บทเจ็ด
สิ่งที่เราเรียนรู้จากการที่พระเจ้าทรงยอมให้มีความชั่ว
1, 2. (ก) ถ้าพระยะโฮวาทรงประหารชีวิตพวกที่กบฏในสวนเอเดนทันที นั่นจะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร? (ข) การจัดเตรียมด้วยความรักที่พระยะโฮวาได้ทำเพื่อเราคืออะไร?
ยาโคบบุรุษต้นตระกูลกล่าวว่า “ปีเดือนที่ข้าพเจ้ามีชีวิตตั้งอยู่นั้นก็น้อยและมีความลำบาก.” (เยเนซิศ 47:9) คล้ายคลึงกัน โยบบอกว่า มนุษย์มี “วันเวลาน้อยนัก, และประกอบไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก.” (โยบ 14:1) เช่นเดียวกับพวกเขา พวกเราส่วนมากได้ประสบกับความยากลำบาก, ความอยุติธรรม, กระทั่งโศกนาฏกรรม. กระนั้น การที่เราเกิดมาก็มิใช่ความอยุติธรรมในส่วนของพระเจ้า. จริงอยู่ เราไม่ได้มีจิตใจและร่างกายที่สมบูรณ์และไม่ได้มีบ้านที่เป็นอุทยานอย่างที่อาดามและฮาวามีในตอนต้น. แต่จะว่าอย่างไรถ้าพระยะโฮวาได้ประหารชีวิตพวกเขาทันทีเมื่อเขากบฏ? ขณะที่คงจะไม่มีความเจ็บป่วย, ความเศร้าโศก, หรือความตาย ก็คงจะไม่มีเผ่าพันธุ์มนุษย์เช่นกัน. เราคงไม่ได้เกิดมา. ด้วยพระทัยเมตตา พระเจ้าทรงปล่อยให้อาดามและฮาวามีเวลากำเนิดบุตร แม้ว่าลูกหลานเหล่านี้ได้รับความไม่สมบูรณ์เป็นมรดก. และโดยทางพระคริสต์ พระยะโฮวาได้จัดเตรียมเพื่อให้เราได้รับสิ่งที่อาดามทำให้สูญเสียไปกลับคืนมา นั่นคือชีวิตชั่วนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน.—โยฮัน 10:10; โรม 5:12.
2 เป็นการหนุนกำลังใจเราสักเพียงไรที่สามารถคอยท่าการมีชีวิตอยู่ตลอดไปในโลกใหม่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นอุทยานที่ซึ่งเราจะไม่ต้องพบกับความเจ็บป่วย, ความเศร้าโศก, และความตาย, รวมทั้งคนชั่วร้าย! (สุภาษิต 2:21, 22; วิวรณ์ 21:4, 5) แต่จากบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล เราเรียนรู้ว่า ถึงแม้ความรอดของตัวเราจะมีความสำคัญมากต่อเราและต่อพระยะโฮวา แต่มีบางสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเกี่ยวข้องอยู่ด้วย.
เพื่อเห็นแก่พระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์
3. อะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกับความสำเร็จแห่งพระประสงค์ของพระยะโฮวาต่อแผ่นดินโลกและมนุษยชาติ?
3 พระนามของพระเจ้าเกี่ยวข้องกับความสำเร็จแห่งพระประสงค์ของพระองค์ที่มีต่อแผ่นดินโลกและมนุษยชาติ. พระนามยะโฮวานั้นหมายความว่า “พระองค์ทรงบันดาลให้เป็น.” ดังนั้น พระนามของพระองค์หมายรวมถึงชื่อเสียงของพระองค์ฐานะองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ, ผู้ทรงมีพระประสงค์องค์ยิ่งใหญ่, และพระเจ้าแห่งความจริง. เนื่องจากตำแหน่งของพระยะโฮวา สันติภาพและความสุขสงบของทั้งเอกภพจึงขึ้นอยู่กับการที่พระนามของพระองค์และสิ่งที่รวมอยู่ด้วยนั้นได้รับความนับถือเต็มขนาดตามที่สมควรได้รับ และการที่ทุกคนเชื่อฟังพระองค์.
4. พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำหรับแผ่นดินโลกรวมถึงอะไร?
