สองพี่น้องซึ่งได้พัฒนาเจตคติที่ต่างกัน
การตัดสินใจที่บิดามารดาทำลงไปนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อบุตรของตนอย่างเลี่ยงไม่พ้น. เรื่องนี้เป็นจริงในปัจจุบันอย่างที่เป็นจริงย้อนหลังไปในสวนเอเดน. แนวทางขืนอำนาจของอาดามและฮาวามีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อมวลมนุษยชาติ. (เยเนซิศ 2:15, 16; 3:1-6; โรม 5:12) กระนั้น เราแต่ละคนมีโอกาสที่จะพัฒนาสัมพันธภาพที่ดีกับพระผู้สร้างของเราหากเราเลือกจะทำเช่นนั้น. มีการแสดงให้เห็นเรื่องนี้โดยเรื่องราวเกี่ยวกับคายินและเฮเบล พี่น้องคู่แรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์.
ไม่มีบันทึกในพระคัมภีร์ว่าพระเจ้าได้ตรัสกับอาดามและฮาวาหลังจากเขาทั้งสองถูกขับไล่ออกจากสวนเอเดน. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาก็มิได้ละเว้นจากการติดต่อกับบุตรของเขา. ไม่ต้องสงสัยว่า คายินและเฮเบลได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจากบิดามารดาของตน. เขาทั้งสองสามารถมองเห็น ‘คะรูบีมและกระบี่เพลิงอันมีเปลววับวาบอยู่รอบทุกทิศเพื่อจะคอยรักษาทางที่จะเข้าไปถึงต้นไม้ที่ให้ชีวิตเจริญนั้น.’ (เยเนซิศ 3:24) สองคนนี้ยังได้รู้เห็นความสัตย์จริงแห่งคำประกาศของพระเจ้าด้วยที่ว่าการทำงานหนักและความเจ็บปวดจะกลายเป็นสภาพจริงของชีวิต.—เยเนซิศ 3:16, 19.
คายินและเฮเบลคงต้องทราบคำที่พระยะโฮวาตรัสกับงูที่ว่า “เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน. เขาจะบดขยี้หัวของเจ้าและเจ้าจะบดขยี้ส้นเท้าของเขา.” (เยเนซิศ 3:15, ล.ม.) สิ่งที่คายินและเฮเบลทราบเกี่ยวกับพระยะโฮวาจะทำให้เขาทั้งสองสามารถพัฒนาสัมพันธภาพอันเป็นที่โปรดปรานกับพระองค์.
การไตร่ตรองดูคำพยากรณ์ของพระยะโฮวาและคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์ในฐานะผู้มีพระคุณที่เปี่ยมด้วยความรักคงต้องทำให้คายินและเฮเบลเกิดความปรารถนาจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. แต่เขาทั้งสองจะพัฒนาความปรารถนานั้นถึงขีดไหน? เขาจะตอบสนองความปรารถนาที่มีมาแต่กำเนิดที่จะนมัสการพระเจ้าและพัฒนาสภาพฝ่ายวิญญาณของเขาถึงขั้นแสดงความเชื่อในพระองค์ไหม?—มัดธาย 5:3.
สองพี่น้องนำเครื่องบูชามาถวาย
ในเวลาอันควร คายินและเฮเบลได้นำเครื่องบูชามาถวายพระเจ้า. คายินได้ถวายพืชผลจากไร่นา และเฮเบลได้ถวายแกะหัวปีจากฝูงสัตว์ของเขา. (เยเนซิศ 4:3, 4) ตอนนั้นชายสองคนนี้อาจมีอายุราว ๆ 100 ปีแล้ว เพราะอาดามอายุ 130 ปี ตอนที่ท่านมีบุตรชาย คือเซธ.—เยเนซิศ 4:25; 5:3.
เครื่องบูชาที่คายินและเฮเบลถวายบ่งชี้ว่าเขาทั้งสองต่างก็ยอมรับสภาพผิดบาปของตนและปรารถนาจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. อย่างน้อยเขาต้องได้ไตร่ตรองอยู่บ้างถึงคำสัญญาของพระยะโฮวาเกี่ยวกับงูและพงศ์พันธุ์ของผู้หญิง. คายินและเฮเบลได้ทุ่มเทเวลาและความพยายามมากเท่าไรเพื่อพัฒนาสัมพันธภาพอันเป็นที่โปรดปรานกับพระยะโฮวานั้นไม่มีการแจ้งไว้. แต่ปฏิกิริยาของพระเจ้าต่อเครื่องบูชาของเขาทั้งสองทำให้มองออกถึงเจตนาในส่วนลึกของแต่ละคน.
