“ยิศราเอลของพระเจ้า” และ “ชนฝูงใหญ่”
“ข้าพเจ้าได้เห็น และ นี่แน่ะ! ชนฝูงใหญ่ ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้.”—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.
1-3. (ก) คริสเตียนผู้ถูกเจิมมีความหวังอันรุ่งโรจน์เช่นไรในสวรรค์? (ข) ซาตานพยายามอย่างไรเพื่อจะทำลายประชาคมสมัยศตวรรษแรก? (ค) เกิดอะไรขึ้นเมื่อปี 1919 ซึ่งแสดงว่า ความพยายามของซาตานที่จะทำให้ประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิมเสื่อมเสียนั้นไม่เป็นผลสำเร็จ?
การก่อตั้ง “ยิศราเอลของพระเจ้า” เมื่อปีสากลศักราช 33 นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินงานตามพระประสงค์ของพระยะโฮวา. (ฆะลาเตีย 6:16) สมาชิกผู้ถูกเจิมแห่งชาตินี้มีความหวังจะได้รับอมตชีพในสภาพกายวิญญาณและปกครองกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรของพระเจ้าทางภาคสวรรค์. (1 โกรินโธ 15:50, 53, 54) เมื่ออยู่ในตำแหน่งนั้น พวกเขามีส่วนสำคัญในการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ และบดขยี้หัวของศัตรูสำคัญ ซาตานพญามาร. (เยเนซิศ 3:15; โรม 16:20) ไม่แปลกที่ซาตานทำทุกอย่างที่มันทำได้เพื่อล้มล้างประชาคมใหม่นี้ โดยใช้วิธีข่มเหงและพยายามบ่อนทำลายให้เสื่อมเสีย!—2 ติโมเธียว 2:18; ยูดา 4; วิวรณ์ 2:10.
2 ระหว่างที่พวกอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ ซาตานไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จ. แต่ภายหลังการสิ้นชีวิตของเหล่าอัครสาวก การออกหากได้แผ่ลามอย่างไม่หยุดยั้ง. ในที่สุด ประชาคมคริสเตียนแท้ซึ่งพระเยซูทรงก่อตั้งขึ้นมา ในแง่คิดของมนุษย์ ดูเหมือนว่าเสื่อมเสียแล้วเมื่อซาตานก่อตั้งการบิดเบือนทางศาสนาแบบออกหากขึ้น ซึ่งเวลานี้เป็นที่รู้จักกันว่าคริสต์ศาสนจักร. (2 เธซะโลนิเก 2:3-8) อย่างไรก็ดี ศาสนาคริสเตียนแท้ก็ยืนยงตลอดมา.—มัดธาย 28:20.
3 ในคำอุปมาเรื่องข้าวสาลีและข้าวละมาน พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่า คริสเตียนแท้จะเจริญงอกงามไปพร้อมกับ “ข้าวละมาน” หรือคริสเตียนจอมปลอม และก็เป็นอย่างนั้นจริง. แต่พระองค์ตรัสอีกด้วยว่า ในสมัยสุดท้ายนั้นจะกลับเห็นประจักษ์อีกว่า “พลเมืองแห่งแผ่นดินของพระเจ้า” แตกต่างจาก “ข้าวละมาน.” (มัดธาย 13:36-43) ข้อนี้เป็นจริงเช่นกัน. ปี 1919 คริสเตียนแท้จำพวกผู้ถูกเจิมได้หลุดพ้นการเป็นเชลยของบาบูโลน. พวกเขาเป็นที่ยอมรับขององค์พระผู้เป็นเจ้าในฐานะ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และพวกเขาได้เริ่มงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรอย่างกล้าหาญ. (มัดธาย 24:14, 45-47; วิวรณ์ 18:4) พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ใช่ยิว แต่เพราะเขามีความเชื่ออย่างอับราฮาม เขาจึงเป็น ‘เชื้อสายของอับราฮาม.’ อย่างแท้จริง พวกเขาเป็นสมาชิกแห่ง “ยิศราเอลของพระเจ้า.”—ฆะลาเตีย 3:7, 26-29.
“ชนฝูงใหญ่”
4. คริสเตียนกลุ่มไหนกลายมาเป็นจุดน่าสังเกต โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษปี 1930?
4 เริ่มแรก ผู้ที่ได้ตอบรับงานเผยแพร่ของคริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นยิศราเอลฝ่ายวิญญาณเช่นกัน เป็นพวกที่เหลืออยู่จากจำนวน 144,000 คน พร้อมด้วยความหวังฝ่ายสวรรค์. (วิวรณ์ 12:17) อย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษปี 1930 มีอีกกลุ่มหนึ่งปรากฏตัวอย่างเห็นได้ชัด. ชนเหล่านี้ได้รับการระบุตัวเป็น “แกะอื่น” แห่งอุปมาว่าด้วยคอกแกะ. (โยฮัน 10:16) พวกเขาเป็นสาวกพระคริสต์ มีความหวังจะรับชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. โดยนัยแล้ว พวกเขาเป็นลูกหลานฝ่ายวิญญาณของคริสเตียนผู้ถูกเจิม. (ยะซายา 59:21; 66:22; เทียบกับ 1 โกรินโธ 4:15, 16.) พวกเขายอมรับประชาคมคริสเตียนแห่งผู้ถูกเจิมในฐานะทาสสัตย์ซื่อและสุขุม และเช่นเดียวกันกับพี่น้องผู้ถูกเจิมของเขา พวกเขามีความรักพระยะโฮวาอย่างลึกซึ้ง มีความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซู มีความกระตือรือร้นจะสรรเสริญพระเจ้า และความเต็มใจทนทุกข์เพื่อเห็นแก่ความชอบธรรม.
5. ได้มีความเข้าใจฐานะของแกะอื่นดีขึ้นเป็นขั้น ๆ อย่างไร?
5 ทีแรกฐานะของแกะอื่นเหล่านี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดแจ้ง แต่ครั้นเวลาผ่านไป ความเข้าใจก็กระจ่างขึ้น. ปี 1932 คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับการกระตุ้นให้สนับสนุนแกะอื่นเข้าร่วมในงานเผยแพร่—งานซึ่งหลายคนในจำพวกแกะอื่นได้ทำอยู่แล้ว. พอมาถึงปี 1934 แกะอื่นได้รับการสนับสนุนให้รับบัพติสมาในน้ำ. ปี 1935 พวกเขาได้รับการระบุตัวว่าเป็น “ชนฝูงใหญ่” ที่กล่าวไว้ในวิวรณ์บท 7. ปี 1938 พวกเขาได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ฐานะผู้สังเกตการณ์. ปี 1950 มีความเข้าใจที่ว่า บรรดาผู้ชายอาวุโสท่ามกลางแกะอื่นเป็น “เจ้านาย” ผู้ซึ่งเป็นเหมือน “ที่หลบซ่อนให้พ้นลมและที่กำบังให้พ้นพายุฝน.” (บทเพลงสรรเสริญ 45:16; ยะซายา 32:1, 2, ล.ม.) ปี 1953 องค์การของพระเจ้าทางแผ่นดินโลก—ซึ่งเวลานั้นส่วนใหญ่ประกอบด้วยแกะอื่น—เสมือนเป็นแกนกลางของสังคมทางแผ่นดินโลกซึ่งจะดำรงอยู่ในโลกใหม่. ปี 1985 เป็นที่เข้าใจว่า โดยพื้นฐานแห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู แกะอื่นจึงได้รับการประกาศว่าชอบธรรม ประหนึ่งเป็นมิตรของพระเจ้า พร้อมด้วยความหวังจะรอดผ่านอาร์มาเก็ดดอน.
6. ทุกวันนี้ สถานะของแกะอื่นกับผู้ถูกเจิมสัมพันธ์กันอย่างไร นำไปสู่คำถามอะไร?
6 ตอนนี้ ในช่วงปลายของ “สมัยสุดท้าย” ชน 144,000 คนได้สิ้นชีวิตไปแล้วเป็นส่วนใหญ่และได้รับบำเหน็จของเขาแล้วทางภาคสวรรค์. (2 ติโมเธียว 3:1; วิวรณ์ 6:9-11; 14:13) ขณะนี้ คริสเตียนที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกทำการเผยแพร่ข่าวดีเป็นส่วนใหญ่ และพวกเขาถือว่า เป็นสิทธิพิเศษที่จะสนับสนุนพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระเยซู. (มัดธาย 25:40) อย่างไรก็ดี บรรดาผู้ถูกเจิมเหล่านี้คือทาสสัตย์ซื่อและสุขุมและอาหารฝ่ายวิญญาณถูกนำออกแจกจ่ายผ่านทางทาสนี้ตลอดสมัยสุดท้ายนี้. สภาพการณ์ของแกะอื่นจะเป็นอย่างไรเมื่อผู้ถูกเจิมทั้งมวลได้รับบำเหน็จของตนในสวรรค์แล้ว? ถึงตอนนั้นจะมีการจัดเตรียมอะไรสำหรับแกะอื่น? การพิจารณาชาติยิศราเอลโบราณเพียงคร่าว ๆ จะช่วยเราตอบคำถามเหล่านี้.
“อาณาจักรแห่งปุโรหิต”อันเป็นตัวอย่าง
7, 8. ชาติยิศราเอลโบราณเป็นอาณาจักรแห่งปุโรหิตและเป็นชาติบริสุทธิ์ถึงขีดไหนภายใต้พระบัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรี?
7 เมื่อพระยะโฮวาทรงเลือกชาติยิศราเอลเป็นชาติพิเศษของพระองค์ พระองค์ได้ตั้งคำสัญญาไมตรีกับชาตินี้ โดยตรัสว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายจะเชื่อฟังถ้อยคำของเราจริง ๆ, และรักษาคำสัญญาไมตรีของเราไว้, เจ้าจะเป็นทรัพย์ประเสริฐของเรายิ่งกว่าชาติทั้งปวง: เพราะเราเป็นเจ้าของโลกทั้งสิ้น: เจ้าทั้งหลายจะเป็นอาณาจักรแห่งปุโรหิต, และจะเป็นชนชาติอันบริสุทธิ์สำหรับเรา.” (เอ็กโซโด 19:5, 6) ชาติยิศราเอลเป็นไพร่พลพิเศษของพระยะโฮวาบนพื้นฐานของพระบัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรี. แต่คำสัญญาที่เกี่ยวโยงกับอาณาจักรแห่งปุโรหิตและชาติบริสุทธิ์นั้นล่ะจะสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
8 ชาติยิศราเอล เมื่อซื่อสัตย์ ได้รับรองพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาและรับพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ของเขา. (ยะซายา 33:22, ข้อ 23 ในฉบับแปลเก่า.) ดังนั้น พวกเขาเป็นอาณาจักร. แต่ดังที่ปรากฏในกาลต่อมา คำสัญญาว่าด้วย “อาณาจักร” นั้นมีความหมายมากกว่านั้นเสียอีก. นอกจากนั้น เมื่อเขาเชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวา เขาเป็นชาติที่สะอาด แยกอยู่ต่างหากจากชาติต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบ. พวกเขาเป็นชาติบริสุทธิ์. (พระบัญญัติ 7:5, 6) พวกเขาเป็นอาณาจักรแห่งปุโรหิต ไหม? ในชาติยิศราเอลนั้น ตระกูลเลวีถูกแยกไว้ต่างหากเพื่อปฏิบัติงาน ณ พระวิหาร และภายในตระกูลนี้ก็มีคณะปุโรหิตแห่งเลวี. ครั้นพระบัญญัติของโมเซเริ่มบังคับใช้ ผู้ชายชาวเลวีจะถูกนำตัวไปแทนบุตรหัวปีของทุกครอบครัวที่ไม่ใช่ตระกูลเลวี.a (เอ็กโซโด 22:29; อาฤธโม 3:11-16, 40-51) ฉะนั้น จึงพูดได้ว่าทุกครอบครัวในยิศราเอล มีตัวแทนรับใช้ในพระวิหาร. นี้เป็นสภาพใกล้เคียงที่สุดที่ชาตินี้ได้เป็นอาณาจักรปุโรหิต. กระนั้นก็ดี พวกเขาเป็นตัวแทนพระยะโฮวาท่ามกลางชาติต่าง ๆ. คนต่างชาติคนใดที่ต้องการนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้จำต้องทำเช่นนั้นร่วมกับชาติยิศราเอล.—2 โครนิกา 6:32, 33; ยะซายา 60:10.