4 หลังจากสร้างอาดามและฮาวา พระยะโฮวาทรงมอบหมายงานให้พวกเขาทำ. พระองค์ทรงบอกชัดว่าพระประสงค์ของพระองค์มิใช่แค่ให้เขาควบคุมดูแลแผ่นดินโลกทั้งสิ้น โดยขยายอุทยานให้แผ่กว้างออกไปเท่านั้น แต่ให้แผ่นดินโลกเต็มไปด้วยลูกหลานของเขา. (เยเนซิศ 1:28) พระประสงค์นั้นจะล้มเหลวเพราะบาปของพวกเขาไหม? ช่างจะนำคำตำหนิมาสู่พระนามของพระยะโฮวาพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการสักเพียงไร หากพระองค์ไม่สามารถทำให้พระประสงค์ที่มีต่อแผ่นดินโลกและมนุษยชาติบรรลุผลสำเร็จ!
5. (ก) ถ้ามนุษย์คู่แรกกินผลจากต้นไม้แห่งความรู้เรื่องความดีและความชั่วแล้ว เขาจะตายเมื่อไร? (ข) พระยะโฮวาทำให้คำตรัสของพระองค์ที่เยเนซิศ 2:7 สำเร็จเป็นจริงอย่างไร ขณะที่ทรงคำนึงถึงพระประสงค์ที่พระองค์มีต่อแผ่นดินโลก?
5 พระยะโฮวาได้เตือนอาดามและฮาวาว่า ถ้าเขาไม่เชื่อฟังและกินผลจากต้นไม้แห่งความรู้เรื่องความดีและความชั่วนั้น พวกเขาจะตาย “ในวันนั้น” ที่กินเข้าไป. (เยเนซิศ 2:17) จริงตามคำตรัสของพระองค์ พระยะโฮวาทรงเรียกพวกเขามาให้การในวันที่เขาได้ทำบาปนั้นและทรงตัดสินลงโทษถึงตาย. จากทัศนะของพระเจ้า อาดามและฮาวาตายในวันนั้น. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้พระประสงค์ที่พระองค์มีต่อแผ่นดินโลกสำเร็จลุล่วง พระยะโฮวาทรงปล่อยให้พวกเขากำเนิดลูกก่อนที่เขาจะตาย. กระนั้น เนื่องจากพระเจ้าทรงถือว่า 1,000 ปีเท่ากับวันเดียว เมื่อชีวิตอาดามสิ้นสุดตอนที่เขาอายุ 930 ปี จึงอยู่ภายใน “วันนั้น.” (2 เปโตร 3:8; เยเนซิศ 5:3-5) โดยวิธีนี้ ความสัตย์จริงของพระเจ้าได้รับการเชิดชูในเรื่องระยะเวลาที่มีการลงโทษ และพระประสงค์ที่พระองค์มีต่อแผ่นดินโลกก็ไม่ล้มเหลวโดยความตายของพวกเขา. แต่ผู้คนที่ไม่สมบูรณ์ รวมทั้งคนชั่ว ถูกปล่อยให้มีชีวิตอยู่ชั่วระยะหนึ่ง.
6, 7. (ก) ตามเอ็กโซโด 9:15, 16 เหตุใดพระยะโฮวาทรงปล่อยให้คนชั่วมีอยู่ต่อไปชั่วระยะหนึ่ง? (ข) ในกรณีของฟาโรห์ ฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวาปรากฏให้เห็นอย่างไร และพระนามของพระองค์เป็นที่รู้จักกันอย่างไร? (ค) ผลจะเป็นเช่นไรเมื่อระบบชั่วในปัจจุบันสิ้นสุดลง?
