ฮะโนค—ไม่หวาดกลัวแม้เผชิญความยากลำบาก
มันเป็นยุคที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนดี. ความชั่วช้าอธรรมแทรกซึมอยู่ทั่วแผ่นดินโลก. สภาพการณ์ทางศีลธรรมของมนุษย์เสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ. แท้จริง ไม่นานจากนั้นจะปรากฏคำกล่าวดังนี้: “พระยะโฮวาทรงเห็นว่าความชั่วของมนุษย์มีมากมายในแผ่นดินโลก และความเอนเอียงนึกคิดในหัวใจของเขาล้วนเป็นความชั่วเสมอไป.”—เยเนซิศ 6:5.
ฮะโนค บุรุษคนที่เจ็ดนับตามลำดับวงศ์วานของอาดาม มีความกล้าจะเป็นคนแตกต่างไปจากคนอื่น. ท่านยืนหยัดเพื่อความชอบธรรมไม่ว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร. ข่าวสารที่ฮะโนคประกาศไปนั้นยังความไม่พอใจเป็นอย่างมากแก่คนบาปที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า พวกเขาถึงกับหมายหัวจะเอาชีวิตท่าน และเฉพาะพระยะโฮวาเท่านั้นสามารถช่วยท่านได้.—ยูดา 14, 15, ล.ม.
ฮะโนคและประเด็นที่ส่งผลกระทบโดยทั่วไป
นานก่อนการกำเนิดของฮะโนค ประเด็นว่าด้วยสากลพระบรมเดชานุภาพได้ปรากฏขึ้นแล้ว. พระเจ้าทรงมีสิทธิที่จะปกครองไหม? ที่จริง ซาตานพญามารบอกว่าพระองค์ไม่มีสิทธิ์. มันยืนยันว่ามนุษย์ที่มีเชาวน์ปัญญาสามารถทำอะไร ๆ ได้ดีกว่า หากพวกเขาไม่หมายพึ่งการชี้นำของพระเจ้า. ซาตานพยายามสร้างหลักฐานปรักปรำพระยะโฮวาพระเจ้าด้วยเพทุบายลวงมนุษย์ให้เข้าข้างตัวมันเอง. อาดามพร้อมกับภรรยา คือฮาวา, และคายิน ลูกชายคนแรก ก็เป็นที่รู้กันทั่วว่าได้ตั้งตัวอยู่ฝ่ายซาตานโดยเลือกจะปกครองตัวเองแทนที่จะให้พระเจ้าปกครอง. มนุษย์คู่แรกเลือกทำเช่นนั้นโดยได้กินผลไม้ที่พระเจ้าสั่งห้าม ส่วนคายินได้ทำเช่นนั้นโดยจงใจสังหารเฮเบลน้องชายผู้ชอบธรรมของตนเอง.—เยเนซิศ 3:4-6; 4:8.
เฮเบลได้ยืนหยัดอย่างกล้าหาญอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา. เนื่องจากความซื่อสัตย์มั่นคงของเฮเบลได้ส่งเสริมการนมัสการบริสุทธิ์ ไม่ต้องสงสัยว่า ซาตานคงนึกกระหยิ่มใจแน่ ๆ ที่เห็นคายินบันดาลโทสะกระทั่งฆ่าน้องชาย. นับแต่นั้นเรื่อยมา ซาตานก็ได้ใช้ “การกลัวตาย” เป็นอาวุธข่มขู่. มันต้องการเพาะความกลัวลงในหัวใจใครก็ตามที่โน้มเอียงจะนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้.—เฮ็บราย 2:14, 15; โยฮัน 8:44; 1 โยฮัน 3:12.
ครั้นมาถึงสมัยที่ฮะโนคถือกำเนิด ทัศนะของซาตานที่ว่ามนุษย์คงจะไม่เทิดทูนพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาดูเหมือนว่าได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี. เฮเบลตายไปแล้ว และก็ไม่มีการเจริญรอยตามตัวอย่างความซื่อสัตย์ของท่าน. ทว่า ฮะโนคได้แสดงตัวโจ่งแจ้งว่าท่านแตกต่างจากคนอื่น. ท่านมีพื้นฐานมั่นคงในด้านความเชื่อ เพราะท่านรู้เหตุการณ์ในสวนเอเดนเป็นอย่างดี.a ท่านคงรู้สึกปลาบปลื้มใจปานใดกับคำพยากรณ์ของพระยะโฮวาซึ่งระบุว่า พงศ์พันธุ์ตามคำสัญญาจะปราบซาตานและกวาดล้างแผนและวิธีการของมันเสียสิ้น!—เยเนซิศ 3:15.
ด้วยความหวังในเรื่องนี้มีอยู่เบื้องหน้า ฮะโนคจึงไม่รู้สึกวิตกกลัวด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ว่าเฮเบลถูกฆ่าเนื่องจากการปลุกเร้าของพญามาร. ตรงกันข้าม ท่านได้ดำเนินกับพระยะโฮวาตลอดเวลา มุ่งติดตามแนวทางอันชอบธรรมตลอดชีวิต. ฮะโนคแยกตัวเองอยู่ต่างหากจากโลก หลีกเลี่ยงน้ำใจของโลกในการปกครองตัวเอง.—เยเนซิศ 5:23, 24.
ยิ่งกว่านั้น ฮะโนคพูดด้วยความกล้าและให้เป็นที่ชัดแจ้งว่า บรรดาการชั่วของพญามารนั้นจะไม่มีทางบรรลุผลสำเร็จ. ด้วยอานุภาพแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้า ฮะโนคได้กล่าวพยากรณ์ถึงคนชั่วดังนี้: “นี่แน่ะ! พระยะโฮวาได้เสด็จมาพร้อมด้วยผู้บริสุทธิ์นับหมื่นของพระองค์ เพื่อสำเร็จโทษแก่ทุกคน และเพื่อตัดสินลงโทษคนดูหมิ่นพระเจ้าทุกคนเกี่ยวกับการกระทำที่ดูหมิ่นทุกอย่างของพวกเขา ซึ่งพวกเขาได้กระทำอย่างดูหมิ่น และเกี่ยวกับสิ่งอันน่าตกตะลึงทุกอย่างที่คนบาปผู้ดูหมิ่นพระเจ้าได้พูดต่อต้านพระองค์.”—ยูดา 14, 15, ล.ม.
เนื่องจากการประกาศของฮะโนคอย่างปราศจากความหวาดกลัว เมื่ออัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูจึงนับรวมฮะโนคไว้ในกลุ่มใหญ่แห่ง “พยาน . . . เสมือนเมฆ” ซึ่งได้วางตัวอย่างอันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับความเชื่อในภาคปฏิบัติ.b (เฮ็บราย 11:5; 12:1) ในฐานะเป็นคนมีความเชื่อ ฮะโนคพากเพียรอดทนในแนวทางแห่งความซื่อสัตย์มั่นคงนานกว่า 300 ปี. (เยเนซิศ 5:22) ความซื่อสัตย์ของฮะโนคคงต้องเป็นสาเหตุให้บรรดาศัตรูของพระเจ้าทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกเคืองแค้นสักเพียงใด! คำพยากรณ์ของฮะโนคที่เสียดแทงใจย่อมกระตุ้นซาตานให้เกลียดชัง แต่นำมาซึ่งการคุ้มครองจากพระยะโฮวา.
พระเจ้าทรงรับฮะโนคไป โดยวิธีใด?
พระยะโฮวาไม่ได้ปล่อยให้ซาตานหรือพรรคพวกของมันทางแผ่นดินโลกฆ่าฮะโนค. แต่บันทึกโดยการดลใจบอกว่า “พระเจ้าทรงรับเขาไป.” (เยเนซิศ 5:24) อัครสาวกเปาโลพรรณนาเรื่องทำนองนี้: “เพราะเหตุความเชื่อฮะโนคได้รับการเปลี่ยนแปลงแห่งกาย, เพื่อท่านจะไม่ต้องเห็นความตาย เขาหาท่านไม่พบ, เพราะพระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงกายของท่านเสียแล้ว เพราะเมื่อก่อนทรงเปลี่ยนแปลงนั้นได้มีพยานกล่าวถึงท่านว่าท่านได้เป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า.”—เฮ็บราย 11:5.
