แหล่งอ้างอิงสำหรับชีวิตและงานรับใช้—คู่มือประชุม
วันที่ 11-17 มกราคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
“พระยะโฮวาแยกประชาชนของพระองค์ไว้ต่างหาก”
มรดก
it-1-E น. 1199
สมบัติที่ผู้ตายส่งต่อให้ลูกหลานหรือคนที่มีสิทธิ์ได้รับมรดกนั้น หรือไม่ก็เป็นสมบัติที่คนหนึ่งได้รับมาจากพ่อแม่หรือบรรพบุรุษ คำกริยาฮีบรู นาคาล (na·chalʹ ถ้าเป็นคำนามคือ นาคาลาห์) หมายถึง การได้รับหรือส่งต่อมรดกซึ่งส่วนใหญ่ผ่านทางการสืบทอดตำแหน่ง (กดว 26:55; อสค 46:18) คำกริยาภาษาฮีบรู ยาราช (ya·rashʹ) บางครั้งหมายถึง “เป็นทายาทรับมรดก” แต่ไม่ใช่แค่นั้น หลายครั้งคำนี้ยังใช้หมายถึง “ได้ครอบครอง” ด้วย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นทายาทรับมรดก (ปฐก 15:3; ลนต 20:24) คำนี้ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่งด้วยคือ “ขับไล่หรือไม่ให้เป็นเจ้าของ” โดยใช้กำลังทหาร (ฉธบ 2:12; 31:3) คำว่า มรดก ในภาษากรีกใช้คำว่า คลีรอส (kleʹros) ซึ่งความหมายดั้งเดิมคือ “ฉลาก” ต่อมาใช้ในความหมายว่า “มีส่วนร่วม” และสุดท้ายมีการใช้คำนี้ในความหมายว่า “มรดก”—มธ 27:35; กจ 1:17; 26:18
นก
it-1-E น. 317 ว. 2
หลังจากน้ำท่วมโลก โนอาห์ถวาย “สัตว์ที่บินได้” และสัตว์อื่น ๆ เป็นเครื่องบูชาให้พระเจ้า (ปฐก 8:18-20) หลังจากนั้นพระเจ้าอนุญาตให้มนุษย์กินนกได้ตราบใดที่ไม่กินเลือดของมัน (ปฐก 9:1-4; เทียบกับ ลนต 7:26; 17:13) ในสมัยนั้น ดูเหมือนว่านกที่ ‘สะอาด’ ก็คือนกที่พระเจ้าอนุญาตให้ถวายเป็นเครื่องบูชาได้ ก่อนสมัยของโมเสสยังไม่มีการกำหนดว่านกชนิดไหน “ไม่สะอาด” กินไม่ได้ (ลนต 11:13-19, 46, 47; 20:25; ฉธบ 14:11-20) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมนกบางชนิด “ไม่สะอาด” ส่วนใหญ่แล้วนกที่ไม่สะอาดจะเป็นนกล่าเหยื่อ หรือนกกินซาก แต่ก็ไม่ใช่เป็นอย่างนั้นทั้งหมด ข้อกำหนดเรื่องสัตว์ที่ไม่สะอาดถูกยกเลิกไปตอนที่มีสัญญาใหม่ เราเห็นเรื่องนี้ได้จากนิมิตที่พระเจ้าให้เปโตร—กจ 10:9-15
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
การตัด หรือ เชือด
it-1-E น. 563
กฎหมายของพระเจ้าห้ามอย่างชัดเจนว่าไม่ให้เชือดเนื้อตัวเองเพื่อคนตาย (ลนต 19:28; 21:5; ฉธบ 14:1) เพราะชาวอิสราเอลเป็นประชาชนที่บริสุทธิ์ของพระยะโฮวา เป็นสมบัติพิเศษของพระองค์ (ฉธบ 14:2) ด้วยเหตุผลนี้ชาวอิสราเอลต้องไม่ทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการไหว้รูปเคารพ และเมื่อรู้สภาพที่แท้จริงของคนตายรวมทั้งความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย ก็ไม่ควรแสดงความโศกเศร้ามากเกินไปโดยเชือดเนื้อตัวเองเพื่อคนตาย (ดนล 12:13; ฮบ 11:19) ข้อห้ามนี้ยังเป็นการย้ำเตือนชาวอิสราเอลว่า เขาต้องแสดงความนับถือต่อร่างกายที่พระเจ้าสร้าง
วันที่ 18-24 มกราคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ
it-1-E น. 826-827
วันแรกของเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อเป็นการประชุมศักดิ์สิทธิ์และเป็นวันสะบาโตด้วย ในวันที่สองของเทศกาลนี้คือวันที่ 16 เดือนนิสาน ชาวอิสราเอลต้องเอาฟ่อนข้าวบาร์เลย์ที่เป็นผลแรกจากการเก็บเกี่ยวที่ได้ในปาเลสไตน์ไปให้ปุโรหิตฟ่อนหนึ่ง พระเจ้าสั่งว่าก่อนเทศกาลนี้ห้ามกินข้าวใหม่ ขนมปัง ข้าวคั่วที่ได้จากการเก็บเกี่ยวครั้งนี้ ปุโรหิตจะเอาฟ่อนข้าวที่เป็นผลแรกของการเก็บเกี่ยวไปยื่นถวายให้พระยะโฮวา และเขาต้องถวายลูกแกะตัวผู้ตัวหนึ่งที่สมบูรณ์แข็งแรงอายุไม่เกิน 1 ปีเป็นเครื่องบูชาเผาพร้อมกับแป้งที่นวดกับน้ำมัน และถวายเครื่องบูชาดื่มให้พระยะโฮวา (ลนต 23:6-14) ตอนแรกไม่มีคำสั่งให้เผาเมล็ดข้าวหรือแป้งบนแท่นบูชาอย่างที่ปุโรหิตทำในเวลาต่อมา การถวายผลแรกนี้ไม่ได้แค่ให้ทำรวมกันเป็นชาติหรือกลุ่มใหญ่เท่านั้น แต่ทุกครอบครัวและทุกคนที่ได้รับที่ดินในอิสราเอลต้องถวายเครื่องบูชาขอบคุณให้พระยะโฮวาในช่วงเทศกาลนี้ด้วย—อพย 23:19; ฉธบ 26:1, 2
ความสำคัญ การกินขนมปังไม่ใส่เชื้อในตอนนั้นสอดคล้องกับคำสั่งที่โมเสสได้รับจากพระยะโฮวาที่มีบันทึกไว้ในอพยพ 12:14-20 ซึ่งรวมถึงคำสั่งที่ชัดเจนในข้อ 19 ที่ว่า “ตลอด 7 วันนั้น อย่าให้มีแป้งเชื้ออยู่ในบ้านของพวกเจ้าเลย” ในเฉลยธรรมบัญญัติ 16:3 เรียกขนมปังไม่ใส่เชื้อนี้ว่า “ขนมปังแห่งความทุกข์” ทุกปีที่ชาวอิสราเอลกินขนมปังนี้ทำให้พวกเขานึกถึงเหตุการณ์ตอนที่ต้องรีบออกจากอียิปต์ (ตอนนั้นพวกเขาไม่มีเวลาใส่เชื้อลงไปในแป้ง [อพย 12:34]) ขนมปังพวกนี้เตือนพวกเขาให้นึกถึงความทุกข์ตอนที่เป็นทาสอยู่ในอียิปต์ พระยะโฮวาถึงได้สั่งว่า “ให้ทำอย่างนี้เพื่อระลึกถึงวันที่ออกจากอียิปต์ตลอดชีวิตของคุณ” ที่พระยะโฮวาให้ฉลองเทศกาลนี้เป็นเทศกาลแรกใน 3 เทศกาลก็เพื่อให้พวกเขานึกถึงตอนที่ได้เป็นชาติที่มีอิสระ และจำไว้เสมอว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา—ฉธบ 16:16
เพ็นเทคอสต์
it-2-E น. 598 ว. 2
ชาวอิสราเอลจะถวายผลแรกของข้าวสาลีต่างจากการถวายผลแรกของข้าวบาร์เลย์ จะมีการเอาแป้งสาลีเนื้อละเอียด 2 ใน 10 เอฟาห์ (4.4 ลิตร) มาผสมกับเชื้อแล้วเอามาอบเป็นขนมปัง 2 แผ่น ขนมปังนี้เป็น “ขนมปังจากบ้าน” ซึ่งหมายถึงขนมปังแบบที่ทำกินที่บ้าน ไม่ได้ใช้วิธีพิเศษอะไร (ลนต 23:17) จะมีการถวายขนมปัง 2 แผ่นนี้ไปพร้อมกับเครื่องบูชาเผาและเครื่องบูชาไถ่บาป สำหรับเครื่องบูชาผูกมิตรจะมีการถวายขนมปัง 2 แผ่นนี้ไปพร้อมกับลูกแกะตัวผู้ 2 ตัว ปุโรหิตจะยกขนมปังและเนื้อแกะขึ้นแล้วยื่นไปข้างหน้าหลาย ๆ ทีเหมือนถวายให้พระยะโฮวา หลังจากยื่นถวายแล้วปุโรหิตก็จะกินขนมปังกับเนื้อแกะนั้นเป็นเครื่องบูชาผูกมิตร—ลนต 23:18-20
วันที่ 25-31 มกราคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
อิสรภาพ
it-1-E น. 871
พระเจ้าแห่งอิสรภาพ พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าแห่งอิสรภาพ พระองค์ปลดปล่อยชาติอิสราเอลให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสในอียิปต์ พระองค์บอกว่าตราบใดที่พวกเขาเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์ พวกเขาจะเป็นอิสระจากความยากจนซึ่งก็คือเขาจะไม่ต้องกลัวจนอีกเลย (ฉธบ 15:4, 5) ดาวิดบอกว่า คนที่อยู่ในป้อมปราการของเยรูซาเล็มจะ “ปลอดภัย” ในภาษาเดิมหมายถึงเป็นอิสระจากความกังวล (สด 122:6, 7) ถึงอย่างนั้น กฎหมายของโมเสสบอกว่าถ้าใครยากจนเขาก็ขายตัวเองไปเป็นทาสได้เพื่อจะมีสิ่งจำเป็นให้กับตัวเองและครอบครัว และกฎหมายก็บอกว่าในปีที่เจ็ด คนฮีบรูที่เป็นทาสจะเป็นอิสระ (อพย 21:2) เมื่อถึงปีที่น่ายินดี (คือทุก ๆ ปีที่ 50) จะมีการประกาศอิสรภาพให้กับทุกคนในแผ่นดิน ทาสชาวฮีบรูทุกคนจะเป็นอิสระและจะได้กลับไปอยู่ในที่ดินมรดกของตัวเอง—ลนต 25:10-19
มรดก
it-1-E น. 1200 ว. 2
ที่ดินเป็นสมบัติของแต่ละครอบครัวซึ่งจะตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นและขายขาดไม่ได้ ถ้าเจ้าของอยากขายที่ดิน เขาจะคิดราคาโดยดูว่าที่ดินนั้นปลูกพืชผลได้อีกกี่ปีจนกว่าจะถึงปีที่น่ายินดีรอบถัดไป ซึ่งเมื่อถึงปีที่น่ายินดี ที่ดินนั้นก็จะกลับมาเป็นของเจ้าของเดิมถ้าเขายังไม่ได้ซื้อคืน (ลนต 25:13, 15, 23, 24) ข้อกำหนดนี้ใช้กับบ้านที่อยู่ในเมืองที่ไม่มีกำแพงด้วยซึ่งถูกมองว่าเป็นเหมือนที่ดินทั่วไป ส่วนบ้านที่อยู่ในเมืองที่มีกำแพง เจ้าของสามารถซื้อคืนได้ภายใน 1 ปี แต่ถ้าไม่ซื้อคืนภายใน 1 ปี บ้านนั้นจะตกเป็นของผู้ซื้อไปตลอด สำหรับบ้านที่อยู่ในเมืองของคนเลวี คนเลวีจะซื้อคืนเมื่อไหร่ก็ได้เพราะพวกเขาไม่มีมรดกที่ดิน—ลนต 25:29-34
ปีที่น่ายินดี
it-2-E น. 122-123
การเชื่อฟังกฎหมายเกี่ยวกับปีที่น่ายินดีจะช่วยปกป้องคนในชาติไว้จากสถานการณ์น่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในทุกวันนี้ นั่นคือ คนจนก็จนมาก คนรวยก็รวยมาก กฎหมายนี้จะช่วยให้แต่ละคนในชาติเข้มแข็งเพราะจะไม่มีใครกลายเป็นคนด้อยโอกาสหรือถูกเหยียบย่ำเพราะยากจน แต่ทุกคนสามารถใช้ความรู้และทักษะของตัวเองเพื่อประโยชน์ของคนทั้งชาติ พระยะโฮวาอวยพรให้แผ่นดินของพวกเขาเกิดดอกออกผล และสอนพวกเขาให้มีความรู้ ซึ่งถ้าชาวอิสราเอลเชื่อฟัง พวกเขาจะมีชีวิตที่มั่งคั่งและมีความสุขภายใต้รัฐบาลที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งมีแต่การปกครองของพระเจ้าเท่านั้นที่ทำแบบนี้ได้—อสย 33:22
วันที่ 1-7 กุมภาพันธ์
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
เคารพยำเกรง
it-1-E น. 223 ว. 3
วิธีที่พระยะโฮวาใช้โมเสสและปฏิบัติกับเขาทำให้โมเสสสามารถแสดงพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ (คำภาษาฮีบรู moh·raʹ โมห์รา) ให้ประชาชนคนอื่น ๆ ของพระเจ้าได้เห็น (ฉธบ 34:10, 12; อพย 19:9) คนที่มีความเชื่อเกรงกลัวอำนาจของโมเสสเพราะรู้ว่าพระเจ้าใช้โมเสสให้พูดกับพวกเขา ที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวาก็เหมือนกันชาวอิสราเอลต้องเคารพยำเกรงด้วย (ลนต 19:30; 26:2) พวกเขาแสดงความเคารพยำเกรงได้โดยนมัสการตามแบบที่พระยะโฮวาสั่งและใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับคำสอนของพระองค์
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
โรคระบาด
it-2-E น. 617
เกิดจากการละทิ้งกฎหมายของพระเจ้า ชาติอิสราเอลได้รับการเตือนว่าถ้าพวกเขาไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับพระเจ้า พระองค์ก็จะ “ทำให้มีโรคระบาดเกิดขึ้น” (ลนต 26:14-16, 23-25; ฉธบ 28:15, 21, 22) ข้อคัมภีร์หลายข้อที่พูดถึงสุขภาพที่ดีไม่ว่าจะทางร่างกายหรือทางความเชื่อมักจะเกี่ยวข้องกับการอวยพรจากพระยะโฮวา (ฉธบ 7:12, 15; สด 103:1-3; สภษ 3:1, 2, 7, 8; 4:21, 22; วว 21:1-4) ในขณะที่โรคร้ายมักจะเกี่ยวข้องกับบาปและความไม่สมบูรณ์แบบ (อพย 15:26; ฉธบ 28:58-61; อสย 53:4, 5; มธ 9:2-6, 12; ยน 5:14) แต่บางครั้งพระยะโฮวาก็ทำให้เกิดโรคร้ายกับคนคนนั้นทันที เช่น ทำให้มิเรียม อุสซียาห์ และเกหะซีเป็นโรคเรื้อน (กดว 12:10; 2พศ 26:16-21; 2พก 5:25-27) แต่ในหลายกรณี โรคร้ายหรือโรคระบาดก็เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ชีวิตแบบผิด ๆ ตามความต้องการของร่างกายที่มีบาป พวกเขาต้องเก็บเกี่ยวสิ่งที่หว่าน (กท 6:7, 8) คือร่างกายได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ผิด ๆ ของตัวเอง อัครสาวกของพระเยซูบอกว่า คนที่ทำผิดศีลธรรมทางเพศก็ “ทำสิ่งที่น่าละอายกับร่างกายของพวกเขาเอง . . . ทำสิ่งชั่วช้าลามกต่อกัน พวกเขาจึงได้รับโทษสมกับความผิดของเขา”—รม 1:24-27
