จงเชื่อฟังและรับประโยชน์จากคำสาบานของพระเจ้า
“เนื่องจาก [พระเจ้า] ไม่อาจสาบานโดยอ้างผู้ใดที่ยิ่งใหญ่กว่าพระองค์ พระองค์จึงทรงสาบานโดยอ้างพระองค์เอง.”—ฮีบรู 6:13
1. คำตรัสของพระยะโฮวาแตกต่างกับคำพูดของมนุษย์ที่ผิดบาปอย่างไร?
พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าแห่งความสัตย์จริง.” (เพลง. 31:5) ในขณะที่เราไม่อาจไว้ใจคำพูดของมนุษย์ที่ผิดบาปได้เสมอไป แต่ “เป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะตรัสมุสา.” (ฮีบรู 6:18; อ่านอาฤธโม 23:19) สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติล้วนเป็นจริงเสมอ. ตัวอย่างเช่น ทุกสิ่งที่พระเจ้าตรัสในตอนเริ่มต้นของวันแห่งการทรงสร้างแต่ละวันว่าพระองค์จะทำ “ก็เป็นดังนั้น.” ด้วยเหตุนั้น เมื่อสิ้นสุดวันแห่งการทรงสร้างวันที่หก “พระเจ้าทอดพระเนตรดูสิ่งทั้งปวงที่พระองค์ทรงสร้างไว้นั้นเห็นว่าดีนัก.”—เย. 1:6, 7, 30, 31
2. วันหยุดพักของพระเจ้าคืออะไร และเหตุใดพระเจ้า ‘ทรงตั้งให้วันนั้นเป็นวันบริสุทธิ์’?
2 เมื่อพิจารณาดูผลงานแห่งการทรงสร้างของพระองค์ พระยะโฮวาพระเจ้าทรงประกาศการเริ่มต้นของวันที่เจ็ด ซึ่งไม่ใช่วันที่มี 24 ชั่วโมง แต่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่พระองค์ทรงหยุดพักจากการสร้างบนแผ่นดินโลก. (เย. 2:2) วันหยุดพักของพระเจ้ายังไม่สิ้นสุด. (ฮีบรู 4:9, 10) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เปิดเผยเวลาที่แน่นอนว่าวันนี้เริ่มต้นเมื่อไร. แต่เรารู้ว่าวันนี้เริ่มต้นหลังจากที่พระเจ้าทรงสร้างฮาวา ภรรยาของอาดาม เมื่อประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว. ในไม่ช้า รัชสมัยพันปีของพระเยซูคริสต์จะเริ่มต้นขึ้น และระหว่างช่วงเวลานั้นพระเจ้าจะทรงทำให้พระประสงค์ของพระองค์บนแผ่นดินโลกสำเร็จเป็นจริง. พระเจ้าทรงประสงค์ให้แผ่นดินโลกเป็นอุทยานซึ่งจะเป็นที่ที่มนุษย์สมบูรณ์อยู่อาศัยตลอดไป. (เย. 1:27, 28; วิ. 20:6) คุณจะมั่นใจได้ไหมว่าคุณจะมีอนาคตที่มีความสุขเช่นนั้น? คุณสามารถมั่นใจเช่นนั้นได้! เพราะ ‘พระเจ้าได้ทรงอวยพระพรแก่วันที่เจ็ดนั้นตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์.’ นี่เป็นการรับรองว่าไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในอนาคต พระประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จเป็นจริงอย่างแน่นอนเมื่อถึงตอนสิ้นสุดวันหยุดพักของพระองค์.—เย. 2:3
3. (ก) มีอะไรเกิดขึ้นหลังจากที่วันหยุดพักของพระเจ้าเริ่มต้นแล้ว? (ข) พระยะโฮวาตรัสอย่างไรเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์จะทรงแก้ไขปัญหานี้?
