จัดการกับข้อขัดแย้งด้วยความรัก
“อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข”—มก. 9:50
1, 2. มีความขัดแย้งอะไรบ้างที่บันทึกอยู่ในหนังสือปฐมกาล? และทำไมเราควรสนใจเรื่องนี้?
คุณเคยคิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งส่วนตัวที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลไหม? แค่ในบทแรก ๆ ของหนังสือปฐมกาล เราได้เรียนรู้ว่าคาอินฆ่าอาเบล (ปฐก. 4:3-8) ลาเมคฆ่าผู้ชายคนหนึ่งที่มาทำร้ายเขา (ปฐก. 4:23) คนเลี้ยงสัตว์ของอับราฮัมทะเลาะกับคนเลี้ยงสัตว์ของโลท (ปฐก. 13:5-7) ฮาการ์ดูถูกซาราห์จนทำให้ซาราห์โกรธอับราฮัม (ปฐก. 16:3-6) อิชมาเอลต่อสู้กับทุกคน และทุกคนก็ต่อสู้กับเขา—ปฐก. 16:12
2 ทำไมมีการบันทึกความขัดแย้งแบบนั้นในคัมภีร์ไบเบิล? ในบันทึกเหล่านั้น เราจะเห็นตัวอย่างของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ที่มีปัญหา ดังนั้น ถ้าเรามีปัญหาคล้าย ๆ กับเขา เราก็จะเรียนจากตัวอย่างของเขาได้ว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไร บันทึกทั้งหมดในคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้รู้ว่าเราควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรเพื่อจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีสันติสุข—รม. 15:4
3. เราจะเรียนอะไรในบทความนี้?
3 ในบทความนี้ เราจะได้เรียนว่าทำไมเราต้องจัดการกับข้อขัดแย้ง และเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร นอกจากนั้น เราจะเรียนหลักการพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิลที่จะช่วยเราแก้ปัญหาและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวาและกับคนอื่น ๆ
ทำไมผู้รับใช้ของพระเจ้าต้องจัดการกับข้อขัดแย้ง?
4. ความคิดแบบไหนที่มีอยู่ทั่วโลก? และผลเป็นอย่างไร?
4 ซาตานเป็นตัวการที่ทำให้ผู้คนแตกแยกและขัดแย้งกันอย่างมาก ทำไมเราถึงบอกอย่างนั้น? ในสวนเอเดน ซาตานบอกว่าทุกคนตัดสินใจได้เองว่าอะไรถูกอะไรผิด พวกเขาไม่ต้องพึ่งพระเจ้า และมันถึงกับบอกว่าพวกเขาควรทำอย่างนั้น (ปฐก. 3:1-5) แต่ถ้าเราคิดถึงสภาพการณ์โลกในทุกวันนี้ เราจะเห็นว่าความคิดแบบนั้นทำให้มีแต่ปัญหา ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเขามีสิทธิ์ตัดสินเองว่าอะไรถูกอะไรผิด พวกเขาหยิ่งจองหอง เห็นแก่ตัว ชอบแข่งขัน และไม่สนใจว่าการตัดสินใจของเขาจะมีผลกระทบกับคนอื่นอย่างไร ความคิดแบบนี้ทำให้คนเราขัดแย้งกัน คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “คนโกรธง่ายทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท และคนขี้โมโหทำผิดหลายครั้งหลายหน”—สภษ. 29:22
5. พระเยซูแนะนำผู้ฟังให้ทำอะไรเมื่อต้องเจอกับความขัดแย้ง?
5 ตอนที่พระเยซูบรรยายบนภูเขา ท่านสอนสาวกให้รักษาสันติสุขและพยายามไม่ให้มีปัญหากับคนอื่น ถึงแม้ว่าพวกเขาจะต้องเสียผลประโยชน์ก็ตาม ตัวอย่างเช่น ท่านบอกพวกสาวกให้เป็นคนอ่อนโยน มีสันติสุขกับคนอื่น ไม่เก็บความโกรธ รีบจัดการกับความขัดแย้ง และรักศัตรู—มธ. 5:5, 9, 22, 25, 44
6, 7. (ก) ทำไมสำคัญที่เราจะจัดการกับข้อขัดแย้งทันที? (ข) ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาควรถามตัวเองว่าอะไร?
6 ทุกวันนี้ เรานมัสการพระยะโฮวาโดยการอธิษฐาน ประกาศ และประชุม แต่ถ้าเราไม่มีสันติสุขกับพี่น้อง พระยะโฮวาจะไม่ยอมรับการนมัสการของเรา (มก. 11:25) เราต้องให้อภัยคนอื่นเมื่อพวกเขาทำผิดต่อเรา ถ้าเรายังอยากเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวา—อ่านลูกา 11:4; เอเฟซัส 4:32
7 พระยะโฮวาอยากให้คนที่รับใช้พระองค์ทุกคนให้อภัยคนอื่นและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น เราควรถามตัวเองว่า “ฉันพร้อมจะให้อภัยพี่น้องไหม? ฉันจะเต็มใจเป็นเพื่อนกับเขาได้ไหม?” ถ้าคุณรู้สึกว่ายังต้องปรับปรุงตัวเองในเรื่องนี้ คุณน่าจะอธิษฐานอย่างถ่อมตัวขอให้พระยะโฮวาช่วยคุณ แล้วพระเจ้าผู้เป็นพ่อจะฟังและตอบคำอธิษฐานของคุณแน่นอน—1 ยน. 5:14, 15
มองข้ามได้ไหม?
8, 9. เราควรทำอย่างไรถ้ามีคนทำให้เรารู้สึกไม่ดี?
8 พวกเราทุกคนไม่สมบูรณ์พร้อม เราจึงคาดหมายได้ว่าจะมีคนพูดหรือทำบางอย่างให้เราโกรธ (ปญจ. 7:20; มธ. 18:7) คุณจะทำอย่างไรเมื่อมีเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น? ขอเราเรียนจากประสบการณ์นี้ พี่น้องหญิงคนหนึ่งทักทายพี่น้องชายสองคนที่งานเลี้ยง แต่วิธีที่เธอทักทายทำให้พี่น้องชายคนหนึ่งโกรธ ตอนที่พี่น้องชายสองคนคุยกันตามลำพัง พี่น้องที่โกรธเริ่มบ่นว่าพี่น้องหญิงคนนั้น แต่พี่น้องชายอีกคนหนึ่งเตือนเขาให้คิดว่าพี่น้องหญิงคนนั้นรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์มา 40 ปีแล้วทั้ง ๆ ที่เธอต้องเจอกับปัญหามากมาย เธอคงไม่ตั้งใจทำให้เขาโกรธแน่ ๆ พี่น้องชายที่โกรธรู้สึกอย่างไร? เขาบอกว่า “ถูกของคุณ” และเขาก็เลือกที่จะลืมเรื่องที่เกิดขึ้นไปเลย
9 ประสบการณ์นี้สอนอะไรพวกเรา? ถ้ามีคนมาทำให้เราโกรธหรือรู้สึกไม่ดี เราเลือกได้ว่าจะทำอย่างไร คนที่มีความรักจะให้อภัยเสมอ (อ่านสุภาษิต 10:12; 1 เปโตร 4:8) การ “มองข้ามความผิด” เป็นสิ่งที่สวยงามในสายตาของพระเจ้า (สภษ. 19:11; ปญจ. 7:9) ดังนั้น ถ้าคราวหน้าเกิดมีใครมาพูดหรือทำอะไรที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันจะมองข้ามเรื่องนี้ได้ไหม? ฉันต้องเก็บเรื่องนี้ไปคิดจริง ๆ เหรอ?’
10. (ก) พี่น้องหญิงคนหนึ่งรู้สึกอย่างไรในตอนแรกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์? (ข) แง่คิดอะไรจากข้อคัมภีร์ที่ช่วยเธอให้มีความสุขได้?
