ตั้งแต่เซเดอร์จนถึงการรอดพ้น
“ข้าพเจ้าจะหยิบจอกแห่งความรอด และจะทูลออกพระนามของพระยะโฮวา.”—บทเพลงสรรเสริญ 116:13.
1. บทเพลงอะไรซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบมาทุกสมัยที่อาจมีผลกระทบต่ออนาคตของคุณ?
คุณจะชื่นชมกับเพลงซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่คุณจะมีอนาคตอันสุขสันติ์ยืนนานได้ไหม? ความจริงแล้ว บทเพลงเช่นนั้นเป็นที่ชื่นชอบมาทุกสมัย. แต่คุณยังอยู่ในฐานะที่ดีกว่าคนส่วนมากในการจะได้เข้าใจและชื่นชมกับบทเพลงอันเต็มไปด้วยความหมายนี้. ชาวยิวเรียกบทเพลงนี้ว่า ฮาล์เลล (สรรเสริญ). เพลงนั้นประกอบด้วยพระธรรมบทเพลงสรรเสริญบท 113 ถึง 118 และเร่งเร้าให้เราร้อง “ฮาล์เลลูยาห์” หรือ “สรรเสริญยาห์.”
2. มีการใช้เพลงนี้อย่างไร และเพลงนี้มีความเกี่ยวข้องกับเซเดอร์อย่างไร?
2 ชาวยิวร้องเพลงฮาล์เลลนี้ในเทศกาลฉลองปัศคาของเขา ซึ่งเป็นที่ชัดแจ้งว่ามีการร้องเพลงนี้ย้อนไปถึงคราวที่พระเจ้าทรงมีพระวิหารที่ซึ่งมีการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชา. ทุกวันนี้ มีการร้องเพลงนี้ในครอบครัวชาวยิวในคราวการฉลองปัศคาและในการรับประทานอาหารมื้อเย็นที่เรียกว่า เซเดอร์. แต่ในบรรดาผู้ที่ร้องเพลงนี้ในคราวเซเดอร์นั้น มีน้อยคนที่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของบทเพลงสรรเสริญ 116:13 ที่ว่า “ข้าพเจ้าจะหยิบจอกแห่งความรอด และจะทูลออกพระนามของพระยะโฮวา.” ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดความรอดจึงเกี่ยวพันกับปัศคา? และเป็นไปได้ไหมที่ความรอดของคุณเกี่ยวข้องอยู่ด้วย?
ปัศคา—การฉลองการรอดพ้น
3. ความเป็นมาของเซเดอร์คืออย่างไร?
3 ขอให้ระลึกถึงคราวที่ชนยิศราเอลตกเป็นทาสในอียิปต์ อยู่ภายใต้ฟาโรห์ที่กดขี่. ในที่สุดพระยะโฮวาได้ตั้งโมเซให้นำพลไพร่ของพระองค์สู่อิสรภาพ. หลังจากที่พระเจ้าทำให้มีภัยพิบัติเก้าประการแก่อียิปต์แล้ว โมเซได้ประกาศถึงประการที่สิบ. พระยะโฮวาจะทรงประหารบุตรหัวปีของชาวอียิปต์ทุกครอบครัว. (เอ็กโซโด 11:1-10) แต่ชนยิศราเอลจะถูกละเว้น. โดยวิธีใด? พวกเขาต้องฆ่าแกะตัวผู้ตัวหนึ่ง เอาเลือดทาบนเสาประตูและขื่อประตูบ้าน และอยู่ในบ้านรับประทานเนื้อแกะและขนมปังไม่ใส่เชื้อ และผักที่มีรสขม. ในช่วงเซเดอร์ [อาหารมื้อเย็น] นั้น พระเจ้าจะ “ผ่านเลยไป” โดยไม่สังหารบุตรหัวปีของพวกเขา.—เอ็กโซโด 12:1-13.
4, 5. โดยวิธีใดที่ปัศคานำคนจำนวนมากไปสู่การรอดพ้น? (บทเพลงสรรเสริญ 106:7-10)
4 ในการตอบรับต่อภัยพิบัติที่สิบนี้ ฟาโรห์บอกแก่โมเซว่า “เจ้าทั้งสองกับทั้งชาติยิศราเอล จงยกไปจากท่ามกลางพลไพร่ของเราเถิด ไปปรนนิบัติพระยะโฮวา.” (เอ็กโซโด 12:29-32) หลังจากชนชาวฮีบรูกับ “ฝูงชนชาติอื่นเป็นจำนวนมาก” ผู้ซึ่งร่วมด้วยได้จากไป ฟาโรห์ก็เปลี่ยนใจและไล่ตามพวกเขา. พระเจ้าจึงทรงช่วยพลไพร่ของพระองค์อย่างมหัศจรรย์ให้หนีข้ามทะเลแดง ที่ซึ่งฟาโรห์และกองทหารที่ไล่ติดตามมาได้พินาศหมดสิ้น.—เอ็กโซโด 12:38; 14:5-28; บทเพลงสรรเสริญ 78:51-53; 136:13-15.
5 โมเซบอกแก่ชนยิศราเอลที่ทะเลแดงว่า “อย่ากลัวเลย จงยืนอยู่นิ่ง ๆ จะได้เห็นความรอดมาแต่พระยะโฮวา ซึ่งพระองค์จะทรงประทานแก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้.” หลังจากนั้น พวกเขาร้องเพลงว่า “พระยะโฮวาเป็นกำลังและเป็นกำเนิดบทเพลงสรรเสริญแห่งข้าพเจ้า พระองค์เป็นผู้ช่วยให้ข้าพเจ้ารอด พระองค์นี่แหละเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระองค์.” (เอ็กโซโด 14:13; 15:2) ใช่แล้ว การช่วยชีวิตพวกยิศราเอลพ้นจากภัยพิบัติที่สิบและจากทะเลแดง คือการช่วยให้รอดอย่างหนึ่ง. ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญพรรณนาถึงพระยะโฮวาได้ว่า ทรงเป็นพระเจ้าผู้ “ประทานความรอดท่ามกลางแผ่นดินโลก.”—บทเพลงสรรเสริญ 68:6, 20; 74:12-14; 78:12, 13, 22.
6, 7. เหตุใดได้มีการตั้งปัศคาอยู่ กระนั้นทำไมบัดนี้จึงถือกันในแบบที่ต่างกับปัศคาครั้งแรก?
6 ชาวฮีบรูต้องถือพิธีปัศคาเพื่อเป็นการระลึกถึงการช่วยให้รอด. พระเจ้าตรัสว่า “วันนี้เป็นวันที่ระลึกสำหรับเจ้า ให้เจ้าทั้งหลายถือไว้เป็นเทศกาลเลี้ยงประจำปีแด่พระยะโฮวา ตลอดเชื้อวงศ์ของเจ้าเป็นนิตย์.” (เอ็กโซโด 12:14) ในการเลี้ยงปัศคาหรือเซเดอร์แต่ละครั้ง ผู้เป็นบิดาต้องเตือนครอบครัวให้ระลึกถึงการช่วยให้รอดครั้งนั้น. พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาว่า “เมื่อลูกหลานของท่านถามว่า ‘พิธีนี้หมายความว่ากระไร?’ ท่านทั้งหลายจงตอบว่า ‘เป็นการถวายสัตว์บูชาปัศคาแด่พระเจ้า เพราะพระองค์ทรงผ่านเว้นบ้านของชนชาติยิศราเอลในอียิปต์ เมื่อพระองค์ทรงประหารคนอียิปต์ แต่ไว้ชีวิตครอบครัวของเราทั้งหลาย.’”—เอ็กโซโด 12:25-27, ฉบับแปลใหม่.
7 การที่ชาวยิวถือปัศคาเซเดอร์จนถึงทุกวันนี้ยืนยันว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์. แม้การปฏิบัติบางอย่างของเขาจะต่างไปจากที่พระเจ้าทรงบัญชาไว้. หนังสือที่มาของเซเดอร์ มีกล่าวว่า “คัมภีร์ไบเบิลมีการอธิบายอยู่มากมายเกี่ยวกับปัศคาและเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ. กระนั้นก็ตาม รายละเอียดเหล่านั้นไม่ได้สอดคล้องกับการถือตามวันหยุดนั้นในสมัยหลัง. ประการหนึ่งก็คือ การถือเทศกาลนี้ตามหลักคัมภีร์ไบเบิลให้ความสำคัญกับเครื่องบูชาปัศคาซึ่งไม่มีการให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อีกแล้วในสรรพหนังสือที่เขียนหลังสมัยพระคัมภีร์.” เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งคือ ชาวยิวไม่มีวิหารสำหรับถวายสัตว์บูชา.
