“ที่อธิษฐานสำหรับคนทุกประเทศ”
“มีคำเขียนไว้มิใช่หรือว่า, ‘โบสถ์ของเราเขาจะเรียกว่าเป็นที่อธิษฐานสำหรับคนทุกประเทศ’?”—มาระโก 11:17.
1. อาดามและฮาวาแต่เดิมทีเคยมีสัมพันธภาพแบบไหนกับพระเจ้า?
เมื่ออาดามกับฮาวาถูกสร้างขึ้นมา บุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบิดาของเขาฝ่ายสวรรค์. พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสื่อความกับเขา ทั้งยังโปรดให้เขารู้คร่าว ๆ ถึงวัตถุประสงค์อันมหัศจรรย์ของพระองค์สำหรับเผ่าพันธุ์มนุษย์. เป็นที่แน่นอนว่า บ่อยครั้ง เขาย่อมเปล่งเสียงสรรเสริญพระยะโฮวา เนื่องด้วยราชกิจอันยอดเยี่ยมแห่งงานสร้างสรรค์ของพระองค์. หากอาดามกับฮาวาต้องการการชี้นำขณะที่เขาพิจารณาไตร่ตรองบทบาทของตัวเองที่จะเป็นต้นตระกูลครอบครัวมนุษย์ เขาสามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าจากที่ไหนก็ได้ในบ้านอุทยานของเขา. เขาไม่จำเป็นต้องอาศัยการปฏิบัติงานของปุโรหิตในวิหารใด ๆ.—เยเนซิศ 1:28.
2. มีอะไรเปลี่ยนแปลงเมื่ออาดามกับฮาวาทำบาป?
2 สภาพการณ์เปลี่ยนไปเมื่อทูตสวรรค์ที่ทรยศได้ล่อลวงฮาวาเข้าสู่แนวคิดที่ว่า ชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้นถ้านางปฏิเสธพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา โดยบอกว่านางจะ “เป็นเหมือนพระเจ้า.” ดังนั้น ฮาวาได้กินผลจากต้นไม้ต้องห้าม. แล้วซาตานจึงใช้ฮาวาล่อใจสามีอีกต่อหนึ่ง. เป็นเรื่องน่าเศร้าจริง ๆ ที่อาดามได้เชื่อฟังภรรยาซึ่งเป็นคนผิดบาป แสดงว่าเขาประเมินค่าความสัมพันธ์ของตัวเองกับภรรยาสูงกว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระเจ้า. (เยเนซิศ 3:4-7, ฉบับแปลใหม่) จริง ๆ แล้ว อาดามกับฮาวาสมัครใจเลือกซาตานเป็นพระเจ้าของตน.—เทียบกับ 2 โกรินโธ 4:4.
3. เนื่องจากการกบฏของอาดามกับฮาวา จึงมีผลร้ายอะไรตามมา?
3 ครั้นเลือกซาตานเป็นพระเจ้าของตัวเองแล้ว มนุษย์คู่แรกไม่เพียงแต่ขาดความสัมพันธ์อันมีค่ากับพระเจ้า แต่ได้สูญเสียความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปในอุทยานทางแผ่นดินโลกด้วย. (เยเนซิศ 2:16, 17) ในที่สุด ร่างกายของคนทั้งสองที่ผิดบาปก็ทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาตาย. ลูกหลานของเขาสืบทอดสถานภาพที่ผิดบาปนี้ต่อมา. “อย่างนั้นแหละ” ตามอรรถาธิบายของคัมภีร์ไบเบิล “ความตายจึงได้ลามไปถึงคนทั้งปวง.”—โรม 5:12.
4. พระเจ้าได้เสนอความหวังอะไรแก่มนุษย์ที่ผิดบาป?
4 จำเป็นต้องมีบางสิ่งเข้ามาช่วยมนุษย์ที่ผิดบาปให้คืนดีกับพระผู้สร้างองค์บริสุทธิ์ของเขา. เมื่อประกาศคำตัดสินลงโทษอาดามกับฮาวา พระเจ้าได้ให้ความหวังแก่ลูกหลานของเขาในเบื้องหน้า โดยทรงสัญญาจะให้ “พงศ์พันธุ์” ซึ่งจะช่วยมนุษย์รอดพ้นผลกระทบจากการกบฏของซาตาน. (เยเนซิศ 3:15) ในเวลาต่อมา พระเจ้าทรงเปิดเผยว่า พงศ์พันธุ์ที่นำมาซึ่งพระพรนั้นจะมาทางอับราฮาม. (เยเนซิศ 22:18) ด้วยการคำนึงถึงวัตถุประสงค์อันเปี่ยมด้วยความรักเช่นนี้ พระเจ้าได้เลือกชาติยิศราเอลซึ่งสืบเชื้อสายจากอับราฮามให้เป็นชาติของพระองค์ที่สรรไว้เฉพาะ.
5. ทำไมเราควรสนใจในรายละเอียดของคำสัญญาไมตรีเกี่ยวกับพระบัญญัติที่พระเจ้ากระทำไว้กับชาติยิศราเอล?
5 ปี 1513 ก่อนสากลศักราช ชาติยิศราเอลได้เข้าร่วมในคำสัญญาไมตรีกับพระเจ้าและยินยอมปฏิบัติตามข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระองค์. คำสัญญาไมตรีเกี่ยวกับพระบัญญัตินั้นควรเป็นเรื่องที่ทุกคนสมัยนี้ซึ่งประสงค์จะนมัสการพระเจ้าพึงสนใจอย่างยิ่ง เพราะชี้ถึงพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญา. เปาโลพูดว่าคำสัญญานี้ “เป็นแต่เงาของสิ่งดีที่จะมาภายหน้า.” (เฮ็บราย 10:1) เปาโลกล่าวเรื่องนี้ขณะที่ท่านชี้แจงการรับใช้ของปุโรหิตชาวยิศราเอล ณ พลับพลาหรือกระโจมสำหรับการนมัสการซึ่งเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งเรียกว่า “พลับพลาของพระยะโฮวา” หรือ “พลับพลาพระยะโฮวา.” (1 ซามูเอล 1:9, 24) โดยการพิจารณาตรวจสอบงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ที่กระทำ ณ พลับพลาของพระยะโฮวาทางแผ่นดินโลก พวกเราย่อมเกิดความหยั่งรู้เข้าใจเต็มที่ยิ่งขึ้นเกี่ยวด้วยการจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยความเมตตา ซึ่งโดยทางการจัดเตรียมนี้ มนุษย์ที่ผิดบาปในทุกวันนี้สามารถจะคืนดีกับพระเจ้าได้.
ที่บริสุทธิ์ที่สุด
6. มีอะไรตั้งอยู่ในที่บริสุทธิ์ที่สุด และมีการแสดงให้เห็นโดยวิธีใดถึงการประทับของพระเจ้าที่นั่น?
6 พระคัมภีร์แจ้งดังนี้: “พระเจ้าผู้สูงสุดหาได้ประทับอยู่ในโบสถ์ซึ่งมือมนุษย์ได้ทำไว้ไม่.” (กิจการ 7:48) อย่างไรก็ดี การประทับของพระเจ้าในพลับพลาของพระองค์ทางแผ่นดินโลก มีสิ่งบ่งบอกโดยเมฆปกคลุมห้องชั้นในสุด เรียกว่าที่บริสุทธิ์อันยิ่ง. (เลวีติโก 16:2) ดูเหมือนว่า กลุ่มเมฆนี้เรืองแสงเจิดจ้า ทำให้ที่บริสุทธิ์อันยิ่งสว่างไสว. เมฆลอยอยู่เหนือหีบศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “หีบคำปฏิญาณ” ซึ่งบรรจุแผ่นศิลาจารึกพระบัญญัติบางประการที่พระเจ้าประทานแก่ชาวยิศราเอล. บนหีบคำปฏิญาณนี้มีคะรูบทองคำสององค์ในท่ากางปีก ซึ่งเป็นภาพเล็งถึงสิ่งมีชีวิตที่เป็นวิญญาณตำแหน่งสูงในองค์การของพระเจ้าทางภาคสวรรค์. เมฆมหัศจรรย์เรืองแสงจ้าลอยอยู่เหนือหีบศักดิ์สิทธิ์ และอยู่ระหว่างคะรูบทั้งสอง. (เอ็กโซโด 25:22) ทั้งนี้เป็นการถ่ายทอดแนวความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการทรงประทับราชรถในสวรรค์ ซึ่งคะรูบผู้มีชีวิตได้หนุนไว้. (1 โครนิกา 28:18) ภาพนั้นเป็นคำอธิบายเหตุผลที่กษัตริย์ฮีศคียาได้อธิษฐานว่า “ข้าแต่พระยะโฮวาจอมพลโยธา, พระเจ้าของชนชาติยิศราเอล, ผู้ทรงประทับอยู่เหนือคะรูบิม.”—ยะซายา 37:16.
ที่บริสุทธิ์
7. ณ ที่บริสุทธิ์นั้นมีสิ่งของต่าง ๆ อะไรบ้าง?
7 ส่วนที่กั้นเป็นห้องที่สองในพลับพลาเรียกว่าที่บริสุทธิ์. ภายในส่วนนี้ ด้านซ้ายมือของทางเข้ามีเชิงตะเกียงสวยงามเจ็ดกิ่งตั้งอยู่ และด้านขวามีโต๊ะตั้งขนมปังถวาย. ตรงไปข้างหน้ามีแท่นตั้งอยู่ ซึ่งเมื่อเผาเครื่องหอมที่แท่น กลิ่นหอมอบอวลก็จะลอยขึ้นไปจากแท่นนี้. แท่นนี้อยู่ข้างหน้าม่านที่กั้นห้องบริสุทธิ์จากห้องบริสุทธิ์ที่สุด.
8. พวกปุโรหิตปฏิบัติหน้าที่อะไรเป็นประจำในที่บริสุทธิ์?
8 ทุกเวลาเช้าและเวลาเย็น ปุโรหิตคนหนึ่งต้องเข้าไปในพลับพลาและเผาเครื่องหอมบนแท่น. (เอ็กโซโด 30:7, 8) ยามเช้าขณะเผาเครื่องหอม ตะเกียงทั้งเจ็ดดวงบนเชิงตะเกียงทองคำต้องมีน้ำมันเติมไว้เต็ม. ตกเย็นจะจุดตะเกียงเพื่อให้ความสว่างแก่ที่บริสุทธิ์. ทุกวันซะบาโต ปุโรหิตคนหนึ่งต้องตั้งขนมปังที่ทำเสร็จใหม่ ๆ 12 ก้อนไว้บนโต๊ะถวาย.—เลวีติโก 24:4-8.
ลานพลับพลา
9. อ่างใส่น้ำใบใหญ่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร และเราอาจได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
9 นอกจากนั้น พลับพลามีบริเวณที่เป็นลานด้วย โดยมีรั้วผ้าเต็นท์กั้นล้อมรอบ. ณ ลานแห่งนี้มีอ่างใบใหญ่ตั้งอยู่ ซึ่งปุโรหิตได้ใช้น้ำในอ่างล้างมือและเท้าก่อนเข้าไปในที่บริสุทธิ์. อนึ่ง พวกเขาต้องล้างชำระตัวก่อนถวายเครื่องบูชาบนแท่นซึ่งตั้งอยู่ในลาน. (เอ็กโซโด 30:18-21) ข้อเรียกร้องเรื่องความสะอาดนี้เป็นข้อเตือนใจอันหนักแน่นสำหรับผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวันนี้ว่า เขาต้องพยายามอย่างจริงจังที่จะบรรลุความสะอาดบริสุทธิ์ทางด้านร่างกาย, ทางศีลธรรม, ทางด้านความคิดจิตใจ, และฝ่ายวิญญาณ หากเขาปรารถนาจะให้พระเจ้ายอมรับการนมัสการของเขา. (2 โกรินโธ 7:1) ต่อมา พวกทาสซึ่งไม่ใช่ชาวยิศราเอลที่รับใช้ในพระวิหารเป็นฝ่ายหาฟืนสำหรับเผาเครื่องบูชาและตักน้ำใส่อ่างใหญ่นั้นด้วย.—ยะโฮซูอะ 9:27.
10. ได้มีการนำสิ่งของอะไรบ้างมาถวายบนแท่นบูชา?
10 เวลาเช้าและเวลาเย็นทุกวัน ลูกแกะตัวผู้จะถูกเผาบูชาบนแท่นพร้อมกับเครื่องบูชาธัญญาหารและเครื่องบูชาดื่ม. (เอ็กโซโด 29:38-41) ส่วนเครื่องบูชาประเภทอื่นจะถวายในวันพิเศษเฉพาะ. บางครั้งก็มีการถวายเครื่องบูชาเนื่องจากการทำบาปเฉพาะอย่าง. (เลวีติโก 5:5, 6) ในเวลาอื่นชาวยิศราเอลจะสมัครใจถวายเครื่องบูชาสมานไมตรี ซึ่งปุโรหิตจะรับประทานส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งผู้ถวายรับประทานเอง. ข้อนี้บ่งชี้ว่าคนบาปสามารถจะร่วมสันติกับพระเจ้าได้ประหนึ่งว่าร่วมรับประทานกับพระองค์. แม้แต่คนต่างด้าวที่อาศัยในแผ่นดินก็อาจกลายเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา และมีสิทธิพิเศษถวายเครื่องบูชาด้วยใจสมัครได้ ณ พลับพลาของพระองค์. แต่เพื่อเป็นการถวายเกียรติยศอันสมควรแด่พระยะโฮวา พวกปุโรหิตจะรับได้เฉพาะเครื่องบูชาที่มีคุณภาพเยี่ยมเท่านั้น. แป้งที่นำมาถวายเป็นเครื่องบูชาธัญญาหารต้องเป็นแป้งละเอียดอย่างดี และสัตว์สำหรับถวายบูชาต้องไม่มีตำหนิ.—เลวีติโก 2:1; 22:18-20; มาลาคี 1:6-8.
11. (ก) มีการทำอะไรกับเลือดสัตว์ที่นำมาถวายบูชา และการทำเช่นนี้ชี้ถึงอะไร? (ข) ทัศนะของพระเจ้าเป็นเช่นไรในเรื่องเลือดของมนุษย์และของสัตว์?
11 เลือดของสัตว์ที่เป็นเครื่องบูชายัญถูกนำไปที่แท่นบูชา. ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตือนใจชาตินี้ทุกวันเป็นประจำว่า พวกเขาเป็นคนบาป ต้องมีผู้ที่จะหลั่งโลหิตไถ่บาปของเขาและช่วยเขาพ้นความตายได้อย่างถาวร. (โรม 7:24, 25; ฆะลาเตีย 3:24; เทียบกับเฮ็บราย 10:3.) การใช้เลือดในทางศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ยังได้ย้ำเตือนชาวยิศราเอลอีกด้วยว่า เลือดหมายถึงชีวิตและชีวิตเป็นของพระเจ้า. พระเจ้าทรงห้ามเสมอมาถึงเรื่องการที่มนุษย์จะใช้เลือดเพื่อจุดประสงค์อื่นใด.—เยเนซิศ 9:4; เลวีติโก 17:10-12; กิจการ 15:28, 29.
วันไถ่โทษ
12, 13. (ก) วันไถ่โทษหมายถึงอะไร? (ข) ก่อนมหาปุโรหิตจะนำเลือดเข้าไปยังที่บริสุทธิ์ที่สุด เขาต้องทำอะไร?
12 ปีละครั้งเมื่อถึงวันไถ่โทษ ชาวยิศราเอลทั้งปวงรวมทั้งคนต่างด้าวในแผ่นดินซึ่งนมัสการพระยะโฮวาจะต้องหยุดการงานทุกอย่างและถือศีลอดอาหาร. (เลวีติโก 16:29, 30) ในวันสำคัญนี้ ชาตินี้ได้รับการชำระบาปโดยนัย เพื่อพวกเขาจะกลับคืนสู่สัมพันธภาพอันราบรื่นกับพระเจ้าต่อไปอีกปีหนึ่ง. ให้เราสร้างมโนภาพฉากเหตุการณ์นั้นและพิจารณาจุดเด่นบางประการ.
13 มหาปุโรหิตอยู่ในลานพลับพลา. เมื่อปุโรหิตล้างชำระตัวที่อ่างใหญ่นั้นแล้ว เขาฆ่าวัวตัวผู้ถวายเป็นเครื่องบูชา. เลือดโคนั้นเขาเทลงในชาม เลือดนั้นจะถูกนำไปใช้ในวิธีพิเศษเพื่อไถ่โทษบาปของพวกปุโรหิตตระกูลเลวี. (เลวีติโก 16:4, 6, 11) แต่ก่อนที่จะทำอะไรต่อไปกับเครื่องบูชา มีบางสิ่งที่มหาปุโรหิตต้องทำ. เขาเอาเครื่องหอม (คงจะใส่ในทัพพี) และเอาถ่านไฟจากแท่นบูชาใส่ลงไปในกระถางไฟ. ตอนนี้เขาเข้าไปในที่บริสุทธิ์และเดินไปยังม่านกั้นห้องบริสุทธิ์ที่สุด. เขาเดินอย่างช้า ๆ ผ่านม่านแล้วยืนตรงหน้าหีบแห่งคำสัญญา. ต่อจากนั้น ณ ที่ปลอดสายตามนุษย์คนอื่นใด มหาปุโรหิตเทเครื่องหอมลงบนถ่านไฟร้อน และกลิ่นควันหอมสดชื่นก็จะอบอวลไปทั่วห้องบริสุทธิ์ที่สุด.—เลวีติโก 16:12, 13.
14. ทำไมมหาปุโรหิตต้องเข้าไปยังที่บริสุทธิ์ที่สุดพร้อมด้วยเลือดสัตว์สองชนิดต่างกัน?
14 บัดนี้ พระเจ้าเต็มพระทัยจะสำแดงความเมตตาและระงับพระพิโรธโดยนัย. ด้วยเหตุนี้ ฝาหีบแห่งคำสัญญาไมตรีจึงมีชื่อว่า “พระที่นั่งแห่งพระกรุณา” หรือ “ฝาระงับพระพิโรธ.” (เฮ็บราย 9:5, ล.ม. เชิงอรรถ) มหาปุโรหิตออกไปจากห้องบริสุทธิ์ที่สุด นำเอาเลือดโค แล้วกลับเข้าไปในที่บริสุทธิ์ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง. ดังที่ระบุไว้ในพระบัญญัติ เขาจุ่มนิ้วมือในเลือดและประพรมเลือดข้างหน้าฝาหีบคำสัญญาไมตรีเจ็ดครั้ง. (เลวีติโก 16:14) ต่อจากนั้น เขาจะกลับไปที่ลานพลับพลาและฆ่าแพะซึ่งเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป “สำหรับคนทั้งปวง.” เขานำเอาเลือดแพะบางส่วนเข้าไปในที่บริสุทธิ์ที่สุด และทำอย่างเดียวกันกับที่เขาได้ทำกับเลือดโค. (เลวีติโก 16:15) นอกจากนี้ มีการรับใช้อื่น ๆ ที่สำคัญเช่นกันในวันไถ่โทษนั้น. อาทิ มหาปุโรหิตจะวางมือทั้งสองข้างบนหัวแพะตัวที่สองและลุแก่โทษ “การผิดการบาปทั้งปวงของพวกยิศราเอล.” ครั้นแล้วจะมีคนจูงแพะตัวนี้ที่มีชีวิตเข้าไปในป่า โดยนัยแล้วถือว่าเป็นการแบกเอาบาปของคนในชาติไป. โดยวิธีนี้ การไถ่โทษจึงได้กระทำกันทุกปีสำหรับ “พวกปุโรหิตและ . . . คนทั้งปวงนั้น.”—เลวีติโก 16:16, 21, 22, 33.
15. (ก) วิหารของซะโลโมคล้ายคลึงกันอย่างไรกับพลับพลา? (ข) พระธรรมเฮ็บรายกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับการปฏิบัติงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ ณ พลับพลาและที่พระวิหาร?
15 ตลอดเวลา 486 ปีแรกแห่งประวัติศาสตร์ของยิศราเอลฐานะเป็นไพร่พลที่มีคำสัญญาไมตรีกับพระเจ้า พลับพลาที่เคลื่อนย้ายได้ถูกใช้เป็นสถานที่นมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าของเขา. ต่อมา ซะโลโมแห่งชาติยิศราเอลได้รับสิทธิพิเศษให้ดำเนินการก่อสร้างสถานนมัสการที่แน่นหนาคงทน. แม้วิหารหลังนี้ใหญ่กว่า และตกแต่งประณีตกว่าก็ตาม แต่แบบแปลนที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมก็เป็นไปตามรูปแบบเดียวกันกับพลับพลา. วิหารหลังนี้ก็เช่นเดียวกันกับพลับพลา เป็นภาพเล็งถึงวิธีจัดเตรียมการนมัสการที่ใหญ่ยิ่งกว่า, มีประสิทธิผลมากกว่า ซึ่งพระยะโฮวาจะ “ทรงสร้าง ไม่ใช่มนุษย์สร้าง.”—เฮ็บราย 8:2, 5; 9:9, 11.
วิหารหลังแรกและหลังที่สอง
16. (ก) ในวาระการอุทิศพระวิหาร ซะโลโมได้ทูลขออะไรด้วยความรัก? (ข) พระยะโฮวาทรงสำแดงอย่างไรว่าพระองค์ตอบรับคำอธิษฐานของซะโลโมด้วยความพอพระทัย?
16 ในคราวที่อุทิศวิหารอันสง่างามนั้น ซะโลโมด้วยการดลใจได้รวมเอาคำทูลไว้ด้วยดังนี้: “ฝ่ายคนต่างประเทศที่ไม่ใช่ชาติยิศราเอลพลไพร่ของพระองค์ แต่ได้มาจากประเทศไกล, เพราะเห็นแก่พระนามอันประเสริฐของพระองค์, . . . ถ้าผู้นั้นจะเข้ามาอธิษฐานใน (“ตรงต่อพระนิเวศนี้,” ฉบับแปลใหม่) โบสถ์วิหารนี้; เมื่อนั้นขอพระองค์ทรงโปรดสดับฟังแต่สวรรค์ซึ่งเป็นที่สถิตของพระองค์ และกระทำตามที่ชนต่างประเทศจะทูลขอแต่พระองค์นั้นทุกประการ; เพื่อบรรดามนุษย์โลกจะได้รู้จักพระนามของพระองค์, และจะได้นับถือเกรงกลัวพระองค์เหมือนกับชาติยิศราเอลพลไพร่ของพระองค์, และจะได้รู้ว่าโบสถ์วิหารที่ข้าพเจ้าได้สร้างไว้นี้เป็นที่จารึกพระนามของพระองค์.” (2 โครนิกา 6:32, 33) ด้วยวิธีซึ่งจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ พระเจ้าได้ทรงสำแดงการตอบคำอธิษฐานการอุทิศของซะโลโม. ไฟได้ตกจากฟ้าสวรรค์ไหม้สัตว์ที่นำมาเป็นเครื่องบูชายัญบนแท่นนั้น และพระรัศมีของพระยะโฮวาได้แผ่คลุมเต็มพระวิหาร.—2 โครนิกา 7:1-3.
17. ในที่สุดเกิดอะไรขึ้นกับวิหารหลังที่ซะโลโมสร้าง และทำไม?
17 น่าเสียดาย ชาวยิศราเอลไม่มีความเคารพยำเกรงพระยะโฮวาอย่างสมควรอีกต่อไป. ต่อมา พวกเขาหมิ่นประมาทพระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ด้วยการทำให้โลหิตตก, การบูชารูปเคารพ, การเล่นชู้, การร่วมประเวณีระหว่างญาติใกล้ชิด, และด้วยการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อลูกกำพร้า, หญิงม่าย, และคนต่างด้าว. (ยะเอศเคล 22:2, 3, 7, 11, 12, 26, 29) ด้วยเหตุนี้ ในปี 607 ก่อนสากลศักราช พระเจ้าทรงสำเร็จโทษโดยการใช้กองทัพบาบูโลนทำลายพระวิหาร. ชาวยิศราเอลที่เหลือรอดก็ถูกกวาดเป็นเชลยในบาบูโลน.
18. ณ วิหารหลังที่สอง สิทธิพิเศษอะไรเปิดให้แก่ชายบางคนซึ่งไม่ใช่ชาวยิศราเอล ซึ่งสนับสนุนการนมัสการพระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจ?
18 หลังจาก 70 ปีที่ตกเป็นเชลย ชาวยิวพวกที่เหลือที่สำนึกผิดได้กลับไปยังกรุงยะรูซาเลม และรับมอบสิทธิพิเศษให้บูรณะพระวิหารของพระยะโฮวา. น่าสนใจ ตอนนั้นพวกปุโรหิตและคนตระกูลเลวีมีจำนวนน้อย ไม่พอทำหน้าที่ในพระวิหารหลังที่สอง. ผลก็คือ พวกนะธีนิม ลูกหลานพวกทาสที่ไม่ใช่ยิศราเอลซึ่งรับใช้ ณ พระวิหารได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้นฐานะผู้รับใช้ประจำพระวิหารของพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม พวกนะธีนิมไม่เคยได้มีฐานะตำแหน่งเท่าเทียมพวกปุโรหิตและชาวเลวี.—เอษรา 7:24; 8:17, 20.
19. พระเจ้าทรงทำสัญญาอะไรเกี่ยวด้วยวิหารหลังที่สอง และคำสัญญาของพระองค์เป็นจริงโดยวิธีใด?
