“เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา”
“พระยะโฮวาตรัสว่า ‘เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา’”—ยซา. 43:10
1, 2. (ก) การเป็นพยานหมายความว่าอย่างไรและสื่อมวลชนของโลกไม่ได้บอกผู้คนเรื่องอะไร? (ข) ทำไมพระยะโฮวาไม่ต้องพึ่งสื่อมวลชนของโลก?
การเป็นพยานหมายความว่าอย่างไร? พจนานุกรมเล่มหนึ่งอธิบายว่า พยานคือ “คนที่ให้การในเรื่องหรือสิ่งที่ตนได้เห็น ได้ยิน หรือได้รับรู้มา” ในแอฟริกาใต้ มีหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่งที่ตีพิมพ์มานานกว่า 160 ปีชื่อ พยาน (The Witness) ที่ตั้งชื่อนี้เพราะจุดประสงค์ของหนังสือพิมพ์คือเพื่อรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง บรรณาธิการผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์นี้สัญญาไว้ว่าจะเสนอ “ความจริง เรื่องจริงทั้งหมด และไม่มีอะไรอย่างอื่นนอกจากความจริง”
2 น่าเสียดายที่ทุกวันนี้สื่อมวลชนของโลกไม่ได้รายงานข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงเสมอไป และที่แน่ ๆ พวกเขาไม่ได้บอกความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและสิ่งที่พระองค์ได้ทำ แต่พระยะโฮวาพระเจ้าผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุดในเอกภพไม่จำเป็นต้องพึ่งสื่อมวลชนของโลกให้เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับพระองค์ พระเจ้าได้บอกผ่านทางยะเอศเคลผู้ส่งข่าวของพระองค์ว่า “คนต่างประเทศทั้งหลายจะได้รู้ว่า เราเป็นพระยะโฮวา” (ยเอศ. 39:7) พระยะโฮวามีพยานแปดล้านกว่าคนที่ป่าวประกาศให้คนทั่วโลกได้รู้ความจริงเกี่ยวกับพระองค์ กองทัพพยานของพระยะโฮวานี้บอกผู้คนให้รู้ว่าพระเจ้าได้ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อมนุษยชาติและกำลังทำอะไรในตอนนี้ พวกเขายังบอกเรื่องดี ๆ อันยอดเยี่ยมที่พระองค์สัญญาว่าจะทำในอนาคต ที่ยะซายา 43:10 บอกว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา และเป็นผู้รับใช้ของเราที่เราได้เลือกสรรไว้” เมื่อเราให้งานประกาศเป็นงานสำคัญที่สุดในชีวิต เรากำลังพิสูจน์ว่าเราคือพยานของพระยะโฮวาจริง ๆ
3, 4. (ก) นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเริ่มใช้ชื่อพยานพระยะโฮวาเมื่อไร? และพวกเขารู้สึกอย่างไรกับชื่อใหม่นี้? (ดูภาพแรก) (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไร?
3 ชื่อของพระยะโฮวาจะคงอยู่ตลอดกาลเพราะพระองค์เป็น “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล” และพระองค์ยังพูดถึงพระองค์เองอีกว่า “นี่แหละเป็นนามของเราเป็นนิตย์ นี่แหละเป็นที่ระลึกของเราตลอดทุกชั่วอายุมนุษย์” (1 ติโม. 1:17; เอ็ก. 3:15; เทียบกับท่านผู้ประกาศ 2:16) การที่เราถูกเรียกตามชื่อของพระยะโฮวาถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราจะมีได้ ในปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474) นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลต่างตื่นเต้นยินดีเมื่อพวกเขาเริ่มใช้ชื่อพยานพระยะโฮวา หลายคนเขียนจดหมายเพื่อแสดงความขอบคุณสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ประชาคมหนึ่งในประเทศแคนาดาเขียนว่า ชื่อใหม่นี้ทำให้พวกเขามุ่งมั่นตั้งใจที่จะใช้ชีวิตเพื่อให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญ
4 คุณจะแสดงอย่างไรว่าคุณรู้สึกเป็นเกียรติที่ถูกเรียกว่าพยานพระยะโฮวา? และเมื่อคุณอ่านหนังสือยะซายา คุณอธิบายได้ไหมว่าทำไมพระยะโฮวาเรียกเราว่าเป็นพยานของพระองค์?
พยานของพระเจ้าในสมัยอดีต
5, 6. (ก) พ่อแม่ชาวอิสราเอลเป็นพยานเรื่องพระยะโฮวาโดยวิธีใด? (ข) พ่อแม่ชาวอิสราเอลต้องทำอะไรอีก และพ่อแม่ในปัจจุบันจะทำเช่นเดียวกันได้อย่างไร?