3 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่วันหยุดพักของพระเจ้าเริ่มต้น มีการกบฏขัดขืนอำนาจของพระเจ้าเกิดขึ้น. ซาตาน ซึ่งเป็นทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระเจ้า พยายามล่อลวงให้มนุษย์นมัสการมันแทนที่จะนมัสการพระเจ้า. มันล่อลวงฮาวาโดยใช้คำโกหกที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกและทำให้นางไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา. (1 ติโม. 2:14) จากนั้น ฮาวาก็ชักชวนสามีให้ร่วมกับตนในการขืนอำนาจพระยะโฮวา. (เย. 3:1-6) การกบฏนี้เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น. แม้ว่าซาตานกล่าวหาว่าพระยะโฮวาทรงมุสา แต่พระยะโฮวาไม่ได้คิดว่าพระองค์จำเป็นต้องสาบานเพื่อยืนยันว่าพระประสงค์ของพระองค์ยังจะสำเร็จเป็นจริง. แทนที่จะทำอย่างนั้น พระองค์เพียงแต่ตรัสคำสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งจะมีการเปิดเผยให้เข้าใจในภายหลังว่าเป็นวิธีที่พระองค์ทรงใช้เพื่อทำลายผู้ขืนอำนาจ ที่ว่า “เราจะบันดาลให้เจ้า [ซาตาน] กับหญิงนี้, ทั้งเผ่าพันธุ์ของเจ้ากับเผ่าพันธุ์ของเราเป็นศัตรูกัน. เผ่าพันธุ์ของหญิง [ผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญา] จะทำหัวของเจ้าให้ฟกช้ำ, และเจ้าจะทำให้ส้นเท้าของเขาฟกช้ำ.”—เย. 3:15; วิ. 12:9
สาบานเพื่อยืนยันว่าพูดความจริง
4, 5. อับราฮามทำอะไรในบางโอกาสเพื่อยืนยันว่าท่านพูดความจริง?
4 ในตอนต้น ๆ ของประวัติศาสตร์มนุษย์ คงไม่จำเป็นต้องสาบานเพื่อยืนยันคำพูดของตนว่าเป็นความจริง. มนุษย์สมบูรณ์ที่รักพระเจ้าและเลียนแบบพระองค์ไม่จำเป็นต้องสาบาน เพราะพวกเขาพูดความจริงเสมอและไว้วางใจกันอย่างแท้จริง. แต่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปเมื่อมนุษย์กลายเป็นคนบาปและไม่สมบูรณ์. ในที่สุด เมื่อการโกหกและการหลอกลวงกลายเป็นเรื่องธรรมดาในหมู่มนุษย์ จึงจำเป็นที่พวกเขาจะต้องสาบานเพื่อยืนยันคำพูดของตนในเรื่องที่สำคัญ ๆ ว่าเป็นความจริง.
5 ปฐมบรรพบุรุษอับราฮามสาบานเพื่อยืนยันสิ่งที่ท่านพูดว่าเป็นความจริงอย่างน้อยในสามโอกาส. (เย. 21:22-24; 24:2-4, 9) ตัวอย่างเช่น ท่านได้สาบานเมื่อท่านกลับจากการพิชิตกษัตริย์แห่งเอลามและกษัตริย์องค์อื่น ๆ ทั้งหมดที่อยู่ฝ่ายเดียวกันกับเขา. กษัตริย์แห่งเมืองซาเลมและโซโดมได้ออกมาพบกับอับราฮาม. เมลคีเซเด็ค กษัตริย์แห่งเมืองซาเลม เป็น “ปุโรหิตของพระเจ้าผู้สูงสุด” ด้วย และเขาอวยพรแก่อับราฮามและสรรเสริญพระเจ้าที่ประทานชัยชนะแก่อับราฮามเหนือเหล่าศัตรู. (เย. 14:17-20) และเมื่อกษัตริย์เมืองโซโดมต้องการประทานบำเหน็จแก่อับราฮามที่ช่วยประชาชนของเขาไว้จากกองทัพที่มารุกราน อับราฮามสาบานว่า “ข้าพเจ้าได้ยกมือสาบานตัวเฉพาะพระยะโฮวาพระเจ้าผู้สูงสุด, ผู้เป็นเจ้าของฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก, ว่าแม้เส้นด้ายหรือสายรัดรองเท้าข้าพเจ้าจะไม่รับสักสิ่งหนึ่งเลยที่เป็นของ ๆ ท่าน, เพื่อท่านจะมิได้อวดอ้างว่า, ‘เราได้บำรุงอับรามให้มั่งมี.’ ”—เย. 14:21-23
คำสาบานที่พระยะโฮวาประทานแก่อับราฮาม
6. (ก) อับราฮามวางตัวอย่างอะไรไว้สำหรับเรา? (ข) เราจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากการเชื่อฟังของอับราฮาม?
