คัมภีร์ไบเบิล—แม่นยำทุกคำพยากรณ์ ตอน 1
“เราจะให้ตระกูลของเจ้าเป็นประเทศใหญ่”
ในชุดบทความแปดตอนนี้ “ตื่นเถิด!” จะพิจารณาลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิล นั่นคือคำพยากรณ์หรือคำทำนาย. บทความชุดนี้จะช่วยคุณตอบคำถามต่อไปนี้: คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นแค่การคาดการณ์ของมนุษย์ที่ฉลาดหลักแหลมเท่านั้นไหม? คำพยากรณ์เหล่านี้มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าไหม? เราขอเชิญคุณพิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้.
ผู้คนสมัยนี้มักเป็นคนขี้สงสัย และนี่คือเหตุผลที่บางคนไม่ยอมรับคัมภีร์ไบเบิล. น่าเสียดาย หลายคนไม่เคยใช้เวลาตรวจสอบคัมภีร์ไบเบิลอย่างตรงไปตรงมา. พวกเขาเชื่อตามที่คนอื่นพูด. เราหวังว่าคุณจะไม่เป็นอย่างนั้น. ดังนั้น ขอเชิญคุณเดินทางย้อนเวลาไปกับเรา เพื่อจะได้ข้อเท็จจริงซึ่งพิสูจน์ว่าคัมภีร์ไบเบิลน่าเชื่อถือ.
การเดินทางของเราเริ่มต้นที่บุรุษผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวคริสต์ ชาวยิว และชาวมุสลิม. ท่านเป็นชาวฮีบรูและมีชีวิตอยู่เมื่อปี 2018 ถึง 1843 ก่อน ส.ศ.a ชื่อของท่านคืออับราฮาม.b
คำพยากรณ์ที่เก่าแก่ที่สุดบางข้อในคัมภีร์ไบเบิลรวมจุดอยู่ที่อับราฮาม ซึ่งบางข้อเกี่ยวข้องกับเราในทุกวันนี้ด้วยซ้ำ. (ดูกรอบ “พรสำหรับ ‘ทุกชาติ.’ ”) ดังที่บันทึกในเยเนซิศ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิล คำพยากรณ์เหล่านี้ประกอบด้วย: (1) ลูกหลานของอับราฮามจะกลายเป็นชนชาติใหญ่. (2) ก่อนจะเป็นชนชาติใหญ่ พวกเขาจะตกเป็นทาสในต่างแดน. (3) พวกเขาจะถูกปลดปล่อย และจะเข้ายึดครองแผ่นดินคะนาอัน. ตอนนี้ ให้เราพิจารณาข้อความเหล่านี้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น.
คำพยากรณ์เด่นสามเรื่อง
คำพยากรณ์ที่ 1: “เราจะให้ตระกูลของเจ้า [อับราฮาม] เป็นประเทศใหญ่.”—เยเนซิศ 12:2
ความสำเร็จเป็นจริง: เหล่าผู้สืบเชื้อสายจากอับราฮามผ่านทางยิศฮาคและยาโคบ (ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าอิสราเอล) ได้กลายเป็นชาติอิสราเอลโบราณ ซึ่งมีกษัตริย์ของตนเองปกครอง.