9. อะไรเป็นสาเหตุให้พระยะโฮวาปฏิเสธยิศราเอล อาณาจักรฝ่ายเหนือ ‘ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ปุโรหิตจำเพาะพระองค์’?
9 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของซะโลโม ไพร่พลของพระเจ้าได้แยกเป็นยิศราเอล อาณาจักรฝ่ายเหนือภายใต้กษัตริย์ยาราบะอาม และยูดา อาณาจักรฝ่ายใต้ภายใต้กษัตริย์ระฮับอาม. เนื่องจากพระวิหารศูนย์กลางการนมัสการที่บริสุทธิ์นั้นอยู่ในเขตแดนยูดา ยาราบะอามได้ตั้งแบบแผนการนมัสการที่ผิดกฎหมาย โดยได้สร้างรูปโคสำหรับเคารพบูชาขึ้นภายในเขตแดนแห่งชาติของตน. ยิ่งกว่านั้น “ท่านได้สร้างโบสถ์ไว้ในที่เนินสูง, ได้เลือกคนออกจากไพร่พลสามัญมิใช่บุตรของเลวีตั้งไว้เป็นปุโรหิต.” (1 กษัตริย์ 12:31) อาณาจักรฝ่ายเหนือยิ่งถลำลึกเข้าสู่การนมัสการเท็จเมื่อกษัตริย์อาฮาบยอมให้อีซาเบลมเหสีของตนซึ่งเป็นชาวต่างชาติตั้งการนมัสการพระบาละขึ้นในแผ่นดิน. ในที่สุด พระยะโฮวาทรงแถลงการพิพากษาต่ออาณาจักรที่เป็นกบฏนั้น. พระองค์ตรัสผ่านโฮเซอาดังนี้: “พลไพร่ของเราก็จะถูกทำลายเสียแล้วเพราะขาดความรู้: โดยเหตุที่เจ้ามิได้ยอมรับความรู้ไว้, เราก็ไม่ยอมรับเจ้าไว้เป็นปุโรหิตของเราด้วย.” (โฮเซอา 4:6) หลังจากนั้นไม่นาน พวกอัสซีเรียได้มาทำลายยิศราเอลอาณาจักรฝ่ายเหนือ.
10. ยูดา อาณาจักรฝ่ายใต้ ขณะประพฤติอย่างซื่อสัตย์ ได้เป็นตัวแทนพระยะโฮวาท่ามกลางนานาชาติอย่างไร?
10 ยูดา อาณาจักรฝ่ายใต้เป็นอย่างไร? ในสมัยฮีศคียา พระยะโฮวาได้ตรัสแก่พวกเขาผ่านยะซายาดังนี้: “เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา, และเป็นผู้รับใช้ที่เราได้เลือกสรรไว้ . . . คือพลเมืองซึ่งเราได้สร้างไว้สำหรับตัวของเราเองเพื่อเขาจะได้สรรเสริญเรา.” (ยะซายา 43:10, 21; 44:21) เมื่อซื่อสัตย์อยู่ อาณาจักรฝ่ายใต้ทำหน้าที่ประกาศให้ชาติต่าง ๆ รู้ถึงสง่าราศีของพระยะโฮวา และดึงดูดผู้คนที่มีใจเป็นธรรมให้มาร่วมนมัสการพระองค์ ณ พระวิหารของพระองค์ และมีพวกปุโรหิตชาวเลวีที่ถูกต้องตามกฎหมายทำงานปฏิบัติรับใช้.
คนต่างด้าวในแผ่นดินยิศราเอล
11, 12. จงระบุชื่อชาวต่างชาติบางคนที่ได้มารับใช้พระยะโฮวาร่วมกับชาวยิศราเอล.
11 สำหรับคนต่างด้าวซึ่งตอบสนองต่อพยานระดับชาติเช่นนั้น จึงได้มีการจัดเตรียมเผื่อพวกเขาในพระบัญญัติที่ผ่านทางโมเซ—ซึ่งภรรยาของท่านชื่อซิพโพราเป็นชาวมิดยาน. “ฝูงชนชาติอื่นเป็นอันมาก” ที่ไม่ใช่ชาวยิศราเอลออกมาจากอียิปต์พร้อมกับชาวยิศราเอล และได้อยู่ด้วยเมื่อมีการประทานพระบัญญัติ. (เอ็กโซโด 2:16-22; 12:38; อาฤธโม 11:4) ราฮาบกับครอบครัวของนางได้รับการช่วยให้รอดจากเมืองยะริโฮและต่อมาถูกรับเข้าสู่ประชาคมยิว. (ยะโฮซูอะ 6:23-25) ไม่นานต่อมา ชาวฆิบโอนได้ทำไมตรีกับยิศราเอล แล้วได้ถูกมอบให้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับพลับพลาประชุม.—ยะโฮซูอะ 9:3-27; ดู 1 กษัตริย์ 8:41-43; เอศเธระ 8:17 ด้วย.
12 ในที่สุดคนต่างชาติได้รับใช้ในตำแหน่งที่สูง. อูรียา ชาวเฮธ สามีของบัธเซบะก็ถูกนับอยู่ใน “คนกล้าหาญ” ของดาวิด, เซเล็คชาติอำโมนก็เช่นกัน. (1 โครนิกา 11:26, 39, 41; 2 ซามูเอล 11:3, 4) เอเบ็ดเมเล็ก ชาวเอธิโอเปีย ปฏิบัติงานในราชวังและสามารถเข้าเฝ้ากษัตริย์ได้. (ยิระมะยา 38:7-9) หลังจากชาติยิศราเอลกลับจากการถูกเนรเทศไปอยู่ในบาบูโลน พวกนะธีนิมชาวต่างชาติได้รับมอบหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นในงานช่วยเหลือพวกปุโรหิต. (เอษรา 7:24) เนื่องจากคนต่างชาติหรือคนต่างด้าวที่สัตย์ซื่อเหล่านี้จำนวนหนึ่ง เป็นภาพแสดงนัยถึงชนฝูงใหญ่สมัยปัจจุบัน สถานภาพของคนเหล่านี้จึงน่าสนใจสำหรับเรา.
13, 14. (ก) คนที่มาเข้าจารีตยูดายในแผ่นดินยิศราเอลได้รับมอบสิทธิพิเศษและหน้าที่รับผิดชอบอะไร? (ข) ชาวยิศราเอลพึงมองคนเข้าจารีตยูดายที่สัตย์ซื่อนั้นอย่างไร?
13 บุคคลดังกล่าวเป็นพวกที่ได้เปลี่ยนมาเข้าศาสนายิว เป็นผู้นมัสการที่ได้อุทิศตัวของพระยะโฮวาภายใต้พระบัญญัติของโมเซซึ่งถูกแยกจากชาติต่าง ๆ พร้อมกับชาวยิศราเอล. (เลวีติโก 24:22) พวกเขาได้ถวายเครื่องบูชา รักษาตัวสะอาดจากการนมัสการเท็จ และละเว้นจากเลือด เช่นเดียวกันกับชาวยิศราเอล. (เลวีติโก 17:10-14; 20:2) พวกเขาได้ช่วยงานก่อสร้างวิหารของซะโลโม และร่วมสมทบในงานฟื้นฟูการนมัสการแท้ภายใต้การนำของกษัตริย์อาซาและฮีศคียา. (1 โครนิกา 22:2; 2 โครนิกา 15:8-14; 30:25) เมื่อเปโตรใช้กุญแจราชอาณาจักรลูกแรกเมื่อวันเพ็นเตคอสเต สากลศักราช 33 “ทั้งชาติยูดายกับคนเข้าจารีตยูดาย” ได้รับเอาคำของเปโตร. เป็นไปได้ที่บางคนจากสามพันคนที่รับบัพติสมาวันนั้นเป็นผู้ที่เปลี่ยนมาเข้าจารีตยูดาย. (กิจการ 2:10, 41) ไม่นานต่อมา ชาวเอธิโอเปียคนหนึ่งที่เปลี่ยนมาเข้าจารีตยูดายก็ได้รับบัพติสมาจากฟิลิป—ก่อนเปโตรใช้กุญแจราชอาณาจักรลูกสุดท้ายกับโกระเนเลียวและครอบครัวของเขา. (มัดธาย 16:19; กิจการ 8:26-40; 10:30-48) เห็นได้ชัดว่าคนที่เข้าจารีตยูดายไม่ถูกมองว่าเป็นคนต่างชาติ.