8. เรามีเหตุผลพิเศษอะไรในการพิจารณาถึงการฉลองปัศคา?
8 คริสเตียนทั้งหลายสามารถได้ประโยชน์จากการศึกษาถึงงานฉลองทุกอย่างที่พระเจ้าได้ให้พวกยิศราเอลในสมัยโบราณกระทำ.a แต่ตอนนี้มีแง่โดยเฉพาะบางประการของปัศคาที่เราสมควรจะสนใจเป็นพิเศษ. พระเยซูผู้เป็นชาวยิวก็ได้ถือปัศคา. ในโอกาสสุดท้ายที่พระองค์ฉลองปัศคา พระองค์ได้วางเค้าโครงของการฉลองเพียงอย่างเดียวที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้ไว้แก่ชนคริสเตียนคือ—การฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นการรำลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู. ฉะนั้น การฉลองนี้ของคริสเตียนจึงเกี่ยวพันกับปัศคา.
สำคัญยิ่งกว่าลูกแกะปัศคา
9, 10. ลูกแกะปัศคาเป็นเครื่องบูชาที่พิเศษและไม่เหมือนกับเครื่องบูชาอื่นอย่างไร?
9 พระธรรมเฮ็บราย 10:1 บอกเราว่า ‘พระบัญญัตินั้นได้เป็นแต่เงาของสิ่งดีที่จะมาภายหน้า.’ ไซโคลพีเดียเกี่ยวกับสรรพหนังสือเรื่องคัมภีร์ไบเบิล เทววิทยาและคริสต์จักร โดยแม็คคลินท็อคและสตร็อง กล่าวว่า “ไม่มีเงาอื่นใดของสิ่งดีที่จะมาที่มีในพระบัญญัติจะเทียบได้กับการฉลองเทศกาลปัศคา.” โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกแกะปัศคามีความหมายมากกว่าการระลึกถึงวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยชีวิตบุตรหัวปี และครั้นแล้วพวกฮีบรูทั้งสิ้นให้ออกจากอียิปต์เท่านั้น.
10 ลูกแกะนั้นมีลักษณะเฉพาะในหลายด้าน. ดังเช่น สัตว์หลายชนิดที่ใช้ถวายบูชาตามพระบัญญัติของโมเซ ถูกถวายโดยคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความบาปหรือความผิดส่วนตัว และบางส่วนของสัตว์นั้นจะถูกเผาบนแท่นบูชา. (เลวีติโก 4:22-35) เนื้อบางส่วนจากที่ถวายทั้งหมดจะให้กับปุโรหิตที่ปฏิบัติหน้าที่หรือปุโรหิตคนอื่น ๆ. (เลวีติโก 7:11-38) แต่ว่าลูกแกะปัศคานั้นจะไม่มีการใช้เผาบนแท่น. และลูกแกะปัศคาจะถูกถวายโดยกลุ่มบุคคล ตามปกติก็เป็นครอบครัว ผู้ซึ่งจะเป็นคนที่รับประทานเนื้อลูกแกะนั้น.—เอ็กโซโด 12:4, 8–11.
11. พระยะโฮวาทรงมีทัศนะอย่างไรต่อลูกแกะปัศคา? และแกะนั้นชี้ถึงอะไร? (อาฤธโม 9:13)
11 พระยะโฮวาทรงให้ความสำคัญมากแก่ลูกแกะปัศคาถึงขนาดทรงเรียกว่า “เครื่องบูชาของเรา.” (เอ็กโซโด 23:18; 34:25) พวกผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “เครื่องบูชาปัศคาเป็นเครื่องบูชาที่ดีเลิศ ของพระยะโฮวา.” เป็นที่ยอมรับว่า ลูกแกะนี้ชี้ถึงหรือเป็นแบบเล็งถึงเครื่องบูชาของพระเยซู. เราทราบเรื่องนี้เนื่องจากอัครสาวกเปาโลเรียกพระเยซูว่า “เป็นปัศคาของเราทั้งหลาย [ซึ่ง] ได้ถูกฆ่าบูชาเสียแล้ว.” (1 โกรินโธ 5:7) พระเยซูถูกระบุว่าเป็น “พระเมษโปดกของพระเจ้า” และ “พระเมษโปดกที่ถูกฆ่าเสียแล้ว.”—โยฮัน 1:29; วิวรณ์ 5:12; กิจการ 8:32.
โลหิตที่ช่วยชีวิต
12. เลือดของลูกแกะมีความสำคัญอย่างไรในคราวปัศคาครั้งแรก?
12 ย้อนไปในสมัยอียิปต์ เลือดลูกแกะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยชีวิต. ในคราวที่พระยะโฮวาทรงประหารบุตรหัวปีนั้น พระองค์ทรงผ่านเว้นบ้านที่มีเลือดทาบนเสาประตู. ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากชาวฮีบรูไม่ต้องไว้ทุกข์เพราะเหล่าบุตรหัวปีของเขาไม่ตาย พวกเขาจึงอยู่ในฐานะที่จะเดินข้ามทะเลแดงสู่อิสรภาพ.
13, 14. โดยวิธีใดที่โลหิตของพระเยซูช่วยชีวิต และจำเป็นเพื่อการรอดพ้น? (เอเฟโซ 1:13)
13 โลหิตยังมีความเกี่ยวพันกับการรอดพ้นในสมัยนี้ด้วย—นั้นคือโลหิตของพระเยซูที่หลั่งออก. เมื่อ “เวลานั้นใกล้จะถึงเทศกาลปัศคาของพวกยิศราเอลแล้ว” ในปีสากลศักราช 32 พระเยซูทรงตรัสแก่หมู่ผู้ฟังจำนวนมากว่า “ผู้ที่กินเนื้อและดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร์ และเราจะให้ผู้นั้นฟื้นขึ้นจากตายในวันสุดท้าย เพราะเนื้อของเราเป็นอาหารแท้ และโลหิตของเราเป็นของดื่มแท้.” (โยฮัน 6:4, 54, 55, ล.ม.) เหล่าผู้ที่ฟังพระองค์ทั้งหมดคงจะนึกถึงปัศคาที่ใกล้เข้ามา และนึกถึงเลือดลูกแกะที่ใช้กันในอียิปต์.
14 ในตอนนั้น พระเยซูไม่ได้ทรงอธิบายถึงเครื่องหมายที่มีการใช้ในการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. การฉลองใหม่สำหรับคริสเตียนไม่ได้มีการจัดขึ้นจนกระทั่งอีกปีหนึ่งหลังจากนั้น ฉะนั้น แม้แต่เหล่าอัครสาวกที่ได้ฟังพระเยซูตรัสเมื่อปีสากลศักราช 32 นั้นก็ไม่ได้ทราบอะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น. แม้กระนั้น พระเยซูก็แสดงว่า โลหิตของพระองค์เป็นสิ่งสำคัญต่อการช่วยให้รอดตลอดไป. เปาโลอธิบายว่า “ในพระองค์นั้นเราได้รับการไถ่โดยพระโลหิตของพระองค์ และได้รับอภัยโทษในความผิดของเราโดยพระกรุณาอันอุดมของพระองค์.” (เอเฟโซ 1:7) เฉพาะโดยการอภัยโทษซึ่งอาศัยพระโลหิตของพระเยซูเท่านั้นที่เราอาจมีชีวิตตลอดไปได้.
การรอดพ้นแบบใดและที่ไหน?
15. การรอดพ้น และสิทธิพิเศษแบบใดที่เป็นไปได้สำหรับชาวฮีบรูในอียิปต์ และแบบใดที่เป็นไปไม่ได้? (1 โกรินโธ 10:1-5)
15 การรอดพ้นจากอียิปต์ในสมัยโบราณนั้นเป็นเพียงแบบที่มีขอบเขตจำกัด. ไม่มีใครในผู้ที่ออกจากอียิปต์คาดหวังจะได้ชีวิตตลอดไปภายหลังการอพยพนั้น. จริงอยู่ พระเจ้าได้ทรงเลือกพวกเลวีให้เป็นปุโรหิตแห่งชาติ และบางคนในตระกูลยูดามาเป็นกษัตริย์อยู่ชั่วเวลาหนึ่ง แต่คนเหล่านั้นทั้งหมดก็จะตายไป. (กิจการ 2:29; เฮ็บราย 7:11, 23, 27) ขณะที่ “ฝูงชนชาติอื่นเป็นจำนวนมาก” ที่ออกจากอียิปต์ด้วย ไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหล่านั้น พวกเขาก็หวังได้ว่าจะได้ถึงแผ่นดินแห่งคำสัญญาและชื่นชมกับการมีชีวิตอยู่อย่างปกติ นมัสการพระเจ้าด้วยกันกับชาวฮีบรู. กระนั้นผู้รับใช้ทั้งหลายของพระยะโฮวาก่อนสมัยคริสเตียนก็มีหลักฐานสำหรับความหวังที่ว่า เมื่อถึงเวลาพวกเขาจะได้ชื่นชมกับชีวิตนิรันดร์บนโลกนี้ ที่ซึ่งพระเจ้าทรงประสงค์ให้เป็นที่อาศัยของมนุษย์. สิ่งนี้จะเป็นไปตามคำสัญญาของพระเยซูที่โยฮัน 6:54.
16. ผู้รับใช้ของพระเจ้าสมัยโบราณอาจหวังจะได้การรอดพ้นชนิดใด?
16 พระเจ้าได้ทรงใช้ผู้รับใช้บางคนของพระองค์ในสมัยโบราณให้เขียนถ้อยคำที่ทรงดลบันดาลเกี่ยวกับการที่แผ่นดินโลกถูกสร้างไว้เพื่อเป็นที่อาศัย และเกี่ยวกับการที่คนซื่อตรงจะมีชีวิตอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลก. (บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11; สุภาษิต 2:21, 22; ยะซายา 45:18) ถึงกระนั้น ผู้นมัสการแท้ทั้งหลายจะได้รับความรอดนั้นอย่างไรหากเขาตายไปแล้ว? ก็โดยที่พระเจ้าทรงนำพวกเขากลับคืนสู่ชีวิตบนแผ่นดินโลกอีกนั่นเอง. ตัวอย่างเช่น โยบได้กล่าวถึงความหวังว่า ท่านจะได้รับการระลึกถึงและถูกเรียกกลับคืนสู่ชีวิตอีก. (โยบ 14:13-15; ดานิเอล 12:13) จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ความรอดแบบหนึ่งก็คือการรอดสู่ชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก.—มัดธาย 11:11.
17. คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่า คนอื่นอาจได้รับการรอดพ้นแบบใดที่ต่างออกไป?
17 คัมภีร์ไบเบิลมีกล่าวไว้เช่นกันถึงการช่วยให้รอดสู่ชีวิตในสวรรค์ ที่ซึ่งพระเยซูคริสต์ได้เสด็จไปภายหลังการคืนพระชนม์. “พระองค์สถิตอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า เพราะพระองค์ได้เสด็จสู่สวรรค์แล้วและพวกทูตสวรรค์และผู้มีอำนาจและผู้มีฤทธิ์เดชทั้งหลายทรงมอบให้อยู่ใต้อำนาจของพระองค์แล้ว.” (1 เปโตร 3:18, 22; เอเฟโซ 1:20-22; เฮ็บราย 9:24) แต่พระเยซูไม่ใช่มนุษย์เพียงคนเดียวที่ถูกรับไปสวรรค์. พระเจ้าได้ทรงดำริไว้ว่า พระองค์จะทรงนำมนุษย์อื่นอีกซึ่งมีจำนวนค่อนข้างน้อยไปจากแผ่นดินโลก พระเยซูทรงบอกแก่เหล่าอัครสาวกว่า “ในราชสำนักแห่งพระบิดาของเรามีที่อยู่หลายแห่ง. . . . เราจะไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับท่านทั้งหลาย. อีกประการหนึ่ง ถ้าเราไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับท่านแล้ว เราจะมาอีกและจะรับท่านไปอยู่กับเรา เพื่อว่าเราอยู่ที่ไหน ท่านจะอยู่ที่นั่นด้วย.”—โยฮัน 14:2, 3, ล.ม.
18. ตอนนี้เรามีเหตุผลอะไรในการให้ความสำคัญกับการรอดพ้นสู่ชีวิตในสวรรค์?
18 การรอดพ้นเข้าสู่ชีวิตในสวรรค์ร่วมกับพระเยซูนั้นเป็นแบบที่มีสง่าราศียิ่งใหญ่กว่าความรอดในแบบที่มีขอบเขตจำกัดที่เกี่ยวข้องกับปัศคาครั้งแรกมากนัก. (2 ติโมเธียว 2:10) คราวตอนค่ำของเซเดอร์ หรือการเลี้ยงปัศคาตามพระบัญญัติที่มีความหมายครั้งสุดท้ายนั่นเองที่พระเยซูได้ทรงตั้งการฉลองใหม่สำหรับผู้ติดตามพระองค์ซึ่งให้ความสำคัญกับการรอดพ้นสู่ชีวิตในสวรรค์. พระองค์ทรงบอกพวกอัครสาวกว่า “จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.” (ลูกา 22:19) ก่อนที่เราจะพิจารณาว่า คริสเตียนควรจะถือรักษาการฉลองนี้อย่างไรนั้น ให้เราพิจารณาว่า เราควรทำเช่นนั้นเมื่อไร.
“เวลาที่กำหนดไว้”
19. ทำไมจึงสมเหตุผลที่จะเชื่อมโยงปัศคากับการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
19 พระเยซูตรัสว่า “เรามีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะกินปัศคานี้กับพวกท่านก่อนเราจะต้องทนทุกข์ทรมาน.” (ลูกา 22:15) หลังจากนั้นพระองค์ได้วางเค้าโครงการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเหล่าสาวกของพระองค์ต้องถือรักษาไว้เพื่อเป็นการระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์. (ลูกา 22:19, 20) ปัศคาถูกจัดขึ้นปีละครั้ง. ฉะนั้น จึงสมเหตุผลที่การฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะมีการจัดขึ้นปีละครั้ง. เมื่อไรล่ะ? ตามเหตุผลเป็นเวลาปัศคาในฤดูใบไม้ผลิ. นั่นก็จะตกในวันที่ 14 เดือนไนซาน (ตามปฏิทินยิว) แทนที่จะถือในวันศุกร์เสมอไปเพราะนั่นเป็นวันในสัปดาห์ที่พระเยซูสิ้นพระชนม์.
20. เพราะเหตุใดพยานพระยะโฮวาจึงสนใจวันที่ 14 เดือนไนซาน?
20 ดังนั้น วันที่ 14 เดือนไนซานคงเป็นวันที่เปาโลนึกถึงเมื่อท่านเขียนว่า “เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากจอกนี้เวลาใด ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าว่าพระองค์จะเสด็จมา.” (1 โกรินโธ 11:26) เป็นเวลาสองร้อยปี คริสเตียนจำนวนมากถือตามวันที่ 14 เดือนไนซาน พวกเขาจึงเป็นที่รู้จักว่าเป็นพวกควาร์โตเดซิมันส์ เป็นคำจากภาษาลาตินที่หมายถึง “วันที่ 14.” แม็คคลินท็อคและสตร็องรายงานว่า “คริสต์จักรในเอเซียไมเนอร์ฉลองการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าในวันที่ตรงกับวันที่ 14 เดือนไนซาน ซึ่งเป็นไปตามมติความเห็นของคริสต์จักรสมัยโบราณทั้งหมดว่าเป็นวันที่มีการตรึง.” ปัจจุบัน พวกพยานพระยะโฮวามีการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าทุกปีในวันที่ตรงกับวันที่ 14 เดือนไนซาน. อย่างไรก็ตาม มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า วันนั้นอาจต่างไปจากวันที่พวกยิวถือปัศคา. เพราะเหตุใด?
21. เมื่อไรที่ลูกแกะปัศคาควรจะถูกฆ่าบูชา แต่ชาวยิวสมัยนี้ทำอย่างไร?
