ดำเนินตามมรคาของพระยะโฮวาด้วยความกล้าหาญ
“ทุก ๆ คนที่เกรงกลัวพระยะโฮวาและที่ดำเนินตามมรคาของพระองค์ก็เป็นผาสุก.”—บทเพลงสรรเสริญ 128:1.
1, 2. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับคำพูดและการกระทำของเหล่าพยานพระยะโฮวาในสมัยโบราณเป็นประโยชน์ในทางใด?
พระวจนะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวาบรรจุเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการทดลองและความปีติยินดีซึ่งผู้รับใช้ของพระองค์ได้ประสบ. ประสบการณ์ของโนฮา, อับราฮาม, ซารา, ยะโฮซูอะ, ดะโบรา, บาราค, ดาวิด และคนอื่น ๆ ล้วนเป็นเรื่องเด่นมีชีวิตชีวาทั้งสิ้น. ทุกคนเคยมีชีวิตเป็นอยู่จริงพร้อมกับมีอะไร ๆ พิเศษเหมือนกัน. บุคคลเหล่านี้มีความเชื่อในพระเจ้าและเดินตามมรคาของพระองค์ด้วยความกล้าหาญ.
2 คำพูดและการกระทำของพยานฯพระยะโฮวาในสมัยก่อนย่อมเป็นกำลังใจแก่เราขณะที่เราพยายามดำเนินตามมรคาของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้นเราเองจะเป็นสุขถ้าเราสำแดงความเคารพยำเกรงพระเจ้าและกลัวที่จะทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย. ข้อนี้เป็นความจริงถึงแม้เราเผชิญการทดลองต่าง ๆ ในชีวิต เพราะผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญที่รับการดลใจได้ร้องเพลงดังนี้: “ทุก ๆ คนที่เกรงกลัวพระยะโฮวาและที่ดำเนินตามมรคาของพระองค์ก็เป็นผาสุก.”—บทเพลงสรรเสริญ 128:1.
ความกล้าหาญคืออะไร
3. ความกล้าหาญคืออะไร?
3 ที่จะดำเนินในมรคาของพระยะโฮวา เราต้องกล้าหาญ. ที่จริง พระคัมภีร์มีคำสั่งให้ไพร่พลของพระเจ้าแสดงคุณลักษณะนี้ให้ปรากฏ. ตัวอย่างเช่น ดาวิด ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้ร้องดังนี้: “ท่านทั้งหลายที่คอยท่าพระยะโฮวา, จงตั้งข้อให้แข็ง, และทำใจไว้ให้กล้าหาญเถิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 31:24) ความกล้าหาญเป็น “พลังทางจิตใจหรือศีลธรรมที่กล้าเสี่ยงอันตราย, พากเพียร, และต้านทานอันตราย, ความกลัว, หรือความยากลำบากได้.” (พจนานุกรมเว็บสเตอร์ส ไนนท์ นิว คอลลิจิเอต) คนกล้าหาญเป็นบุคคลที่เข้มแข็ง, ไม่กลัว, องอาจ. ที่ว่าพระยะโฮวาประทานความกล้าแก่ผู้รับใช้ของพระองค์เห็นได้ชัดจากคำกล่าวของอัครสาวกเปาโลต่อติโมเธียวเพื่อนร่วมงานของท่าน ดังนี้: “พระเจ้าไม่ได้ทรงประทานน้ำใจขลาดกลัว แต่น้ำใจที่มีพลังมีความรักและมีสติมั่นคงแก่เรา.”—2 ติโมเธียว 1:7, ล.ม.
4. วิธีหนึ่งที่จะได้มาซึ่งความกล้านั้นคืออะไร?
4 วิธีหนึ่งที่จะได้ความกล้าที่พระเจ้าประทานนั้นคือการพิจารณาคัมภีร์ไบเบิล พระวจนะของพระยะโฮวาด้วยน้ำใสใจจริง. บันทึกมากมายที่อยู่ในพระคัมภีร์จะช่วยเราให้มีความกล้ามากยิ่งขึ้น. ดังนั้น ก่อนอื่นให้เราดูว่าจะสามารถเรียนอะไรได้จากประวัติบางคนในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ผู้ซึ่งได้ดำเนินตามมรคาของพระยะโฮวาด้วยความกล้าหาญ.