10 ถ้ามีคนพูดเรื่องที่ไม่ดีเกี่ยวกับเรา อาจเป็นเรื่องยากที่เราจะมองข้ามคำพูดของเขา ลองคิดถึงพี่น้องไพโอเนียร์หญิงคนหนึ่งที่เราจะเรียกเธอว่าลลิตา มีบางคนในประชาคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอทำงานรับใช้ไม่ได้เรื่องและแบ่งเวลาไม่ถูก ลลิตาเสียใจมากกับเรื่องที่เกิดขึ้นและเข้าไปขอคำแนะนำจากพี่น้องที่มีความเป็นผู้ใหญ่ ผลเป็นอย่างไร? เธอบอกว่าพี่น้องใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยเธอให้ไม่ต้องคิดมากเกินไปเกี่ยวกับคำพูดที่ไม่ดีของคนอื่น พวกเขาแนะนำให้เธอคิดถึงความรู้สึกของพระยะโฮวามากกว่า นอกจากนั้น เธอมีกำลังใจมากขึ้นเมื่อได้อ่านมัทธิว 6:1-4 (อ่าน) ข้อคัมภีร์นี้เตือนเธอให้รู้ว่าการทำให้พระยะโฮวามีความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ตอนนี้ ถึงแม้ว่ามีคนพูดไม่ดีเกี่ยวกับงานรับใช้ของเธอ ลลิตาก็ยังมีความสุขได้เพราะรู้ว่าเธอกำลังพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดให้พระยะโฮวา เธอเลือกที่จะมองข้ามคำพูดแง่ลบเหล่านั้น
ถ้ามองข้ามไม่ได้ล่ะ?
11, 12. (ก) คริสเตียนควรทำอย่างไรถ้ามีปัญหากับคนอื่น? (ข) เราได้เรียนอะไรจากวิธีที่อับราฮัมจัดการกับความขัดแย้ง? (ดูภาพแรก)
11 “เราทุกคนผิดพลาดกันอยู่บ่อย ๆ” (ยก. 3:2) ถ้าคุณรู้มาว่าพี่น้องคนหนึ่งรู้สึกไม่สบายใจเพราะสิ่งที่คุณพูดหรือทำ คุณจะทำอย่างไร? พระเยซูบอกว่า “ถ้าคุณเอาของถวายมาที่แท่นบูชาและนึกขึ้นได้ว่ามีคนโกรธคุณอยู่ ให้วางของถวายไว้หน้าแท่นบูชาก่อนและไปคืนดีกับเขา แล้วค่อยกลับมาถวายของนั้น” (มธ. 5:23, 24) ดังนั้น คุณต้องไปคุยกับพี่น้องคนนั้น แต่คุณต้องจำไว้ว่า เป้าหมายก็คือการพยายามคืนดีกัน คุณต้องไม่โทษเขาแต่ให้ยอมรับผิด สันติสุขกับพี่น้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
12 คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างที่ช่วยให้เราเห็นว่าผู้รับใช้ของพระเจ้ารักษาสันติได้ทั้ง ๆ ที่มีข้อขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น อับราฮัมกับโลทหลานชายมีฝูงสัตว์มากมาย และคนเลี้ยงสัตว์ของพวกเขาสองคนเริ่มทะเลาะกันเพราะมีที่ไม่พอให้พวกเขาเลี้ยงสัตว์ อับราฮัมอยากรักษาสันติ เขาจึงยอมให้โลทเลือกที่ดินที่ดีที่สุด (ปฐก. 13:1, 2, 5-9) นี่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพวกเราจริง ๆ แต่อับราฮัมต้องเสียผลประโยชน์ไปตลอดเพราะความใจกว้างของเขาไหม? ไม่เลย ทันทีหลังจากนั้น พระยะโฮวาสัญญาว่าจะอวยพรให้อับราฮัมมีมากกว่าที่เสียไปหลายเท่า (ปฐก. 13:14-17) เราได้เรียนอะไรจากเรื่องนี้? ถึงแม้เราอาจต้องเสียอะไรบางอย่างไปเพราะทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิล แต่พระยะโฮวาจะอวยพรเรา เพราะเราพยายามจัดการกับความขัดแย้งด้วยความรัก[1]
13. ผู้ดูแลคนหนึ่งทำอย่างไรเมื่อมีคนพูดไม่ดีใส่เขา? และเราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเขา?
