกษานี้เป็นการเสริมสร้างและน่าเพลิดเพลินสำหรับลูก ๆ. (พระบัญญัติ 6:6, 7) โดยคำพูดและตัวอย่าง บิดามารดาสอนบุตรว่างานประกาศเป็นกิจกรรมสำคัญ รวมทั้งการเตรียมตัวและการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นส่วนสำคัญของกิจวัตรในการนมัสการของพวกเขา.—เฮ็บราย 10:24, 25.
เต็มใจให้อภัย
11. พระเยซูทรงสอนอะไรแก่เหล่าสาวกในเรื่องการให้อภัย?
11 การให้อภัยเป็นแง่มุมหนึ่งของความรัก. (โกโลซาย 3:13, 14) 1 โกรินโธ 13:5 (ล.ม.) กล่าวว่า ความรัก “ไม่จดจำความเสียหาย.” ในหลายโอกาส พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกเรื่องความสำคัญของการให้อภัย. พระองค์กระตุ้นเตือนพวกเขาที่จะให้อภัยคนอื่น “ไม่ใช่ถึงเจ็ดครั้ง แต่ถึงเจ็ดสิบเจ็ดครั้ง”—นั่นคือไม่จำกัดจำนวนครั้ง. (มัดธาย 18:21, 22, ล.ม.) พระองค์ทรงสอนพวกเขาว่าควรให้อภัยคนที่ทำผิด หากคนนั้นแสดงการกลับใจหลังจากได้รับการว่ากล่าวแล้ว. (ลูกา 17:3, 4) อย่างไรก็ดี พระเยซูไม่เหมือนพวกฟาริซายที่หน้าซื่อใจคด ผู้ซึ่งสอนโดยคำพูดเท่านั้น; พระองค์สอนโดยตัวอย่างด้วย. (มัดธาย 23:2-4) ให้เรามาดูว่าพระเยซูแสดงความเต็มพระทัยที่จะให้อภัยอย่างไรแม้แต่เมื่อเพื่อนที่ไว้ใจได้คนหนึ่งทำให้พระองค์ผิดหวัง.
12, 13. (ก) ในทางใดที่เปโตรทำให้พระเยซูผิดหวังในคืนที่พระองค์ถูกจับกุม? (ข) การกระทำของพระเยซูหลังจากการคืนพระชนม์ทำให้เห็นได้ชัดอย่างไรว่าพระองค์ไม่เพียงแต่สอนการให้อภัย?
12 พระเยซูมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับอัครสาวกเปโตร ซึ่งเป็นคนจริงใจแต่ก็หุนหันพลันแล่นเป็นบางครั้ง. พระเยซูทรงตระหนักถึงคุณลักษณะที่ดีของเปโตรและมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้เขา. เปโตรพร้อมกับยาโกโบและโยฮันได้รู้เห็นด้วยตัวเองถึงการอัศจรรย์บางอย่างซึ่งอัครสาวกคนอื่น ๆ มิได้เห็น. (มัดธาย 17:1, 2; ลูกา 8:49-55) ดังที่เราได้สังเกตก่อนหน้านี้ เปโตรเป็นคนหนึ่งในอัครสาวกสามคนที่เดินลึกเข้าไปในสวนเกทเซมาเนพร้อมกับพระเยซูในคืนที่พระองค์ถูกจับกุม. กระนั้น คืนเดียวกันนั้นตอนที่พระเยซูถูกทรยศและถูกควบคุมตัวไป เปโตรและอัครสาวกคนอื่น ๆ ได้ละทิ้งพระเยซูแล้วหนีไป. ต่อมา เปโตรกล้าพอที่จะยืนอยู่ข้างนอกขณะที่มีการพิจารณาคดีพระเยซูอย่างผิดกฎหมาย. กระนั้น ต่อมาเปโตรรู้สึกกลัวและทำผิดร้ายแรง—โกหกสามครั้งโดยปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูเลย! (มัดธาย 26:69-75) พระเยซูมีปฏิกิริยาอย่างไร? คุณจะตอบสนองอย่างไรหากเพื่อนสนิทคนหนึ่งทำให้คุณผิดหวังแบบนั้น?
