ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
การหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้หมายถึงอะไร?
ในคำเทศน์บนภูเขาที่มีชื่อเสียง พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “อย่าตอบโต้คนชั่วด้วยการชั่ว แต่ผู้ใดตบแก้มขวาของเจ้า จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย.”—มัดธาย 5:39
พระองค์หมายความอย่างไร? พระองค์สนับสนุนคริสเตียนไม่ให้ป้องกันตัวเองเลยอย่างนั้นไหม? คริสเตียนควรอดทนโดยไม่ปริปากและไม่แสวงหาการคุ้มครองทางกฎหมายไหม?
สิ่งที่พระเยซูหมายถึง
เพื่อจะเข้าใจสิ่งที่พระเยซูหมายถึง เราต้องพิจารณาท้องเรื่อง รวมทั้งคิดถึงผู้ที่ฟังพระองค์ด้วย. ก่อนที่พระเยซูจะให้คำแนะนำดังกล่าว พระองค์ยกข้อความที่ผู้ฟังรู้ดีอยู่แล้วจากพระคัมภีร์บริสุทธิ์มากล่าวดังนี้: “เจ้าทั้งหลายเคยได้ยินคำที่มีกล่าวไว้ว่า ‘ตาต่อตาและฟันต่อฟัน.’ ”—มัดธาย 5:38
ข้อความที่พระเยซูอ้างถึงนั้นอยู่ที่เอ็กโซโด 21:24 และเลวีติโก 24:20. น่าสังเกตว่า ตามพระบัญญัติของพระเจ้านั้น จะลงโทษแบบ “ตาต่อตา” อย่างที่กล่าวถึงในสองข้อนี้ได้ก็เฉพาะหลังจากที่ผู้ทำผิดได้มายืนให้การต่อหน้าปุโรหิตและผู้พิพากษาซึ่งจะพิจารณาสภาพการณ์และเจตนาของการทำผิด.—พระบัญญัติ 19:15-21
ในเวลาต่อมา ชาวยิวได้บิดเบือนการบังคับใช้กฎหมายนี้. อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลสมัยศตวรรษที่ 19 โดยแอดัม คลาร์ก กล่าวดังนี้: “ดูเหมือนว่าชาวยิวได้ใช้กฎหมายข้อนี้ [ตาต่อตาและฟันต่อฟัน] เป็นเหตุอันควรให้ผูกใจเจ็บเป็นการส่วนตัว และทำสิ่งที่เกินเลยอื่น ๆ เนื่องจากความอาฆาตแค้น. บ่อยครั้งนั่นเป็นการแก้แค้นอย่างรุนแรงที่สุด และร้ายยิ่งกว่าสิ่งที่ตนเคยถูกกระทำ.” อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ไม่สนับสนุนการแก้แค้นด้วยตัวเอง.
คำสอนของพระเยซูในคำเทศน์บนภูเขาเกี่ยวกับ ‘การหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้’ นั้นสะท้อนถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระบัญญัติของพระเจ้าที่ให้แก่ชาวอิสราเอล. พระเยซูไม่ได้หมายความว่าหากสาวกของพระองค์ถูกตบที่แก้มข้างหนึ่ง พวกเขาควรพยายามลุกขึ้นมาและหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาตบอีก. ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล เช่นเดียวกับสมัยนี้ การตบหน้าไม่ได้ทำเพื่อทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการสบประมาทเพื่อยั่วยุให้เกิดโทโสและการเผชิญหน้ากัน.
ฉะนั้น ดูเหมือนพระเยซูหมายความว่าถ้าคนหนึ่งพยายามยั่วยุอีกคนหนึ่งให้ออกมาเผชิญหน้ากันด้วยการตบหน้าจริง ๆ หรือด้วยคำพูดเหน็บแนมอย่างเจ็บแสบ คนที่ถูกตบควรเลี่ยงการแก้เผ็ด. และเขาก็ควรหลีกเลี่ยงวงจรอันเลวร้ายในการทำชั่วตอบแทนการชั่ว.—โรม 12:17
คำตรัสของพระเยซูคล้ายกับถ้อยคำของกษัตริย์โซโลมอนมากที่ว่า “อย่าพูดว่า, ‘เขาทำแก่ข้าฯ อย่างไร, ข้าฯ ก็จะทำแก่เขาอย่างนั้น: ข้าฯ จะทดแทนให้ตามที่เขาได้ทำแก่ข้าฯ.’” (สุภาษิต 24:29) สาวกของพระเยซูจะหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ในความหมายที่ว่าไม่ยอมให้คนอื่นกดดันเขาให้ “ทะเลาะวิวาท.”—2 ติโมเธียว 2:24
การป้องกันตัวเองล่ะ?
