คุณรู้ไหม?
มีการใช้ปากกาและน้ำหมึกแบบไหนในสมัยคัมภีร์ไบเบิล?
ในตอนท้ายของจดหมายฉบับที่สามที่อัครสาวกโยฮันเขียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิล ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีหลายเรื่องจะเขียนถึงท่าน แต่ไม่อยากใช้น้ำหมึกกับปากกาเขียน.” คำแปลตรงตัวของคำภาษากรีกที่โยฮันใช้บ่งชี้ว่าท่านไม่อยากเขียนต่อไปโดยใช้ “สีดำ [น้ำหมึก] และต้นอ้อ.”—3 โยฮัน 13, พระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับแปลคิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์
ปากกาของนักคัดลอกสมัยโบราณทำจากก้านต้นอ้อที่ตัดปลายด้านหนึ่งเป็นแนวเฉียงและเจาะรูเล็ก ๆ ให้น้ำหมึกซึมผ่านได้. นักคัดลอกอาจฝนปลายปากกาให้แหลมด้วยหินภูเขาไฟ. ปากกาที่ทำจากก้านต้นอ้อมีลักษณะคล้ายกับปากกาหมึกซึมที่มีปากเป็นโลหะในปัจจุบัน.
หมึกหรือ “สีดำ” ส่วนใหญ่ได้จากการผสมเขม่ากับยางไม้เหนียว ๆ ซึ่งเป็นเหมือนกาว. หมึกที่ขายกันในสมัยนั้นเป็นแบบแห้ง ก่อนจะใช้ต้องผสมกับน้ำในปริมาณพอเหมาะ. เมื่อใช้แล้ว หมึกชนิดนี้จะแห้งติดอยู่บนกระดาษพาไพรัสหรือหนังสัตว์โดยไม่ซึมหายไป. ดังนั้น ผู้เขียนสามารถลบคำผิดได้ทันทีโดยเช็ดด้วยฟองน้ำเปียก ซึ่งเป็นอุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งที่นักคัดลอกต้องมีไว้ใกล้ตัวเสมอ. ความรู้เกี่ยวกับน้ำหมึกที่ใช้ในสมัยโบราณนี้ช่วยให้เข้าใจความคิดของผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลบางคนที่พูดถึงการลบชื่อออกจากทะเบียนหรือหนังสือแห่งความทรงจำของพระเจ้า.—เอ็กโซโด 32:32, 33; วิวรณ์ 3:5
เต็นท์ที่อัครสาวกเปาโลทำเป็นแบบไหน?
กิจการ 18:3 กล่าวว่าอัครสาวกเปาโลมีอาชีพเป็นช่างทำเต็นท์. ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ช่างทำเต็นท์จะเอาขนอูฐหรือขนแพะมาทอเป็นผ้าชิ้นยาว. จากนั้น พวกเขาจะเย็บผ้าเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อทำเป็นเต็นท์สำหรับนักเดินทาง. อย่างไรก็ตาม หลายคนในยุคนั้นนิยมทำเต็นท์จากหนังสัตว์ด้วย. นอกจากนั้น บางคนยังทำเต็นท์โดยใช้ผ้าลินินซึ่งผลิตจากเมืองทาร์ซัสบ้านเกิดของเปาโล. เปาโลอาจใช้วัสดุเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด. แต่ในช่วงที่ทำงานกับอะคีลัส เปาโลอาจทำเต็นท์จากผ้าลินินซึ่งผู้คนใช้บังแดดในลานที่อยู่กลางบ้านของพวกเขา.
เปาโลอาจเรียนอาชีพนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหนุ่ม. หลักฐานจากเอกสารพาไพรัสของชาวอียิปต์บ่งชี้ว่าในช่วงที่อียิปต์อยู่ใต้การปกครองของโรม เด็ก ๆ ต้องเริ่มฝึกอาชีพตั้งแต่อายุประมาณ 13 ปี. ถ้าเปาโลเริ่มฝึกอาชีพในวัยนี้ พอถึงอายุ 15 หรือ 16 ปี ท่านคงมีความเชี่ยวชาญในการตัดผ้าหรือวัสดุอื่น ๆ ให้ได้รูปทรงและขนาดตามต้องการ แล้วเย็บให้ติดกันด้วยเหล็กหมาดขนาดต่าง ๆ โดยใช้วิธีเย็บที่หลากหลาย. หนังสือเล่มหนึ่ง (The Social Context of Paul’s Ministry) กล่าวว่า “หลังจากฝึกฝนจนชำนาญแล้ว เปาโลคงจะได้รับเครื่องมือทำงานส่วนตัวชุดหนึ่ง. เนื่องจากช่างทำเต็นท์ต้องการเพียงมีดและเหล็กหมาด งานนี้จึงเป็นอาชีพที่ทำได้ทุกที่” และเป็นอาชีพที่ทำให้เปาโลสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ระหว่างเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ในฐานะมิชชันนารี.