การถวายเครื่องบูชาอันเป็นที่ยอมรับจำเพาะพระยะโฮวา
ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เกิดมีปรากฏการณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งขึ้นซึ่งจะสังเกตได้ที่ทางเข้าด้านตะวันออกของสวนเอเดน.a ที่นั่น คะรูปผู้มีฤทธิ์ยืนเฝ้าอยู่ตรงทางเข้า ท่าทางที่น่าเกรงขามของคะรูปทั้งสองทำให้เห็นได้ชัดว่าคงไม่มีใครกล้าผ่านเข้าไป. อีกสิ่งหนึ่งที่ขวางกั้นพอ ๆ กันได้แก่คมกระบี่เพลิงที่หมุนอยู่ ซึ่งแสงวับวาบอันแรงกล้าของมันคงจะจับอยู่บนต้นไม้ที่อยู่โดยรอบ. (เยเนซิศ 3:24) ถึงอาจจะน่าสนใจเพียงใดก็ตาม ใคร ๆ ที่ได้เห็นก็คงจะมองอยู่ห่าง ๆ.
คายินและเฮเบลคงได้ไปเยี่ยมชมแถว ๆ นี้หลายครั้ง. ด้วยเหตุที่ถือกำเนิดจากอาดามและฮาวานอกสวนเอเดน ทั้งสองทำได้ก็แต่เพียงเดาเอาว่าการอาศัยอยู่ในอุทยานที่ชุ่มชื่นและอุดมด้วยพืชผักผลไม้เขียวชอุ่มอย่างที่บิดามารดาตนเคยอยู่นั้นคงจะเป็นเช่นไร. ถึงตอนนี้ ภาพของสวนเอเดนที่สามารถเห็นได้บ้างเล็กน้อยนั้นคงดูเป็นป่าดิบและรกเรื้ออย่างไม่ต้องสงสัย.
อาดามและฮาวาคงต้องได้อธิบายให้ลูก ๆ ฟังเป็นแน่ว่าเหตุใดจึงไม่มีใครดูแลสวนนี้ และเหตุใดเขาจึงถูกขับไล่ออกมา. (เยเนซิศ 2:17; 3:6, 23) คายินและเฮเบลคงต้องรู้สึกคับข้องใจสักเพียงไร! เขาสามารถเห็นสวนนั้น แต่ไม่สามารถเข้าไปได้. เขาอยู่ใกล้อุทยานมาก และกระนั้นก็ไกลห่างจากอุทยานนั้นเหลือเกิน. ความไม่สมบูรณ์สร้างรอยด่างให้แก่ตัวเขา และทั้งคายินและเฮเบลต่างก็แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยในเรื่องนี้.
ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาของเขาย่อมไม่ได้ช่วยให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น. เมื่อทรงพิพากษาโทษฮาวา พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าใคร่จะอยู่กับสามีของเจ้า และเขาจะใช้อำนาจเหนือเจ้า.” (เยเนซิศ 3:16, ล.ม.) ตรงตามคำพยากรณ์นั้น ตอนนี้อาดามคงต้องได้ใช้อำนาจเหนือภรรยา อาจเป็นได้ว่าไม่ได้ปฏิบัติต่อเธอในฐานะคู่เคียงและผู้ช่วยอีกต่อไป. และฮาวาดูเหมือนจะแสดงการหมายพึ่งผู้ชายคนนี้มากเกินไป. หนังสืออรรถาธิบายเล่มหนึ่งถึงกับพรรณนาคำว่า “ใคร่จะ” ว่าเป็น “ความปรารถนา ที่เกือบเหมือนเป็นโรคอย่างหนึ่ง.”
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่า สภาพของสายสมรสเช่นนี้มีผลกระทบมากน้อยเพียงไรต่อความนับถือของเด็กทั้งสองที่มีต่อบิดามารดา. อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าอาดามและฮาวาวางตัวอย่างที่ทำให้ลูก ๆ ไม่สบายใจ.
การเลือกแนวทางที่ต่างกัน
ในที่สุด เฮเบลก็กลายมาเป็นคนเลี้ยงแกะและคายินยึดอาชีพกสิกรรม. (เยเนซิศ 4:2) ขณะที่เขาดูแลฝูงสัตว์อยู่นั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเฮเบลมีเวลามากที่จะคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับคำพยากรณ์ที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งตรัสไว้ก่อนที่บิดามารดาของเขาจะถูกขับออกจากสวนเอเดน ที่ว่า “เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน. เขาจะบดขยี้หัวของเจ้าและเจ้าจะบดขยี้ส้นเท้าของเขา.” (เยเนซิศ 3:15, ล.ม.) เฮเบลคงต้องสงสัยเป็นแน่ว่า ‘คำสัญญาของพระเจ้าในเรื่องพงศ์พันธุ์ที่จะบดขยี้งูนั้นจะสำเร็จอย่างไร และพงศ์พันธุ์นี้จะถูกบดขยี้ที่ส้นเท้าอย่างไร?’
หลังจากช่วงเวลาหนึ่งผ่านไป ดูเหมือนว่าเมื่อทั้งสองเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว คายินและเฮเบลต่างก็ถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา. เนื่องจากเฮเบลเป็นผู้เลี้ยงสัตว์ จึงไม่แปลกที่เขาถวาย “แกะหัวปีกับมันสัตว์.” ส่วนคายินนั้นถวาย “ผลที่เกิดแต่ไร่นา.” พระยะโฮวาทรงยอมรับเครื่องบูชาของเฮเบล แต่ “คายินกับเครื่องบูชาของเขานั้นพระองค์ไม่พอพระทัยจะรับเลย.” (เยเนซิศ 4:3-5) เพราะเหตุใด?
บางคนชี้ไปยังข้อเท็จจริงที่ว่า เครื่องบูชาของเฮเบลเป็น “แกะหัวปี” ในขณะที่เครื่องบูชาของคายินเป็นเพียง “ผลที่เกิดแต่ไร่นา.” แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณภาพของผลผลิตที่คายินถวาย เพราะบันทึกกล่าวว่าพระยะโฮวาทอดพระเนตรด้วยความพอพระทัยใน “เฮเบล และเครื่องบูชาของเขานั้น” และด้วยความไม่พอพระทัยใน “คายิน กับเครื่องบูชาของเขา.” ดังนั้น ในประการแรกเลยนั้นพระยะโฮวาทรงมองดูสภาพหัวใจของผู้นมัสการ. เมื่อทรงทำเช่นนั้น พระองค์ทรงเห็นอะไร? เฮ็บราย 11:4 กล่าวว่า “โดยความเชื่อ” เฮเบลจึงนำเครื่องบูชามาถวาย. ดังนั้น ดูเหมือนว่าคายินขาดความเชื่อที่ทำให้เครื่องบูชาของเฮเบลเป็นที่ยอมรับ.
ในเรื่องนี้ น่าสังเกตว่าการถวายของเฮเบลมีการหลั่งโลหิตรวมอยู่ด้วย. เฮเบลอาจได้ลงความเห็นอย่างถูกต้องว่า คำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับพงศ์พันธุ์ที่จะถูกบดขยี้ที่ส้นเท้าคงจะทำให้จำเป็นต้องมีการถวายชีวิตเป็นเครื่องบูชา. ถ้าเช่นนั้น การถวายของเฮเบลก็จะเป็นการร้องขอการไถ่โทษ และเป็นการแสดงความเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงจัดให้มีเครื่องบูชาระงับพระพิโรธสำหรับบาปทั้งหลายในเวลาอันควร.
เมื่อเทียบกันแล้ว คายินดูเหมือนจะใส่ใจเพียงผิวเผินในเครื่องบูชาที่เขาถวาย. ผู้ให้อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งในศตวรรษที่ 19 เสนอคำอธิบายว่า “การถวายของเขา เป็นเพียงการยอมรับฐานะของพระเจ้าว่าเป็นผู้มีพระคุณผู้หนึ่ง. เห็นได้ชัดเลยว่า การถวายของเขาเผยว่าเขาไม่ตระหนักถึงช่องว่างระหว่างเขากับพระผู้สร้าง อีกทั้งไม่ตระหนักถึงความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องสารภาพบาปหรือต้องพึ่งอาศัยการไถ่โทษ.”
นอกจากนั้น ในฐานะบุตรหัวปี คายินอาจถึงกับทึกทักเอาเองว่าเขาเป็นพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญานั้นซึ่งจะทำลายงูที่ได้แก่ซาตาน. ฮาวาเองก็อาจได้ปลูกฝังแรงบันดาลใจที่ทะเยอทะยานเช่นนั้นไว้ในตัวบุตรชายหัวปีของเธอด้วย. (เยเนซิศ 4:1) แน่ละ หากนี่เป็นสิ่งที่คายินและฮาวาคาดหวัง ทั้งสองก็เข้าใจผิดถนัดทีเดียว.