หลักฐานทางประวัติศาสตร์:
● คัมภีร์ไบเบิลบอกรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับลำดับวงศ์วานของอับราฮาม รวมถึงลูกหลานที่สืบเชื้อสายทางยิศฮาค ยาโคบ และบุตรชาย 12 คนของยาโคบ. หลายคนในเผ่าพันธุ์ของท่านเป็นกษัตริย์ที่ปกครองอิสราเอลหรือยูดาห์. ในบรรดาผู้ปกครองเหล่านี้ มี 17 องค์ที่ได้รับการกล่าวถึงในแหล่งที่ไม่ใช่คัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเป็นการยืนยันบันทึกของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าลูกหลานของอับราฮาม ยิศฮาค และยาโคบได้กลายเป็นชาติหนึ่ง.c
คำพยากรณ์ที่ 2: “พงศ์พันธุ์ของเจ้า [อับราฮาม] จะเป็นแขกเมืองในแผ่นดิน ซึ่งมิใช่ที่ของเขา, และเขาจะต้องปฏิบัติชาวเมืองนั้น . . . ในชั่วอายุที่สี่พงศ์พันธุ์ของเจ้าจะกลับมาที่นี่อีก.”—เยเนซิศ 15:13, 16
ความสำเร็จเป็นจริง: เนื่องจากการกันดารอาหารในแผ่นดินคะนาอัน ลูกหลานของอับราฮามสี่ชั่วอายุจึงอาศัยอยู่ในอียิปต์. แรกทีเดียวพวกเขาเป็นคนต่างด้าว แต่ต่อมาพวกเขากลายเป็นทาสที่ถูกใช้ให้ทำอิฐจากดินเหนียวและฟาง. ถ้าจะดูเฉพาะตระกูลเดียว คือตระกูลของเลวี เหลนของอับราฮาม ซึ่งได้ย้ายไปอียิปต์พร้อมกับบิดาผู้สูงอายุของท่าน สี่ชั่วอายุนั้นประกอบไปด้วย (1) เลวี (2) โคฮาธ บุตรของท่าน (3) อัมราม หลานของท่าน และ (4) โมเซ เหลนของท่าน. (เอ็กโซโด 6:16, 18, 20) ในปี 1513 ก่อน ส.ศ. โมเซได้นำชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์.—ดูแผนภูมิแสดงลำดับเวลาข้างล่างและกรอบ “การบอกเวลาอย่างละเอียด.”
หลักฐานทางประวัติศาสตร์:
● ศาสตราจารย์ด้านพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและโบราณคดีตะวันออกใกล้ชื่อเจมส์ เค. โฮฟฟ์ไมเยอร์กล่าวว่า ทั้งบันทึกของอียิปต์และหลักฐานทางโบราณคดีแสดงว่าชาวเซไมต์ (เช่น ชาวฮีบรูโบราณ) ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในอียิปต์พร้อมกับฝูงสัตว์ในช่วงการกันดารอาหาร. แต่ชาวอิสราเอลกลายเป็นทาสที่ถูกใช้ให้ทำอิฐในอียิปต์ไหม?
● ถึงแม้ว่าบันทึกของอียิปต์ไม่ได้ระบุถึงชาวอิสราเอลโดยตรง แต่ภาพวาดที่อุโมงค์ฝังศพและม้วนหนังสือต่าง ๆ ยืนยันว่าชาวอียิปต์ใช้ชาวต่างชาติทำอิฐจากดินเหนียวและฟาง. สอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล ข้อเขียนของชาวอียิปต์แสดงด้วยว่าผู้คุมงานได้บันทึกจำนวนอิฐที่ต้องทำ. (เอ็กโซโด 5:14, 19) โฮฟฟ์ไมเยอร์กล่าวว่า “แหล่งข้อมูลของชาวอียิปต์ยืนยันว่ามีการบังคับชาวต่างชาติให้เป็นทาส . . . ในช่วงที่มีการกดขี่ชาวอิสราเอล. สรุปแล้ว การที่ชาวฮีบรูโบราณเข้าไปในอียิปต์ . . . ระหว่างการกันดารอาหารและการที่พวกเขาตกเป็นทาสในเวลาต่อมาจึงน่าจะเป็นเรื่องจริง.”
คำพยากรณ์ที่ 3: “แผ่นดินคะนาอันทั้งสิ้น . . . เราจะยกให้ . . . พงศ์พันธุ์ของเจ้า.”—เยเนซิศ 17:8
ความสำเร็จเป็นจริง: โมเซได้นำชาติอิสราเอลซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่นานออกจากอียิปต์ แล้วยะโฮซูอะบุตรนูน ได้นำชนชาตินี้เข้าสู่แผ่นดินคะนาอันในปี 1473 ก่อน ส.ศ.