มีใจกล้าประกาศข่าวสารของพระเจ้า
5. ความกล้าหาญของฮะโนคจะเป็นประโยชน์อย่างไรสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในปัจจุบัน?
5 ความกล้าหาญของฮะโนคจะช่วยผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในปัจจุบันกล้าพูดข่าวสารของพระเจ้า. ก่อนฮะโนคเกิด ‘มนุษย์ได้เริ่มออกพระนามพระยะโฮวา.’ ผู้คงแก่เรียนบางคนบอกว่ามนุษย์ “ได้เริ่มพูดดูหมิ่น” เมื่อออกพระนามพระยะโฮวา. (เยเนซิศ 4:25, 26; 5:3, 6) พระนามของพระเจ้าอาจถูกนำมาใช้กับมนุษย์หรือใช้กับรูปเคารพเสียด้วยซ้ำ. ดังนั้น ศาสนาเท็จเจริญเฟื่องฟูอยู่เมื่อฮะโนคเกิดในปี 3404 ก่อนสากลศักราช. ที่จริง ดูเหมือนฮะโนคเพียงผู้เดียว “ดำเนินกับพระเจ้า” ติดตามแนวทางชอบธรรมประสานกับความจริงของพระยะโฮวาที่ถูกเปิดเผยแล้ว.—เยเนซิศ 5:18, 24.
6. (ก) ฮะโนคได้ประกาศข่าวสารสำคัญอะไร? (ข) พวกเราสามารถมีความมั่นใจอะไรได้?
6 ฮะโนคเผยแพร่ข่าวสารของพระเจ้าอย่างกล้าหาญ คงเป็นในลักษณะการประกาศ. (เฮ็บราย 11:5; เทียบกับ 2 เปโตร 2:5.) พยานที่อยู่เพียงลำพังผู้นี้ได้ประกาศว่า “นี่แน่ะ! พระยะโฮวาได้เสด็จมาพร้อมด้วยผู้บริสุทธิ์นับหมื่นของพระองค์ เพื่อสำเร็จโทษแก่ทุกคน และเพื่อตัดสินลงโทษคนดูหมิ่นพระเจ้าทุกคนเกี่ยวกับการกระทำที่ดูหมิ่นทุกอย่างของพวกเขา ซึ่งพวกเขาได้กระทำอย่างดูหมิ่น และเกี่ยวกับสิ่งอันน่าตกตะลึงทุกอย่างที่คนบาปผู้ดูหมิ่นพระเจ้าได้พูดต่อต้านพระองค์.” (ยูดา 14, 15, ล.ม.) ฮะโนคมีความกล้าที่จะใช้พระนามยะโฮวาเมื่อประกาศข่าวการลงโทษคนดูหมิ่นพระเจ้า. และพระเจ้าได้ประทานความกล้าแก่ฮะโนคให้ประกาศข่าวที่รุนแรงฉันใด พระยะโฮวาให้พยานฯของพระองค์สมัยปัจจุบันมีความกล้าที่จะกล่าวพระวจนะของพระองค์ในงานรับใช้ ที่โรงเรียน และ ณ ที่อื่น ๆ อย่างกล้าหาญฉันนั้น.—เทียบกับกิจการ 4:29-31.
มีใจกล้าเมื่อตกอยู่ภายใต้การทดลอง
7. โนฮาให้ตัวอย่างอะไรเกี่ยวกับความกล้า?
7 ตัวอย่างของโนฮาช่วยเราเป็นคนกล้ากระทำงานที่ชอบธรรมได้เมื่อตกอยู่ในการทดลอง. ด้วยความเข้มแข็งและความเชื่อ ท่านได้ปฏิบัติตามคำเตือนเรื่องน้ำท่วมโลกและได้ “สร้างนาวาเพื่อช่วยครอบครัวของตนให้รอดชีวิต.” โดยการเชื่อฟังและกระทำอย่างถูกต้อง โนฮาปรับโทษโลกที่ไม่เชื่อพระเจ้าสำหรับกิจการชั่วของโลกและพิสูจน์ให้เห็นว่าโลกนั้นควรแก่การทำลายล้าง. (เฮ็บราย 11:7, ล.ม.; เยเนซิศ 6:13-22; 7:16) การคิดรำพึงถึงการกระทำของโนฮาช่วยให้ผู้รับใช้ของพระเจ้าสมัยนี้มีส่วนในการทำงานที่ชอบธรรมอย่างกล้าหาญ เช่น งานรับใช้ของคริสเตียน.
8. (ก) ในฐานะที่เป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม” อย่างกล้าหาญ โนฮาได้เผชิญอะไร? (ข) พระยะโฮวาจะทรงทำประการใดเพื่อเรา หากเราเป็นผู้ประกาศความชอบธรรมด้วยใจกล้า?
8 ถ้าเราติดตามแนวทางที่ชอบธรรม แต่ไม่รู้วิธีจัดการกับการทดลองเฉพาะอย่าง ก็จงทูลขอสติปัญญาเพื่อจัดการแก้ไขปัญหานั้น ๆ. (ยาโกโบ 1:5-8) ความซื่อสัตย์ภักดีของโนฮาต่อพระเจ้าภายใต้การทดสอบแสดงให้เห็นว่ามีทางเป็นไปได้ที่จะเผชิญการทดลองต่าง ๆ ด้วยความกล้าหาญและซื่อสัตย์. ท่านต้านทานแรงกดดันที่มาจากโลกชั่วและจากพวกทูตสวรรค์ที่ได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ ทั้งจากพวกลูกผสมของพวกนั้นด้วย. ใช่แล้ว โนฮาเป็น “คนประกาศความชอบธรรม” ที่กล้าหาญแก่ “มนุษย์โลกครั้งโบราณ” ที่บ่ายหน้าไปสู่ความพินาศ. (2 เปโตร 2:4, 5, ล.ม.; เยเนซิศ 6:1-9) แม้ท่านได้พูดด้วยความกล้าในฐานะเป็นผู้ประกาศคำเตือนจากพระเจ้าแก่คนสมัยก่อนมีน้ำท่วมโลก “พวกเขาไม่แยแส จนกระทั่งน้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้น.” (มัดธาย 24:36-39, ล.ม.) แต่ให้เราจำไว้ว่า ถึงแม้มีการข่มเหงและการปฏิเสธข่าวสารที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักจากคนส่วนใหญ่สมัยนี้ แต่พระยะโฮวาจะทรงสนับสนุนพวกเราดังพระองค์ทรงกระทำต่อโนฮา หากเราแสดงความเชื่อและความกล้าเช่นเดียวกันในฐานะที่เป็นผู้ประกาศความชอบธรรม.
มีใจกล้าที่จะเชื่อฟังพระเจ้า
9, 10. ในแง่ใดที่อับราฮาม, ซารา, และยิศฮาคสำแดงการเชื่อฟังด้วยใจกล้า?
9 “มิตรของพระยะโฮวา” อับราฮามเป็นตัวอย่างที่ดีในการเชื่อฟังพระเจ้าด้วยใจกล้า. (ยาโกโบ 2:23, ล.ม.) อับราฮามจำต้องมีความเชื่อและมีใจกล้ามากพอจะเชื่อฟังพระยะโฮวา และออกจากเมืองอูระแขวงเมืองเคเซ็ด เป็นเมืองที่ได้เปรียบหลายอย่างทางด้านวัตถุ. ท่านเชื่อคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่า “บรรดาพงศ์พันธุ์ของมนุษย์โลก” จะได้พระพรเพราะท่านและพงศ์พันธุ์ของท่านจะได้รับแผ่นดินนั้น. (เยเนซิศ 12:1-9; 15:18-21) โดยความเชื่ออับราฮาม “ได้อาศัยในตำบลซึ่งเป็นที่ทรงสัญญาไว้นั้น, เหมือนท่านเป็นแขกเมือง” และคอยหา “เมืองที่มีราก [แท้, ล.ม.]”—ราชอาณาจักรของพระเจ้าทางภาคสวรรค์ ซึ่งท่านจะได้รับการปลุกให้ฟื้นขึ้นมามีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก.—เฮ็บราย 11:8-16.
10 ซารา ภรรยาของอับราฮามมีความเชื่อและมีใจกล้าถึงขนาดละเมืองอูระ ติดตามสามีของนางไปยังต่างแดน และอดทนในการยากลำบากใด ๆ ซึ่งพวกเขาจะเผชิญที่นั่น. และนางได้บำเหน็จมากเพียงใดจากการมีใจกล้าเชื่อฟังพระเจ้า! ถึงแม้เป็นหมันกระทั่งอายุ 90 ปีและ “แก่เกินแล้ว” ซาราได้รับฤทธิ์เดชจากพระเจ้า ‘ที่จะตั้งครรภ์ให้กำเนิดพงศ์พันธุ์ เพราะนางถือว่าพระเจ้าผู้ทรงสัญญานั้นสัตย์ซื่อ.’ เมื่อถึงเวลา นางก็ให้กำเนิดยิศฮาค. (เฮ็บราย 11:11, 12; เยเนซิศ 17:15-17; 18:11; 21:1-7) หลายปีต่อมา อับราฮามได้เชื่อฟังพระเจ้าอย่างกล้าหาญและ “เหมือนกับว่าได้ถวายยิศฮาคเป็นเครื่องบูชา.” ครั้นทูตสวรรค์ได้ห้ามไว้ ปฐมบรรพบุรุษผู้นี้จึงได้บุตรชายของท่านที่มีใจกล้าและเชื่อฟังคืนมาจากความตาย “ในแบบที่เป็นตัวอย่าง.” ด้วยเหตุนี้ ท่านกับยิศฮาคได้แสดงภาพเชิงพยากรณ์ว่าพระเจ้ายะโฮวาจะทรงจัดเตรียมพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ เป็นค่าไถ่ เพื่อว่าผู้ที่แสดงความเชื่อในพระองค์จะมีชีวิตนิรันดร์ (เฮ็บราย 11:17-19, ล.ม.; เยเนซิศ 22:1-19; โยฮัน 3:16) แน่นอน การเชื่อฟังด้วยใจกล้าของอับราฮาม, ซารา, และยิศฮาคน่าจะกระตุ้นพวกเราให้เชื่อฟังพระยะโฮวาและทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ทุกเวลา.
มีใจกล้าที่จะยืนหยัดเคียงคู่ไพร่พลของพระเจ้า
11, 12. (ก) โมเซแสดงความกล้าหาญอย่างไรเกี่ยวข้องกับไพร่พลของพระยะโฮวา? (ข) เมื่อคำนึงถึงความกล้าของโมเซ อาจถามคำถามอะไร?
11 ด้วยใจกล้าโมเซได้อยู่ฝ่ายไพร่พลที่ถูกกดขี่ของพระเจ้า. ในศตวรรษที่ 16 ก่อนสากลศักราช บิดามารดาของโมเซนั้นทีเดียวได้แสดงความกล้าหาญ. เขาไม่ครั่นคร้ามต่อคำสั่งของกษัตริย์ที่ให้ฆ่าเด็กผู้ชายฮีบรูแรกเกิด ทว่าพวกเขาได้ซ่อนโมเซแล้ววางลงในเปล นำไปไว้ระหว่างกอปรือริมฝั่งแม่น้ำไนล์. เมื่อธิดากษัตริย์ฟาโรห์มาพบ ท่านได้รับการเลี้ยงดูเหมือนเป็นบุตรของเธอเอง แต่แรกทีเดียวท่านรับการอบรมสั่งสอนฝ่ายวิญญาณในบ้านบิดามารดาของท่าน. เมื่ออยู่ในราชสำนักของฟาโรห์ โมเซ “จึงได้เรียนรู้ชำนาญในวิชาการทุกอย่างของชาวอายฆุปโต” และกลายเป็นผู้ “มีความเฉียบแหลมมากในทางพูดและกิจการต่าง ๆ” มีสมรรถนะทางร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็ง.—กิจการ 7:20-22; เอ็กโซโด 2:1-10; 6:20.
12 แม้ว่าจะได้ผลประโยชน์หลายอย่างทางด้านวัตถุจากราชสำนัก แต่ด้วยใจกล้าโมเซสมัครจะอยู่ฝ่ายผู้นมัสการของพระยะโฮวา ซึ่งในตอนนั้นเป็นทาสแก่ชาวอียิปต์. ในการปกป้องชาวยิศราเอลคนหนึ่ง ท่านได้สังหารชาวอียิปต์คนหนึ่งแล้วหนีไปอยู่เมืองมิดยาน. (เอ็กโซโด 2:11-15) หลังจากนั้นประมาณ 40 ปี พระเจ้าได้ทรงใช้ท่านให้นำชนยิศราเอลพ้นจากสภาพทาส. ครั้นแล้ว โมเซ “ได้ละทิ้งประเทศอายฆุปโต, ไม่ได้กลัวความกริ้วแห่งกษัตริย์นั้น” ที่ขู่จะเอาชีวิตของท่านเพราะเป็นตัวแทนพระยะโฮวาเพื่อประโยชน์แก่ชาติยิศราเอล. โมเซดำเนินชีวิตเหมือนหนึ่งเห็นพระเจ้ายะโฮวา “ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา.” (เฮ็บราย 11:23-29; เอ็กโซโด 10:28) คุณมีความเชื่อและความกล้าอย่างนั้นไหม ซึ่งคุณจะยึดอยู่กับพระยะโฮวาและไพร่พลของพระองค์ถึงแม้มีความยากลำบากหรือการกดขี่ข่มเหง?