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงแสดงความพอพระทัยต่อเครื่องบูชาของเฮเบล. ผู้อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลบางคนเสนอว่าทรงแสดงโดยการบันดาลไฟจากสวรรค์ลงมาเผาเครื่องบูชานั้น. ไม่ว่าจะเป็นเช่นไรจริง ๆ เมื่อทราบว่าการถวายของเขาถูกปฏิเสธ “คายินก็โกรธแค้นนัก, หน้าตึงก้มอยู่.” (เยเนซิศ 4:5) คายินมุ่งหน้าไปสู่ความหายนะ.
คำแนะนำของพระยะโฮวาและการตอบสนองของคายิน
พระยะโฮวาทรงหาเหตุผลกับคายิน. พระองค์ทรงถามดังนี้: “เจ้าโกรธเคืองก้มหน้าอยู่ทำไม?” คำถามนี้ช่วยให้คายินมีโอกาสได้ตรวจสอบความรู้สึกและแรงจูงใจของตน. พระยะโฮวาตรัสต่อไปว่า “ถ้าเจ้าทำดีก็จะมีหน้าตาอันแจ่มใสมิใช่หรือ? ถ้าเจ้าทำไม่ดีความผิดก็คอยอยู่ที่ประตูจะใคร่ตะครุบเอาตัวเจ้า; แต่เจ้าจงเอาชนะความผิดนั้นเถิด.”—เยเนซิศ 4:6, 7. (ดูกรอบในหน้า 23.)
คายินไม่ฟัง. แทนที่จะทำดังนั้น เขาพาเฮเบลออกไปที่ทุ่งนาและฆ่าน้องชายตัวเอง. ภายหลัง เมื่อพระยะโฮวาทรงถามว่าเฮเบลอยู่ที่ไหน คายินเพิ่มความผิดของตนให้หนักเข้าไปอีกด้วยคำโกหก. เขาตอบกลับไปว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบ. ข้าพเจ้าเป็นผู้เลี้ยงรักษาน้องหรือ?”—เยเนซิศ 4:8, 9.
ทั้งก่อนและหลังการฆ่าเฮเบล คายินปฏิเสธที่จะ ‘หันกลับมาทำดี.’ เขาเลือกปล่อยให้บาปมีอำนาจเหนือเขา และด้วยเหตุนี้ คายินถูกขับไล่ออกจากบริเวณที่ครอบครัวมนุษย์พักอาศัย. ได้มีการตั้ง “เครื่องหมาย” เอาไว้ ซึ่งก็อาจเป็นเพียงพระบัญชาอันศักดิ์สิทธิ์ ห้ามมิให้ใครฆ่าคายินเพื่อเป็นการแก้แค้นให้แก่ความตายของเฮเบล.—เยเนซิศ 4:15.
ภายหลัง คายินได้สร้างเมืองหนึ่งขึ้น ตั้งชื่อเมืองนี้ตามชื่อบุตรชาย. ไม่น่าแปลกใจที่ลูกหลานของเขาได้กลายเป็นที่รู้จักเพราะความรุนแรงของพวกเขา. ในที่สุด วงศ์ตระกูลของคายินก็สิ้นสุดลงเมื่อน้ำท่วมใหญ่ในสมัยของโนฮากวาดทำลายคนอธรรมเสียสิ้น.—เยเนซิศ 4:17-24; 7:21-24.
บันทึกของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับคายินและเฮเบลมิได้รับการรักษาไว้เพียงเพื่อเป็นเรื่องอ่านเล่น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น บันทึกนี้ “เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเราทั้งหลาย” และ “เป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว.” (โรม 15:4; 2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) เราสามารถเรียนอะไรได้จากบันทึกในเรื่องนี้?
บทเรียนสำหรับเรา
เช่นเดียวกับคายินและเฮเบล คริสเตียนในทุกวันนี้ได้รับเชิญให้ถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า—ไม่ใช่เครื่องบูชาเผาตามตัวอักษร แต่ “ถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย.” (เฮ็บราย 13:15, ล.ม.) ปัจจุบัน การทำดังกล่าวกำลังบรรลุผลสำเร็จในขอบเขตระดับโลก ขณะที่พยานพระยะโฮวาประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าในกว่า 230 ดินแดน. (มัดธาย 24:14) คุณกำลังมีส่วนร่วมในงานนั้นไหม? ถ้าอย่างนั้น คุณก็สามารถมั่นใจว่า “พระเจ้าไม่ใช่อธรรมที่จะทรงลืมการงานของท่านและความรักที่ท่านได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์.”—เฮ็บราย 6:10.
ดังในกรณีเครื่องบูชาถวายของคายินและของเฮเบล เครื่องบูชาของคุณมิได้ถูกตัดสินจากลักษณะภายนอก อย่างเช่น การตัดสินโดยดูเพียงจำนวนชั่วโมงที่คุณใช้ในงานประกาศ. พระยะโฮวาทรงมองดูลึกกว่านั้น. ยิระมะยา 17:10 (ล.ม.) กล่าวว่าพระองค์ทรง “ค้นดูหัวใจ” และถึงกับ “ตรวจดูไต” ซึ่งเป็นส่วนความคิด, ความรู้สึก, และแรงจูงใจในส่วนลึกที่สุดแห่งบุคลิกภาพของคนเรา. ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือแรงจูงใจ ไม่ใช่ปริมาณ. ที่จริง ไม่ว่าเครื่องบูชาจะใหญ่หรือเล็กต่างก็มีค่าต่อพระเจ้าทั้งสิ้น เมื่อถวายจากหัวใจที่ถูกกระตุ้นโดยความรัก.—เทียบมาระโก 12:41-44 กับ มาระโก 14:3-9.
ขณะเดียวกัน เราควรตระหนักว่าพระยะโฮวาจะไม่ทรงยอมรับเครื่องบูชาที่พิกลพิการเช่นเดียวกับที่ไม่ทรงยอมรับเครื่องบูชาของคายินซึ่งถวายอย่างไม่เต็มใจ. (มาลาคี 1:8, 13) พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้คุณถวายสิ่งที่ดีที่สุดของคุณแด่พระองค์ คือการที่คุณรับใช้พระองค์อย่างสิ้นสุดหัวใจ, สุดจิตวิญญาณ, สุดจิตใจ และสุดกำลัง. (มาระโก 12:30) คุณกำลังทำอย่างนั้นอยู่ไหม? ถ้าอย่างนั้น คุณก็มีเหตุผลเหลือเฟือที่จะมองดูเครื่องบูชาของคุณด้วยความพอใจ. เปาโลเขียนดังนี้: “ให้แต่ละคนพิสูจน์ดูว่างานของเขาเองเป็นอย่างไร และครั้นแล้วเขาจะมีเหตุที่จะปีติยินดีเกี่ยวกับตัวเขาเองเท่านั้น และไม่ใช่โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น.”—ฆะลาเตีย 6:4, ล.ม.
คายินและเฮเบลได้รับการเลี้ยงดูอบรมอย่างเดียวกัน. แต่เวลาและสิ่งแวดล้อมทำให้แต่ละคนมีโอกาสพัฒนาลักษณะนิสัยเฉพาะตัว. เจตคติของคายินได้พัฒนาไปกลายเป็นขมขื่นด้วยความอิจฉา, มีน้ำใจชิงดีชิงเด่น, และระเบิดอารมณ์โกรธ.
เมื่อเทียบกัน เฮเบลได้รับการระลึกถึงจากพระเจ้าว่าเป็นคนชอบธรรม. (มัดธาย 23:35) ความตั้งใจจริงของท่านที่จะทำให้พระเจ้าพอพระทัยไม่ว่าจะเสียอะไรทำให้เฮเบลแตกต่างอย่างน่าชื่นใจจากคนอื่น ๆ ในครอบครัวที่เป็นคนอกตัญญู ทั้งอาดาม, ฮาวา, และคายิน. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า แม้เฮเบลตาย แต่เขาก็ “ยังพูดอยู่.” การรับใช้ที่ซื่อสัตย์ของเขาต่อพระเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติบันทึกซึ่งบรรจุไว้ในคัมภีร์ไบเบิลอย่างถาวร. ขอให้เราติดตามแบบอย่างของเฮเบลโดยถวายเครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงยอมรับต่อ ๆ ไป.—เฮ็บราย 11:4.
[เชิงอรรถ]
a บางคนคิดว่า สวนเอเดนเคยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เป็นภูเขาทางภาคตะวันออกของประเทศตุรกีในปัจจุบัน.
