แหล่งอ้างอิงสำหรับชีวิตและงานรับใช้—คู่มือประชุม
วันที่ 7-13 กันยายน
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อพยพ 23-24
“อย่าทำตามคนส่วนใหญ่”
it-1-E น. 11 ว. 3
อาโรน
น่าสังเกตว่าทั้ง 3 ครั้งที่อาโรนทำผิดต่อพระยะโฮวา เขาไม่ใช่คนที่เริ่มชักชวนคนอื่นให้ทำผิด แต่ดูเหมือนว่าเขายอมแพ้แรงกดดันที่มาจากคนอื่น ๆ จึงทำให้เขาไม่ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะตอนทำผิดครั้งแรก อาโรนไม่ได้ทำตามหลักการที่อยู่เบื้องหลังคำสั่งที่ว่า “อย่าทำชั่วตามอย่างคนส่วนใหญ่” (อพย 23:2) ถึงจะเป็นอย่างนั้น ภายหลังเมื่อมีการพูดถึงอาโรนในคัมภีร์ไบเบิล เขาก็ถูกพูดถึงในแบบที่ให้เกียรติ และตอนที่พระเยซูลูกของพระเจ้าอยู่บนโลก ท่านก็ยอมรับปุโรหิตที่เป็นลูกหลานของอาโรน—สด 115:10, 12; 118:3; 133:1, 2; 135:19; มธ 5:17-19; 8:4
it-1-E น. 343 ว. 5
ตาบอด
คัมภีร์ไบเบิลเปรียบเทียบการตัดสินอย่างไม่ยุติธรรมกับอาการตาบอด ผู้พิพากษาหลายคนถูกชักจูงด้วยสินบน ของขวัญ หรือเพราะตัวเขามีอคติ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ผู้พิพากษาตาบอดหรือตัดสินอย่างไม่ยุติธรรม คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “สินบนทำให้คนตาดีกลายเป็นคนตาบอด” (อพย 23:8) “สินบนจะทำให้คนที่มีสติปัญญากลายเป็นคนตาบอด” (ฉธบ 16:19) ไม่ว่าผู้พิพากษาจะเป็นคนดีหรือซื่อสัตย์แค่ไหน เขาก็อาจได้รับอิทธิพลจากสินบนโดยไม่รู้ตัว กฎหมายของพระเจ้าบอกอย่างมีเหตุผลว่า อาการตาบอดไม่ได้มาจากสินบนหรือของขวัญเท่านั้นแต่มาจากความสงสารและเห็นใจของผู้ตัดสินด้วย เช่น กฎหมายที่บอกว่า “อย่าลำเอียงเข้าข้างคนยากจนหรือเห็นแก่หน้าคนร่ำรวย” (ลนต 19:15) ดังนั้น ผู้พิพากษาต้องไม่ตัดสินว่าคนรวยผิดเพราะเขาเห็นใจคนจนหรือเพราะคนส่วนใหญ่อยากให้ตัดสินแบบนั้น—อพย 23:2, 3
it-2-E น. 393
มีคาเอล
1. คัมภีร์ไบเบิลบอกชื่อทูตสวรรค์แค่ 2 องค์ คือ กาเบรียลกับมีคาเอล และมีคาเอลเท่านั้นถูกเรียกว่า “อัครทูตสวรรค์” (ยด 9) ชื่อมีคาเอลปรากฏครั้งแรกที่ดาเนียล บท 10 ซึ่งมีการพูดถึงมีคาเอลว่าเป็น “เจ้าผู้สูงส่งท่านหนึ่ง” และตอนที่มีคาเอลมาช่วยทูตสวรรค์ที่กำลังต่อสู้กับ “เจ้าแห่งอาณาจักรเปอร์เซีย” มีคาเอลถูกเรียกว่า “เจ้าผู้สูงส่ง” “เจ้าชายองค์ยิ่งใหญ่ซึ่งคอยช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติของ [ดาเนียล]” (ดนล 10:13, 20, 21; 12:1) นี่ทำให้เรารู้ว่ามีคาเอลเป็นทูตสวรรค์ที่นำหน้าชาติอิสราเอลตอนอยู่ในที่กันดาร (อพย 23:20, 21, 23; 32:34; 33:2) อีกเรื่องหนึ่งที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็คือ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “มีคาเอลอัครทูตสวรรค์ขัดแย้งกับมารและโต้เถียงกันเรื่องศพของโมเสส”—ยด 9