6 สิ่งที่พระยะโฮวาตรัสกับผู้ครอบครองแห่งอียิปต์ในสมัยโมเซแสดงให้เห็นเหตุผลเพิ่มเติมว่าทำไมพระเจ้าทรงปล่อยให้คนชั่วอยู่ต่อไป. เมื่อฟาโรห์ห้ามมิให้เหล่าบุตรของอิสราเอลออกจากอียิปต์ พระยะโฮวามิได้โค่นล้มเขาทันที. พระองค์ทรงนำภัยพิบัติสิบประการมาสู่แผ่นดินนั้น แสดงให้เห็นอำนาจของพระยะโฮวาในวิธีอันน่าอัศจรรย์. เมื่อให้คำเตือนเกี่ยวกับภัยพิบัติประการที่เจ็ด พระยะโฮวาตรัสแก่ฟาโรห์ว่า พระองค์สามารถกวาดล้างฟาโรห์และไพร่พลของเขาให้หมดไปจากแผ่นดินโลกได้อย่างง่ายดาย. พระยะโฮวาตรัสว่า “แต่เหตุที่เรายังให้ฟาโรดำรงชีวิตอยู่ก็เพื่อจะให้ฟาโรเห็นฤทธานุภาพของเรา, และเพื่อนามของเราจะได้ลือกระฉ่อนไปทั่วโลก.”—เอ็กโซโด 9:15, 16.
7 เมื่อพระยะโฮวาช่วยพวกอิสราเอลให้รอด พระนามของพระองค์ได้เป็นที่รู้จักไปทั่วจริง ๆ. (ยะโฮซูอะ 2:1, 9-11) ปัจจุบันนี้ ราว ๆ 3,500 ปีต่อมา สิ่งที่พระองค์ทำในตอนนั้นก็ยังจดจำกันได้. ไม่เพียงแค่พระนามเฉพาะของพระยะโฮวาเท่านั้นที่ได้รับการประกาศออกไป แต่ความจริงเกี่ยวกับพระองค์ผู้มีพระนามนั้นด้วย. เรื่องนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้พระยะโฮวาฐานะเป็นพระเจ้าซึ่งรักษาคำสัญญาและดำเนินการเพื่อเห็นแก่เหล่าผู้รับใช้พระองค์. (ยะโฮซูอะ 23:14) สิ่งที่พระองค์ทรงทำในตอนนั้นแสดงให้เห็นว่า เนื่องจากฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ไม่มีอะไรสามารถขัดขวางพระประสงค์ของพระองค์ได้. (ยะซายา 14:24, 27) เพราะฉะนั้น เราย่อมมั่นใจได้ว่า พระองค์จะปฏิบัติการในไม่ช้าเพื่อเห็นแก่เหล่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ โดยการทำลายระบบชั่วทั้งสิ้นของซาตาน. การสำแดงฤทธานุภาพดังกล่าวและสง่าราศีที่การกระทำนั้นนำมาสู่พระนามของพระยะโฮวาจะเป็นที่จดจำกันไปตลอด. ผลประโยชน์จะมีไม่รู้สิ้นสุด.—ยะเอศเคล 38:23; วิวรณ์ 19:1, 2.
‘โอ้ ความล้ำลึกแห่งพระปัญญาของพระเจ้า!’
8. ปัจจัยอะไรบ้างที่เปาโลกระตุ้นให้เราพิจารณา?
8 ในจดหมายที่อัครสาวกเปาโลมีไปถึงชาวโรมัน ท่านได้ตั้งคำถามว่า “พระเจ้าเป็นอธรรมหรือ.” ท่านตอบอย่างหนักแน่นว่า “อย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย.” แล้วท่านเน้นถึงความเมตตาของพระเจ้าและเอ่ยถึงสิ่งที่พระยะโฮวาตรัสเกี่ยวกับการปล่อยให้ฟาโรห์มีชีวิตอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง. นอกจากนั้น เปาโลยังแสดงให้เห็นว่า เราซึ่งเป็นมนุษย์เปรียบได้กับดินเหนียวในมือช่างปั้นหม้อ. แล้วท่านกล่าวว่า “แล้วถ้าพระเจ้าประสงค์จะสำแดงความพิโรธของพระองค์ และบันดาลให้ฤทธิ์เดชของพระองค์ปรากฏ, แต่ยังได้ทรงอดกลั้นพระทัยไว้ช้านานแก่ผู้เหล่านั้นที่เป็นเครื่องภาชนะแห่งความพิโรธซึ่งทรงจัดเตรียมไว้สำหรับความพินาศ และเพื่อจะได้ทรงสำแดงสง่าราศีอันอุดมของพระองค์แก่ผู้เหล่านั้นที่เป็นเครื่องภาชนะแห่งความเมตตา, ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดเตรียมไว้ก่อนให้สมกับสง่าราศีนั้น, คือเราทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงเรียกมาแล้ว, มิใช่ออกจากพวกยูดายพวกเดียว, แต่ออกจากพวกต่างประเทศด้วย, ก็จะว่าอะไรเล่า?”—โรม 9:14-24.
