การใช้สัตว์ในงานวิจัยทัศนะที่สมดุล
ถึงแม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นประเด็นขัดแย้งกันอยู่ คนส่วนมากเชื่อว่าการใช้สัตว์ในงานวิจัยเกิดผลดีต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล. แม้กระทั่งผู้สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงต่อต้านการใช้สัตว์ทดลอง ก็เป็นผู้รับประโยชน์จากความรู้ใหม่ ๆ ทางแพทย์และวิธีการทางศัลยกรรมทั้งยาต่อสู้โรคด้วย.
มาร์ติน สตีเวนส์จากสมาคมมนุษยธรรมแห่งสหรัฐกล่าวว่า “เราต้องมีความสุจริตใจและยอมรับว่ามีประโยชน์บางประการจากการใช้สัตว์ในงานวิจัย. แต่เป้าหมายสูงสุดของเราคือการทดแทนให้กับสัตว์ทั้งหมด.” (พาเรด แมกกาซีน 9 ตุลาคม 1988) วิคกี มิลเลอร์ นายกสมาคมมนุษยธรรมแห่งโตรอนโตกล่าวว่า “ฉันต้องยอมรับว่า การใช้สัตว์ในทางที่ดีมีอยู่บ้างในช่วงต้นศตวรรษนี้. การควบคุมโรคเบาหวานอย่างได้ผล มาจากการใช้สัตว์ในงานวิจัย. แต่บัดนี้ไม่เห็นจะจำเป็นต้องทำอย่างนั้นอีกแล้ว เรามีเทคโนโลยีที่ใช้แทนได้ทุกอย่าง.”—เดอะ ซันเดย์ สตาร์ โตรอนโต แคนาดา.
เมื่อถามนักมนุษยธรรมคนนี้ว่า เธอจะตอบผู้ที่ใช้แนวการอ้างเหตุผลดังต่อไปนี้อย่างไร: ถ้าหนูจะต้องตายเพื่อช่วยชีวิตทารก ก็นับว่าคุ้ม. ถ้าไม่ให้ใช้สัตว์ในงานวิจัย ทารกก็ต้องตาย แต่หนูจะรอด. คำตอบของเธอที่ให้กับหนังสือโตรอนโต โกลบ แอนด์ เมล์ ก็คือ “เป็นประเด็นที่สะเทือนอารมณ์ และจากแง่คิดนั้น ยากนักหนาที่จะเอาชนะได้ . . . ถ้าคุณเผชิญเรื่องหนูกับเด็กนี้ คุณจะแพ้ทุกที.”
บทความก่อนหน้านี้ตั้งคำถามว่า “ถ้างานวิจัยที่ใช้สัตว์ช่วยชีวิตคุณหรือคนที่คุณรักให้พ้นจากโรคที่ทรมานหรือความตาย คุณจะปฏิเสธไหม?” จอห์น คันแลน ศาสตราจารย์ทางกฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย เขียนคำตอบลงในวารสารไซเยนส์ ฉบับเดือนธันวาคม 1988 ดังนี้ “ผู้ต่อต้านงานวิจัยที่ใช้สัตว์ แทบจะไม่ได้ยึดอยู่กับหลักการและสั่งมิให้แพทย์ของตนใช้ผลจากงานวิจัยทางชีวแพทย์ที่ทำกับสัตว์ ในขณะที่อาจเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ตนรักหรือตัวเอง. อีกทั้งพวกเขายังไม่หนักแน่นพอที่จะปฏิเสธผลประโยชน์ซึ่งเกิดจากความก้าวหน้าที่ได้จากงานวิจัยโดยใช้สัตว์. เราชมเชยหลักการที่กระตุ้นพยานพระยะโฮวาให้ปฏิเสธการถ่ายเลือด . . . และผู้คัดค้านการล่าสัตว์มีขนที่ไม่สวมเสื้อหนังสัตว์. แต่เราต้องต่อสู้อย่างแข็งขันต่อลัทธิที่ชักนำผู้ต่อต้านการใช้สัตว์ในงานวิจัยให้ติดตามอุดมการณ์ของตนมิใช่โดยวางตัวอย่างแต่กลับใช้วิธีต่อสู้ด้วยการอ้างเหตุผลอย่างไม่สุจริตใจเพื่อทำลายผลประโยชน์ของทุกคน.”
บรรณาธิการวารสาร ไซเยนส์ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 1989 เขียนว่า “ควรให้สาธารณชนทราบว่า งานวิจัยโดยใช้สัตว์ยังให้ประโยชน์แก่สัตว์อื่น ๆ ด้วย. แท้จริง วัคซีนป้องกันโรครินเดอร์เปสท์ (โรคระบาดร้ายแรงในปศุสัตว์) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งทำให้วัวหลายล้านตัวเสียชีวิตช้า ๆ และด้วยความเจ็บปวด วัคซีนนี้ได้มาจากการทดลองโดยใช้สัตว์ บัดนี้องค์การอนามัยโลกนำวัคซีนชนิดนี้ไปใช้กับวัวหลายล้านตัวในแอฟริกา.”