19 ทีแรกดูเหมือนว่า วิหารหลังที่สองนี้ไม่อาจเทียบได้กับหลังแรก. (ฮาฆี 2:3) แต่พระยะโฮวาทรงสัญญาดังนี้: “เราจะเขย่าชาติทั้งปวง และสิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวงจะต้องเข้ามา; และเราจะทำให้นิเวศนี้เต็มไปด้วยสง่าราศี . . . สง่าราศีของนิเวศหลังใหม่นี้จะยิ่งกว่าหลังเดิม.” (ฮาฆี 2:7, 9, ล.ม.) จริงตามคำเหล่านี้ พระวิหารหลังที่สองยิ่งใหญ่ด้วยสง่าราศีมากกว่า. พระวิหารหลังที่สองยั่งยืนกว่าวิหารหลังแรก 164 ปี และจำนวนผู้นมัสการที่หลั่งไหลมายังลานพระวิหารก็มากกว่า และมาจากที่ต่าง ๆ หลายดินแดนมากกว่า. (เทียบกับกิจการ 2:5-11.) การซ่อมแต่งวิหารหลังที่สองเริ่มขึ้นสมัยกษัตริย์เฮโรด และมีการขยายลานวิหารออกกว้างใหญ่กว่าเดิม. มีการยกลานบนฐานหินแผ่นมหึมา และรอบบริเวณก็เรียงรายด้วยเสาระเบียงอันวิจิตรงดงาม ความโอ่อ่าใหญ่โตก็ทัดเทียมกับวิหารหลังเดิมที่ซะโลโมได้สร้าง. วิหารนี้รวมไปถึงลานวิหารใหญ่ชั้นนอกสำหรับประชาชาติจากที่ต่าง ๆ ซึ่งต้องการนมัสการพระยะโฮวา. ลานชั้นนอกอันเป็นที่กำหนดไว้สำหรับคนต่างชาตินั้นก็มีกำแพงหินกั้นแยกไว้จากลานวิหารชั้นในซึ่งสงวนไว้เฉพาะชาวยิศราเอลเท่านั้น.
20. (ก) อะไรทำให้วิหารที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาอีกมีลักษณะโดดเด่น? (ข) อะไรแสดงว่าทัศนะของพวกยิวที่มีต่อพระวิหารนั้นไม่ถูกต้อง และพระเยซูทรงทำประการใดในการตอบสนองท่าทีเช่นนั้น?
20 วิหารหลังที่สองมีลักษณะพิเศษ เนื่องจากพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าทรงสั่งสอนภายในลานวิหารนั้น. แต่เช่นเดียวกับวิหารหลังแรก ชาวยิวทั่วไปหาได้มีทัศนะที่ถูกต้องไม่ต่อสิทธิพิเศษของตนฐานะผู้ดูแลรักษาวิหารของพระเจ้า. พวกเขาถึงกับยอมให้พวกพ่อค้าทำธุรกิจที่ลานวิหารซึ่งกำหนดไว้สำหรับคนต่างชาติด้วยซ้ำไป. ยิ่งกว่านั้น เขายังได้ปล่อยให้ประชาชนขนของผ่านลานวิหารประหนึ่งเป็นทางลัดไปอีกด้านหนึ่งของนครยะรูซาเลม. สี่วันก่อนพระเยซูสิ้นพระชนม์ พระองค์ได้ชำระพระวิหารจากการใช้สำหรับกิจปฏิบัติทางโลกดังกล่าว ขณะที่พระองค์ตรัสว่า “มีคำเขียนไว้มิใช่หรือว่า, โบสถ์ของเราเขาจะเรียกว่าเป็นที่อธิษฐานสำหรับคนทุกประเทศ, แต่เจ้าทั้งหลายมากระทำให้เป็นถ้ำของพวกโจร.”—มาระโก 11:15-17.
พระเจ้าทรงละทิ้งพระวิหารของพระองค์ทางแผ่นดินโลกชั่วกาลนาน
21. พระเยซูทรงบ่งชี้ไว้อย่างไรในเรื่องพระวิหาร ณ กรุงยะรูซาเลม?