หลักฐานทางประวัติศาสตร์:
● ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านไอยคุปต์วิทยาชื่อ เค. เอ. คิตเชนเขียนไว้ว่า แม้นักโบราณคดีมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องวันเวลาที่แน่นอน แต่ “เรายืนยันได้ว่าชาวอิสราเอลเข้าไปในแผ่นดินคะนาอันและอาศัยอยู่ที่นั่นจริง ๆ.”
● คัมภีร์ไบเบิลบอกว่ายะโฮซูอะ “เผาเมืองฮาโซร” ของชาวคะนาอัน. (ยะโฮซูอะ 11:10, 11) ในซากปรักหักพังของเมืองนี้ นักโบราณคดีพบวิหารของชาวคะนาอันสามหลังซึ่งถูกทำลายอย่างสิ้นซาก. พวกเขายังพบหลักฐานด้วยว่าเมืองนี้ถูกเผาในศตวรรษที่ 15 ก่อน ส.ศ. ข้อเท็จจริงเหล่านี้สอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล.
● เมืองของชาวคะนาอันอีกเมืองหนึ่งที่เราสนใจคือเมืองกิบโอน ซึ่งอยู่ห่างจากเยรูซาเลมประมาณ 10 กิโลเมตร. นักโบราณคดีรู้ว่าเมืองนี้เป็นเมืองกิบโอนเนื่องจากพวกเขาค้นพบด้ามจับของโถประมาณ 30 อันซึ่งมีชื่อของเมืองนี้สลักอยู่. ไม่เหมือนกับชาวฮาโซร ชาวกิบโอนโบราณได้ทำสัญญาไมตรีกับยะโฮซูอะ. ท่านจึงได้เกณฑ์ให้พวกเขาทำหน้าที่ “ตักน้ำ.” (ยะโฮซูอะ 9:3-7, 23) ทำไมจึงให้ตักน้ำ? คำพรรณนาที่ 2 ซามูเอล 2:13 และยิระมะยา 41:12 แสดงว่าเมืองกิบโอนมีน้ำอุดมบริบูรณ์. ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์ไบเบิลนิว อินเตอร์เนชันแนลฉบับศึกษาเชิงโบราณคดี (ภาษาอังกฤษ) จึงกล่าวว่า “ลักษณะเด่นที่สุดของเมืองกิบโอนคือมีน้ำมาก. เมืองนี้มีน้ำพุขนาดใหญ่หนึ่งแห่งและขนาดเล็กอีกเจ็ดแห่ง.” เรื่องนี้สอดคล้องกับบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล.
● แหล่งข้อมูลอื่นในประวัติศาสตร์ได้ยืนยันว่าบุคคลหลายสิบคนที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลมีอยู่จริง. ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ บุคคลเหล่านี้รวมไปถึงกษัตริย์ 17 องค์ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากอับราฮามและปกครองในอิสราเอลหรือยูดาห์. กษัตริย์เหล่านี้มีอาฮาบ อาฮาศ ดาวิด ฮิศคียาห์ มานาเซห์ และอูซียาห์เป็นต้น. เห็นได้ชัด การที่มีราชวงศ์นี้อยู่เป็นหลักฐานหนักแน่นว่า มีชาติที่ถูกเรียกว่าอิสราเอลได้เข้าไปในดินแดนคะนาอันและยึดครองแผ่นดินนั้น.
● ในปี 1896 นักวิจัยค้นพบศิลาจารึกเมอร์เนปตาในเมืองทีบส์ อียิปต์. ศิลาจารึกนี้เป็นการโอ้อวดเรื่องการรบในคะนาอันของฟาโรห์เมอร์เนปตาราว ๆ ปี 1210 ก่อน ส.ศ. ศิลาจารึกนี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกนอกจากคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงชาติอิสราเอล ซึ่งช่วยยืนยันว่าชาตินี้มีอยู่จริง.