9. (ก) ใครคือ “เครื่องภาชนะแห่งความพิโรธซึ่งทรงจัดเตรียมไว้สำหรับความพินาศ”? (ข) เหตุใดพระยะโฮวาแสดงความอดกลั้นไว้นานอย่างใหญ่หลวงต่อเหล่าผู้ต่อต้านพระองค์ และในที่สุดจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่รักพระองค์อย่างไร?
9 นับตั้งแต่การกบฏในสวนเอเดน ผู้ที่ได้ต่อต้านพระยะโฮวาและกฎหมายของพระองค์ได้กลายเป็น “เครื่องภาชนะแห่งความพิโรธซึ่งทรงจัดเตรียมไว้สำหรับความพินาศ.” ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น พระยะโฮวาได้แสดงความอดกลั้นพระทัยไว้นาน. คนชั่วได้เยาะเย้ยแนวทางของพระองค์, กดขี่ข่มเหงเหล่าผู้รับใช้ของพระองค์, กระทั่งประหารพระบุตรของพระองค์. โดยแสดงความอดกลั้นอย่างใหญ่หลวง พระยะโฮวาได้ให้เวลาเพียงพอเพื่อสิ่งทรงสร้างทั้งปวงจะได้เห็นความหายนะอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นผลจากการกบฏต่อพระเจ้าและจากการปกครองโดยมนุษย์ที่ไม่ขึ้นกับพระองค์. ในขณะเดียวกัน การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเป็นวิธีที่จะช่วยมนุษยชาติผู้เชื่อฟังให้รอด และ “เพื่อจะได้ทรงทำลายกิจการของมารเสีย.”—1 โยฮัน 3:8; เฮ็บราย 2:14, 15.
10. เหตุใดพระยะโฮวาทรงอดกลั้นกับคนชั่วตลอด 1,900 ปีที่ผ่านมา?
10 ในช่วงเวลากว่า 1,900 ปี นับตั้งแต่การคืนพระชนม์ของพระเยซู พระยะโฮวาได้ทรงอดกลั้นเรื่อยมาต่อ “เครื่องภาชนะแห่งความพิโรธ” ทรงยับยั้งการทำลายล้างพวกเขา. เพราะเหตุใด? ประการหนึ่ง เนื่องจากพระองค์ได้เตรียมผู้ที่จะร่วมสมทบกับพระเยซูคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. คนเหล่านี้มีจำนวน 144,000 คน และพวกเขาเป็น “เครื่องภาชนะแห่งความเมตตา” ที่อัครสาวกเปาโลพูดถึง. ทีแรก ผู้คนจากท่ามกลางชาวยิวได้รับเชิญให้มาเป็นชนฝ่ายสวรรค์. ต่อมา พระเจ้าได้เชิญผู้คนจากชนต่างชาติ. พระยะโฮวาไม่ได้บังคับคนเหล่านี้ให้รับใช้พระองค์. แต่จากท่ามกลางผู้ที่ตอบรับด้วยความหยั่งรู้ค่าต่อการจัดเตรียมของพระองค์ซึ่งเปี่ยมด้วยความรัก พระองค์ทรงให้บางคนมีสิทธิพิเศษเป็นผู้ร่วมปกครองกับพระบุตรของพระองค์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. การเตรียมชนฝ่ายสวรรค์บัดนี้เกือบจะครบถ้วนแล้ว.—ลูกา 22:29; วิวรณ์ 14:1-4.
11. (ก) คนกลุ่มไหนได้ประโยชน์จากความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาในขณะนี้? (ข) คนที่ตายแล้วจะได้รับประโยชน์อย่างไร?
11 ส่วนผู้อยู่อาศัยบนแผ่นดินโลกล่ะ? ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวายังทำให้มีโอกาสรวบรวม “ชนฝูงใหญ่” จากทุกชาติด้วย. บัดนี้พวกเขามีจำนวนนับล้าน. พระยะโฮวาได้ทรงสัญญาว่า ชนจำพวกที่จะอยู่บนแผ่นดินโลกจะรอดจากอวสานของระบบนี้และมีโอกาสมีชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (วิวรณ์ 7:9, 10; เพลงสรรเสริญ 37:29; โยฮัน 10:16) ในเวลากำหนดของพระเจ้า ผู้ที่ตายแล้วจำนวนมากจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายและมีโอกาสจะเป็นพลเมืองฝ่ายแผ่นดินโลกภายใต้ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. พระคำของพระเจ้าบอกล่วงหน้าที่กิจการ 24:15 ว่า “คนทั้งปวงทั้งคนชอบธรรมและคนที่ไม่ชอบธรรมจะเป็นขึ้นมาจากความตาย.”—โยฮัน 5:28, 29.
12. (ก) เราได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวาจากการที่พระองค์ทรงปล่อยให้มีความชั่ว? (ข) คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาจัดการกับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้?
12 ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีอะไรที่ไม่ยุติธรรมไหม? ไม่มี เพราะโดยการยับยั้งการทำลายล้างคนชั่วหรือ “เครื่องภาชนะแห่งความพิโรธ” พระเจ้ากำลังแสดงความเมตตาสงสารต่อคนอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์. นี่แสดงว่าพระองค์ทรงมีความเมตตาและประกอบด้วยความรักสักเพียงไร. นอกจากนั้น การที่มีเวลาสังเกตการคลี่คลายพระประสงค์ของพระองค์ทำให้เราเรียนรู้ได้มากเกี่ยวกับพระยะโฮวาเอง. เราอัศจรรย์ใจกับบุคลิกภาพของพระองค์ในแง่ต่าง ๆ ซึ่งได้รับการเปิดเผย ได้แก่ ความยุติธรรม, ความเมตตา, ความอดกลั้นไว้นาน, และสติปัญญาที่ครอบคลุมมากมายหลายด้านของพระองค์. ความฉลาดสุขุมของพระยะโฮวาในการจัดการกับประเด็นแห่งสากลบรมเดชานุภาพ—สิทธิในการปกครองของพระองค์—จะคงเป็นพยานหลักฐานตลอดไปต่อข้อเท็จจริงที่ว่า วิธีปกครองของพระองค์นั้นดีที่สุด. เราพูดได้เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโลที่ว่า “โอ้ ความล้ำลึกแห่งความมั่งคั่งและพระปัญญาอีกทั้งความรู้ของพระเจ้า! คำพิพากษาของพระองค์เหลือกำลังที่จะสืบค้นได้และพระมรรคาของพระองค์ก็เหลือวิสัยจะสืบเสาะได้จริง ๆ!”—โรม 11:33, ล.ม.
โอกาสที่เราจะแสดงความเลื่อมใส
13. เมื่อตัวเราเองประสบความทุกข์ยาก นั่นทำให้เรามีโอกาสเช่นไร และอะไรจะช่วยเราให้ตอบสนองอย่างสุขุม?
13 ผู้รับใช้ของพระเจ้าหลายคนต้องประสบกับความทุกข์เป็นส่วนตัว. ความทุกข์ของพวกเขายังมีอยู่ต่อไป เพราะพระเจ้ายังไม่ได้ทำลายคนชั่วและฟื้นฟูมนุษยชาติดังที่บอกไว้ล่วงหน้า. นั้นน่าจะทำให้เราทุกข์ใจไหม? หรือเราจะมองสภาพการณ์เช่นนั้นว่าเป็นโอกาสที่จะมีส่วนในการพิสูจน์ว่าพญามารเป็นผู้มุสา? เราจะได้รับการเสริมกำลังให้ทำเช่นนั้นถ้าเราคำนึงถึงคำกล่าวที่ว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงมีปัญญาขึ้น, และกระทำให้ใจของเรามีความยินดี; เพื่อเราจะมีคำตอบคนที่ตำหนิเราได้.” (สุภาษิต 27:11) ซาตานตัวการที่ตำหนิพระยะโฮวา ได้กล่าวหาว่า หากผู้คนประสบความสูญเสียทางวัตถุหรือความทุกข์เดือดร้อนทางกาย พวกเขาจะตำหนิพระเจ้า กระทั่งแช่งด่าพระองค์ด้วยซ้ำ. (โยบ 1:9-11; 2:4, 5) เราทำให้พระยะโฮวาสำราญพระทัยเมื่อเราแสดงให้เห็นว่าคำอ้างของซาตานไม่เป็นความจริงในกรณีของเราโดยที่เราภักดีต่อพระองค์ในยามที่เผชิญความยากลำบาก.
