พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมเยเนซิศ—ตอนที่สอง
พระธรรมเยเนซิศครอบคลุมช่วง 2,369 ปีของประวัติศาสตร์มนุษย์ นับตั้งแต่การสร้างอาดามมนุษย์คนแรกจนถึงการสิ้นชีวิตของโยเซฟบุตรชายของยาโคบ. ฉบับที่แล้วของวารสารนี้ได้พิจารณาสิบบทแรก รวมทั้ง 9 ข้อของบท 11 ซึ่งครอบคลุมเรื่องราวการทรงสร้างจนถึงการสร้างหอบาเบล.a บทความนี้จะพิจารณาจุดเด่นจากส่วนที่เหลือของพระธรรมเยเนซิศ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระเจ้าติดต่อเกี่ยวข้องกับอับราฮาม, ยิศฮาค, ยาโคบ, และโยเซฟ.
อับราฮามกลายเป็นมิตรของพระเจ้า
ประมาณ 350 ปีหลังจากน้ำท่วม ชายคนหนึ่งซึ่งถือกำเนิดในเชื้อสายของเซมบุตรชายโนฮาได้พิสูจน์ตัวว่าเป็นบุคคลที่พิเศษจำเพาะพระเจ้า. เขามีชื่อว่าอับราม และต่อมาเปลี่ยนเป็นอับราฮาม. เนื่องจากพระบัญชาของพระเจ้า อับรามจึงออกจากเมืองอูร์ของชาวแคลเดียและกลายเป็นผู้อาศัยอยู่ในเต็นท์ในแผ่นดินที่พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าจะมอบให้แก่ท่านและพงศ์พันธุ์ของท่าน. เนื่องจากความเชื่อและการเชื่อฟังของอับราฮาม ท่านจึงถูกเรียกว่า “มิตรของพระยะโฮวา.”—ยาโกโบ 2:23, ล.ม.
พระยะโฮวาทรงลงมือปฏิบัติการต่อสู้กับพลเมืองที่ชั่วร้ายในเมืองโซโดมและเมืองใกล้เคียง ในขณะที่ทรงพิทักษ์ชีวิตโลตและบุตรสาวไว้. คำสัญญาของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริงเมื่อยิศฮาคบุตรชายของอับราฮามเกิดมา. หลายปีต่อมา มีการทดสอบความเชื่อของอับราฮามเมื่อพระยะโฮวาสั่งให้ท่านถวายบุตรชายคนนี้เป็นเครื่องบูชา. อับราฮามเต็มใจเชื่อฟังแต่ทูตสวรรค์ได้มายับยั้งท่านไว้. ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า อับราฮามเป็นบุรุษผู้มีความเชื่อ และท่านได้รับคำรับรองว่า ชนทุกชาติทั่วโลกจะได้รับพระพรโดยทางพงศ์พันธุ์ของท่าน. การสิ้นชีวิตของซาราห์ภรรยาที่รักของท่าน ทำให้อับราฮามเศร้าเสียใจอย่างมาก.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
12:1-3—สัญญาไมตรีที่ทำกับอับราฮามมีผลบังคับใช้เมื่อไร และนานแค่ไหน? พระยะโฮวาทรงทำสัญญากับอับรามซึ่ง “บรรดาพงศ์พันธุ์ของมนุษย์โลกจะได้พระพรเพราะ [อับราม]” สัญญานี้ดูเหมือนว่ามีผลบังคับใช้ตอนที่อับรามข้ามแม่น้ำยูเฟรทิสขณะเดินทางไปคะนาอัน. เหตุการณ์นี้คงจะตกอยู่ในช่วงวันที่ 14 เดือนไนซาน 1943 ก่อน ส.ศ. ซึ่งเป็นเวลา 430 ปีก่อนที่ชาติอิสราเอลจะได้รับการปลดปล่อยจากอียิปต์. (เอ็กโซโด 12:2, 6, 7, 40, 41) สัญญาที่ทำกับอับราฮามเป็น “คำสัญญาถาวรเป็นนิตย์.” สัญญานี้ยังคงมีผลต่อไปจนกว่าการอวยพรครอบครัวแห่งแผ่นดินโลกและการทำลายล้างศัตรูของพระเจ้าทั้งสิ้นจะบรรลุผลสำเร็จ.—เยเนซิศ 17:7; 1 โกรินโธ 15:23-26.
15:13—ความทุกข์ลำบากของลูกหลานอับรามที่บอกไว้ล่วงหน้า 400 ปีสำเร็จเป็นจริงเมื่อไร? ช่วงแห่งความทุกข์ลำบากนี้เริ่มต้นในปี 1913 ก่อน ส.ศ. เมื่อยิศฮาคบุตรชายอับราฮามหย่านมขณะอายุประมาณ 5 ขวบและยิศมาเอลพี่ชายต่างมารดาซึ่งมีอายุ 19 ปีได้ “เยาะเย้ย” เขา. (เยเนซิศ 21:8-14, ล.ม.; ฆะลาเตีย 4:29) ช่วงเวลานี้สิ้นสุดลงเมื่อชาติอิสราเอลถูกปลดปล่อยจากการเป็นทาสของอียิปต์ในปี 1513 ก่อน ส.ศ.
16:2—ไม่ผิดหรือที่นางซารายได้ยกฮาฆารสาวใช้ให้เป็นภรรยาของอับราม? สิ่งที่นางซารายทำเป็นไปตามธรรมเนียมในสมัยนั้นที่ว่า ภรรยาที่เป็นหมันจะจัดหาอนุภรรยาให้แก่สามีเพื่อจะได้ทายาท. การมีภรรยาหลายคนปรากฏครั้งแรกในเชื้อวงศ์ของคายิน. ในที่สุดจึงกลายเป็นธรรมเนียมและบางคนซึ่งเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาก็รับเอาธรรมเนียมนี้มาใช้. (เยเนซิศ 4:17-19; 16:1-3; 29:21-28) อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาไม่เคยยกเลิกมาตรฐานดั้งเดิมของพระองค์ในเรื่องการมีภรรยาหรือสามีเพียงคนเดียว. (เยเนซิศ 2:21, 22) โนฮาและบุตรชายของท่านซึ่งได้รับพระบัญชาซ้ำอีกครั้งให้ “บังเกิดพงศ์พันธุ์ให้ทวีมากทั่วแผ่นดิน” ต่างก็มีภรรยาคนเดียว. (เยเนซิศ 7:7; 9:1; 2 เปโตร 2:5) และพระเยซูคริสต์ทรงยืนยันมาตรฐานในเรื่องการมีภรรยาหรือสามีเพียงคนเดียว.—มัดธาย 19:4-8; 1 ติโมเธียว 3:2, 12.
19:8—การที่โลตได้เสนอลูกสาวให้แก่ชาวโซโดมเป็นเรื่องไม่ถูกต้องมิใช่หรือ? ตามธรรมเนียมของประเทศทางตะวันออกกลาง ถือเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของบ้านที่จะคุ้มครองแขกที่อยู่ในเรือน, ปกป้องพวกเขาถึงขั้นยอมสละชีวิตหากจำเป็น. โลตเองก็พร้อมที่จะทำเช่นนั้น. ท่านออกไปเผชิญหน้ากับฝูงชนอย่างกล้าหาญ ปิดประตูและประจันหน้ากับพวกนั้นเพียงลำพัง. เมื่อถึงตอนที่โลตเสนอลูกสาวให้ ท่านคงรู้ว่าแขกของท่านเป็นผู้ส่งข่าวสารที่มาจากพระเจ้า และท่านอาจคิดว่าพระเจ้าสามารถปกป้องลูกสาวของท่านเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงปกป้องนางซาราห์ซึ่งเป็นป้าขณะที่อยู่ในอียิปต์. (เยเนซิศ 12:17-20) เหตุการณ์ก็เป็นไปตามนั้นจริง ๆ เมื่อโลตและลูกสาวได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัย.
19:30-38—พระยะโฮวาทรงยอมให้กับการเมาเหล้าของโลตและการที่ท่านมีลูกกับบุตรสาวสองคนของท่านเองหรือ? พระยะโฮวาไม่ทรงยอมให้กับการล่วงประเวณีระหว่างญาติใกล้ชิดรวมทั้งการเมาเหล้าด้วย. (เลวีติโก 18:6, 7, 29; 1 โกรินโธ 6:9, 10) โลตรู้สึกทุกข์ใจจริง ๆ กับ “การกระทำที่ละเลยกฎหมาย” ของชาวเมืองโซโดม. (2 เปโตร 2:6-8, ล.ม.) ข้อเท็จจริงที่ว่าลูกสาวของโลตมอมเหล้าท่านบ่งชี้ว่าพวกเธอรู้ว่าท่านคงไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วยแน่นอนหากยังมีสติอยู่. แต่ในฐานะเป็นคนต่างด้าวในดินแดนนั้น ลูกสาวของท่านรู้สึกว่านี่เป็นเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะปกป้องเชื้อวงศ์ของโลตไม่ให้สูญสิ้นไป. เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของชาวโมอาบ (โดยทางโมอาบ) กับชาวอัมโมน (โดยทางเบน-อัมมี) ที่มีต่อชาวอิสราเอลลูกหลานของอับราฮาม.