ข้อดีของรายละเอียดที่เจาะจง
ดังที่เราพิจารณาไปแล้ว คัมภีร์ไบเบิลมีรายละเอียดที่เจาะจงมากมายเกี่ยวกับผู้คน สถานที่ และเหตุการณ์ต่าง ๆ. ข้อมูลที่เจาะจงดังกล่าวช่วยเราเปรียบเทียบเรื่องราวนั้นกับแหล่งข้อมูลนอกคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งช่วยเรายืนยันว่าคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริง. ในเรื่องอับราฮามและผู้สืบเชื้อสายของท่าน ข้อเท็จจริงแสดงว่าคำสัญญาของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริง นั่นคือผู้สืบเชื้อสายของอับราฮามได้กลายเป็นชาติหนึ่ง ได้ตกเป็นทาสในอียิปต์ และต่อมาได้เข้ายึดครองแผ่นดินคะนาอัน. ทั้งหมดนี้ทำให้ระลึกถึงถ้อยคำของเปโตร ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลซึ่งยอมรับด้วยความถ่อมใจว่า “คำพยากรณ์ไม่เคยมีขึ้นตามใจมนุษย์ แต่มนุษย์พูดตามที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้พูดโดยได้รับการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์.”—2 เปโตร 1:21
ในช่วงหลายร้อยปีหลังจากชาวอิสราเอลยึดครองแผ่นดินคะนาอัน ประวัติศาสตร์ของชาตินี้ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งยังผลที่น่าเศร้า. ผลที่เกิดขึ้นนี้ได้มีการพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าโดยผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลด้วย ดังที่ฉบับหน้าจะพิจารณา.
[เชิงอรรถ]
a “ก่อน ส.ศ.” หมายถึง “ก่อนสากลศักราช.”
b เดิมทีอับราฮามมีชื่อว่าอับราม.
c ดู 1 โครนิกา 1:27-34; 2:1-15; 3:1-24. ในรัชกาลของเรฮับอาม ราชบุตรของกษัตริย์โซโลมอน ชาติอิสราเอลถูกแบ่งเป็นอาณาจักรทางเหนือและอาณาจักรทางใต้. หลังจากนั้น มีกษัตริย์สององค์ปกครองแผ่นดินอิสราเอลในเวลาเดียวกัน.—1 กษัตริย์ 12:1-24
[กรอบหน้า 17]
พรสำหรับ “ทุกชาติ”
พระเจ้าทรงสัญญาว่าผู้คน “ทุกชาติ” จะได้รับพรเนื่องจากผู้สืบเชื้อสายของอับราฮาม. (เยเนซิศ 22:18) เหตุผลหลักที่พระเจ้าทำให้ลูกหลานของอับราฮามเป็นชาติหนึ่งคือเพื่อให้พระมาซีฮามากำเนิด ซึ่งในที่สุด พระมาซีฮาจะสละชีวิตเพื่อมนุษย์ทุกคน.d ด้วยเหตุนี้ คำสัญญาของพระเจ้าจึงเกี่ยวข้องกับคุณด้วย! โยฮัน 3:16 กล่าวว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากจนถึงกับประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกทำลาย แต่จะมีชีวิตนิรันดร์.”
[เชิงอรรถ]
d จะมีการพิจารณาคำพยากรณ์ที่กล่าวถึงพระมาซีฮาโดยตรงในตอนที่ 3 และ 4 ของชุดบทความนี้.
