กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
คุยกับลูกวัยรุ่นอย่างไรไม่ให้ทะเลาะกัน?
“ตอนที่ลูกสาวฉันอายุ 14 ปี เธอเริ่มเถียงฉัน. ถ้าฉันบอกลูกว่า ‘ถึงเวลาอาหารเย็นแล้ว’ เธอก็จะบอกว่า ‘เดี๋ยวหนูหิว หนูก็กินเองแหละ.’ ถ้าฉันถามลูกว่าทำงานบ้านเสร็จหรือยัง เธอจะบอกว่า ‘เลิกถามซะทีได้ไหม หนูรำคาญ!’ หลายครั้ง ฉันกับลูกสาวมักจะขึ้นเสียงใส่กัน.”—มากิ ญี่ปุ่นa
ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น คุณคงมีเรื่องขัดแย้งที่ทดสอบความอดทนและความสามารถในการเลี้ยงลูกไม่เว้นแต่ละวัน. มาเรีย แม่ในบราซิลที่มีลูกสาววัย 14 ปีบอกว่า “ฉันจะอารมณ์เดือดพล่านขึ้นมาทันทีเมื่อลูกท้าทายอำนาจฉัน. เราทั้งคู่ต่างก็อารมณ์เสียและแผดเสียงใส่กัน.” การ์เมลา ในอิตาลีก็เจอปัญหาคล้ายกัน. เธอพูดว่า “ฉันกับลูกชายมักทะเลาะกันอย่างรุนแรง แล้วหลังจากนั้นเขาก็จะขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง.”
ทำไมวัยรุ่นบางคนชอบเถียงพ่อแม่? พวกเขาติดนิสัยมาจากเพื่อนรุ่นเดียวกันไหม? ก็มีส่วนอยู่บ้าง. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเพื่อนที่เราคบหาด้วยมีอิทธิพลอย่างมาก ไม่ว่าในทางดีหรือเลว. (สุภาษิต 13:20; 1 โครินท์ 15:33) นอกจากนั้น ความบันเทิงสำหรับวัยรุ่นทุกวันนี้ก็มีส่วนหล่อหลอมพวกเขาให้กลายเป็นคนขืนอำนาจและไม่เชื่อฟังพ่อแม่.
แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องซึ่งไม่ยากเกินกว่าที่คุณจะจัดการแก้ไข ถ้าคุณเข้าใจว่าปัจจัยเหล่านั้นมีผลกระทบต่อลูกของคุณอย่างไร. ขอพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้.
กำลังพัฒนา “ความสามารถในการใช้เหตุผล”
อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ตอนที่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก ข้าพเจ้าเคยพูดอย่างเด็ก คิดอย่างเด็ก หาเหตุผลอย่างเด็ก แต่ตอนนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้เลิกนิสัยอย่างเด็ก.” (1 โครินท์ 13:11) คำพูดของเปาโลแสดงว่าเด็กกับผู้ใหญ่คิดต่างกัน. อย่างไรล่ะ?
เด็กมักจะคิดแบบรูปธรรมตามที่มองเห็นเท่านั้น เช่น ขาวก็คือขาว ดำก็คือดำ. แต่ผู้ใหญ่สามารถเข้าใจแนวคิดที่เป็นนามธรรมได้มากกว่าและมีวิธีคิดที่ซับซ้อนกว่าเมื่อหาเหตุผลหรือตัดสินใจ. ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่มักจะคิดละเอียดลึกซึ้งกว่าในเรื่องจริยธรรมและคิดว่าสิ่งที่เขาทำจะมีผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร. พวกเขาอาจเคยชินกับการคิดเช่นนี้ ในขณะที่วัยรุ่นยังไม่คุ้นเคยกับวิธีคิดแบบผู้ใหญ่.
คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนวัยรุ่นให้พัฒนา “ความสามารถในการคิด.” (สุภาษิต 1:4, ล.ม.) ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นคริสเตียนทุกคน ให้ใช้ “ความสามารถในการใช้เหตุผล.” (โรม 12:1, 2; ฮีบรู 5:14) แต่บางครั้งความสามารถในการหาเหตุผลของลูกวัยรุ่นนี่แหละที่ทำให้เขาเถียงกับคุณ แม้แต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ.b หรือเขาอาจพูดอะไรบางอย่างที่เห็นได้ชัดว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง. (สุภาษิต 14:12) ในกรณีเช่นนี้ คุณจะช่วยลูกให้คิดอย่างถูกต้องโดยไม่ทะเลาะกันได้อย่างไร?
ลองวิธีนี้: จำไว้ว่าลูกอาจเพียงแค่อยากฝึกใช้ทักษะการหาเหตุผลซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา และเขาอาจไม่ได้คิดอย่างที่พูดเสมอไป. เพื่อจะรู้ว่าเขาคิดอย่างไรจริง ๆ ก่อนอื่น ให้ชมเชยเขาที่พยายามใช้ความสามารถในการคิด. (“แม่ชอบที่ลูกรู้จักคิด แม้ว่าแม่จะไม่เห็นด้วยทั้งหมดก็ตาม.”) หลังจากนั้น ช่วยลูกให้วิเคราะห์สิ่งที่เขาคิด. (“ลูกคิดว่าวิธีการของลูกจะแก้ปัญหาได้ทุก ครั้งไปไหม?”) คุณอาจแปลกใจที่เห็นว่าลูกวัยรุ่นของคุณรู้จักทบทวนและขัดเกลาความคิดของตัวเอง.
ข้อควรระวัง: เมื่อพูดคุยกับลูกวัยรุ่น อย่าคิดว่าคุณต้องพยายามพิสูจน์ว่าคุณเป็นฝ่ายถูก. แม้ดูเหมือนว่าเขาจะทำหูทวนลมไม่ยอมฟังสิ่งที่คุณพูด แต่เขาอาจรับฟังและจดจำคำพูดของคุณได้มากกว่าที่คุณคิด หรือมากกว่าที่เขาจะยอมรับด้วยซ้ำ. อย่าแปลกใจ ถ้าอีกสองสามวันต่อมา เขาคล้อยตามความคิดของคุณ หรือถึงกับบอกว่านั่นเป็นความคิดของเขาเอง.
“บางครั้ง ผมกับลูกชายทะเลาะกันเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น เมื่อเขาใช้ของสิ้นเปลืองหรือแกล้งน้อง. แต่ดูเหมือนลูกอยากให้ผมถามว่าเขาคิดอย่างไรและพูดอะไรบางอย่างที่แสดงว่าผมเข้าใจเขา เช่น ‘อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เหรอลูก’ หรือ ‘พ่อเข้าใจแล้วว่าลูกคิดอย่างไร.’ เมื่อมองย้อนกลับไป ผมคิดว่าถ้าผมแค่พูดทำนองนี้ เราก็คงไม่ต้องทะเลาะกันบ่อย ๆ.”—เคนจิ ญี่ปุ่น
กำลังเรียนรู้จักตนเอง
เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในการอบรมเลี้ยงดูลูกวัยรุ่น คือ ช่วยเขาให้พร้อมที่จะออกไปเผชิญชีวิตด้วยตัวเองและเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ. (เยเนซิศ 2:24) เพื่อจะบรรลุเป้าหมายนี้ เด็กวัยรุ่นต้องพัฒนาเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งลักษณะนิสัย ความเชื่อ และค่านิยมซึ่งเป็นตัวตนของเขา. เมื่อถูกกดดันให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เด็กวัยรุ่นที่รู้จักตัวเองดีจะไม่เพียงคิดถึงผลกระทบที่เกิดจากการตัดสินใจของเขาเท่านั้น แต่จะถามตัวเองด้วยว่า ‘ฉันเป็นคนแบบไหน? ฉันยึดมั่นกับค่านิยมเช่นไร? คนที่มีค่านิยมแบบนั้นจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้?’—2 เปโตร 3:11
คัมภีร์ไบเบิลบันทึกเรื่องราวของชายหนุ่มชื่อโยเซฟซึ่งยึดมั่นกับค่านิยมของตนเอง. ตัวอย่างเช่น เมื่อภรรยาของโพติฟาชักชวนโยเซฟให้หลับนอนกับเธอ โยเซฟตอบว่า “ข้าพเจ้าจะทำผิดดังนี้อย่างไรได้, เป็นบาปใหญ่หลวงนักต่อพระเจ้า.” (เยเนซิศ 39:10) แม้ว่าในตอนนั้นพระเจ้ายังไม่ได้ให้กฎหมายที่ห้ามการเล่นชู้แก่ชาวอิสราเอล แต่โยเซฟก็รู้ว่าพระเจ้าคิดอย่างไรในเรื่องนี้. ยิ่งกว่านั้น คำพูดที่ว่า “ข้าพเจ้าจะทำผิดดังนี้อย่างไรได้” แสดงว่าโยเซฟได้ฝึกฝนตัวเองให้คิดแบบเดียวกับพระเจ้า และความคิดแบบนั้นได้หล่อหลอมตัวตนของเขา.—เอเฟโซส์ 5:1
ลูกของคุณก็อยู่ในวัยกำลังพัฒนาเอกลักษณ์ของตนเอง. ขั้นตอนนี้นับว่าสำคัญ เพราะถ้าเขามีความเชื่อมั่นในค่านิยมของตน เขาก็จะยืนหยัดต้านทานแรงกดดันจากเพื่อนรุ่นเดียวกันได้. (สุภาษิต 1:10-15) แต่ในอีกด้านหนึ่งความเชื่อมั่นเช่นนั้นอาจทำให้ลูกวัยรุ่นมีเรื่องขัดแย้งกับคุณ. ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น คุณจะทำอย่างไร?
ลองวิธีนี้: แทนที่จะโมโหและทะเลาะกับลูก คุณอาจเพียงแค่พูดซ้ำความคิดเห็นของเขา. (“ตกลงลูกหมายถึง . . . ใช่ไหม?”) จากนั้น คุณค่อยถามคำถาม. (“อะไรทำให้ลูกรู้สึกอย่างนั้น?” หรือ “ทำไมลูกคิดแบบนี้?”) พยายามเข้าใจความคิดของลูก. ให้เขาได้พูดออกมาว่าเขาคิดอย่างไร. ถ้าเป็นแค่เรื่องความชอบส่วนตัวและไม่มีใครผิดใครถูก คุณน่าจะทำให้ลูกเห็นว่าคุณยอมรับความคิดเห็นของเขา แม้คุณจะไม่เห็นด้วยทั้งหมดก็ตาม.
การพัฒนาเอกลักษณ์และความเชื่อมั่นในค่านิยมของตัวเองไม่ได้เป็นเพียงพัฒนาการตามปกติของวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อเขาด้วย. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคริสเตียนไม่ควรเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่ “ถูกซัดไปซัดมาเหมือนโดนคลื่นและถูกพาไปทางนั้นบ้างทางนี้บ้างโดยลมแห่งคำสอนทุกอย่าง.” (เอเฟโซส์ 4:14) ดังนั้น คุณต้องให้โอกาสลูกหรือถึงกับช่วยเขาให้เรียนรู้จักตัวเองและพัฒนาความเชื่อมั่นในค่านิยมของเขา.
“เมื่อฉันทำให้ลูก ๆ เห็นว่าฉันเต็มใจรับฟังความคิดเห็นของพวกเธอ ลูกก็ยอมรับฟังความคิดเห็นของฉันมากขึ้น แม้ว่าเราจะคิดต่างกันก็ตาม. ฉันพยายามไม่บังคับลูกให้คิดเหมือนฉัน แต่ปล่อยให้พวกเธอเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง.”—อิวานา สาธารณรัฐเช็ก
หนักแน่นแต่มีเหตุผล
วัยรุ่นบางคนอาจทำตัวเหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่ชอบรบเร้าเซ้าซี้เพื่อให้คุณยอมตามใจ. ถ้าลูกของคุณทำแบบนี้บ่อย ๆ คุณต้องระวัง. แม้ว่าการตามใจลูกอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ได้ผล แต่ถ้าคุณทำเช่นนั้นก็เท่ากับสอนลูกให้คิดว่าการต่อล้อต่อเถียงเป็นวิธีที่เขาจะได้สิ่งที่ต้องการ. วิธีแก้คืออะไร? ขอให้ทำตามคำแนะนำของพระเยซูที่ว่า “ให้คำของเจ้าที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่ ที่ว่าไม่ หมายความว่าไม่.” (มัดธาย 5:37) ลูกวัยรุ่นมักจะไม่เซ้าซี้หรือหาเรื่องทะเลาะกับคุณ ถ้าเขารู้ว่าคุณเป็นคนที่พูดคำไหนคำนั้น.
แต่ขณะเดียวกัน คุณเองต้องมีเหตุผล. ตัวอย่างเช่น คุณอาจให้ลูกวัยรุ่นอธิบายว่าเขามีเหตุผลอะไรที่บางครั้งต้องกลับบ้านดึกกว่าเวลาที่กำหนดไว้. การทำอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณยอมใจอ่อนเพราะทนการรบเร้าไม่ไหว แต่คุณกำลังทำตามที่คัมภีร์ไบเบิลแนะนำไว้ว่า “ให้คนทั้งปวงเห็นว่าท่านทั้งหลายเป็นคนมีเหตุผล.”—ฟิลิปปอย 4:5
ลองวิธีนี้: ให้ทั้งครอบครัวนั่งคุยกันเพื่อตั้งกฎในบ้าน เช่น เวลาที่ลูกควรกลับบ้าน. แสดงให้ลูกเห็นว่าคุณยินดีรับฟังและชั่งดูเหตุผลต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจ. โรเบอร์ตู พ่อคนหนึ่งในบราซิลแนะนำว่า “เด็กวัยรุ่นควรได้เห็นว่าพ่อแม่พร้อมจะอนุญาตเสมอ ถ้าสิ่งที่เขาขอไม่ขัดกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล.”
จริงอยู่ ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่สมบูรณ์แบบ. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เราต่างพลาดพลั้งกันหลายครั้ง.” (ยาโกโบ 3:2) ถ้าคุณพบว่าตัวเองมีส่วนทำให้ลูกวัยรุ่นโต้เถียงกับคุณ อย่าลังเลที่จะขอโทษลูก. การที่คุณยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองช่วยสอนบทเรียนเรื่องความถ่อมใจให้กับลูกและกระตุ้นเขาให้เลียนแบบคุณ.
“ครั้งหนึ่งหลังจากที่ผมทะเลาะกับลูกชาย พอใจเย็นลงแล้วผมก็ไปขอโทษที่อารมณ์เสียใส่เขา. นั่นทำให้เขาเองก็ใจเย็นลงและฟังผมมากขึ้น.”—เคนจิ ญี่ปุ่น
a บางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
b คำแนะนำในบทความนี้ใช้ได้กับวัยรุ่นทั้งชายและหญิง.
ถามตัวเองว่า . . .
ฉันเองอาจมีส่วนบ้างไหมที่ทำให้ลูกวัยรุ่นเถียงกับฉัน?
ฉันจะนำคำแนะนำในบทความนี้ไปใช้ได้อย่างไรเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกวัยรุ่น?
ฉันจะพูดคุยกับลูกวัยรุ่นโดยไม่ต้องทะเลาะกันได้อย่างไร?