ผู้คงแก่เรียนบางคนให้ความเห็นว่าฮาวาคิดว่าคายินเป็น “พงศ์พันธุ์” ที่จะทำลายงู เพราะตอนที่คายินกำเนิดมานั้น เธอได้พูดว่า “ข้าพเจ้าได้บุตรคนนี้เพราะพระยะโฮวาเจ้า.” (เยเนซิศ 4:2) หากคายินมีความเชื่อแบบนี้ด้วย เขาก็คิดผิดถนัด. ในอีกด้านหนึ่ง เฮเบลถวายเครื่องบูชาพร้อมกับความเชื่อ. ดังนั้น “โดยความเชื่อเฮเบลนั้นจึงได้นำเครื่องบูชาอันประเสริฐกว่าเครื่องบูชาของคายินมาถวายแก่พระเจ้า.”—เฮ็บราย 11:4.
การที่เฮเบลมีความหยั่งเห็นเข้าใจฝ่ายวิญญาณและคายินไม่มีคุณลักษณะนี้มิได้เป็นความแตกต่างอย่างเดียวระหว่างพี่น้องคู่นี้. ยังมีความแตกต่างในด้านเจตคติด้วยเช่นกัน. เพราะฉะนั้น “พระยะโฮวาทรงพอพระทัยเฮเบลและเครื่องบูชาของเขานั้น: แต่คายินกับเครื่องบูชาของเขานั้นพระองค์ไม่พอพระทัยจะรับเลย.” ดูเหมือนว่าคายินคิดแค่ตื้น ๆ เท่านั้นเกี่ยวกับเครื่องบูชาของเขาและถวายเครื่องบูชาแบบขอไปที. แต่พระเจ้ามิได้พอพระทัยแค่การนมัสการที่ทำพอเป็นพิธี. คายินได้พัฒนาหัวใจที่ชั่ว และพระยะโฮวาทรงสังเกตว่าเขามีเจตนาที่ผิด. ปฏิกิริยาของคายินต่อการที่เครื่องบูชาของเขาถูกปฏิเสธนั้นสะท้อนให้เห็นน้ำใจที่แท้จริงของเขา. แทนที่จะพยายามแก้ไขเจตคติและแรงกระตุ้นของเขา “คายินก็โกรธแค้นนัก, หน้าตึงก้มอยู่.” (เยเนซิศ 4:5) อากัปกิริยาของเขาเผยให้เห็นความคิดและความมุ่งหมายที่ชั่วร้าย.
คำเตือนและปฏิกิริยา
เนื่องจากทราบเจตคติของคายิน พระเจ้าจึงทรงแนะนำเขา โดยตรัสว่า “เจ้าโกรธเคืองก้มหน้าอยู่ทำไม? ถ้าเจ้าทำดีก็จะมีหน้าตาอันแจ่มใสมิใช่หรือ? ถ้าเจ้าทำไม่ดีความผิดก็คอยอยู่ที่ประตูจะใคร่ตะครุบเอาตัวเจ้า; แต่เจ้าจงเอาชนะความผิดนั้นเถิด.”—เยเนซิศ 4:6, 7.
ในเรื่องมีบทเรียนที่ใช้ได้จริงสำหรับเรา. ที่แท้แล้ว บาปซุ่มคอยอยู่ที่ประตูพร้อมจะขย้ำกลืนเรา. ถึงกระนั้น พระเจ้าได้ทรงประทานเจตจำนงเสรีให้เรา และเราสามารถเลือกจะทำสิ่งที่ถูกต้อง. พระยะโฮวาทรงเชิญคายินให้ “ทำดี” แต่พระองค์มิได้บังคับเขาให้เปลี่ยน. คายินเลือกแนวทางของตัวเอง.