13 ลองคิดถึงตัวอย่างในทุกวันนี้ ก่อนการประชุมภูมิภาค ผู้ดูแลแผนกคนใหม่โทรศัพท์ถามพี่น้องชายคนหนึ่งว่าจะทำงานในแผนกที่เขาดูแลได้ไหม แต่พี่น้องคนนั้นกลับพูดหลายอย่างที่ไม่ดีและวางหูใส่เขาเพราะยังโกรธผู้ดูแลแผนกคนก่อนอยู่ ผู้ดูแลคนใหม่ไม่ได้โกรธ แต่ก็รู้สึกว่าจะปล่อยเรื่องนี้ไปเฉย ๆ ไม่ได้ หลังจากนั้นหนึ่งชั่วโมง เขาโทรศัพท์หาพี่น้องคนนั้นอีกครั้งและนัดเจอกัน อาทิตย์ถัดไปพวกเขาเจอกันที่หอประชุม พวกเขาอธิษฐานและคุยกันเป็นชั่วโมง พี่น้องชายคนนั้นอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นตอนที่เขาทำงานกับผู้ดูแลคนก่อน ผู้ดูแลคนใหม่ฟังเขาอย่างเห็นอกเห็นใจและพูดถึงข้อคัมภีร์บางข้อ เขาสองคนคุยกันว่าข้อคัมภีร์เหล่านั้นเป็นประโยชน์อย่างไร ผลคือ พี่น้องทั้งสองคนแก้ไขข้อขัดแย้งได้และทำงานด้วยกันที่การประชุมใหญ่ พี่น้องชายคนนั้นรู้สึกขอบคุณที่ผู้ดูแลพูดกับเขาอย่างใจเย็นและนุ่มนวล
ควรขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลไหม?
14, 15. (ก) การทำผิดแบบไหนที่เราควรใช้หลักการในมัทธิว 18:15-17? (ข) สามขั้นตอนอะไรที่พระเยซูพูดถึง? ทำไมเราควรพยายามทำตามคำแนะนำเหล่านั้น?
14 ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างพี่น้องสามารถแก้ไขกันเองได้ และที่จริงก็ควรทำอย่างนั้น แต่ในบางครั้งก็อาจต้องให้คนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เหมือนกับที่บอกไว้ในมัทธิว 18:15-17 (อ่าน) การ “ทำผิด” ที่พระเยซูพูดถึงในข้อนี้ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างพี่น้อง เรารู้ได้อย่างไร? พระเยซูบอกว่าถ้าคนที่ทำผิดได้คุยกับพี่น้อง คุยกับพยานรู้เห็น และคุยกับพี่น้องชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมรับผิดและไม่กลับใจ ก็ต้องถือว่า “เขาเป็นเหมือนคนทั่วไปในโลกและเหมือนคนเก็บภาษี” ซึ่งหมายความว่าเขาถูกตัดสัมพันธ์ ดังนั้น ถึงแม้ความผิดในที่นี้เป็นความผิดที่จัดการกันเองได้ แต่ก็ไม่ใช่ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะถ้าปล่อยเอาไว้และไม่จัดการ คนที่ทำผิดก็อาจถูกตัดสัมพันธ์ได้ การ “ทำผิด” ที่พูดถึงในที่นี้อาจเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง หรือพูดใส่ร้ายที่ทำให้เสียชื่อเสียง แต่ความผิดเหล่านี้ไม่รวมความผิดร้ายแรงอื่น ๆ เช่น การผิดศีลธรรมทางเพศ การรักร่วมเพศ การทรยศพระเจ้า (หรือการออกหาก) และการไหว้รูปเคารพ ความผิดเหล่านี้จัดการกันเองไม่ได้ ต้องให้ผู้ดูแลจัดการ
15 เหตุผลที่พระเยซูให้คำแนะนำนี้ก็เพราะท่านอยากสอนให้รู้วิธีช่วยพี่น้อง และเราอยากทำตามคำแนะนำนี้ก็เพราะเรารักพี่น้องของเรา (มธ. 18:12-14) แล้วเราจะทำตามคำแนะนำนี้ได้อย่างไร? (1) เราต้องพยายามแก้ไขความขัดแย้งที่เรามีกับพี่น้องโดยไม่เอาคนอื่นมาเกี่ยวข้อง นี่หมายความว่าเราอาจต้องคุยกับพี่น้องคนนั้นหลายครั้ง แต่เราควรทำอะไรต่อถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้? (2) เราควรคุยกับพี่น้องคนนั้นโดยพาคนอื่นไปด้วย คนที่เราพาไปควรเป็นพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์หรือเป็นคนที่ดูออกว่ามีการทำผิดจริงหรือไม่ ถ้าคุณทำตามคำแนะนำและจัดการกับปัญหานั้นได้ คุณก็จะ “ได้ช่วยเขาให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง” จริง ๆ แต่ถ้าคุณพยายามคุยกับเขาหลายครั้งแล้วและก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คุณถึงทำตามขั้นตอนต่อไปคือ (3) บอกเรื่องนั้นกับผู้ดูแล
16. ทำไมเราถึงบอกได้ว่าการทำตามคำแนะนำของพระเยซูเป็นวิธีที่ดีและเป็นการแสดงความรัก?
16 ส่วนใหญ่แล้ว น่าดีใจที่เราไม่ต้องทำทั้งสามขั้นตอนในมัทธิว 18:15-17 ทำไมเราถึงบอกอย่างนั้นได้? เพราะคนที่ทำผิดส่วนใหญ่ยอมรับผิด และพยายามแก้ปัญหาที่เขาก่อไว้ เขาจึงไม่ต้องถูกตัดสัมพันธ์ ส่วนพี่น้องที่เสียหายก็ควรยกโทษให้เพื่อทำให้ความขัดแย้งจบลงด้วยดี ดังนั้น จากคำแนะนำของพระเยซู เราเห็นได้ว่าเราไม่ต้องรีบไปหาผู้ดูแล เราควรบอกผู้ดูแลก็ต่อเมื่อเราได้พยายามทำตามสองขั้นตอนแรกแล้ว และมีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่ามีการทำผิดจริง
17. จะมีผลดีอะไรถ้าเราพยายาม “สร้างสันติ” กับคนอื่น?
17 ถ้าเรายังไม่สมบูรณ์พร้อม เราก็จะทำให้คนอื่นโกรธอยู่เรื่อย ๆ ยากอบเขียนไว้ว่า “ถ้าใครไม่ผิดพลาดในการพูดเลย เขาก็เป็นคนสมบูรณ์แล้ว และสามารถควบคุมร่างกายได้ทุกส่วน” (ยก. 3:2) เพื่อเราจะแก้ไขความขัดแย้งได้ เราต้องทำสุดความสามารถที่จะ “สร้างสันติและพยายามรักษาไว้” (สด. 34:14) ถ้าเราพยายามสร้างสันติกับคนอื่น ๆ เราก็จะเป็นเพื่อนที่ดีกับพี่น้องของเรา และจะทำให้เราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (สด. 133:1-3) และที่สำคัญที่สุด เราจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา “พระเจ้าผู้ให้สันติสุข” (รม. 15:33) เราจะได้พรทั้งหมดนี้ถ้าเราพยายามจัดการกับข้อขัดแย้งด้วยความรัก
^ [1] (ข้อ 12) ยังมีอีกหลายคนที่จัดการกับความขัดแย้งอย่างสันติ เช่น เรื่องราวระหว่างยาโคบกับเอซาว (ปฐก. 27:41-45; 33:1-11) โยเซฟกับพี่น้องของเขา (ปฐก. 45:1-15) และกิเดโอนกับคนในตระกูลเอฟราอิม (วนฉ. 8:1-3) คุณอาจลองคิดถึงตัวอย่างคล้าย ๆ กันนี้ที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิล