ได้รับความรอดไม่ใช่เฉพาะโดยการกระทำ แต่โดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ
“ท่านทั้งหลายรอดนั้น . . . เพราะความเชื่อ . . . เป็นด้วยการประพฤติก็หามิได้ เพื่อมิให้คนหนึ่งคนใดอวดได้.”—เอเฟโซ 2:8, 9.
1. คริสเตียนต่างจากคนทั่วไปอย่างไรในเรื่องความสำเร็จของตนเอง และเพราะเหตุใด?
ผู้คนในทุกวันนี้ภูมิใจอย่างยิ่งกับความสำเร็จของตนเอง และบ่อยครั้งก็ไม่รอช้าที่จะโอ้อวดความสำเร็จเหล่านั้น. คริสเตียนต่างออกไป. พวกเขาหลีกเว้นการเน้นมากเกินไปกับความสำเร็จของตน แม้แต่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการแท้. ขณะที่พวกเขาชื่นชมยินดีกับสิ่งที่ประชาชนของพระยะโฮวาโดยรวมทำได้สำเร็จ พวกเขาจะไม่เน้นที่บทบาทของตัวเองในความสำเร็จเหล่านั้น. พวกเขาตระหนักว่าในงานรับใช้พระยะโฮวานั้น แรงกระตุ้นที่ถูกต้องมีความสำคัญยิ่งกว่าความสำเร็จผลของแต่ละคน. ใครก็ตามที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นของประทานในที่สุดนั้น จะได้รับไม่ใช่โดยความสำเร็จของตนเอง แต่โดยการมีความเชื่อและโดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า.—ลูกา 17:10; โยฮัน 3:16.
2, 3. เปาโลอวดในเรื่องใด และเพราะอะไร?
2 อัครสาวกเปาโลรู้ดีถึงข้อเท็จจริงนี้. หลังจากอธิษฐานสามครั้งขอให้ขจัด “หนามในเนื้อหนัง” ท่านได้รับคำตอบจากพระยะโฮวาว่า “ความกรุณาคุณของเรามีพอสำหรับเจ้าแล้ว เพราะโดยความอ่อนแอของเจ้า เดชของเราจึงปรากฏมีฤทธิ์ขึ้นเต็มขนาด.” โดยถ่อมใจยอมรับการตัดสินพระทัยของพระยะโฮวา เปาโลกล่าวว่า “เหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงภูมิใจใน [“อวดในเรื่อง,” ล.ม.] ความอ่อนแอของข้าพเจ้า, เพื่อฤทธิ์เดชของพระคริสต์จะได้สถิตอยู่ในข้าพเจ้า.” เจตคติที่ถ่อมใจของเปาโลเป็นสิ่งที่เราควรต้องการจะเลียนแบบ.—2 โกรินโธ 12:7-9.
3 แม้ว่าเปาโลมีความโดดเด่นในเรื่องการงานฝ่ายคริสเตียน แต่ท่านตระหนักว่าความสำเร็จของท่านไม่ได้เกิดจากความสามารถอย่างหนึ่งอย่างใดของตัวเองเลย. ท่านกล่าวด้วยความเจียมตัวว่า “พระคุณนี้ทรงโปรดประทานแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นคนเล็กกว่าคนเล็กที่สุดในสิทธชนทั้งหมด, ให้ประกาศความมั่งคั่งอันสมบูรณ์ของพระคริสต์ซึ่งจะหาที่สุดไม่ได้แก่พวกต่างชาติ.” (เอเฟโซ 3:8) ถ้อยคำนี้ไม่ได้แสดงถึงการอวดตัวหรือทะนงตนว่าตัวเองชอบธรรม. “พระเจ้าทรงต่อสู้คนเหล่านั้นที่ถือตัวจองหอง, แต่พระองค์ทรงประทานพระคุณแก่คนทั้งหลายที่ถ่อมใจลง.” (ยาโกโบ 4:6; 1 เปโตร 5:5) เราติดตามแบบอย่างของเปาโลไหม ด้วยใจถ่อมถือว่าตนเองต่ำต้อยกว่าผู้เล็กน้อยที่สุดในหมู่พี่น้องของเรา?
“ถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว”
4. ทำไมบางครั้งเราจึงอาจรู้สึกว่ายากที่จะถือว่าคนอื่นดีกว่าเรา?
