พระพรที่ยิ่งใหญ่กว่าทางคำสัญญาไมตรีใหม่
“[พระเยซู] ได้ทรงเป็นคนกลางแห่งคำสัญญาไมตรีอันประเสริฐกว่าเก่า.”—เฮ็บราย 8:6.
1. ใครที่ปรากฏว่าเป็น ‘พงศ์พันธุ์ของหญิง’ ตามคำสัญญาในสวนเอเดน และเขาถูก “บดขยี้ส้นเท้า” อย่างไร?
หลังจากอาดามและฮาวาทำบาปแล้ว พระยะโฮวาทรงประกาศคำพิพากษาต่อซาตานผู้ล่อลวงฮาวาดังนี้: “เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน. เขาจะบดขยี้หัวของเจ้าและเจ้าจะบดขยี้ส้นเท้าของเขา.” (เยเนซิศ 3:15, ล.ม.) เมื่อพระเยซูทรงรับบัพติสมาที่แม่น้ำยาระเดนในปีสากลศักราช 29 ก็เป็นอันว่าในที่สุดพงศ์พันธุ์ที่ทรงสัญญาในสวนเอเดนได้มาปรากฏตัวแล้ว. เมื่อพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์บนหลักทรมานในปี ส.ศ. 33 ส่วนหนึ่งของคำพยากรณ์เก่าแก่ข้อนี้ก็ได้สำเร็จเป็นจริง. ซาตานได้ “บดขยี้ส้นเท้า” ของพงศ์พันธุ์นั้น.
2. ตามคำพูดของพระเยซูเอง การวายพระชนม์ของพระองค์ให้ประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างไร?
2 ดีที่บาดแผลนั้นแม้เจ็บปวดแสนสาหัส แต่ไม่ถาวร. พระเยซูทรงได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์รับเอากายวิญญาณซึ่งเป็นอมตะและเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระบิดาในสวรรค์ ซึ่งที่นั่นพระองค์เสนอคุณค่าแห่งพระโลหิตที่ทรงหลั่งออกเพื่อเป็น “ค่าไถ่คนเป็นอันมาก.” ฉะนั้น คำตรัสของพระองค์เองจึงสำเร็จที่ว่า “บุตรมนุษย์จะต้องถูกยกขึ้น . . . เพื่อทุกคนที่ได้วางใจในพระองค์จะได้ชีวิตนิรันดร์. เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก, จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์, เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะมิได้พินาศ, แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (มัดธาย 20:28; โยฮัน 3:14-16; เฮ็บราย 9:12-14) คำสัญญาไมตรีใหม่มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จแห่งคำพยากรณ์ของพระเยซู.
คำสัญญาไมตรีใหม่
3. คำสัญญาไมตรีใหม่ปรากฏว่ามีผลในทางปฏิบัติครั้งแรกเมื่อไร?
3 ไม่นานก่อนการวายพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูทรงบอกผู้ติดตามพระองค์ว่า พระโลหิตที่หลั่งออกของพระองค์เป็น “โลหิตแห่งคำสัญญา [ไมตรีใหม่].” (มัดธาย 26:28; ลูกา 22:20) สิบวันหลังจากพระองค์เสด็จสู่สวรรค์ คำสัญญาไมตรีใหม่ปรากฏว่ามีผลในทางปฏิบัติเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์เทลงบนสาวกประมาณ 120 คนที่ชุมนุมกันอยู่ในห้องชั้นบนแห่งหนึ่งในกรุงยะรูซาเลม. (กิจการ 1:15; 2:1-4) การนำสาวก 120 คนเหล่านี้เข้าสู่คำสัญญาไมตรีใหม่แสดงว่า คำสัญญาไมตรี “เดิม” ซึ่งก็คือคำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ ถึงตอนนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว.—เฮ็บราย 8:13.
4. คำสัญญาไมตรีเก่าบกพร่องไหม? จงอธิบาย.
