บทความศึกษา 47
บทเรียนที่เราได้จากหนังสือเลวีนิติ
“พระคัมภีร์ทุกตอน พระเจ้าดลใจให้เขียนขึ้นมา มีประโยชน์”—2 ทธ. 3:16
เพลง 98 พระคัมภีร์ พระเจ้าดลใจให้เขียนขึ้นมา
ใจความสำคัญa
1-2. ทำไมคริสเตียนในทุกวันนี้ควรสนใจหนังสือเลวีนิติ?
อัครสาวกเปาโลบอกทิโมธีชายหนุ่มที่เป็นเพื่อนของเขาว่า “พระคัมภีร์ทุกตอน พระเจ้าดลใจให้เขียนขึ้นมา มีประโยชน์” นั่นรวมถึงหนังสือเลวีนิติด้วย (2 ทธ. 3:16) แล้วคุณล่ะ คุณคิดอย่างไรกับหนังสือเลวีนิติ? บางคนอาจมองว่าเป็นแค่หนังสือที่มีแต่กฎมากมายที่ใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน แต่คริสเตียนแท้ไม่ได้คิดแบบนั้น
2 ถึงหนังสือเลวีนิติจะถูกเขียนเมื่อประมาณ 3,500 ปีที่แล้ว แต่พระยะโฮวาก็เก็บรักษาไว้ “เพื่อสอนเรา” (รม. 15:4) หนังสือเลวีนิติช่วยให้เราเข้าใจความคิดและความรู้สึกของพระยะโฮวา เราจึงควรสนใจอยากเรียนรู้หนังสือนี้ จริง ๆ แล้วมีบทเรียนมากมายที่เราเรียนรู้ได้จากหนังสือที่ได้รับการดลใจนี้ ให้เรามาดู 4 บทเรียนด้วยกัน
เราต้องทำอะไรเพื่อให้พระยะโฮวาพอใจ?
3. ทำไมต้องมีการถวายเครื่องบูชาในวันไถ่บาปของทุกปี?
3 บทเรียนที่ 1 เพื่อพระยะโฮวาจะยอมรับเครื่องบูชาของเรา เราต้องทำสิ่งที่พระองค์พอใจ ในวันไถ่บาปของทุกปี ชาวอิสราเอลจะมารวมตัวกันและมหาปุโรหิตก็จะถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชา เครื่องบูชาเหล่านั้นเตือนชาวอิสราเอลว่าพวกเขาต้องได้รับการไถ่บาป แต่ก่อนที่มหาปุโรหิตจะเอาเลือดของสัตว์ที่เป็นเครื่องบูชาเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดเพื่อขออภัยบาปให้คนทั้งชาติ เขาต้องทำอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญกว่านั้น
4. จากเลวีนิติ 16:12, 13 มหาปุโรหิตทำอะไรตอนที่เข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดครั้งแรกในวันไถ่บาป? (ดูภาพหน้าปก)
4 อ่านเลวีนิติ 16:12, 13 ลองนึกภาพว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันไถ่บาป มหาปุโรหิตเข้าไปในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ ตามปกติแล้ว ในวันไถ่บาปมหาปุโรหิตจะเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุด 3 ครั้ง ตอนที่เขาเข้าไปครั้งแรก มือหนึ่งเขาถือภาชนะที่มีเครื่องหอม ส่วนอีกมือหนึ่งเขาถือภาชนะทองคำสำหรับเผาเครื่องหอมที่เต็มด้วยถ่านไฟ พอเดินไปถึงม่านหน้าห้องบริสุทธิ์ที่สุด เขาก็หยุด จากนั้นก็เดินเข้าไปด้วยความนับถืออย่างยิ่ง แล้วไปยืนตรงหน้าหีบสัญญาซึ่งเป็นเหมือนการยืนต่อหน้าพระยะโฮวา เขาค่อย ๆ ใส่เครื่องหอมลงบนถ่านไฟทำให้กลิ่นหอมอบอวลไปทั่วห้องb หลังจากนั้นเขาก็จะกลับเข้ามาในห้องบริสุทธิ์ที่สุดอีกพร้อมกับเลือดของสัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชาไถ่บาป สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ มหาปุโรหิตเผาเครื่องหอมก่อนจะถวายเลือดของสัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชาไถ่บาป
5. เราเรียนอะไรได้จากการใช้เครื่องหอมในวันไถ่บาป?
5 เราได้เรียนอะไรจากการใช้เครื่องหอมในวันไถ่บาป? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคำอธิษฐานของผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาเป็นเหมือนเครื่องหอม (สด. 141:2; วว. 5:8) ในวันไถ่บาป มหาปุโรหิตถือเครื่องหอมยืนต่อหน้าพระยะโฮวาด้วยความนับถืออย่างยิ่ง เหมือนกัน เมื่อเราอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเราก็ทำด้วยความเคารพนับถือ เรารู้สึกขอบคุณพระองค์มากที่พระองค์เป็นถึงผู้สร้างเอกภพแต่ก็ยอมให้เราเข้าหา พูดคุย และสนิทกับพระองค์เหมือนลูกกับพ่อ (ยก. 4:8) นอกจากนั้น พระองค์ยังยอมรับเราเป็นเพื่อนด้วย (สด. 25:14) เรารู้สึกว่านี่เป็นสิทธิพิเศษมากจริง ๆ จนไม่อยากทำให้พระองค์ผิดหวัง
6. เราเรียนอะไรได้จากการที่มหาปุโรหิตเผาเครื่องหอมก่อนถวายเครื่องบูชา?
6 นอกจากนั้น จำไว้ว่ามหาปุโรหิตต้องเผาเครื่องหอมก่อนถวายเครื่องบูชาซึ่งเป็นเลือดของสัตว์ เขาทำอย่างนี้เพื่อจะแน่ใจว่าพระยะโฮวาจะพอใจตอนที่เขาถวายเครื่องบูชา เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลก ท่านต้องทำบางอย่างที่สำคัญกว่าและต้องทำก่อนที่ท่านจะถวายชีวิตเป็นเครื่องบูชาเพื่อช่วยมนุษย์ให้รอด สิ่งนั้นคืออะไร? ท่านต้องซื่อสัตย์และภักดีต่อพระยะโฮวาตลอดชีวิตบนโลก ท่านทำอย่างนี้เพื่อพระองค์จะยอมรับเครื่องบูชาของท่าน นอกจากนั้น ยังเป็นการพิสูจน์ว่าการใช้ชีวิตโดยทำสิ่งต่าง ๆ ในวิธีของพระยะโฮวาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และยังพิสูจน์ว่าการปกครองของพระองค์ถูกต้องและยุติธรรม
7. ทำไมการใช้ชีวิตของพระเยซูตอนอยู่บนโลกทำให้พ่อของท่านพอใจมาก?
7 ตลอดเวลาที่พระเยซูอยู่บนโลก ท่านเชื่อฟังมาตรฐานของพระยะโฮวาอย่างครบถ้วนไม่ขาดตกบกพร่องเลย ไม่มีอะไรสามารถทำลายความตั้งใจของท่านที่จะพิสูจน์ว่าการปกครองของพ่อเป็นการปกครองที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการล่อใจ ความลำบาก หรือแม้แต่ความตายอย่างเจ็บปวดที่คืบใกล้เข้ามา (ฟป. 2:8) เมื่อพระเยซูเจอกับการทดสอบที่ยากลำบาก ท่านอธิษฐาน “เสียงดังทั้งน้ำตา” (ฮบ. 5:7) คำอธิษฐานสุดหัวใจของพระเยซูแสดงว่าท่านภักดีต่อพระยะโฮวาและทำให้ท่านตั้งใจมากขึ้นกว่าเดิมที่จะเชื่อฟังพระองค์ไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับพระยะโฮวาแล้ว คำอธิษฐานของพระเยซูเป็นเหมือนเครื่องหอมที่มีกลิ่นหอมมาก การใช้ชีวิตของท่านทำให้พระยะโฮวาพอใจมากและพิสูจน์ว่าการปกครองของพระองค์ถูกต้องและดีที่สุด
8. เราจะเลียนแบบการใช้ชีวิตของพระเยซูได้อย่างไร?
8 เราสามารถเลียนแบบพระเยซูได้โดยพยายามเต็มที่ที่จะซื่อสัตย์และภักดีต่อพระยะโฮวาตลอดชีวิตของเรา เมื่อเราเจอการทดสอบหรือความลำบาก เราจะอธิษฐานอย่างสุดหัวใจขอให้พระยะโฮวาช่วยเพราะเราอยากทำให้พระองค์พอใจ การทำอย่างนี้แสดงว่าเรากำลังสนับสนุนการปกครองของพระองค์ เรารู้ว่าถ้าเราทำสิ่งที่พระยะโฮวาไม่ชอบ พระองค์จะไม่ยอมรับคำอธิษฐานของเรา แต่ถ้าเราใช้ชีวิตตามมาตรฐานของพระองค์ เรามั่นใจว่าคำอธิษฐานจากใจของเราจะเป็นเหมือนเครื่องหอมที่มีกลิ่นหอมสำหรับพระยะโฮวา และเราแน่ใจได้ว่าถ้าเราซื่อสัตย์และภักดีต่อพระองค์ เราจะทำให้พ่อที่อยู่ในสวรรค์พอใจแน่นอน—สภษ. 27:11
เรารับใช้พระยะโฮวาเพราะรู้สึกขอบคุณและรักพระองค์
9. ชาวอิสราเอลถวายเครื่องบูชาผูกมิตรเพราะอะไร?
9 บทเรียนที่ 2 เรารับใช้พระยะโฮวาเพราะรู้สึกขอบคุณพระองค์ ให้เรามาดูเครื่องบูชาผูกมิตรซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการนมัสการของชาวอิสราเอลโบราณc จากหนังสือเลวีนิติเราได้เรียนว่า เมื่อชาวอิสราเอลคนหนึ่งถวายเครื่องบูชาผูกมิตร “เพื่อแสดงความขอบคุณ” เขาทำอย่างนั้นไม่ใช่เพราะต้องทำแต่เพราะเขาอยากทำ (ลนต. 7:11-13, 16-18) ดังนั้นเครื่องบูชาผูกมิตรจึงเป็นเครื่องบูชาที่ถวายด้วยความสมัครใจเพราะเขารักพระยะโฮวาพระเจ้าของเขา คนที่ถวายเครื่องบูชานี้ ครอบครัวของเขา และพวกปุโรหิตจะกินเนื้อของสัตว์ที่ถวายเป็นเครื่องบูชา แต่มีบางส่วนของสัตว์ที่พวกเขาจะไม่กิน พวกเขาต้องให้ส่วนเหล่านั้นกับพระยะโฮวาเท่านั้น ให้เรามาดูด้วยกันว่ามีส่วนไหนบ้าง
10. เครื่องบูชาผูกมิตรที่พูดถึงในเลวีนิติ 3:6, 12, 14-16 คล้ายกับการรับใช้ที่พระเยซูให้พระยะโฮวาอย่างไร?
10 บทเรียนที่ 3 เราให้สิ่งที่ดีที่สุดกับพระยะโฮวาเพราะเรารักพระองค์ พระยะโฮวามองว่ามันสัตว์เป็นส่วนที่ดีที่สุดของสัตว์ นอกจากนั้น พระองค์ยังบอกว่ามีบางส่วนที่มีค่าเป็นพิเศษด้วย เช่น ไต (อ่านเลวีนิติ 3:6, 12, 14-16) ถ้าชาวอิสราเอลถวายมันสัตว์และส่วนที่มีค่าเป็นพิเศษให้พระยะโฮวา พระองค์ก็จะพอใจมาก ชาวอิสราเอลที่ถวายสิ่งเหล่านี้แสดงว่าเขาอยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับพระองค์ คล้ายกัน พระเยซูสมัครใจและเต็มใจให้สิ่งที่ดีที่สุดกับพระยะโฮวาโดยทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อรับใช้พระองค์เพราะท่านรักพระองค์ (ยน. 14:31) การทำตามความประสงค์ของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ทำให้พระเยซูมีความสุข และท่านรักกฎหมายของพระองค์มาก (สด. 40:8) เมื่อพระยะโฮวาเห็นพระเยซูรับใช้ด้วยความสมัครใจและเต็มใจแบบนี้ พระองค์ก็รู้สึกพอใจมากจริง ๆ
11. การรับใช้ของเราเป็นเหมือนเครื่องบูชาผูกมิตรอย่างไร? และเรื่องนี้ให้กำลังใจเราอย่างไร?
11 การรับใช้พระยะโฮวาเป็นเหมือนเครื่องบูชาผูกมิตรเพราะมันแสดงว่าเรารู้สึกอย่างไรกับพระองค์ เราให้สิ่งที่ดีที่สุดกับพระยะโฮวาเพราะรักพระองค์สุดหัวใจ เมื่อพระยะโฮวาเห็นหลายล้านคนสมัครใจและเต็มใจรับใช้เพราะรักพระองค์และมาตรฐานของพระองค์ พระองค์ก็รู้สึกพอใจมาก เราจะได้กำลังใจถ้าจำไว้เสมอว่า พระยะโฮวาไม่ได้มองและเห็นค่าแค่สิ่งที่เราทำ แต่พระองค์มองและเห็นค่าเหตุผลที่เราทำด้วย อย่างเช่น ถ้าคุณอายุมากแล้วและไม่สามารถรับใช้ได้มากอย่างที่อยากทำ คุณมั่นใจได้เลยว่าพระยะโฮวาเข้าใจข้อจำกัดของคุณ คุณอาจรู้สึกว่ารับใช้ได้แค่นิดเดียว แต่พระยะโฮวาเห็นความรักที่อยู่ในหัวใจของคุณซึ่งกระตุ้นให้คุณทำสิ่งที่คุณทำได้ และพระองค์มีความสุขที่จะรับสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณให้พระองค์ได้
12. พระยะโฮวารู้สึกอย่างไรกับเครื่องบูชาผูกมิตร? และเรื่องนี้ให้กำลังใจเราอย่างไร?
12 เราเรียนอะไรได้จากเครื่องบูชาผูกมิตร? เมื่อไฟเผาส่วนที่ดีที่สุดของสัตว์ ควันก็จะลอยขึ้นไปทำให้พระยะโฮวาพอใจ เหมือนกันถ้าเราสมัครใจและเต็มใจทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อรับใช้พระยะโฮวา เราก็มั่นใจได้ว่าพระองค์จะพอใจเราแน่นอน (คส. 3:23) ให้คุณนึกถึงรอยยิ้มของพระยะโฮวาที่แสดงว่าพระองค์พอใจคุณมากจริง ๆ ไม่ว่าคุณจะรับใช้ได้มากหรือน้อย พระองค์ก็มองว่าสิ่งที่คุณทำให้พระองค์เป็นเหมือนทรัพย์สมบัติที่มีค่ามาก และพระองค์จะจดจำมันไว้ตลอดไป—มธ. 6:20; ฮบ. 6:10
พระยะโฮวาอวยพรองค์การของพระองค์
13. จากเลวีนิติ 9:23, 24 พระยะโฮวาแสดงอย่างไรว่าพระองค์ยอมรับปุโรหิตที่ถูกแต่งตั้ง?
13 บทเรียนที่ 4 พระยะโฮวากำลังอวยพรองค์การส่วนที่อยู่บนโลก ให้เรามาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1512 ก่อน ค.ศ. ตอนที่มีการตั้งเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นที่เชิงเขาซีนาย (อพย. 40:17) ตอนนั้นโมเสสเป็นคนดูแลการแต่งตั้งอาโรนและพวกลูกชายให้เป็นปุโรหิต ชาวอิสราเอลมารวมตัวกันเพื่อดูพวกปุโรหิตถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาครั้งแรก (ลนต. 9:1-5) พระยะโฮวาแสดงอย่างไรว่าพระองค์ยอมรับพวกปุโรหิตที่เพิ่งถูกแต่งตั้ง? พออาโรนกับโมเสสอวยพรประชาชน พระยะโฮวาก็ส่งไฟลงมาเผาเครื่องบูชาบนแท่นจนหมด—อ่านเลวีนิติ 9:23, 24
14. การที่พระยะโฮวายอมรับอาโรนกับพวกลูกชายที่ถูกแต่งตั้งเป็นปุโรหิตสำคัญกับเราอย่างไร?
14 การที่พระยะโฮวาให้ไฟลงมาจากสวรรค์แสดงถึงอะไร? แสดงว่าพระองค์ยอมรับและสนับสนุนอาโรนและพวกลูกชายซึ่งพระองค์เลือกให้เป็นปุโรหิต เมื่อชาวอิสราเอลเห็นหลักฐานชัดเจนว่าพระยะโฮวาสนับสนุนพวกปุโรหิต พวกเขาก็เข้าใจว่าต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยเหมือนกัน เรื่องนี้สำคัญกับเราอย่างไร? ปุโรหิตในสมัยอิสราเอลเป็นภาพหมายถึงคณะปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่กว่า พระคริสต์เป็นมหาปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่กว่า และยังมีคน 144,000 คนซึ่งจะรับใช้ในฐานะปุโรหิตและกษัตริย์กับท่านในสวรรค์ด้วย—ฮบ. 4:14; 8:3-5; 10:1
15-16. พระยะโฮวาแสดงอย่างไรว่ายอมรับ “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม”?
15 ในปี 1919 พระเยซูแต่งตั้งผู้ถูกเจิมกลุ่มเล็ก ๆ ให้เป็น “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” ทาสกลุ่มนี้นำหน้าในการประกาศ และพวกเขา ‘แจกจ่ายอาหารตามเวลาที่เหมาะสม’ ให้กับคนที่ติดตามพระคริสต์ (มธ. 24:45) เราเห็นหลักฐานชัดเจนไหมว่าพระเจ้ายอมรับทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม?
16 ซาตานกับคนที่ติดตามมันพยายามหยุดงานของทาสที่ซื่อสัตย์ ถ้าพวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือจากพระยะโฮวาก็ไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะทำงานนั้นต่อไปได้ ทั้ง ๆ ที่ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุมได้รับผลกระทบจากสงครามโลก 2 ครั้ง ถูกข่มเหงอย่างไม่ละลด เจอวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก และถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม พวกเขาก็ยังสามารถจัดเตรียมหนังสือและสื่อต่าง ๆ ที่เป็นเหมือนอาหารให้กับคนที่ติดตามพระเยซู ลองนึกดูว่าตอนนี้เรามีหนังสือและสื่อต่าง ๆ มากมายแค่ไหน เรามีมากกว่า 900 ภาษาและทั้งหมดฟรี! นี่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากว่าพระยะโฮวากำลังสนับสนุนทาสที่ซื่อสัตย์อยู่ หลักฐานที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ การประกาศ ในทุกวันนี้มีการประกาศข่าวดี “ไปทั่วโลก” จริง ๆ (มธ. 24:14) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระยะโฮวากำลังชี้นำและอวยพรองค์การของพระองค์
17. เราจะแสดงอย่างไรว่าเราสนับสนุนองค์การของพระยะโฮวา?
17 เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันรู้สึกขอบคุณที่ได้อยู่ในองค์การส่วนที่อยู่บนโลกไหม?’ เหมือนกับที่พระยะโฮวาให้ไฟลงมาจากสวรรค์ในสมัยของโมเสสและอาโรนเพื่อแสดงว่าพระองค์ยอมรับคนที่พระองค์แต่งตั้ง พระองค์ก็ให้หลักฐานที่ชัดเจนว่าพระองค์กำลังใช้องค์การของพระองค์ในทุกวันนี้ เราควรรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาที่ได้อยู่ในองค์การของพระองค์ (1 ธส. 5:18, 19) เราจะแสดงอย่างไรว่าสนับสนุนองค์การของพระองค์? เราทำอย่างนั้นได้โดยทำตามสิ่งที่เราเรียนจากคัมภีร์ไบเบิลในหนังสือและสื่อต่าง ๆ ในการประชุมประชาคมและการประชุมใหญ่ และโดยการประกาศและการสอนคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้—1 คร. 15:58
18. คุณตั้งใจจะทำอะไร?
18 ให้เราตั้งใจเอาบทเรียนจากหนังสือเลวีนิติไปใช้ในชีวิต ขอให้เราทำสิ่งที่พระยะโฮวาพอใจเพื่อพระองค์จะยอมรับเครื่องบูชาของเรา ขอให้เรารับใช้พระยะโฮวาเพราะรู้สึกขอบคุณพระองค์ ขอให้เราให้สิ่งที่ดีที่สุดกับพระยะโฮวาเพราะรักพระองค์สุดหัวใจ และขอให้เราทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อสนับสนุนองค์การที่พระองค์กำลังอวยพรอยู่ในทุกวันนี้ โดยการทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เรากำลังแสดงให้พระยะโฮวาเห็นว่า เราเห็นค่าสิทธิพิเศษที่ได้รับใช้เป็นพยานของพระองค์
เพลง 96 หนังสือของพระเจ้าเป็นคลังสมบัติ
a หนังสือเลวีนิติมีกฎหมายต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาให้กับชาวอิสราเอลโบราณ เราที่เป็นคริสเตียนไม่ได้อยู่ใต้กฎหมายเหล่านั้น แต่กฎหมายเหล่านั้นก็มีประโยชน์สำหรับเรา ในบทความนี้เราจะดูบทเรียนที่มีคุณค่าที่เราได้จากหนังสือเลวีนิติ
b เครื่องหอมที่ถูกเผาในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ถือว่าเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ และในสมัยอิสราเอลโบราณจะมีการใช้เครื่องหอมในการนมัสการพระยะโฮวาเท่านั้น (อพย. 30:34-38) แต่ไม่มีบันทึกว่า คริสเตียนในศตวรรษแรกเผาเครื่องหอมเพื่อนมัสการพระเจ้า
c ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องบูชาผูกมิตร ดูหนังสือการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 น. 526
d คำอธิบายภาพ ในวันไถ่บาป มหาปุโรหิตของอิสราเอลจะเอาเครื่องหอมกับถ่านไฟเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุด ทำให้กลิ่นหอมอบอวลไปทั่วห้อง หลังจากนั้น เขาจะเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดอีกพร้อมกับเลือดของสัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชาไถ่บาป
e คำอธิบายภาพ ชาวอิสราเอลคนหนึ่งเอาแกะให้ปุโรหิตถวายเป็นเครื่องบูชาผูกมิตรเพื่อแสดงว่าเขากับครอบครัวรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวา
f คำอธิบายภาพ ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลก ท่านแสดงว่ารักพระยะโฮวาสุดหัวใจโดยทำตามคำสั่งของพระองค์และช่วยสาวกให้ทำแบบเดียวกัน
g คำอธิบายภาพ พี่น้องหญิงสูงอายุคนหนึ่งมีปัญหาสุขภาพ แต่เธอก็ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับพระยะโฮวาโดยเขียนจดหมายประกาศเรื่องของพระองค์กับคนอื่น
h คำอธิบายภาพ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 พี่น้องแกร์ริต เลิชซึ่งเป็นคณะกรรมการปกครองออกคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ฉบับปรับปรุงในภาษาเยอรมัน ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมรู้สึกขอบคุณและตื่นเต้นมาก ตอนนี้พี่น้องในเยอรมนีอย่างพี่น้องหญิงสองคนนี้ดีใจที่ได้ใช้คัมภีร์ไบเบิลที่ออกใหม่นี้ในการรับใช้