คุณไว้ใจสติรู้สึกผิดชอบของคุณได้ไหม?
ภายใต้สภาพการณ์ปกติ เข็มทิศเป็นเครื่องมือที่ไว้ใจได้. เข็มของเข็มทิศซึ่งถูกกำหนดทิศทางโดยสนามแม่เหล็กโลกนั้นชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ. ดังนั้น นักเดินทางสามารถอาศัยเข็มทิศในการชี้ทางเมื่อไม่มีวัตถุที่จะเป็นเครื่องหมายบอกตำแหน่งหรือทิศทาง. แต่เกิดอะไรขึ้นเมื่อเอาวัตถุที่เป็นแม่เหล็กไปวางใกล้เข็มทิศ? เข็มจะหมุนชี้มาทางแม่เหล็กแทนที่จะชี้ไปทางทิศเหนือ. เข็มทิศนั้นไม่ใช่เครื่องนำทางที่ไว้ใจได้อีกต่อไป.
สิ่งที่คล้ายกันอาจเกิดขึ้นได้กับสติรู้สึกผิดชอบของมนุษย์. พระผู้สร้างทรงปลูกฝังความสามารถนี้ไว้ในตัวเราเพื่อใช้เป็นเครื่องนำทางที่ไว้ใจได้. เนื่องจากเราถูกสร้างตามแบบพระฉายของพระเจ้า สติรู้สึกผิดชอบน่าจะชี้นำเราในทิศทางที่ถูกต้องเสมอเมื่อเราต้องทำการตัดสินใจ. สติรู้สึกผิดชอบควรกระตุ้นเราให้สะท้อนมาตรฐานด้านศีลธรรมของพระเจ้า. (เยเนซิศ 1:27) ปกติก็เป็นเช่นนั้น. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนอัครสาวกเปาโลเขียนว่าแม้แต่บางคนที่ไม่มีกฎหมายซึ่งพระเจ้าทรงเปิดเผยให้ก็ยัง “ประพฤติตามพระบัญญัติโดยธรรมชาติ.” เพราะเหตุใด? เพราะ “สติรู้สึกผิดชอบของเขาเป็นพยานด้วยกันกับเขา.”—โรม 2:14, 15, ล.ม.
กระนั้นก็ดี สติรู้สึกผิดชอบใช่ว่าจะเตือนเราเสมอในตอนที่น่าจะทำเช่นนั้น. เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ เรามีแนวโน้มจะทำสิ่งที่รู้ว่าผิด. เปาโลยอมรับว่า “ส่วนลึกในใจของข้าพเจ้านั้นข้าพเจ้าชื่นชมในธรรมบัญญัติของพระเจ้า แต่ข้าพเจ้าเห็นมีกฎอีกอย่างหนึ่งอยู่ในกายของข้าพเจ้า ซึ่งต่อสู้กับกฎแห่งจิตใจของข้าพเจ้า และชักนำให้ข้าพเจ้าอยู่ใต้บังคับกฎแห่งบาป ซึ่งอยู่ในกายของข้าพเจ้า.” (โรม 7:22, 23, ฉบับแปลใหม่) หากเรายอมจำนนต่อแนวโน้มที่ผิดบ่อย ๆ แล้ว สติรู้สึกผิดชอบของเราอาจค่อย ๆ ด้านชาและในที่สุดก็เลิกบอกเราว่าการกระทำเช่นนั้นผิด.
แต่ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม เราสามารถปรับสติรู้สึกผิดชอบให้ตรงกับมาตรฐานของพระเจ้าได้. ที่จริง นับว่าสำคัญที่เราทำเช่นนั้น. สติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดซึ่งได้รับการอบรมอย่างเหมาะสมไม่เพียงนำไปสู่สัมพันธภาพที่อบอุ่นเป็นส่วนตัวกับพระเจ้าเท่านั้น แต่จำเป็นสำหรับความรอดของเราด้วย. (เฮ็บราย 10:22; 1 เปโตร 1:15, 16) นอกจากนี้ สติรู้สึกผิดชอบที่ดีจะช่วยเราให้ทำการตัดสินใจที่ฉลาดในชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพและความสุข. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวถึงคนที่มีสติรู้สึกผิดชอบเช่นนั้นว่า “พระบัญญัติของพระเจ้าอยู่ในใจของผู้สัตย์ธรรมนั้น; ย่างเท้าของเขาจะไม่พลั้งพลาดเลย.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:31.
การฝึกสติรู้สึกผิดชอบ
การฝึกสติรู้สึกผิดชอบไม่ใช่เพียงแต่ท่องจำรายการกฎหมายต่าง ๆ แล้วยึดกับกฎเหล่านั้นอย่างเคร่งครัดเท่านั้น. พวกฟาริซายในสมัยของพระเยซูได้ทำเช่นนั้น. ผู้นำศาสนาเหล่านี้ทราบพระบัญญัติและได้พัฒนาประเพณีที่มีข้อปลีกย่อยขึ้น โดยเข้าใจเอาว่าเพื่อช่วยประชาชนหลีกเลี่ยงการฝ่าฝืนพระบัญญัติ. ดังนั้น พวกเขาจึงคัดค้านทันทีเมื่อสาวกของพระเยซูเด็ดรวงข้าวในวันซะบาโตแล้วกินเมล็ดข้าว. และพวกเขาได้ทักท้วงพระเยซูที่รักษาชายมือลีบให้หายในวันซะบาโต. (มัดธาย 12:1, 2, 9, 10) การกระทำทั้งสองอย่างนี้ ตามประเพณีของพวกฟาริซายแล้ว เท่ากับเป็นการละเมิดพระบัญญัติประการที่สี่.—เอ็กโซโด 20:8-11.
ปรากฏชัดว่า พวกฟาริซายได้ศึกษาพระบัญญัติ. แต่สติรู้สึกผิดชอบของพวกเขาถูกปรับให้ตรงกับมาตรฐานของพระเจ้าไหม? ไม่เลยทีเดียว! ทันทีหลังจากการหาความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎวันซะบาโตอย่างยิ่ง พวกฟาริซายปรึกษากันเพื่อเล่นงานพระเยซูว่า “ทำอย่างไรจึงจะกำจัดพระองค์ได้.” (มัดธาย 12:14) คิดดูสิ—ผู้นำศาสนาที่ถือว่าตัวเองชอบธรรมเหล่านี้เดือดดาลต่อความคิดเรื่องการเด็ดรวงข้าวสด ๆ มากินและการรักษาคนป่วยในวันซะบาโต แต่พวกเขาไม่มีความประหวั่นพรั่นพรึงในการวางแผนร้ายเพื่อสังหารพระเยซู!
พวกปุโรหิตใหญ่สำแดงแนวคิดที่บิดเบือนคล้ายกัน. ผู้ชายที่เสื่อมทรามเหล่านี้ไม่รู้สึกมีความผิดแต่อย่างใดเมื่อเอาเงินจากคลังพระวิหารเสนอยูดา 30 แผ่นสำหรับการทรยศต่อพระเยซู. แต่เมื่อยูดาเอาเงินมาคืนโดยไม่มีใครคาดคิด โดยโยนเงินนั้นกลับเข้าไปในพระวิหาร สติรู้สึกผิดชอบของพวกปุโรหิตใหญ่ประสบกับสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเกี่ยวด้วยกฎหมาย. พวกเขาพูดว่า “เป็นการผิดกฎหมายที่จะเก็บเงินนั้นไว้ในคลัง, เพราะเป็นค่าโลหิต.” (มัดธาย 27:3-6) เห็นได้ชัดว่า พวกปุโรหิตใหญ่เป็นห่วงว่าเงินของยูดาตอนนี้ไม่สะอาดแล้ว. (เทียบกับพระบัญญัติ 23:18.) กระนั้น คนกลุ่มเดียวกันนี้ไม่เห็นว่าผิดอะไรในการใช้เงินเพื่อซื้อการทรยศต่อพระบุตรของพระเจ้า!
