สตรีสองพี่น้องผู้มีทุกข์ซึ่งได้ “สร้างวงศ์ตระกูลอิสราเอล”
เมื่อยามเช้าใกล้เข้ามา เลอารู้ว่าอีกไม่นานความจริงจะปรากฏ. ยาโคบผู้ที่นอนกอดนางอยู่กำลังจะพบว่านางไม่ใช่ราเฮ็ล ผู้เป็นน้องสาว. เพราะคำขอร้องของผู้เป็นพ่อ เลอาซึ่งคงจะมีผ้าคลุมหน้ามิดชิดจึงมานอนอยู่บนเตียงที่เตรียมไว้สำหรับยาโคบและราเฮ็ล.
ลองคิดดูว่ายาโคบคงต้องรู้สึกเช่นไรเมื่อแสงยามเช้าเผยให้เห็นความจริง! ด้วยความขุ่นเคือง ยาโคบไปถกเถียงกับลาบาน บิดาของเลอา. ระหว่างนั้น เลอาคงได้ใคร่ครวญถึงบทบาทของตนในแผนหลอกลวงของพ่อและผลที่อาจตามมาในระยะยาว. เรื่องราวของเลอาและราเฮ็ลเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล. เรื่องนี้ยังช่วยให้เข้าใจลึกซึ้งด้วยว่าทำไมการมีคู่สมรสคนเดียวและมีความซื่อสัตย์ภักดีในสายสมรสจึงนับว่าสุขุม.
คนแปลกหน้าที่บ่อน้ำ
เจ็ดปีก่อนหน้านั้น ราเฮ็ลวิ่งไปบอกบิดาว่า นางพบชายแปลกหน้าคนหนึ่งที่บ่อน้ำและเขาอ้างตัวว่าเป็นญาติ. ปรากฏว่าเขาคือยาโคบ ลูกพี่ลูกน้องของนาง เป็นบุตรชายของน้องสาวบิดาและเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. หลังจากผ่านไปหนึ่งเดือน ยาโคบก็เสนอตัวจะทำงานรับใช้ลาบานเป็นเวลาเจ็ดปีเพื่อแลกกับการแต่งงานกับราเฮ็ล. เมื่อเห็นว่าหลานชายเป็นคนขยันทำงานและรู้ว่าเป็นธรรมเนียมที่จะแต่งงานกันในหมู่ญาติ ลาบานจึงตอบรับข้อเสนอนั้น.—เยเนซิศ 29:1-19.
ความรักที่ยาโคบมีต่อราเฮ็ลไม่ใช่ความรู้สึกเพียงชั่ววูบ. การหมั้นหมายที่ยาวนานถึงเจ็ดปี “เป็นเหมือนน้อยวันเพราะเหตุรักนางนั้น.” (เยเนซิศ 29:20) การที่ยาโคบรักราเฮ็ลจนกระทั่งนางเสียชีวิตบ่งชี้ว่านางคงต้องมีคุณลักษณะที่น่ารักหลายอย่าง.
เลอาเองหวังจะได้แต่งงานกับผู้นมัสการพระยะโฮวาที่ซื่อสัตย์ด้วยไหม? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกไว้. สิ่งที่กล่าวถึงมากกว่าในบันทึกนั้นคือความคิดของลาบานที่จะให้นางแต่งงาน. เมื่อราเฮ็ลหมั้นได้เจ็ดปีแล้ว ลาบานก็จัดงานเลี้ยงสมรสให้. แต่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า ค่ำวันนั้น ลาบานได้พาเลอามาหายาโคบ เพื่อให้ “เข้าไปอยู่ด้วยกัน.”—เยเนซิศ 29:23.
เป็นแผนของเลอาไหมที่จะหลอกยาโคบ? หรือนางเพียงแต่จำต้องเชื่อฟังบิดา? แล้วราเฮ็ลไปอยู่ที่ไหน? นางรู้ไหมว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น? ถ้ารู้ นางรู้สึกอย่างไร? บิดาของนางเข้มงวดมากจนนางไม่อาจขัดขืนได้เลยหรือ? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ให้คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้. ไม่ว่าราเฮ็ลกับเลอาจะคิดอย่างไรในเรื่องนี้ แผนการนั้นก็ทำให้ยาโคบเดือดดาลมาก. และคนที่ยาโคบไปเอาเรื่องก็คือลาบาน ไม่ใช่ลูกสาวของเขา. เขาถกเถียงกับลาบานว่า “ฉันได้รับใช้ลุงเพราะนางสาวราเฮ็ลมิใช่หรือ? ทำไมลุงจึงล่อลวงฉันเล่า?” ลาบานตอบอย่างไร? “ไม่มีธรรมเนียมจะให้น้องสาวมีเหย้าเรือนก่อนพี่สาว. จงคอยรออยู่ให้การเลี้ยงเจ็ดวันของหญิงนี้สำเร็จ, แล้วเราจะยกคนนั้นให้ด้วย; ภายหลังเจ้าจะต้องรับใช้ลุงเพราะนางคนนั้นอีกเจ็ดปี.” (เยเนซิศ 29:25-27) โดยวิธีนี้ ยาโคบจึงถูกหลอกให้เข้าสู่ชีวิตสมรสที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคนซึ่งเป็นต้นเหตุของความอิจฉาริษยาอันขมขื่น.
ครอบครัวที่ไม่มีความสุข
ยาโคบรักราเฮ็ล. เมื่อพระเจ้าทรงเห็นว่า หากเทียบกับราเฮ็ลแล้ว ยาโคบ “เกลียด” เลอา พระองค์จึงทรงให้นางตั้งครรภ์ ส่วนราเฮ็ลนั้นเป็นหมันอยู่. แต่เลอาต้องการมากกว่าการมีลูก นางต้องการความรักของยาโคบ. เมื่อราเฮ็ลได้ความรักไปทั้งหมด เลอาจึงเป็นทุกข์โศกเศร้า. กระนั้น เลอาก็ยังหวังจะได้ความรักจากยาโคบเมื่อนางให้กำเนิดลูกชายคนแรกแก่เขา คือรูเบน ซึ่งแปลว่า “ดูแน่ะ ลูกชาย!” เลอามีเหตุผลที่จะตั้งชื่อลูกของนางอย่างนั้น เพราะ “พระยะโฮวาได้ทรงทอดพระเนตรเห็นข้าพเจ้าผู้มีความทุกข์; บัดนี้สามีจะได้รักใคร่ข้าพเจ้า.” แต่ยาโคบก็ไม่รักนาง และก็ยังเป็นเช่นนั้นจนนางให้กำเนิดบุตรชายอีกคนหนึ่ง. เลอาเรียกบุตรชายคนนี้ว่า ซิมโอน แปลว่า “ได้ยิน.” นางคิดว่า “เหตุพระยะโฮวาทรงทราบ [“ได้ยิน,” ฉบับแปลใหม่] ว่าสามีเกลียดชังข้าพเจ้า, พระองค์จึงทรงพระราชทานบุตรนี้แก่ข้าพเจ้าอีกคนหนึ่ง.”—เยเนซิศ 29:30-33.
การที่พระยะโฮวาทรงได้ยินก็หมายความว่าเลอาได้ทูลพระองค์ว่าเธออยู่ในสภาพการณ์เช่นไร. ดูเหมือนว่านางเป็นสตรีที่มีความเชื่อ. แต่ความปวดร้าวใจของนางก็ยังมีอยู่ต่อไป กระทั่งหลังจากที่ให้กำเนิดเลวี ลูกชายคนที่สามแล้ว. ชื่อของบุตรคนนี้แปลว่า “ติดสนิท” หรือ “ร่วม” ซึ่งเลอาอธิบายว่า “ครั้งนี้สามีจะสนิทสนมกับข้าพเจ้า. เพราะข้าพเจ้าได้คลอดบุตรชายสามคนแล้ว.” แต่ดูเหมือนยาโคบก็ยังไม่รู้สึกสนิทสนมกับเธอมากกว่าเดิม. บางทีเลอาอาจยอมรับความจริงข้อนี้ เพราะชื่อลูกชายคนที่สี่ของเธอไม่เกี่ยวข้องอะไรอีกกับความหวังของเธอที่จะได้ความรักมากขึ้นจากยาโคบ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น การที่นางตั้งชื่อบุตรว่ายูดาห์แสดงถึงความรู้สึกขอบพระคุณที่นางมีต่อพระเจ้า. ชื่อ “ยูดาห์” แปลว่า “สรรเสริญ” หรือ “ผู้ได้รับคำสรรเสริญ.” เลอาพูดแต่เพียงว่า “ครั้งนี้ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระยะโฮวา.”—เยเนซิศ 29:34, 35.
ถ้าเลอารู้สึกทุกข์ระทมใจ ราเฮ็ลก็ไม่ได้รู้สึกดีไปกว่ากัน. นางอ้อนวอนยาโคบว่า “ขอให้ฉันมีบุตรด้วย; ถ้าหาไม่ฉันจะตาย.” (เยเนซิศ 30:1) ราเฮ็ลได้รับความรักจากยาโคบ แต่นางปรารถนาจะมีบุตร. เลอามีบุตร แต่นางปรารถนาความรัก. ต่างฝ่ายต่างอยากได้สิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งมี และทั้งคู่ไม่มีความสุข. ทั้งสองคนรักยาโคบและอยากจะมีบุตรกับเขา. ฝ่ายหนึ่งก็อิจฉาอีกฝ่ายหนึ่ง. ครอบครัวนี้อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเศร้าเสียจริง ๆ!
ราเฮ็ลมีลูกหรือ?
ในสมัยนั้น การเป็นหมันถือเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง. พระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบว่า วงศ์วานของพวกเขาจะให้กำเนิด “พงศ์พันธุ์” ซึ่งจะเป็นผู้ทำให้ทุกครอบครัวทั่วโลกได้รับพร. (เยเนซิศ 26:4; 28:14) กระนั้น ราเฮ็ลไม่มีลูก. ยาโคบหาเหตุผลว่า มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถประทานบุตรชายแก่ราเฮ็ลได้ ซึ่งจะทำให้นางมีส่วนในพระพรที่ทรงสัญญา. แต่ราเฮ็ลไม่อดทนรอ. นางกล่าวว่า “นี่แหละบีละฮาเป็นสาวใช้ของฉัน จงเข้าไปสมสู่อยู่กับเขาเถิด; เขาจะได้คลอดบุตรเลี้ยงไว้ที่ตักของฉัน, ฉันจะได้ตั้งวงศ์ด้วยหญิงคนนี้.”—เยเนซิศ 30:2, 3.
ทัศนะของราเฮ็ลอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับเรา. อย่างไรก็ตาม สัญญาสมรสในสมัยโบราณซึ่งมีการค้นพบทั่วไปในดินแดนทางตะวันออกใกล้บ่งชี้ว่า มีธรรมเนียมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันสำหรับภรรยาที่เป็นหมันที่จะยกสาวใช้ให้แก่สามีเพื่อจะมีทายาท.a (เยเนซิศ 16:1-3) ในบางกรณี ลูกของทาสสาวนั้นจะถูกถือว่าเป็นลูกของภรรยา.
เมื่อบีละฮาให้กำเนิดเด็กชาย ราเฮ็ลผู้มีความยินดีก็ร้องว่า “พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาชำระความข้าพเจ้าได้ทรงสดับฟังเสียงข้าพเจ้าทูลจึงให้มีบุตรชาย.” นางตั้งชื่อเขาว่า ดาน ซึ่งแปลว่า “ผู้พิพากษา.” นางเองก็ได้อธิษฐานเกี่ยวกับความทุกข์ของตนเช่นกัน. เมื่อบีละฮาให้กำเนิดบุตรชายคนที่สองชื่อนัฟธาลี ซึ่งแปลว่า “การปล้ำสู้ของฉัน” ราเฮ็ลพูดว่า “ข้าพเจ้าจะปล้ำต่อสู้กับพี่สาวของข้าพเจ้ามาก, และได้ชัยชนะแล้ว.” ชื่อทั้งสองชี้ให้เห็นความขัดแย้งที่มีอยู่ระหว่างคู่แข่งทั้งสองคน.—เยเนซิศ 30:5-8.
บางทีราเฮ็ลคงคิดว่าเธอกำลังทำสิ่งที่สอดคล้องกับคำอธิษฐานเมื่อเธอยกบีละฮาให้ยาโคบ แต่นั่นไม่ใช่วิธีของพระเจ้าที่จะประทานบุตรให้เธอ. เรื่องนี้ให้บทเรียนแก่เรา. เราไม่ควรหมดความอดทนเมื่อเราทูลขอสิ่งใดจากพระยะโฮวา. พระองค์สามารถตอบคำอธิษฐานในวิธีและในเวลาที่เราไม่คาดคิด.
เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ เลอาจึงยกซีละพา สาวใช้ของตนแก่ยาโคบด้วย. ซีละพาให้กำเนิดฆาด แล้วถัดมาก็อาเซ็ร.—เยเนซิศ 30:9-13.
เหตุการณ์ที่ทำให้เห็นความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างราเฮ็ลกับเลอาอย่างชัดเจนก็คือตอนที่รูเบน ลูกของเลอาพบผลแมนเดรก (ดูดาอิม). เชื่อกันว่าผลไม้ชนิดนี้ช่วยให้ตั้งครรภ์ได้. เมื่อราเฮ็ลขอแบ่งบ้าง เลอาก็ตอบอย่างขมขื่นว่า “น้องได้แย่งสามีของฉันไปแล้ว, มิหนำซ้ำจะเอาผลดูดาอิมของบุตรน้อยด้วยหรือ?” บางคนเข้าใจว่าคำพูดของเลอาหมายความว่ายาโคบอยู่กับราเฮ็ลมากกว่าเลอา. บางทีราเฮ็ลอาจเห็นว่ามีเหตุผลที่เลอาจะเป็นทุกข์ จึงตอบว่า “ถ้าให้ผลดูดาอิมแก่ฉันคืนวันนี้ฉันจะให้สามีไปอยู่กับพี่.” ดังนั้นเมื่อยาโคบกลับมาบ้านในตอนเย็น เลอาจึงบอกเขาว่า “จงมาอยู่กับฉันเถิด, เพราะฉันให้ผลดูดาอิมของบุตรเป็นสินจ้างท่านแล้ว.”—เยเนซิศ 30:15, 16.
เลอามีลูกชายคนที่ห้าและหก คือยิซาคารและซะบูโลน. หลังจากนั้น นางก็พูดว่า “บัดนี้สามีคงจะอาศัยอยู่กับข้าพเจ้า, เพราะข้าพเจ้ามีบุตรชายด้วยกันหกคนแล้ว.”b—เยเนซิศ 30:17-20.
ผลแมนเดรกไม่ช่วยอะไร. หลังจากแต่งงานมาได้หกปี ในที่สุดราเฮ็ลก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิดโยเซฟ ซึ่งก็เป็นเพราะพระยะโฮวาทรง “ระลึกถึง” นางและทรงตอบคำอธิษฐานของนาง. ตอนนี้เองที่ราเฮ็ลพูดได้ว่า “พระเจ้าได้ทรงโปรดยกความอดสูของข้าพเจ้าเสียแล้ว.”—เยเนซิศ 30:22-24.
ความตายและมรดก
ขณะที่คลอดเบ็นยามิน ลูกชายคนที่สอง ราเฮ็ลก็เสียชีวิต. ยาโคบรักราเฮ็ลจริง ๆ และลูกชายสองคนของเธอก็เป็นลูกที่ยาโคบรักมาก. หลายปีผ่านไป เมื่อยาโคบใกล้จะตาย ท่านได้ระลึกถึงการสูญเสียราเฮ็ลภรรยาสุดที่รักไปก่อนเวลาอันควร. (เยเนซิศ 30:1; 35:16-19; 48:7) เกี่ยวกับการตายของเลอา เราไม่ทราบอะไรนอกจากว่ายาโคบได้ฝังเธอไว้ในถ้ำ ที่ซึ่งเขาเองก็ต้องการจะให้ฝังศพตนเองเช่นกัน.—เยเนซิศ 49:29-32.
ยาโคบเมื่อชราแล้วได้ยอมรับว่าชีวิตของท่านนั้นทุกข์ลำบาก ซึ่งก็รวมถึงเรื่องในครอบครัวของท่านด้วย. (เยเนซิศ 47:9) ไม่ต้องสงสัยว่าชีวิตเช่นนั้นคงเป็นความทุกข์สำหรับเลอาและราเฮ็ลเช่นกัน. ประสบการณ์ของพวกนางเน้นให้เห็นผลที่น่าเศร้าของการมีคู่สมรสหลายคนและเป็นตัวอย่างช่วยให้เข้าใจว่าเพราะเหตุใดพระยะโฮวาจึงกำหนดว่าสามีควรมีภรรยาคนเดียว. (มัดธาย 19:4-8; 1 ติโมเธียว 3:2, 12) ความอิจฉาริษยาเกิดขึ้นเมื่อสามีหรือภรรยาไม่ได้จำกัดความสนใจแบบรัก ๆ ใคร่ ๆ หรือทางเพศไว้กับคู่สมรสของตนเพียงคนเดียว. นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่พระเจ้าทรงห้ามการทำผิดประเวณีและการเล่นชู้.—1 โกรินโธ 6:18; เฮ็บราย 13:4.
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พระเจ้าทรงดำเนินการต่อไป และยังทรงดำเนินการอยู่ เพื่อให้พระประสงค์ของพระองค์บรรลุผลสำเร็จโดยใช้ชายและหญิงที่ไม่สมบูรณ์แต่ก็ซื่อสัตย์. สตรีสองพี่น้องนี้ต่างก็มีข้อบกพร่อง เช่นเดียวกับพวกเรา. แต่โดยทางผู้หญิงสองคนนี้ พระยะโฮวาทรงเริ่มทำให้คำสัญญาที่ทรงให้ไว้กับอับราฮามสำเร็จเป็นจริง. นับว่าเหมาะทีเดียวที่มีการกล่าวว่า ราเฮ็ลกับเลอาได้ “สร้างวงศ์ตระกูลอิสราเอล.”—ประวัตินางรูธ 4:11, ฉบับแปลใหม่.
[เชิงอรรถ]
a สัญญาเช่นนี้ซึ่งพบในโนซี ประเทศอิรัก อ่านว่า “เคลีม-นีโน ถูกยกให้สมรสกับเชนนิมา. . . . ถ้าเคลีม-นีโนไม่สามารถให้กำเนิด [บุตร] ได้ เคลีม-นีโนจะต้องหาผู้หญิงอีกคนหนึ่ง [ทาสสาว] จากลุลลูมาเป็นภรรยาของเชนนิมา.”
b ดีนา ลูกอีกคนหนึ่งของเลอา เป็นลูกสาวคนเดียวของยาโคบที่เรารู้จักชื่อ.—เยเนซิศ 30:21; 46:7.
[ภาพหน้า 9]
เลอาและราเฮ็ลต่างปรารถนาในสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งมี และทั้งสองคนไม่มีความสุข
[ภาพหน้า 10]
ชาติอิสราเอลเกิดมาจากบุตรชาย 12 คนของยาโคบ