5 พระยะโฮวาเลือกชาติอิสราเอลให้เป็นพยานของพระองค์ ชาวอิสราเอลแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะเป็นพยานเรื่องพระองค์ (ยซา. 43:10) ตัวอย่างเช่น พ่อแม่เป็นพยานถึงพระยะโฮวาโดยสอนลูก ๆ เกี่ยวกับวิธีที่พระองค์ได้ช่วยบรรพบุรุษของพวกเขาในอดีต พระยะโฮวาแนะนำพ่อแม่ว่าต้องสอนลูก ๆ เรื่องเทศกาลปัศคา พระองค์บอกพวกเขาว่า “เมื่อลูกหลานของท่านถามว่า ‘พิธีนี้หมายความว่ากระไร’ ท่านทั้งหลายจงตอบว่า ‘เป็นการถวายสัตว์บูชาปัสกาแด่พระเยโฮวาห์ ผู้ทรงผ่านเว้นบ้านของชนชาติอิสราเอลในอียิปต์ เมื่อพระองค์ทรงประหารคนอียิปต์ แต่ไว้ชีวิตครอบครัวของเราทั้งหลาย’” (เอ็ก. 12:26, 27, ฉบับคิงเจมส์ ) พ่อแม่ยังบอกลูก ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนที่กษัตริย์ฟาโรห์ไม่ยอมปล่อยให้ชาวอิสราเอลไปนมัสการพระยะโฮวาในป่ากันดาร ฟาโรห์ถึงกับพูดว่า “พระยะโฮวานั้นเป็นผู้ใดเล่า ที่เราจะต้องฟังคำของท่าน และปล่อยชนชาติยิศราเอลไป” (เอ็ก. 5:2) นอกจากนั้น พ่อแม่ยังเล่าให้ลูกฟังด้วยว่าพระยะโฮวาตอบคำถามของฟาโรห์อย่างไรและพระยะโฮวาแสดงให้ทุกคนเห็นว่าพระองค์เท่านั้นที่มีอำนาจสูงสุด พระองค์นำภัยพิบัติสิบประการมาสู่ชาวอียิปต์และช่วยชาวอิสราเอลให้รอดจากการไล่ล่าของกองทัพอียิปต์ที่ทะเลแดง ชาวอิสราเอลรู้ดีว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้และพระองค์ทำตามสัญญาเสมอ
6 ชาวอิสราเอลรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นพยานของพระยะโฮวา พวกเขาบอกลูก ๆ และทาสทุกคนที่ทำงานในบ้านให้รู้ว่าพระยะโฮวาได้ทำสิ่งดียอดเยี่ยมอะไรไปแล้วบ้าง ชาวอิสราเอลยังสำนึกว่าพวกเขาต้องประพฤติตัวบริสุทธิ์สะอาดเสมอ เพราะพระยะโฮวาบอกว่า “เจ้าทั้งหลายต้องเป็นบริสุทธิ์ เพราะเราคือยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าเป็นบริสุทธิ์” ดังนั้น พ่อแม่ชาวอิสราเอลต้องฝึกลูก ๆ ให้เป็นคนบริสุทธิ์โดยสอนพวกเขาให้ทำตามมาตรฐานของพระยะโฮวา (เลวี. 19:2; บัญ. 6:6, 7) พ่อแม่ในปัจจุบันนี้ก็ต้องทำเช่นเดียวกัน พวกเขาต้องฝึกสอนลูก ๆ ให้ใช้ชีวิตในแบบที่ทำให้ชื่อของพระเจ้าได้รับการยกย่องสรรเสริญ!—อ่านสุภาษิต 1:8; เอเฟโซส์ 6:4
7. (ก) ประเทศที่อยู่ล้อมรอบรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นชาวอิสราเอลเชื่อฟังพระยะโฮวา? (ข) ทุกคนที่เป็นตัวแทนของพระยะโฮวามีหน้าที่รับผิดชอบอะไร?
