เราสามารถเรียนรู้จากมนุษย์คู่แรก
พระเจ้าได้ทรงตรวจตราพิภพดาวเคราะห์ดวงนี้. พระองค์กำลังจัดเตรียมพิภพให้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์. พระองค์ทอดพระเนตรทุกสิ่งที่พระองค์ได้สร้างขึ้นล้วนดีทั้งนั้น. อันที่จริง เมื่อเสร็จงานสร้างสรรค์เหล่านั้นแล้ว พระองค์ทรงแถลงว่า “ดีนัก.” (เยเนซิศ 1:12, 18, 21, 25, 31) อย่างไรก็ตาม ก่อนเสร็จสมบูรณ์ พระเจ้าได้ตรัสว่าบางอย่าง “ไม่ดี.” แน่ละ พระเจ้าไม่ได้ทำอะไรขาดตกบกพร่อง แต่ที่ตรัสเช่นนั้นเป็นเพียงเพราะการสร้างของพระองค์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์. พระยะโฮวาตรัสว่า “ไม่ดีที่มนุษย์จะอยู่ลำพังต่อ ๆ ไป. เราจะสร้างผู้ช่วยสำหรับเขา เป็นคู่เคียงของเขา.”—เยเนซิศ 2:18, ล.ม.
พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาคือให้มนุษยชาติมีชีวิตนิรันดร์พร้อมด้วยสุขภาพพลานามัยที่ดี, มีความสุข, และมีความอุดมบริบูรณ์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. บิดาแห่งมวลมนุษย์คืออาดาม. ฮาวาภรรยาของเขาเป็น “มารดาของบรรดาชนที่มีชีวิต.” (เยเนซิศ 3:20) แม้เวลานี้แผ่นดินโลกเนืองแน่นไปด้วยบุตรหลานหลายพันล้านคนของเขา แต่ก็ไม่ใช่มนุษย์สมบูรณ์.
เรื่องของอาดามและฮาวาเป็นที่รู้จักกันทั่วไป. ทว่า เรื่องราวของเขาเป็นประโยชน์แก่เราในทางใด? เราจะเรียนอะไรได้จากประสบการณ์ของมนุษย์คู่แรก?
‘พระเจ้าได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง’
เมื่ออาดามตั้งชื่อสัตว์ต่าง ๆ อยู่นั้น เขาเห็นสัตว์เหล่านั้นอยู่เป็นคู่ ๆ ส่วนตัวเขาเองกลับไม่มีคู่. ดังนั้น เมื่อมองเห็นมนุษย์ร่างสวยสะคราญซึ่งพระยะโฮวาทรงปั้นแต่งจากกระดูกซี่โครงของเขา เขารู้สึกปลาบปลื้ม. เมื่อตระหนักว่านางเป็นส่วนหนึ่งของเขา มีลักษณะเด่นไม่มีใดเหมือน อาดามจึงได้เปล่งเสียงร้องว่า “นี่เป็นกระดูกแท้และเนื้อแท้ของเรา. จะต้องเรียกว่าหญิง, เพราะหญิงนี้ออกมาจากชาย.”—เยเนซิศ 2:18-23.
ชายผู้นี้จำต้องมี “ผู้ช่วย.” บัดนี้เขาได้คนหนึ่งซึ่งเหมาะมาก. ฮาวาเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นคู่เคียงของอาดาม—ในการดูแลบ้านที่เป็นสวนอันอุดมและสัตว์ต่าง ๆ, ให้กำเนิดบุตร, และให้การกระตุ้นแบบที่มีเชาวน์ปัญญาและการสนับสนุนแบบเพื่อนจริง ๆ.—เยเนซิศ 1:26-30.
พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมให้มนุษย์คู่แรกมีทุกสิ่งตามความปรารถนาที่สมเหตุผล. โดยการมอบฮาวาแก่สามีของนางซึ่งถือว่าทรงเห็นชอบกับการอยู่ร่วมกันของคนทั้งสอง พระเจ้าได้ตั้งสถาบันการสมรสและครอบครัวขึ้นมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสังคม. บันทึกในพระธรรมเยเนซิศแจ้งดังนี้: “ผู้ชายจึงจะละบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับภรรยา: และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อหนังอันเดียวกัน.” และเมื่อพระยะโฮวาทรงอวยพรคู่สมรสคู่แรกและบัญชาให้บังเกิดบุตรทวีมากขึ้น พระองค์ทรงมุ่งหมายไว้ชัดเจนว่า เด็กทุกคนจะเกิดมาในครอบครัวที่เอื้ออาทรกัน มีบิดาและมารดาคอยดูแล.—เยเนซิศ 1:28; 2:24.