[กรอบหน้า 17]
การบอกเวลาอย่างละเอียด
1 กษัตริย์ 6:1 เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงคุณค่าของการระบุเวลาอย่างละเอียดของคัมภีร์ไบเบิล. ข้อนี้ระบุเวลาที่กษัตริย์โซโลมอนเริ่มการสร้างพระวิหารที่กรุงเยรูซาเลม. เราอ่านว่า “ต่อมาในปีที่สี่ร้อยแปดสิบ [479 ปีเต็ม] หลังจากที่ชนอิสราเอลออกมาจากแผ่นดินอียิปต์ ในปีที่สี่ที่ซาโลมอนทรงครองอิสราเอล ในเดือนศิฟซึ่งเป็นเดือนที่สอง พระองค์ทรงเริ่มสร้างพระนิเวศของพระยาห์เวห์.”—พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน
การลำดับเวลาในคัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าปีที่สี่ของรัชกาลโซโลมอนคือปี 1034 ก่อน ส.ศ. ถ้านับจากปีนั้นย้อนไป 479 ปีเต็ม เราก็จะได้ปีที่ชาวอิสราเอลอพยพ นั่นคือปี 1513 ก่อน ส.ศ.
[กรอบหน้า 18]
อับราฮาม—บุคคลจริงในประวัติศาสตร์
● แผ่นดินเหนียวหลายแผ่นที่ทำขึ้นตั้งแต่ต้นสหัสวรรษที่สองก่อน ส.ศ. มีรายชื่อเมืองซึ่งตรงกับชื่อญาติของอับราฮาม. เมืองเหล่านี้รวมไปถึงเมืองเพเล็ก เซรูค นาโฮร์ เทราห์ และฮาราน.—เยเนซิศ 11:17-32
● เราอ่านที่เยเนซิศ 11:31 ว่าอับราฮามกับครอบครัวอพยพจาก “เมืองอูระ [อูร์] แขวงแผ่นดินเคเซ็ด [แคลเดีย].” มีการค้นพบซากปรักหักพังของเมืองนั้นในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอิรัก. คัมภีร์ไบเบิลยังบอกด้วยว่าเทราห์ บิดาของอับราฮาม เสียชีวิตที่เมืองฮาราน ซึ่งอาจอยู่ในประเทศตุรกีในปัจจุบัน ส่วนซาราห์ ภรรยาของอับราฮาม เสียชีวิตในเมืองเฮบโรน ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งในตะวันออกกลางที่ยังมีผู้คนอาศัยอยู่.—เยเนซิศ 11:32; 23:2
[แผนภูมิ/ภาพหน้า 16, 17]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
แผนภูมิแสดงลำดับเวลาผู้สืบเชื้อสายของอับราฮามและการอพยพของชาวอิสราเอล
ลูกหลานสี่ชั่วอายุของอับราฮาม
เลวี
โคฮาธ
อัมราม
โมเซ
(ก่อน ส.ศ.)
1843 อับราฮามสิ้นชีวิต
1728 ยาโคบย้ายครอบครัวไปอียิปต์
1711 ยาโคบสิ้นชีวิต
1657 โยเซฟสิ้นชีวิต
1593 โมเซเกิด
1513 โมเซนำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์
1473 โมเซสิ้นชีวิต. ยะโฮซูอะนำชาวอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินคะนาอัน
ยุคของผู้วินิจฉัย
1117 ซามูเอลเจิมซาอูลเป็นกษัตริย์องค์แรกของชาติอิสราเอล
1107 ดาวิดเกิด
1070 ดาวิดขึ้นเป็นกษัตริย์ของอิสราเอล
1034 โซโลมอนเริ่มสร้างพระวิหาร
[ภาพหน้า 17]
ศิลาฉลองชัยนี้ซึ่งมีคำว่า “ราชวงศ์ดาวิด” จารึกอยู่ เป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงกษัตริย์หลายองค์ผู้สืบเชื้อสายมาจากอับราฮามและปกครองอิสราเอลหรือยูดาห์
[ที่มาของภาพ]
© Israel Museum Jerusalem/The Bridgeman Art Library International