[กรอบ/ภาพหน้า 23]
แบบอย่างสำหรับคริสเตียนที่เป็นผู้ให้คำแนะนำ
“เจ้าโกรธเคืองก้มหน้าอยู่ทำไม?” พระยะโฮวาทรงหาเหตุผลกับคายินอย่างกรุณาด้วยคำถามนี้. พระองค์มิได้ทรงบังคับ คายินให้เปลี่ยน เพราะคายินเป็นผู้มีเจตจำนงเสรี. (เทียบกับพระบัญญัติ 30:19.) อย่างไรก็ดี พระยะโฮวามิได้ทรงรั้งรอที่จะระบุถึงผลแห่งแนวทางอันดื้อดึงของคายิน. พระองค์ทรงเตือนคายินดังนี้: “ถ้าเจ้าทำไม่ดีความผิดก็คอยอยู่ที่ประตูจะใคร่ตะครุบเอาตัวเจ้า.”—เยเนซิศ 4:6, 7.
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้แต่ในคำว่ากล่าวอย่างแรงนี้ พระยะโฮวามิได้ทรงปฏิบัติต่อคายินเสมือนหนึ่ง ‘คนเหลือขอ.’ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงบอกคายินถึงพระพรที่รอท่าเขาอยู่หากเขาเปลี่ยนแนวทางของตน และพระองค์ทรงแสดงความมั่นพระทัยว่าคายินสามารถ เอาชนะปัญหานี้ได้ถ้าเขาเลือกที่จะทำเช่นนั้น. พระยะโฮวาตรัสว่า “ถ้าเจ้าทำดีก็จะมีหน้าตาอันแจ่มใสมิใช่หรือ?” พระองค์ทรงขอคายินอีกเกี่ยวกับความโกรธที่นำไปสู่การฆ่าคนของเขา “เจ้าจงเอาชนะความผิดนั้นเถิด.”
ในปัจจุบัน เหล่าผู้ปกครองในประชาคมคริสเตียนควรเลียนแบบตัวอย่างของพระยะโฮวา. ดังบันทึกไว้ที่ 2 ติโมเธียว 4:2 (ล.ม.) บางครั้งพวกเขาต้อง “ว่ากล่าว” และ “ตำหนิ” บอกอย่างตรงไปตรงมาถึงผลของแนวทางอันดื้อดึงของผู้ทำผิด. ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองควร “กระตุ้นเตือน.” คำในภาษากรีกพาราคาเลʹโอ มีความหมายว่า “ให้กำลังใจ.” พจนานุกรมเทววิทยาของคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ให้ข้อสังเกตว่า “คำตักเตือนไม่บาดความรู้สึก, กล่าวโจมตี, หรือวิพากษ์วิจารณ์. ข้อเท็จจริงที่ให้การปลอบโยนอาจเป็นอีกความหมายหนึ่งของคำนี้ซึ่งชี้ถึงแนวคิดเดียวกัน.”
ที่สำคัญ คำภาษากรีกที่เกี่ยวข้องกันคือพาราʹคลีโทส อาจหมายถึงผู้ช่วยหรือผู้สนับสนุนในทางกฎหมาย. ด้วยเหตุนั้น แม้แต่เมื่อผู้ปกครองให้การว่ากล่าวที่ตรงจุด พวกเขาควรจำไว้ว่าเขาเป็นผู้ช่วย—ไม่ใช่ศัตรู—ของคนที่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ. เช่นเดียวกับพระยะโฮวา ผู้ปกครองควรคิดในแง่ดี แสดงความมั่นใจว่าคนที่รับคำแนะนำสามารถ เอาชนะปัญหาได้.—เทียบกับฆะลาเตีย 6:1.
เมื่อถึงที่สุดแล้ว เรื่องนี้ย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเอาคำแนะเตือนไปใช้หรือไม่. (ฆะลาเตีย 6:5; ฟิลิปปอย 2:12) ผู้ให้คำแนะนำอาจพบว่าบางคนไม่ใส่ใจคำเตือนของเขา เช่นเดียวกับที่คายินเลือกไม่สนใจการว่ากล่าวจากพระผู้สร้างของเขา. กระนั้น เมื่อผู้ปกครองเลียนแบบพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นแบบอย่างอันสมบูรณ์สำหรับคริสเตียนที่เป็นผู้ให้คำแนะนำ เขาก็สามารถมั่นใจว่าเขาได้ทำสิ่งที่เขาควรทำแล้ว.