“พระองค์ผู้พิพากษาโลกทั้งสิ้น” ทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ
“พระเจ้าผู้เป็นเหมือนหินที่แข็งแกร่ง สิ่งที่พระองค์ทำดีเยี่ยมไม่มีที่ติ เพราะแนวทางทั้งหมดของพระองค์ยุติธรรม”—ฉธบ. 32:4
1. อับราฮัมแสดงอย่างไรว่าเขามั่นใจในความยุติธรรมของพระยะโฮวา? (ดูภาพแรก)
“พระองค์ผู้พิพากษาโลกทั้งสิ้นจะทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างแน่นอน” (ปฐก. 18:25) อับราฮัมผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์พูดประโยคนี้เพราะเขามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะพิพากษาเมืองโสโดมและโกโมราห์ด้วยความยุติธรรมอย่างสมบูรณ์แบบ อับราฮัมมั่นใจว่าพระยะโฮวา “จะไม่ประหารคนดีให้ตายไปพร้อมกับคนชั่วแน่ ๆ” เขารู้ว่า “พระองค์ไม่มีทางทำอย่างนั้น” หลังจากนั้นประมาณ 400 ปีพระยะโฮวาพูดถึงตัวพระองค์เองว่าเป็น “พระเจ้าผู้เป็นเหมือนหินที่แข็งแกร่ง สิ่งที่พระองค์ทำดีเยี่ยมไม่มีที่ติ เพราะแนวทางทั้งหมดของพระองค์ยุติธรรม พระองค์เป็นพระเจ้าที่ซื่อสัตย์และยุติธรรมเสมอ พระองค์เป็นพระเจ้าที่เที่ยงธรรมและซื่อตรง”—ฉธบ. 31:19; 32:4
2. ทำไมถึงเป็นไปไม่ได้ที่พระยะโฮวาจะไม่ยุติธรรม?
2 ทำไมอับราฮัมถึงมั่นใจขนาดนั้นว่าพระยะโฮวาจะทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ? เพราะพระยะโฮวาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องความถูกต้องและความยุติธรรม ในภาษาฮีบรูคำว่า “ยุติธรรม” และ “ถูกต้อง” มีความหมายคล้ายกัน จึงมักใช้ 2 คำนี้คู่กันในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เนื่องจากมาตรฐานของพระยะโฮวาถูกต้องไม่มีที่ติ พระองค์จึงสามารถพิพากษาเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเสมอ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระองค์รักความถูกต้องและความยุติธรรม”—สด. 33:5
3. ขอยกตัวอย่างความไม่ยุติธรรมในทุกวันนี้
3 เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจที่ได้รู้ว่าพระยะโฮวายุติธรรมเสมอ แต่โลกทุกวันนี้มีแต่ความไม่ยุติธรรม ตัวอย่างเช่น หลายคนถูกตัดสินจำคุกเพราะสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ ถึงแม้การตรวจดีเอ็นเอช่วยบางคนพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้ทำผิด แต่กว่าจะได้รับความเป็นธรรมเขาก็ต้องติดคุกนานหลายปี ความไม่ยุติธรรมแบบนี้ทำให้ผู้คนรู้สึกโกรธและผิดหวัง ถึงอย่างนั้น ยังมีความไม่ยุติธรรมอีกอย่างที่เราอาจทนได้ยากกว่า นั่นคืออะไร?
ความไม่ยุติธรรมในประชาคม
4. ความเชื่อของเราอาจถูกทดสอบได้อย่างไร?
4 พวกเราที่เป็นคริสเตียนคาดหมายอยู่แล้วว่าต้องเจอกับความไม่ยุติธรรมเมื่อติดต่อเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ใช่พยานฯแต่ถ้าเราเห็นความไม่ยุติธรรมในประชาคมหรือเจอความไม่ยุติธรรมกับตัวเอง เรื่องนี้คงต้องทดสอบความเชื่อของเราแน่ ๆ ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น คุณจะทำอย่างไร? คุณจะสะดุดไหม?
5. ทำไมไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราเห็นความไม่ยุติธรรมบางอย่างในประชาคมหรือเราถึงกับเจอด้วยตัวเอง?
5 พวกเราทุกคนไม่สมบูรณ์แบบและทำผิดพลาด ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่พี่น้องบางคนอาจทำกับเราอย่างไม่ยุติธรรม หรือเราก็อาจทำอย่างนั้นกับคนอื่นด้วยเหมือนกัน (1 ยน. 1:8) ถึงแม้เรื่องนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่เราที่เป็นคริสเตียนที่ซื่อสัตย์จะไม่แปลกใจหรือสะดุดถ้ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในประชาคม พระยะโฮวาให้คำแนะนำที่ใช้ได้จริงในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยเรารักษาความซื่อสัตย์ ถ้าเราต้องเจอกับความไม่ยุติธรรมที่พี่น้องทำกับเรา—สด. 55:12-14
6, 7. พี่น้องชายคนหนึ่งต้องเจอกับความไม่ยุติธรรมอะไร? และคุณลักษณะอะไรที่ช่วยเขา?
6 ลองคิดถึงประสบการณ์ของพี่น้องวิลลี ดีล ตั้งแต่ปี 1931 พี่น้องวิลลีรับใช้อย่างซื่อสัตย์ที่เบเธลในเมืองเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พอถึงปี 1946 เขาได้เข้าโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 8 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พอเรียนจบ เขาได้รับมอบหมายให้เดินหมวดในสวิตเซอร์แลนด์ ในบทความเรื่องราวชีวิตจริงของเขา พี่น้องวิลลีเล่าว่าในเดือนพฤษภาคม ปี 1949 เขาบอกกับสำนักงานสาขาสวิตเซอร์แลนด์ว่าเขาวางแผนจะแต่งงาน แต่สาขาบอกว่าเขาจะต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทั้งหมดที่มีในตอนนั้น และจะได้เป็นแค่ไพโอเนียร์ประจำเท่านั้น พี่น้องวิลลีบอกว่า “ผมไม่ได้รับอนุญาตให้บรรยาย พี่น้องหลายคนไม่ทักทายเรา ปฏิบัติกับเราเสมือนคนที่ถูกตัดสัมพันธ์”
7 พอเจออย่างนี้พี่น้องวิลลีทำอย่างไร? เขาบอกว่า “เรารู้ว่าการสมรสไม่ผิดหลักพระคัมภีร์ ดังนั้น เราหมายพึ่งพระเจ้าด้วยการอธิษฐานและฝากความวางใจไว้กับพระยะโฮวา” ถึงแม้พี่น้องบางคนในตอนนั้นมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการแต่งงาน แต่ในที่สุดพวกเขาก็เข้าใจมากขึ้น แล้วพี่น้องวิลลีก็ได้รับสิทธิพิเศษกลับคืนมา พระยะโฮวาอวยพรความซื่อสัตย์ของเขาจริง ๆ a ขอเราถามตัวเองว่า ‘ถ้าฉันต้องเจอกับความไม่ยุติธรรมแบบนี้ ฉันจะอดทนรอให้พระยะโฮวาจัดการเรื่องต่าง ๆ ไหม? หรือฉันพยายามต่อสู้ด้วยตัวเองเพื่อจะได้รับความยุติธรรม?’—สภษ. 11:2; อ่านมีคาห์ 7:7
8. ทำไมอาจเป็นไปได้ที่เราจะเข้าใจผิดว่าตัวเราหรือคนอื่นไม่ได้รับความยุติธรรม?
8 ถ้าคุณรู้สึกว่ามีความไม่ยุติธรรมบางอย่างเกิดขึ้นในประชาคม ขอจำไว้ว่าคุณอาจเข้าใจผิดก็ได้ เพราะอะไร? พวกเราไม่สมบูรณ์แบบและอาจเข้าใจบางเรื่องผิดไป นอกจากนั้นเราอาจไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ไม่ว่าเราจะเข้าใจถูกหรือผิด เราต้องอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราต้องพึ่งพระองค์และซื่อสัตย์ภักดีกับพระองค์ต่อไป การทำอย่างนี้จะช่วยให้เราไม่ “โกรธพระยะโฮวา”—อ่านสุภาษิต 19:3
9. เราจะเรียนอะไรบ้างในบทความนี้และบทความหน้า?
9 ให้เรามาเรียน 3 เรื่องในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมที่ประชาชนของพระเจ้าต้องเจอ ในบทความนี้ เราจะดูตัวอย่างของโยเซฟเหลนของอับราฮัมและสิ่งที่พวกพี่ชายทำกับเขา ในบทความหน้า เราจะดูว่าพระยะโฮวาทำอะไรกับกษัตริย์อาหับ และจะได้ดูสิ่งที่อัครสาวกเปโตรทำที่อันทิโอกในซีเรีย ตอนที่เราดูตัวอย่างเหล่านี้ ขอให้สังเกตว่าคุณจะคิดถึงพระยะโฮวาเป็นอันดับแรกและรักษาความสัมพันธ์ที่มีกับพระองค์ไว้ได้อย่างไร โดยเฉพาะตอนที่คุณรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม
โยเซฟตกเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรม
10, 11. (ก) โยเซฟต้องเจอความไม่ยุติธรรมอะไร? (ข) โยเซฟมีโอกาสอะไรตอนที่อยู่ในคุก?
10 โยเซฟเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาที่ต้องเจอความไม่ยุติธรรมจากคนอื่น แต่สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดก็คือเขาต้องเจอเรื่องนี้จากพวกพี่ชายของเขาด้วย ตอนที่โยเซฟอายุ 17 พวกพี่ชายจับตัวเขาไปขายเป็นทาส เขาถูกพาตัวไปที่อียิปต์ (ปฐก. 37:23-28; 42:21) ตอนที่อยู่ต่างแดน โยเซฟยังถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่าพยายามข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่งและถูกจับเข้าคุกโดยยังไม่ได้พิจารณาคดีเลยด้วยซ้ำ (ปฐก. 39:17-20) โยเซฟเป็นทุกข์เพราะต้องกลายเป็นทาสและเป็นนักโทษนานถึง 13 ปี เราได้บทเรียนอะไรจากประสบการณ์ของโยเซฟเมื่อเราต้องเจอความไม่ยุติธรรมที่พี่น้องทำกับเรา?
11 ตอนที่โยเซฟอยู่ในคุก หัวหน้าพนักงานรินเครื่องดื่มของกษัตริย์ก็ถูกจับเข้าคุกด้วย คืนหนึ่ง หัวหน้าคนนั้นฝัน และพระยะโฮวาช่วยโยเซฟให้อธิบายความฝันนั้นได้ โยเซฟบอกหัวหน้าคนนั้นว่าจะถูกปล่อยตัวและได้กลับไปรับใช้ฟาโรห์อีกครั้ง และโยเซฟใช้โอกาสนี้เล่าให้หัวหน้าพนักงานรินเครื่องดื่มฟังว่าตัวโยเซฟเองต้องเจอกับอะไรบ้าง เราสามารถเรียนหลายอย่างไม่ใช่แค่จากสิ่งที่โยเซฟพูด แต่จากสิ่งที่เขาไม่ได้พูดด้วย—ปฐก. 40:5-13
12, 13. (ก) เรารู้ได้อย่างไรว่าโยเซฟไม่ได้แค่ยอมรับความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเขา? (ข) โยเซฟไม่ได้บอกอะไรกับพนักงานรินเครื่องดื่ม?
12 อ่านปฐมกาล 40:14, 15 สังเกตว่าโยเซฟบอกว่าเขา “ถูกจับตัวมา” ซึ่งแสดงว่าเขาเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรม โยเซฟยังพูดตรง ๆ เลยว่าเขาไม่ได้ทำผิดอย่างที่คนอื่นกล่าวหา นี่เป็นเหตุผลที่เขาขอให้หัวหน้าพนักงานรินเครื่องดื่มบอกเรื่องนี้กับฟาโรห์ เพื่อเขาจะได้ “ออกจากคุกนี้ซะที”
13 โยเซฟแค่ยอมรับสภาพของตัวเองและไม่พยายามทำอะไรไหม? ไม่ เขารู้ว่าเขาตกเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมหลายครั้งหลายหน เขาจึงอธิบายให้พนักงานรินเครื่องดื่มฟังว่าเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง และหวังว่าพนักงานรินเครื่องดื่มจะช่วยเขาได้ แต่ขอสังเกต คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าโยเซฟเล่าให้ใครฟังว่าพี่ชายเป็นคนจับตัวเขามา เขาไม่ได้พูดเรื่องนี้เลยแม้แต่กับฟาโรห์ เราเห็นได้จากตอนที่พวกพี่ชายมาที่อียิปต์และได้คืนดีกับโยเซฟ ตอนนั้นฟาโรห์ชวนพวกเขาให้มาอยู่ที่อียิปต์และบอกว่าพวกเขาจะได้ “สิ่งดีที่สุดจากทั่วอียิปต์”—ปฐก. 45:16-20
14. ถ้าเรารู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมในประชาคม อะไรจะช่วยเราไม่ให้พูดถึงคนอื่นแบบเสีย ๆ หาย ๆ?
14 ถ้าเรารู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมในประชาคม เราต้องระวังมากที่จะไม่ไปเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟัง แต่ถ้าความไม่ยุติธรรมที่เราเจอเกิดจากพี่น้องคนหนึ่งทำบาปร้ายแรง เราควรขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแล (ลนต. 5:1) ถึงอย่างนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักไม่เกี่ยวข้องกับการทำบาปร้ายแรง ซึ่งเราน่าจะเคลียร์กับพี่น้องคนนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกคนอื่นแม้แต่ผู้ดูแล (อ่านมัทธิว 5:23, 24; 18:15) เราต้องรักษาความซื่อสัตย์ภักดีและใช้หลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น ที่จริง บางครั้งเราอาจมารู้ทีหลังว่าเราเข้าใจผิดไปเอง จริง ๆ แล้วเราไม่ได้เป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมอย่างที่เราคิด ตอนนั้นเราคงรู้สึกดีใจที่ไม่ได้พูดสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับพี่น้องและทำให้เรื่องแย่ลงไปอีก ขอจำไว้ว่าไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด การพูดถึงคนอื่นแบบเสีย ๆ หาย ๆ ไม่มีทางทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ความซื่อสัตย์ภักดีที่เรามีต่อพระยะโฮวาและพี่น้องจะช่วยเราไม่ให้ทำผิดพลาดแบบนั้น ผู้เขียนหนังสือสดุดีบอกว่า “คนที่ไม่มีตำหนิ” คือคนที่ “ไม่ใส่ร้ายคนอื่น ไม่ทำชั่วต่อเพื่อนบ้าน และไม่ใส่ร้ายเพื่อน”—สด. 15:2, 3; ยก. 3:5
คิดถึงความสัมพันธ์ที่มีค่าที่สุดเสมอ
15. การที่โยเซฟมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวาเสมอทำให้เขาได้รับผลดีอะไร?