ฮะโนค “ได้รับการเปลี่ยนแปลงแห่งกาย, เพื่อท่านจะไม่ต้องเห็นความตาย” นั้นอย่างไร? หรือตามที่แปลในฉบับแปลของอาร์.เอ. นอกซ์ ฮะโนค “ถูกรับตัวไปโดยไม่ประสบความตาย” นั้นคืออย่างไร? พระเจ้าได้ทำให้ชีวิตของฮะโนคสิ้นสุดอย่างสงบ เป็นการช่วยให้พ้นความเจ็บปวด สืบเนื่องจากความเจ็บป่วยหรือความรุนแรงโดยน้ำมือของฝ่ายศัตรู. ใช่แล้ว พระยะโฮวาทอนชีวิตฮะโนคให้สั้นลงเมื่ออายุได้ 365 ปี ซึ่งค่อนข้างจะหนุ่มแน่นเมื่อเทียบกับคนร่วมสมัยกับท่าน.
โดยวิธีใดฮะโนคได้มี “พยานกล่าวถึงท่านว่าท่านได้เป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า”? ท่านมีพยานหลักฐานอะไร? พระเจ้าคงบันดาลให้ฮะโนคตกเข้าสู่ภวังค์ ดังที่อัครสาวกเปาโลเอง “ถูกรับขึ้นไป” หรือถูกโยกย้าย คงได้รับนิมิตให้เห็นสภาพอุทยานฝ่ายวิญญาณแห่งประชาคมคริสเตียนซึ่งมีอยู่ในกาลข้างหน้า. (2 โกรินโธ 12:3, 4) พยานหรือหลักฐานที่ว่าฮะโนคได้เป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าอาจเป็นการมองเห็นภาพนิมิตเกี่ยวด้วยอุทยานทางแผ่นดินโลกในกาลอนาคต ซึ่งผู้คนที่อยู่ที่นั่นจะสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า. บางทีในช่วงที่ฮะโนคประสบนิมิตเช่นนั้นซึ่งพระเจ้าทำให้ท่านล่วงหลับปราศจากความเจ็บปวดจนกว่าจะถึงวันนั้นซึ่งท่านจะรับการปลุกขึ้นมาอีก. ดูเหมือนว่าการณ์นี้เช่นเดียวกันกับกรณีของโมเซ พระยะโฮวาได้กำจัดร่างกายของฮะโนคเสีย เพื่อว่า “เขาหาท่านไม่พบ.”—เฮ็บราย 11:5; พระบัญญัติ 34:5, 6; ยูดา 9, ล.ม.
คำพยากรณ์สำเร็จเป็นจริง
เวลานี้ พยานพระยะโฮวาประกาศแก่นสารคำพยากรณ์ของฮะโนค. พวกเขาแสดงให้เห็นจากพระคัมภีร์ว่าคำพยากรณ์จะสำเร็จอย่างไรเมื่อพระเจ้าทรงทำลายคนชั่วช้าอธรรมในอนาคตอันใกล้. (2 เธซะโลนิเก 1:6-10) ข่าวสารที่เขาประกาศออกไปนั้นไม่ได้รับการต้อนรับจากประชาชน เพราะว่าข่าวสารนั้นแตกต่างกันมากจากแง่คิดและเป้าหมายของโลกนี้. เมื่อเผชิญการต่อต้านขัดขวาง พวกเขาก็ไม่ประหลาดใจ เพราะพระเยซูทรงเตือนสาวกของพระองค์ไว้แล้ว “คนทั้งปวงจะเกลียดชังท่านเพราะนามของเรา.”—มัดธาย 10:22; โยฮัน 17:14.