13 พระเยซูทรงพร้อมที่จะให้อภัยเปโตร. พระองค์ทรงทราบว่าเปโตรเป็นทุกข์หนักเนื่องด้วยความผิดของตัวเอง. ที่จริง อัครสาวกผู้กลับใจ “หวนคิดขึ้นได้ก็เลยร้องไห้.” (มาระโก 14:72) ในวันที่พระองค์คืนพระชนม์ พระเยซูได้ปรากฏต่อเปโตร คงจะเพื่อปลอบโยนและทำให้อัครสาวกผู้นี้มั่นใจ. (ลูกา 24:34; 1 โกรินโธ 15:5) ไม่ถึงสองเดือนต่อมา พระเยซูทรงให้เกียรติเปโตรโดยให้ท่านนำหน้าในการให้คำพยานแก่ฝูงชนในกรุงเยรูซาเลม ในวันเพนเทคอสต์. (กิจการ 2:14-40) ขอเราจำไว้ด้วยว่า พระเยซูมิได้รู้สึกขุ่นเคืองอัครสาวกทั้งหมดที่ได้ละทิ้งพระองค์ไป. ตรงกันข้าม หลังจากการคืนพระชนม์ พระองค์ยังคงเรียกพวกเขาว่า “พวกพี่น้องของเรา.” (มัดธาย 28:10) เห็นได้ชัดมิใช่หรือว่า พระเยซูไม่เพียงสอนการให้อภัย แต่ทรงให้อภัยอย่างแท้จริง?
14. ทำไมเราต้องเรียนที่จะให้อภัยคนอื่น และเราแสดงความเต็มใจที่จะให้อภัยได้โดยวิธีใด?
14 ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เราต้องเรียนที่จะให้อภัยคนอื่น. เพราะเหตุใด? ไม่เหมือนพระเยซู เราเป็นคนไม่สมบูรณ์—คนที่อาจทำผิดต่อเราก็เป็นเช่นนั้นด้วย. เป็นครั้งคราว เราทุกคนล้วนพลาดพลั้งในคำพูดและการกระทำ. (โรม 3:23; ยาโกโบ 3:2) โดยการให้อภัยคนอื่นเมื่อมีเหตุผลอันควรที่จะแสดงความเมตตา เราทำให้มีทางเป็นไปได้ที่พระเจ้าจะให้อภัยความผิดของเราเอง. (มาระโก 11:25) ถ้าเช่นนั้น เราจะแสดงความเต็มใจที่จะให้อภัยคนที่อาจทำผิดต่อเราได้โดยวิธีใด? ในหลายกรณี ความรักช่วยเราให้มองข้ามความผิดและข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนอื่น. (1 เปโตร 4:8) เมื่อคนที่ทำผิดต่อเรากลับใจอย่างจริงใจเช่นเดียวกับเปโตร แน่นอนเราต้องการที่จะเลียนแบบความเต็มพระทัยของพระเยซูที่จะให้อภัย. แทนที่จะเก็บความขุ่นเคืองไว้ นับว่าฉลาดสุขุมหากเราเลือกที่จะปล่อยความขุ่นเคืองไป. (เอเฟโซ 4:32) โดยการทำเช่นนี้ เราส่งเสริมสันติสุขในประชาคมอีกทั้งความสงบสุขในจิตใจและหัวใจของเราด้วย.—1 เปโตร 3:11.
พระองค์แสดงความไว้วางใจ
15. เหตุใดพระเยซูไว้วางใจพวกสาวกทั้ง ๆ ที่พวกเขามีข้อบกพร่อง?
15 ความรักและความไว้วางใจเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด. ความรัก “เชื่อทุกสิ่ง.”c (1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) โดยได้รับการกระตุ้นจากความรัก พระเยซูแสดงความเต็มพระทัยที่จะไว้วางใจเหล่าสาวกของพระองค์ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่สมบูรณ์. พระองค์มีความมั่นใจในพวกเขาและเชื่อว่าในใจแล้วพวกเขารักพระยะโฮวาจริง ๆ และต้องการทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. แม้แต่เมื่อพวกเขาทำผิดพลาด พระเยซูก็มิได้สงสัยเจตนาของพวกเขา. ตัวอย่างเช่น เมื่ออัครสาวกยาโกโบและโยฮันดูเหมือนจะขอให้มารดาของตนทูลขอพระเยซูเพื่อให้พวกเขานั่งข้างพระองค์ในราชอาณาจักร พระเยซูมิได้สงสัยในความภักดีของพวกเขาหรือปลดเขาออกจากตำแหน่งอัครสาวก.—มัดธาย 20:20-28.
16, 17. พระเยซูทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้างให้เหล่าสาวกของพระองค์?
16 พระเยซูแสดงความไว้วางใจโดยมอบหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างให้เหล่าสาวกของพระองค์. ในสองโอกาสที่พระองค์ทำให้อาหารเพิ่มขึ้นอย่างอัศจรรย์เพื่อเลี้ยงฝูงชน พระองค์ทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบให้เหล่าสาวกทำการแจกจ่ายอาหาร. (มัดธาย 14:19; 15:36) ในการเตรียมปัศคาครั้งสุดท้าย พระองค์ทรงมอบหมายเปโตรและโยฮันให้ไปกรุงเยรูซาเลมและจัดการสิ่งต่าง ๆ ไว้ให้พร้อม. เขาทั้งสองเอาใจใส่ในการจัดหาลูกแกะ, เหล้าองุ่น, ขนมปังไม่มีเชื้อ, ผักขม, และของที่จำเป็นอื่น ๆ. นี่ไม่ใช่งานมอบหมายที่ต่ำต้อย เพราะการฉลองปัศคาในลักษณะที่เหมาะสมเป็นข้อเรียกร้องตามพระบัญญัติของโมเซ และพระเยซูต้องปฏิบัติตามพระบัญญัตินั้น. นอกจากนี้ ต่อมาในค่ำวันนั้นพระเยซูทรงใช้เหล้าองุ่นและขนมปังไม่มีเชื้อเป็นสัญลักษณ์เมื่อตั้งการประชุมอนุสรณ์เกี่ยวกับการวายพระชนม์ของพระองค์.—มัดธาย 26:17-19; ลูกา 22:8, 13.
17 พระเยซูทรงเห็นว่าเหมาะสมที่จะมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญมากกว่าให้เหล่าสาวกของพระองค์. ดังที่เราได้สังเกตตอนต้น พระองค์ทรงมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบสำคัญให้กลุ่มเล็ก ๆ ของเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์บนแผ่นดินโลกที่จะเตรียมและแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณ. (ลูกา 12:42-44) จำไว้ด้วยว่า พระองค์ทรงมอบหมายหน้าที่สำคัญแก่เหล่าสาวกของพระองค์ในการประกาศและการทำให้คนเป็นสาวก. (มัดธาย 28:18-20) แม้แต่ทุกวันนี้ ถึงแม้ไม่ประจักษ์แก่ตาและปกครองจากสวรรค์ พระเยซูทรงมอบประชาคมของพระองค์บนแผ่นดินโลกไว้ในความดูแลของพวกผู้ชายที่พระองค์ทรงถือว่ามีคุณวุฒิ และทรงให้พวกเขาเป็น “ของประทาน” แก่ประชาคม.—เอเฟโซ 4:8, 11, 12.