14 กระนั้นก็ดี ฐานะของผู้ที่เข้าจารีตยูดายในแผ่นดินยิศราเอลไม่เหมือนฐานะของชาวยิศราเอลตามเชื้อชาติ. คนเข้าจารีตยูดายไม่ได้รับใช้ฐานะปุโรหิตและบุตรหัวปีของเขาไม่มีตัวแทนในคณะปุโรหิตแห่งตระกูลเลวีb และคนเข้าจารีตยูดายไม่ได้มรดกที่ดินในยิศราเอล. กระนั้น ชาวยิศราเอลได้รับคำสั่งให้คำนึงถึงคนเข้าจารีตยูดายที่ซื่อสัตย์และถือพวกเขาเป็นดุจพี่น้อง.—เลวีติโก 19:33, 34.
ชาติฝ่ายวิญญาณ
15. ผลเป็นอย่างไรเมื่อยิศราเอลโดยกำเนิดไม่ยอมรับพระมาซีฮา?
15 พระบัญญัติได้รับการกำหนดขึ้นเพื่อรักษาชาติยิศราเอลให้สะอาด แยกตัวต่างหากจากชาติต่าง ๆ ที่ล้อมรอบ. แต่ยังมีวัตถุประสงค์อีกประการหนึ่ง. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “พระบัญญัติจึงเป็นครูสอนซึ่งนำเราให้มาถึงพระคริสต์ เพื่อเราจะได้ความชอบธรรมโดยความเชื่อ.” (ฆะลาเตีย 3:24) น่าเศร้าที่ชาวยิศราเอลส่วนใหญ่ไม่ได้รับการนำโดยพระบัญญัติเพื่อจะมาถึงพระคริสต์. (มัดธาย 23:15; โยฮัน 1:11) ดังนั้น พระเจ้ายะโฮวาจึงทรงปฏิเสธชนชาตินั้นและทรงก่อกำเนิด “ยิศราเอลของพระเจ้า” ขึ้น. ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงแผ่คำเชิญไปยังพวกที่ไม่ใช่ยิวให้เข้ามาเป็นพลเมืองที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในยิศราเอลชาติใหม่ของพระองค์. (ฆะลาเตีย 3:28; 6:16) กับชนชาติใหม่ของพระองค์นี้แหละ ที่คำสัญญาของพระยะโฮวาในเอ็กโซโด 19:5, 6 ว่าด้วยคณะปุโรหิตหลวงได้สำเร็จเป็นจริงอย่างน่าอัศจรรย์ในที่สุด. โดยวิธีใด?
16, 17. คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่อยู่บนแผ่นดินโลกเป็น “หลวง” ในแง่ไหน? เป็น “คณะปุโรหิต” ในแง่ไหน?
16 เปโตรได้อ้างถึงเอ็กโซโด 19:6 เมื่อท่านเขียนไปถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมสมัยของท่านว่าดังนี้: “ท่านทั้งหลายเป็น ‘เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้, เป็นคณะปุโรหิตหลวง, เป็นชาติบริสุทธิ์, เป็นไพร่พลที่เป็นสมบัติพิเศษ.’” (1 เปโตร 2:9, ล.ม.) ข้อนี้หมายถึงอะไร? คริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นกษัตริย์บนแผ่นดินโลกหรือ? หามิได้ สถานะกษัตริย์ของพวกเขาจะมีในกาลข้างหน้า. (1 โกรินโธ 4:8) กระนั้นก็ดี พวกเขาเป็น “หลวง” ในแง่ที่ได้รับการเลือกสรรให้มีสิทธิพิเศษในราชอาณาจักรในอนาคต. แม้แต่เวลานี้ เขาก็เป็นชาติภายใต้พระเยซูพระมหากษัตริย์ซึ่งรับการแต่งตั้งโดยพระเจ้ายะโฮวา องค์บรมมหิศร. เปาโลเขียนว่า “[พระยะโฮวา] ได้ทรงช่วยเราทั้งหลายให้พ้นจากอำนาจแห่งความมืด, และได้ทรงย้ายเรามาตั้งไว้ในแผ่นดินแห่งพระบุตรที่รักของพระองค์.”—โกโลซาย 1:13.
17 คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่อยู่บนแผ่นดินโลกมีสถานะเป็นปุโรหิตหรือ? ใช่ในแง่หนึ่ง. ในฐานะเป็นประชาคม เขาปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงปุโรหิตอย่างไม่ต้องสงสัย. เปโตรอธิบายเรื่องนี้เมื่อท่านบอกว่า “ท่านทั้งหลาย . . . กำลังถูกก่อขึ้นเป็นราชสำนักฝ่ายวิญญาณเพื่อจุดมุ่งหมายในการเป็นคณะปุโรหิตบริสุทธิ์.” (1 เปโตร 2:5, ล.ม.; 1 โกรินโธ 3:16) ทุกวันนี้ ชนที่เหลือจำพวกคริสเตียนผู้ถูกเจิม โดยรวมแล้ว เป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เป็นร่องทางสำหรับการแจกอาหารฝ่ายวิญญาณ. (มัดธาย 24:45-47) ดังที่เคยเป็นมาในกรณีของชาติยิศราเอลโบราณ ใครก็ตามที่ปรารถนาจะนมัสการพระยะโฮวาจำต้องทำเช่นนั้นประสานกับคริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้.
18. ในฐานะคณะปุโรหิต ประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิมขณะอยู่บนแผ่นดินโลกมีความรับผิดชอบอะไรเป็นอันดับแรก?
18 ยิ่งกว่านั้น คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้มารับเอาสิทธิพิเศษแทนชาติยิศราเอลในการให้คำพยานถึงความใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวาท่ามกลางนานาชาติ. อรรถบทแสดงให้เห็นว่า เมื่อเปโตรเรียกคริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นปุโรหิตหลวงนั้น ท่านกำลังคิดถึงงานเผยแพร่อยู่ในใจ. อันที่จริง ท่านได้ผูกโยงคำสัญญาของพระยะโฮวาที่เอ็กโซโด 19:6 เข้ากับถ้อยแถลงของพระองค์ต่อชาติยิศราเอลดังปรากฏที่ยะซายา 43:21 เมื่อท่านกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายเป็น ‘คณะปุโรหิตหลวง . . . เพื่อท่านทั้งหลายจะประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณ’ ของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.” (1 เปโตร 2:9, ล.ม.) สอดคล้องกับข้อนี้ เปาโลได้กล่าวถึงการประกาศความใหญ่ยิ่งล้ำเลิศของพระยะโฮวาเสมือนการถวายเครื่องบูชา ณ พระวิหาร. ท่านเขียนดังนี้: “โดย [พระเยซู] จงให้เราถวายคำสรรเสริญแด่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาเสมอ กล่าวคือผลแห่งริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์อย่างเปิดเผย.”—เฮ็บราย 13:15, ล.ม.
ความสำเร็จเป็นจริงทางภาคสวรรค์
19. อะไรคือการสำเร็จเป็นจริงอันยิ่งใหญ่และเป็นขั้นสุดยอดเกี่ยวกับคำสัญญาที่ว่ายิศราเอลจะเป็นอาณาจักรแห่งปุโรหิต?