“ตามแบบพระฉายของพระเจ้า”
อาดามเป็นบุตรที่สมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า ถูกสร้างตาม ‘แบบพระฉายและคล้ายกัน’ กับพระองค์. แต่เนื่องจาก “พระเจ้าทรงเป็นองค์วิญญาณ” ความคล้ายกันจึงไม่ใช่ด้านร่างกาย. (เยเนซิศ 1:26; โยฮัน 4:24, ล.ม.) ความคล้ายกันนี้เป็นในด้านคุณลักษณะต่าง ๆ ซึ่งทำให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์เดรัจฉาน. ใช่แล้ว คุณลักษณะต่าง ๆ ที่ใส่ไว้ในตัวมนุษย์แต่แรกนั้นได้แก่ความรัก, สติปัญญา, อำนาจ, และความยุติธรรม. พระเจ้าโปรดให้เขามีเจตจำนงเสรีและความสามารถหยั่งรู้เข้าใจในเรื่องฝ่ายวิญญาณ. ความสำนึกในด้านศีลธรรมหรือมโนธรรมซึ่งติดตัวมาแต่กำเนิดนั้นทำให้เขาสามารถแยกแยะได้ว่าไหนถูกไหนผิด. มนุษย์มีความสามารถทางปัญญา ทำให้เขาสามารถไตร่ตรองในเรื่องเหตุผลที่มนุษย์ดำรงอยู่, สามารถเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับพระผู้สร้างของตน, และสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์ผู้นั้น. โดยที่อาดามถูกเตรียมไว้พร้อมเช่นนี้ เขาจึงมีทุกสิ่งที่จำเป็นต่อการทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จฐานะเป็นผู้บริหารดูแลสรรพสิ่งทางแผ่นดินโลกที่สร้างโดยฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า.
ฮาวาละเมิดคำสั่ง
ไม่ต้องสงสัย อาดามคงได้บอกฮาวาทันทีเกี่ยวด้วยข้อห้ามที่พระยะโฮวากำหนดขึ้น: คนทั้งสองจะกินผลไม้ได้จากทุกต้นในสวนอันเป็นบ้านของเขา ยกเว้นต้นเดียว—ต้นไม้ที่ให้รู้ความดีและความชั่ว. เขาต้องไม่กินจากต้นนั้น. ถ้าเขากินวันใด เขาจะตายวันนั้น.—เยเนซิศ 2:16, 17.
มิช้ามินาน ก็ได้มีการยกประเด็นหนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับผลไม้ต้องห้ามนั้น. งูตัวหนึ่งเข้ามาพูดกับนางฮาวา มันเป็นกระบอกเสียงแทนวิญญาณตนหนึ่งที่ไม่ประจักษ์แก่ตา. ด้วยท่าทีซึ่งดูเหมือนไม่มีพิษมีภัยอะไร งูถามว่า “จริงหรือที่พระเจ้าตรัสห้ามว่า, ‘เจ้าอย่ากินผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้’?” ฮาวาตอบว่า ผลไม้จากทุกต้นในสวนนี้พระเจ้าอนุญาตให้กินได้ เว้นแต่ต้นเดียวเท่านั้น. แต่แล้วงูก็พูดแย้งสิ่งที่พระเจ้าตรัส โดยบอกหญิงนั้นว่า “เจ้าจะไม่ตายจริงดอก. เพราะพระเจ้าทรงทราบอยู่ว่า, เจ้ากินผลไม้นั้นเข้าไปวันใด, ตาของเจ้าจะสว่างขึ้นในวันนั้น; แล้วเจ้าจะเป็นเหมือนพระ, จะรู้จักความดีและชั่ว.” หญิงนั้นเริ่มมองต้นไม้ต้องห้ามนั้นด้วยทัศนะที่ต่างออกไป. “ผลไม้ต้นนั้นน่ากินและงามด้วย.” ฮาวาถูกหลอกลวงโดยสิ้นเชิงและได้ฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้า.—เยเนซิศ 3:1-6; 1 ติโมเธียว 2:14.
บาปของฮาวาเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงไหม? ไม่ใช่เช่นนั้น! ลองนึกภาพตัวคุณเองเป็นฮาวา. คำกล่าวอ้างของงูบิดเบือนคำตรัสของพระเจ้าและสิ่งที่อาดามบอกนางอย่างสิ้นเชิง. คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าคนแปลกหน้ากล่าวหาบุคคลที่คุณรักและไว้ใจว่าเป็นคนไม่ซื่อสัตย์? ฮาวาน่าจะแสดงปฏิกิริยาที่ต่างออกไป, แสดงความรังเกียจและโกรธ, กระทั่งไม่รับฟังด้วยซ้ำ. ว่าไปแล้ว งูนั้นเป็นใครล่ะที่จะตั้งข้อสงสัยความชอบธรรมของพระเจ้าและคำพูดของสามีนาง? ด้วยความนับถือต่อหลักการว่าด้วยความเป็นประมุข ฮาวาควรขอคำแนะนำก่อนทำการตัดสินใจในเรื่องใด ๆ. พวกเราก็ควรจะทำเช่นเดียวกันนั้นหากมีการเสนอข้อมูลแก่เราซึ่งขัดต่อคำสั่งที่พระเจ้าให้ไว้. กระนั้น ฮาวาเชื่อคำพูดของเจ้าตัวล่อลวงนั้น นางปรารถนาจะตัดสินเอาเองว่าอะไรดีอะไรชั่ว. ยิ่งนางหมกมุ่นครุ่นคิด สิ่งนั้นก็ยิ่งดึงดูดใจนางมากขึ้น. นางได้ทำผิดพลาดอะไรเช่นนั้นโดยฝังใจอยู่กับความปรารถนาผิด ๆ แทนที่จะสลัดความคิดนั้นออกไป หรือหารือเรื่องนั้นกับประมุขครอบครัว!—1 โกรินโธ 11:3; ยาโกโบ 1:14, 15.
อาดามฟังเสียงภรรยา
ในไม่ช้าฮาวาก็ชักจูงอาดามให้ร่วมทำบาป. เราจะอธิบายอย่างไรถึงความไม่เข้มแข็งของอาดามที่ยอมทำตาม? (เยเนซิศ 3:6, 17) อาดามเผชิญการต่อสู้ในจิตใจเกี่ยวกับความภักดี. เขาจะเชื่อฟังพระผู้สร้างไหม ผู้ได้ประทานสิ่งสารพัดแก่เขารวมทั้งฮาวาคู่ครองซึ่งเป็นที่รักของเขาด้วย? ตอนนี้อาดามจะแสวงหาการชี้นำจากพระเจ้าไหมเพื่อจะรู้ว่าเขาควรทำอย่างไร? หรือว่าชายผู้นี้จะตกลงใจทำบาปร่วมกับภรรยา? อาดามรู้ดีว่าสิ่งที่นางหวังจะได้จากการกินผลไม้ต้องห้ามนั้นเป็นแค่ความเพ้อฝัน. อัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้เขียนดังนี้: “อาดามไม่ได้ถูกหลอกลวง, แต่ผู้หญิงนั้นได้ถูกหลอกลวงจึงหลงผิดไป.” (1 ติโมเธียว 2:14) ฉะนั้น อาดามจงใจขัดขืนพระยะโฮวา. ความกลัวว่าจะต้องพรากจากภรรยาของตัวดูเหมือนสำคัญยิ่งกว่าความวางใจในพระปรีชาสามารถของพระเจ้าในการแก้ไขสถานการณ์.
การกระทำของอาดามเป็นการฆ่าตัวเอง. มิหนำซ้ำยังเท่ากับว่าเขาฆ่าลูกหลานทั้งปวงซึ่งพระยะโฮวาทรงเมตตายอมให้เขาเป็นบิดา เพราะลูกหลานทั้งสิ้นเกิดมาในความบาปที่ต้องถูกปรับโทษให้ถึงตาย. (โรม 5:12) การไม่เชื่อฟังด้วยความเห็นแก่ตัวก่อผลเสียหายใหญ่หลวงจริง ๆ!
