จงเลียนแบบความเชื่อของเขา | ซาราห์
พระเจ้าเรียกเธอว่า “เจ้าหญิง”
ซาราห์วางมือจากงานของเธอและมองไปที่ขอบฟ้า พวกคนรับใช้ทำงานอย่างขยันขันแข็งและมีความสุขภายใต้การดูแลของเธอ ซาราห์คนขยันก็ทำงานของเธอด้วย ลองนึกภาพเธอกำลังคิดอะไรอยู่ในใจ และนวดมือตัวเองไปด้วยเพื่อคลายความเมื่อยล้า เพราะง่วนอยู่กับการเย็บรอยขาดของเต็นท์ที่เป็นบ้านของเธอกับสามี ผ้าเต็นท์หยาบ ๆ ที่ทำจากขนของแพะสีซีดจางลงเพราะผ่านแดดผ่านฝนมาหลายปีย้ำให้ซาราห์เห็นว่าเธอได้ใช้ชีวิตเร่ร่อนมานานแค่ไหนแล้ว ดวงอาทิตย์สาดแสงสีทองแสดงถึงเวลาบ่ายคล้อย เธอเห็นอับราฮัมaออกจากบ้านไปตั้งแต่เช้า เธอเฝ้ารอให้เขากลับมา เธอมองไปในทิศทางที่เขาเดินออกจากบ้าน และพอเห็นรูปร่างที่คุ้นเคยของสามีมาทางเนินเขาที่อยู่ใกล้ ๆ ใบหน้าแสนหวานของเธอก็ผุดยิ้มขึ้นมา
สิบปีมาแล้วที่อับราฮัมพาครอบครัวใหญ่ข้ามแม่น้ำยูเฟรติสเพื่อมุ่งหน้าสู่แผ่นดินคานาอัน ซาราห์เต็มใจสนับสนุนสามีในการเดินทางครั้งใหญ่สู่ดินแดนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะเธอรู้ว่าสามีมีบทบาทสำคัญในการทำให้ความประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ นั่นก็คือให้อับราฮัมมีลูกหลานซึ่งเป็นผู้ที่พระเจ้าพอใจและในที่สุดจะกลายเป็นชนชาติหนึ่ง แล้วซาราห์ล่ะมีบทบาทอะไร? เธออายุ 75 ปีแล้วและเป็นหมัน เธอเลยอาจสงสัยว่า ‘ฉันเป็นภรรยาของอับราฮัม แล้วคำสัญญาของพระยะโฮวาจะเป็นจริงได้ยังไง?’ นี่ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมเธอเป็นห่วงเรื่องนี้ หรือบางทีอาจถึงกับกระวนกระวายใจด้วยซ้ำ
พวกเราก็เช่นกัน บางทีเราอาจสงสัยว่า เมื่อไรคำสัญญาของพระเจ้าจะเป็นจริง การอดทนดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะถ้าเป็นความหวังที่เรารอคอยให้เกิดขึ้น ดังนั้น เราจะเรียนอะไรได้จากผู้หญิงที่มีความเชื่อโดดเด่นคนนี้?
“พระยะโฮวาไม่ให้ฉันมีลูก”
ครอบครัวนี้เพิ่งเดินทางกลับมาจากอียิปต์ (ปฐมกาล 13:1-4) พวกเขาตั้งเต็นท์ตรงที่ราบสูงทางตะวันออกของเบธเอลหรือตามที่ชาวคานาอันเรียกว่าลูส จากที่ราบสูงนี้ ซาราห์สามารถมองเห็นแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาไว้ได้เต็มตา ที่นั่นมีหมู่บ้านชาวคานาอันมากมายและมีถนนหลายสายสำหรับนักเดินทางใช้สัญจรไปยังดินแดนที่ห่างไกลได้ วิวทิวทัศน์ทั้งหมดที่ซาราห์เห็นช่างแตกต่างจากบ้านเกิดของเธอจริง ๆ เธอเติบโตมาในเมืองเออร์ทางแถบเมโสโปเตเมียที่ห่างไกลออกไป 1,900 กิโลเมตร เธอต้องจากญาติพี่น้อง จากเมืองที่เจริญและสะดวกสบายเต็มไปด้วยตลาดและร้านค้า และจากบ้านแสนสบายที่มีหลังคาและกำแพงแน่นหนา บางทีบ้านของเธออาจสะดวกมากถึงขนาดที่มีการต่อน้ำเข้ามาใช้ในบ้านด้วยซ้ำ! แต่ถ้าเราคิดว่าซาราห์เหม่อมองอย่างเศร้าสร้อยไปทางทิศตะวันออก เพราะกำลังนึกถึงความสะดวกสบายของชีวิตในวัยเด็กแล้วล่ะก็ แสดงว่าเรายังไม่รู้จักผู้หญิงที่รักพระเจ้าคนนี้ดี
ขอสังเกตข้อความของอัครสาวกเปาโลที่ได้รับการดลใจให้เขียนหลังจากนั้น 2,000 ปี เมื่อพูดถึงความเชื่อของซาราห์และอับราฮัม เขาบอกว่า “ถ้าพวกเขาเฝ้าคิดถึงที่ที่ตัวเองจากมา พวกเขาจะกลับไปก็ได้” (ฮีบรู 11:8, 11, 15) ทั้งซาราห์และอับราฮัมไม่เคยอยากหวนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ถ้าพวกเขามัวแต่คิดแบบนั้น พวกเขาคงตัดสินใจกลับไปแล้ว และถ้าเขากลับไปที่เมืองเออร์จริง ๆ พวกเขาจะไม่ได้รับหน้าที่มอบหมายสำคัญจากพระยะโฮวา ใคร ๆ ก็คงลืมเขาไปกันหมด พวกเขาคงไม่ได้เป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจในเรื่องความเชื่อให้กับผู้คนนับล้านแบบทุกวันนี้
แทนที่จะมัวแต่คิดถึงอดีต ซาราห์มองไปข้างหน้า เธอสนับสนุนสามีเสมอเมื่อต้องรอนแรมไปในที่ต่าง ๆ ช่วยเขาเก็บเต็นท์ ย้ายถิ่นไปพร้อมกับฝูงสัตว์ และตั้งเต็นท์ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า เธออดทนต่อปัญหาและการเปลี่ยนแปลง พระยะโฮวาย้ำคำสัญญากับอับราฮัมอีกครั้ง แต่พระองค์ก็ยังไม่ได้พูดถึงซาราห์เลย!—ปฐมกาล 13:14-17; 15:5-7
ในที่สุด ซาราห์ตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะบอกอับราฮัมว่าเธอคิดแผนอะไรไว้ ลองนึกภาพสีหน้าที่สับสนของเธอตอนที่บอกสามีว่า “พระยะโฮวาไม่ให้ฉันมีลูก” จากนั้น เธอขอให้อับราฮัมมีลูกกับฮาการ์สาวใช้ของเธอ คุณนึกภาพออกไหมว่าซาราห์คงปวดใจขนาดไหนตอนที่เธอขอให้สามีทำแบบนั้น? ข้อเสนอของเธออาจดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับเราในทุกวันนี้ แต่ในสมัยนั้นการมีภรรยาคนที่สองหรือมีเมียน้อยเพื่อจะมีทายาทสืบตระกูลไม่ใช่เรื่องแปลกb ซาราห์คงคิดว่า ความประสงค์ของพระเจ้าที่จะให้อับราฮัมเป็นบรรพบุรุษของชาติ ๆ หนึ่งจะกลายเป็นจริงด้วยวิธีนี้ ไม่ว่าอย่างไร เธอก็เต็มใจเสียสละแม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม แล้วอับราฮัมมีท่าทีอย่างไร? เขา “ทำตามที่ [ซาราห์] บอก”—ปฐมกาล 16:1-3
พระยะโฮวาเป็นผู้กระตุ้นให้ซาราห์เสนอแนะแบบนั้นไหม? ไม่ แผนการของเธอมาจากความคิดแบบมนุษย์ล้วน ๆ เธอคิดว่าที่เธอมีปัญหาก็เพราะพระเจ้าและคิดว่าไม่มีวิธีไหนอีกแล้วที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ถึงแม้วิธีการของซาราห์จะทำให้เธอได้รับความเจ็บปวดและนำความยุ่งยากมาให้เธอ แต่ก็น่าชมเชยที่เธอไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัวของเธอเป็นเรื่องที่น่าประทับใจจริง ๆ เพราะบ่อยครั้งผู้คนในโลกคิดถึงแต่ตัวเองก่อนสิ่งอื่น เราเลียนแบบความเชื่อของซาราห์ได้ถ้าเราเต็มใจทำตามความต้องการของพระเจ้าไม่ใช่ความต้องการของเราเอง
“เจ้าหัวเราะจริง ๆ”
ไม่นานหลังจากนั้น ฮาการ์ก็ท้องกับอับราฮัม ฮาการ์อาจคิดว่าการตั้งท้องทำให้เธอสำคัญกว่าซาราห์ ฮาการ์เลยเริ่มดูถูกนายหญิงของตัวเอง เรื่องนี้ทำให้ซาราห์ซึ่งเป็นหมันผิดหวังมาก! ด้วยการอนุญาตจากอับราฮัมและการสนับสนุนจากพระเจ้า ซาราห์ทำให้ฮาการ์ได้รับความอับอายโดยทำบางอย่างซึ่งคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกรายละเอียดไว้ หลังจากนั้น ฮาการ์ก็คลอดลูกชายชื่ออิชมาเอล (ปฐมกาล 16:4-9, 16) และอีกหลายปีต่อมา พระยะโฮวาก็ให้มีการบันทึกเรื่องราวอีกครั้ง ตอนนั้นซาราห์อายุ 89 และสามีก็อายุ 99 ปีแล้ว พวกเขาได้รับข่าวสารที่น่าแปลกใจมากจากพระยะโฮวา!
เป็นอีกครั้งที่พระยะโฮวาสัญญากับอับราฮัมเพื่อนของพระองค์ว่า พระองค์จะทำให้เขามีลูกหลานมากมาย พระองค์ยังเปลี่ยนชื่อให้เขาด้วย ก่อนหน้านี้เขาชื่ออับราม แต่พระยะโฮวาตั้งชื่อให้เขาใหม่เป็นอับราฮัมซึ่งแปลว่า “พ่อของคนมากมาย” และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พระยะโฮวาพูดถึงซาราห์ว่าเธอจะมีบทบาทอะไรในความประสงค์ของพระเจ้า พระองค์เปลี่ยนชื่อให้เธอจากซารายที่อาจแปลว่า “มักโต้แย้ง” เป็นซาราห์ ซึ่งเป็นชื่อที่พวกเราทุกคนคุ้นเคย แล้วคำว่าซาราห์แปลว่าอะไร? แปลว่า “เจ้าหญิง”! พระยะโฮวาบอกเหตุผลที่พระองค์เลือกชื่อนี้ให้กับผู้หญิงที่น่ารักคนนี้ พระองค์บอกว่า “เราจะอวยพรเธอและจะให้เจ้ามีลูกชายคนหนึ่งกับเธอ เราจะอวยพรให้เธอเป็นแม่ของคนหลายชนชาติ และกษัตริย์ของชาติต่าง ๆ จะเกิดจากเธอ”—ปฐมกาล 17:5, 15, 16
คำสัญญาของพระยะโฮวาที่บอกว่าลูกหลานคนหนึ่งที่จะทำให้ชาติทั้งหลายได้รับพรจะมาทางลูกชายของซาราห์! พระเจ้าตั้งชื่อให้เด็กชายคนนี้ว่าอิสอัค แปลว่า “การหัวเราะ” เมื่ออับราฮัมรู้ว่าพระเจ้าต้องการอวยพรซาราห์ให้มีลูกชายเป็นของเธอเอง เขาก็ “ซบหน้าลงกับพื้นหัวเราะ” (ปฐมกาล 17:17) เขาแปลกใจและดีใจมาก (โรม 4:19, 20) แล้วซาราห์ล่ะรู้สึกอย่างไร?