วันที่ 14-20 กันยายน
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อพยพ 25-26
“ของสำคัญที่สุดในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์”
it-1-E น. 166 ว. 2
หีบสัญญา
หีบสัญญาใช้เก็บสิ่งที่ช่วยเตือนใจหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ สิ่งที่เด่นก็คือ แผ่นหิน 2 แผ่นที่มีข้อกฎหมายของพระเจ้า หรือบัญญัติ 10 ประการ (อพย 25:16) ตอนหลังมีการเพิ่ม “โถทองคำที่ใส่มานา” และ “ไม้เท้าของอาโรนซึ่งออกดอกตูม” แต่มีการเอาสิ่งเหล่านี้ออกไปช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนการสร้างวิหารของโซโลมอน (ฮบ 9:4; อพย 16:32-34; กดว 17:10; 1พก 8:9; 2พศ 5:10) ก่อนโมเสสตาย เขาเอา “ม้วนหนังสือกฎหมาย” ให้ปุโรหิตชาวเลวีและสั่งว่า “เอาม้วนหนังสือกฎหมายนี้วางไว้ข้าง ๆ หีบสัญญาของพระยะโฮวาพระเจ้า ม้วนหนังสือนี้จะทำให้คุณนึกถึงคำเตือนของพระเจ้า”—ฉธบ 31:24-26
it-1-E น. 166 ว. 3
หีบสัญญา
เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าพระเจ้าอยู่กับชาวอิสราเอล หีบสัญญาเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าพระเจ้าอยู่กับชาวอิสราเอลมาตั้งแต่แรก พระยะโฮวาสัญญาว่า “เราจะมาหาเจ้าที่นั่นและพูดกับเจ้าเหนือฝาหีบนั้น . . . เราพูดจากข้างบนฝาหีบสัญญา ระหว่างเครูบสององค์นั้น” “เราจะอยู่ในเมฆที่ลอยอยู่บนฝาหีบนั้น” (อพย 25:22; ลนต 16:2) ซามูเอลเขียนว่าพระยะโฮวา “นั่งบนบัลลังก์เหนือเครูบ” (1ซม 4:4) เครูบทำหน้าที่ “แทนราชรถ” ของพระยะโฮวา (1พศ 28:18) ดังนั้น “เมื่อไรก็ตามที่โมเสสเข้าไปในเต็นท์เข้าเฝ้าเพื่อพูดกับ [พระยะโฮวา] พระองค์ก็จะพูดกับเขา เขาจะได้ยินเสียงของพระองค์พูดกับเขาจากข้างบนฝาหีบสัญญาระหว่างเครูบ 2 องค์” (กดว 7:89) ต่อมา โยชูวาและมหาปุโรหิตฟีเนหัสถามพระยะโฮวาตรงหน้าหีบสัญญาด้วย (ยชว 7:6-10; วนฉ 20:27, 28) แต่มหาปุโรหิตเท่านั้นที่สามารถเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดและได้เห็นหีบนั้นปีละ 1 วัน ไม่ใช่เพื่อพูดคุยกับพระยะโฮวา แต่เพื่อทำพิธีการในวันไถ่บาป—ลนต 16:2, 3, 13, 15, 17; ฮบ 9:7
it-1-E น. 432 ว. 1
เครูบ
เครูบทองคำเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสร้างขึ้นในที่กันดาร เครูบทองคำ 2 องค์ที่ใช้ค้อนตีขึ้นรูป อยู่ที่ปลายฝาหีบทั้ง 2 ด้าน ด้านละองค์ เครูบ 2 องค์นี้หันหน้าเข้าหากันและก้มไปหาฝาหีบแสดงถึงการนมัสการพระยะโฮวา แต่ละองค์แผ่ปีกทั้ง 2 ข้างขึ้นไปด้านบนปกคลุมบนฝาหีบในลักษณะของการปกป้องและป้องกัน (อพย 25:10-21; 37:7-9) นอกจากนั้น ผ้าคลุมเต็นท์ด้านใน และม่านที่กั้นระหว่างห้องบริสุทธิ์กับห้องบริสุทธิ์ที่สุดก็ปักภาพเครูบไว้ด้วย—อพย 26:1, 31; 36:8, 35
it-2-E น. 936
ขนมปังถวาย
ขนมปัง 12 อันที่วางบนโต๊ะในห้องบริสุทธิ์ของเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์หรือวิหารจะถูกเปลี่ยนทุก ๆ วันสะบาโต (อพย 35:13; 39:36; 1พก 7:48; 2พศ 13:11; นหม 10:32, 33) ขนมปังถวายมาจากคำภาษาฮีบรูที่แปลตรงตัวว่า “ขนมปังตรงหน้า” ดังนั้น ขนมปังถวายจึงเป็นเครื่องบูชาที่วางไว้ต่อหน้าพระยะโฮวาเสมอ (อพย 25:30) ขนมปังถวายยังหมายถึง “ขนมปังที่วางซ้อนกัน” (2พศ 2:4) และ “ขนมปังที่ตั้งถวาย” (มก 2:26)
วันที่ 21-27 กันยายน
it-2-E น. 1143
อูริมและทูมมิม
นักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลหลายคนเชื่อว่าอูริมและทูมมิมเป็นฉลาก ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลของเจมส์ มอฟฟัตต์ที่อพยพ 28:30 เรียกอูริมกับทูมมิมว่า “ฉลากศักดิ์สิทธิ์” บางคนบอกว่าอูริมและทูมมิมมี 3 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเขียนคำว่า “ใช่” อีกชิ้นหนึ่งเขียนคำว่า “ไม่” และชิ้นสุดท้ายไม่เขียนอะไรเลย เมื่ออยากได้คำตอบเรื่องอะไรก็จับฉลาก ถ้าจับได้ชิ้นที่ไม่เขียนอะไรเลยก็หมายความว่ายังไม่มีคำตอบสำหรับเรื่องนั้น ส่วนบางคนคิดว่าอูริมและทูมมิมเป็นหินแบน ๆ 2 ก้อน ด้านหนึ่งเป็นสีขาว อีกด้านหนึ่งเป็นสีดำ ถ้าโยนลงพื้นแล้วด้านสีขาวหงายขึ้นมาทั้ง 2 ก้อนก็แปลว่า “ใช่” ถ้าสีดำหงายขึ้นมาทั้ง 2 ก้อนก็แปลว่า “ไม่” แต่ถ้าหงายขึ้นมาคนละสีก็แปลว่าไม่มีคำตอบ มีอยู่ครั้งหนึ่งซาอูลถามพระยะโฮวาผ่านทางปุโรหิตว่าควรไล่ตามพวกฟีลิสเตียไปไหม เขาไม่ได้รับคำตอบ นี่ทำให้ซาอูลคิดว่ามีบางคนทำบาป เขาจึงอธิษฐานถึงพระยะโฮวาว่า “พระเจ้าของอิสราเอล โปรดบอกพวกเราด้วยทูมมิมนี้” แล้วโยนาธานกับซาอูลก็ถูกเลือก ส่วนประชาชนพ้นผิด จากนั้นก็มีการจับฉลากอีกครั้งเพื่อเลือกระหว่าง 2 คนนี้ ในเหตุการณ์นี้คำขอที่ว่า “โปรดบอกพวกเราด้วยทูมมิมนี้” ดูเหมือนจะเป็นคนละอย่างกับการจับฉลาก แต่ก็อาจแสดงว่ามีบางอย่างเกี่ยวข้องกัน—1ซม 14:36-42
it-1-E น. 849 ว. 3
หน้าผาก
มหาปุโรหิตของชาติอิสราเอล ผ้าโพกหัวมหาปุโรหิตชาติอิสราเอลส่วนที่อยู่ตรงหน้าผากมีแผ่นทองคำที่เป็น “เครื่องหมายอันบริสุทธิ์ที่แสดงถึงการอุทิศตัว” บนแผ่นทองคำนั้นมีการ “สลักตราประทับ” ว่า “พระยะโฮวาบริสุทธิ์” (อพย 28:36-38; 39:30) ในฐานะที่เป็นหัวหน้าตัวแทนของประชาชนในการนมัสการพระยะโฮวา จึงเหมาะสมที่มหาปุโรหิตต้องรักษาตัวให้บริสุทธิ์ ข้อความนี้ยังเตือนชาวอิสราเอลทุกคนด้วยว่าพวกเขาต้องรักษาตัวให้บริสุทธิ์เสมอเมื่อรับใช้พระยะโฮวา แผ่นทองคำที่สลักข้อความนี้ยังช่วยให้เราเห็นภาพของมหาปุโรหิตองค์ยิ่งใหญ่ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระยะโฮวาแต่งตั้งท่านให้ทำหน้าที่เป็นปุโรหิตเพื่อเชิดชูความบริสุทธิ์ของพระองค์—ฮบ 7:26
it-1-E น. 1130 ว. 2
ความบริสุทธิ์
สัตว์และพืชผล ลูกสัตว์ตัวผู้ตัวแรกทั้งลูกวัว ลูกแกะ ลูกแพะ เป็นสิ่งบริสุทธิ์สำหรับพระยะโฮวาและไม่สามารถไถ่คืนได้ สัตว์เหล่านี้จะถูกถวายเป็นเครื่องบูชาและส่วนหนึ่งจะเป็นของปุโรหิต (กดว 18:17-19) ผลแรกและส่วน 1 ใน 10 บริสุทธิ์เหมือนที่เครื่องบูชาและของถวายทุกอย่างถูกทำให้บริสุทธิ์เพื่อใช้ในที่ศักดิ์สิทธิ์ (อพย 28:38) ถ้าพระยะโฮวาถือว่าอะไรบริสุทธิ์ สิ่งนั้นก็ศักดิ์สิทธิ์และไม่ควรมีใครมองข้ามความสำคัญของเรื่องนี้หรือเอาไปใช้ตามใจชอบ มีตัวอย่างของเรื่องนี้ในกฎหมายที่ให้ถวายส่วน 1 ใน 10 คือ ถ้าผู้ชายคนหนึ่งกันส่วน 1 ใน 10 ไว้แล้ว อาจเป็นข้าวสาลี และเขาหรือคนในครอบครัวแบ่งจากส่วนนั้นมาใช้ทำอาหารสำหรับครอบครัว ผู้ชายคนนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายของพระเจ้าเพราะไม่นับถือสิ่งบริสุทธิ์ ซึ่งตามกฎหมายแล้วเขาต้องชดใช้ให้สถานบริสุทธิ์ในปริมาณที่เท่ากัน และต้องเพิ่มให้อีก 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น เขาต้องเอาแกะตัวผู้ตัวหนึ่งที่สมบูรณ์แข็งแรงมาถวายเป็นเครื่องบูชาด้วย กฎหมายนี้ทำให้สิ่งบริสุทธิ์ที่เป็นของพระยะโฮวาได้รับความนับถืออย่างสูง—ลนต 5:14-16
วันที่ 28 กันยายน–4 ตุลาคม
it-2-E น. 764-765
ขึ้นทะเบียน
ที่ซีนาย ในเดือน 2 ปีที่ 2 หลังจากชาวอิสราเอลอพยพออกจากอียิปต์ พระยะโฮวาสั่งให้มีการขึ้นทะเบียนครั้งแรกซึ่งเป็นช่วงที่ชาวอิสราเอลตั้งค่ายที่ซีนาย มีการเลือกผู้ชาย 1 คนที่เป็นหัวหน้าของแต่ละตระกูลเพื่อช่วยโมเสสทำงานนี้ ให้รับผิดชอบและดูแลการขึ้นทะเบียนในตระกูลของตัวเอง มีการขึ้นทะเบียนผู้ชายอายุ 20 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นคนที่ต้องเข้าร่วมกองทัพ และกฎหมายบอกด้วยว่าคนที่ขึ้นทะเบียนแล้วต้องเสียภาษีคนละครึ่งเชเขล (ประมาณ 30 บาท) เพื่อใช้ในการดูแลเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ (อพย 30:11-16; กดว 1:1-16, 18, 19) คนที่มาขึ้นทะเบียนทั้งหมดมี 603,550 คน ซึ่งจำนวนนี้ไม่รวมคนในตระกูลเลวีเพราะพวกเขาไม่ได้มรดกที่ดิน พวกเขาไม่ต้องเสียภาษีและไม่ต้องเข้าร่วมกองทัพ—กดว 1:44-47; 2:32, 33; 18:20, 24
it-1-E น. 502
การบริจาค
กฎหมายของโมเสสกำหนดให้บริจาคบางรูปแบบ ตอนที่โมเสสนับจำนวนชาวอิสราเอล ผู้ชายที่อายุ 20 ปีขึ้นไปต้องเอาค่าไถ่สำหรับไถ่ชีวิตตัวเองมาถวายพระยะโฮวาจำนวน “ครึ่งเชเขล [ประมาณ 30 บาท] ตามเชเขลมาตรฐานของสถานบริสุทธิ์” เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่ต้อง “ถวายให้พระยะโฮวา” เพื่อไถ่ชีวิตตัวเองและ “ดูแลเต็นท์เข้าเฝ้า” (อพย 30:11-16) โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง (The Jewish War VII 218 [vi 6]) ว่าตั้งแต่นั้นมา ชาวอิสราเอลต้องจ่าย “เงินถวาย” นี้ทุกปี—2พศ 24:6-10; มธ 17:24
it-1-E น. 1029 ว. 4
มือ
การวางมือ นอกจากการใช้มือจริง ๆ ยังมีการเอามือวางบนคนหรือสิ่งอื่นเพื่อจุดประสงค์หลายอย่าง โดยทั่วไปแล้วความหมายของการวางมือคือการระบุว่าคนนั้นหรือสิ่งนั้นเป็นที่ยอมรับในแง่ใดแง่หนึ่ง ตอนที่มีพิธีแต่งตั้งปุโรหิต อาโรนกับพวกลูกชายเอามือวางบนหัวของวัวและแกะตัวผู้ 2 ตัวที่จะถวายเป็นเครื่องบูชา การทำแบบนี้แสดงว่าสัตว์เหล่านี้จะถูกถวายเป็นเครื่องบูชาเพื่อพวกเขาจะเป็นปุโรหิตของพระยะโฮวาพระเจ้า (อพย 29:10, 15, 19; ลนต 8:14, 18, 22) ตอนที่โมเสสแต่งตั้งโยชูวาให้ทำหน้าที่ต่อจากเขาตามที่พระเจ้าสั่ง โมเสสวางมือบนโยชูวาที่ “ได้รับพลังจากพระเจ้าซึ่งทำให้เขามีสติปัญญา” และนำชาติอิสราเอลได้ (ฉธบ 34:9) มีการวางมือบนคนเพื่ออวยพรคนเหล่านั้น (ปฐก 48:14; มก 10:16) ตอนที่พระเยซูคริสต์รักษาผู้คน ท่านสัมผัสหรือวางมือบนพวกเขา (มธ 8:3; มก 6:5; ลก 13:13) บางครั้ง พวกอัครสาวกวางมือบนผู้คนและคนเหล่านั้นได้รับพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า—กจ 8:14-20; 19:6
it-1-E น. 114 ว. 1
เจิม, การเจิม
ในกฎหมายที่พระยะโฮวาให้โมเสส พระองค์บอกส่วนผสมในการทำน้ำมันเจิม ซึ่งประกอบด้วยสิ่งที่มีกลิ่นหอมอย่างดีที่สุด คือ ยางมดยอบ อบเชยหอม ว่านน้ำชนิดหอม แคสเซีย และน้ำมันมะกอก (อพย 30:22-25) ใครก็ตามที่ทำน้ำมันตามส่วนผสมนี้และใช้น้ำมันนี้ผิดวัตถุประสงค์ที่พระเจ้าบอกไว้จะต้องถูกประหารชีวิต (อพย 30:31-33) เรื่องนี้ทำให้รู้ว่าการให้ความนับถือคนที่พระเจ้าแต่งตั้งโดยการเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก