พระธรรมเล่มที่ 3—เลวีติโก
ผู้เขียน: โมเซ
สถานที่เขียน: ถิ่นทุรกันดาร
เขียนเสร็จ: 1512 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: 1 เดือน (1512 ก.ส.ศ.)
1. (ก) ทำไมชื่อ “เลวีติโก” จึงเหมาะสม? (ข) พระธรรมเลวีติโกยังมีชื่ออื่น ๆ อะไรอีก?
ชื่อที่รู้จักกันทั่วไปสำหรับพระธรรมเล่มที่สามของคัมภีร์ไบเบิลคือเลวีติโก ซึ่งมาจากคำเลฟวิติโกนʹ ในฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ โดยทางคำ “เลวีติคุส” ในฉบับลาตินวัลเกต. ชื่อนี้นับว่าเหมาะ แม้จะมีการกล่าวถึงพวกเลวีเพียงเล็กน้อยก็ตาม (ที่ 25:32, 33) เพราะพระธรรมนี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้อกำหนดต่าง ๆ ของคณะปุโรหิตชาวเลวีซึ่งถูกเลือกจากตระกูลเลวี รวมทั้งกฎหมายต่าง ๆ ที่ให้ปุโรหิตสอนประชาชน: “ด้วยว่าริมฝีปากของปุโรหิตจะต้องสงวนไว้สำหรับความรู้, เพราะคนทั้งหลายจำต้องแสวงหาคำสอนจากปากของเขา.” (มลคี. 2:7) ในข้อความภาษาฮีบรู พระธรรมนี้ได้ชื่อจากคำขึ้นต้น ไวยิคราʹ ตามตัวอักษร “พระองค์ทรงเรียก.” พวกยิวสมัยต่อมาก็เรียกพระธรรมนี้ว่า พระบัญญัติสำหรับปุโรหิตและพระบัญญัติเรื่องการถวายเครื่องบูชา.—เลวี. 1:1, ฉบับแปลโลกใหม่พร้อมด้วยข้ออ้างอิง, เชิงอรรถ.
2. หลักฐานอะไรสนับสนุนว่าโมเซเป็นผู้เขียน?
2 ไม่มีข้อสงสัยว่าโมเซเขียนเลวีติโก. ตอนสรุปหรือบันทึกลงท้ายกล่าวว่า “นี่แหละเป็นบัญญัติทั้งหลายที่พระยะโฮวาได้ตรัสสั่งแก่โมเซ.” (27:34) ข้อความคล้ายคลึงกันมีอยู่ที่เลวีติโก 26:46. หลักฐานที่ชี้แจงก่อนหน้านี้ซึ่งพิสูจน์ว่าโมเซเขียนเยเนซิศและเอ็กโซโดก็สนับสนุนว่าท่านเป็นผู้เขียนเลวีติโกด้วย เพราะปรากฏชัดว่าแต่เดิมนั้นเพนทาทุกเป็นม้วนเดียว. ยิ่งกว่านั้น มีการเชื่อมโยงเลวีติโกกับพระธรรมเล่มก่อน ๆ ด้วยคำเชื่อม “และ.” พยานหลักฐานที่หนักแน่นที่สุดคือ พระเยซูคริสต์และผู้รับใช้คนอื่น ๆ ที่ได้รับการดลใจจากพระยะโฮวายกมากล่าวหรืออ้างถึงกฎหมายและหลักการในเลวีติโกบ่อย ๆ และถือว่าโมเซเป็นผู้เขียน.—เลวี. 23:34, 40-43—นเฮม. 8:14, 15; เลวี. 14:1-32—มัด. 8:2-4; เลวี. 12:2—ลูกา 2:22; เลวี. 12:3—โย. 7:22; เลวี. 18:5—โรม 10:5.
3. เลวีติโกครอบคลุมช่วงเวลาไหน?
3 เลวีติโกครอบคลุมระยะเวลาไหน? พระธรรมเอ็กโซโดลงท้ายด้วยการตั้งพลับพลาขึ้น “ในปีที่สองเดือนต้นขึ้นค่ำหนึ่ง [“วันที่หนึ่ง,” ล.ม.].” พระธรรมอาฤธโม (ซึ่งต่อจากบันทึกเรื่องราวในเลวีติโกทันที) เริ่มด้วยการที่พระยะโฮวาตรัสกับโมเซ “ณ วันที่หนึ่งเดือนสองปีที่สอง, ตั้งแต่เขาทั้งหลายได้ออกจากประเทศเมืองอายฆุบโต.” ดังนั้น เวลาคงผ่านไปไม่เกินหนึ่งเดือนตามจันทรคติสำหรับเหตุการณ์ไม่กี่อย่างในเลวีติโก ซึ่งพระธรรมนี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ.—เอ็ก. 40:17; อาฤ. 1:1; เลวี. 8:1–10:7; 24:10-23.
4. มีการเขียนพระธรรมเลวีติโกเมื่อไร?
4 โมเซเขียนเลวีติโกเมื่อไร? มีเหตุผลที่จะลงความเห็นว่า ท่านคงบันทึกเหตุการณ์ขณะที่เกิดขึ้นและจดพระบัญชาของพระเจ้าขณะที่ท่านได้รับ. เรื่องนี้เห็นได้จากพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้โมเซเขียนถึงความพินาศของพวกอะมาเลคทันทีหลังจากชาวยิศราเอลเอาชนะเขาในการสงคราม. นอกจากนั้น เหตุการณ์บางอย่างในพระธรรมนี้ก็ทำให้พอทราบวันที่เขียน. ยกตัวอย่าง ชาวยิศราเอลได้รับคำสั่งให้นำสัตว์ที่พวกเขาต้องการใช้เป็นอาหารไปยังทางเข้าพลับพลาประชุมเพื่อฆ่า. คำสั่งนี้คงมีออกมาและได้รับการบันทึกไม่นานหลังจากการแต่งตั้งคณะปุโรหิต. มีการให้คำสั่งหลายประการไว้เพื่อชี้นำชาวยิศราเอลระหว่างการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร. ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าโมเซเขียนเลวีติโกในปี 1512 ก.ส.ศ.—เอ็ก. 17:14; เลวี. 17:3, 4; 26:46.
5. กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องบูชาและความไม่สะอาดทางพิธีกรรมมีวัตถุประสงค์อะไร?
5 ทำไมจึงมีการเขียนเลวีติโก? พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้มีชาติบริสุทธิ์ ประชาชนที่จัดไว้ต่างหากสำหรับการรับใช้พระองค์. ตั้งแต่สมัยเฮเบล ผู้ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าได้ถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา แต่เป็นครั้งแรกกับชาติยิศราเอลที่พระยะโฮวาทรงประทานพระบัญชาชัดแจ้งในเรื่องเครื่องบูชาไถ่บาปและเครื่องบูชาอื่น ๆ. ดังที่อธิบายละเอียดในเลวีติโก เครื่องบูชาเหล่านั้นทำให้ชาวยิศราเอลรู้ถึงความร้ายแรงของบาปและย้ำในใจพวกเขาในเรื่องที่ว่า บาปทำให้พวกเขาไม่เป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวาแค่ไหน. ข้อกำหนดเหล่านี้ซึ่งเป็นส่วนของพระบัญญัติจึงเป็นครูสอนซึ่งนำชาวยิวไปถึงพระคริสต์ แสดงให้พวกเขาเห็นความจำเป็นต้องมีผู้ช่วยให้รอด และในเวลาเดียวกันก็ช่วยรักษาพวกเขาไว้เป็นชาติที่แยกต่างหากจากคนอื่น ๆ ในโลก. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายของพระเจ้าเรื่องความสะอาดทางพิธีกรรมเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ประการหลัง.—เลวี. 11:44; ฆลา. 3:19-25.
6. ทำไมข้อชี้แนะโดยละเอียดจากพระยะโฮวาจึงจำเป็นอย่างยิ่งในตอนนี้?
6 ขณะที่ชนชาติใหม่เดินทางมุ่งสู่ดินแดนใหม่ ชาวยิศราเอลจำเป็นต้องได้รับการชี้นำที่เหมาะสม. ยังไม่ถึงหนึ่งปีที่พวกเขาอพยพ และมาตรฐานการดำเนินชีวิตแบบอียิปต์รวมทั้งกิจปฏิบัติทางศาสนาในอียิปต์ยังแจ่มชัดในความคิดพวกเขา. การสมรสระหว่างพี่ชายน้องสาวเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันในอียิปต์. การนมัสการเท็จมีการปฏิบัติเพื่อให้เกียรติพระหลายองค์ ซึ่งบางองค์เป็นสัตว์. ตอนนี้ชนกลุ่มใหญ่กำลังมุ่งสู่คะนาอัน ที่ที่ชีวิตและกิจปฏิบัติทางศาสนาเสื่อมทรามกว่าด้วยซ้ำ. แต่ขอให้ดูที่ค่ายชาวยิศราเอลอีกครั้ง. ที่เพิ่มเข้ากับกลุ่มชนนี้มีจำนวนไม่น้อยเป็นชาวอียิปต์แท้ ๆ หรือไม่ก็เป็นลูกผสมชาวอียิปต์ ฝูงชนที่ปะปนกันซึ่งอยู่ท่ามกลางชาวยิศราเอลและเป็นผู้ที่เกิดจากบิดามารดาชาวอียิปต์อีกทั้งได้รับการเลี้ยงดูและรับการศึกษาในแนวทาง, ในศาสนา, และในลัทธิรักชาติของชาวอียิปต์. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลายคนเคยพัวพันกับกิจปฏิบัติน่ารังเกียจในบ้านเกิดของตนไม่นานก่อนหน้านั้น. นับว่าจำเป็นจริง ๆ ที่บัดนี้พวกเขาต้องได้รับข้อชี้แนะที่ละเอียดจากพระยะโฮวา!
7. โดยวิธีใดที่ข้อกำหนดในเลวีติโกบ่งชี้ว่าพระเจ้าเป็นผู้ประพันธ์?
7 พระธรรมเลวีติโกมีสิ่งบ่งชี้ถึงการดลใจจากพระเจ้าตลอดเล่ม. มนุษย์ไม่สามารถออกกฎหมายและข้อกำหนดที่ยุติธรรมและเปี่ยมด้วยสติปัญญาเช่นนั้นได้. ข้อกำหนดเรื่องอาหาร, โรคภัย, การกักโรค, และการปฏิบัติต่อศพเผยให้เห็นความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คนในแวดวงแพทย์ฝ่ายโลกไม่เข้าใจจนอีกหลายพันปีให้หลัง. กฎหมายของพระเจ้าเกี่ยวกับสัตว์ที่ไม่สะอาดสำหรับรับประทานคงป้องกันชาวยิศราเอลไว้ขณะที่พวกเขาเดินทาง. กฎหมายเหล่านั้นคงป้องกันพวกเขาไว้จากโรคพยาธิตัวกลมจากหมู, ไทฟอยด์และพาราไทฟอยด์จากปลาบางชนิด, และการติดเชื้อจากสัตว์ที่พบเมื่อตายแล้ว. กฎหมายที่ใช้ได้ผลจริงเหล่านี้ชี้นำศาสนาและชีวิตของพวกเขาเพื่อว่าพวกเขาจะคงไว้ซึ่งการเป็นชาติบริสุทธิ์และไปถึงแล้วอาศัยในแผ่นดินแห่งคำสัญญา. ประวัติศาสตร์แสดงว่า ข้อกำหนดที่พระยะโฮวาประทานนั้นทำให้ชาวยิวได้เปรียบกว่าชาติอื่น ๆ แน่นอนในเรื่องสุขภาพ.
8. เนื้อเรื่องเชิงพยากรณ์ในเลวีติโกพิสูจน์เพิ่มเติมอย่างไรในเรื่องการดลใจ?
8 ความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำพยากรณ์และแบบอย่างต่าง ๆ ในเลวีติโกเป็นข้อพิสูจน์ถึงการดลใจอีกด้วย. ประวัติศาสตร์ทั้งในพระคัมภีร์และของทางโลกบันทึกความสำเร็จเป็นจริงของคำเตือนในเลวีติโกเกี่ยวกับผลของการไม่เชื่อฟัง. ยกตัวอย่าง เลวีติโกพยากรณ์ว่า แม่จะกินลูกของตนเพราะความอดอยาก. ยิระมะยาระบุว่าเรื่องนี้สำเร็จเป็นจริงในคราวการทำลายกรุงยะรูซาเลมเมื่อปี 607 ก.ส.ศ. และโยเซฟุสบอกว่าเรื่องนั้นเกิดขึ้นที่กรุงนี้ในคราวการพินาศครั้งหลังในปีส.ศ. 70. คำสัญญาเชิงพยากรณ์ที่ว่า พระยะโฮวาจะทรงระลึกถึงพวกเขาถ้าเขากลับใจก็สำเร็จเป็นจริงในคราวที่พวกเขากลับจากบาบูโลนในปี 537 ก.ส.ศ. (เลวี. 26:29, 41-45; ทุกข์. 2:20; 4:10; เอษรา 1:1-6) สิ่งอื่น ๆ อีกที่ยืนยันว่าเลวีติโกมีขึ้นโดยการดลใจคือ การที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ ยกข้อความจากเลวีติโกไปกล่าวฐานะเป็นพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ. นอกจากคำชี้แจงก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าโมเซเป็นผู้เขียน โปรดดูมัดธาย 5:38; 12:4; 2 โกรินโธ 6:16; และ 1 เปโตร 1:16.
9. เลวีติโกยกย่องพระนามและความบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาอย่างไร?
9 พระธรรมเลวีติโกยกย่องพระนามและพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย. ไม่น้อยกว่า 36 ครั้งที่มีบอกว่ากฎหมายต่าง ๆ ในพระธรรมนี้มาจากพระยะโฮวา. พระนามยะโฮวาเองปรากฏโดยเฉลี่ยสิบครั้งในแต่ละบท และครั้งแล้วครั้งเล่าที่มีการพร่ำสอนการเชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวาด้วยข้อเตือนใจที่ว่า “เราคือยะโฮวา.” สาระสำคัญเรื่องความบริสุทธิ์ มีอยู่ตลอดพระธรรมเลวีติโก ซึ่งกล่าวถึงข้อเรียกร้องนี้บ่อยครั้งยิ่งกว่าพระธรรมอื่นใดในคัมภีร์ไบเบิล. ชาวยิศราเอลต้องบริสุทธิ์เพราะพระยะโฮวาเป็นองค์บริสุทธิ์. บางคน, บางสถานที่, บางสิ่ง, และบางระยะเวลาถูกจัดไว้ต่างหากให้เป็นบริสุทธิ์. ยกตัวอย่าง วันบูชาไถ่โทษและปีจูบีลีถูกจัดไว้ต่างหากให้เป็นช่วงเวลาแห่งการถือปฏิบัติเป็นพิเศษในการนมัสการพระยะโฮวา.
10. มีการเน้นเรื่องอะไรเกี่ยวกับเครื่องบูชา และการลงโทษอะไรบ้างสำหรับบาปที่มีการบันทึกไว้?
10 สอดคล้องกับการเน้นเรื่องความบริสุทธิ์ พระธรรมเลวีติโกเน้นบทบาทที่การหลั่งเลือด ซึ่งก็คือการสละชีวิต มีในการอภัยบาป. สัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชาต้องเป็นสัตว์เลี้ยงที่สะอาดเท่านั้น. สำหรับบาปบางอย่าง นอกจากการถวายเครื่องบูชา ยังมีการเรียกร้องให้สารภาพ, คืนสิ่งของ, และเสียค่าปรับ. สำหรับบาปบางชนิด โทษคือความตาย.
เนื้อเรื่องในเลวีติโก
11. เลวีติโกมีโครงเรื่องอย่างไร?
11 เลวีติโกประกอบด้วยข้อความทางกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหลายตอนเป็นในเชิงพยากรณ์ด้วย. ส่วนใหญ่แล้วพระธรรมนี้ดำเนินเรื่องตามหัวข้อและอาจแบ่งได้เป็นแปดตอนที่ต่อเนื่องกันตามเหตุผล.
12. เครื่องบูชาที่มีเลือดมีอะไรบ้าง และจะต้องถวายอย่างไร?
12 ข้อกำหนดเรื่องเครื่องบูชา (1:1–7:38). เครื่องบูชาต่าง ๆ แบ่งเป็นสองหมวดอย่างกว้าง ๆ คือ ที่มีเลือด ประกอบด้วยวัว, แกะ, แพะ, และนก; และที่ไม่มีเลือด ประกอบด้วยธัญชาติ. เครื่องบูชาที่มีเลือด จะต้องถวายเป็นเครื่องบูชา (1) เผา (2) สมานไมตรี (3) ไถ่บาป หรือ (4) ไถ่ความผิด. ทั้งสี่อย่างมีข้อเหมือนกันสามประการคือ ผู้ถวายต้องนำมาเองตรงทางเข้าพลับพลาประชุม, เขาต้องวางมือบนเครื่องบูชา, และสัตว์จะถูกฆ่าหลังจากนั้น. หลังจากการพรมเลือด ซากสัตว์จะต้องถูกกำจัดตามชนิดของเครื่องบูชา. ทีนี้ให้เรามาพิจารณาเครื่องบูชาที่มีเลือด ทีละอย่าง.
13-16. (ก) จงบอกคร่าว ๆ ถึงข้อกำหนดสำหรับ (1) เครื่องบูชาเผา (2) เครื่องบูชาสมานไมตรี (3) เครื่องบูชาไถ่บาป และ (4) เครื่องบูชาไถ่ความผิด. (ข) เกี่ยวข้องกับเครื่องบูชาที่มีเลือด มีการห้ามเรื่องอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีก?
13 (1) เครื่องบูชาเผาอาจประกอบด้วยลูกวัว, ลูกแกะ, ลูกแพะตัวผู้, หรือนกเขาหรือนกพิราบ ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ถวาย. สัตว์จะถูกตัดเป็นชิ้น ๆ แล้วเผาบนแท่นบูชาทั้งหมดยกเว้นหนัง. ในกรณีของนกพิราบหรือนกเขาต้องฉีกคอแต่ไม่ให้ขาดจากกัน และต้องเอากระเพาะข้าวกับขนออก.—1:1-7; 6:8-13; 5:8.
14 (2) เครื่องบูชาสมานไมตรีจะใช้วัวหรือแกะแพะจากฝูง ตัวผู้หรือตัวเมียก็ได้. เฉพาะส่วนไขมันจะเผาบนแท่นบูชา ส่วนอื่นบางส่วนจะให้กับปุโรหิต และผู้ถวายจะรับประทานส่วนที่เหลือ. เหมาะสมที่เรียกว่าเครื่องบูชาสมานไมตรี เพราะผู้ถวายเสมือนมีส่วนรับประทานหรือสมานไมตรีกับพระยะโฮวาและกับปุโรหิต.—3:1-17; 7:11-36.
15 (3) เครื่องบูชาไถ่บาปกำหนดไว้สำหรับบาปที่ทำไปโดยไม่เจตนาหรือบาปที่ทำโดยพลั้งพลาด. ชนิดของสัตว์ที่ถวายขึ้นอยู่กับว่าจะไถ่บาปให้ใคร—จะเป็นบาปของปุโรหิต, ของประชาชนทั้งหมด, ของหัวหน้าตระกูล, หรือของบุคคลธรรมดา. ไม่เหมือนกับเครื่องบูชาเผาและเครื่องบูชาสมานไมตรีสำหรับคนหนึ่งคนใดที่ถวายโดยสมัครใจ การถวายเครื่องบูชาไถ่บาปเป็นข้อบังคับ.—4:1-35; 6:24-30.
16 (4) เครื่องบูชาไถ่ความผิดกำหนดไว้เพื่อไถ่ถอนความผิดส่วนตัวเนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์, การล่อลวง, หรือการขโมย. ในบางกรณี ต้องมีการสารภาพความผิดและเครื่องบูชาก็แล้วแต่ฐานะคนนั้น. ในกรณีอื่น ๆ ให้ชดใช้เท่ากับสิ่งที่สูญเสียบวกอีก 20 เปอร์เซ็นต์ และต้องถวายแพะผู้เป็นเครื่องบูชา. ส่วนนี้ของเลวีติโกซึ่งเกี่ยวข้องกับเครื่องบูชา มีการห้ามอย่างเด็ดขาดและครั้งแล้วครั้งเล่าในเรื่องการรับประทานเลือด.—5:1–6:7; 7:1-7, 26, 27; 3:17.
17. จะถวายเครื่องบูชาที่ไม่มีเลือดอย่างไร?
17 เครื่องบูชาที่ไม่มีเลือด ต้องประกอบด้วยธัญชาติและจะต้องถวายในลักษณะปิ้ง, บด, หรือเป็นแป้งละเอียด; และต้องเตรียมธัญชาติเหล่านั้นด้วยวิธีต่าง ๆ กัน เช่น อบ, ปิ้งบนตะแกรง, หรือทอดในน้ำมัน. ต้องถวายเครื่องบูชาเหล่านี้พร้อมกับเกลือและน้ำมัน และบางครั้งกับกำยาน แต่ทั้งหมดต้องไม่มีเชื้อหรือน้ำผึ้ง. ส่วนหนึ่งของเครื่องบูชาบางชนิดจะเป็นของปุโรหิต.—2:1-16.
18. การแต่งตั้งคณะปุโรหิตถึงขั้นสุดยอดด้วยปรากฏการณ์อะไรที่เสริมความเชื่อ?
18 การแต่งตั้งคณะปุโรหิต (8:1–10:20). บัดนี้ถึงเวลาสำหรับวาระสำคัญยิ่งในยิศราเอล คือการแต่งตั้งคณะปุโรหิต. โมเซดำเนินการตามรายละเอียดทั้งหมดที่พระยะโฮวาทรงบัญชาท่าน. “อาโรนและบุตรชายทั้งหลายของอาโรนได้ทำตามคำที่พระยะโฮวาตรัสสั่งแก่โมเซนั้น.” (8:36) หลังจากเจ็ดวันแห่งการแต่งตั้ง เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์และเสริมความเชื่อ. ทุกคนอยู่ ณ ที่ประชุม. ปุโรหิตเพิ่งถวายเครื่องบูชาเสร็จ. อาโรนและโมเซได้อวยพรประชาชน. และดูแน่ะ! “รัศมีพระยะโฮวาจึงปรากฏแก่คนทั้งปวง. และเปลวไฟมาจากพระยะโฮวาเผาไหม้เครื่องบูชาและมันที่อยู่บนแท่นหมดสิ้น, ครั้นคนทั้งปวงเห็นดังนั้นเขาก็โห่ร้องขึ้น, แล้วซบหน้าลงที่ดิน.” (9:23, 24) จริงทีเดียว พระยะโฮวาคู่ควรแก่การเชื่อฟังและการนมัสการของพวกเขา!
19. เกิดการละเมิดอะไรขึ้น และติดตามด้วยอะไร?
19 กระนั้น มีการละเมิดพระบัญญัติ. ยกตัวอย่าง บุตรชายของอาโรนคือนาดาบและอะบีฮูถวายไฟที่ไม่ถูกต้องแด่พระยะโฮวา. “และมีไฟออกมาจากพระยะโฮวา, เผาเอาสองคนนั้นให้ตายต่อพระพักตร์พระยะโฮวา.” (10:2) เพื่อจะถวายเครื่องบูชาที่ถูกต้องและได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวา ประชาชนและปุโรหิตด้วยต้องปฏิบัติตามพระบัญชาของพระยะโฮวา. ทันทีหลังจากเหตุการณ์นี้ พระเจ้าทรงบัญชาว่า ปุโรหิตต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะรับใช้ที่พลับพลา ซึ่งบ่งนัยว่าความมึนเมาอาจมีส่วนเสริมให้บุตรชายสองคนของอาโรนทำผิด.
20, 21. ข้อกำหนดอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับความสะอาด และสุขอนามัยที่ถูกต้อง?
20 กฎหมายเรื่องความสะอาด (11:1–15:33). ส่วนนี้เกี่ยวข้องกับความสะอาดทางพิธีกรรมและด้านสุขอนามัย. สัตว์บางชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เป็นสัตว์ไม่สะอาด. ซากศพทุกชนิดไม่สะอาดและเป็นเหตุให้คนที่แตะต้องเป็นมลทิน. การคลอดบุตรก็ทำให้ไม่สะอาดเช่นกันและเรียกร้องให้แยกตัวอยู่ต่างหากและให้ถวายเครื่องบูชาพิเศษ.
21 โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคเรื้อน ก็ทำให้ผู้คนไม่สะอาดทางพิธีกรรมเช่นกัน และจะต้องทำให้สะอาดไม่เพียงตัวบุคคลแต่กระทั่งเสื้อผ้าและที่อาศัยด้วย. ต้องมีการกักโรค. การมีระดูและการหลั่งน้ำอสุจิยังผลให้เป็นมลทิน การมีหนองไหลก็เช่นกัน. กรณีเหล่านี้ต้องให้แยกอยู่ต่างหาก และเมื่อหายจะต้องชำระร่างกายหรือถวายเครื่องบูชาหรือทั้งสองอย่าง.
22. (ก) เหตุใดบท 16 จึงโดดเด่น? (ข) ขั้นตอนดำเนินการในวันบูชาไถ่โทษเป็นอย่างไร?
22 วันบูชาไถ่โทษ (16:1-34). บทนี้เด่นเพราะมีบันทึกคำสั่งสำหรับวันสำคัญที่สุดของชาติยิศราเอล คือวันบูชาไถ่โทษ ซึ่งตกในวันที่สิบเดือนเจ็ด. เป็นวันทรมานจิตวิญญาณ (คงหมายถึงการอดอาหาร) และในวันนั้นไม่อนุญาตให้ทำงานอาชีพใด ๆ. วันนี้เริ่มด้วยการถวายลูกวัวสำหรับบาปของอาโรนและครัวเรือนของท่านคือตระกูลเลวี ตามด้วยการถวายแพะเพื่อคนอื่น ๆ ในชาติ. หลังจากการเผาเครื่องหอม ส่วนหนึ่งของเลือดสัตว์แต่ละชนิดจะถูกนำเข้าสู่ห้องบริสุทธิ์ที่สุดของพลับพลาทีละอย่างเพื่อพรมตรงฝาหีบสัญญาไมตรี. จากนั้น ซากสัตว์จะต้องนำไปนอกค่ายและเผา. ในวันนั้น แพะเป็น ๆ ตัวหนึ่งจะถูกถวายแด่พระยะโฮวาเช่นกัน และจะประกาศบาปทั้งปวงของประชาชนต่อแพะตัวนั้น แล้วจึงนำไปปล่อยในถิ่นทุรกันดาร. ครั้นแล้ว ต้องถวายแกะตัวผู้สองตัวเป็นเครื่องบูชาเผา. ตัวหนึ่งสำหรับอาโรนกับครัวเรือนและอีกตัวหนึ่งสำหรับคนอื่น ๆ ในชาติ.
23. (ก) เราพบข้อความเกี่ยวกับเรื่องเลือดที่ชัดเจนที่สุดตอนหนึ่งที่ไหนในคัมภีร์ไบเบิล? (ข) มีข้อกำหนดอะไรอีกที่ตามมา?
23 ข้อบังคับเรื่องเลือดและอื่น ๆ (17:1–20:27). ส่วนนี้แสดงถึงข้อบังคับหลายประการสำหรับประชาชน. อีกครั้งหนึ่งเลือดถูกสั่งห้ามด้วยข้อความหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับเรื่องเลือดเท่าที่มีในพระคัมภีร์. (17:10-14) จะใช้เลือดอย่างถูกต้องได้บนแท่น แต่ไม่ใช่สำหรับกิน. มีคำสั่งห้ามการกระทำที่น่ารังเกียจ เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับญาติใกล้ชิด, การรักร่วมเพศ, และการสังวาสกับสัตว์. มีข้อกำหนดเพื่อปกป้องคนยากจน, คนต่ำต้อย, และคนต่างด้าว, รวมทั้งมีพระบัญชาว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง; เราเป็นยะโฮวา.” (19:18) สวัสดิภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของชาติได้รับการคุ้มครอง และอันตรายทางฝ่ายวิญญาณ เช่น การนมัสการโมเล็กและลัทธิภูตผีปิศาจ เป็นการผิดกฎหมายที่มีโทษถึงตาย. อีกครั้งหนึ่งที่พระเจ้าทรงเน้นการที่ไพร่พลของพระองค์ต้องแยกอยู่ต่างหาก ดังนี้: “เจ้าทั้งหลายจงเป็นคนบริสุทธิ์ต่อเรา; เพราะเรายะโฮวาเป็นผู้บริสุทธิ์, และเราได้แยกเจ้าออกจากชนประเทศอื่นให้เป็นพลเมืองของเรา.”—20:26.
24. เลวีติโกได้ให้เค้าโครงอะไรเกี่ยวกับคุณสมบัติของปุโรหิตและเทศกาลเลี้ยงต่าง ๆ?
24 คณะปุโรหิตและเทศกาลต่าง ๆ (21:1–25:55). สามบทถัดไปส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการนมัสการตามแบบแผนของชาวยิศราเอลคือ ข้อบังคับที่ใช้กับปุโรหิต, คุณสมบัติด้านร่างกาย, พวกเขาจะสมรสได้กับใคร, ใครที่อาจรับประทานของบริสุทธิ์, และข้อเรียกร้องสำหรับสัตว์สมประกอบที่จะใช้บูชา. มีคำสั่งเรื่องเทศกาลประจำชาติสามเทศกาล ซึ่งให้โอกาส “ยินดีต่อพระพักตร์พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า.” (23:40) เหมือนคน ๆ เดียว ด้วยวิธีนี้ ชาตินี้จะใส่ใจ, สรรเสริญ, และนมัสการพระยะโฮวา ซึ่งเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพกับพระองค์ให้มั่นคง. เทศกาลเหล่านั้นเป็นงานเลี้ยงแด่พระยะโฮวา เป็นการประชุมบริสุทธิ์ประจำปี. เทศกาลปัศคาพร้อมกับเทศกาลขนมปังไม่มีเชื้อถูกกำหนดให้มีในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ; เทศกาลเพนเตคอสเตหรือเทศกาลเลี้ยงสัปดาห์ตามมาในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ; และวันบูชาไถ่โทษกับเทศกาลตั้งทับอาศัยแปดวัน หรือเทศกาลเลี้ยงฉลองการเก็บผลตกในฤดูใบไม้ร่วง.
25. (ก) มีการแสดงไว้อย่างไรว่าต้องยึดถือ “พระนาม” อย่างให้เกียรติ? (ข) ข้อกำหนดอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเลข “เจ็ด”?
25 ในบท 24 มีคำสั่งเรื่องขนมปังและน้ำมันที่จะใช้กับงานรับใช้ที่พลับพลา. หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่พระยะโฮวาทรงกำหนดไว้ว่า ใครก็ตามที่ใช้ “พระนาม” อย่างไม่เหมาะสม—คือพระนามยะโฮวา—ต้องถูกหินขว้างตาย. ครั้นแล้วพระองค์ตรัสถึงกฎหมายที่ให้ลงโทษแบบ “ตาแทนตา, ฟันแทนฟัน.” (24:11-16, 20) ในบท 25 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับปีซะบาโตหรือปีหยุดพัก ที่ต้องถือทุก ๆ ปีที่ 7 และปีจูบีลีทุก ๆ ปีที่ 50. ในปีที่ 50 นี้จะต้องประกาศเสรีภาพทั่วดินแดน และต้องมีการคืนทรัพย์มรดกที่ได้ขายหรือยกให้ผู้อื่นในช่วง 49 ปีก่อนนั้น. มีการประทานกฎหมายคุ้มครองสิทธิของคนจนและทาส. ในส่วนนี้เลข “เจ็ด” ปรากฏเด่น—วันที่เจ็ด, ปีที่เจ็ด, เทศกาลเจ็ดวัน, ระยะเวลาเจ็ดสัปดาห์, และจูบีลีที่จะมีหลังจากเจ็ดปีผ่านไปเจ็ดรอบ.
26. เลวีติโกบรรลุจุดสุดยอดในเรื่องใด?
26 ผลของการเชื่อฟังและการไม่เชื่อฟัง (26:1-46). พระธรรมเลวีติโกมาถึงจุดสุดยอดในบทนี้. ในที่นี้พระยะโฮวาทรงให้รายการบำเหน็จของการเชื่อฟังและการลงโทษสำหรับการไม่เชื่อฟัง. ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงเสนอความหวังแก่ชาวยิศราเอลถ้าพวกเขาถ่อมตัว โดยตรัสว่า “เราจะระลึกถึงความสัญญาของเรากับบรรพบุรุษของเขา, ผู้ที่เราได้พาออกมาจากแผ่นดินประเทศอายฆุบโตต่อหน้าคนต่างประเทศนั้น; เพื่อเราจะได้เป็นพระเจ้าของเขา: เราเป็นยะโฮวา.”—26:45.
27. เลวีติโกจบลงอย่างไร?
27 ข้อบังคับอื่น ๆ (27:1-34). เลวีติโกจบลงด้วยคำสั่งเรื่องการจัดการถวายปฏิญาณ, เรื่องการถวายลูกสัตว์หัวปีแด่พระยะโฮวา และเรื่องส่วนสิบชักหนึ่งที่เป็นของบริสุทธิ์แด่พระยะโฮวา. แล้วจึงมีบันทึกลงท้ายสั้น ๆ ดังนี้: “นี่แหละเป็นบัญญัติทั้งหลายที่พระยะโฮวาได้ตรัสสั่งแก่โมเซไว้สำหรับพวกยิศราเอลที่ภูเขาซีนาย.”—27:34.
เหตุที่เป็นประโยชน์
28. เลวีติโกก่อประโยชน์แก่คริสเตียนในทุกวันนี้อย่างไร?
28 ในฐานะเป็นส่วนแห่งพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ พระธรรมเลวีติโกให้ประโยชน์มากมายแก่คริสเตียนทุกวันนี้. เลวีติโกเป็นเครื่องช่วยดีเยี่ยมให้หยั่งรู้ค่าพระยะโฮวา, คุณลักษณะของพระองค์, และวิธีที่พระองค์ปฏิบัติกับสิ่งมีชีวิตที่พระองค์ทรงสร้าง ดังที่พระองค์ทรงสำแดงอย่างชัดเจนกับชาติยิศราเอลภายใต้สัญญาไมตรีเกี่ยวกับพระบัญญัติ. เลวีติโกกล่าวถึงหลักการพื้นฐานหลายข้อซึ่งนำไปใช้ได้เสมอและมีแบบอย่างเชิงพยากรณ์หลายอย่าง รวมทั้งคำพยากรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเสริมความเชื่อให้เข้มแข็งเมื่อใคร่ครวญ. หลายข้อในหลักการเหล่านี้มีกล่าวซ้ำอีกในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ซึ่งบางข้อมีการยกมากล่าวโดยตรง. จุดเด่นเจ็ดประการมีอธิบายต่อไปนี้.