15 บทเรียนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราได้จากโยเซฟก็คือ ตลอด 13 ปีที่เขาต้องทนกับความไม่ยุติธรรม เขามองเรื่องต่าง ๆ เหมือนที่พระยะโฮวามองเสมอ (ปฐก. 45:5-8) โยเซฟไม่เคยโทษพระยะโฮวาที่เขาต้องเจอกับเรื่องร้าย ๆ แบบนี้ โยเซฟไม่ได้ลืมว่าเขาต้องทนกับความไม่ยุติธรรมอะไรบ้าง แต่เขาก็ไม่ได้โกรธหรือเจ็บใจไม่หาย ที่สำคัญที่สุด โยเซฟไม่ยอมให้ความไม่สมบูรณ์ของคนอื่นและการกระทำที่แย่ ๆ ของพวกเขามาทำให้เขาห่างเหินกับพระยะโฮวา โยเซฟยังคงซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวาเสมอ เขาจึงได้เห็นพระองค์จัดการกับความไม่ยุติธรรมและอวยพรเขากับครอบครัว
16. ทำไมการที่เราเจอกับความไม่ยุติธรรมในประชาคมจะทำให้เราใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น?
16 คล้ายกัน เราต้องเห็นคุณค่าและพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่มีกับพระยะโฮวาไว้เสมอ เราจะไม่ยอมให้ความไม่สมบูรณ์ของพี่น้องมาทำให้เราเลิกรักพระยะโฮวาและเลิกนมัสการพระองค์ (รม. 8:38, 39) ถ้าเราเจอกับความไม่ยุติธรรมในประชาคม ขอเราเลียนแบบโยเซฟ เราต้องทำทุกอย่างเพื่อใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้นและพยายามมองเรื่องต่าง ๆ เหมือนที่พระยะโฮวามองเสมอ และถ้าเราพยายามทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อแก้ปัญหาตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลแล้ว เราต้องฝากเรื่องนั้นไว้กับพระยะโฮวา เรามั่นใจได้ว่าพระองค์จะจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ตามเวลาและวิธีที่พระองค์เห็นว่าเหมาะสม
วางใจ “ผู้พิพากษาโลกทั้งสิ้น”
17. เราจะแสดงอย่างไรว่าเรามั่นใจใน “ผู้พิพากษาโลกทั้งสิ้น”?
17 ถ้าเรายังอยู่ในโลกชั่ว เราก็คาดหมายได้เลยว่าเราต้องเจอกับความไม่ยุติธรรม บางครั้ง คุณหรือบางคนที่คุณรู้จักอาจไม่ได้รับความยุติธรรมหรืออาจรู้สึกว่ามีความไม่ยุติธรรมในประชาคม แต่ขออย่าเพิ่งสะดุด (สด. 119:165) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คุณต้องซื่อสัตย์ภักดีต่อพระเจ้า อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระองค์และพึ่งพระองค์เสมอ ขอจำไว้ว่าเนื่องจากคุณเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ คุณอาจเข้าใจผิดและอาจไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด ดังนั้น คุณน่าจะเลียนแบบโยเซฟ และไม่พูดเรื่องในแง่ลบซึ่งมีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง นอกจากนั้น แทนที่จะพึ่งตัวเองและพยายามจัดการกับปัญหา คุณน่าจะตั้งใจรักษาความซื่อสัตย์ภักดีและอดทนรอคอยพระยะโฮวาให้จัดการปัญหาต่าง ๆ เมื่อทำอย่างนี้ พระองค์จะพอใจและอวยพรคุณเหมือนที่ทำกับโยเซฟ คุณมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวา “ผู้พิพากษาโลกทั้งสิ้น” จะทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ “เพราะแนวทางทั้งหมดของพระองค์ยุติธรรม”—ปฐก. 18:25; ฉธบ. 32:4
18. เราจะเรียนอะไรในบทความถัดไป?
18 ในบทความถัดไป เราจะดูอีก 2 เรื่องในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมที่ประชาชนของพระเจ้าต้องเจอ และจะดูกันว่าความถ่อมตัวและการพร้อมจะให้อภัยช่วยเราให้มองความยุติธรรมเหมือนที่พระองค์มองอย่างไร
a อ่านเรื่องราวชีวิตจริงของวิลลี ดีลในบทความที่ชื่อว่า “พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้าข้าพเจ้าวางใจในพระองค์” ในหอสังเกตการณ์ 1 พฤศจิกายน 1991