21 เนื่องจากการกระทำอันกล้าหาญของพระเยซูเพื่อเชิดชูการนมัสการที่สะอาดบริสุทธิ์ของพระเจ้า พวกผู้นำศาสนายิวจึงมุ่งมั่นจะสังหารพระองค์. (มาระโก 11:18) ครั้นทราบว่าจะถูกปลงพระชนม์ในไม่ช้า พระเยซูได้ตรัสแก่พวกผู้นำศาสนายิวดังนี้: “เรือนของเจ้าก็ถูกปล่อยไว้ให้ร้างตามลำพังเจ้า.” (มัดธาย 23:37, 38) โดยการตรัสเช่นนั้น พระองค์บ่งชี้ว่า ในไม่ช้า พระเจ้าจะไม่รับรองรูปแบบการนมัสการที่เคยปฏิบัติกัน ณ วิหารที่สร้างด้วยวัตถุในยะรูซาเลมอีกต่อไป. วิหารหลังนั้นไม่ได้เป็น “ที่อธิษฐานสำหรับคนทุกประเทศ” อีกต่อไป. เมื่อเหล่าสาวกของพระองค์กล่าวอ้างถึงวิหารหลังใหญ่อันงามสง่านั้น พระองค์ตรัสว่า “สิ่งสารพัตรเหล่านี้พวกท่านเห็นแล้วมิใช่หรือ . . . ศิลาที่ซ้อนทับกันอยู่ที่นี่ซึ่งจะไม่ถูกทำลายลงก็หามิได้.”—มัดธาย 24:1, 2.
22. (ก) คำตรัสของพระเยซูว่าด้วยพระวิหารได้สำเร็จเป็นจริงอย่างไร? (ข) แทนที่จะฝากความหวังไว้กับนครทางแผ่นดินโลก คริสเตียนสมัยแรกมุ่งแสวงสิ่งใด?
22 คำพยากรณ์ของพระเยซูสำเร็จเป็นจริงในเวลา 37 ปีต่อมา คือปีสากลศักราช 70 เมื่อกองทัพโรมันได้ทำลายกรุงยะรูซาเลมพร้อมทั้งวิหารประจำกรุง. เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นข้อพิสูจน์เด่นชัดว่าจริง ๆ แล้วพระเจ้าทรงละทิ้งวิหารของพระองค์ที่เป็นแบบอย่าง. พระเยซูไม่เคยพยากรณ์ไว้เลยถึงการสร้างวิหารขึ้นอีกหลังหนึ่งในกรุงกรุงยะรูซาเลม. เกี่ยวกับกรุงนี้บนแผ่นดินโลก อัครสาวกเปาโลได้เขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูดังนี้: “ที่นี่เราไม่มีเมืองที่ถาวร, แต่ว่าเราแสวงหาเมืองที่จะมาเบื้องหน้านั้น.” (เฮ็บราย 13:14) คริสเตียนสมัยแรกคอยท่าจะได้เป็นส่วนของ “ยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์” ราชอาณาจักรของพระเจ้าอันเปรียบได้กับนคร. (เฮ็บราย 12:22, ล.ม.) ดังนั้น การนมัสการพระยะโฮวาที่แท้จริงไม่รวมจุดอยู่ที่พระวิหารที่สร้างด้วยวัตถุบนแผ่นดินโลกอีกต่อไป. ในบทความต่อจากนี้ เราจะพิจารณาเรื่องวิธีการจัดเตรียมอันดีเลิศของพระเจ้าเพื่อทุกคนที่ต้องการนมัสการพระองค์ “ด้วยวิญญาณและความจริง.”—โยฮัน 4:21, 24, ล.ม.
คำถามทบทวน
▫ สัมพันธภาพชนิดใดกับพระเจ้าซึ่งอาดามและฮาวาทำให้เสื่อมสิ้นไป?
▫ ทำไมลักษณะต่าง ๆ ของพลับพลาจึงเป็นสิ่งที่เราควรสนใจ?
▫ เราเรียนรู้อะไรจากกิจกรรมต่าง ๆ ในลานพลับพลา?
▫ ทำไมพระเจ้าทรงยอมให้พระวิหารของพระองค์ถูกทำลาย?
[รูปภาพหน้า 10, 11]
พระวิหารที่บูรณะขึ้นใหม่โดยเฮโรด
1. ที่บริสุทธิ์ที่สุด
2. ที่บริสุทธิ์
3. แท่นสำหรับเครื่องบูชาเผา
4. ทะเลหล่อ
5. ลานปุโรหิต
6. ลานชาวยิศราเอล
7. ลานสำหรับพวกผู้หญิง