21 การนับวันของชาวฮีบรูเริ่มจากดวงอาทิตย์ตก (ประมาณ 18:00 น.) ไปจนดวงอาทิตย์ตกคราวต่อไป. พระเจ้าทรงบัญชาให้ฆ่าลูกแกะปัศคาในวันที่ 14 เดือนไนซาน “ในเวลาเย็นวันนั้น” [ภาษาฮีบรู “ระหว่างเวลาเย็นทั้งสอง.”]. (เอ็กโซโด 12:6) นั่นคือเวลาไหน? ชาวยิวสมัยปัจจุบันยึดอยู่กับความเห็นของผู้นำศาสนายิวที่ว่า ให้ฆ่าลูกแกะตอนใกล้จะสิ้นสุดวันที่ 14 เดือนไนซาน คือระหว่างเวลาที่ดวงอาทิตย์เริ่มตก (ประมาณ 15:00 น.) กับตอนที่ดวงอาทิตย์ตกจริง. เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงเริ่มเซเดอร์หลังดวงอาทิตย์ตก เมื่อวันที่ 15 เดือนไนซานเริ่มขึ้นแล้ว.—มาระโก 1:32.
22. อะไรคือเหตุผลที่วันพิธีอนุสรณ์อาจไม่ตรงกับวันที่ชาวยิวฉลองปัศคา? (มาระโก 14:17; โยฮัน 13:30)
22 อย่างไรก็ตาม เรามีเหตุผลอันดีที่จะเข้าใจคำกล่าวนี้ต่างออกไป. พระธรรมพระบัญญัติ 16:6 บอกพวกยิศราเอลอย่างชัดเจนให้ “ฆ่าสัตว์ปัศคาในตอนเย็น เวลาที่ดวงอาทิตย์ตก” (ฉบับทานัก ของพวกยิว) ข้อนี้ให้เห็นว่า “ในเวลาเย็นวันนั้น [ระหว่างเวลาเย็นทั้งสอง]” หมายถึงช่วงเวลาพลบค่ำจากดวงอาทิตย์ตก (ซึ่งเป็นตอนเริ่มต้นวันที่ 14 เดือนไนซาน) จนถึงเวลามืดจริง ๆ. ชาวยิวคาราอิเตโบราณb เคยเข้าใจอย่างนั้น และชาวซะมาเรียc เข้าใจอย่างนี้จนถึงปัจจุบัน. การที่พวกเราเข้าใจว่า ลูกแกะปัศคาถูกฆ่าและรับประทาน “ในเวลาที่กำหนดไว้” ในวันที่ 14 เดือนไนซาน ไม่ใช่ 15 คือเหตุผลที่วันพิธีอนุสรณ์ของพวกเรานั้นบางครั้งไม่ตรงกับวันของชาวยิว.—อาฤธโม 9:2-5.
23. ทำไมมีการเพิ่มเดือนเข้าในปฏิทินฮีบรู และชาวยิวสมัยปัจจุบัน ดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้?
23 อีกเหตุผลหนึ่งที่กำหนดวันของเราอาจต่างกับของชาวยิวก็คือ พวกเขาใช้ปฏิทินที่กำหนดล่วงหน้า ซึ่งระบบนี้ไม่ได้กำหนดไว้จนกระทั่งศตวรรษที่ 4 สากลศักราช. โดยการใช้ระบบนี้ พวกเขาจึงสามารถกำหนดวันที่สำหรับวันที่ 1 เดือนไนซาน หรือสำหรับงานฉลองล่วงหน้าหลายสิบปีหรือหลายร้อยปี. นอกจากนั้นปฏิทินแบบจันทรคติโบราณจำต้องมีเดือนที่ 13 เพิ่มเข้าไปเป็นบางครั้ง เพื่อปฏิทินจะสอดคล้องกับฤดูกาล. ปฏิทินของพวกยิวสมัยปัจจุบันเพิ่มเดือนนี้เข้าไปในตำแหน่งที่กำหนดแน่นอน ในรอบ 19 ปี. เดือนนี้ถูกเพิ่มเข้าในปีที่ 3, 6, 8, 11, 14, 17, และ 19.
24, 25. (ก) ในสมัยพระเยซู เดือนต่าง ๆ และเดือนพิเศษที่จำเป็นถูกกำหนดอย่างไร? (ข) พยานพระยะโฮวากำหนดวันที่จะฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นอย่างไร?
24 กระนั้น เอมิล ชูเรอร์ กล่าวว่า “ในสมัยพระเยซู ชาวยิวยังไม่มีปฏิทินที่กำหนดแน่นอน แต่โดยอาศัยการสังเกตจากประสบการณ์เท่านั้น ได้เริ่มแต่ละเดือนด้วยการดูจากการที่ดวงจันทร์ขึ้นตอนขึ้น 1 ค่ำ และโดยอาศัยการสังเกตในทำนองเดียวกันนั้น เขาเพิ่มเดือนหนึ่งเข้าไปตามที่จำเป็น. ถ้าหาก . . . มีการสังเกตในตอนปลายปีว่าจะถึงปัศคาก่อนวันวสันตวิษุวัต [ประมาณ 21 มีนาคม] แล้วก็จะมีการประกาศเพิ่มเดือนหนึ่งเข้าไว้ก่อนหน้าเดือนไนซาน.” (ประวัติศาสตร์ชาวยิวในสมัยพระเยซูคริสต์ เล่ม 1) ด้วยเหตุนี้ เดือนพิเศษนี้มีขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ถูกเพิ่มเข้าตามอำเภอใจ.
25 คณะกรรมการปกครองแห่งคณะพยานพระยะโฮวากำหนดวันสำหรับการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยอาศัยวิธีการแบบโบราณ. วันที่ 1 เดือนไนซานจะถูกกำหนดโดยตอนที่ดวงจันทร์ขึ้น 1 ค่ำ ที่อยู่ใกล้วสันตวิษุวัตที่สุดนั้นน่าจะสามารถมองเห็นได้ ตอนอาทิตย์ตกในยะรูซาเลม. การนับเวลา 14 วันจากตอนนั้นก็จะไปถึงวันที่ 14 เดือนไนซาน ซึ่งตามปกติแล้วจะตรงกับวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง. (โปรดดู วอชเทาเวอร์ 15 มิถุนายน 1977 หน้า 383-384.) โดยอาศัยวิธีการตามคัมภีร์ไบเบิลนี้ พยานพระยะโฮวาทั่วโลกได้รับคำแนะนำว่า การฉลองพิธีอนุสรณ์ปีนี้จะเป็นวันที่ 10 เมษายน หลังดวงอาทิตย์ตก.
26. มีแง่มุมอื่นอะไรอีกของการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่เราควรจะสนใจ?
26 วันที่ 10 เมษายนนี้ตรงกับวันที่ 14 เดือนไนซาน ซึ่งเป็นคราวที่พระเยซูทรงฉลองปัศคาที่มีความหมายตามพระบัญญัติเป็นครั้งสุดท้าย. กระนั้นก็ตาม การฉลองพิธีอนุสรณ์นำความสนใจไปยังการรอดพ้นมากกว่าสิ่งที่เซเดอร์ของชาวยิวเป็นอนุสรณ์ถึง. เราทุกคนจำเป็นต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในคราวการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่การฉลองนี้หมายถึง และวิธีที่ความรอดของเรามีความเกี่ยวพันด้วย.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 สิงหาคม 1980 หน้า 10-32.
b แม็คคลินท็อคและสตร็องพรรณนาถึงพวกเขาว่าเป็น “นิกายหนึ่งที่เก่าที่สุดและน่าสนใจที่สุดในศาสนายิว ซึ่งลักษณะเด่นของพวกเขาคือยึดถือกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด.”
c พวกเขาฆ่าแกะในเวลาเย็น. . . . ตอนเที่ยงคืน สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวรับประทานเนื้อ. . . . และเผาเนื้อที่เหลือกับกระดูกก่อนถึงเวลาเช้า. . . . ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ข้อสังเกตว่า ศาสนาของซะมาเรียอาจคล้ายคลึงกันมากกับศาสนาของคัมภีร์ไบเบิลก่อนที่ผู้นำศาสนาในลัทธิยูดาจะได้เปลี่ยนให้เป็นรูปแบบอื่น.”—ที่มาของเซเดอร์.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดเป็นการเหมาะสมที่ปัศคาถูกเชื่อมโยงกับการรอดพ้น?
▫ เครื่องบูชาของพระเยซูจะบรรลุผลมากกว่าลูกแกะปัศคาได้อย่างไร?
▫ การรอดพ้นอะไรที่เป็นไปได้โดยทางพระเยซู?
▫ พยานพระยะโฮวากำหนดเวลาที่ถูกต้องสำหรับการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?