18-20. (ก) เราจะแสดงความไว้วางใจและความมั่นใจในเพื่อนร่วมความเชื่อได้โดยวิธีใด? (ข) เราจะเลียนแบบความเต็มพระทัยของพระเยซูได้อย่างไรในเรื่องการมอบหมายงาน? (ค) จะมีการพิจารณาอะไรในบทถัดไป?
18 เราจะดำเนินตามตัวอย่างของพระเยซูในการปฏิบัติต่อคนอื่นโดยวิธีใด? การที่เราแสดงความไว้วางใจและความมั่นใจในเพื่อนร่วมความเชื่อเป็นการแสดงความรัก. ขอเราจำไว้ว่าความรักมองในแง่บวก ไม่ใช่มองแง่ลบ. เมื่อคนอื่นทำให้เราผิดหวัง ซึ่งก็คงจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ความรักจะป้องกันเราไว้มิให้ด่วนทึกทักเอาว่าเขามีเจตนาไม่ดี. (มัดธาย 7:1, 2) หากเรารักษาทัศนะในแง่บวกต่อเพื่อนร่วมความเชื่อของเรา เราจะปฏิบัติต่อเขาในวิธีที่เสริมสร้างแทนที่จะทำให้ท้อใจ.—1 เธซะโลนิเก 5:11.
19 เราจะเลียนแบบความเต็มพระทัยของพระเยซูในการมอบงานให้คนอื่นทำได้ไหม? นับว่าเป็นประโยชน์สำหรับคนที่มีตำแหน่งรับผิดชอบในประชาคมที่จะมอบงานที่เหมาะสมและมีความหมายแก่คนอื่น โดยไว้วางใจว่าพวกเขาจะทำสุดความสามารถ. โดยวิธีนี้ผู้ปกครองที่มีประสบการณ์สามารถจัดให้มีการอบรมที่จำเป็นและมีคุณค่าสำหรับคนหนุ่ม ๆ ที่มีคุณวุฒิซึ่ง “เอื้อมแขนออกไป” เพื่อช่วยเหลือในประชาคม. (1 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 2:2) การอบรมเช่นนี้นับว่าสำคัญ. ขณะที่พระยะโฮวาทรงเร่งงานราชอาณาจักรให้เติบโตต่อไป จะมีความจำเป็นที่ชายผู้มีคุณวุฒิต้องได้รับการอบรมเพื่อให้ดูแลการเพิ่มทวีขึ้นเช่นนั้น.—ยะซายา 60:22.
20 พระเยซูทรงให้ตัวอย่างอันยอดเยี่ยมแก่เราในการแสดงความรักต่อคนอื่น. ในทุกวิถีทางที่เราสามารถดำเนินตามพระองค์ การเลียนแบบความรักของพระองค์นับว่าสำคัญที่สุด. ในบทถัดไป เราจะพิจารณาการแสดงความรักอันใหญ่ยิ่งที่สุดที่พระองค์มีต่อเรา ซึ่งก็คือความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะสละชีวิตเพื่อเรา.
a การนอนหลับของอัครสาวกไม่ได้มีสาเหตุจากเพียงแค่ความอ่อนล้าทางกาย. เรื่องราวคล้ายกันที่ลูกา 22:45 กล่าวว่า พระเยซู “พบเขานอนหลับอยู่ด้วยกำลังทุกข์โศก.”
b ตอนนั้นมาเรียดูเหมือนจะเป็นแม่ม่าย และบุตรคนอื่น ๆ ของเธอคงจะยังไม่ได้เป็นสาวกของพระเยซู.—โยฮัน 7:5.
c แน่นอน นี่มิได้หมายความว่าความรักเป็นความซื่อ หลอกง่าย. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ข้อนี้หมายความว่าความรักไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือระแวงสงสัยมากเกินไป. ความรักไม่ด่วนตัดสินเจตนาของคนอื่นหรือสรุปว่าเขาแย่มาก.