6 เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติที่ผิดบาป พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสาบานด้วย โดยทรงใช้ถ้อยคำบางอย่าง เช่น “พระยะโฮวาเจ้าตรัสว่า, เรามีชีวิตอยู่ฉันใด.” (ยเอศ. 17:16) คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาเหตุการณ์ที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสาบานในโอกาสต่าง ๆ มากกว่า 40 ครั้ง. ตัวอย่างที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือตอนที่พระเจ้าทรงสาบานกับอับราฮาม. ตลอดช่วงเวลาหลายปี พระยะโฮวาได้ทรงทำสัญญากับอับราฮามหลายครั้งซึ่งเมื่อรวมกันแล้วแสดงให้เห็นว่าผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญาไว้จะมาทางเชื้อสายของอับราฮามและยิศฮาคบุตรของท่าน. (เย. 12:1-3, 7; 13:14-17; 15:5, 18; 21:12) หลังจากนั้น พระยะโฮวาทรงทดสอบอับราฮามในเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง โดยทรงสั่งให้ท่านถวายบุตรที่รักเป็นเครื่องบูชา. อับราฮามทำตามโดยไม่ลังเลและเกือบจะถวายยิศฮาคเป็นเครื่องบูชาอยู่แล้วเมื่อทูตสวรรค์ของพระเจ้ามาห้ามท่านไว้. แล้วพระเจ้าก็ทรงสาบานว่า “เราเองได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณด้วยนามของเราว่า, เพราะเจ้าได้กระทำการนี้, คือไม่หวงลูกชายคนเดียวของเจ้าไว้, เหตุฉะนั้นเราคงจะอวยพรเจ้า. ให้พงศ์พันธุ์ของเจ้ามากทวีขึ้นดุจดวงดาวบนฟ้า, และดุจเม็ดทรายที่ฝั่งมหาสมุทร; และพงศ์พันธุ์ของเจ้าจะตั้งอยู่ในประตูเมืองแห่งพวกข้าศึก; ชนทุกชาติทั่วโลกจะได้พรเพราะพงศ์พันธุ์ของเจ้า, เพราะเจ้าได้เชื่อฟังเสียงของเรา.”—เย. 22:1-3, 9-12, 15-18
7, 8. (ก) พระเจ้าทรงสาบานกับอับราฮามด้วยจุดประสงค์อะไร? (ข) “แกะอื่น” ของพระเยซูได้รับประโยชน์อย่างไรจากคำสาบานของพระเจ้า?
7 เหตุใดพระเจ้าทรงสาบานกับอับราฮามว่าคำสัญญาของพระองค์จะเป็นจริง? ที่พระองค์ทำเช่นนั้นก็เพื่อให้ความมั่นใจแก่คนที่จะเป็นรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์ ซึ่งประกอบกันเป็น “ผู้สืบเชื้อสาย” อันดับรองตามที่ทรงสัญญาไว้ และเพื่อเสริมความเชื่อของพวกเขา. (อ่านฮีบรู 6:13-18; กลา. 3:29) ดังที่อัครสาวกเปาโลอธิบาย พระยะโฮวา “ทรงยืนยันคำสัญญานั้นด้วยคำสาบาน เพื่อว่าโดยสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้สองสิ่งนี้ [คำสัญญาและคำสาบาน] ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะตรัสมุสา เรา . . . จะมีกำลังใจที่เข้มแข็งเพื่อจะยึดมั่นกับความหวังที่ทรงตั้งไว้ตรงหน้าเรา.”
8 คริสเตียนผู้ถูกเจิมไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่ได้รับประโยชน์จากคำสาบานที่พระเจ้าประทานแก่อับราฮาม. โดยทาง “พงศ์พันธุ์” ของอับราฮาม พระยะโฮวาทรงสาบานว่า “ชนทุกชาติทั่วโลกจะได้พร.” (เย. 22:18) คนที่ได้รับการอวยพรเช่นนั้นรวมถึง “แกะอื่น” ที่เชื่อฟังของพระคริสต์ซึ่งมีความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก. (โย. 10:16) ไม่ว่าคุณมีความหวังที่จะอยู่ในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก จง “ยึดมั่น” กับความหวังนั้นโดยดำเนินชีวิตอย่างที่เชื่อฟังพระเจ้าต่อ ๆ ไป.—อ่านฮีบรู 6:11, 12
คำสาบานอื่น ๆ ของพระเจ้าที่เกี่ยวข้องกัน
9. พระเจ้าทรงสาบานอะไรเมื่อลูกหลานของอับราฮามตกเป็นทาสของชาวอียิปต์?