ไม่นานหลังจากนั้น มีชายแปลกหน้า 3 คนมาที่เต็นท์ของอับราฮัม วันนั้นอากาศร้อนมาก แต่สามีภรรยาสูงอายุทั้งสองก็รีบจัดแจงต้อนรับแขกทันที อับราฮัมบอกซาราห์ว่า “เร็วเข้า! เอาแป้งเนื้อละเอียดถังหนึ่งมานวดทำขนมปัง” การต้อนรับแขกสมัยนั้นต้องทำหลายอย่าง อับราฮัมไม่ปล่อยให้ซาราห์ทำสิ่งต่าง ๆ ตามลำพัง เขาเองก็รีบไปเลือกลูกวัวที่ขุนไว้ แล้วเตรียมทำอาหารและเครื่องดื่ม (ปฐมกาล 18:1-8) ปรากฏว่า “ผู้ชาย” เหล่านั้นคือทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา! อัครสาวกเปาโลอาจคิดถึงเรื่องนี้เมื่อเขาบันทึกว่า “อย่าลืมแสดงน้ำใจต้อนรับแขก เพราะบางคนที่ทำอย่างนั้นได้ต้อนรับทูตสวรรค์โดยไม่รู้ตัว” (ฮีบรู 13:2) คุณสามารถเลียนแบบน้ำใจต้อนรับแขกที่โดดเด่นของอับราฮัมและซาราห์ได้
ซาราห์ไม่ได้อยู่ในวงสนทนาตอนที่ทูตสวรรค์องค์หนึ่งพูดกับอับราฮัมถึงคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่าซาราห์จะมีลูกชาย แต่เธอยืนฟังอยู่ในเต็นท์ พอได้ยินว่าคนสูงอายุอย่างเธอจะมีลูก เธอรู้สึกแปลกใจและอดไม่ได้ที่จะหัวเราะในใจ เธอคิดว่า “ฉันกับนายของฉันก็อายุปูนนี้แล้ว ยังจะมีความยินดีอย่างนี้ได้อีกหรือ?” ทูตสวรรค์จึงแก้ไขความคิดของเธอโดยถามว่า ‘มีอะไรที่พระยะโฮวาทำไม่ได้?’ ซาราห์ก็เหมือนคนทั่วไปที่อาจรู้สึกกลัวเลยรีบแก้ตัวว่า “ดิฉันไม่ได้หัวเราะนะคะ” ทูตสวรรค์บอกว่า “อย่าปฏิเสธเลย เจ้าหัวเราะจริง ๆ”—ปฐมกาล 18:9-15
ซาราห์หัวเราะเพราะเธอไม่มีความเชื่อไหม? ไม่ใช่ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เพราะความเชื่อ ซาราห์สามารถตั้งท้องได้ถึงแม้ตอนนั้นเธอแก่เกินกว่าจะมีลูกแล้ว เธอถือว่าพระองค์ที่สัญญานั้นซื่อสัตย์” (ฮีบรู 11:11) ซาราห์รู้จักพระยะโฮวาดี เธอรู้ว่าพระองค์ทำให้คำสัญญาทุกอย่างของพระองค์เป็นจริงได้ เราทุกคนก็ต้องมีความเชื่อแบบนั้นเหมือนกัน เราต้องรู้จักพระเจ้าให้ดีขึ้น ถ้าเรารู้จักพระองค์ดีขึ้น เราจะรู้ว่าถูกต้องแล้วที่ซาราห์มีความเชื่อแบบนั้น พระยะโฮวาซื่อสัตย์ภักดีและทำตามคำสัญญาเสมอ บางครั้งสิ่งที่พระองค์ทำก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อจนเราทึ่งและถึงกับหัวเราะออกมา!
“ให้ทำตามที่ซาราห์บอก”
ตอนที่ซาราห์อายุ 90 ปี เธอก็ได้มีช่วงเวลาแห่งความสุขที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่เป็นผู้ใหญ่ นั่นคือ เธอคลอดลูกชายให้สามีสุดที่รัก ซึ่งตอนนั้นเขาอายุ 100 ปีแล้ว! อับราฮัมตั้งชื่อลูกน้อยว่าอิสอัคหรือ “การหัวเราะ” ตามที่พระเจ้าบอกเขาไว้ เราคงนึกภาพได้ว่าซาราห์น่าจะอ่อนเพลียแต่ก็มีรอยยิ้มที่สดใสบนใบหน้า เธอบอกว่า “พระเจ้าทำให้ฉันหัวเราะดีใจ ทุกคนที่ได้ยินเรื่องนี้ก็หัวเราะดีใจไปกับฉันด้วย” (ปฐมกาล 21:6) นี่เป็นของขวัญจากพระยะโฮวาที่ทำให้เธอมีความสุขจนตลอดชั่วชีวิตของเธอ แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เธอมีความรับผิดชอบที่สำคัญด้วย
ตอนที่อิสอัคอายุ 5 ขวบ ครอบครัวได้จัดงานเลี้ยงใหญ่ในวันที่อิสอัคหย่านม แต่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น เราพบว่า ซาราห์ “คอยสังเกต” ความประพฤติที่ไม่ดีบางอย่างที่เกิดขึ้น อิชมาเอลลูกชายของฮาการ์ที่อายุ 19 ปีชอบเยาะเย้ยเด็กน้อยอิสอัค นี่ไม่ใช่แค่การล้อเล่นแบบสนุก ๆ เพราะต่อมาอัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้เขียนว่าการกระทำของอิชมาเอลถือเป็นการข่มเหง ซาราห์มองออกอย่างชัดเจนว่า นี่เป็นการกลั่นแกล้งที่อันตรายร้ายแรงต่ออิสอัค เธอรู้ดีว่าอิสอัคไม่ได้เป็นเพียงลูกชายของเธอเท่านั้น แต่เป็นคนสำคัญที่พระเจ้าจะใช้เพื่อทำให้ความประสงค์ของพระองค์สำเร็จด้วย ดังนั้น เธอเลยรวบรวมความกล้าและพูดกับสามีตรง ๆ ว่าให้ไล่ฮาการ์กับอิชมาเอลไป—ปฐมกาล 21: 8-10; กาลาเทีย 4:22, 23, 29
อับราฮัมมีท่าทีอย่างไร? “อับราฮัมลำบากใจมากที่ได้ยินซาราห์พูดถึงลูกชายของเขาแบบนั้น” เขารักอิชมาเอลและในฐานะพ่อ เขาไม่สามารถทำใจได้ อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาเห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและพระองค์ไม่นิ่งเฉย คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระเจ้าจึงพูดกับอับราฮัมว่า ‘อย่าให้เรื่องที่ซาราห์พูดถึงเด็กคนนั้นกับทาสหญิงของเจ้ามาทำให้เจ้าลำบากใจเลย ให้ทำตามที่ซาราห์บอก เพราะคนที่จะได้ชื่อว่าเป็นลูกหลานของเจ้านั้นจะมาทางอิสอัค’” พระยะโฮวายืนยันกับอับราฮัมว่าฮาการ์กับลูกจะได้รับการดูแล อับราฮัมผู้ซื่อสัตย์จึงทำตามที่พระเจ้าบอก—ปฐมกาล 21:11-14
ซาราห์เป็นภรรยาที่ดีเพราะเธอช่วยเติมเต็มชีวิตของอับราฮัมให้สมบูรณ์ เธอไม่ได้เอาใจสามีโดยพูดเฉพาะสิ่งที่เขาอยากได้ยินเท่านั้น แต่เมื่อเธอเห็นปัญหาที่จะกระทบต่อครอบครัวและอนาคตของพวกเขา เธอกล้าพูดตรง ๆ กับสามี ความตรงไปตรงมาของเธอไม่ใช่การไม่นับถือ ที่จริง อัครสาวกเปโตรซึ่งแต่งงานแล้วก็พูดถึงซาราห์ว่าเป็นแบบอย่างของภรรยาที่นับถือสามีจากใจ (1 โครินธ์ 9:5; 1 เปโตร 3:5, 6) จริง ๆ แล้ว ถ้าซาราห์ไม่บอกสามีและเก็บเรื่องนี้ไว้ เธอก็จะไม่ได้แสดงความนับถือต่อสามี เพราะเรื่องร้ายแรงอาจเกิดขึ้นและส่งผลเสียต่อสามีและทั้งครอบครัวในภายหลัง ดังนั้น เธอพูดด้วยความรักในสิ่งที่เธอจำเป็นต้องพูด
ภรรยาหลายคนเลียนแบบซาราห์ พวกเธอพยายามพูดกับสามีด้วยความนับถือและให้เกียรติเขา บางครั้ง ภรรยาบางคนอาจอยากให้พระยะโฮวาเข้ามาช่วยจัดการกับปัญหาบางอย่างแบบที่พระองค์ช่วยซาราห์ ไม่ว่าจะอย่างไร พวกเธอก็ยังคงเลียนแบบความเชื่อที่โดดเด่นของซาราห์ รวมทั้งความรัก และความอดทนด้วย
แม้พระยะโฮวาตั้งชื่อให้ซาราห์ว่า “เจ้าหญิง” แต่เธอก็ไม่อยากให้ใครปฏิบัติกับเธอเหมือนเป็นชนชั้นสูง
แม้พระยะโฮวาจะตั้งชื่อให้ผู้หญิงที่น่ารักคนนี้ด้วยตัวพระองค์เองว่า “เจ้าหญิง” แต่เธอก็ไม่เคยอยากให้ใครปฏิบัติกับเธอเหมือนเป็นชนชั้นสูง ไม่แปลกใจเลยที่อับราฮัม “ร้องไห้เสียใจและไว้ทุกข์ให้ซาราห์”cเมื่อเธอเสียชีวิตตอนที่อายุ 127 ปี (ปฐมกาล 23:1, 2) เขาคงคิดถึง “เจ้าหญิง” ผู้น่ารักของเขามาก และแน่นอนว่าพระยะโฮวาก็คิดถึงผู้หญิงที่ซื่อสัตย์ทั้งหลายเช่นกัน พระองค์จะทำให้พวกเธอกลับมามีชีวิตอีกครั้งในสวนอุทยานบนโลกนี้ ชีวิตตลอดไปที่เต็มไปด้วยพรมากมายรอซาราห์และทุกคนที่เลียนแบบความเชื่อของเธอ—ยอห์น 5:28, 29
a จริง ๆ แล้วตอนแรกพวกเขาชื่ออับรามและซารายแต่ต่อมาพระเจ้าเปลี่ยนชื่อให้ และเพื่อเข้าใจง่ายเราจะเรียกพวกเขาตามชื่อที่คนส่วนใหญ่รู้จักกัน
b มีช่วงหนึ่งที่พระยะโฮวายอมให้มนุษย์มีคู่ครองหลายคน แต่ต่อมาพระองค์ให้พระเยซูสอนผู้คนว่าต้องใช้หลักการเดิมที่พระเจ้าเคยให้ไว้ในสวนเอเดนคือมีคู่ครองเพียงคนเดียว—ปฐมกาล 2:24; มัทธิว 19:3-9
c ซาราห์เป็นผู้หญิงคนเดียวที่คัมภีร์ไบเบิลบันทึกว่าเธออายุเท่าไรตอนเสียชีวิต