เจตจำนงเสรีของประทานอันวิเศษ
คุณหยั่งรู้ค่าไหม ที่มีเสรีภาพในการเลือกวิธีจัดระเบียบชีวิต สิ่งที่คุณจะทำหรือจะพูด? หรือคุณต้องการให้คนอื่นบงการทุกคำพูดและทุกการกระทำ ทุกวินาทีทุกวัน ตราบเท่าที่มีชีวิตอยู่ไหม?
ไม่มีปกติชนคนใดอยากจะปล่อยการกุมบังเหียนชีวิตตัวเองและให้คนอื่นควบคุมอย่างสิ้นเชิง. การที่ต้องดำรงชีวิตแบบนั้นคงจะรู้สึกว่าถูกกดขี่อย่างมากและคับข้องใจ. เราต้องการเสรีภาพ.
แต่ทำไม เราจึงมีความปรารถนาเสรีภาพเช่นนั้น? การเข้าใจถึงสาเหตุทีเราถนอมเสรีภาพในการเลือกของเรานั้น เป็นข้อไขไปสู่ความเข้าใจถึงวิธีที่ความชั่ว และความทุกข์เกิดขึ้นมาได้. ทั้งยังช่วยเราให้เข้าใจอีกว่าทำไมพระเจ้าคอยจนถึงสมัยนี้ก่อนลงมือปฏิบัติเพื่อยุติความชั่วและความทุกข์.
เราถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร
เมื่อพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ ในของประทานอันน่าพิศวงหลายอย่างของพระองค์มีเจตจำนงเสรี รวมอยู่ด้วย. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตาม ‘แบบฉายาของพระองค์’ และคุณลักษณะประการหนึ่งที่พระองค์ทรงมีคือเสรีภาพในการเลือก. (เยเนซิศ 1:26; พระบัญญัติ 7:6) ฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ พระองค์ประทานคุณลักษณะที่น่าพิศวงเช่นเดียวกันนี้แก่พวกเขาด้วย นั่นคือ—ของประทานแห่งเจตจำนงเสรี.
นี้แหละคือสาเหตุที่เราชอบเสรีภาพแทนการเป็นทาสของผู้ปกครองกดขี่. นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมความขุ่นเคืองก่อตัวขึ้นต่อต้านการครอบครองโหดร้ายและกดขี่ จนผู้คนมักจะกบฏเพื่อจะได้เสรีภาพ.
ความปรารถนาเสรีภาพไม่ใช่เรื่องบังเอิญ. คัมภีร์ไบเบิลให้เหตุผลหลักไว้. โดยกล่าวว่า “พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่ที่ไหน ความอิสระก็อยู่ที่นั่น.” (2 โกรินโธ 3:17) ดังนั้น ความต้องการเสรีภาพเป็นส่วนแห่งธรรมชาติของเราเพราะว่า พระเจ้าทรงสร้างเราอย่างนั้น. นั่นคือสิ่งที่พระองค์ต้องการให้เรามีเพราะพระองค์เป็นพระเจ้าแห่งเสรีภาพ.
นอกจากนั้น พระเจ้าทรงประทานความสามารถทางความคิดแก่เรา เช่น ความสามารถในการสังเกตเข้าใจ, การหาเหตุผล, และการใช้ดุลยพินิจซึ่งทำงานประสานกับเจตจำนงเสรี. สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสามารถคิด, ไตร่ตรองเรื่องราว, ตัดสินใจ, และแยกระหว่างถูกกับผิดได้. (เฮ็บราย 5:14) เรามิได้ถูกสร้างให้มีลักษณะเหมือนหุ่นยนต์ปราศจากความคิด ซึ่งไม่มีเจตจำนงเป็นของตัวเอง ทั้งมิได้ถูกสร้างให้ปฏิบัติการบนพื้นฐานของสัญชาตญาณเช่นสัตว์.
พร้อมกับเจตจำนงเสรี บิดามารดาคู่แรกของเราได้รับทุกสิ่งที่ใคร ๆ ต้องการอย่างมีเหตุผล ดังนี้: พวกเขาถูกจัดให้อยู่ในอุทยานเสมือนสวนสาธารณะ; เขามีสิ่งฝ่ายวัตถุอย่างเหลือเฟือ; เขามีจิตใจและร่างกายสมบูรณ์ซึ่งจะไม่แก่ลงหรือป่วยแล้วตาย เขาจะมีบุตรซึ่งจะมีอนาคตแสนสุขเช่นกัน และพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้นจะมีงานอันจุใจในการเปลี่ยนแผ่นดินโลกทั้งสิ้นเป็นอุทยาน.—เยเนซิศ 1:26-30; 2:15.
เกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าทำให้ดำเนินไปนั้นคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระเจ้าทอดพระเนตรดูสิ่งทั้งปวงที่พระองค์ทรงสร้างไว้นั้นเห็นว่าดีนัก.” (เยเนซิศ 1:31) พระคัมภีร์กล่าวเกี่ยวกับพระผู้สร้างด้วยว่า “กิจการของพระองค์ดีรอบคอบ.” (พระบัญญัติ 32:4) ถูกแล้ว พระองค์ประทานการเริ่มต้นที่สมบูรณ์แบบแก่ครอบครัวมนุษย์. ไม่มีอะไรจะดีไปกว่านี้แล้ว.