วันที่ 8-14 กุมภาพันธ์
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
ค่ายพัก
it-1-E น. 397 ว. 4
ค่ายพักของชาวอิสราเอลใหญ่มาก ในค่ายนี้มีทหารที่มาขึ้นทะเบียน 603,550 คน นี่ยังไม่รวมผู้หญิง เด็ก คนแก่ คนพิการ และคนเลวีอีก 22,000 คน และยังมี “คนอื่น ๆ จำนวนมากไปกับพวกเขาด้วย” ซึ่งคนทั้งหมดในค่ายนี้อาจมีประมาณ 3 ล้านคนหรือมากกว่านั้น (อพย 12:38, 44; กดว 3:21-34, 39) พระคัมภีร์ไม่ได้บอกชัดเจนว่าค่ายนี้มีพื้นที่ใหญ่ขนาดไหน แต่ที่แน่ ๆ มันต้องใหญ่มาก ตอนที่ชาวอิสราเอลไปตั้งค่ายตรงข้ามเมืองเยรีโคในที่ราบโมอับ พระคัมภีร์บอกว่าค่ายนี้กินพื้นที่ “ตั้งแต่เบธเยชิโมทไปจนถึงอาเบลชิทธีม”—กดว 33:49
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
ขึ้นทะเบียน
it-2-E น. 764
การขึ้นทะเบียนมักจะเป็นการลงชื่อและอายุซึ่งแบ่งตามตระกูลและครอบครัว การขึ้นทะเบียนไม่ใช่แค่การสำรวจสำมะโนประชากรหรือนับคน การขึ้นทะเบียนคนในชาติตามที่บอกในคัมภีร์ไบเบิลมีจุดประสงค์หลายอย่าง เช่น เพื่อเสียภาษี เพื่อเป็นทหาร หรือถ้าเป็นคนเลวีก็เพื่อทำงานในที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า
วันที่ 15-21 กุมภาพันธ์
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
ปุโรหิต
it-2-E น. 683 ว. 3
ภายใต้กฎหมายของโมเสส ตอนที่ชาวอิสราเอลเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ พระยะโฮวาทำลายลูกชายคนโตของชาวอียิปต์ในภัยพิบัติอย่างที่ 10 และพระองค์ได้แยกลูกชายคนโตของชาวอิสราเอลไว้ให้เป็นสิ่งบริสุทธิ์สำหรับพระองค์ (อพย 12:29; กดว 3:13) ลูกชายคนโตเหล่านี้เป็นของพระยะโฮวาที่พระองค์กันไว้ให้ทำงานรับใช้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระองค์โดยเฉพาะ พระองค์อาจให้พวกเขาทุกคนเป็นปุโรหิตหรือคอยดูแลที่ศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ แต่พระองค์เลือกเฉพาะผู้ชายตระกูลเลวีให้ทำหน้าที่เหล่านี้แทน ด้วยเหตุผลนี้พระเจ้าจึงให้ผู้ชายเลวีทุกคนเป็นตัวแทนลูกชายคนโตของชาวอิสราเอล 12 ตระกูล (เอฟราอิมกับมนัสเสห์ลูกชายของโยเซฟถูกนับเป็น 2 ตระกูล) ตอนที่นับจำนวนประชากรปรากฏว่าลูกชายคนโตของตระกูลอื่นที่อายุ 1 เดือนขึ้นไปมีมากกว่าผู้ชายตระกูลเลวีถึง 273 คน พระเจ้าเลยให้ 273 คนนี้จ่ายค่าไถ่คนละ 5 เชเขลให้กับอาโรนและลูกชาย (กดว 3:11-16, 40-51) ก่อนหน้านี้พระยะโฮวาได้แยกผู้ชายของครอบครัวอาโรนไว้จากคนตระกูลเลวีแล้วเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นปุโรหิตของชาติอิสราเอล—กดว 1:1; 3:6-10
คนเลวี
it-2-E น. 241
หน้าที่ คนเลวีเป็นลูกหลานของเกอร์โชน (เกอร์โชม) โคฮาท และเมรารี ซึ่ง 3 คนนี้เป็นลูกชายของเลวี (ปฐก 46:11; 1พศ 6:1, 16) พระเจ้าให้แต่ละครอบครัวอยู่รอบ ๆ เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ ลูกหลานโคฮาทที่เป็นครอบครัวอาโรนตั้งค่ายพักอยู่หน้าเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ทางทิศตะวันออก ส่วนลูกหลานโคฮาทครอบครัวอื่น ๆ ตั้งค่ายพักอยู่ทางทิศใต้ ลูกหลานเกอร์โชนอยู่ทางทิศตะวันตก และลูกหลานเมรารีอยู่ทางเหนือ (กดว 3:23, 29, 35, 38) คนเลวีทำหน้าที่ตั้งเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ รื้อถอน และเคลื่อนย้าย พอถึงเวลาที่ต้องเคลื่อนย้ายอาโรนกับลูกชายก็จะเอาม่านที่กั้นระหว่างห้องบริสุทธิ์กับห้องบริสุทธิ์ที่สุดลง และคลุมหีบสัญญารวมถึงแท่นบูชาต่าง ๆ และสิ่งของที่ใช้ในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ แล้วลูกหลานโคฮาทจะเป็นคนหามสิ่งเหล่านั้น ส่วนลูกหลานเกอร์โชนจะเป็นคนขนย้ายตัวเต็นท์ ผ้าคลุมเต็นท์ ม่านต่าง ๆ ม่านกั้นสำหรับลานเต็นท์ และเชือกผูกหมุดที่ตัวเต็นท์ (ดูเหมือนเป็นเชือกที่ใช้สำหรับเต็นท์เท่านั้น) และลูกหลานเมรารีจะขนย้ายกรอบผนังของเต็นท์ เสากับฐานรองรับเต็นท์ หมุดยึด และเชือกผูกหมุด (เชือกที่ใช้สำหรับลานเต็นท์)—กดว 1:50, 51; 3:25, 26, 30, 31, 36, 37; 4:4-33; 7:5-9
คนเลวี
it-2-E น. 241
ในสมัยโมเสส พอคนเลวีอายุครบ 30 ปี เขาก็จะทำงานมอบหมายทุกอย่างในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ได้ เช่น งานขนย้ายเต็นท์และสิ่งของต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเต็นท์ (กดว 4:46-49) แต่งานบางอย่างก็เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี ซึ่งเป็นงานทั่วไปที่ไม่ต้องใช้แรง เช่น พวกเขาไม่ต้องทำงานขนย้ายเต็นท์ (กดว 8:24) ในสมัยดาวิดอายุคนเลวีที่จะเริ่มงานได้ลดลงเหลือ 20 ปี เพราะในสมัยของดาวิดไม่ต้องเคลื่อนย้ายเต็นท์แล้ว (ซึ่งต่อมาเต็นท์ถูกแทนที่ด้วยวิหาร) คนเลวีจะเกษียณและไม่ต้องทำงานอีกต่อไปเมื่ออายุครบ 50 ปี (กดว 8:25, 26; 1พศ 23:24-26) คนเลวีต้องรู้และเข้าใจกฎหมายของโมเสสเป็นอย่างดี เพราะเขามักจะได้รับมอบหมายให้ไปอ่านและสอนกฎหมายนี้ให้ประชาชนฟัง—1พศ 15:27; 2พศ 5:12; 17:7-9; นหม 8:7-9
วันที่ 22-28 กุมภาพันธ์