4 อัครสาวกเปาโลแนะนำคริสเตียนว่า “[อย่า] ทำประการใดในทางทุ่มเถียงกันหรืออวดดีไปเปล่า ๆ, แต่ให้ทุกคนมีใจถ่อมลงถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว.” (ฟิลิปปอย 2:3) การทำเช่นนี้อาจเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราอยู่ในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบ. ปัญหาเรื่องการขาดความถ่อมใจอาจเกิดขึ้นเนื่องจากเราได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อยจากน้ำใจแข่งขันที่แพร่หลายมากในโลกปัจจุบัน. เมื่อเป็นเด็ก เราอาจได้รับการสอนให้แข่งขันกับพี่น้องในครอบครัวหรือกับเพื่อนนักเรียนที่โรงเรียน. บางที เราอาจถูกกระตุ้นอยู่เรื่อย ๆ ให้มุ่งมั่นพยายามเพื่อจะได้ชื่อเสียงเกียรติยศฐานะนักกีฬายอดเยี่ยมของโรงเรียนหรือเป็นนักเรียนดีเด่น. แน่นอน การทำอย่างดีที่สุดในการงานใด ๆ ที่ดีงามเป็นเรื่องน่าชมเชย. แต่คริสเตียนทำเช่นนั้น ไม่ใช่เพื่อนำความสนใจมาสู่ตัวเองอย่างไม่บังควร แต่เพื่อให้ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการทำงานและบางทีเพื่อประโยชน์ของคนอื่นด้วย. อย่างไรก็ตาม การอยากได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นที่หนึ่งอยู่เสมอนั้นอาจเป็นอันตราย. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
5. หากปล่อยไว้โดยไม่มีการควบคุม น้ำใจแข่งขันชิงดีอาจนำไปสู่อะไร?
5 ถ้าปล่อยไว้โดยไม่มีการควบคุม น้ำใจแข่งขันชิงดีหรือการถือว่าตนดีกว่าผู้อื่นอาจทำให้คนเรากลายเป็นคนที่ไม่ให้ความนับถือผู้อื่นและอวดตัว. เขาอาจกลายเป็นคนที่อิจฉาความสามารถของคนอื่นหรือสิทธิพิเศษที่คนอื่นได้รับ. สุภาษิต 28:22 กล่าวว่า “คนที่มีตาสำแดงใจแคบ [“อิจฉาผู้อื่น,” ล.ม.] ก็รีบเร่งแสวงหาทรัพย์ [“สิ่งมีค่า,” ล.ม.], และไม่รู้ว่าความยากจนจะมาถึงตัว.” เขาอาจถึงกับพยายามทำเกินสิทธิ์เพื่อจะได้ตำแหน่งที่เขาไม่สมควรได้รับ. เพื่อทำให้การกระทำของตนดูถูกต้อง เขาอาจเริ่มบ่นและตำหนิวิจารณ์คนอื่น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่คริสเตียนพึงหลีกเลี่ยง. (ยาโกโบ 3:14-16) ไม่ว่าจะอย่างไร เขากำลังเสี่ยงต่อการพัฒนาน้ำใจที่คิดถึงแต่ตัวเอง.
6. คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราอย่างไรให้ระวังน้ำใจแข่งขันชิงดี?
6 ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์ไบเบิลจึงกระตุ้นคริสเตียนว่า “อย่าให้เรากลายเป็นคนถือดี, ยั่วยุให้มีการแข่งขันชิงดีกัน, ริษยากันและกันเลย.” (ฆะลาเตีย 5:26, ล.ม.) อัครสาวกโยฮันกล่าวถึงเพื่อนคริสเตียนคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของน้ำใจเช่นนี้. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้เขียนบางสิ่งถึงประชาคม แต่ดิโอเตรเฟสซึ่งชอบเป็นเอกท่ามกลางพวกเขา ไม่รับเอาสิ่งใดจากพวกเราด้วยความนับถือเลย. นี่เป็นเหตุที่ว่า หากข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าจะเตือนให้ระลึกถึงการของเขาซึ่งเขาทำอยู่ต่อไป โดยพูดมากถึงพวกเราด้วยคำที่ชั่วช้า.” ช่างน่าเศร้าเสียจริง ๆ ที่คริสเตียนกลายเป็นคนอย่างนั้น!—3 โยฮัน 9, 10, ล.ม.
7. คริสเตียนปรารถนาจะหลีกเลี่ยงสิ่งใดในที่ทำงานซึ่งมีการแข่งขันกันสูงในทุกวันนี้?
7 แน่ล่ะ ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่จะคิดว่าคริสเตียนจะหลีกเลี่ยงการงานทุก ๆ อย่างที่มีการแข่งขันกันได้อย่างสิ้นเชิง. ตัวอย่างเช่น การงานอาชีพของเขาอาจเกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้ากับผู้อื่นหรือบริษัทอื่น ๆ ที่ผลิตสินค้าหรือเสนอบริการที่คล้าย ๆ กัน. อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในกรณีอย่างนี้ คริสเตียนก็ปรารถนาจะดำเนินธุรกิจของตนด้วยน้ำใจที่ให้ความนับถือ, แสดงความรัก, และคำนึงถึงผู้อื่น. เขาจะปฏิเสธที่จะใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายหรือขัดกับคำสอนคริสเตียน และหลีกเลี่ยงการกลายเป็นคนที่ขึ้นชื่อในเรื่องการมีน้ำใจแข่งขันแบบไร้ความปรานีและเอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง. เขาจะไม่คิดว่าการเป็นที่หนึ่ง—ไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม—คือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต. หากคริสเตียนต้องสำแดงน้ำใจดังกล่าวในการทำงานอาชีพ จะสำคัญยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดที่จะมีน้ำใจแบบนั้นในแวดวงของการนมัสการ!
“ไม่ใช่โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น”
8, 9. (ก) เหตุใดคริสเตียนผู้ปกครองจึงไม่มีเหตุผลที่จะแข่งขันชิงดีกัน? (ข) เพราะเหตุใด 1 เปโตร 4:10 จึงเป็นคำแนะนำสำหรับผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้า?
8 เจตคติที่คริสเตียนควรมีในการนมัสการนั้นมีกล่าวไว้ในถ้อยคำที่มีขึ้นโดยการดลใจต่อไปนี้: “ให้แต่ละคนพิสูจน์ดูว่างานของเขาเองเป็นอย่างไร และครั้นแล้วเขาจะมีเหตุที่จะปีติยินดีเกี่ยวกับตัวเขาเองเท่านั้น และไม่ใช่โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น.” (ฆะลาเตีย 6:4, ล.ม.) เหล่าผู้ปกครองในประชาคมให้ความร่วมมือกันและทำงานใกล้ชิดกันเป็นคณะ โดยตระหนักว่าพวกเขาไม่แข่งขันชิงดีกัน. พวกเขาชื่นชมยินดีที่แต่ละคนสามารถมีส่วนส่งเสริมสวัสดิภาพโดยรวมของประชาคม. โดยวิธีนี้ พวกเขาหลีกเลี่ยงการชิงดีชิงเด่นที่ทำให้แตกแยก และวางตัวอย่างที่ดีแก่สมาชิกของประชาคมในเรื่องการเป็นเอกภาพ.
9 สืบเนื่องจากอายุ, ประสบการณ์, หรือความสามารถที่มีมาแต่กำเนิด ผู้ปกครองบางคนอาจมีความสามารถมากกว่าคนอื่น ๆ หรืออาจมีความหยั่งเห็นเข้าใจมากกว่า. ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองจึงมีหน้าที่รับผิดชอบต่างกันไปในองค์การของพระยะโฮวา. แทนที่จะเปรียบเทียบกัน พวกเขาจดจำไว้เสมอถึงคำแนะนำที่ว่า “ตามส่วนที่แต่ละคนได้รับของประทาน จงใช้ของประทานนั้นเพื่อประโยชน์ของกันและกันในฐานะเป็นคนต้นเรือนที่ดีแห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าที่แสดงออกในวิธีต่าง ๆ.” (1 เปโตร 4:10, ล.ม.) ที่จริงแล้ว ข้อคัมภีร์นี้ใช้ได้กับผู้รับใช้ทุกคนของพระยะโฮวา เนื่องจากทุก ๆ คนได้รับของประทานในระดับหนึ่งเกี่ยวกับความรู้ถ่องแท้ และต่างได้รับสิทธิพิเศษที่จะมีส่วนร่วมในงานรับใช้ของคริสเตียน.
