พวกคาราอิเตกับการแสวงความจริง
“จงค้นดูอย่างถี่ถ้วนใน [พระคัมภีร์] และอย่าอาศัยความคิดเห็นของข้าพเจ้า.” ผู้นำพวกคาราอิเตคนหนึ่งในศตวรรษที่แปดกล่าวถ้อยคำเหล่านี้. พวกคาราอิเตคือใคร? เราจะเรียนรู้สิ่งมีคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งจากตัวอย่างของพวกเขาได้ไหม? เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ เราต้องย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ถึงการโต้แย้งอันยาวนานซึ่งทำให้เกิดขบวนการคาราอิเตขึ้นมา.
การโต้แย้งนั้นเริ่มต้นอย่างไร?
ในศตวรรษสุดท้ายก่อนสากลศักราช ปรัชญาแบบใหม่ได้เกิดขึ้นภายในลัทธิยูดาย. นั่นคือแนวความคิดที่ว่า พระเจ้าทรงประทานพระบัญญัติสองชนิดที่ภูเขาซีนาย ชนิดหนึ่งเป็นแบบลายลักษณ์อักษรและชนิดหนึ่งแบบสืบปาก.a พอถึงศตวรรษที่หนึ่ง มีการขัดแย้งรุนแรงระหว่างพวกที่สนับสนุนคำสอนใหม่และพวกที่ปฏิเสธ. พวกฟาริซายคือพวกที่สนับสนุน ขณะที่พวกซาดูกายกับพวกเอสซีนอยู่ฝ่ายต่อต้าน.
ท่ามกลางเหตุการณ์ที่มีการโต้แย้งนี้ พระเยซูแห่งนาซาเร็ธได้ปรากฏตัวในฐานะมาซีฮาตามคำสัญญา. (ดานิเอล 9:24, 25; มัดธาย 2:1-6, 22, 23) พระเยซูทรงเผชิญกับกลุ่มชาวยิวที่ขัดแย้งกันนั้นทุกกลุ่ม. ในการหาเหตุผลกับพวกเขา พระองค์ตรัสตำหนิการทำให้พระคำของพระเจ้าเป็นโมฆะด้วยคำสอนสืบปากของพวกเขา. (มัดธาย 15:3-9) พระเยซูยังทรงสอนความจริงด้านศาสนาด้วยวิธีที่เฉพาะแต่พระมาซีฮาเท่านั้นสอนได้. (โยฮัน 7:45, 46) นอกจากนั้น เหล่าสาวกแท้ของพระเยซูเท่านั้นที่ให้หลักฐานถึงการหนุนหลังจากพระเจ้า. ต่อมาพวกเขาเป็นที่รู้จักในฐานะคริสเตียน.—กิจการ 11:26.
เมื่อพระวิหารในกรุงยะรูซาเลมถูกทำลายในปีสากลศักราช 70 พวกฟาริซายเป็นนิกายศาสนานิกายเดียวที่รอดพ้นอยู่ได้. ตอนนี้ โดยปราศจากปุโรหิต, เครื่องบูชา, และพระวิหาร ลัทธิยูดายแบบฟาริซายก็สามารถคิดสิ่งทดแทนสำหรับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด จึงเปิดโอกาสให้คำสอนสืบปากและการตีความเข้าแทนที่พระบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร. การทำเช่นนี้เปิดช่องให้มีการจารึก “หนังสือศักดิ์สิทธิ์” เล่มใหม่ขึ้นมา. แรกสุดก็เป็นมิชนาห์ พร้อมกับสิ่งที่เพิ่มเติมเข้าไปและการตีความกฎหมายสืบปากของพวกเขา. ต่อมาก็ได้มีการผนวกข้อเขียนอื่น ๆ ที่รวบรวมมาและเรียกว่าทัลมุด. ในเวลาเดียวกันนั้น พวกคริสเตียนที่ออกหากเริ่มหันออกจากคำสอนของพระเยซู. ทั้งสองกลุ่มได้เป็นจุดเริ่มของระบบศาสนาที่ทรงอำนาจ—กลุ่มหนึ่งคือระบบของพวกรับบี [ผู้นำในศาสนายิว] และอีกกลุ่มหนึ่งคือระบบของนักเทศน์นักบวชแห่งคริสตจักร.