29-31. โดยวิธีใดที่เลวีติโกเน้นความเคารพนับถือต่อ (ก) พระบรมเดชานุภาพ (ข) พระนาม (ค) ความบริสุทธิ์ ของพระยะโฮวา?
29 (1) พระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. พระองค์เป็นผู้ประทานพระบัญญัติ และพวกเราซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่พระองค์ทรงสร้างจึงต้องให้การกับพระองค์. พระองค์ทรงบัญชาเราอย่างเหมาะสมให้เกรงกลัวพระองค์. ในฐานะองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ พระองค์ไม่ยอมให้มีคู่แข่ง ไม่ว่าในรูปของการบูชารูปเคารพ, ลัทธิภูตผีปิศาจ, หรือการเกี่ยวข้องในแบบอื่น ๆ กับพวกผีปิศาจ.—เลวี. 18:4; 25:17; 26:1; มัด. 10:28; กิจ. 4:24.
30 (2) พระนามของพระยะโฮวา. พระนามของพระองค์ต้องได้รับการรักษาให้บริสุทธิ์ และเราไม่กล้านำคำตำหนิมาสู่พระนามนั้นโดยคำพูดหรือการกระทำ.—เลวี. 22:32; 24:10-16; มัด. 6:9.
31 (3) ความบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. เพราะพระองค์เป็นองค์บริสุทธิ์ ไพร่พลของพระองค์จึงต้องบริสุทธิ์ด้วย กล่าวคือ ทำตัวให้บริสุทธิ์หรือแยกอยู่ต่างหากเพื่อรับใช้พระองค์. เรื่องนี้รวมถึงการรักษาตัวต่างหากจากโลกที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้ารอบตัวเรา.—เลวี. 11:44; 20:26; ยโก. 1:27; 1 เป. 1:15, 16.
32-34. หลักการอะไรบ้างที่มีชี้แจงไว้ในเรื่อง (ก) บาป (ข) เลือด และ (ค) ความหนักเบาของความผิด?
32 (4) ความร้ายแรงของบาป. พระเจ้าเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรคือบาป และเราต้องพยายามต่อต้านบาป. บาปเรียกร้องเครื่องบูชาไถ่เสมอ. นอกจากนั้น เราต้องสารภาพการบาปของเรา, กลับใจ, และทำการแก้ไขเท่าที่เราทำได้. สำหรับบาปบางชนิดไม่มีทางได้รับการอภัย.—เลวี. 4:2; 5:5; 20:2, 10; 1 โย. 1:9; เฮ็บ. 10:26-29.
33 (5) ความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด. เพราะเลือดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่อาจรับเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าในรูปแบบใด. มีการอนุญาตให้ใช้เลือดในทางเดียวเท่านั้นคือเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป.—เลวี. 17:10-14; กิจ. 15:29; เฮ็บ. 9:22.
34 (6) ความสัมพันธ์ระหว่างความผิดกับการลงโทษ. ไม่ใช่บาปทุกอย่างและคนทำบาปทุกคนจะได้รับการพิจารณาอย่างเดียวกัน. ตำแหน่งยิ่งสูง ความรับผิดชอบก็ยิ่งมากและโทษเนื่องด้วยการบาปก็ยิ่งหนัก. บาปที่ทำโดยเจตนาได้รับโทษหนักกว่าบาปที่ทำโดยไม่เจตนา. บ่อยครั้ง การปรับโทษถูกจัดระดับตามความสามารถในการชดใช้. นอกจากในเรื่องบาปและการลงโทษแล้ว หลักการเรื่องความสัมพันธ์นี้ยังใช้ด้วยในแง่อื่น ๆ เช่น ในเรื่องความไม่สะอาดทางพิธีกรรม.—เลวี. 4:3, 22-28; 5:7-11; 6:2-7; 12:8; 21:1-15; ลูกา 12:47, 48; ยโก. 3:1; 1 โย. 5:16.
35. เลวีติโกสรุปหน้าที่ที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไร?
35 (7) ความยุติธรรมและความรัก. เลวีติโก 19:18 กล่าวโดยสังเขปถึงหน้าที่ที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์ว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง.” ข้อนี้รวมเอาทุกเรื่อง. หลักข้อนี้ไม่ยอมให้กับการแสดงความลำเอียง, การขโมย, การโกหก, หรือการให้ร้ายป้ายสี, และหลักการข้อนี้เรียกร้องให้แสดงการคำนึงถึงคนพิการ, คนจน, คนตาบอด, และคนหูหนวก.—เลวี. 19:9-18; มัด. 22:39; โรม 13:8-13.
36. อะไรพิสูจน์ว่าเลวีติโกเป็นประโยชน์สำหรับประชาคมคริสเตียน?
36 สิ่งที่พิสูจน์อีกด้วยว่าเลวีติโกเด่นในด้าน “เป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม” ในประชาคมคริสเตียนก็คือ การที่พระเยซูและเหล่าอัครสาวกของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปาโลและเปโตรได้อ้างอิงถึงพระธรรมเลวีติโกครั้งแล้วครั้งเล่า. การอ้างถึงเหล่านั้นนำความสนใจสู่แบบอย่างเชิงพยากรณ์หลายตอนและเงาของสิ่งต่าง ๆ ที่จะมีมา. ดังที่เปาโลบันทึกไว้ “พระบัญญัตินั้นเป็นแต่เงาของสิ่งดีที่จะมาภายหน้า.” พระบัญญัติเป็น “แบบและเงาแห่งสิ่งเหล่านั้นที่อยู่ในสวรรค์.”—2 ติโม. 3:16, ล.ม.; เฮ็บ. 10:1; 8:5.
37. ในเฮ็บรายมีการพรรณนาความสำเร็จเป็นจริงอะไรบ้างของสิ่งที่เป็นภาพเล็งถึง?
37 พลับพลา, คณะปุโรหิต, เครื่องบูชาต่าง ๆ, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันไถ่โทษประจำปี ต่างมีความหมายสำคัญที่เป็นภาพเล็งถึง. ในจดหมายถึงคริสเตียนชาวฮีบรู เปาโลช่วยเราให้รู้แน่ถึงคู่เทียบฝ่ายวิญญาณของสิ่งเหล่านี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “พลับพลาแท้” แห่งการนมัสการพระยะโฮวา. (เฮ็บ. 8:2) อาโรนมหาปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงพระคริสต์เยซู “มหาปุโรหิตสำหรับการดีซึ่งเป็นมานั้น พระองค์ก็ได้เสด็จมาทางพลับพลาอันประเสริฐกว่า.” (เฮ็บ. 9:11; เลวี. 21:10) เลือดของสัตว์ที่เป็นเครื่องบูชาเป็นภาพเล็งถึงพระโลหิตของพระเยซูซึ่งทรงได้ “ความรอดนิรันดร์ไว้” ให้เรา. (เฮ็บ. 9:12) ส่วนในสุดของพลับพลา คือห้องบริสุทธิ์ที่สุด ซึ่งมหาปุโรหิตเข้าไปปีละครั้งในวันไถ่โทษประจำปีเพื่อถวายเลือดเป็นเครื่องบูชาเป็น “ตัวจำลองจากแบบแท้” ซึ่งก็คือ “สวรรค์นั้นเอง” ที่พระเยซูได้เสด็จขึ้นไป “ปรากฏจำเพาะพระพักตร์พระเจ้าเพื่อเราทั้งหลาย.”—เฮ็บ. 9:24; เลวี. 16:14, 15.
38. เครื่องบูชาต่าง ๆ ที่เป็นภาพเล็งถึงได้สำเร็จเป็นจริงในพระเยซูอย่างไร?
38 สิ่งที่เป็นเครื่องบูชาจริง ๆ นั้น—ซึ่งก็คือสัตว์ที่สมประกอบ ไม่มีตำหนิ ที่ถูกถวายเป็นเครื่องบูชาเผาหรือไถ่บาป—หมายถึงเครื่องบูชาอันปราศจากตำหนิที่สมบูรณ์พร้อมในรูปของร่างกายมนุษย์ของพระเยซูคริสต์. (เฮ็บ. 9:13, 14; 10:1-10; เลวี. 1:3) น่าสนใจ เปาโลยังอธิบายถึงลักษณะเด่นของวันบูชาไถ่โทษซึ่งซากสัตว์ของเครื่องบูชาไถ่บาปถูกนำไปนอกค่ายและเผา. (เลวี. 16:27) เปาโลเขียนว่า “เหตุฉะนั้นพระเยซูได้ทรงทนทุกข์ทรมานภายนอกประตูเมืองเช่นเดียวกัน . . . เพราะฉะนั้นให้เราทั้งหลายพึงออกไปหาพระองค์ภายนอกค่ายที่พักนั้น, สู้ทนความนินทาซึ่งพระองค์ได้ทรงทนมานั้น.” (เฮ็บ. 13:12, 13) โดยการตีความภายใต้การดลใจดังกล่าว ขั้นตอนพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีชี้แจงในเลวีติโกมีความหมายสำคัญเพิ่มขึ้นอีก และเราเริ่มเข้าใจได้จริง ๆ ว่าพระยะโฮวาทรงจัดเตรียมภาพล่วงหน้าอันพิเศษยิ่งที่ชี้ถึงตัวจริงซึ่งเฉพาะแต่พระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นอาจทำให้เข้าใจชัดเจนได้. (เฮ็บ. 9:8) ความเข้าใจที่ถูกต้องเช่นนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับคนเหล่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการจัดเตรียมเรื่องชีวิตที่พระยะโฮวาจัดให้ผ่านทางพระคริสต์เยซู “มหาปุโรหิตใหญ่สำหรับโบสถ์ของพระเจ้า.”—เฮ็บ. 10:19-25.
39. เลวีติโกประสานกับ “พระคัมภีร์ทุกตอน” อย่างไรในการทำให้วัตถุประสงค์ต่าง ๆ แห่งราชอาณาจักรของพระยะโฮวาเป็นที่รู้จัก?
39 เช่นเดียวกับครัวเรือนปุโรหิตของอาโรน พระเยซูคริสต์ในฐานะมหาปุโรหิตก็มีรองปุโรหิตที่สมทบกับพระองค์. พวกเขาถูกเรียกเป็น “พวกปุโรหิตหลวง.” (1 เป. 2:9) เลวีติโกระบุและอธิบายอย่างชัดเจนถึงภารกิจของมหาปุโรหิตและมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาในการไถ่ถอนบาป รวมทั้งข้อเรียกร้องต่าง ๆ สำหรับสมาชิกในครัวเรือนของพระองค์ซึ่งมีการพูดถึงว่า “เป็นผาสุกและบริสุทธิ์” และในฐานะเป็น ‘ปุโรหิตของพระเจ้าและของพระคริสต์ ปกครองเป็นกษัตริย์กับพระเยซูเป็นเวลาหนึ่งพันปี.’ ช่างเป็นพระพรจริง ๆ ที่งานเยี่ยงปุโรหิตจะสำเร็จผลด้วยการยกระดับมนุษย์ที่เชื่อฟังสู่ความสมบูรณ์ และช่างเป็นความสุขอะไรเช่นนั้นที่ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์จะนำมาโดยฟื้นฟูสันติสุขและความชอบธรรมแก่แผ่นดินโลก! แน่นอน เราทุกคนต้องขอบพระคุณพระยะโฮวาพระเจ้าองค์บริสุทธิ์สำหรับการที่พระองค์ทรงจัดเตรียมมหาปุโรหิตและพระมหากษัตริย์และคณะปุโรหิตหลวงเพื่อประกาศออกไปให้กว้างไกลถึงความเลอเลิศของพระองค์ด้วยการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์! จริงทีเดียว เลวีติโกประสานอย่างวิเศษยิ่งกับ “พระคัมภีร์ทุกตอน” ในการทำให้วัตถุประสงค์ต่าง ๆ แห่งราชอาณาจักรของพระยะโฮวาเป็นที่รู้จัก.—วิ. 20:6.