เรื่องราวที่มีขึ้นโดยการดลใจกล่าวต่อไปว่า “ฝ่ายคายินก็บอกกับเฮเบลน้องชายของตน. ภายหลังเมื่ออยู่ที่นาด้วยกัน, คายินก็ลุกขึ้นฆ่าเฮเบลน้องชายของตนเสีย.” (เยเนซิศ 4:8) ด้วยเหตุนี้ คายินกลายเป็นฆาตกรเลือดเย็นผู้ดื้อรั้น. เขาไม่ได้แสดงความสำนึกผิดแม้แต่น้อยเมื่อพระยะโฮวาตรัสถามว่า “เฮเบลน้องชายของเจ้าอยู่ที่ไหน?” ด้วยท่าทีที่ใจแข็งและยโส คายินกลับตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบ: ข้าพเจ้าเป็นผู้เลี้ยงรักษาน้องหรือ?” (เยเนซิศ 4:9) การโกหกอย่างเห็นได้ชัดและการปฏิเสธความรับผิดชอบเช่นนั้นเผยให้เห็นความเหี้ยมโหดของคายิน.
พระยะโฮวาทรงสาปแช่งคายินและเนรเทศเขาไปจากบริเวณที่อยู่รอบสวนเอเดน. คำสาปแช่งต่อพื้นแผ่นดินที่มีการประกาศไปแล้วดูเหมือนจะเด่นชัดขึ้นในกรณีของคายิน และแผ่นดินจะไม่เกิดผลหลังจากที่เขาได้เพาะปลูก. เขาจะต้องเป็นคนพเนจรและผู้ลี้ภัยอยู่ในโลก. คำร้องทุกข์ของคายินเกี่ยวกับการที่เขาถูกตัดสินลงโทษอย่างรุนแรงนั้นแสดงให้เห็นความกังวลว่าเขาจะถูกแก้แค้นเนื่องจากฆ่าน้องชายของตัวเอง แต่เขามิได้แสดงการกลับใจอย่างจริงใจ. พระยะโฮวาทรงทำ “เครื่องหมาย” ไว้เกี่ยวกับคายิน คงจะเป็นพระบัญชาอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคนอื่นทราบและถือรักษา และตั้งขึ้นโดยมุ่งหมายจะป้องกันเขาไว้จากการถูกฆ่าล้างแค้น.—เยเนซิศ 4:10-15.
ต่อจากนั้นคายินได้ “ไปจากพระพักตร์พระยะโฮวาและตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินแห่งการลี้ภัยทางทิศตะวันออกของเอเดน.” (เยเนซิศ 4:16, ล.ม.) โดยรับเอาน้องสาวหรือหลานสาวของตนมาเป็นภรรยา เขาได้สร้างเมืองหนึ่งขึ้นซึ่งเขาเรียกชื่อว่าฮะโนคตามชื่อบุตรหัวปีของเขา. ลาเม็คลูกหลานของคายินปรากฏว่าเป็นคนมีแนวโน้มรุนแรงเหมือนบรรพบุรุษของเขาที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า. แต่เชื้อสายครอบครัวของคายินถูกกวาดล้างในคราวน้ำท่วมโลกสมัยโนฮา.—เยเนซิศ 4:17-24.
บทเรียนสำหรับเรา
เราสามารถเรียนรู้จากเรื่องราวเกี่ยวกับคายินและเฮเบล. อัครสาวกโยฮันกระตุ้นเตือนคริสเตียนให้รักกันและกัน “อย่าให้เหมือนคายินที่มาจากมารนั้นและได้ฆ่าน้องของตัว.” “การ” ของคายินนั้น “ชั่ว, และการของน้องนั้นชอบธรรม.” โยฮันกล่าวด้วยว่า “ผู้หนึ่งผู้ใดที่เกลียดชังพี่น้องของตนก็ย่อมเป็นผู้ฆ่าคน และท่านทั้งหลายรู้แล้วว่า, ผู้ฆ่าคนไม่มีชีวิตนิรันดร์อยู่ในตัวเลย.” ถูกแล้ว วิธีที่เราปฏิบัติกับเพื่อนคริสเตียนนั้นมีผลกระทบต่อสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้าและความหวังของเราในอนาคต. เราไม่อาจเกลียดชังเพื่อนร่วมความเชื่อของเราคนใด ๆ และยังได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าอยู่.—1 โยฮัน 3:11-15; 4:20.