เนื่องจากชาวยิวขัดแย้งกับจักรวรรดิโรมนอกรีตและต่อมาก็กับจักรวรรดิโรม “คริสเตียน” ในที่สุดศูนย์กลางของลัทธิยูดายจึงย้ายไปที่บาบูโลน. ที่นั่นเองที่ข้อความจารึกของทัลมุดถูกเรียบเรียงจนครบถ้วน. ถึงแม้พวกรับบีอ้างว่า ทัลมุดเผยให้ทราบพระทัยประสงค์ของพระเจ้าครบถ้วนกว่า ชาวยิวหลายคนก็รู้สึกถึงอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของพวกรับบีและเฝ้าคอยหาพระคำของพระเจ้าที่ถ่ายทอดถึงพวกเขาโดยทางโมเซและพวกผู้พยากรณ์.
ในช่วงห้าสิบปีหลังของศตวรรษที่แปด ชาวยิวในบาบูโลนซึ่งต่อต้านอำนาจของพวกรับบีและความเชื่อในกฎหมายสืบปากของพวกนั้น ได้ตอบรับผู้นำที่มีความรู้คนหนึ่งชื่ออะนาน เบน เดวิด. เขาได้ประกาศถึงสิทธิของชาวยิวแต่ละคนในการศึกษาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอย่างไม่มีข้อจำกัดในฐานะเป็นแหล่งเดียวเท่านั้นของศาสนาแท้ โดยไม่สนใจการตีความของพวกรับบีหรือทัลมุด. อะนานสอนว่า “จงค้นดูอย่างถี่ถ้วนในโทราห์ [กฎหมายลายลักษณ์อักษรของพระเจ้า] และอย่าอาศัยความคิดเห็นของข้าพเจ้า.” เนื่องด้วยการเน้นเรื่องพระคัมภีร์เช่นนี้ เหล่าผู้ติดตามของอะนานจึงเป็นที่รู้จักกันว่า คาราอิมʹ ชื่อในภาษาฮีบรูซึ่งหมายความว่า “พวกผู้อ่าน.”
พวกคาราอิเตกับรับบีขัดแย้งกัน
มีตัวอย่างคำสอนอะไรบ้างของพวกคาราอิเตที่ก่อความตกตะลึงในพวกรับบี? พวกเขาห้ามการกินเนื้อพร้อมกับนม. พวกเขาอธิบายเรื่องนี้ว่าเป็นคำชี้แจงของกฎหมายสืบปากในเอ็กโซโด 23:19 ซึ่งกล่าวว่า “อย่าได้ต้มเนื้อลูกแพะด้วยน้ำนมแม่ของมันเลย.” ส่วนพวกคาราอิเตสอนว่า ข้อนี้หมายความตามที่มีกล่าวไว้เท่านั้น—ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น. พวกเขาโต้แย้งว่าข้อห้ามของพวกรับบีเป็นข้อห้ามที่มนุษย์คิดขึ้น.
ตามการตีความของพวกเขาเกี่ยวกับพระบัญญัติ 6:8, 9 พวกรับบียึดถือว่า ผู้ชายชาวยิวต้องอธิษฐานโดยสวมเทฟิลลินหรือกล่องเล็ก ๆ ที่ใส่ข้อพระคัมภีร์ และต้องติดเมซูซาห์ที่เสาประตูบ้าน.b พวกคาราอิเตถือว่าข้อคัมภีร์เหล่านั้นมีความหมายเพียงโดยนัย ดังนั้น จึงปฏิเสธข้อบังคับเหล่านั้นของพวกรับบี.
ในเรื่องอื่น ๆ พวกคาราอิเตเคร่งครัดยิ่งกว่าพวกรับบีมากนัก. ยกตัวอย่าง ขอพิจารณาทัศนะที่พวกเขามีต่อเอ็กโซโด 35:3 ซึ่งอ่านว่า “ในวันซะบาโตนั้นอย่าได้ก่อไฟทั่วตลอดที่อาศัยของเจ้าเลย.” พวกคาราอิเตห้ามการปล่อยให้ตะเกียงหรือโคมไฟลุกอยู่แม้จะจุดไว้ก่อนวันซะบาโตก็ตาม.