4 คำสัญญาไมตรีเก่ามีข้อบกพร่องหรือ? หามิได้. จริงอยู่ เนื่องจากคำสัญญาไมตรีเก่านี้ถูกแทนที่ ชาติยิศราเอลโดยกำเนิดจึงไม่เป็นไพร่พลพิเศษของพระเจ้าอีกต่อไป. (มัดธาย 23:38) ทว่า นั่นเป็นเพราะชาติยิศราเอลไม่เชื่อฟังและปฏิเสธพระผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 19:5; กิจการ 2:22, 23) อย่างไรก็ตาม พระบัญญัติก็ได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างให้สำเร็จผลก่อนถูกแทนที่. เป็นเวลาหลายศตวรรษ พระบัญญัติเป็นแนวทางเพื่อเข้าถึงพระเจ้าและให้การปกป้องจากศาสนาเท็จ. พระบัญญัติมีจุดเด่นหลายอย่างซึ่งช่วยให้เข้าใจเป็นเลา ๆ เกี่ยวกับคำสัญญาไมตรีใหม่ และด้วยเครื่องบูชาที่ถวายซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้นช่วยทำให้เห็นชัดถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์ต้องได้รับการไถ่ถอนจากบาป และความตาย. แท้จริง พระบัญญัติเป็น “ครูสอนซึ่งนำเราให้มาถึงพระคริสต์.” (ฆะลาเตีย 3:19, 24; โรม 3:20; 4:15; 5:12; เฮ็บราย 10:1, 2) อย่างไรก็ตาม โดยทางคำสัญญาไมตรีใหม่นี้เองที่พระพรตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับอับราฮามจะเป็นจริงอย่างครบถ้วน.
นานาชาติได้รับพระพรโดยทางพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม
5, 6. ในความสำเร็จเป็นจริงขั้นพื้นฐานทางฝ่ายวิญญาณของคำสัญญาไมตรีกับอับราฮาม ใครเป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม และชาติใดเป็นชาติแรกที่ได้รับพระพรผ่านทางท่าน?
5 พระยะโฮวาทรงสัญญากับอับราฮามดังนี้: “โดยทางพงศ์พันธุ์ของเจ้า ทุกชาติแห่งแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้พระพรเป็นแน่.” (เยเนซิศ 22:18, ล.ม.) ภายใต้คำสัญญาไมตรีเก่า ชาวต่างชาติมากมายที่มีใจอ่อนน้อมได้รับพระพรโดยการที่พวกเขาสมทบกับชาติยิศราเอล ชาติซึ่งเป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม. อย่างไรก็ตาม ในความสำเร็จขั้นพื้นฐานทางฝ่ายวิญญาณ พงศ์พันธุ์ของอับราฮามนั้นเป็นมนุษย์สมบูรณ์คนหนึ่ง. เปาโลอธิบายเรื่องนี้เมื่อท่านกล่าวว่า “คำสัญญานั้นได้ทรงกล่าวไว้แก่อับราฮามและแก่พงศ์พันธุ์ของท่าน, และมิได้ทรงกล่าวว่า, แก่พงศ์พันธุ์ทั้งหลาย เหมือนอย่างกับว่าแก่คนมากคน, แต่เหมือนว่ากับคนผู้เดียวคือ แก่พงศ์พันธุ์ของท่าน ซึ่งเป็นพระคริสต์.”—ฆะลาเตีย 3:16.
6 ใช่แล้ว พระเยซูทรงเป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม และโดยทางพระองค์ ชาติต่าง ๆ จะรับพระพรที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ที่เป็นไปได้สำหรับชาติยิศราเอลโดยกำเนิด. ที่จริง ชาติแรกที่รับพระพรนี้ก็คือชาติยิศราเอลเอง. ไม่นานนัก หลังวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 อัครสาวกเปโตรกล่าวต่อชาวยิวกลุ่มหนึ่งดังนี้: “ท่านทั้งหลายเป็นลูกหลานของศาสดาพยากรณ์นั้น, และของคำปฏิญาณซึ่งพระเจ้าได้ทรงตั้งไว้แก่บรรพบุรุษของท่าน, คือได้ตรัสแก่อับราฮามว่า, ‘ครอบครัวทั้งปวงทั่วแผ่นดินโลกจะได้ความสุขสำราญโดยเผ่าพันธุ์ของท่าน.’ ครั้นพระเจ้าได้ทรงโปรดให้พระราชบุตรของพระองค์เป็นขึ้นแล้ว, จึงได้ทรงใช้พระบุตรนั้นมาอวยพระพรให้แก่ท่านทั้งหลายก่อน, คือให้ท่านทั้งหลายทุกคนกลับจากบาปของตน.”—กิจการ 3:25, 26.