เสรีภาพมีขอบเขตจำกัด
อย่างไรก็ดี ของประทานแห่งเจตจำนงเสรีนั้นจะไม่มีข้อจำกัดหรือ? เอาละ คุณอยากจะขับรถในย่านจราจรหนาแน่นไหมถ้าไม่มีกฎจราจร ซึ่งคุณมีอิสระที่จะขับในช่องจราจรใดก็ได้ ทิศทางใดก็ได้ ความเร็วแค่ไหนก็ได้? แน่นอน ผลของเสรีภาพในการขับขี่อย่างไร้ขอบเขตนั้นคงจะเป็นความหายนะอันใหญ่หลวงทีเดียว.
ความสัมพันธ์ของมนุษย์ก็เช่นกัน. เสรีภาพอันไร้ขอบเขตสำหรับบางคนจะหมายถึงการไร้เสรีภาพสำหรับคนอื่น. เสรีภาพที่ไม่มีขอบเขตจำกัดย่อมทำให้เกิดความสับสนอลหม่าน ซึ่งก่อความเสียหายแก่เสรีภาพของทุกคน. จึงต้องมีขีดจำกัด. เพราะฉะนั้น ของประทานในเรื่องเสรีภาพจากพระเจ้าไม่ได้หมายความว่าพระองค์ประสงค์ให้มนุษย์ประพฤติตนในทางใดก็ได้โดยไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้อื่น.
พระคำของพระเจ้าบอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “จงดำเนินชีวิตอย่างคนมีเสรีภาพ แต่อย่าใช้เสรีภาพนั้นเป็นข้ออ้างเพื่อจะทำความชั่ว.” (1 เปโตร 2:16, ฉบับแปลใหม่) ฉะนั้น พระเจ้าต้องการให้เจตจำนงเสรีของเราถูกควบคุมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน. พระองค์มิได้ประสงค์ให้มนุษย์มีเสรีภาพเบ็ดเสร็จ แต่เป็นเสรีภาพในขอบเขต ภายใต้ตัวบทกฎหมาย.
กฎหมายของใคร?
กฎหมายของใครซึ่งเราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เชื่อฟัง? กฎหมายของใครก่อผลดีที่สุดแก่เรา? ส่วนที่เหลือของพระธรรม 1 เปโตร 2:16 ที่ยกมาก่อนหน้านี้บอกว่า “แต่จงใช้เหมือนเป็นทาสของพระเจ้า.” ทั้งนี้มิได้หมายความถึงทาสที่ถูกกดขี่ แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราถูกสร้างให้ยอมอยู่ใต้กฎหมายของพระเจ้า. เรามีความสุขมากขึ้นถ้าเราอยู่ภายใต้กฎหมายนั้น.
กฎหมายของพระเจ้ายอดเยี่ยมที่สุด ฐานะเป็นเครื่องนำทางแก่ทุกคน ดียิ่งกว่าประมวลกฎหมายใด ๆ เท่าที่มนุษย์คิดขึ้นมา. ดังที่ยะซายา 48:17 บอกว่า “เราคือยะโฮวา พระเจ้าของเจ้า ผู้สั่งสอนเจ้าเพื่อประโยชน์แก่ตัวของเจ้าเอง และผู้นำเจ้าให้ดำเนินในทางที่เจ้าควรดำเนิน.” กระนั้น ในขณะเดียวกัน กฎหมายของพระเจ้าอนุญาตให้มีเสรีภาพอย่างกว้างขวางในขอบเขตของกฎหมายนั้น. ทั้งนี้ทำให้มีทางเลือกและความหลากหลายเฉพาะบุคคลมากมาย ทำให้ครอบครัวมนุษย์น่าสนใจยิ่งขึ้น แท้จริงมีเส่นห์.
นอกจากนั้น มนุษย์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่คำนึงถึงกฎแห่งแรงโน้มถ่วงของโลกและกระโดดลงจากที่สูง เราจะได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต. ถ้าเราอยู่ใต้น้ำโดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดพิเศษ เราจะตายภายในเวลาไม่กี่นาที. และถ้าไม่คำนึงถึงกฎภายในร่างกายของเราและเลิกกินอาหารหรือดื่มน้ำ เราก็จะตายเช่นกัน.
เหตุฉะนั้น บิดามารดาคู่แรกของเราและลูกหลานที่เกิดมาจากเขา ถูกสร้างพร้อมด้วยความจำเป็นที่จะเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าทางศีลธรรมหรือสังคมเช่นเดียวกับกฎของพระองค์ทางฟิสิกส์ด้วย. และการเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าก็มิได้เป็นภาระหนัก. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จะก่อประโยชน์ต่อสวัสดิภาพของตนและของครอบครัวมนุษย์ทั้งสิ้นที่จะเกิดมา. หากบิดามารดาคู่แรกได้อยู่ภายในขอบเขตแห่งกฎหมายของพระเจ้า ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี.
อะไรได้เกิดขึ้นที่ทำให้จุดเริ่มต้นอันดีนั้น เสียไป? แล้วทำไมความชั่วและความทุกข์ทรมานจึงแพร่ระบาดไปทั่ว? และเหตุใดพระเจ้ายอมให้เป็นไปนานขนาดนั้น?
[รูปภาพหน้า 7]
ของประทานเกี่ยวกับเจตจำนงเสรีอันน่าพิศวงแยกเราจากหุ่นยนต์ที่ปราศจากความคิดและจากสัตว์ซึ่งมีพฤติกรรมส่วนใหญ่ด้วยสัญชาตญาณ.