7 เมื่อชาวอิสราเอลเชื่อฟังพระยะโฮวาพวกเขาได้เป็นพยานถึงชื่อของพระองค์และได้รับการอวยพร นี่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบเกรงกลัวพระเจ้าเพราะเห็นว่าพระองค์ปกป้องประชาชนของพระองค์จริง ๆ (บัญ. 28:10) น่าเศร้าที่ประวัติส่วนใหญ่ของชาวอิสราเอลไม่ดีเลยเพราะพวกเขาไม่ได้เชื่อฟังพระยะโฮวา แต่หันไปนมัสการรูปเคารพซึ่งเป็นพระของชาวคะนาอัน และสุดท้ายชาวอิสราเอลก็เป็นเหมือนกับพระเหล่านั้น พวกเขากลายเป็นคนโหดร้าย บูชายัญลูกตัวเอง และข่มเหงคนยากจน ตัวอย่างที่ไม่ดีของพวกเขาเตือนใจเราในปัจจุบัน เราต้องเลียนแบบพระยะโฮวาและเป็นคนบริสุทธิ์เพราะเราเป็นตัวแทนของพระเจ้าองค์บริสุทธิ์ที่สุด
“ดูเถิด เรากำลังทำสิ่งใหม่!”
8. พระยะโฮวาบอกยะซายาห์ให้ทำอะไร และหลังจากนั้นยะซายาห์รู้สึกอย่างไร?
8 พระยะโฮวาใช้ยะซายาห์ไปเตือนชาวอิสราเอลว่า พระองค์จะทำลายกรุงเยรูซาเลมเมืองหลวงของพวกเขา และยอมให้พวกเขาถูกจับไปเป็นเชลย นอกจากนี้ พระยะโฮวายังบอกล่วงหน้าด้วยว่าพระองค์จะ “ทำสิ่งใหม่” และจะช่วยปลดปล่อยประชาชนของพระองค์ให้เป็นอิสระในวิธีที่น่าอัศจรรย์ (ยซา. 43:19, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) เนื้อหาหกบทแรกในหนังสือยะซายาส่วนใหญ่พูดถึงการทำลายกรุงเยรูซาเลมและเมืองที่อยู่รอบ ๆ ถึงแม้พระยะโฮวารู้ดีว่าชาวอิสราเอลจะไม่ยอมกลับตัวกลับใจ แต่พระองค์ก็ยังบอกให้ยะซายาห์เตือนพวกเขาต่อไป ยะซายาห์ถึงกับเศร้าใจที่เห็นว่าชาติอิสราเอลไม่กลับใจและอยากรู้ว่าชาตินี้จะดื้อด้านกับพระยะโฮวาอีกนานแค่ไหน พระเจ้าตอบเขาว่า “จนถึงบ้านเมืองจะร้างไม่มีพลเมืองอยู่ เรือนก็จะไม่มีคน แผ่นดินก็จะร้างเสียทีเดียว”—อ่านยะซายา 6:8-11
9. (ก) คำพยากรณ์ของยะซายาห์เกี่ยวกับกรุงเยรูซาเลมสำเร็จเป็นจริงเมื่อไร? (ข) ทุกคนต้องเอาใจใส่คำเตือนอะไรในปัจจุบัน?
9 เป็นเวลามากกว่า 45 ปีที่ยะซายาห์เตือนชาวอิสราเอลถึงการทำลายล้างที่กำลังจะมาถึง ยะซายาห์เริ่มพยากรณ์ในปี 778 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัชกาลกษัตริย์อูซียาห์ จนถึงปี 732 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นช่วงที่กษัตริย์ฮิศคียาห์ปกครอง หลังจากนั้น พระยะโฮวายังเตือนประชาชนของพระองค์ต่อไปจนถึงปีที่กรุงเยรูซาเลมถูกทำลายคือในปี 607 ก่อน ค.ศ. เห็นได้ชัดว่า ชาวอิสราเอลได้รับการเตือนล่วงหน้ามานานหลายปีว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทุกวันนี้ก็เช่นกัน พระยะโฮวายังใช้คนของพระองค์เพื่อเตือนประชาชนให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เป็นเวลานานกว่า 135 ปีแล้วที่วารสารหอสังเกตการณ์ ได้บอกผู้คนว่าอีกไม่นานการปกครองของซาตานจะถูกกำจัดออกไปและพระคริสต์จะปกครองโลกนี้แทน—วิ. 20:1-3, 6
10, 11. ชาวอิสราเอลที่อยู่ในกรุงบาบิโลนได้รู้เห็นเป็นพยานว่าคำพยากรณ์ของยะซายาห์เป็นจริงอย่างไร?