ผลอันเนื่องมาแต่บาป
ผลกระทบทันทีของบาปคือความละอายใจ. แทนที่เขาจะวิ่งเข้าไปทูลพระยะโฮวาด้วยความยินดี คนทั้งสองกลับหลบซ่อนตัว. (เยเนซิศ 3:8) มิตรภาพระหว่างเขากับพระเจ้าขาดสะบั้น. เมื่อพระเจ้าตรัสถามถึงสิ่งที่พวกเขาทำลงไป ทั้งสองไม่ได้แสดงความรู้สึกเสียใจ ทั้ง ๆ ที่ทั้งคู่รู้อยู่ว่าตนได้ละเมิดกฎหมายของพระเจ้า. โดยการกินผลไม้ต้องห้าม เขาจึงได้ปฏิเสธคุณความดีของพระเจ้า.
ผลก็คือ พระเจ้าทรงระบุชัดเจนว่าความเจ็บปวดจะเพิ่มมากขึ้นในยามคลอดบุตร. ฮาวาใคร่จะอยู่กับสามี และเขาจะมีอำนาจเหนือนาง. ความพยายามของนางที่จะไขว่คว้าความเป็นอิสระ จึงกลับส่งผลในทางตรงกันข้ามทีเดียว. ตอนนี้ อาดามจะกินผลิตผลจากแผ่นดินด้วยความยากลำบาก. แทนที่จะได้กินอย่างอิ่มหนำเป็นที่น่าพอใจโดยไม่ต้องทำงานเหนื่อยยากในสวนเอเดน เขากลับต้องขวนขวายหาปัจจัยยังชีพ จนกว่าเขาจะกลับเป็นธุลีดังที่ตัวเองถูกสร้างขึ้นมา.—เยเนซิศ 3:16-19.
ในที่สุด อาดามกับฮาวาก็ถูกขับให้พ้นจากสวนเอเดน. พระยะโฮวาตรัสว่า “ดูเถิด มนุษย์กลายเป็นเช่นผู้หนึ่งในพวกเราในการที่รู้จักความดีและชั่วแล้ว: บัดนี้เกรงว่าเขาจะยื่นมือหยิบผลไม้ที่ให้ชีวิตเจริญกินเข้าไปทำให้อายุยืนอยู่เป็นนิตย์.” กอร์ดอน เวเนม ผู้คงแก่เรียนให้ข้อสังเกตว่า “ประโยคนี้จบลงห้วน ๆ” และเราต้องต่อเติมความคิดส่วนที่เหลือของพระเจ้าเอาเองซึ่งอาจสันนิษฐานได้ความว่า “เราจักต้องขับไล่เขาออกจากสวน.” โดยทั่วไป ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลมักรายงานความคิดครบถ้วนสมบูรณ์ของพระเจ้า. แต่ตอนนี้ เวเนมกล่าวต่อไปว่า “การละข้อสรุปไว้ชวนให้นึกถึงความฉับไวในการกระทำของพระเจ้า. พระองค์ตรัสยังไม่ทันขาดคำ พวกเขาก็ถูกไล่ไปอยู่นอกสวนเสียแล้ว.” (เยเนซิศ 3:22, 23) เมื่อเป็นเช่นนั้น ดูเหมือนว่าการสื่อความทุกอย่างระหว่างพระยะโฮวาและมนุษย์คู่แรกก็เป็นอันสิ้นสุด.
อาดามและฮาวาไม่ได้ตายจริง ๆ ในวันนั้นที่มี 24 ชั่วโมง. อย่างไรก็ตาม เขาตายในแง่ฝ่ายวิญญาณ. โดยการตัดตัวเองจากแหล่งชีวิตอย่างไม่มีทางเอากลับคืนมาได้ พวกเขาจึงเริ่มเสื่อมทรุดสู่ความตาย. ลองนึกภาพว่าพวกเขาจะต้องปวดร้าวเศร้าเสียใจสักปานใดคราวที่เขาประสบพบเห็นความตายเป็นครั้งแรก เมื่อเฮเบลบุตรชายคนรองถูกฆ่าโดยคายินบุตรชายหัวปีของพวกเขา!—เยเนซิศ 4:1-16.
หลังจากนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์คู่แรกก็ไม่ค่อยเป็นที่รู้กัน. เซธบุตรชายคนที่สามเกิดเมื่ออาดามอายุ 130 ปี. อีก 800 ปีต่อมา อาดามตายเมื่ออายุได้ 930 ปี หลังจากได้ให้กำเนิด “บุตรชายหญิงหลายคน.”—เยเนซิศ 4:25; 5:3-5.
บทเรียนสำหรับพวกเรา
นอกจากการเผยให้ทราบสาเหตุความเสื่อมทรุดของสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน เรื่องราวของคู่สมรสแรกเดิมยังสอนบทเรียนสำคัญด้วย. ข้ออ้างใด ๆ ที่ว่าจะอยู่ได้โดยไม่หมายพึ่งพระยะโฮวาพระเจ้านั้นเป็นความโง่เขลาอย่างที่สุด. คนเหล่านั้นที่ฉลาดจริงย่อมแสดงความเชื่อในพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์ ไม่ใช่ความรู้ที่คิดเอาว่าจะรู้ได้ด้วยตนเอง. พระยะโฮวาเป็นผู้กำหนดว่าอะไรดีอะไรไม่ดี และที่แท้แล้ว การทำสิ่งถูกต้องคือการเชื่อฟังพระองค์. การทำความชั่วหมายถึงการฝ่าฝืนกฎหมายของพระองค์และเพิกเฉยต่อหลักการต่าง ๆ ของพระองค์.
พระเจ้าได้เสนอและยังคงเสนอทุกสิ่งที่มนุษย์อยากได้ อาทิ ชีวิตนิรันดร์, อิสระเสรี, ความอิ่มใจพอใจ, ความสุข, สุขภาพดี, ความสงบสุข, ความอุดมมั่งคั่ง, และการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ. อย่างไรก็ดี ที่จะได้ชื่นชมยินดีในสารพัดสิ่งเหล่านี้เรียกร้องให้เรายอมรับว่าเราต้องพึ่งอาศัยอย่างเต็มที่ในพระยะโฮวา พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์.—ท่านผู้ประกาศ 3:10-13; ยะซายา 55:6-13.
[กรอบ/ภาพหน้า 26]
อาดามและฮาวา—เป็นเพียงตำนานหรือ?
เรื่องอุทยานแรกเดิมซึ่งสูญเสียไปเพราะบาปเป็นความเชื่อที่แพร่หลายในกาลโบราณท่ามกลางชาวบาบิโลเนีย, ชาวอัสซีเรีย, ชาวอียิปต์และชนชาติอื่น ๆ. สิ่งที่มักจะมีเหมือน ๆ กันในเรื่องเล่ามากมายก็คือต้นไม้แห่งชีวิต คนที่กินผลของต้นไม้นั้นจะรับชีวิตนิรันดร์. ดังนั้น ผู้คนจึงจำเหตุการณ์อันน่าเศร้าในสวนเอเดนได้.
ทุกวันนี้ หลายคนไม่สนใจเรื่องอาดามกับฮาวาในคัมภีร์ไบเบิลอีกต่อไป เพราะถือว่าเป็นเพียงตำนาน. กระนั้น นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่าเชื้อสายมนุษย์เป็นครอบครัวเดียวมีบรรพบุรุษร่วมกัน. นักเทววิทยาหลายคนรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิเสธผลกระทบจากบาปแรกเดิมที่กระทำโดยบรรพบุรุษคนเดียวกันซึ่งตกทอดมาถึงมนุษยชาติ. ความเชื่อที่ว่ามนุษย์มีต้นกำเนิดจากหลายแหล่งคงทำให้เขาจำต้องพูดว่าบาปแรกเดิมนั้นเกิดจากการกระทำของบรรพบุรุษหลายคน. แล้วเมื่อเขาเชื่ออย่างนั้น เขาก็จำใจต้องปฏิเสธพระคริสต์ผู้เป็น “อาดามคนสุดท้าย” ที่ได้ไถ่มนุษยชาติ. แต่พระเยซูและสาวกทั้งหลายของพระองค์ไม่ประสบกับสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนั้น. พระเยซูและสาวกยอมรับว่าเรื่องราวในพระธรรมเยเนซิศเป็นความจริง.—1 โกรินโธ 15:22, 45; เยเนซิศ 1:27; 2:24; มัดธาย 19:4, 5; โรม 5:12-19.