ตอน 24
เปาโลเขียนจดหมายถึงประชาคมต่าง ๆ
จดหมายของเปาโลเสริมประชาคมคริสเตียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
ประชาคมคริสเตียนที่เพิ่งก่อตั้งจะมีบทบาทสำคัญในการทำให้พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จ. แต่ในไม่ช้าคริสเตียนสมัยศตวรรษแรกก็ถูกโจมตี. พวกเขาจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าต่อ ๆ ไปไหมเมื่อเผชิญการกดขี่ข่มเหงจากภายนอก และอันตรายอื่น ๆ ที่เห็นได้ยากกว่าจากภายในประชาคม? พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีจดหมาย 21 ฉบับที่ให้คำแนะนำและการหนุนใจที่จำเป็น.
จดหมายสิบสี่ฉบับ ตั้งแต่โรมถึงฮีบรู เขียนโดยอัครสาวกเปาโล. มีการเรียกจดหมายเหล่านี้ตามชื่อผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นคนใดคนหนึ่งหรือประชาคมใดประชาคมหนึ่ง. ขอพิจารณาบางเรื่องที่อยู่ในจดหมายของเปาโล.
คำเตือนเรื่องศีลธรรมและความประพฤติ. ผู้ที่ทำผิดประเวณี, เล่นชู้, และบาปร้ายแรงอื่น ๆ “จะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้า.” (กาลาเทีย 5:19-21; 1 โครินท์ 6:9-11) ผู้นมัสการพระเจ้าต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด. (โรม 2:11; เอเฟโซส์ 4:1-6) พวกเขาควรช่วยเหลือเพื่อนร่วมความเชื่อที่มีความจำเป็นด้วยใจยินดี. (2 โครินท์ 9:7) เปาโลบอกให้ “อธิษฐานไม่หยุดหย่อน.” ที่จริง ท่านสนับสนุนผู้นมัสการให้ระบายความรู้สึกจากหัวใจแด่พระยะโฮวาในคำอธิษฐาน. (1 เทสซาโลนิเก 5:17; 2 เทสซาโลนิเก 3:1; ฟิลิปปอย 4:6, 7) เพื่อพระเจ้าจะสดับคำอธิษฐาน พวกเขาต้องอธิษฐานด้วยความเชื่อ.—ฮีบรู 11:6
อะไรจะช่วยครอบครัวให้ประสบผลสำเร็จ? สามีควรรักภรรยาเหมือนรักกายของตน. ภรรยาก็ควรนับถือสามีอย่างสุดซึ้ง. บุตรควรเชื่อฟังบิดามารดาเพราะการทำเช่นนี้ทำให้พระเจ้าพอพระทัย. บิดามารดาต้องชี้นำและฝึกอบรมบุตรด้วยความรักและใช้หลักการต่าง ๆ ที่อยู่ในพระคำของพระเจ้า.—เอเฟโซส์ 5:22–6:4; โกโลซาย 3:18-21
การอธิบายพระประสงค์ของพระเจ้าให้ชัดเจนขึ้น. หลายแง่มุมในพระบัญญัติของโมเซให้การปกป้องและชี้นำชาวอิสราเอลจนถึงการเสด็จมาของพระคริสต์. (กาลาเทีย 3:24) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพระบัญญัตินั้นเพื่อจะนมัสการพระเจ้า. ในจดหมายที่เขียนถึงชาวฮีบรูซึ่งเป็นคริสเตียนที่เคยอยู่ใต้พระบัญญัติมาก่อน เปาโลให้ความกระจ่างอย่างมากเกี่ยวกับความหมายของพระบัญญัติ และวิธีที่พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริงกับพระคริสต์. เปาโลอธิบายว่าหลายแง่มุมของพระบัญญัติมีความหมายเชิงพยากรณ์. ยกตัวอย่าง เครื่องบูชาที่เป็นสัตว์เล็งถึงการถวายชีวิตของพระเยซูเป็นเครื่องบูชา ซึ่งจะทำให้การอภัยบาปเป็นไปได้อย่างแท้จริง. (ฮีบรู 10:1-4) โดยการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู พระเจ้ายกเลิกสัญญาแห่งพระบัญญัตินั้น เนื่องจากไม่จำเป็นอีกต่อไป.—โกโลซาย 2:13-17; ฮีบรู 8:13
การชี้นำในการจัดระเบียบประชาคมอย่างเหมาะสม. ชายที่เต็มใจรับหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมต้องมีมาตรฐานสูงทางด้านศีลธรรมและบรรลุคุณสมบัติต่าง ๆ ที่มีระบุไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. (1 ติโมเธียว 3:1-10, 12, 13; ทิทุส 1:5-9) ผู้นมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าควรเข้าร่วมประชุมกับเพื่อนร่วมความเชื่อเป็นประจำเพื่อหนุนใจกันและกัน. (ฮีบรู 10:24, 25) การประชุมเพื่อการนมัสการควรเป็นที่เสริมสร้างและให้การสั่งสอน.—1 โครินท์ 14:26, 31
เมื่อถึงตอนที่เปาโลเขียนจดหมายฉบับที่สองไปถึงติโมเธียว อัครสาวกผู้นี้อยู่ที่กรุงโรม; ท่านถูกคุมขัง รอการตัดสินคดี. เฉพาะคนกล้าหาญไม่กี่คนเท่านั้นที่เสี่ยงมาเยี่ยมท่าน. เปาโลรู้ว่าเวลาของท่านเหลือน้อยแล้ว. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ต่อสู้อย่างดีแล้ว. ข้าพเจ้าวิ่งจนถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว.” (2 ติโมเธียว 4:7) ดูเหมือนไม่นานหลังจากนั้น เปาโลถูกประหารชีวิตเพราะความเชื่อ. แต่จดหมายของอัครสาวกผู้นี้ชี้นำผู้นมัสการแท้ของพระเจ้าจนถึงทุกวันนี้.
—จากโรม; 1 โครินท์; 2 โครินท์; กาลาเทีย; เอเฟโซส์; ฟิลิปปอย; โกโลซาย; 1 เทสซาโลนิเก; 2 เทสซาโลนิเก; 1 ติโมเธียว; 2 ติโมเธียว; ทิทุส; ฟิเลโมน; ฮีบรู