7. ชาติใดได้รับพระพรทางพระเยซูผู้เป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม?
7 ไม่ช้า พระพรก็ขยายถึงชาวซะมาเรีย แล้วจากนั้นจึงไปสู่ชนต่างชาติ. (กิจการ 8:14-17; 10:34-48) ประมาณระหว่างปี ส.ศ. 50 ถึง 52 เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองฆะลาเตียแคว้นเอเชียไมเนอร์ดังนี้: “พระคัมภีร์นั้นรู้ล่วงหน้าว่าพระเจ้าจะทรงให้ชนต่างชาติเป็นคนชอบธรรมโดยความเชื่อ, จึงได้ประกาศกิตติคุณไว้แก่อับราฮามก่อนว่า, ชนต่างชาติทั้งปวงจะได้ความสุขเพราะท่าน. เหตุฉะนั้นคนทั้งหลายที่เชื่อจึงได้ความสุขด้วยกันกับอับราฮามผู้ที่ได้เชื่อนั้น.” (ฆะลาเตีย 3:8, 9; เยเนซิศ 12:3) แม้ว่าคริสเตียนหลายคนในเมืองฆะลาเตียเป็น “ชนต่างชาติ” แต่พวกเขาได้พระพรโดยทางพระเยซูเนื่องจากความเชื่อของเขา. ในทางใด?
8. สำหรับคริสเตียนในสมัยของเปาโล การได้รับพระพรทางพงศ์พันธุ์ของอับราฮามหมายรวมถึงอะไรด้วย และในที่สุดมีกี่คนที่ได้รับพระพรเช่นนั้น?
8 เปาโลบอกคริสเตียนในฆะลาเตีย ไม่ว่าเขาอาจมีพื้นเพเช่นไรก็ตาม ดังนี้: “ถ้าท่านทั้งหลายเป็นของพระคริสต์แล้ว, ท่านจึงเป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม, และผู้รับมฤดกตามคำสัญญานั้น.” (ฆะลาเตีย 3:29) สำหรับชาวฆะลาเตียเหล่านั้น พระพรโดยทางพงศ์พันธุ์ของอับราฮามรวมถึงการที่พวกเขาอยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่และเป็นรัชทายาทร่วมกับพระเยซู นั่นคือเป็นผู้ร่วมสมทบกับพระเยซูในพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม. เราไม่ทราบจำนวนประชากรของชาติยิศราเอลโบราณ. เราทราบแต่ว่า ประชากรของชาตินี้เป็น “ดุจทรายซึ่งอยู่ริมชายทะเล.” (1 กษัตริย์ 4:20) อย่างไรก็ตาม เราทราบจำนวนทั้งสิ้นในขั้นสุดท้ายของผู้ร่วมสมทบกับพระเยซูในพงศ์พันธุ์ฝ่ายวิญญาณ—144,000 คน. (วิวรณ์ 7:4; 14:1) ชน 144,000 คนเหล่านี้มาจาก “ทุกตระกูลและทุกภาษาและทุกชนชาติและทุกชาติ” แห่งมนุษยชาติ และมีส่วนร่วมในการบริหารเพื่อให้คนอื่น ๆ ได้รับพระพรตามคำสัญญาไมตรีกับอับราฮาม.—วิวรณ์ 5:9, ล.ม.
คำพยากรณ์ข้อหนึ่งสำเร็จเป็นจริง
9. คนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่มีกฎหมายของพระยะโฮวาภายในตัวพวกเขาอย่างไร?