ปรับให้เข้ากับพระดำริของพระเจ้า
ตัวอย่างดังกล่าวแสดงว่าการฝึกสติรู้สึกผิดชอบจำเป็นต้องมีไม่เพียงการทำให้จิตใจเต็มด้วยรายการกฎเกณฑ์ต่าง ๆ. เป็นความจริงที่ว่า ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญ และการเชื่อฟังกฎหมายเหล่านั้นจำเป็นเพื่อความรอด. (บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11) อย่างไรก็ตาม นอกจากเรียนรู้กฎหมายของพระเจ้าแล้ว เราต้องพัฒนาหัวใจที่ปรับให้เข้ากับพระดำริของพระเจ้า. ครั้นแล้วเราอาจประสบความสำเร็จเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของพระยะโฮวาโดยทางยะซายาซึ่งกล่าวว่า “ตาของเจ้าเองก็จะได้เห็นพระครูนั้น; และเมื่อเจ้าสงสัยว่าจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา, หูของเจ้าก็จะได้ยินเสียงแนะมาข้างหลังของเจ้าว่า, “ทางนี้แหละ; เดินไปเถอะ!”—ยะซายา 30:20, 21; 48:17.
แน่นอน นี่มิได้หมายความว่าเมื่อเราเผชิญกับการตัดสินใจที่สำคัญ จะมีเสียงจริง ๆ บอกเราให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง. กระนั้นก็ดี เมื่อความคิดของเราได้รับการปรับให้เข้ากับพระดำริของพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ แล้ว สติรู้สึกผิดชอบของเราจะเตรียมพร้อมยิ่งขึ้นเพื่อช่วยเราทำการตัดสินใจซึ่งจะทำให้พระองค์พอพระทัย.—สุภาษิต 27:11.
ขอพิจารณาดูโยเซฟซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างศตวรรษที่ 18 ก่อนสากลศักราช. เมื่อภรรยาของโพติฟารุกเร้าท่านให้เป็นชู้กับเธอนั้น โยเซฟปฏิเสธโดยบอกว่า “ข้าพเจ้าจะทำผิดดังนี้อย่างไรได้, เป็นบาปใหญ่หลวงนักต่อพระเจ้า.” (เยเนซิศ 39:10) ในสมัยของโยเซฟ ไม่มีกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจากพระเจ้าที่แถลงว่าการเล่นชู้นั้นผิด. นอกจากนี้ โยเซฟอยู่ในอียิปต์ ห่างไกลจากวินัยของครอบครัวหรือกฎของบรรพชน. ถ้าเช่นนั้น อะไรทำให้โยเซฟสามารถต้านทานการล่อใจได้? พูดง่าย ๆ สติรู้สึกผิดชอบของท่านที่ฝึกมาแล้วนั่นเอง. โยเซฟนำทัศนะของพระเจ้ามาใช้ที่ว่าสามีกับภรรยาต้องเป็น “เนื้อหนังอันเดียวกัน.” (เยเนซิศ 2:24) ท่านเห็นว่าเป็นการผิดที่จะรับเอาภรรยาของชายอื่น. ความคิดของโยเซฟได้รับการปรับให้เข้ากับพระดำริของพระเจ้าในเรื่องนั้น. การเล่นชู้เป็นการฝ่าฝืนจิตสำนึกทางศีลธรรมของท่าน.
ปัจจุบัน มีน้อยคนเป็นเหมือนโยเซฟ. การผิดศีลธรรมทางเพศมีอยู่ดาษดื่น และหลายคนไม่รู้สึกรับผิดชอบต่อพระผู้สร้าง, ต่อตัวเอง, หรือแม้แต่ต่อคู่สมรสของตนเพื่อคงสะอาดด้านศีลธรรมอยู่ต่อไป. สภาพการณ์เหมือนกันทีเดียวกับที่พรรณนาไว้ในพระธรรมยิระมะยาที่ว่า “ไม่มีมนุษย์คนหนึ่งคนใดที่ได้กลับใจจากความชั่วของตัวว่า, ตัวข้าพเจ้านี้ได้กระทำอะไร, เขาทุกคนได้หันไปเพื่อจะได้ตามทางของตัว, ดุจม้าวิ่งเข้าไปในการรบทัพ.” (ยิระมะยา 8:6) ดังนั้น มีความจำเป็นยิ่งกว่าเคยเป็นมาที่จะปรับตัวเราให้เข้ากับพระดำริของพระเจ้า. เรามีการจัดเตรียมที่ดีเยี่ยมเพื่อช่วยเราให้ทำเช่นนั้น.