14. ถ้าเราวางใจพระยะโฮวาเมื่อเราประสบการทดลอง เราอาจได้รับประโยชน์เช่นไร?
14 ถ้าเราไว้วางใจพระยะโฮวาเมื่อเราประสบการทดลอง เราจะสามารถพัฒนาคุณลักษณะอันล้ำค่า. ตัวอย่างเช่น เนื่องจากความยากลำบากที่พระเยซูทรงทนเอา พระองค์ “ได้ทรงเรียนรู้การเชื่อฟัง” ในวิธีที่พระองค์ไม่เคยรู้มาก่อน. เราก็เช่นกันสามารถเรียนรู้ได้จากการทดลองที่เกิดกับเราในแง่ที่ว่า เราสามารถปลูกฝังความอดกลั้นไว้นาน, ความอดทน, และความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งต่อแนวทางอันชอบธรรมของพระยะโฮวา.—เฮ็บราย 5:8, 9, ล.ม.; 12:11; ยาโกโบ 1:2-4.
15. ขณะที่เราอดทนกับความยากลำบากด้วยความเพียร คนอื่น ๆ อาจได้รับประโยชน์อย่างไร?
15 คนอื่น ๆ จะสังเกตเห็นสิ่งที่เราทำ. เนื่องจากสิ่งที่เรายอมทนเพื่อเห็นแก่ความรักที่มีต่อความชอบธรรม ในเวลาต่อมาบางคนอาจได้มาหยั่งรู้เข้าใจว่าใครคือคริสเตียนแท้ในปัจจุบัน. และเมื่อเข้าร่วมกับพวกเราในการนมัสการ พวกเขาอาจเข้ามาอยู่ในเส้นทางที่จะได้รับพระพรแห่งชีวิตนิรันดร์. (มัดธาย 25:34-36, 40, 46) พระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์ต้องการให้ผู้คนมีโอกาสเช่นนั้น.
16. ทัศนะของเราต่อความยากลำบากที่เราประสบเป็นส่วนตัวนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องเอกภาพอย่างไร?
16 ช่างเป็นการดีสักเพียงไรเมื่อเรามองดูสภาพการณ์ที่ยากลำบากเช่นนั้นว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้แสดงความเลื่อมใสต่อพระยะโฮวารวมทั้งมีส่วนร่วมในการทำให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จ! การที่เราทำเช่นนั้นย่อมให้หลักฐานว่า เรากำลังมุ่งไปสู่เอกภาพกับพระเจ้าและพระคริสต์อย่างแท้จริง. พระเยซูทรงอธิษฐานต่อพระยะโฮวาเพื่อคริสเตียนแท้ทุกคน โดยตรัสว่า “ข้าพเจ้าทูลขอไม่เพียงเกี่ยวกับคนเหล่านี้ [สาวกที่ใกล้ชิดกับพระองค์] เท่านั้น แต่เกี่ยวกับคนที่เชื่อในข้าพเจ้าโดยถ้อยคำของเขาด้วย; เพื่อเขาทุกคนจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่พระองค์คือพระบิดาร่วมสามัคคีกับข้าพเจ้า และข้าพเจ้าร่วมสามัคคีกับพระองค์ เพื่อเขาจะได้ร่วมสามัคคีกับพระองค์และข้าพเจ้าด้วย.”—โยฮัน 17:20, 21, ล.ม.
17. เราจะมั่นใจได้ในเรื่องอะไรถ้าเราภักดีต่อพระยะโฮวา?
17 ถ้าเราภักดีต่อพระยะโฮวา พระองค์จะประทานบำเหน็จแก่เราอย่างล้นเหลือ. พระคำของพระองค์บอกว่า “จงตั้งมั่นคง, ไม่สะเทือนสะท้าน, มีมากมายหลายสิ่งที่จะทำเสมอในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยรู้ว่า การงานของท่านเกี่ยวด้วยองค์พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ไร้ประโยชน์.” (1 โกรินโธ 15:58, ล.ม.) นอกจากนั้นพระคำของพระองค์ยังกล่าวว่า “พระเจ้าไม่ใช่อธรรมที่จะทรงลืมการงานของท่านและความรักที่ท่านได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์.” (เฮ็บราย 6:10) ยาโกโบ 5:11 (ล.ม.) บอกว่า “นี่แน่ะ! เราบอกว่า คนเหล่านั้นที่ได้เพียรอดทนก็เป็นสุข. ท่านทั้งหลายเคยได้ยินถึงความเพียรอดทนของโยบและได้เห็นผลที่พระยะโฮวาทรงประทานแล้วว่า พระยะโฮวาทรงเปี่ยมไปด้วยความรักใคร่อันอ่อนละมุนและเมตตา.” ผลที่เกิดขึ้นกับโยบเป็นเช่นไร? “พระยะโฮวาได้ทรงอวยพรชีวิตบั้นปลายของโยบให้รุ่งเรืองยิ่งกว่าชีวิตในบั้นต้นของท่าน.” (โยบ 42:10-16) ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์.” (เฮ็บราย 11:6) และช่างเป็นบำเหน็จอันยอดเยี่ยมอะไรเช่นนั้นที่เราคอยท่าชีวิตชั่วนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน!
18. ในที่สุดจะเกิดอะไรขึ้นกับความทรงจำอันเจ็บปวดที่เราอาจมีอยู่?
18 การปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าจะแก้ไขความเสียหายทั้งสิ้นที่เกิดกับครอบครัวมนุษย์ตลอดเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา. ความยินดีในตอนนั้นจะมีมากเสียกว่าความทุกข์ยากใด ๆ ที่เราประสบอยู่ในขณะนี้. ความทรงจำอันเจ็บปวดเนื่องจากความทุกข์ทรมานในอดีตจะไม่หวนกลับมารบกวนเราอีก. ความคิดและกิจกรรมที่เสริมสร้างซึ่งจะมีอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนในโลกใหม่จะค่อย ๆ ลบความทรงจำอันเจ็บปวดออกไป. พระยะโฮวาตรัสว่า “เรากำลังสร้างฟ้าสวรรค์ใหม่ [การปกครองใหม่แห่งราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์เหนือมนุษยชาติ] และแผ่นดินโลกใหม่ [สังคมมนุษย์ที่ชอบธรรม]; และสิ่งก่อนนั้นจะไม่ระลึกถึงอีก ทั้งจะไม่คำนึงถึงในหัวใจ. แต่ท่านทั้งหลาย จงยินดีปรีดา และจงปีติชื่นชมตลอดไปในสิ่งที่เรากำลังสร้างอยู่นั้น.” ถูกแล้ว ในโลกใหม่ของพระยะโฮวา ผู้ชอบธรรมจะพูดได้ว่า “แผ่นดินโลกทั้งสิ้นก็สงบลง ปราศจากความวุ่นวาย. ผู้คนก็เบิกบานเปล่งเสียงร้องด้วยความยินดี.”—ยะซายา 14:7, ล.ม.; 65:17, 18, ล.ม.
การอภิปรายทบทวน
• ขณะที่ทรงปล่อยให้ความชั่วมีอยู่ พระยะโฮวาได้แสดงความนับถืออย่างสูงต่อพระนามของพระองค์เองอย่างไร?
• การที่พระเจ้าทรงอดกลั้นต่อ “เครื่องภาชนะแห่งความพิโรธ” ทำให้ความเมตตาของพระองค์แผ่มาถึงพวกเราอย่างไร?
• เราควรพยายามมองสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เราต้องทนเอานั้นอย่างไร?
[ภาพหน้า 67]
“พระยะโฮวาได้ทรงอวยพรชีวิตบั้นปลายของโยบให้รุ่งเรืองยิ่งกว่าชีวิตในบั้นต้น”