บทเรียนสำหรับเรา:
13:8, 9. อับราฮามวางแบบอย่างที่ดีเลิศจริง ๆ ในเรื่องการจัดการกับความขัดแย้ง! เราไม่ควรยอมเสียสัมพันธภาพอันสงบสุขเพื่อเห็นแก่ทรัพย์สินเงินทอง, ความชอบส่วนตัว, หรือเพราะความหยิ่ง.
15:5, 6. เมื่ออับราฮามอายุมากขึ้นและยังไม่มีบุตรชาย ท่านทูลเรื่องนี้ต่อพระเจ้า. พระยะโฮวาทรงให้คำรับรองกับท่าน. ผลเป็นเช่นไร? อับราฮาม “เชื่อวางใจในพระยะโฮวา.” หากเราเปิดใจของเราต่อพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน, รับเอาคำรับรองของพระองค์จากคัมภีร์ไบเบิล, และเชื่อฟังพระองค์ ความเชื่อของเราจะได้รับการเสริมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น.
15:16. พระยะโฮวาทรงยับยั้งการสำเร็จโทษตามการพิพากษาพวกอัมโมน [หรือชาวคะนาอัน] ถึงสี่ชั่วอายุคน. เพราะเหตุใด? เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้อดกลั้นพระทัย. พระองค์ทรงรอคอยจนกระทั่งความหวังที่ว่าพวกเขาจะดีขึ้นนั้นไม่มีอีกแล้ว. เช่นเดียวกับพระยะโฮวาเราจำเป็นต้องอดทน.
18:23-33. พระยะโฮวาไม่ทรงทำลายผู้คนโดยไม่เลือก. พระองค์ทรงปกป้องคนชอบธรรมไว้.
19:16. โลต “ยังช้าอยู่” และทูตสวรรค์เกือบจะต้องลากท่านและครอบครัวออกจากเมืองโซโดม. นับเป็นการฉลาดสุขุมที่เราจะไม่สูญเสียการสำนึกถึงความเร่งด่วนขณะที่เราคอยท่าอวสานของโลกชั่ว.
19:26. ช่างเป็นเรื่องโง่เขลาสักเพียงไรที่จะพะวักพะวนหรือมองย้อนหลังอย่างอาลัยอาวรณ์ในสิ่งต่าง ๆ ของโลกที่เราได้ละไว้เบื้องหลัง!
ยาโคบมีบุตรชาย 12 คน
อับราฮามจัดการให้ยิศฮาคสมรสกับริบะคาสตรีซึ่งมีความเชื่อในพระยะโฮวา. นางให้กำเนิดลูกชายฝาแฝดคือเอซาวกับยาโคบ. เอซาวดูถูกสิทธิบุตรหัวปีและขายสิทธินั้นให้ยาโคบซึ่งต่อมาได้รับการอวยพรจากบิดาของท่าน. ยาโคบหนีไปยังเมืองพัดดัน-อารัม ซึ่งเป็นที่ที่เขาสมรสกับเลอาและราเฮ็ลอีกทั้งได้เลี้ยงฝูงสัตว์ให้แก่บิดาของนางทั้งสองคนเป็นเวลากว่า 20 ปี ก่อนที่จะแยกตัวออกมาพร้อมกับครอบครัว. ยาโคบมีบุตรชาย 12 คน และบุตรสาวหนึ่งคนที่เกิดกับนางเลอา, ราเฮ็ล, และสาวใช้อีกสองคน. ยาโคบปล้ำสู้กับทูตสวรรค์องค์หนึ่งและได้รับการอวยพรและได้เปลี่ยนชื่อของท่านใหม่ว่าอิสราเอล.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
28:12, 13—ความฝันของยาโคบเกี่ยวกับ “บันได” มีนัยความหมายเช่นไร? “บันได” ซึ่งอาจมองดูเหมือนบันไดหินนี้บ่งชี้ว่ามีการติดต่อกันระหว่างแผ่นดินโลกกับสวรรค์. การที่ทูตสวรรค์ของพระเจ้ากำลังขึ้นลงที่บันไดนั้นแสดงว่าทูตสวรรค์รับใช้ในวิธีที่สำคัญบางอย่างระหว่างพระยะโฮวากับมนุษย์ที่ได้รับความโปรดปรานจากพระองค์.—โยฮัน 1:51.