เครื่องช่วยเพื่อฝึกสติรู้สึกผิดชอบ
พระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ “เป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม, เพื่อคนของพระเจ้าจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน, เตรียมพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17, ล.ม.) การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยเราฝึกฝนสิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่า “ความสามารถในการสังเกตเข้าใจ” ของเรา เพื่อจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด. (เฮ็บราย 5:14, ล.ม.) การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจะทำให้เราสามารถพัฒนาความรักต่อสิ่งที่พระเจ้าทรงรักและความเกลียดชังต่อสิ่งที่พระองค์ทรงเกลียด.—บทเพลงสรรเสริญ 97:10; 139:21.
ดังนั้นแล้ว เป้าหมายในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลคือ เพื่อเข้าใจเจตนารมณ์และสาระสำคัญของความจริงแทนที่จะเพียงเพื่อได้รับความรู้ที่ละเอียดเท่านั้น. ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มิถุนายน 1977 กล่าวว่า “ในการศึกษาพระคัมภีร์ เราควรพยายามจับความหมายในเรื่องความยุติธรรม, ความรัก, และความชอบธรรมของพระเจ้าและปลูกฝังคุณสมบัติเหล่านี้ให้ลึกลงไปในหัวใจของเราเพื่อคุณลักษณะเหล่านี้จะได้กลายมาเป็นส่วนประกอบของเราเช่นเดียวกับการกินและการหายใจ. เราควรพยายามทำให้ความรู้สึกเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางด้านศีลธรรมนั้นตื่นตัวเต็มที่มากขึ้นโดยการปลูกฝังความรอบรู้ที่ว่องไวในเรื่องสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิด. นอกจากนี้เราควรทำให้สติรู้สึกผิดชอบของเราสำนึกอย่างแรงกล้าถึงหน้าที่รับผิดชอบของตนต่อท่านผู้ประทานกฎหมายและผู้พิพากษาองค์ยิ่งใหญ่. (ยะซายา 33:23) ดังนั้น ขณะที่เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับพระเจ้า เราจึงควรพยายามเลียนแบบพระองค์ในทุกแง่ทุกมุมของชีวิต.”
การได้มาซึ่ง “พระทัยของพระคริสต์”
การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยเราให้ได้รับ “พระทัยของพระคริสต์” คือแนวโน้มทางจิตใจของการเชื่อฟังและความถ่อมใจที่พระเยซูทรงแสดงนั้นด้วย. (1 โกรินโธ 2:16) การทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดาเป็นความยินดี มิใช่เป็นเพียงกิจวัตรที่ต้องปฏิบัติตามโดยอัตโนมัติ โดยปราศจากความคิด. ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้พรรณนาเจตคติของพระองค์ไว้เป็นเชิงพยากรณ์ โดยเขียนว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้ายินดีที่จะประพฤติตามน้ำพระทัยของพระองค์; แท้จริงพระบัญญัติของพระองค์อยู่ในใจของข้าพเจ้า.”a—บทเพลงสรรเสริญ 40:8.
การได้มาซึ่ง “พระทัยของพระคริสต์” เป็นสิ่งสำคัญเพื่อฝึกสติรู้สึกผิดชอบ. เมื่ออยู่บนแผ่นดินโลกฐานะมนุษย์สมบูรณ์ พระเยซูทรงสะท้อนคุณลักษณะและบุคลิกภาพของพระบิดาครบถ้วนที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในขอบเขตของมนุษย์. ดังนั้น พระองค์สามารถตรัสว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา.” (โยฮัน 14:9) ในทุกสถานการณ์ที่พระองค์เผชิญบนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงทำสิ่งที่พระบิดาประสงค์ให้พระองค์กระทำนั้นทีเดียว. เพราะฉะนั้น เมื่อเราศึกษาชีวิตของพระเยซู เราได้ภาพที่แจ่มชัดว่าพระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นเช่นไร.