แต่เช่นเดียวกับฮะโนค คริสเตียนสมัยปัจจุบันมีคำรับรองว่าด้วยการช่วยให้รอดจากเหล่าศัตรูของเขาในที่สุด. อัครสาวกเปโตรเขียนดังนี้: “พระยะโฮวาทรงทราบวิธีที่จะช่วยคนที่เลื่อมใสในพระเจ้าให้รอดพ้นจากการทดลอง แต่ทรงทราบวิธีที่จะสงวนคนอธรรมไว้สำหรับวันแห่งการพิพากษา เพื่อจะถูกตัดขาด.” (2 เปโตร 2:9, ล.ม.) พระเจ้าอาจทรงเห็นสมควรที่จะขจัดปัญหาหรือสภาพการณ์อันยากลำบาก. การข่มเหงอาจถึงกาลสิ้นสุด. แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงทราบวิธี “จัดทางออก” เพื่อว่าไพร่พลของพระองค์สามารถอดทนการทดสอบของเขาได้สำเร็จ. มิหนำซ้ำพระยะโฮวายังทรงจัดเตรียมจะให้ “กำลังที่เกินกว่ากำลังปกติ” ในคราวจำเป็น.—1 โกรินโธ 10:13; 2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.
ในฐานะ “ผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ” พระยะโฮวาจะทรงอวยพรผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ให้มีชีวิตนิรันดร์. (เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) รางวัลสำหรับชนส่วนใหญ่ท่ามกลางพวกเขาได้แก่ชีวิตนิรันดร์ในอุทยานทางแผ่นดินโลก. ดังนั้น ให้เราประกาศข่าวสารของพระเจ้าโดยไม่หวาดกลัวเยี่ยงฮะโนค. โดยความเชื่อขอให้พวกเราทำเช่นนี้แม้เผชิญความยากลำบาก.
[เชิงอรรถ]
a ปีที่ฮะโนคเกิด อายุอาดามได้ 622 ปี. หลังการตายของอาดาม ฮะโนคมีชีวิตสืบมาอีกราว ๆ 57 ปี. ดังนั้น ช่วงชีวิตของคนทั้งสองจึงเหลื่อมกันไม่น้อยทีเดียว.
b การใช้คำ “พยาน” ที่เฮ็บราย 12:1 มาจากศัพท์ภาษากรีกมาร์ʹทีส. ตามหนังสือ การศึกษาคำศัพท์จากพันธสัญญาใหม่ภาษากรีกของวืสต์ คำนี้หมายถึง “ผู้ซึ่งให้คำพยาน, หรือสามารถให้คำพยานตามที่ได้เห็นได้ยินหรือรู้มาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง.” ถ้อยคำของคริสเตียน (ภาษาอังกฤษ) โดย ไนเจล เทอร์เนอร์ บอกว่าคำนี้หมายถึงคนที่พูด “จากประสบการณ์ของตัวเอง . . . และด้วยความเชื่อมั่นในเรื่องความจริงและทัศนะต่าง ๆ.”
[กรอบหน้า 30]
การหมิ่นพระนามพระเจ้า
อะโนศหลานชายของอาดามเกิดก่อนฮะโนคประมาณสี่ร้อยปี. เยเนซิศ 4:26 แจ้งดังนี้: “คราวนั้นมนุษย์ตั้งต้นที่จะนมัสการโดยออกพระนามพระยะโฮวา.” ผู้คงแก่เรียนด้านภาษาฮีบรูบางคนเชื่อว่าคัมภีร์ข้อนี้น่าจะอ่านดังนี้: “เริ่มต้นหมิ่น” พระนามของพระเจ้า หรือ “ครั้นแล้วการหมิ่นประมาทก็เริ่มขึ้น.” เกี่ยวกับช่วงเวลานั้นในประวัติศาสตร์ เจรูซาเลม ทาร์กุมชี้แจงว่า “นั่นเป็นชั่วอายุที่ผู้คนเริ่มเบนไปสู่การผิดพลาด และเริ่มสร้างรูปเคารพสำหรับตัวเอง และตั้งฉายานามรูปเคารพของตนตามชื่อแห่งถ้อยคำขององค์พระผู้เป็นเจ้า.”
การใช้นามของพระยะโฮวาอย่างผิด ๆ เป็นไปอย่างแพร่หลายในสมัยอะโนศ. เป็นไปได้ที่มนุษย์นำเอาพระนามของพระเจ้ามาใช้สำหรับตัวเอง หรือใช้กับบางคนโดยเฉพาะ ซึ่งโดยบุคคลเหล่านั้น พวกเขาแสร้งทำประหนึ่งว่าได้ทำการนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้า. หรือพวกเขาอาจได้ใช้พระนามของพระเจ้ากับรูปเคารพก็เป็นได้. ไม่ว่ากรณีใด ซาตานพญามารได้ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ถลำเข้าไปติดบ่วงแร้วแห่งการไหว้รูปเคารพจนดิ้นไม่หลุด. ครั้นมาถึงสมัยที่ฮะโนคถือกำเนิด การนมัสการแท้หาได้ยากเสียแล้ว. ใครก็ตามที่เป็นเหมือนฮะโนคผู้ซึ่งดำเนินชีวิตตามความจริงและได้ประกาศความจริง จึงไม่เป็นที่นิยมและตกเป็นเป้าการข่มเหง.—เทียบกับมัดธาย 5:11, 12.
[กรอบหน้า 31]
ฮะโนคได้ไปสวรรค์ไหม?
“เพราะเหตุความเชื่อฮะโนคได้รับการเปลี่ยนแปลงแห่งกาย, เพื่อท่านจะไม่ต้องเห็นความตาย.” ในการแปลส่วนนี้ของพระธรรมเฮ็บราย 11:5 คัมภีร์ฉบับแปลบางเล่มบ่งชี้ว่า จริง ๆ แล้วฮะโนคไม่ได้ตาย. ยกตัวอย่าง ฉบับแปล อะ นิว แทรนสเลชัน ออฟ เดอะ ไบเบิล โดยเจมส์ มอฟฟัตต์ กล่าวดังนี้: “เพราะเหตุความเชื่อ ฮะโนคถูกรับไปสวรรค์ ท่านจึงไม่ตายเลย.”
อย่างไรก็ดี ประมาณ 3,000 ปีภายหลังสมัยของฮะโนค พระเยซูคริสต์ตรัสว่า: “ไม่มีมนุษย์ผู้ใดได้ขึ้นไปยังสวรรค์ เว้นแต่ผู้นั้นที่ลงมาจากสวรรค์ คือบุตรมนุษย์.” (โยฮัน 3:13, ล.ม.) คัมภีร์ เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล อ่านดังนี้: “ไม่มีผู้ใดเคยได้ขึ้นไปสู่สวรรค์เว้นแต่ผู้นั้นซึ่งลงมาจากสวรรค์ คือบุตรมนุษย์.” คราวที่พระเยซูตรัสข้อความนี้ แม้พระองค์ก็ยังไม่ได้เสด็จสู่สวรรค์.—เทียบกับลูกา 7:28.
อัครสาวกเปาโลชี้แจงว่า ฮะโนคและคนอื่น ๆ ซึ่งประกอบกันเป็นเหล่าพยานหมู่ใหญ่ก่อนยุคคริสเตียน ‘ทุกคนตายไป’ และ “มิได้รับ ผลตาม คำสัญญา.” (เฮ็บราย 11:13, 39, ล.ม.) ทำไม? เพราะมนุษย์ทั้งปวงรวมทั้งฮะโนคต่างก็สืบทอดบาปจากอาดามทั้งนั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 51:5; โรม 5:12) ทางเดียวที่จะได้ความรอดก็โดยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์. (กิจการ 4:12; 1 โยฮัน 2:1, 2) ในสมัยของฮะโนคยังไม่มีค่าไถ่ให้ชำระ. เหตุฉะนั้น ฮะโนคจึงไม่ได้ไปสวรรค์ แต่ยังคงหลับอยู่ในความตายรอเวลาจะได้รับการปลุกให้มีชีวิตบนแผ่นดินโลก.—โยฮัน 5:28, 29.
[ที่มาของภาพหน้า 29]
Reproduced from Illustrirte Pracht - Bibel/Heilige Schrift des Alten und Neuen Testaments, nach der deutschen Uebersetzung D. Martin Luther’s