30:14, 15—เหตุใดนางราเฮ็ลจึงยอมสละโอกาสที่จะหลับนอนกับสามีเพื่อแลกกับผลแมนเดรก (ดูดาอิม)? ในสมัยโบราณ ผลของต้นแมนเดรกใช้เป็นยาระงับความรู้สึกและเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการชัก. นอกจากนั้น ยังเชื่อกันว่าผลไม้นี้ยังสามารถกระตุ้นความปรารถนาทางเพศและเพิ่มการเจริญพันธุ์ของมนุษย์หรือช่วยในการตั้งครรภ์. (เพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโม 7:13) ขณะที่คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เปิดเผยเจตนาของนางราเฮ็ลในเรื่องการแลกเปลี่ยนนั้น นางอาจคิดว่าผลแมนเดรกสามารถช่วยให้นางตั้งครรภ์ได้และจะยุติความอดสูในเรื่องการเป็นหมันของนาง. อย่างไรก็ดี เวลาได้ผ่านไปหลายปีก่อนที่พระยะโฮวา “ทรงบันดาลให้นางมีครรภ์.”—เยเนซิศ 30:22-24.
บทเรียนสำหรับเรา:
25:23. พระยะโฮวาทรงมีพระปรีชาสามารถที่จะตรวจสอบแนวโน้มทางพันธุกรรมของทารกที่ยังไม่เกิดมาและทรงใช้ความสามารถในการทราบอนาคตเลือกผู้หนึ่งล่วงหน้าเพื่อพระประสงค์ของพระองค์. กระนั้น พระองค์ไม่ได้ทรงกำหนดชะตาชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งไว้ล่วงหน้า.—โฮเซอา 12:3; โรม 9:10-12.
25:32, 33; 32:24-29. ความเป็นห่วงของยาโคบเกี่ยวกับการได้รับสิทธิบุตรหัวปีและความพยายามในการปล้ำสู้กับทูตสวรรค์ตลอดคืนเพื่อจะได้รับพระพรแสดงให้เห็นว่าท่านหยั่งรู้ค่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง. พระยะโฮวาทรงมอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายอย่างไว้แก่เรา เช่น สัมพันธภาพของเราที่มีกับพระองค์และองค์การของพระองค์, ค่าไถ่, คัมภีร์ไบเบิล, และความหวังของเราเรื่องราชอาณาจักร. ขอให้เราพิสูจน์ตัวเป็นเหมือนยาโคบโดยการแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งเหล่านี้.
34:1, 30. ปัญหาที่ทำให้ยาโคบ “ลำบากใจ” เริ่มต้นจากการที่ดีนาผูกมิตรกับคนที่ไม่รักพระยะโฮวา. เราจึงต้องเลือกคนที่เราคบหาอย่างรอบคอบ.
พระยะโฮวาทรงอวยพรโยเซฟในอียิปต์
ความอิจฉาริษยากระตุ้นเหล่าบุตรชายของยาโคบให้ขายโยเซฟน้องชายของพวกเขาไปเป็นทาส. ในอียิปต์โยเซฟถูกจำคุกเพราะท่านยึดมั่นมาตรฐานทางศีลธรรมของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์และกล้าหาญ. ต่อมา ท่านถูกนำออกมาจากคุกเพื่อแก้พระสุบินของฟาโรห์ซึ่งบอกล่วงหน้าถึงความอุดมสมบูรณ์เจ็ดปีและตามด้วยการกันดารอาหารอีกเจ็ดปี. แล้วโยเซฟได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการด้านอาหารของอียิปต์. พวกพี่ชายของท่านเดินทางมาที่อียิปต์เพื่อหาซื้ออาหารเนื่องจากการกันดารอาหาร. ครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งและลงหลักปักฐานในเมืองโกเชนที่อุดมสมบูรณ์. ยาโคบขณะใกล้จะสิ้นใจกล่าวคำอวยพรบุตรชายของท่านและกล่าวคำพยากรณ์ที่ให้ความหวังแน่นอนเรื่องพระพรอันยิ่งใหญ่ที่จะมีมาในอีกหลายศตวรรษข้างหน้า. ศพของยาโคบถูกนำไปฝังที่คะนาอัน. เมื่อโยเซฟสิ้นชีวิตขณะที่อายุได้ 110 ปี ร่างของท่านได้รับการอาบยาเพื่อในที่สุดจะถูกส่งไปยังแผ่นดินตามคำสัญญา.—เอ็กโซโด 13:19.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
43:32—เหตุใดชาวอียิปต์รังเกียจการร่วมรับประทานอาหารกับชาวฮีบรู? ที่เป็นเช่นนี้สาเหตุหลักอาจเนื่องมาจากอคติทางศาสนาหรือความหยิ่งทะนงในเชื้อชาติ. ชาวอียิปต์รังเกียจคนเลี้ยงแกะด้วย. (เยเนซิศ 46:32) เพราะเหตุใด? คนเลี้ยงแกะอาจอยู่ในวรรณะต่ำสุดของระบบชั้นวรรณะของชาวอียิปต์. หรืออาจเป็นเพราะที่ดินซึ่งใช้ในการเพาะปลูกมีจำกัด ชาวอียิปต์จึงเกลียดพวกที่เสาะหาทุ่งหญ้าเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์.
44:5—โยเซฟใช้จอกเพื่อทำนายจริง ๆ ไหม? จอกเงินและอะไรก็ตามที่กล่าวถึงนั้นดูเหมือนว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุบาย. โยเซฟเป็นผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. ท่านไม่ได้ใช้จอกเพื่อทำนายเช่นเดียวกับที่เบ็นยามินไม่ได้ขโมยจอกนี้ไปจริง ๆ.
49:10 (ล.ม.)—“คทา” และ “ไม้ธารพระกร” หมายถึงอะไร? คทาเป็นไม้ที่ผู้ปกครองถือเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอย่างที่กษัตริย์มี. ไม้ธารพระกรเป็นไม้ยาวซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงอำนาจในการบัญชาการ. คำกล่าวของยาโคบเกี่ยวกับเรื่องนี้บ่งชี้ว่า อำนาจและกำลังอันยิ่งใหญ่จะอยู่กับตระกูลยูดาห์จนกว่าชีโลห์จะมา. ลูกหลานของยูดาห์ผู้นี้คือพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงมอบการปกครองทางภาคสวรรค์ให้. พระคริสต์ทรงได้รับอำนาจเยี่ยงกษัตริย์และทรงครองอำนาจในการบัญชาการ.—บทเพลงสรรเสริญ 2:8, 9; ยะซายา 55:4; ดานิเอล 7:13, 14.
บทเรียนสำหรับเรา:
38:26. ยูดาห์ปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องกับธามารลูกสะใภ้ของท่านที่เป็นม่าย. แต่เมื่อท่านต้องเผชิญกับความรับผิดชอบในเรื่องการตั้งครรภ์ของนาง ยูดาห์ยอมรับความผิดพลาดของท่านอย่างถ่อมใจ. เราก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรชักช้าที่จะยอมรับความผิดพลาดของเรา.
39:9. ปฏิกิริยาตอบสนองของโยเซฟต่อภรรยาของโพติฟาแสดงให้เห็นว่า ความคิดของท่านสอดคล้องกับทัศนะของพระเจ้าในเรื่องศีลธรรมและสติรู้สึกผิดชอบของท่านได้รับการชี้นำจากหลักการของพระเจ้า. เราควรเพียรพยายามเช่นเดียวกันมิใช่หรือในขณะที่เราก้าวหน้าในความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับความจริง?
41:14-16, 39, 40. พระยะโฮวาทรงสามารถพลิกผันสถานการณ์ของผู้ที่เกรงกลัวพระองค์ได้. เมื่อความยากลำบากเกิดขึ้น นับว่าฉลาดสุขุมที่เราจะไว้วางใจพระยะโฮวาและรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์.
พวกเขามีความเชื่อตลอดไป
อับราฮาม, ยิศฮาค, ยาโคบ, และโยเซฟต่างเป็นบุรุษที่เกรงกลัวพระเจ้าซึ่งมีความเชื่ออย่างแท้จริง. เรื่องราวชีวิตของพวกเขาในพระธรรมเยเนซิศเสริมความเชื่ออย่างแท้จริงและสอนบทเรียนอันมีค่ามากมายแก่เรา.
คุณสามารถได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านี้ขณะที่คุณอ่านส่วนมอบหมายพระคัมภีร์ประจำสัปดาห์ในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า. การพิจารณาที่กล่าวมาแล้วดังข้างต้นจะช่วยให้เรื่องราวนี้มีชีวิตชีวาขึ้น.
[เชิงอรรถ]
a ดูบทความเรื่อง “พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต—จุดเด่นจากพระธรรมเยเนซิศ—ตอนแรก” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 2004.
[ภาพหน้า 26]
พระยะโฮวาทรงอวยพระพรโยเซฟ
[ภาพหน้า 26]
อับราฮามเป็นบุรุษผู้มีความเชื่อ
[ภาพหน้า 26]
โลตผู้ชอบธรรมและลูกสาวของท่านได้รับการคุ้มครอง
[ภาพหน้า 29]
ยาโคบหยั่งรู้ค่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์. คุณล่ะ?