10. ในทางใดเท่านั้นที่งานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของเราจะเป็นที่ยอมรับสำหรับพระยะโฮวา?
10 งานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของเราจะเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวาก็ต่อเมื่อเราทำด้วยความรักและความเลื่อมใส ไม่ใช่เพื่อจะยกตัวเองให้เหนือกว่าคนอื่น. ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมีทัศนะที่สมดุลในการทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการนมัสการแท้. ขณะที่ไม่มีมนุษย์คนใดจะคาดเดาได้อย่างถูกต้องว่าคนอื่นมีเจตนาเช่นไร แต่พระยะโฮวา “ทรงชั่งใจมนุษย์.” (สุภาษิต 24:12; 1 ซามูเอล 16:7) ดังนั้น เราควรตรวจสอบตัวเองเป็นครั้งคราวว่า ‘อะไรเป็นแรงกระตุ้นของฉันในการทำงานรับใช้ที่ฉันทำอยู่นี้?’—บทเพลงสรรเสริญ 24:3, 4; มัดธาย 5:8.
ทัศนะที่ถูกต้องต่องานของเรา
11. คำถามอะไรบ้างเกี่ยวกับกิจกรรมการรับใช้ของเราที่นับว่ามีเหตุผลที่จะพิจารณา?
11 ถ้าแรงกระตุ้นมีความสำคัญที่สุดเพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากพระยะโฮวาแล้ว เราควรจะเป็นห่วงขนาดไหนในเรื่องการงานของเราเกี่ยวกับความเชื่อ? ตราบใดที่เราทำงานรับใช้ด้วยแรงกระตุ้นที่ถูกต้องแล้ว จำเป็นจริง ๆ หรือที่เราจะต้องเก็บบันทึกว่าเราได้ทำอะไรและปริมาณเท่าใด? คำถามเหล่านี้นับว่ามีเหตุผล เนื่องจากเราไม่ต้องการให้สถิติมีความสำคัญยิ่งกว่างานรับใช้ที่เราทำ หรือให้ตัวเลขที่ดีในรายงานกลายเป็นเรื่องหลักที่เราเป็นห่วงเกี่ยวกับกิจกรรมคริสเตียนของเรา.
12, 13. (ก) อะไรคือเหตุผลบางประการที่เราเก็บบันทึกรายงานการรับใช้? (ข) เรามีเหตุผลอะไรบ้างที่จะชื่นชมยินดีเมื่อเห็นรายงานกิจกรรมการประกาศทั่วโลก?
12 ขอสังเกตสิ่งที่มีกล่าวในหนังสือรวบรวมเป็นองค์การเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา: “ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์รุ่นแรก ๆ สนใจรายงานเรื่องความก้าวหน้าในงานประกาศ. (มาระโก 6:30) พระธรรมกิจการบอกเราว่า มีประมาณ 120 คนอยู่ที่นั่นเมื่อมีการหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงเหนือเหล่าสาวกในวันเพนเทคอสต์. ไม่นาน จำนวนสาวกก็เพิ่มขึ้นถึง 3,000 คน แล้วก็เพิ่มขึ้นอีกเป็น 5,000 คน. . . . (กิจการ 1:15; 2:5-11, 41, 47, ฉบับแปลใหม่; 4:4; 6:7) ข่าวเรื่องการเพิ่มทวีนี้ต้องทำให้เหล่าสาวกรู้สึกมีกำลังใจเป็นอย่างมาก!” ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้พยายามเก็บบันทึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับงานที่ได้ทำไปตลอดทั่วโลกซึ่งสำเร็จตามคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) รายงานดังกล่าวทำให้เห็นภาพสิ่งที่มีการทำตลอดทั่วโลก. รายงานนั้นทำให้รู้ว่าที่ไหนต้องได้รับความช่วยเหลือ หนังสือแบบใดเป็นที่ต้องการและต้องการมากน้อยเพียงไรเพื่อจะให้งานประกาศรุดหน้าไป.
13 ด้วยเหตุนี้ รายงานกิจกรรมการประกาศจึงช่วยเราทำงานมอบหมายในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น. นอกจากนี้ เราได้กำลังใจมิใช่หรือเมื่อได้ยินรายงานการรับใช้ที่พี่น้องกำลังทำอยู่ในส่วนอื่น ๆ ของโลก? รายงานเกี่ยวกับการเพิ่มทวีและการแผ่ขยายทั่วโลกทำให้เราชื่นชมยินดี กระตุ้นเราให้ทำงานรับใช้มากขึ้น และทำให้มั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรเรา. และเป็นที่น่าชื่นใจสักเพียงไรที่รู้ว่ารายงานการประกาศของเราเอง ก็รวมอยู่ในรายงานทั่วโลกนั้นด้วย! รายงานของเราอาจเป็นส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับยอดรวมของทั้งโลก แต่สิ่งที่เราทำนั้นไม่รอดพ้นการสังเกตเห็นของพระยะโฮวา. (มาระโก 12:42, 43) จำไว้ว่าถ้าไม่มีรายงานของคุณ รายงานทั่วโลกจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์.
14. การนมัสการพระยะโฮวายังรวมถึงอะไรอีกนอกเหนือจากการประกาศและการสั่งสอน?
14 แน่ล่ะ กิจกรรมหลายอย่างที่พยานฯ แต่ละคนทำเพื่อเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของตนฐานะผู้รับใช้ที่อุทิศตัวของพระยะโฮวาไม่ปรากฏอยู่ในรายงานการประกาศของเขา. ตัวอย่างเช่น รายงานของเขาไม่ได้รวมเอาการศึกษาส่วนตัว การเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในการประชุมคริสเตียน การเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบภายในประชาคม การช่วยเหลือเพื่อนร่วมความเชื่อที่ต้องการความช่วยเหลือ การสนับสนุนด้านการเงินสำหรับงานประกาศทั่วโลก และอื่น ๆ. ด้วยเหตุนี้ ขณะที่รายงานการประกาศมีความสำคัญ ช่วยเราให้รักษาความกระตือรือร้นในการประกาศและหลีกเลี่ยงการเฉื่อยชาลง แต่เราต้องรักษาทัศนะที่ถูกต้องต่อรายงานนั้น. เราไม่ควรมองว่าตัวเลขที่ดีในรายงานการประกาศเป็นเหมือนใบเบิกทางฝ่ายวิญญาณที่ทำให้เรามีสิทธิ์ได้รับชีวิตนิรันดร์.
“มีใจร้อนรนที่จะทำการดี”
15. แม้ลำพังการกระทำต่าง ๆ ไม่เป็นเหตุให้เราได้รับความรอด แต่เพราะเหตุใดจึงจำเป็น?
15 เห็นได้ชัดว่า แม้ลำพังการกระทำต่าง ๆ ไม่เป็นเหตุให้เราได้รับความรอด แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น. นี่เป็นเหตุที่คริสเตียนถูกเรียกให้เป็น “ประชากรของพระองค์โดยเฉพาะ . . . มีใจร้อนรนที่จะทำการดี” และได้รับการสนับสนุนให้ “พิจารณาดูกันและกัน เพื่อเป็นเหตุให้บังเกิดใจรักซึ่งกันและกันและกระทำการดี.” (ติโต 2:14, ฉบับแปล 2002; เฮ็บราย 10:24) ยาโกโบผู้เขียนพระคัมภีร์อีกคนหนึ่งพูดได้ตรงจุดมากกว่า โดยกล่าวอย่างชัดเจนว่า “ร่างกายที่ปราศจากวิญญาณตายแล้วฉันใด ความเชื่อที่ปราศจากการกระทำก็ตายแล้วฉันนั้น.”—ยาโกโบ 2:26, ล.ม.
16. อะไรที่สำคัญยิ่งกว่างานต่าง ๆ แต่อะไรที่เราควรระวัง?
16 แม้ว่าการทำการดีก็ถือว่าสำคัญ แต่แรงกระตุ้นในการทำการดีนั้นสำคัญยิ่งกว่า. ด้วยเหตุนี้ จึงนับว่าสุขุมที่จะตรวจสอบแรงกระตุ้นของเราเป็นครั้งคราว. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีมนุษย์คนใดจะรู้ได้อย่างแท้จริงว่าคนอื่นมีเจตนาเช่นไร เราจึงต้องระวังที่จะไม่ตัดสินคนอื่น. เราถูกถามว่า “ท่านคือผู้ใดเล่าจึงปรับโทษบ่าวของคนอื่น?” และคำตอบก็ชัดเจนที่ว่า “บ่าวคนนั้นจะได้ดีหรือจะล่มจมก็สุดแล้วแต่นายของตัว.” (โรม 14:4) พระยะโฮวานายองค์สูงสุด และพระคริสต์เยซูผู้พิพากษาที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง จะไม่ตัดสินเราโดยดูจากการกระทำเท่านั้น แต่จากแรงกระตุ้น, โอกาส, ความรัก, และความเลื่อมใสของเราด้วย. เฉพาะแต่พระยะโฮวาและพระคริสต์เยซูเท่านั้นที่จะตัดสินได้อย่างไม่ผิดพลาดว่าเราได้ทำตามคำแนะนำที่ให้กับคริสเตียนหรือไม่ ตามที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ว่า “จงทำสุดความสามารถ เพื่อสำแดงตนให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เป็นคนงานที่ไม่มีอะไรต้องอาย ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.”—2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.; 2 เปโตร 1:10; 3:14.
17. ทำไมเราควรคำนึงถึงยาโกโบ 3:17 เสมอ ขณะที่เราพยายามทำอย่างสุดกำลังความสามารถของเรา?
17 พระยะโฮวามีเหตุผลในสิ่งที่พระองค์คาดหมายจากเรา. ตามที่ยาโกโบ 3:17 (ล.ม.) กล่าวว่า “สติปัญญาจากเบื้องบน” ประการหนึ่งนั้น “มีเหตุผล.” คงจะเป็นแนวทางแห่งสติปัญญาอีกทั้งเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริงสำหรับเรามิใช่หรือที่จะเลียนแบบพระยะโฮวาในเรื่องนี้? ด้วยเหตุนี้ เราไม่ควรพยายามจะคาดหมายจากตัวเองหรือพี่น้องของเราอย่างไม่สมเหตุสมผลและไม่มีทางบรรลุได้.
18. เราสามารถจะคอยท่าอะไรเมื่อมีทัศนะที่สมดุลต่องานรับใช้และต่อพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา?
18 ตราบใดที่เรามีทัศนะที่สมดุลต่องานรับใช้และพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา เราจะรักษาความชื่นชมยินดีซึ่งเป็นเครื่องหมายอันโดดเด่นที่ระบุตัวผู้รับใช้แท้ของพระยะโฮวา. (ยะซายา 65:13, 14) เราสามารถชื่นชมกับพระพรที่พระยะโฮวาประทานแก่ประชาชนของพระองค์ฐานะกลุ่มชน ไม่ว่าโดยส่วนตัวแล้วเราอาจจะรับใช้ได้แค่ไหนก็ตาม. โดย “การอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมด้วยการขอบพระคุณ” อยู่เรื่อยไป เราจะทูลขอพระเจ้าให้ช่วยเราทำสุดความสามารถ. แล้ว “สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิด [ของเรา] ไว้โดยพระคริสต์เยซู” อย่างแน่นอน. (ฟิลิปปอย 4:4-7, ล.ม.) ใช่แล้ว เรารับการชูใจและมีกำลังใจจากการรู้ว่า เราสามารถจะได้รับความรอด ไม่ใช่เฉพาะโดยการกระทำ แต่โดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา!
คุณอธิบายได้ไหมว่าทำไมคริสเตียน
• หลีกเลี่ยงการโอ้อวดความสำเร็จของตน?
• หลีกเลี่ยงการแสดงน้ำใจแข่งขันชิงดี?
• รายงานกิจกรรมการประกาศของพวกเขา?
• หลีกเลี่ยงการตัดสินเพื่อนคริสเตียน?
[ภาพหน้า 15]
“ความกรุณาคุณของเรามีพอสำหรับเจ้าแล้ว”
[ภาพหน้า 16, 17]
ผู้ปกครองชื่นชมยินดีที่แต่ละคนสามารถมีส่วนส่งเสริมสวัสดิภาพของประชาคม
[ภาพหน้า 18, 19]
ถ้าไม่มีรายงานของคุณ รายงานทั่วโลกจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์