ทัศนะแห่งคัมภีร์ไบเบิล
หลังจากมหาอุทกภัยทั่วโลกในสมัยโนฮา พระยะโฮวาพระเจ้าทรงออกกฤษฎีกาสำหรับโนฮาและลูกหลานของท่าน ซึ่งรวมทั้งคนรุ่นเราด้วย ดังนี้ “สารพัดสัตว์ที่มีชีวิตจะเป็นอาหารของเจ้า เช่นกับผักสดที่เรายกให้เจ้าแล้วนั้น เว้นแต่เนื้อที่ยังมีชีวิตอยู่เจ้าอย่ากินเลย คือยังมีเลือดอยู่นั้น.” (เยเนซิศ 9:1, 3, 4) หนังสัตว์อาจใช้ทำเครื่องนุ่งห่มได้เช่นกัน. ทั้งนี้จะไม่ละเมิดสิทธิการครอบครองที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์เหนืออาณาจักรของสัตว์.—เยเนซิศ 3:21.
วารสารอเวค! ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 1980 บอกว่า “ถ้าอาจจะใช้สัตว์เป็นอาหารเพื่อเลี้ยงชีวิตผู้คน ดูเหมือนมีเหตุผลที่จะใช้สัตว์ในการทดลองทางแพทย์เพื่อช่วยชีวิต. อย่างไรก็ดี ทั้งนี้มิใช่ใบอนุญาตให้ทดลองอย่างไม่มีข้อจำกัดและบ่อยครั้งไร้ประโยชน์ การทดลองกับสัตว์ซ้ำแล้วซ้ำอีกทำให้ทุกข์ทรมานหนักขึ้น.” แน่ละ จากทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล การทารุณโดยไร้ความเมตตาต่อสัตว์ไม่อาจยอมให้ทำได้.—เอ็กโซโด 23:4, 5, 12; พระบัญญัติ 25:4; สุภาษิต 12:10.
แพทย์และนักวิทยาศาสตร์หลายคนยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของพวกหัวรุนแรงผู้ต่อต้านการใช้สัตว์ในงานวิจัยได้ก่อผลดีบางประการ. นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งยอมรับว่า “ประเด็นหลายอย่างที่ฝ่ายเคลื่อนไหวเพื่อสวัสดิภาพของสัตว์หยิบยกขึ้นมา เป็นสิ่งที่รุนแรงเกินไปแต่ก็ถูกต้อง.” เจเรมี เจ. สโตน นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันบอกว่า “ชีวิตและการทรมานสัตว์ต้องเป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงอย่างแน่นอน.” ดร. ดี. เอ็ช. สมิท นักสรีวิทยาชาวอังกฤษเห็นพ้องว่า “ความรู้บางอย่างได้มาโดยราคาแพงเกินไป.” ดร. เจ. บี. วีนการ์เดน จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐบอกว่า “เราเห็นด้วยกับความปรารถนาที่จะทำให้งานวิจัยลดความเจ็บปวดลง ดูแลรักษาสัตว์ให้ดีขึ้น และลดจำนวนสัตว์ในงานทดลองให้น้อยลง.” และผู้ปฏิบัติการเพื่อสิทธิของสัตว์รายหนึ่งกล่าวว่า “การใช้สัตว์ที่ได้ทำกันมาเป็นการกระทำแบบใช้กำลังอย่างไม่เกรงใจ และไม่คิดถึงอะไร. สมัยนี้สิ่งที่พึงทำก็คือคิดถึงตัวเลือกอื่นที่จะใช้แทน.”
“ตัวเลือกอื่น” เป็นคำสำคัญ. นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่าพวกเขาคงจะไม่ถึงขั้นเลิกใช้สัตว์ในงานวิจัยอย่างสิ้นเชิง แต่ในกรณีที่ทำได้นั้นพวกเขามองหาตัวเลือกอื่น ๆ. ยกตัวอย่าง เลิกใช้กระต่ายอีกต่อไปเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ของมนุษย์ เพราะใช้วิธีการทางเคมีแทน. ไม่ใช้หนูตะเภาแยกเชื้อ ทูเบอร์เคิล เบซิลลัสอีกต่อไป. บัดนี้วิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อได้ช่วยชีวิตสัตว์ขนปุยเหล่านี้ มิฉะนั้นมันคงต้องตาย. วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้มาแทนที่การทดลองโดยใช้หนู. และกระต่ายหลายตัวซึ่งจับขังคอกเพื่อรับการทดสอบเดรสอันเจ็บปวดถูกแทนที่ด้วยการเลือกใช้เนื้อเยื่อจากไข่ไก่มาเป็นวัตถุทดลองแทน. แน่ละ ผู้คนที่ไม่สบายใจต่อการทรมานสัตว์หวังว่าจะพบทางเลือกหลายทางยิ่งขึ้น และไม่ช้านี้.
อย่างไรก็ดี ทางออกสำคัญที่สุดแทนการทดลองกับสัตว์ก็คงจะเป็นอุทยานบนแผ่นดินโลกที่เฝ้ารอกันมานานซึ่งคริสเตียนแท้ได้อธิษฐานขอ. พระยะโฮวาพระผู้สร้างองค์ประกอบด้วยความรักทรงสัญญาไว้ว่าโรคภัยและความตายจะถูกกำจัดไปตลอดกาล. ในโลกใหม่ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ มนุษย์และสัตว์จะมีสันติสุขต่อกันและกัน และไม่มีอะไรมาทำให้เขากลัว. และจะไม่มีโรคภัยอีกต่อไป ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้สัตว์ในการทดลอง. ทารุณกรรมจะเป็นเรื่องของอดีต.—ยะซายา 25:8; 33:24; 65:25; มัดธาย 6:9, 10.