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์
นาศีร์
it-2-E น. 477
มีข้อห้าม 3 อย่างสำหรับคนที่ปฏิญาณว่าจะเป็นนาศีร์ คือ (1) ห้ามดื่มเครื่องดื่มมึนเมา และเขาต้องไม่กินอะไรก็ตามที่ได้จากต้นองุ่นไม่ว่าจะเป็นผลองุ่นที่ยังไม่สุก ผลสด หรือแห้ง และไม่ดื่มน้ำองุ่นทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นแบบสด แบบหมัก หรือหมักจนกลายเป็นน้ำส้มสายชู (2) ห้ามตัดผม (3) ห้ามสัมผัสคนตายไม่ว่าคนนั้นจะเป็นญาติใกล้ชิดแค่ไหน เช่น เป็นพ่อแม่ พี่หรือน้อง—กดว 6:1-7
คำปฏิญาณพิเศษ คนที่ปฏิญาณตัวเป็นพิเศษแบบนี้ “จะอยู่อย่างนาศีร์ [คือ อุทิศตัวไว้, แยกตัวอยู่ต่างหาก] เพื่อพระยะโฮวา” เขาไม่ได้ต้องการอวดว่าเขาเคร่งหรืออยากให้คนอื่นมาชม แทนที่จะเป็นอย่างนั้น “ตลอดเวลาที่เป็นนาศีร์ เขาจะต้องรักษาตัวให้บริสุทธิ์เพื่อพระยะโฮวา”—กดว 6:2, 8; เทียบกับ ปฐก 49:26, เชิงอรรถ
ข้อเรียกร้องของนาศีร์มีความสำคัญและมีความหมายเป็นพิเศษในการนมัสการพระยะโฮวา นาศีร์ต้องไม่แตะต้องคนตายไม่ว่าจะเป็นญาติใกล้ชิดแค่ไหนเหมือนมหาปุโรหิตที่ทำงานรับใช้ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้น มหาปุโรหิตกับปุโรหิตมีหน้าที่รับใช้ที่สำคัญเขาจึงถูกห้ามไม่ให้ดื่มเหล้าองุ่นหรือเครื่องดื่มมึนเมาตอนทำงานรับใช้ศักดิ์สิทธิ์ให้พระยะโฮวา—ลนต 10:8-11; 21:10, 11
ยิ่งกว่านั้น คนที่เป็นนาศีร์ (ภาษาฮีบรู na·zirʹ นาศีร์) จะต้องเป็นคนบริสุทธิ์โดย “ไว้ผมยาว” เพราะเมื่อคนอื่นเห็นผมยาวของเขาก็จะรู้เลยว่าเขาเป็นนาศีร์ (กดว 6:5) คำภาษาฮีบรูนาศีร์ คำเดียวกันนี้เป็นคำที่ใช้เรียกเถาองุ่นที่‘ไม่ได้รับการตัดแต่ง’ ในปีสะบาโตและปีที่น่ายินดี (ลนต 25:5, 11) น่าสนใจที่แผ่นทองคำที่อยู่บนผ้าโพกหัวของมหาปุโรหิตที่สลักคำว่า “พระยะโฮวาบริสุทธิ์” ถูกเรียกว่า “เครื่องหมายอันบริสุทธิ์ที่แสดงถึงการอุทิศตัว (คำภาษาฮีบรู neʹzer เนเซอร์ มาจากรากศัพท์คำเดียวกับคำว่า na·zirʹ นาศีร์)” (อพย 39:30, 31) มงกุฎของกษัตริย์ชาติอิสราเอลก็ถูกเรียกว่าเนเซอร์ เหมือนกัน (2ซม 1:10; 2พก 11:12) ในสมัยประชาคมคริสเตียน อัครสาวกบอกว่าผมยาวของผู้หญิงเป็นเหมือนผ้าคลุมหัว นี่เป็นเครื่องเตือนใจที่ทำให้รู้ว่าบทบาทของเธอแตกต่างจากผู้ชาย เธอต้องจำไว้ว่าพระเจ้าอยากให้เธอยอมอยู่ใต้อำนาจ ดังนั้นข้อเรียกร้อง 3 อย่างของนาศีร์ที่ห้ามไม่ให้ตัดผม (ไม่ใช่เรื่องปกติของผู้ชาย) ห้ามไม่ให้ดื่มเหล้าองุ่น และให้รักษาตัวให้สะอาดไม่มีมลทิน เป็นข้อเตือนใจว่านาศีร์ต้องปฏิเสธตัวเองและต้องเชื่อฟังพระยะโฮวาทุกอย่าง—1คร 11:2-16