10 มีชาวยิวส่วนหนึ่งรอดชีวิตจากการทำลายล้างกรุงเยรูซาเลม พวกเขาเชื่อฟังและทำตามคำแนะนำของพระยะโฮวาที่ให้ยอมจำนนต่อชาวบาบิโลนและถูกจับไปเป็นเชลย (ยิระ. 27:11, 12) หลังจากนั้น 70 ปี ชาวยิวบางคนยังมีชีวิตอยู่และได้รู้เห็นเป็นพยานว่าคำพยากรณ์ที่พระยะโฮวาบอกทางยะซายาห์สำเร็จเป็นจริงที่ว่าพระยะโฮวา “พระผู้ไถ่ของพวกท่าน องค์บริสุทธิ์ของอิสราเอลตรัสดังนี้ว่า ‘เพื่อเห็นแก่เจ้า เราจะส่งไปยังบาบิโลน และเราจะนำพวกเขาทุกคนมาเป็นผู้ลี้ภัย’”—ยซา. 43:14, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
11 พระยะโฮวาทำให้สิ่งที่พระองค์บอกไว้ล่วงหน้าเป็นจริงในวิธีที่น่าอัศจรรย์ คืนหนึ่งในเดือนตุลาคม ปี 539 ก่อน ค.ศ. กษัตริย์บาบิโลนและพวกขุนนางได้จัดงานฉลองเพื่อให้เกียรติพระของพวกเขา พวกเขาถึงกับเอาจอกศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดมาได้จากพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมมาใส่เหล้าองุ่นดื่ม แต่ในคืนเดียวกันนั้นเอง กษัตริย์ไซรัสและกองทัพของเขาได้บุกยึดและพิชิตมหาอำนาจบาบิโลน หลังจากนั้น ไซรัสออกคำสั่งในปี 538 หรือ 537 ก่อน ค.ศ. ให้ชาวยิวกลับเยรูซาเลมเพื่อสร้างพระวิหารของพระเจ้าขึ้นใหม่ พระยะโฮวารับรองกับพวกเขาว่าพระองค์จะคุ้มครองให้พวกเขาเดินทางกลับอย่างปลอดภัย เรื่องที่ยะซายาห์ได้พยากรณ์ไว้ล้วนสำเร็จเป็นจริงทั้งหมด ในที่สุด เมื่อประชาชนของพระเจ้าได้เห็นพระวิหารถูกสร้างขึ้นใหม่ พวกเขาเป็นพยานถึงความจริงที่ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้และทำตามสัญญาเสมอ พระเจ้าเรียกชาวยิวที่กลับไปกรุงเยรูซาเลมว่าเป็น “พลเมืองซึ่งเราได้สร้างไว้สำหรับตัวของเราเองเพื่อเขาจะได้สรรเสริญเรา”—ยซา. 43:21; 44:26-28
12, 13. (ก) มีใครมาร่วมกับชาวอิสราเอลในการฟื้นฟูการนมัสการพระยะโฮวา? (ข) “แกะอื่น” ภูมิใจเรื่องอะไร และพวกเขารอคอยที่จะทำอะไรในอนาคต?
12 เมื่อชาวอิสราเอลกลับบ้านเกิดเพื่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ มีชาวต่างชาตินับพัน ๆ คนร่วมเดินทางไปด้วยและร่วมนมัสการพระยะโฮวากับพวกเขา และภายหลังก็ยังมีชาวต่างชาติมาสมทบอีกมากมาย (เอษรา 2:58, 64, 65; เอศ. 8:17) ทุกวันนี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมหรือชาติของพระเจ้าซึ่งก็คือ “อิสราเอลของพระเจ้า” และ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” ร่วมกันนมัสการพระยะโฮวา (กลา. 6:16; วิ. 7:9, 10; โย. 10:16) ทั้งผู้ถูกเจิมและแกะอื่นต่างภูมิใจที่ถูกเรียกว่าพยานของพระยะโฮวา
13 ในโลกใหม่ ชนฝูงใหญ่จะมีโอกาสเล่าให้ผู้ที่ฟื้นจากตายฟังว่าการเป็นพยานพระยะโฮวาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่โลกซาตานจะถูกทำลายน่าตื่นเต้นขนาดไหน เพื่อจะได้สิทธิพิเศษนี้เราต้องพยายามรักษาตัวให้บริสุทธิ์ แต่ถึงเราจะพยายามอย่างหนักที่จะทำตามมาตรฐานของพระยะโฮวาเราก็ยังทำผิดพลาดทุกวัน ดังนั้น เราต้องขอพระยะโฮวาให้อภัยเรา ถ้าเรารักษาตัวให้บริสุทธิ์ก็แสดงว่าเราเห็นคุณค่าสิทธิพิเศษที่พระยะโฮวาให้เราเป็นตัวแทนของพระองค์—อ่าน 1 โยฮัน 1:8, 9
ชื่อของพระเจ้ามีความหมายว่าอย่างไร?
14. ชื่อยะโฮวามีความหมายว่าอย่างไร?
14 เพื่อจะเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมการได้เป็นพยานของพระยะโฮวาเป็นเกียรติสูงส่งสำหรับเรา เราต้องรู้ว่าชื่อของพระเจ้ามีความหมายอย่างไร ชื่อยะโฮวามาจากภาษาฮีบรูที่แปลว่า “จะเป็น” ดังนั้น เราเข้าใจว่าชื่อยะโฮวาหมายความว่า “พระองค์ทำให้เป็น” พระยะโฮวาเลือกใช้ชื่อนี้เพื่อช่วยเราให้เข้าใจตัวตนของพระองค์ พระองค์เป็นผู้เดียวที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง และเมื่อพระยะโฮวาบอกว่าพระองค์ตั้งใจจะทำอะไรบางอย่าง ไม่มีใครจะมาหยุดยั้งพระองค์ได้ แม้แต่ซาตานก็หยุดพระองค์ไม่ได้
15. เราเรียนอะไรได้เกี่ยวกับชื่อของพระยะโฮวาตอนที่พระองค์บอกโมเซ? (ดูกรอบ “ชื่อที่มีความหมายลึกซึ้ง”)
15 ตอนที่พระยะโฮวาส่งโมเซไปอียิปต์เพื่อช่วยปลดปล่อยประชาชนของพระองค์ พระยะโฮวาอธิบายความหมายของชื่อพระองค์ให้โมเซฟังว่า “เราเป็นซึ่งเราเป็น” และบอกอีกว่า “เจ้าจงไปบอกชนชาติยิศราเอลว่า ‘พระองค์ผู้ทรงพระนามว่า เราผู้เป็นอยู่ ได้ใช้ข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย’” (เอ็ก. 3:14) ดังนั้น พระยะโฮวาจะเป็นอะไรก็ได้เพื่อทำให้สิ่งที่พระองค์ประสงค์สำเร็จ สำหรับชาวอิสราเอลแล้ว พระยะโฮวาเป็นทุกอย่างเพื่อพวกเขา พระองค์เป็นทั้งผู้ช่วยให้รอด ผู้ปกป้อง ผู้ชี้นำ ผู้จัดเตรียมทุกอย่างที่จำเป็นทั้งด้านร่างกายและจิตใจสำหรับพวกเขา
เราจะแสดงความขอบคุณอย่างไร?
16, 17. (ก) เราจะแสดงอย่างไรว่าเรารู้สึกเป็นเกียรติที่ถูกเรียกตามชื่อของพระเจ้า? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
16 ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพระยะโฮวาไม่เคยเปลี่ยนไป ชื่อของพระองค์เตือนใจเราว่าพระองค์จะเป็นทุกอย่างเพื่อดูแลประชาชนของพระองค์ ตัวอย่างเช่น พระองค์ให้ทุกอย่างที่จำเป็นในแต่ละวันเพื่อเราจะมีชีวิตอยู่ได้และรักษาความเชื่อให้เข้มแข็ง นอกจากนั้น ชื่อของพระยะโฮวาสอนเราอีกว่าพระองค์สามารถช่วยมนุษย์ที่พระองค์สร้างขึ้นให้ทำงานเป็นพยานได้สำเร็จตามที่พระองค์ประสงค์ การรู้แบบนี้ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานเป็นตัวแทนของพระองค์มากขึ้น คาเรจากประเทศนอร์เวย์ซึ่งเป็นพยานฯที่ขยันขันแข็งมานานกว่า 70 ปีบอกว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับใช้พระยะโฮวากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล และได้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกเรียกตามชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ผมภูมิใจทุกครั้งที่ได้อธิบายความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลให้ใครสักคนฟังและเห็นแววตาของเขาเปล่งประกายด้วยความยินดีเพราะได้เข้าใจความจริง เช่น เมื่อผมบอกพวกเขาให้รู้ว่าค่าไถ่ของพระคริสต์ช่วยคนเราอย่างไรให้ได้รับการอภัยบาปและทำให้พวกเขามีโอกาสได้รับชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ที่มีแต่ความสงบสุขและชอบธรรม ผมสุขใจจริง ๆ”
17 ในบางส่วนของโลก ไม่ง่ายเลยที่จะเจอคนที่อยากเรียนเรื่องพระยะโฮวา แต่เราก็เป็นเหมือนคาเรได้ เราดีใจมากที่อย่างน้อยเราก็ได้พบใครสักคนที่อยากรู้จักชื่อของพระยะโฮวาและเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ แต่ในเวลาเดียวกันเราจะเป็นทั้งพยานของพระยะโฮวาและพยานของพระเยซูได้อย่างไร? บทความถัดไปจะตอบคำถามนี้