9 หลายศตวรรษต่อมา พระยะโฮวาทรงสาบานอีกครั้งหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับคำสัญญาที่กล่าวไปแล้วข้างตน เมื่อพระองค์ทรงส่งโมเซให้ไปพูดกับลูกหลานของอับราฮามซึ่งตอนนั้นตกเป็นทาสของชาวอียิปต์. (เอ็ก. 6:6-8) พระเจ้าทรงอ้างถึงโอกาสนั้นโดยตรัสว่า “ในวันที่เราทรงเลือกยิศราเอลนั้น . . . เราได้ยกพระหัตถ์ของเรา [สาบาน] แก่เขาทั้งปวงเพื่อจะนำเขาทั้งหลายออกจากแผ่นดินอายฆุบโตไปถึงแผ่นดินน้ำนมและน้ำผึ้งไหล.”—ยเอศ. 20:5, 6
10. พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับชาติอิสราเอลหลังจากที่ช่วยพวกเขาออกจากประเทศอียิปต์?
10 ต่อมา หลังจากที่ช่วยชาวอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์แล้ว พระยะโฮวาทรงให้สัตย์สาบานแก่พวกเขาอีกครั้งหนึ่งว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายจะฟังถ้อยคำของเราจริง ๆ, และรักษาคำไมตรีของเราไว้, เจ้าจะเป็นทรัพย์ประเสริฐของเรายิ่งกว่าชาติทั้งปวง เพราะเราเป็นเจ้าของโลกทั้งสิ้น. เจ้าทั้งหลายจะเป็นอาณาจักรแห่งปุโรหิต, และจะเป็นชนชาติอันบริสุทธิ์สำหรับเรา.” (เอ็ก. 19:5, 6) ฐานะตำแหน่งที่พระเจ้าเสนอให้ชาติอิสราเอลนั้นช่างเป็นสิทธิพิเศษสักเพียงไร! นั่นหมายความว่าถ้าพวกเขาเชื่อฟัง แต่ละคนจากชาตินี้สามารถหวังได้ว่าเขาจะถูกพระเจ้าใช้ให้เป็นอาณาจักรแห่งปุโรหิตซึ่งจะเป็นพระพรสำหรับมนุษยชาติที่เหลือทั้งหมด. ต่อมา พระยะโฮวาทรงพรรณนาถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทำเพื่อชาติอิสราเอลไปแล้วในโอกาสนั้นว่า “เราได้สาบานแก่เจ้า, และเข้าเป็นมิตรไมตรีแก่เจ้า.”—ยเอศ. 16:8
11. ชาติอิสราเอลตอบคำเชิญของพระเจ้าที่ให้มีสายสัมพันธ์กับพระองค์ในฐานะประชาชนที่พระองค์ทรงเลือกอย่างไร?
11 ในเวลานั้น พระยะโฮวาไม่ได้บังคับชาติอิสราเอลให้สาบานว่าพวกเขาจะเชื่อฟัง. และพระองค์ไม่ได้ยัดเยียดสายสัมพันธ์อันเป็นสิทธิพิเศษนี้ให้พวกเขา. พวกเขาสาบานเองว่า “สิ่งสารพัตรที่พระยะโฮวาตรัสนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายจะกระทำตาม.” (เอ็ก. 19:8) สามวันต่อมา พระยะโฮวาพระเจ้าทรงแจ้งให้ชาติอิสราเอลทราบสิ่งที่พระองค์ประสงค์จะให้พวกเขาทำในฐานะเป็นชาติที่พระองค์ทรงเลือก. ก่อนอื่น พระองค์ประทานพระบัญญัติสิบประการแก่พวกเขาแล้วโมเซก็บอกพวกเขาเกี่ยวกับพระบัญญัติข้ออื่น ๆ ดังที่บันทึกไว้ในเอ็กโซโด 20:22 ถึง 23:33. ชาติอิสราเอลมีปฏิกิริยาอย่างไร? “เขาก็ได้ตอบด้วยเสียงพร้อมกันว่า ‘ถ้อยคำทั้งหมดซึ่งพระยะโฮวาได้ตรัสไว้นั้นพวกข้าพเจ้าจะกระทำตาม.’ ” (เอ็ก. 24:3) จากนั้น โมเซก็ได้จดข้อกฎหมายเหล่านั้นลงใน “หนังสือสัญญาไมตรี” และอ่านให้พวกเขาฟังด้วยเสียงดังเพื่อจะให้ทั้งชาติได้ยินข้อกฎหมายเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง. หลังจากนั้น ประชาชนก็สาบานเป็นครั้งที่สามว่า “สิ่งสารพัตรที่พระยะโฮวาได้ตรัสไว้นั้น, พวกข้าพเจ้าจะเชื่อฟังและทำตาม.”—เอ็ก. 24:4, 7, 8
12. พระยะโฮวาทรงทำอะไรหลังจากที่พระองค์ทำสัญญากับชาติอิสราเอล และชาวอิสราเอลทำอะไรหลังจากที่สาบานกับพระเจ้า?