การหันแก้มอีกข้างหนึ่งไม่ได้หมายความว่าคริสเตียนจะไม่ป้องกันตัวเองจากผู้ประทุษร้าย. พระเยซูไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรป้องกันตัวเอง แต่บอกว่าเราไม่ควรเป็นฝ่ายเริ่มทำร้ายเขาก่อน และเราไม่ควรยอมให้ตัวเองถูกยั่วยุจนต้องลงมือแก้แค้น. แม้เป็นสิ่งที่ดีหากจะถอยออกมาเมื่อเป็นไปได้เพื่อเลี่ยงการต่อสู้ แต่ก็สมควรจะป้องกันตัวเองและขอการช่วยเหลือจากตำรวจถ้าเราตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม.
สาวกรุ่นแรกของพระเยซูใช้หลักการเดียวกันเมื่อปกป้องสิทธิทางกฎหมายของตนตามความเหมาะสม. ยกตัวอย่าง อัครสาวกเปาโลใช้ประโยชน์จากกฎหมายบ้านเมืองในสมัยนั้นเพื่อปกป้องสิทธิของท่านในการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเยซูที่ให้เหล่าสาวกออกไปประกาศ. (มัดธาย 28:19, 20) ในระหว่างเดินทางประกาศในเมืองฟิลิปปอย เปาโลกับซีลัสเพื่อนมิชชันนารีถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุมและถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมาย.
แล้วพวกเจ้าหน้าที่ได้เฆี่ยนบุคคลทั้งสองต่อหน้าประชาชนและจับเข้าคุกโดยไม่มีการพิจารณาคดี. เมื่อเปาโลมีโอกาส ท่านจึงได้เรียกร้องสิทธิฐานะเป็นพลเมืองโรมัน. ครั้นได้รู้สถานะของเปาโล พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเกิดกลัวผลที่จะตาม จึงได้ขอร้องเปาโลกับซีลัสให้ออกไปโดยไม่สร้างปัญหา. ดังนั้น เปาโลได้วางแบบแผนเอาไว้โดย “ปกป้องข่าวดีและทำให้การประกาศข่าวดีเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย.”—กิจการ 16:19-24, 35-40; ฟิลิปปอย 1:7
เช่นเดียวกันกับเปาโล พยานพระยะโฮวารู้สึกว่าจำเป็นต้องต่อสู้ทางกฎหมายในศาลเพื่อคุ้มครองกิจกรรมฝ่ายคริสเตียนของพวกเขา. ข้อนี้เป็นจริงแม้ในประเทศซึ่งปกติแล้วให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนา. ในเรื่องอาชญากรรมและความปลอดภัยส่วนบุคคลก็เช่นกัน ไม่มีการคาดหมายว่าพยานพระยะโฮวาต้องหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ หรือยอมรับการทำร้ายโดยไม่ปกป้องตัวเอง. พวกเขาลงมือทำบางอย่างเพื่อป้องกันตัวเอง.
ด้วยเหตุนี้ ในฐานะคริสเตียน เหมาะสมแล้วที่พยานฯ จะยืนยันสิทธิทางกฎหมาย แม้พวกเขาจะรู้ว่าบ่อยครั้งการกระทำดังกล่าวจะเกิดผลในขอบเขตจำกัด. ดังนั้น เช่นเดียวกับพระเยซู พวกเขาปล่อยเรื่องนี้ไว้ในพระหัตถ์ของพระเจ้า เพราะมั่นใจว่าพระองค์จะกระทำด้วยความรู้ที่ครบถ้วนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ และถ้าพระองค์จะทรงลงมือสนองโทษใด ๆ ก็จะเป็นไปตามความยุติธรรมที่สมบูรณ์แบบ. (มัดธาย 26:51-53; ยูดา 9) คริสเตียนแท้จดจำอยู่เสมอว่าการแก้แค้นเป็นธุระของพระยะโฮวา.—โรม 12:17-19
คุณเคยสงสัยไหม?
• คริสเตียนควรละเว้นการกระทำอะไรบ้าง?—โรม 12:17
• คัมภีร์ไบเบิลห้ามใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องตัวเองไหม?—ฟิลิปปอย 1:7
• พระเยซูมีความมั่นใจเรื่องใดในพระบิดา?—มัดธาย 26:51-53