เราอ่านว่าพระยะโฮวา “ทรงเมตตาและอุดมด้วยพระคุณ ช้าในการโกรธและบริบูรณ์ด้วยความรักกรุณา.” (เอ็กโซโด 34:6, ล.ม.) หลายครั้ง พระเยซูทรงสำแดงคุณลักษณะเหล่านี้ในการปฏิบัติกับเหล่าสาวก. เมื่อพวกเขาโต้เถียงกันครั้งแล้วครั้งเล่าว่าใครเป็นคนที่ใหญ่กว่า พระเยซูทรงสอนพวกเขาด้วยความอดทนโดยคำพูดและตัวอย่างที่ว่า “ผู้ใดใคร่จะได้เป็นใหญ่ก็ให้ผู้นั้นเป็นผู้ปรนนิบัติท่านทั้งหลาย. ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นเอกเป็นต้นก็ให้ผู้นั้นเป็นทาสของพวกท่าน.” (มัดธาย 20:26, 27) นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าเราอาจถูกปรับให้เข้ากับพระดำริของพระเจ้าได้โดยการพิจารณาชีวิตของพระเยซู.
ยิ่งเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูมากเท่าใด เราก็ยิ่งจะเตรียมพร้อมมากขึ้นเท่านั้นที่จะเลียนแบบพระยะโฮวา พระบิดาของเราทางภาคสวรรค์. (เอเฟโซ 5:1, 2) สติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการปรับให้เข้ากับพระดำริของพระเจ้าจะชี้นำเราในทิศทางที่ถูกต้อง. พระยะโฮวาทรงสัญญากับคนเหล่านั้นที่วางใจในพระองค์ว่า “เราจะทำให้ท่านมีความหยั่งเห็นเข้าใจ และสั่งสอนท่านในทางควรจะไป. เราจะให้คำแนะนำพร้อมกับทอดพระเนตรดูท่าน.”—บทเพลงสรรเสริญ 32:8, ล.ม.
การได้รับประโยชน์จากสติรู้สึกผิดชอบที่ฝึกมาแล้ว
เพราะทราบความดื้อรั้นของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ โมเซได้เตือนชนยิศราเอลว่า “เจ้าทั้งหลายจงสนใจในถ้อยคำทั้งปวงเหล่านี้ที่เราได้สำแดงแก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้, เจ้าทั้งหลายจงสั่งให้บุตรหลานของเจ้า, เชื่อฟังทำตามบรรดาถ้อยคำพระบัญญัติเหล่านี้.” (พระบัญญัติ 32:46) เราต้องเขียนกฎหมายของพระเจ้าไว้ในหัวใจของเราเช่นกัน. หากเราทำเช่นนั้น ก็มีท่าทีมากขึ้นว่าสติรู้สึกผิดชอบจะชี้นำฝีก้าวของเราและช่วยเราทำการตัดสินใจที่ถูกต้อง.
แน่นอน เราต้องระมัดระวัง. สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มีทางหนึ่งซึ่งดูเหมือนบางคนเห็นว่าเป็นทางถูก; แต่ปลายทางนั้นเป็นทางแห่งความตาย.” (สุภาษิต 14:12) ทำไมเป็นเช่นนี้อยู่เนือง ๆ? เพราะดังที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ “หัวใจทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด. ใครจะรู้จักหัวใจได้เล่า?” (ยิระมะยา 17:9, ล.ม.) ฉะนั้น จำเป็นที่เราทุกคนต้องปฏิบัติตามคำตักเตือนของสุภาษิต 3:5, 6 ที่ว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.”
[เชิงอรรถ]
a ในจดหมายถึงชาวฮีบรู อัครสาวกเปาโลนำถ้อยคำในเพลงสรรเสริญบทที่ 40 มาใช้กับพระเยซูคริสต์.—เฮ็บราย 10:5-10.
[รูปภาพหน้า 7]
เช่นเดียวกับเข็มทิศ สติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกโดยคัมภีร์ไบเบิลสามารถชี้นำเราไปในทิศทางที่ถูกต้องได้
[ที่มาของภาพ]
Compass: Courtesy, Peabody Essex Museum, Salem, Mass.