12 พระยะโฮวาทรงเริ่มทำส่วนของพระองค์ในสัญญาแห่งพระบัญญัติที่ทรงทำไว้กับชาติอิสราเอลทันที. พระองค์ทรงเลือกปุโรหิตที่จะรับใช้ ณ พลับพลาสำหรับการนมัสการ. ปุโรหิตเหล่านี้จะช่วยมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ให้สามารถมีสายสัมพันธ์กับพระเจ้า. แต่ในอีกด้านหนึ่ง ชาติอิสราเอลกลับลืมการอุทิศตัวแด่พระเจ้าไปอย่างรวดเร็วและ “ได้ขัดพระทัยพระองค์ผู้บริสุทธิ์แห่งพวกยิศราเอล.” (เพลง. 78:41) ตัวอย่างเช่น ขณะที่โมเซขึ้นไปรับพระบัญชาเพิ่มเติมบนภูเขาไซนาย ชาวอิสราเอลขาดความอดทนและสูญเสียความเชื่อในพระเจ้า. พวกเขาคิดว่าโมเซทิ้งพวกเขาแล้ว. พวกเขาจึงทำรูปโคทองคำและกล่าวว่า “นี่แหละเป็นพระของเจ้าทั้งหลาย, ซึ่งได้นำเจ้าออกจากประเทศอายฆุบโต.” (เอ็ก. 32:1, 4) แล้วพวกเขาก็ฉลองสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “วันเทศกาลเลี้ยงถวายพระยะโฮวา” และกราบไหว้และถวายเครื่องบูชาแก่รูปปั้นที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น. เมื่อเห็นอย่างนั้น พระยะโฮวาทรงบอกโมเซว่า “เขาได้หุนหันเขวออกจากทางซึ่งเราได้สั่งเขาไว้.” (เอ็ก. 32:5, 6, 8) น่าเศร้า หลายปีต่อจากนั้นชาติอิสราเอลได้สาบานอีกหลายครั้งกับพระเจ้าแต่พวกเขาไม่ได้ทำตามที่สาบานไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า.—อาฤ. 30:2
คำสาบานอีกสองเรื่อง
13. พระเจ้าทรงสาบานอะไรกับกษัตริย์ดาวิด และคำสาบานนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญา?
13 ระหว่างการปกครองของกษัตริย์ดาวิด พระยะโฮวาทรงสาบานอีกสองเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่เชื่อฟังพระองค์. เรื่องแรก พระองค์ทรงสาบานกับดาวิดว่าราชบัลลังก์ของท่านจะดำรงอยู่เป็นนิตย์. (เพลง. 89:35, 36; 132:11, 12) ผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญาไว้จะถูกเรียกว่า “บุตรดาวิด.” (มัด. 1:1; 21:9) ด้วยความถ่อมใจ ดาวิดเรียกผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” เพราะพระคริสต์จะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าท่าน.—มัด. 22:42-44
14. พระยะโฮวาทรงสาบานอะไรเกี่ยวกับผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญา และเราได้รับประโยชน์อย่างไร?
14 คำสาบานเรื่องที่สองคือ พระยะโฮวาทรงดลใจดาวิดให้บอกล่วงหน้าว่าผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญาจะไม่ได้เป็นเพียงกษัตริย์ แต่จะเป็นมหาปุโรหิตของมนุษยชาติด้วย. ในชาติอิสราเอลตำแหน่งกษัตริย์และปุโรหิตแยกต่างหากกันอย่างสิ้นเชิง. ปุโรหิตมาจากตระกูลเลวี และกษัตริย์มาจากตระกูลยูดาห์. แต่ดาวิดบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับกษัตริย์ที่จะมาในอนาคตว่า “พระยะโฮวาได้ตรัสแก่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าว่า, จงนั่งเบื้องขวาของเรา, กว่าเราจะปราบศัตรูของท่านให้เป็นม้ารองเท้าของท่าน. พระยะโฮวาทรงปฏิญาณไว้แล้ว, จะไม่ทรงกลับพระทัย. ท่านเป็นปุโรหิตประจำอยู่เป็นนิตย์ตามแบบอย่างมัลคีเซเด็ก.” (เพลง. 110:1, 4) เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ตามที่ดาวิดได้บอกไว้ล่วงหน้า ในเวลานี้พระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญากำลังปกครองเป็นกษัตริย์อยู่ในสวรรค์. นอกจากนั้น พระองค์ยังรับใช้ในฐานะมหาปุโรหิตโดยช่วยคนที่กลับใจให้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า.—อ่านฮีบรู 7:21, 25, 26
อิสราเอลใหม่ของพระเจ้า
15, 16. (ก) มีการกล่าวถึงชาติอิสราเอลอะไรบ้างในคัมภีร์ไบเบิล และชาติอิสราเอลใดที่พระเจ้าทรงอวยพรในทุกวันนี้? (ข) พระเยซูประทานพระบัญชาอะไรแก่เหล่าสาวกเกี่ยวกับการสาบาน?
15 เนื่องจากชาติอิสราเอลปฏิเสธพระคริสต์ ในที่สุดชาตินี้สูญเสียฐานะอันเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าและหมดโอกาสที่จะได้เป็น “อาณาจักรแห่งปุโรหิต.” ดังที่พระเยซูทรงบอกพวกผู้นำชาวยิวว่า “ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะถูกเอาไปจากพวกเจ้าแล้วมอบให้แก่ชนชาติหนึ่งซึ่งจะเกิดผลที่เหมาะสมกับราชอาณาจักร.” (มัด. 21:43) ชาติใหม่นี้เกิดขึ้นในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 เมื่อมีการเทพระวิญญาณของพระเจ้าลงบนเหล่าสาวกของพระเยซูประมาณ 120 คนที่ประชุมกันในกรุงเยรูซาเลม. ต่อมา คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า “อิสราเอลของพระเจ้า” และในไม่ช้าพวกเขาก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นจนมีหลายพันคน ซึ่งมาจากทุกชาติของโลกที่รู้จักกันในเวลานั้น.—กลา. 6:16
16 ชาติใหม่ฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าไม่เหมือนกับชาติอิสราเอลโดยกำเนิด เพราะชาติใหม่นี้เกิดผลอยู่เรื่อย ๆ ด้วยการเชื่อฟังพระเจ้าเสมอ. พระบัญชาข้อหนึ่งที่สมาชิกของชาติใหม่นี้เชื่อฟังเกี่ยวข้องกับการสาบาน. มีการสาบานกันอย่างผิด ๆ เมื่อพระเยซูทรงอยู่บนแผ่นดินโลก โดยที่ผู้คนสาบานเท็จหรือสาบานในเรื่องที่ไม่สำคัญ. (มัด. 23:16-22) พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกว่า “อย่าสาบานเลย . . . ให้คำของเจ้าที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่ ที่ว่าไม่ หมายความว่าไม่ เพราะที่เกินจากนี้ก็มาจากตัวชั่วร้าย.”—มัด. 5:34, 37
คำสัญญาของพระยะโฮวาเป็นจริงเสมอ
17. จะมีการพิจารณาคำถามอะไรในบทความถัดไป?
17 นี่หมายความว่าการสาบานเป็นเรื่องผิดเสมอไปไหม? ที่สำคัญกว่านั้น การให้คำพูดของเราที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่นั้นเกี่ยวข้องกับอะไร? คำถามนี้จะมีการพิจารณาในบทความถัดไป. ในขณะที่เราใคร่ครวญพระคำของพระเจ้าต่อ ๆ ไป ขอให้เรื่องนี้กระตุ้นเราให้เชื่อฟังพระยะโฮวาอยู่เสมอ. เมื่อเราทำอย่างนั้นแล้ว พระองค์ก็จะทรงยินดีอวยพรเราตลอดไปดังที่พระองค์ได้ทรงสัญญาและสาบานว่าจะทำ.