โดยเฉพาะหลังจากอะนานสิ้นชีวิต พวกผู้นำของคาราอิเตไม่เห็นด้วยบ่อย ๆ กับระดับและลักษณะของข้อห้ามบางข้อ และข่าวสารของพวกเขาก็ไม่ชัดเจนเสมอไป. พวกคาราอิเตขาดเอกภาพเพราะพวกเขาไม่ยอมรับผู้นำคนหนึ่งคนใดแต่เน้นเรื่องการอ่านและการตีความพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับอำนาจแบบรับบี. แต่ทั้ง ๆ ที่เป็นเช่นนี้ ขบวนการคาราอิเตก็เป็นที่นิยมมากขึ้นและมีอิทธิพลแผ่เลยชุมชนชาวยิวในบาบูโลนออกไปมากและแพร่หลายไปทั่วตะวันออกกลาง. ศูนย์กลางสำคัญของคาราอิเตถึงกับตั้งอยู่ในยะรูซาเลมด้วยซ้ำ.
ในช่วงศตวรรษที่เก้าและสิบ พวกผู้คงแก่เรียนของพวกคาราอิเตดีเด่นในการฟื้นฟูการศึกษาภาษาฮีบรูขึ้นใหม่และมียุคที่รุ่งเรืองถึงระดับหนึ่ง. พวกเขาถือว่าบทจารึกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่คำสอนสืบปาก. พวกคาราอิเตบางคนกลายเป็นผู้คัดลอกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่รอบคอบ. แท้จริง เป็นงานที่น่าสนใจของพวกคาราอิเตนั่นเองที่กระตุ้นให้มีการศึกษาพระคัมภีร์ขึ้นท่ามกลางบรรดาชาวยิวโดยพิจารณาหมายเหตุของมาโซรีต ซึ่งทำให้ได้ข้อความถูกต้องแม่นยำมากขึ้นในคัมภีร์ไบเบิลที่ถูกรักษาไว้จนทุกวันนี้.
ในช่วงแห่งความเจริญอย่างรวดเร็วนี้ ลัทธิยูดายของพวกคาราอิเตได้เข้าร่วมในงานเผยแพร่ศาสนาอย่างเปิดเผยท่ามกลางชาวยิวพวกอื่น ๆ. ทั้งนี้ได้ก่อการคุกคามอย่างเห็นได้ชัดต่อลัทธิยูดายของพวกรับบี.
พวกรับบีตอบโต้อย่างไร?
การตีโต้ของพวกรับบีเป็นสงครามทางวาจาที่ดุเดือด พร้อมด้วยการปรับและเปลี่ยนแปลงคำสอนอย่างแนบเนียน. ระหว่างศตวรรษต่อจากการโจมตีของอะนาน ลัทธิยูดายของพวกรับบีได้รับเอาวิธีการหลายอย่างของพวกคาราอิเต. พวกรับบีชำนาญยิ่งขึ้นในการยกข้อพระคัมภีร์มากล่าวอ้าง โดยผนวกเอาแบบและวิธีการของพวกคาราอิเตเข้าไว้ในวาทศิลป์ของตน.
ผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับในสงครามวาจากับพวกคาราอิเตครั้งนี้คือซาเดีย เบน โจเซฟ ซึ่งกลายเป็นหัวหน้าชุมชนยิวในบาบูโลนในช่วงห้าสิบปีแรกของศตวรรษที่สิบ. ผลงานสำคัญของซาเดีย หนังสือแห่งหลักข้อเชื่อและความคิดเห็น มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยแซมิวเอล โรเซนบลัตต์ ซึ่งกล่าวไว้ในคำนำของหนังสือนี้ว่า “แม้ว่า . . . เขาเป็นผู้ทรงอิทธิพลเกี่ยวกับทัลมุดในสมัยของเขา [ซาเดีย] แทบจะไม่ใช้ประโยชน์จากแหล่งคำสอนสืบปากของชาวยิวนี้เลย ดูเหมือนเพราะเขาปรารถนาจะพิชิตพวกคาราอิเตซึ่งยอมรับว่าเฉพาะพระบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นที่มีผลบังคับ โดยใช้พระบัญญัติซึ่งเป็นอาวุธของพวกเขาเอง.”
โดยทำตามแบบอย่างของซาเดีย ลัทธิยูดายของพวกรับบีได้มาซึ่งอิทธิพลมากขึ้น. พวกเขาทำเรื่องนี้สำเร็จโดยการปรับเปลี่ยนถึงขนาดที่ลบล้างหลักฐานทรงพลังจากข้อโต้แย้งของพวกคาราอิเต. การโจมตีครั้งสุดท้ายดำเนินการโดยโมเซส ไมโมนิเดส ผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ทัลมุดที่เลื่องชื่อในศตวรรษที่ 12. โดยท่าทีที่อดทนต่อพวกคาราอิเตซึ่งเขาอาศัยอยู่ด้วยในอียิปต์ อีกทั้งแบบฉบับผู้คงแก่เรียนที่น่าเชื่อถือของเขา เขาได้รับการยกย่องจากพวกนั้นและทำให้ฐานะการเป็นผู้นำของพวกนั้นอ่อนลง.
ขบวนการคาราอิเตสูญเสียแรงกระตุ้น
ในเมื่อบัดนี้ขาดเอกภาพและไม่มีการประสานงานกันอย่างดี ขบวนการคาราอิเตจึงสูญเสียทั้งแรงกระตุ้นและผู้ติดตาม. พร้อมกับเวลาที่ผ่านไป พวกคาราอิเตได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและหลักการของตน. ลีอัน นีมอย นักประพันธ์เกี่ยวกับขบวนการคาราอิเตเขียนดังนี้: “ขณะที่ตามสมมุติฐานแล้ว ทัลมุดยังคงถูกห้าม แต่ข้อความมากมายในทัลมุดถูกรวมเข้าไว้ในหลักปฏิบัติของคาราอิเตเกี่ยวกับกฎหมายและธรรมเนียมอย่างไม่ทันสังเกต.” โดยเนื้อแท้แล้ว พวกคาราอิเตสูญเสียจุดมุ่งหมายเดิมของตนและได้รับเอาลัทธิยูดายของพวกรับบีไว้มาก.
ยังมีพวกคาราอิเตประมาณ 25,000 คนในอิสราเอล. อาจพบได้อีกสองสามพันคนในชุมชนอื่น ๆ ส่วนใหญ่ในรัสเซียและสหรัฐ. แต่โดยที่มีคำสอนสืบปากของตนเอง พวกเขาจึงแตกต่างจากพวกคาราอิเตสมัยแรก.
เราเรียนรู้อะไรได้จากประวัติศาสตร์ของพวกคาราอิเต? เราเรียนรู้ว่า เป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่ ‘เอาคำสอนสืบปากมาทำให้พระคำของพระเจ้าเป็นโมฆะ.’ (มัดธาย 15:6, ล.ม.) เพื่อได้รับการปลดปล่อยจากคำสอนสืบปากต่าง ๆ ของมนุษย์อันเป็นภาระหนักต้องรับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระคัมภีร์. (โยฮัน 8:31, 32; 2 ติโมเธียว 3:16, 17) ถูกแล้ว คนที่แสวงหาเพื่อจะรู้และทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้านั้นไม่อาศัยคำสอนสืบปากของมนุษย์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขาค้นดูคัมภีร์ไบเบิลอย่างขยันขันแข็งและทำตามคำสั่งสอนอันเป็นประโยชน์ในพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นด้วยการดลใจ.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับคำอธิบายเกี่ยวกับกฎหมายสืบปากตามที่เรียกกัน โปรดดูหน้า 8-11 ในจุลสารโลกที่ปราศจากสงครามจะมีไหม? (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์โดยสมาคม ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
b เทฟิลลินคือเป็นกล่องหนังสี่เหลี่ยมขนาดเล็กสองอันที่บรรจุแผ่นหนังจารึกข้อความในพระคัมภีร์. ตามธรรมเนียมแล้ว กล่องเหล่านี้ถูกสวมบนแขนซ้ายและที่ศีรษะในช่วงการอธิษฐานตอนเช้าวันธรรมดา. เมซูซาห์เป็นม้วนแผ่นหนังเล็ก ๆ จารึกพระธรรมพระบัญญัติ 6:4-9 และ 11:13-21 ใส่กล่องเล็ก ๆ ติดกับเสาประตูบ้าน.
[รูปภาพหน้า 30]
พวกคาราอิเตกลุ่มหนึ่ง
[ที่มาของภาพหน้า 30]
From the book The Jewish Encyclopedia, 1910