มีใจกล้าจะ ‘เชื่อฟังติดตามพระยะโฮวาเต็มที่’
13. ยะโฮซูอะกับคาเลบได้วางตัวอย่างความกล้าหาญไว้อย่างไร?
13 ยะโฮซูอะกับคาเลบผู้กล้าหาญให้หลักฐานว่าเราสามารถดำเนินตามมรคาของพระเจ้าได้. ท่านทั้งสอง “ได้เชื่อฟังติดตามพระยะโฮวา [เต็มที่, ล.ม.].” (อาฤธโม 32:12) ยะโฮซูอะกับคาเลบอยู่ในหมู่ผู้ชาย 12 คนที่ถูกส่งไปสอดแนมแผ่นดินแห่งคำสัญญา. ด้วยความหวาดกลัวผู้คนในแผ่นดินนั้น ผู้สอดแนมสิบคนพยายามห้ามปรามชาวยิศราเอลไม่ให้เข้าไปในคะนาอัน. อย่างไรก็ดี ยะโฮซูอะกับคาเลบพูดด้วยใจกล้าว่า “ถ้าพระยะโฮวาชอบพระทัยในพวกเรา, พระองค์ก็จะพาเราทั้งหลายไปถึงประเทศนั้น, ยกประเทศนั้นให้พวกเรา เป็นประเทศซึ่งมีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลเป็นบริบูรณ์. แต่อย่าให้เรามีใจกบฏต่อพระยะโฮวา แลอย่าให้มีใจกลัวชนประเทศนั้น, เพราะเขาทั้งหลายเป็นอาหารของเรา, แลร่มฤทธิ์ของเขาก็สูญไปแล้ว, พระยะโฮวาก็อยู่ฝ่ายเรา, อย่ากลัวเขาเลย.” (อาฤธโม 14:8, 9) เมื่อขาดความเชื่อและความกล้า ชนยิศราเอลในชั่วอายุนั้นจึงไม่ได้ไปถึงแผ่นดินแห่งคำสัญญา. แต่ยะโฮซูอะกับคาเลบ พร้อมด้วยคนรุ่นใหม่ ได้เข้าแผ่นดินนั้น.
14, 15. (ก) ขณะยะโฮซูอะได้ปฏิบัติตามถ้อยคำที่ยะโฮซูอะ 1:7, 8 นั้น ท่านและชาวยิศราเอลทั้งหลายประสบเหตุการณ์อะไร? (ข) พวกเราได้บทเรียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องความกล้าจากยะโฮซูอะกับคาเลบ?
14 พระเจ้ารับสั่งแก่ยะโฮซูอะดังนี้: จง “กล้าหาญและเข้มแข็งมากที่จะเอาใจใส่ทำตามกฎหมายทั้งสิ้นที่โมเซผู้รับใช้ของเราได้บัญชาแก่เจ้า. อย่าได้เลี่ยงไปข้างขวาหรือข้างซ้ายจากกฎหมายนั้นเลย เพื่อเจ้าจะปฏิบัติอย่างสุขุมรอบคอบทุกแห่งที่เจ้าจะไป. หนังสือกฎหมายนี้ไม่ควรให้ขาดจากปากของเจ้า และเจ้าต้องอ่านออกเสียงเบา ๆ ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อว่าเจ้าจะได้ทำตามสิ่งที่เขียนไว้นั้นทุกข้อทุกประการ เพราะถ้าเจ้าทำอย่างนั้นเจ้าจะบรรลุผลสำเร็จและเจ้าจะปฏิบัติอย่างสุขุมรอบคอบ.”—ยะโฮซูอะ 1:7, 8, ล.ม.