คายินและเฮเบลคงได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาคล้ายกัน แต่คายินขาดความเชื่อในพระเจ้า. ที่จริง เขาได้สำแดงน้ำใจของพญามาร ‘ผู้ฆ่าคนและพ่อของการมุสา’ แต่ดั้งเดิม. (โยฮัน 8:44) แนวทางของคายินแสดงว่าเราทุกคนมีทางเลือก คนเหล่านั้นซึ่งเลือกที่จะทำบาปก็แยกตัวจากพระเจ้า และพระยะโฮวาทรงตัดสินลงโทษคนที่ไม่กลับใจ.
ในอีกด้านหนึ่ง เฮเบลได้แสดงความเชื่อในพระยะโฮวา. ที่จริง “โดยความเชื่อเฮเบลนั้นจึงได้นำเครื่องบูชาอันประเสริฐกว่าเครื่องบูชาของคายินมาถวายแก่พระเจ้า เพราะเหตุเครื่องบูชานั้นจึงมีพยานว่าเขาเป็นคนชอบธรรม, คือพระเจ้าทรงเป็นพยานแก่ของถวายของเขา.” ถึงแม้พระคัมภีร์มิได้บันทึกคำพูดของเฮเบลสักคำเดียวก็ตาม โดยความเชื่ออันเป็นแบบอย่างของเขา เฮเบล “ยังพูดอยู่.”—เฮ็บราย 11:4.
เฮเบลเป็นคนแรกในขบวนยาวเหยียดของผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคง. โลหิตของเขาซึ่ง ‘ร้องฟ้องขึ้นมาจากดินถึงพระยะโฮวา’ ไม่ได้ถูกลืม. (เยเนซิศ 4:10; ลูกา 11:48-51) หากเราแสดงความเชื่อเช่นเดียวกับเฮเบล เราสามารถมีสัมพันธภาพอันล้ำค่าและถาวรกับพระยะโฮวาด้วยเช่นกัน.
[กรอบหน้า 22]
ชาวนาและคนเลี้ยงแกะ
การเพาะปลูกบนแผ่นดินและการเอาใจใส่ดูแลสัตว์เป็นหน้าที่รับผิดชอบดั้งเดิมบางอย่างที่พระเจ้าทรงประทานให้อาดาม. (เยเนซิศ 1:28; 2:15; 3:23) คายินบุตรชายของเขารับงานทำไร่ไถนา ส่วนเฮเบลเป็นคนเลี้ยงแกะ. (เยเนซิศ 4:2) เนื่องจากอาหารของมนุษยชาติประกอบด้วยเฉพาะแต่ผลไม้และพืชผักต่าง ๆ เท่านั้นจนกระทั่งภายหลังน้ำท่วมโลก ทำไมจึงต้องเลี้ยงแกะล่ะ?—เยเนซิศ 1:29; 9:3, 4.
เพื่อจะเจริญเติบโต แกะต้องได้รับการดูแลจากมนุษย์. งานของเฮเบลแสดงหลักฐานว่ามนุษย์ได้เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเหล่านี้มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ. พระคัมภีร์มิได้บอกว่ามนุษย์ยุคแรกสุดใช้น้ำนมจากสัตว์เป็นแหล่งอาหารหรือไม่ ทว่าแม้แต่คนเหล่านั้นที่รับประทานอาหารมังสวิรัติก็สามารถใช้ขนแกะได้. และเมื่อแกะตาย มีการใช้หนังของมันเพื่อจุดประสงค์อันเป็นประโยชน์. ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาทรงทำ “เสื้อด้วยหนังสัตว์” เพื่อให้อาดามและฮาวานุ่งห่ม.—เยเนซิศ 3:21.
จะอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนมีเหตุผลที่จะสันนิษฐานว่าเดิมทีคายินและเฮเบลร่วมมือกัน. เขาทั้งสองทำให้คนอื่นในครอบครัวมีสิ่งจำเป็นเพื่อจะนุ่งห่มและได้รับการเลี้ยงดูอย่างอิ่มหนำ.
[ภาพหน้า 23]
“การ” ของคายินนั้น “ชั่ว, และการของน้องนั้นชอบธรรม”