“ข้าพเจ้ารักข้อกฎหมายของพระองค์มากเพียงใด!”
“ข้าพเจ้ารักข้อกฎหมายของพระองค์มากเพียงใด! ข้าพเจ้าคำนึงถึงตลอดวัน.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:97, ล.ม.
1, 2. (ก) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 119 ซึ่งได้รับการดลใจเผชิญกับสถานการณ์เช่นไร? (ข) ท่านแสดงปฏิกิริยาอย่างไร และเพราะเหตุใด?
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 119 เผชิญการทดลองอันสาหัส. ศัตรูผู้ล่วงล้ำสิทธิ์ซึ่งเพิกเฉยต่อกฎหมายของพระเจ้าเย้ยหยันท่านและใส่ร้ายป้ายสีท่าน. พวกเจ้าชายปรึกษากันเพื่อต่อสู้และมุ่งร้ายท่าน. คนชั่วมีอยู่รอบด้าน และชีวิตท่านตกอยู่ในอันตราย. ทั้งหมดนี้ทำให้ท่าน “นอนไม่หลับเพราะความเศร้าโศก.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:9, 23, 28, ล.ม., 51, 61, 69, 85, 87, 161) แต่แม้ว่าต้องเผชิญการทดลองดังกล่าว ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเป็นเพลงว่า “ข้าพเจ้ารักข้อกฎหมายของพระองค์มากเพียงใด! ข้าพเจ้าคำนึงถึงตลอดวัน.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:97, ล.ม.
2 เราอาจถามว่า “กฎหมายของพระเจ้าให้การปลอบใจแก่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้อย่างไร?” ความเชื่อมั่นที่ว่าพระยะโฮวาสนพระทัยในตัวท่านนั่นเองที่ช่วยค้ำจุนท่าน. การคุ้นเคยดีกับบทบัญญัติอันเปี่ยมด้วยความรักของกฎหมายนั้นทำให้ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญมีความสุข แม้พวกผู้ต่อต้านท่านนำความทุกข์ยากมากมายมาสู่ท่าน. ท่านสำนึกว่าพระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อท่านด้วยความกรุณา. นอกจากนั้น การปฏิบัติตามคำชี้แนะในกฎหมายของพระเจ้าทำให้ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญฉลาดสุขุมยิ่งกว่าเหล่าศัตรูและถึงกับช่วยท่านรักษาชีวิตให้รอดด้วยซ้ำ. การเชื่อฟังกฎหมายนั้นทำให้ท่านมีสันติสุขและสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด.—บทเพลงสรรเสริญ 119:1, 9, 65, 93, 98, 165.
3. เหตุใดจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคริสเตียนที่จะดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระเจ้าในปัจจุบัน?
3 ผู้รับใช้ของพระเจ้าบางคนในปัจจุบันถูกทดสอบความเชื่ออย่างรุนแรงด้วยเหมือนกัน. เราอาจไม่ได้เผชิญวิกฤติถึงขนาดที่คุกคามชีวิตเหมือนผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ แต่เรามีชีวิตอยู่ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” ผู้คนมากมายที่เราติดต่อด้วยในชีวิตประจำวันไม่มีความรักต่อค่านิยมฝ่ายวิญญาณ—เป้าหมายของพวกเขาเป็นแบบที่คิดถึงแต่ตัวเองและมุ่งในด้านวัตถุ ท่าทีของพวกเขานั้นหยิ่งยโสและขาดความเคารพ. (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) คริสเตียนหนุ่มสาวต้องรับมือเป็นประจำกับหลายสิ่งที่ทดสอบความซื่อสัตย์มั่นคงด้านศีลธรรม. ในสถานการณ์แวดล้อมเช่นนั้น อาจนับว่ายากที่จะรักษาความรักของเราต่อพระยะโฮวาและต่อสิ่งที่ถูกต้อง. เราจะป้องกันตัวเราเองได้โดยวิธีใด?
4. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อกฎหมายของพระเจ้าอย่างไร และคริสเตียนควรทำแบบเดียวกันอย่างไร?
4 สิ่งที่ช่วยผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญให้รับมือกับความกดดันต่าง ๆ ได้คือการที่ท่านกันเวลาเอาไว้โดยเฉพาะเพื่อศึกษากฎหมายของพระเจ้าอย่างถี่ถ้วนด้วยความหยั่งรู้ค่า. โดยวิธีนี้ ท่านจึงรักกฎหมายนั้น. ที่จริง แทบทุกข้อของเพลงสรรเสริญบท 119 กล่าวถึงแง่มุมบางอย่างในกฎหมายของพระยะโฮวา.a คริสเตียนในปัจจุบันไม่อยู่ภายใต้พระบัญญัติของโมเซที่พระเจ้าประทานแก่ชาติอิสราเอลโบราณ. (โกโลซาย 2:14) อย่างไรก็ตาม หลักการที่แฝงอยู่ในพระบัญญัตินั้นยังคงมีคุณค่าอยู่เสมอ. หลักการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปลอบโยนผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ และให้การปลอบโยนได้ด้วยแก่ผู้รับใช้ของพระเจ้าที่กำลังต่อสู้เพื่อรับมือกับความยุ่งยากลำบากในชีวิตสมัยปัจจุบัน.
5. เราจะพิจารณาแง่มุมใดบ้างในพระบัญญัติของโมเซ?
5 ให้เรามาดูว่าเราสามารถได้รับการหนุนใจเช่นไรจากเพียงสามแง่มุมในพระบัญญัติของโมเซที่จะยกขึ้นมาพิจารณา: การจัดเตรียมเกี่ยวกับซะบาโต, การจัดเตรียมให้เหลือพืชผลในไร่นา, และพระบัญชาที่ห้ามไม่ให้โลภ. ในแต่ละกรณี เราจะพบว่าความหยั่งรู้ค่าต่อหลักการที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายเหล่านี้นับว่าสำคัญยิ่งเพื่อเราจะรับมือได้กับข้อท้าทายทั้งหลายในสมัยของเรา.
สนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของเรา
6. ประชาชนทุกคนมีความจำเป็นพื้นฐานอะไร?
6 มนุษยชาติถูกสร้างให้มีความจำเป็นหลายด้าน. ตัวอย่างเช่น อาหาร, น้ำ, และที่พักอาศัยเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อคนเราจะมีสุขภาพร่างกายที่ดี. กระนั้น มนุษย์เราต้องดูแล “ความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ” ของตนด้วย. เขาจะไม่มีความสุขอย่างแท้จริงหากไม่ดูแลความจำเป็นในด้านนี้. (มัดธาย 5:3, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงถือว่าการสนองความจำเป็นที่มีมาแต่กำเนิดนี้เป็นเรื่องสำคัญมากถึงขนาดที่พระองค์ทรงมีพระบัญชาให้ประชาชนของพระองค์หยุดการงานตามปกติของตนหนึ่งวันเต็มในแต่ละสัปดาห์เพื่อจะเอาใจใส่เรื่องทางฝ่ายวิญญาณ.
7, 8. (ก) พระเจ้าทรงทำให้วันซะบาโตต่างจากวันอื่น ๆ อย่างไร? (ข) ซะบาโตตั้งไว้ด้วยจุดประสงค์อะไร?
7 การจัดเตรียมเกี่ยวกับซะบาโตเน้นความสำคัญของการใช้เวลาในการพัฒนาสายสัมพันธ์กับพระเจ้า. แห่งแรกที่ปรากฏคำ “ซะบาโต” ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมให้มีมานาในถิ่นทุรกันดาร. ได้มีการแจ้งแก่ชาวอิสราเอลว่าพวกเขาควรเก็บอาหารที่เกิดขึ้นอย่างอัศจรรย์นี้ในหกวัน. ในวันที่หก พวกเขาต้องเก็บ “อาหารให้พอรับประทานสองวัน” เพราะในวันที่เจ็ดจะไม่โปรดให้มีมานา. วันที่เจ็ดจะเป็น “ซะบาโตวันบริสุทธิ์แห่งพระยะโฮวา” ซึ่งในวันนั้นแต่ละคนควรพักอยู่ในที่ของตน. (เอ็กโซโด 16:13-30) พระบัญญัติสิบประการข้อหนึ่งสั่งไว้ว่าห้ามทำงานในวันซะบาโตเด็ดขาด. วันนี้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์. การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายข้อนี้มีโทษถึงตาย.—เอ็กโซโด 20:8-11; อาฤธโม 15:32-36.
8 กฎหมายซะบาโตแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยของพระยะโฮวาในเรื่องสวัสดิภาพของประชาชนของพระองค์ทั้งทางกายและฝ่ายวิญญาณ. พระเยซูตรัสว่า “วันซะบาโตนั้นตั้งไว้สำหรับมนุษย์.” (มาระโก 2:27) วันนี้ไม่เพียงทำให้ชาวอิสราเอลได้พักผ่อน แต่ยังทำให้พวกเขามีโอกาสได้เข้าใกล้พระผู้สร้างและแสดงความรักต่อพระองค์. (พระบัญญัติ 5:12) วันนี้เป็นวันที่อุทิศไว้โดยเฉพาะเพื่อผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณ. ผลประโยชน์นั้นรวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนมัสการด้วยกันเป็นครอบครัว, การอธิษฐาน, และการคิดรำพึงในกฎหมายของพระเจ้า. การจัดเตรียมนี้ช่วยป้องกันชาวอิสราเอลไม่ให้ใช้เวลาและพลังทั้งหมดไปกับการแสวงหาสิ่งฝ่ายวัตถุ. วันซะบาโตเตือนใจพวกเขาไม่ให้ลืมว่าสายสัมพันธ์ของตนกับพระยะโฮวาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต. พระเยซูตรัสย้ำอีกถึงหลักการดังกล่าวซึ่งไม่เคยเปลี่ยนเมื่อพระองค์ตรัสว่า “มีคำเขียนไว้ว่า, ‘มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่ด้วยบรรดาโอวาทซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า.’ ”—มัดธาย 4:4.
9. การจัดเตรียมให้มีวันซะบาโตสอนบทเรียนอะไรแก่คริสเตียน?
9 ประชาชนของพระเจ้าไม่ได้ถูกเรียกร้องให้ถือรักษาซะบาโตด้วยการหยุดพักนาน 24 ชั่วโมงอีกต่อไป แต่การจัดให้มีวันซะบาโตไม่ได้เป็นเพียงเรื่องน่ารู้ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น. (โกโลซาย 2:16) ซะบาโตเป็นเครื่องเตือนใจว่าเราก็เช่นกันต้องให้กิจกรรมฝ่ายวิญญาณมาเป็นอันดับแรกในชีวิตเรามิใช่หรือ? กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการของเราต้องไม่ถูกบดบังโดยการหมกมุ่นในสิ่งฝ่ายวัตถุหรือการหาความบันเทิง. (เฮ็บราย 4:9, 10) ดังนั้น เราอาจถามตัวเองว่า “ฉันให้อะไรเป็นอันดับแรกในชีวิต? ฉันให้ความสำคัญในอันดับแรกแก่การศึกษาส่วนตัว, การอธิษฐาน, การเข้าร่วมประชุมคริสเตียน, และการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไหม? หรือว่าความสนใจในเรื่องอื่น ๆ เข้ามาเบียดบังกิจกรรมดังกล่าว?” หากเราจัดให้สิ่งฝ่ายวิญญาณมาเป็นอันดับแรกในชีวิต พระยะโฮวาทรงรับรองกับเราว่าเราจะไม่ขาดสิ่งที่จำเป็นในชีวิต.—มัดธาย 6:24-33.
10. เราสามารถได้ประโยชน์อย่างไรจากการอุทิศเวลาเพื่อสิ่งฝ่ายวิญญาณ?
10 เวลาที่เราใช้ไปในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและสิ่งพิมพ์ที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลัก รวมทั้งการคิดให้ลึกซึ้งถึงข่าวสารที่อยู่ในนั้น สามารถช่วยเราให้เข้าใกล้พระยะโฮวายิ่งขึ้น. (ยาโกโบ 4:8) ซูซาน ซึ่งเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้วได้เริ่มจัดเวลาไว้โดยเฉพาะสำหรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ ยอมรับว่าในช่วงแรก ๆ การทำอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องสนุกแต่เป็นงานหนัก. ทว่ายิ่งเธออ่านมากขึ้น เธอก็ยิ่งรู้สึกเพลิดเพลินมากขึ้น. ตอนนี้ ถ้าวันไหนมีเหตุจำเป็นบางอย่างที่ทำให้เธอไม่ได้ศึกษาส่วนตัว เธอจะรู้สึกว่าขาดอะไรไปสักอย่าง. เธอบอกว่า “การศึกษาได้ช่วยดิฉันให้ทำความรู้จักกับพระยะโฮวาในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระบิดา. ดิฉันสามารถไว้ใจพระองค์, หวังพึ่งพระองค์, และทูลอธิษฐานถึงพระองค์ได้อย่างสนิทใจ. เป็นเรื่องน่าตื้นตันใจจริง ๆ ที่ได้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงรักผู้รับใช้ของพระองค์มากขนาดไหน, ทรงห่วงใยดิฉันเป็นส่วนตัวอย่างไร, และได้ทำอย่างไรบ้างเพื่อช่วยดิฉัน.” มีความยินดีมากมายจริง ๆ ที่เราเองก็สามารถได้รับจากการเอาใจใส่ความจำเป็นฝ่ายวิญญาณเป็นประจำ!
พระบัญญัติของพระเจ้าว่าด้วยการเหลือพืชผลในไร่นา
11. มีการจัดเตรียมอย่างไรในเรื่องการเหลือพืชผลในไร่นา?
11 แง่มุมที่สองในพระบัญญัติของโมเซที่สะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยของพระเจ้าต่อสวัสดิภาพของประชาชนของพระองค์คือสิทธิที่จะเก็บพืชผลที่เหลือในไร่นา. พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาว่าเมื่อกสิกรชาวอิสราเอลเก็บเกี่ยวพืชผลจากไร่นา เขาต้องอนุญาตให้คนขัดสนเข้ามาเก็บพืชผลที่คนงานเก็บเกี่ยวเหลือค้างอยู่ในไร่นา. ชาวนาต้องไม่เกี่ยวข้าวจนเกลี้ยงถึงขอบนาหรือกลับมาเก็บผลองุ่นหรือมะกอกที่ตกค้างอยู่. พวกเขาต้องไม่กลับไปเก็บฟ่อนข้าวที่ร่วงตกอยู่ตามทุ่งนาโดยไม่ตั้งใจ. นี่เป็นการจัดเตรียมที่เปี่ยมด้วยความรักเพื่อประโยชน์ของคนยากจน, พลเมืองที่เป็นคนต่างด้าว, ลูกกำพร้า, และหญิงม่าย. จริงอยู่ เพื่อจะเก็บพืชผลที่เหลือในไร่นาพวกเขาเองต้องทำงานหนัก แต่โดยวิธีนี้ทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องขอทาน.—เลวีติโก 19:9, 10; พระบัญญัติ 24:19-22; บทเพลงสรรเสริญ 37:25.
12. การจัดเตรียมเกี่ยวกับการเหลือพืชผลในไร่นาทำให้ชาวนามีโอกาสอะไร?
12 พระบัญญัติว่าด้วยการเหลือพืชผลในไร่นาไม่ได้กำหนดว่ากสิกรต้องเหลือพืชผลให้คนขัดสนเท่าไร. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพวกเขาเองว่าจะเหลือข้าวที่ไม่ถูกเกี่ยวไว้ตามขอบนามากน้อยขนาดไหน. ในเมื่อเป็นเช่นนี้ การจัดเตรียมนี้จึงสอนในเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. พระบัญญัตินี้ทำให้กสิกรมีโอกาสแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาผู้ทรงอวยพรให้มีการเก็บเกี่ยว เนื่องจาก “บุคคลผู้มีความเมตตาแก่คนยากจนก็ถวายเกียรติยศแก่ [พระผู้สร้างของตน].” (สุภาษิต 14:31) โบอัศเป็นคนหนึ่งที่ทำอย่างนั้น. ด้วยความกรุณา เขาจัดแจงเพื่อให้รูธ แม่ม่ายคนหนึ่งที่มาเก็บพืชผลที่เหลือในทุ่งนาของเขา จะเก็บเกี่ยวข้าวได้มากพอ. พระยะโฮวาประทานบำเหน็จอย่างเหลือล้นแก่โบอัศเพราะความเอื้อเฟื้อของเขา.—ประวัตินางรูธ 2:15, 16; 4:21, 22; สุภาษิต 19:17.
13. กฎหมายในสมัยโบราณว่าด้วยการเหลือพืชผลในไร่นาสอนอะไรแก่เรา?
13 หลักการเบื้องหลังกฎหมายว่าด้วยการเหลือพืชผลในไร่นาไม่ได้เปลี่ยนไป. พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้ผู้รับใช้ของพระองค์มีใจเอื้อเฟื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนขัดสน. ยิ่งเราเอื้อเฟื้อมากเท่าใด เราก็จะได้รับพระพรมากเท่านั้น. พระเยซูตรัสว่า “จงแจกปันให้เขา, และเขาจะแจกปันให้ท่านด้วย เขาจะตวงด้วยทะนานถ้วนยัดสั่นแน่นพูนล้นใส่ในตักของท่าน. เพราะว่าท่านจะตวงให้เขาด้วยทะนานอันใด, เขาจะตวงให้ท่านด้วยทะนานอันนั้น.”—ลูกา 6:38.
14, 15. เราจะแสดงความเอื้อเฟื้อได้อย่างไร และนั่นอาจก่อผลประโยชน์เช่นไรทั้งต่อตัวเราเองและคนที่เราช่วยเหลือ?
14 อัครสาวกเปาโลสนับสนุนเราให้ “กระทำการดีแก่คนทั้งปวง, และที่สำคัญนั้นจงกระทำแก่ครอบครัวของความเชื่อ.” (ฆะลาเตีย 6:10) ด้วยเหตุนั้น เป็นเรื่องแน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเอาใจใส่เพื่อช่วยเหลือเพื่อนคริสเตียนทางฝ่ายวิญญาณเมื่อไรก็ตามที่พวกเขาเผชิญการทดสอบความเชื่อ. แต่พวกเขาอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในภาคปฏิบัติด้วยไหม เช่น ในการเดินทางมาที่หอประชุมหรือในการจับจ่ายซื้อของ? มีผู้สูงอายุ, ผู้ป่วย, หรือคนที่ไปไหนมาไหนไม่ได้ในประชาคมของคุณไหมซึ่งคงจะหยั่งรู้ค่าหากได้รับการเยี่ยมที่หนุนใจหรือช่วยทำอะไรบางอย่างให้? หากเราพยายามตื่นตัวเพื่อจะสังเกตเห็นความจำเป็นเช่นนั้น พระยะโฮวาก็อาจจะสามารถใช้เราเพื่อตอบคำอธิษฐานของคนขัดสน. แม้ว่าการดูแลกันและกันเป็นพันธะอย่างหนึ่งของคริสเตียน การทำอย่างนั้นยังช่วยผู้ที่ให้การดูแลแก่ผู้อื่นด้วย. การแสดงความรักแท้ต่อเพื่อนผู้นมัสการเป็นที่มาของความยินดีอย่างมากมายและความอิ่มใจพอใจอย่างลึกซึ้งซึ่งทำให้เราได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวา.—สุภาษิต 15:29.
15 วิธีที่สำคัญอีกวิธีหนึ่งที่คริสเตียนแสดงเจตคติที่ไม่เห็นแก่ตัวคือโดยการใช้เวลาและพลังของตนเพื่อพูดเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า. (มัดธาย 28:19, 20) ใครก็ตามที่มีความยินดีในการช่วยเหลือผู้อื่นจนกระทั่งถึงขั้นอุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาย่อมตระหนักดีถึงความสัตย์จริงในคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35.
ระวังตัวให้พ้นจากความโลภ
16, 17. พระบัญญัติข้อที่สิบห้ามอะไร และเพราะเหตุใด?
16 แง่มุมที่สามในพระบัญญัติของพระเจ้าซึ่งประทานแก่ชาติอิสราเอลที่เราจะพิจารณากันต่อไปคือพระบัญญัติสิบประการข้อที่สิบซึ่งห้ามไม่ให้โลภ. พระบัญญัติข้อนี้กล่าวว่า “อย่าโลภเรือนของเพื่อนบ้าน, อย่าโลภภรรยาของเพื่อนบ้าน, หรือทาสาทาสีของเขา, หรือโคลาของเขา, หรือสิ่งใด ๆ ซึ่งเป็นของ ๆ เพื่อนบ้าน.” (เอ็กโซโด 20:17) ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถบังคับใช้พระบัญญัติเช่นนี้ได้ เนื่องจากไม่มีใครอ่านใจได้. อย่างไรก็ตาม พระบัญญัติข้อนี้ยกระดับพระบัญญัติให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าระบบความยุติธรรมของมนุษย์. พระบัญญัติข้อนี้ทำให้ชาวอิสราเอลแต่ละคนสำนึกว่าเขาต้องให้การโดยตรงต่อพระยะโฮวาผู้ทรงสามารถอ่านความโน้มเอียงของหัวใจ. (1 ซามูเอล 16:7) นอกจากนั้น พระบัญญัติข้อนี้หยั่งลึกลงไปถึงรากของการกระทำที่ผิดกฎหมายหลาย ๆ อย่าง.—ยาโกโบ 1:14.
17 กฎหมายที่ห้ามความโลภสนับสนุนประชาชนของพระเจ้าให้หลีกเลี่ยงการนิยมวัตถุ, ความละโมบ, และการพร่ำบ่นเกี่ยวกับความลำบากในชีวิตตน. กฎหมายนี้ยังป้องกันพวกเขาไว้จากการล่อใจให้ขโมยหรือทำผิดศีลธรรม. ในโลกนี้มีคนที่เรานิยมชมชอบซึ่งมีทรัพย์สินเงินทองมากหรือคนที่ดูเหมือนว่าประสบความสำเร็จมากกว่าเราในทางใดทางหนึ่งเสมอ. หากเราไม่ได้ควบคุมความคิดในกรณีอย่างนี้ เราอาจเริ่มไม่มีความสุขและรู้สึกอิจฉาคนอื่นได้. คัมภีร์ไบเบิลเรียกความโลภว่าเป็นการแสดงออกซึ่ง “สภาพจิตใจที่ [พระเจ้า] ไม่พอพระทัย.” เราจะอยู่ในสภาพที่ดีกว่ามากหากไม่มีความโลภ.—โรม 1:28-30, ล.ม.
18. น้ำใจอะไรมีอยู่โดยทั่วไปในโลกทุกวันนี้ และน้ำใจนี้อาจก่อผลเสียหายเช่นไร?
18 น้ำใจที่แพร่หลายในโลกทุกวันนี้ส่งเสริมการนิยมวัตถุและการแข่งขัน. โดยทางโฆษณา ธุรกิจการค้าปลุกเร้าให้อยากได้สินค้าใหม่ ๆ และบ่อยครั้งพยายามถ่ายทอดแนวคิดที่ว่าเราจะไม่มีความสุขหากไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าเหล่านั้น. นี่แหละคือน้ำใจแบบที่พระบัญญัติของพระยะโฮวาตำหนิ. สิ่งที่เกี่ยวข้องกับน้ำใจนี้ก็คือความปรารถนาที่จะก้าวหน้าในชีวิตไม่ว่าจะต้องเสียอะไรก็ตามและส่ำสมความมั่งคั่ง. อัครสาวกเปาโลเตือนว่า “คนเหล่านั้นที่อยากเป็นคนมั่งมีก็ย่อมตกในการทดลอง, และในบ่วงแร้ว, และในตัณหาหลายอย่างอันโฉดเขลาและเป็นภัยแก่ตัว, ซึ่งย่อมทำให้ตัวจมลงในความพินาศเสื่อมศูนย์ไป. ด้วยว่าการรักเงินทองนั้นก็เป็นรากแห่งความชั่วทุกอย่าง และบางคนที่ได้โลภเงินทองจึงได้หลงไปจากความเชื่อนั้น, และความทุกข์เป็นอันมากจึงทิ่มแทงตัวของเขาเองให้ทะลุ.”—1 ติโมเธียว 6:9, 10.
19, 20. (ก) สำหรับผู้รักกฎหมายของพระยะโฮวา สิ่งที่มีค่ามากคืออะไรบ้าง? (ข) บทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องอะไร?
19 คนที่รักกฎหมายของพระเจ้าตระหนักดีถึงอันตรายของน้ำใจนิยมวัตถุและได้รับการปกป้องไว้จากน้ำใจนี้. ตัวอย่างเช่น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอธิษฐานถึงพระยะโฮวาว่า “ขอทรงโน้มใจของข้าพเจ้าให้นิยมในข้อปฏิญาณของพระองค์, และขออย่าให้มีใจโลภได้. พระบัญญัติที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์นั้นดีประเสริฐสำหรับข้าพเจ้าประเสริฐกว่าเงินทองหลายพันชั่ง.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:36, 72) การเชื่อมั่นถึงความสัตย์จริงของถ้อยคำดังกล่าวจะช่วยเราให้รักษาความสมดุลที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงบ่วงแร้วแห่งวัตถุนิยม, ความละโมบ, และความไม่พอใจกับชีวิตของตัวเอง. “ความเลื่อมใสพระเจ้า” คือกุญแจสู่ผลกำไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไม่ใช่การส่ำสมทรัพย์สมบัติ.—1 ติโมเธียว 6:6, ล.ม.
20 หลักการที่อยู่เบื้องหลังพระบัญญัติที่พระยะโฮวาประทานแก่ชาติอิสราเอลโบราณนั้นมีคุณค่าในสมัยอันยุ่งยากลำบากของเราเช่นเดียวกับในสมัยที่พระยะโฮวาประทานพระบัญญัตินั้นแก่โมเซ. ยิ่งเราใช้หลักการเหล่านี้มากเท่าใดในชีวิต เราก็จะยิ่งเข้าใจดีขึ้น, รักหลักการเหล่านี้มากขึ้น, และมีความสุขมากขึ้น. พระบัญญัติเก็บรักษาบทเรียนมากมายซึ่งมีค่าสำหรับเรา และข้อเตือนใจที่ชัดเจนให้ระลึกถึงคุณค่าของบทเรียนเหล่านี้เห็นได้จากเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของหลายคนในคัมภีร์ไบเบิล. เราจะพิจารณาเรื่องราวของบางคนในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ยกเว้นเพียง 4 ข้อจากทั้งหมด 176 ข้อของเพลงสรรเสริญบทนี้ ข้ออื่น ๆ ล้วนกล่าวถึงพระบัญชา, การพิพากษาตัดสิน, กฎหมาย, ระเบียบ, กฎ, ข้อเตือนใจ, สุภาษิต, ข้อบังคับ, วิถีทาง, หรือพระดำรัสของพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เหตุใดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 119 รักกฎหมายของพระยะโฮวา?
• คริสเตียนอาจเรียนอะไรได้จากการจัดเตรียมเกี่ยวกับซะบาโต?
• กฎหมายของพระเจ้าว่าด้วยการเหลือพืชผลในไร่นามีคุณค่าที่ยั่งยืนเช่นไร?
• พระบัญญัติที่ห้ามไม่ให้โลภช่วยปกป้องเราอย่างไร?
[ภาพหน้า 21]
กฎหมายซะบาโตเน้นในเรื่องอะไร?
[ภาพหน้า 23]
กฎหมายว่าด้วยการเหลือพืชผลในไร่นาสอนอะไรแก่เรา?