15 เมื่อยะโฮซูอะปฏิบัติตามถ้อยคำเหล่านั้น เมืองยะริโฮและเมืองอื่น ๆ ก็ตกเป็นของชาติยิศราเอล. พระเจ้าถึงกับบันดาลให้ดวงอาทิตย์หยุดอยู่กับที่เพื่อที่จะมีความสว่างส่องอยู่จนกระทั่งชาติยิศราเอลได้ชัยชนะที่ฆิบโอน. (ยะโฮซูอะ 10:6-14) เมื่อตกอยู่ในอันตรายเนื่องจากฝ่ายศัตรูได้รวมกำลังพลรบ “เป็นอันมาก, ประหนึ่งเม็ดทรายริมฝั่งทะเล” ยะโฮซูอะได้กระทำการด้วยความกล้าหาญ และพระเจ้าก็ได้ทรงให้ชาติยิศราเอลชนะการสู้รบอีก. (ยะโฮซูอะ 11:1-9) แม้พวกเราเป็นคนไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับยะโฮซูอะและคาเลบ เราสามารถจะติดตามเชื่อฟังพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ได้ และพระเจ้าทรงสามารถประทานกำลังแก่เราให้ดำเนินตามมรคาของพระองค์ด้วยความกล้าหาญ.
มีใจกล้าที่จะวางใจในพระเจ้า
16. ดะโบรา, บาราค, และยาเอลได้แสดงความกล้าหาญในทางใด?
16 การวางใจในพระเจ้าอย่างกล้าหาญย่อมได้รางวัลตอบแทน ดังเหตุการณ์สมัยเมื่อผู้วินิจฉัยตัดสินความอย่างยุติธรรมในชาติยิศราเอล. (ประวัตินางรูธ 1:1) อาทิ ผู้วินิจฉัยบาราคและผู้พยากรณ์หญิงดะโบราได้ไว้วางใจในพระเจ้าอย่างกล้าหาญ. ยาบีนกษัตริย์คะนาอันได้กดขี่พวกยิศราเอลนานถึง 20 ปี เมื่อพระยะโฮวาทรงใช้ดะโบรากระตุ้นบาราคเกณฑ์ผู้คนหนึ่งหมื่นยกไปที่ภูเขาธาโบน. ซีซะรา แม่ทัพของกษัตริย์ยาบีนได้รุดไปถึงธารน้ำแห้งคีโซน มั่นใจว่าที่ราบตรงนั้นทหารของยิศราเอลคงไม่มีทางเทียบเท่ากับกองทหารของตน อีกทั้งรถรบติดมีดเหล็กโค้งที่ล้อรถ 900 คัน. เมื่อยิศราเอลยกทัพมายังที่ราบในหุบเขา พระเจ้าทรงปฏิบัติการช่วยยิศราเอลโดยทรงบันดาลให้น้ำล้นทะลักสนามรบจนรถรบของซีซะราติดหล่มโคลนไม่เคลื่อนไหว. กองทัพของบาราคเป็นฝ่ายมีชัย “พลทหารของซีซะราก็ต้องอาวุธล้มตายหมด.” ซีซะราวิ่งหนีไปถึงกระโจมของยาเอล แต่ขณะที่เขาหลับไป โดยความกล้า นางได้หยิบหลักกระโจมตอกขมับเขาจนตาย. จริงตามคำบอกของดะโบราแก่บาราคอันเป็นเชิงพยากรณ์ที่ว่า ‘ทางที่นำไปถึงศักดิ์ศรี’ แห่งชัยชนะนั้นได้มอบไว้ในมือของสตรีผู้หนึ่ง. เพราะดะโบรา, บาราค, และยาเอลมีใจกล้าวางใจในพระเจ้า, แผ่นดินยิศราเอลก็ “สงบเงียบอยู่สี่สิบปี.”—วินิจฉัย 4:1-22; 5:31.
17. ตัวอย่างอะไรของผู้วินิจฉัยฆิดโอนซึ่งได้แสดงความวางใจในพระยะโฮวาอย่างกล้าหาญ?