9 เมื่อพยากรณ์ถึงคำสัญญาไมตรีใหม่ ยิระมะยาเขียนดังนี้: “ความสัญญาที่เราจะกระทำกับด้วยตระกูลแห่งยิศราเอลจะเป็นดังนี้ (คือว่า) เมื่อวันเหล่านั้นจะพ้นไปแล้ว, พระยะโฮวาได้ตรัส, เราจะใส่บทบัญญัติของเราไว้ ณ ภายในตัวเขาทั้งปวง, แลจะเขียนบทบัญญัตินั้นในใจเขา.” (ยิระมะยา 31:33) ลักษณะอย่างหนึ่งของคนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่คือ พวกเขารับใช้พระยะโฮวาด้วยความรัก. (โยฮัน 13:35; เฮ็บราย 1:9) บทบัญญัติของพระยะโฮวาเขียนไว้บนหัวใจของพวกเขา และเขาปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. จริงอยู่ ผู้ซื่อสัตย์บางคนในชาติยิศราเอลโบราณรักกฎหมายของพระยะโฮวาอย่างแรงกล้า. (บทเพลงสรรเสริญ 119:97) แต่หลายคนไม่รักกฎหมายของพระเจ้า. กระนั้น พวกเขาก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชาตินั้น. ไม่มีใครที่ยังคงอยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่นี้ได้ถ้ากฎหมายของพระเจ้าไม่ได้จารึกไว้ในหัวใจของเขา.
10, 11. สำหรับคนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่ พระยะโฮวาทรง “เป็นพระเจ้าแก่เขาทั้งหลาย” โดยวิธีใด และพวกเขาทุกคนจะรู้จักพระองค์อย่างไร?
10 พระยะโฮวาตรัสต่อไปเกี่ยวกับคนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่ว่า “เราจะเป็นพระเจ้าแก่เขาทั้งหลาย, แลเขาจะเป็นไพร่พลของเรา.” (ยิระมะยา 31:33) ในชาติยิศราเอลโบราณ หลายคนนมัสการพระต่าง ๆ ของนานาชาติ แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังคงเป็นชาวยิศราเอลอยู่นั่นเอง. โดยอาศัยคำสัญญาไมตรีใหม่ พระยะโฮวาทรงสร้างชาติฝ่ายวิญญาณขึ้นซึ่งก็คือ “ยิศราเอลของพระเจ้า” ให้เข้ามาแทนที่ยิศราเอลโดยกำเนิด. (ฆะลาเตีย 6:16; มัดธาย 21:43; โรม 9:6-8) อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครที่ยังคงเป็นส่วนของชาติใหม่ฝ่ายวิญญาณ หากเขาเลิกเสียจากการนมัสการพระยะโฮวาและนมัสการพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น.
11 พระยะโฮวาตรัสด้วยว่า “เขาทั้งหลายจะรู้จักเราทุกตัวคน, ตั้งแต่คนเล็กที่สุดของเขาจนถึงผู้ใหญ่ที่สุด.” (ยิระมะยา 31:34) ในยิศราเอล หลายคนไม่คำนึงถึงพระยะโฮวาเลย ซึ่งก็เหมือนกับกล่าวว่า “พระยะโฮวาจะทำดีหรือจะกระทำชั่วก็หามิได้.” (ซะฟันยา 1:12) ไม่มีใครจะยังคงเป็นส่วนแห่งยิศราเอลของพระเจ้า หากเขาไม่คำนึงถึงพระยะโฮวาหรือทำให้การนมัสการแท้แปดเปื้อน. (มัดธาย 6:24; โกโลซาย 3:5) ชนยิศราเอลฝ่ายวิญญาณเป็น “ประชาชนที่รู้จักพระเจ้าของตน.” (ดานิเอล 11:32, ล.ม.) พวกเขายินดีที่ได้ ‘รับเอาความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์.’ (โยฮัน 17:3, ล.ม.) การรู้จักพระเยซูทำให้ความรู้ของพวกเขาเรื่องพระเจ้าลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะด้วยวิธีซึ่งหาที่เปรียบไม่ได้ พระเยซูเป็น ‘ท่านผู้นั้นที่ได้อธิบายเรื่อง [พระเจ้า].’—โยฮัน 1:18; 14:9-11, ล.ม.
12, 13. (ก) พระยะโฮวาทรงให้อภัยบาปของคนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่โดยอาศัยอะไร? (ข) ในเรื่องการให้อภัยบาป คำสัญญาไมตรีใหม่เหนือกว่าคำสัญญาไมตรีเก่าอย่างไร?
12 ในที่สุด พระยะโฮวาทรงสัญญาดังนี้: “เราจะยกความบาปของเขา, แลไม่ระลึกถึงความผิดของเขาอีกเลย.” (ยิระมะยา 31:34ข) พระบัญญัติของโมเซมีกฎระเบียบเป็นลายลักษณ์อักษรหลายร้อยข้อซึ่งชาวยิศราเอลจะต้องปฏิบัติตาม. (พระบัญญัติ 28:1, 2, 15) ทุกคนที่ละเมิดพระบัญญัติต้องถวายเครื่องบูชาเพื่อปิดคลุมบาปของตน. (เลวีติโก 4:1-7; 16:1-31) ชาวยิวหลายคนเชื่อว่าเขาสามารถเป็นคนชอบธรรมได้โดยการประพฤติของตนตามพระบัญญัติ. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนตระหนักว่าพวกเขาไม่มีทางได้ ความชอบธรรมเสมือนเป็นค่าจ้างสำหรับการประพฤติของตนเอง. พวกเขาหนีการทำบาปไม่พ้น. (โรม 5:12) ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่ ฐานะชอบธรรมเฉพาะพระเจ้าเป็นไปได้โดยอาศัยค่าไถ่ของพระเยซูเท่านั้น. อย่างไรก็ตาม ฐานะเช่นนั้นเป็นของประทานและพระกรุณาอันไม่พึงได้รับจากพระเจ้า. (โรม 3:20, 23, 24) พระยะโฮวายังคงเรียกร้องการเชื่อฟังจากผู้รับใช้ของพระองค์. เปาโลกล่าวว่า คนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่อยู่ “ใต้พระบัญญัติแห่งพระคริสต์.”—1 โกรินโธ 9:21.
13 ฉะนั้น มีเครื่องบูชาชำระบาปสำหรับคริสเตียนด้วย แต่เป็นเครื่องบูชาที่มีค่ายิ่งกว่าเครื่องบูชาใด ๆ ภายใต้คำสัญญาแห่งพระบัญญัติมากนัก. เปาโลเขียนดังนี้: “ปุโรหิตทุกคน [ภายใต้คำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ] ก็ยืนปฏิบัติอยู่ทุกวัน ๆ. และนำเอาเครื่องบูชาอย่างเดียวกันมาถวายเนือง ๆ, เครื่องบูชานั้นจะยกเอาความบาปไปเสียไม่ได้เลย. ฝ่าย [พระเยซู] นี้, ครั้นทรงกระทำบูชาเพราะความบาปเพียงหนเดียวซึ่งใช้ได้เป็นนิตย์, ก็เสด็จนั่งเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า.” (เฮ็บราย 10:11, 12) เนื่องจากคริสเตียนซึ่งอยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่สำแดงความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซู พระยะโฮวาทรงประกาศว่าพวกเขาชอบธรรม, ปราศจากบาป, และด้วยเหตุนั้นอยู่ในฐานะที่ได้รับการเจิมเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระองค์. (โรม 5:1; 8:33, 34; เฮ็บราย 10:14-18) เมื่อพวกเขาทำบาปเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ เขาสามารถขอการให้อภัยจากพระยะโฮวา และโดยอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู พระยะโฮวาทรงให้อภัยพวกเขา. (1 โยฮัน 2:1, 2) อย่างไรก็ตาม ถ้าพวกเขาเลือกแนวทางผิดบาปอย่างจงใจ เขาก็สูญเสียฐานะชอบธรรมและสิทธิพิเศษของตนในการเป็นผู้มีส่วนในคำสัญญาไมตรีใหม่.—เฮ็บราย 2:2, 3; 6:4-8; 10:26-31.
คำสัญญาไมตรีเก่าและใหม่
14. การรับสุหนัตแบบใดที่มีการเรียกร้องภายใต้คำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ? ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่?