19 อย่างไรก็ตาม เอ็กโซโด 19:5, 6 มีการสำเร็จเป็นจริงอย่างรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่มากกว่าอีก. ดังบันทึกในพระธรรมวิวรณ์ว่า อัครสาวกโยฮันได้ยินสิ่งมีชีวิตทางภาคสวรรค์ใช้คัมภีร์ข้อนี้ขณะที่พวกเขาร้องสรรเสริญพระเยซูผู้คืนพระชนม์ว่า “พระองค์ได้ถูกปลงพระชนม์และโดยพระโลหิตของพระองค์นั้น พระองค์ได้ทรงซื้อคนจากทุกตระกูลและ ทุก ภาษาและ ทุก ชนชาติและ ทุก ชาติถวายแด่พระเจ้า และพระองค์ได้ทรงทำให้พวกเขาเป็นราชอาณาจักรและปุโรหิตแด่พระเจ้าของเรา และพวกเขาจะปกครองเป็นกษัตริย์เหนือแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 5:9, 10, ล.ม.) ในที่สุด คณะปุโรหิตหลวงเป็นราชอาณาจักรของพระเจ้าทางภาคสวรรค์ เป็นอำนาจปกครองซึ่งพระเยซูทรงสอนเราอธิษฐานขอ. (ลูกา 11:2) คริสเตียนผู้ถูกเจิมทั้งหมดจำนวน 144,000 คนผู้ซึ่งซื่อสัตย์อดทนจนสิ้นชีวิตก็จะมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมเกี่ยวกับราชอาณาจักรนั้น. (วิวรณ์ 20:4, 6, ล.ม.) ช่างเป็นการสำเร็จเป็นจริงตามคำสัญญาที่ทำไว้โดยทางโมเซนานมาแล้วอย่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ!
20. ยังเหลือคำถามอะไรที่ต้องได้คำตอบ?
20 เรื่องทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องเช่นไรกับสถานภาพของชนฝูงใหญ่และอนาคตของพวกเขาเมื่อผู้ถูกเจิมทุกคนได้รับมรดกอันน่าพิศวงของตนแล้ว? เรื่องนี้จะกระจ่างชัดในเรื่องสุดท้ายของชุดบทความนี้.
[เชิงอรรถ]
a เมื่อคณะปุโรหิตแห่งยิศราเอลเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ได้มีการนับจำนวนบุตรชายหัวปีของตระกูลอื่นที่ไม่ใช่ตระกูลเลวีแห่งยิศราเอล รวมทั้งผู้ชายในตระกูลเลวีด้วย. ปรากฏว่าจำนวนบุตรชายหัวปีมีมากกว่าผู้ชายตระกูลเลวี 273 คน. ดังนั้น พระยะโฮวาจึงเรียกค่าตัวห้าซะเก็ลต่อคนเป็นค่าไถ่สำหรับ 273 คนที่เกินนั้น.
b ชนที่ไม่ใช่ยิศราเอลเป็นจำนวนมากได้ปะปนอยู่ด้วยเมื่อเริ่มใช้พระบัญญัติในปี 1513 ก่อนสากลศักราช ทว่าบุตรหัวปีของเขาไม่ถูกนับเข้าบัญชีในคราวที่มีการรับชาวเลวีแทนบุตรหัวปีชาวยิศราเอล. (ดูวรรค 8) ฉะนั้น ชาวเลวีจึงไม่ถูกนำตัวไปแทนบุตรหัวปีของคนเหล่านั้นที่ไม่ใช่ชนยิศราเอล.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ ได้มีความเข้าใจเรื่องฐานะของแกะอื่นดีขึ้นเป็นขั้น ๆ อย่างไร?
▫ เพราะเหตุใดพระยะโฮวาจึงทรงปฏิเสธยิศราเอล อาณาจักรฝ่ายเหนือไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ปุโรหิตจำเพาะพระองค์?
▫ เมื่อประพฤติซื่อสัตย์ สถานะของอาณาจักรยูดาเป็นอย่างไรท่ามกลางชาติต่าง ๆ?
▫ คนเข้าจารีตยูดายที่สัตย์ซื่ออยู่ในฐานะเช่นไรในแผ่นดินยิศราเอล?
▫ โดยวิธีใดประชาคมผู้ถูกเจิมปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงอาณาจักรแห่งคณะปุโรหิต?
[รูปภาพหน้า 16]
ในฐานะเป็นคณะปุโรหิตหลวงคริสเตียนผู้ถูกเจิมจึงประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณของพระยะโฮวาบนแผ่นดินโลก
[รูปภาพหน้า 18]
การสำเร็จเป็นจริงขั้นสุดยอดของเอ็กโซโด 19:6 คือราชอาณาจักร