17 ผู้วินิจฉัยฆิดโอนมีใจกล้าวางใจในพระเจ้ายะโฮวาในคราวที่ชาวเมืองมิดยานและเมืองอื่น ๆ ยกมาต่อสู้ชาติยิศราเอล. แม้ฝ่ายศัตรูมีกำลังพลมากถึง 135,000 คน นักรบของยิศราเอลซึ่งมีจำนวน 32,000 คน อาจถือเอาชัยชนะอันเนื่องมาแต่พระเจ้านั้นเป็นเพราะความกล้าหาญของตัวเอง. ด้วยเหตุนั้น ตามการชี้นำของพระยะโฮวา ฆิดโอนจึงได้ลดกำลังพลของท่านเป็นสามกอง ๆ ละหนึ่งร้อย. (วินิจฉัย 7:1-7, 16; 8:10) เมื่อทหาร 300 นายโอบล้อมค่ายทหารมิดยานในเวลากลางคืน แต่ละคนมีแตรและหม้อน้ำพร้อมคบไฟในหม้อด้วย. เมื่อฆิดโอนให้สัญญาณ พวกเขาก็เป่าแตรขึ้น ต่อยหม้อในมือให้แตกและชูคบไฟให้สูงเหนือศีรษะ แล้วร้องว่า “กระบี่พระยะโฮวาและฆิดโอน!” (วินิจฉัย 7:20) ทหารมิดยานที่ตกใจลนลานจึงต่างก็วิ่งหนีและถูกปราบอย่างราบคาบ. เหตุการณ์เหล่านี้น่าจะทำให้มั่นใจได้ว่าการวางใจในพระเจ้ามีรางวัลตอบแทนเช่นกันในทุกวันนี้.
มีใจกล้าให้เกียรติพระยะโฮวาและส่งเสริมการนมัสการที่บริสุทธิ์
18. ในคราวที่ดาวิดได้สังหารฆาละยัธ ท่านได้ทำสิ่งใดด้วยใจกล้า?
18 ตัวอย่างบางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลเสริมความกล้าที่จะให้เกียรติพระยะโฮวาและส่งเสริมการนมัสการที่บริสุทธิ์. ดาวิดเด็กหนุ่มใจกล้าที่เคยได้ช่วยชีวิตฝูงแกะของบิดา ก็พิสูจน์ตัวกล้าหาญเมื่อเผชิญหน้าฆาละยัธคนร่างใหญ่แห่งชาวฟะลิศตีม. ดาวิดพูดดังนี้: “เจ้าเข้ามาหาเราด้วยดาบและหอกยาวหอกสั้น แต่ฝ่ายเรามาหาเจ้าด้วยนามแห่งพระยะโฮวาของพลโยธา พระเจ้าแห่งกองทัพยิศราเอล, ซึ่งเจ้าได้ท้าทายนั้น. วันนี้แหละพระยะโฮวาจะทรงมอบเจ้าไว้ในมือของเรา เราจะฆ่าตัดศีรษะเสียให้ขาด, . . . เพื่อบรรดาชาวโลกจะได้รู้ว่า, ชาติยิศราเอลมีพระเจ้าทรงสถิตอยู่ด้วย. ทั้งบรรดาที่ประชุมนี้จะได้รู้ว่า, พระยะโฮวาทรงช่วยให้รอด, โดยมิได้ใช้กระบี่หรือหอก, เพราะว่าการสงครามนั้นเป็นของพระยะโฮวา.” (1 ซามูเอล 17:32-37, 45-47) ด้วยการช่วยเหลือจากพระเจ้า ดาวิดได้ให้เกียรติยศแด่พระยะโฮวาอย่างกล้าหาญ สังหารฆาละยัธ และด้วยเหตุนี้มีบทบาทสำคัญในการขจัดอันตรายซึ่งมีต่อการนมัสการที่บริสุทธิ์.
19. ซะโลโมต้องการความกล้าสำหรับโครงการอะไร และวิธีแก้ปัญหาของท่านนั้นอาจนำมาใช้ในสมัยของเราได้อย่างไร?
19 เมื่อซะโลโมราชโอรสกษัตริย์ดาวิดกำลังจะเริ่มการก่อสร้างพระวิหารของพระเจ้า ราชบิดาผู้ชราได้เตือนท่านดังนี้: “จงตั้งใจมั่นคง [เข้มแข็งและกล้าหาญ, ฉบับแปลใหม่] กระทำให้สำเร็จเถิด: อย่ากลัวหรือวิตกเลย: ด้วยว่าพระยะโฮวาพระเจ้าของเราทรงสถิตอยู่กับเจ้า; พระองค์จะไม่ทรงละทิ้งหรือขาดจากเจ้าเลย, กว่าบรรดาเครื่องใช้ในการปฏิบัตินมัสการที่พระวิหารของพระองค์จะสำเร็จ.” (1 โครนิกา 28:20) โดยการลงมือปฏิบัติอย่างกล้าหาญ ซะโลโมได้สร้างพระวิหารจนเป็นผลสำเร็จ. เมื่อโครงการก่อสร้างตามระบอบของพระเจ้าเผชิญอุปสรรคปัญหาที่ท้าทายทุกวันนี้ ให้เราจำคำพูดของดาวิดไว้เสมอที่ว่า ‘จงเข้มแข็งและกล้าหาญกระทำให้สำเร็จเถิด.’ ช่างเป็นแนวทางที่ดีอะไรเช่นนั้นที่จะให้เกียรติพระยะโฮวาและส่งเสริมการนมัสการที่บริสุทธิ์!