14 พวกผู้ชายที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีเก่ารับสุหนัตเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเขาอยู่ภายใต้พระบัญญัติ. (เลวีติโก 12:2, 3; ฆะลาเตีย 5:3) หลังจากประชาคมคริสเตียนเริ่มก่อตั้งขึ้น บางคนคิดว่าคริสเตียนที่ไม่ใช่ชาวยิวควรรับสุหนัตด้วย. แต่เหล่าอัครสาวกและผู้ปกครองในกรุงยะรูซาเลม ซึ่งได้รับการชี้นำโดยพระคำของพระเจ้าและพระวิญญาณบริสุทธิ์ เข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็น. (กิจการ 15:1, 5, 28, 29) ไม่กี่ปีต่อมา เปาโลกล่าวดังนี้: “คนที่ปรากฏเป็นชาติยูดายภายนอกเท่านั้นมิได้เป็นชาติยูดายแท้, และการรับพิธีสุหนัตซึ่งปรากฏที่เนื้อหนังเท่านั้นมิได้เป็นการรับพิธีสุหนัตแท้ แต่ว่าคนที่เป็นชาติยูดายแท้นั้นคือคนที่เป็นชาติยูดายภายใน และการรับพิธีสุหนัตอันแท้นั้นคือการรับพิธีสุหนัตซึ่งอยู่ในวิญญาณจิตต์, มิใช่ทำตามพอเป็นพิธี.” (โรม 2:28, 29) การรับสุหนัตตามตัวอักษร แม้แต่กับชาวยิวโดยสายเลือดเอง มิได้มีค่าทางฝ่ายวิญญาณในสายพระเนตรของพระยะโฮวาอีกต่อไป. เพราะคนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่ต้องรับสุหนัตที่หัวใจ ไม่ใช่ที่เนื้อหนัง. ทุกสิ่งในความคิด, ความปรารถนา, และแรงกระตุ้นของเขาซึ่งไม่เป็นที่พอพระทัยหรือไม่สะอาดในสายพระเนตรของพระยะโฮวาต้องตัดเสียให้สิ้น.a หลายคนในปัจจุบันเป็นหลักฐานที่มีชีวิตอยู่ถึงฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการเปลี่ยนรูปแบบความคิดในแนวนี้.—1 โกรินโธ 6:9-11; ฆะลาเตีย 5:22-24; เอเฟโซ 4:22-24.
15. ชาติยิศราเอลโดยกำเนิด และยิศราเอลของพระเจ้าเมื่อเทียบกันแล้วเป็นอย่างไรในเรื่องการปกครองในฐานะกษัตริย์?
15 ในการจัดเตรียมเกี่ยวกับคำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ พระยะโฮวาทรงเป็นกษัตริย์ของชาติยิศราเอล และต่อมาพระองค์ก็ทรงปกครองโดยทางกษัตริย์ซึ่งเป็นมนุษย์ที่กรุงยะรูซาเลม. (ยะซายา 33:23) พระยะโฮวาทรงเป็นกษัตริย์แห่งยิศราเอลของพระเจ้าหรือยิศราเอลฝ่ายวิญญาณด้วย และตั้งแต่ปี ส.ศ. 33 เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงปกครองโดยทางพระเยซูคริสต์ผู้ทรงรับ “อำนาจทั้งสิ้น . . . ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก.” (มัดธาย 28:18, ล.ม.; เอเฟโซ 1:19-23; โกโลซาย 1:13, 14) ปัจจุบัน ยิศราเอลของพระเจ้ายอมรับเอาพระเยซูเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรทางภาคสวรรค์ของพระเจ้า ซึ่งสถาปนาขึ้นในปี 1914. พระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีกว่ามากแม้แต่เมื่อเทียบกับฮิศคียา, โยซียา, และกษัตริย์ที่ซื่อสัตย์องค์อื่น ๆ ของชาติยิศราเอลโบราณ.—เฮ็บราย 1:8, 9; วิวรณ์ 11:15.
16. ยิศราเอลของพระเจ้าเป็นปุโรหิตแบบใด?
