แรงกดดันให้ทุจริต
“การทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์เป็นเรื่องของอดีต และคนที่พยายามจะเป็นคนซื่อสัตย์จะประสบแต่ความล้มเหลว.”—สตีเฟน สหรัฐ
คุณเห็นด้วยกับคำกล่าวที่น่าหดหู่นี้ไหม? จริงอยู่ บ่อยครั้งการคดโกงก่อผลประโยชน์ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น. ผลก็คือ คนที่พยายามจะเป็นคนซื่อสัตย์ต้องถูกกดดันอย่างหนักในแง่มุมต่อไปนี้.
ความอยากได้ใคร่มีของตนเอง. ใครจะไม่อยากได้เงินหรือสิ่งของหรูหราฟุ่มเฟือยบ้าง? เมื่อมีโอกาสโกงเพื่อได้ผลประโยชน์ทางการเงิน ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธ.
● “ผมมีหน้าที่อนุมัติสัญญาต่าง ๆ ของบริษัท. มีการเสนอจะให้สินบนจนเป็นเรื่องธรรมดา. เมื่อมีโอกาสจะได้เงินมาง่าย ๆ คนส่วนใหญ่อดใจไม่ไหว.”—แฟรนซ์ ตะวันออกกลาง
แรงกดดันที่จะหาผลกำไรให้มากที่สุด. ไม่กี่ปีมานี้ บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกต้องต่อสู้อย่างหนักเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่. พวกเขายังต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทางเทคโนโลยีและการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอีกด้วย. ลูกจ้างอาจคิดว่าวิธีเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายการทำงานซึ่งเจ้าของบริษัทและผู้จัดการตั้งไว้ก็คือต้องโกง.
● “เราคิดว่าเราจำเป็นต้องทำ. . . . ถ้าเราไม่ทำ บริษัทจะสูญเสียมาก.”—ไรน์ฮาร์ด ซีคาเชก ถูกจับด้วยข้อหาติดสินบน.—เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์
แรงกดดันจากคนอื่น. บางครั้ง เพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าอาจชักชวนหรือถึงกับเรียกร้องให้คุณร่วมมือในแผนการทุจริต.
● “ผู้จัดการของบริษัทซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของเรามาหาผม และพูดว่าบริษัทของเขาจะไม่เป็นลูกค้าของเราอีกต่อไปถ้าผมไม่จ่าย ‘ส่วนที่เขาควรได้’ ซึ่งก็คือเงินใต้โต๊ะนั่นเอง.”—โยฮาน แอฟริกาใต้
วัฒนธรรม. ในบางวัฒนธรรม เป็นธรรมเนียมที่จะมีการแลกเปลี่ยนของขวัญพร้อม ๆ กับการติดต่อซื้อขาย. เส้นแบ่งระหว่างการทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์และไม่ซื่อสัตย์อาจไม่ชัดเจน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมูลค่าของของขวัญและสภาพการณ์. ในหลายดินแดน เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตเรียกเก็บเงินก่อนจะยอมปฏิบัติหน้าที่ของตน และพร้อมรับเงินใต้โต๊ะเพื่อจะให้บริการเป็นพิเศษ.
● “เป็นเรื่องยากเสมอที่จะรู้ว่านั่นเป็นการให้ทิปหรือสินบน.”—วิลเลียม โคลอมเบีย
สภาพแวดล้อม. คนที่อยู่ในสภาพอัตคัดขัดสนหรืออยู่ในประเทศที่บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแปจะถูกกดดันหนักที่สุด. ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น ถ้าใครไม่ยอมโกงหรือขโมย คนอื่นอาจมองว่าเขาไม่ยอมหาเลี้ยงครอบครัว.
● “การโกงถือเป็นเรื่องปกติ จำเป็น และยอมรับกันตราบใดที่คุณไม่ถูกจับได้.”—โทมาซี คองโกกินชาซา
ความซื่อสัตย์หายไปได้อย่างไร?
แรงกดดันให้กระทำการทุจริตมีผลกระทบอย่างรุนแรง. การสำรวจความคิดเห็นของบรรดาผู้จัดการในออสเตรเลียแสดงว่า 9 ใน 10 คิดว่าการทุจริตคอร์รัปชัน “เป็นสิ่งผิดแต่เลี่ยงไม่ได้.” ผู้ที่ถูกสำรวจกล่าวว่าพวกเขาพร้อมจะมองข้ามความสำนึกทางศีลธรรมของตนเพื่อจะได้เซ็นสัญญาหรือสร้างผลกำไรให้แก่บริษัท.
อย่างไรก็ตาม คนที่ทุจริตมักจะคิดว่าตัวเองเป็นคนซื่อสัตย์. คนเหล่านี้คิดเช่นนั้นได้อย่างไร? วารสารวิจัยการตลาด (ภาษาอังกฤษ) รายงานว่า “ผู้คนทำการทุจริตมากพอที่จะได้ผลประโยชน์ แต่ก็ซื่อสัตย์มากพอที่จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดีมีศีลธรรม.” เพื่อจะทำให้ตัวเองสบายใจ ผู้คนใช้หลายวิธีในการแก้ตัว มองเรื่องนั้นเป็นเรื่องเล็ก หรือหาเหตุผลว่าการกระทำที่ทุจริตเป็นสิ่งถูกต้อง.
ตัวอย่างเช่น การกระทำทุจริตคดโกงอาจถูกเรียกด้วยคำที่ไม่น่าเกลียดเท่าไรนัก. การโกหกหรือการฉ้อโกงกลายเป็น “เล่ห์เหลี่ยม” หรือ “กลเม็ด.” สินบนอาจถูกเรียกว่า “ค่าน้ำชา” หรือ “ค่าอำนวยความสะดวก.”
ส่วนบางคนแก้ตัวให้กับพฤติกรรมไม่ซื่อตรงโดยพยายามตีความหมายของความซื่อสัตย์อย่างไม่เคร่งครัด. ทอมซึ่งทำงานในแวดวงการเงินกล่าวว่า “สำหรับผู้คนทั่วไป ถ้าพวกเขารอดตัวไปได้โดยไม่ถูกกฎหมายเล่นงานก็ยังคงถือว่าพวกเขาซื่อสัตย์.” เดวิด อดีตผู้บริหารคนหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าการทุจริตนั้นถูกเปิดโปงผู้คนจะพากันตำหนิ แต่ถ้าคุณไม่ถูกจับได้ก็จะถือว่าการกระทำนั้นเป็นที่ยอมรับ. คนที่ไม่ถูกจับได้จะถูกมองว่าเป็นคนฉลาด.”
หลายคนถึงกับอ้างว่าจำเป็นต้องโกงเพื่อจะประสบความสำเร็จ. นักธุรกิจคนหนึ่งซึ่งทำงานมาหลายปีกล่าวว่า “ทัศนะที่ชอบแข่งขันมักจะกระตุ้นผู้คนให้พูดว่า ‘คุณต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้งานมา.’ ” แต่นั่นเป็นความจริงไหม? หรือว่าที่แท้แล้วคนซึ่งพยายามอ้างเหตุผลสนับสนุนความไม่ซื่อสัตย์กำลัง “หลอกตัวเองด้วยการหาเหตุผลผิด ๆ”? (ยาโกโบ 1:22) ขอพิจารณาผลประโยชน์ของความซื่อสัตย์ในบทความถัดไป.
[คำโปรยหน้า 5]
“สำหรับผู้คนทั่วไป ถ้าพวกเขารอดตัวไปได้โดยไม่ถูกกฎหมายเล่นงานก็ยังคงถือว่าพวกเขาซื่อสัตย์”
[ภาพหน้า 5]
หลายคนอ้างว่าจำเป็นต้องโกงเพื่อจะประสบความสำเร็จ