20. กษัตริย์อาซามีใจกล้าเกี่ยวกับเรื่องอะไร?
20 เนื่องจากกษัตริย์อาซาทรงประสงค์จะให้เกียรติพระเจ้าและส่งเสริมการนมัสการที่บริสุทธิ์ ท่านจึงได้กำจัดรูปเคารพและโสเภณีชายประจำพระวิหารให้หมดไปจากแผ่นดินยูดา. นอกจากนั้น ท่านได้ถอดอัยกีที่ออกหากของท่านออกจากตำแหน่งสูงที่เคยมีแต่ก่อน พร้อมทั้งได้เผารูปเคารพ “อันน่าเกลียด” ของนาง. (1 กษัตริย์ 15:11-13) ใช่แล้ว อาซา “ก็มีพระทัยกล้าขึ้น, จึงทำลายของอันน่าเกลียดเหล่านั้นกวาดเอาไปเสียจากเขตยูดาและจากเบ็นยามิน, และจากเหล่าเมืองซึ่งท่านตีได้ที่ภูเขาเอ็ฟรายิมนั้น, และท่านได้ซ่อมแซมแท่นบูชาของพระยะโฮวาที่อยู่หน้าเฉลียงโบสถ์วิหารของพระยะโฮวา.” (2 โครนิกา 15:8) คุณล่ะมีใจกล้าบอกปัดการออกหากเช่นกันไหมและส่งเสริมการนมัสการที่บริสุทธิ์? คุณใช้ทรัพยากรด้านวัตถุของคุณส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรไหม? และคุณพยายามให้เกียรติพระยะโฮวาด้วยการเข้าส่วนร่วมเป็นประจำในงานประกาศข่าวดีในฐานะเป็นพยานคนหนึ่งของพระองค์ไหม?
21. (ก) ประวัติของเหล่าผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงก่อนยุคคริสเตียนสามารถช่วยเราได้อย่างไร? (ข) บทความถัดไปจะเป็นการพิจารณาเรื่องอะไร?
21 พวกเรารู้สึกขอบพระคุณมากเพียงใดที่พระเจ้าได้ทรงรักษาเรื่องราวต่าง ๆ ในพระคัมภีร์เกี่ยวด้วยผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างกล้าหาญก่อนยุคคริสเตียน! แน่นอน ตัวอย่างที่ดีของบุคคลเหล่านั้นจะช่วยเราให้ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระยะโฮวาด้วยใจกล้า ด้วยความเกรงกลัวอันเนื่องมาแต่ความเลื่อมใสในพระเจ้าและความเกรงขาม. (เฮ็บราย 12:28) แต่คัมภีร์ภาคภาษากรีกก็ได้บรรจุตัวอย่างการกระทำด้วยความกล้าอันเนื่องมาแต่ความเลื่อมใสในพระเจ้าเช่นกัน. บันทึกเหล่านี้บางเรื่องจะช่วยเราให้ดำเนินตามมรคาของพระยะโฮวาด้วยความกล้าหาญได้อย่างไร?
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ความกล้าหาญคืออะไร?
▫ ฮะโนคและโนฮาแสดงความกล้าโดยวิธีใด?
▫ ในแง่ใดที่อับราฮาม, ซารา, และยิศฮาคได้กระทำด้วยความกล้า?
▫ ตัวอย่างความกล้าหาญที่โมเซ, ยะโฮซูอะ, และคาเลบได้วางไว้มีอะไรบ้าง?
▫ คนอื่น ๆ ได้แสดงโดยวิธีใดว่าเขามีใจกล้าที่จะวางใจในพระเจ้า?
[รูปภาพหน้า 15]
ฆิดโอนกับนักรบกองเล็ก ๆ ของท่านได้วางใจในพระยะโฮวาอย่างกล้าหาญ