16 ชาติยิศราเอลไม่ได้เป็นเพียงอาณาจักรหนึ่ง แต่ยังมีคณะปุโรหิตที่ได้รับการเจิมด้วย. ในปี ส.ศ. 33 ยิศราเอลของพระเจ้าเข้าแทนที่ยิศราเอลโดยกำเนิดและกลายเป็น “ผู้รับใช้” ของพระยะโฮวา “พยาน” ของพระองค์. (ยะซายา 43:10) คำตรัสของพระยะโฮวาต่อชาติยิศราเอลดังบันทึกไว้ที่ยะซายา 43:21 และเอ็กโซโด 19:5, 6 จึงใช้ได้กับยิศราเอลฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. บัดนี้ ชาติใหม่ฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าเป็น “เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้ เป็นคณะปุโรหิตหลวง เป็นชาติบริสุทธิ์ เป็นไพร่พลที่เป็นสมบัติพิเศษ” รับผิดชอบในการ “ประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณของ [พระยะโฮวา].” (1 เปโตร 2:9, ล.ม.) ทุกคนที่เป็นส่วนของยิศราเอลของพระเจ้า ทั้งชายและหญิง ประกอบกันเป็นชนจำพวกปุโรหิต. (ฆะลาเตีย 3:28, 29) ในฐานะพงศ์พันธุ์อันดับรองของอับราฮาม บัดนี้พวกเขาจึงกล่าวว่า “ชนประเทศทั้งหลายเอ๋ย จงยินดีกับไพร่พลของพระองค์.” (พระบัญญัติ 32:43) คนที่เป็นยิศราเอลฝ่ายวิญญาณซึ่งยังคงอยู่บนแผ่นดินโลกนี้ประกอบกันเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) เฉพาะแต่โดยการสมทบกับพวกเขาเท่านั้น จึงจะสามารถถวายการรับใช้ศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้าอย่างที่ทรงยอมรับ.
ราชอาณาจักรของพระเจ้า—ความสำเร็จเป็นจริงขั้นสุดท้าย
17. คนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่ต้องมีการบังเกิดเช่นไร?
17 ชนชาติยิศราเอลซึ่งถือกำเนิดหลังจากปี 1513 ก.ส.ศ. เข้าในคำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติตั้งแต่เกิด. คนที่พระยะโฮวานำเข้าสู่คำสัญญาไมตรีใหม่ก็ต้องเกิดด้วย—ในกรณีของคนเหล่านี้เป็นการกำเนิดฝ่ายวิญญาณ. พระเยซูทรงเอ่ยเรื่องนี้กับนิโกเดโมที่เป็นฟาริซายเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราบอกท่านตามจริงว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่แล้ว เขาจะเห็นราชอาณาจักรของพระเจ้าไม่ได้.” (โยฮัน 3:3, ล.ม.) อัครสาวก 120 คนในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์กลุ่มแรกที่ได้บังเกิดใหม่ดังกล่าว. โดยได้รับการประกาศว่าชอบธรรมภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่ พวกเขารับพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็น “เครื่องมัดจำล่วงหน้า” สำหรับมรดกแห่งการปกครองของพวกเขา. (เอเฟโซ 1:14, ล.ม.) พวกเขา “บังเกิดจากพระวิญญาณ” เพื่อได้มาเป็นบุตรของพระเจ้า ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นพี่น้องของพระเยซู และด้วยเหตุนั้นจึงเป็น “ทายาทร่วมกับพระคริสต์.” (โยฮัน 3:6; โรม 8:16, 17, ล.ม.) การที่พวกเขา “บังเกิดใหม่” เปิดทางไว้ให้มีความหวังอันยอดเยี่ยมหลายประการ.
18. การบังเกิดใหม่เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่มีความหวังอันยอดเยี่ยมอะไร?
18 เมื่อใคร่ครวญเกี่ยวกับคำสัญญาไมตรีใหม่ พระเยซูทรงทำคำสัญญาไมตรีเพิ่มเติมอีกกับผู้ติดตามพระองค์โดยตรัสดังนี้: “เราทำคำสัญญาไมตรีกับเจ้าทั้งหลาย เช่นเดียวกับพระบิดาของเราได้ทำคำสัญญาไมตรีกับเรา ในเรื่องราชอาณาจักร.” (ลูกา 22:29, ล.ม.) คำสัญญาไมตรีเรื่องราชอาณาจักรนี้จัดให้สิ่งต่าง ๆ เข้าที่เข้าทางเพื่อความสำเร็จเป็นจริงของนิมิตอันน่าทึ่งตามที่บันทึกไว้ที่ดานิเอล 7:13, 14, 22, 27. ดานิเอลเห็น “ผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์” ได้รับอำนาจให้เป็นกษัตริย์จากพระยะโฮวาพระเจ้า พระองค์ “ผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์.” จากนั้น ดานิเอลเห็น “เหล่าผู้บริสุทธิ์จะได้อาณาจักรเป็นกรรมสิทธิ์.” พระเยซูทรงเป็นผู้มี “รูปร่างดังบุตรของมนุษย์” ดังกล่าว ซึ่งได้รับราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์จากพระยะโฮวาพระเจ้าในปี 1914. เหล่าสาวกผู้ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณก็คือ “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ซึ่งร่วมกับพระองค์ในราชอาณาจักรนั้น. (1 เธซะโลนิเก 2:12) โดยวิธีใด?
19, 20. (ก) สำหรับคนที่อยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่ อะไรคือความสำเร็จเป็นจริงอย่างงดงามในขั้นสุดท้ายของคำสัญญาที่พระยะโฮวาทรงทำไว้กับอับราฮาม? (ข) มีคำถามอะไรอีกที่ควรพิจารณา?
19 หลังจากพวกเขาตายแล้ว ผู้ถูกเจิมเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับพระเยซู ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายแล้วรับเอากายวิญญาณอมตะเพื่อรับใช้ร่วมกับพระองค์เป็นกษัตริย์และปุโรหิตในสวรรค์. (1 โกรินโธ 15:50-53; วิวรณ์ 20:4, 6) ช่างเป็นความหวังอันประเสริฐอะไรเช่นนี้! “พวกเขาจะปกครองเป็นกษัตริย์เหนือแผ่นดินโลก” ไม่เพียงแค่แผ่นดินคะนาอันเท่านั้น. (วิวรณ์ 5:10, ล.ม.) พวกเขาจะ “ยึดประตูเมืองแห่งพวกศัตรูของเขา” ไหม? (เยเนซิศ 22:17, ล.ม.) ใช่แล้ว และด้วยวิธีที่เด็ดขาด พวกเขาจะ “ยึดประตูเมืองแห่งพวกศัตรู” เมื่อเขาเป็นพยานถึงการทำลายล้างบาบูโลนใหญ่ หญิงแพศยาทางศาสนาที่ตั้งตัวเป็นอริ และเมื่อผู้ถูกเจิมที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายเหล่านี้เข้าร่วมกับพระเยซูในการเลี้ยงดูนานาชาติ “ด้วยคทาเหล็ก” และบดขยี้หัวของซาตาน. ฉะนั้น พวกเขาจะมีส่วนในการทำให้รายละเอียดในขั้นสุดท้ายของคำพยากรณ์ที่เยเนซิศ 3:15 สำเร็จเป็นจริง.—วิวรณ์ 2:26, 27; 17:14; 18:20, 21; โรม 16:20.
20 กระนั้น เราอาจถามว่า คำสัญญาไมตรีกับอับราฮามและคำสัญญาไมตรีใหม่เกี่ยวข้องเฉพาะกับกลุ่มชนผู้ซื่อสัตย์ 144,000 คนเท่านั้นหรือ? ไม่ คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในคำสัญญาไมตรีดังกล่าวนี้โดยตรงจะได้รับพระพรทางพวกเขา ดังจะเห็นในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 470 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
คุณจำได้ไหม?
▫ คำสัญญาไมตรีใหม่มีผลในทางปฏิบัติครั้งแรกเมื่อไร?
▫ มีการทำอะไรให้บรรลุผลทางคำสัญญาไมตรีเก่า?
▫ ใครเป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮามในอันดับแรก และชาติต่าง ๆ ได้รับพระพรในลำดับใดโดยทางพงศ์พันธุ์นั้น?
▫ สำหรับชน 144,000 คน คำสัญญาต่าง ๆ ในคำสัญญาไมตรีกับอับราฮามและคำสัญญาไมตรีใหม่สำเร็จเป็นจริงในขั้นสุดท้ายเช่นไร?
[รูปภาพหน้า 15]
การให้อภัยบาปสำหรับคนที่อยู่ใต้คำสัญญาไมตรีใหม่มีความหมายลึกซึ้งกว่าสำหรับคนที่อยู่ใต้คำสัญญาไมตรีเก่า