คุณจะติดตามการชี้นำด้วยความรักของพระยะโฮวาไหม?
“ข้าพระองค์ . . . เกลียดทางที่ผิดทุกทาง.”—เพลง. 119:128, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
1, 2. (ก) เมื่อคุณขอใครให้ช่วยบอกทาง คำเตือนแบบไหนที่คุณคงยินดีรับ และเพราะเหตุใด? (ข) พระยะโฮวาทรงให้คำเตือนอะไรแก่ผู้ที่รับใช้พระองค์ และเพราะเหตุใด?
ขอให้นึกภาพอย่างนี้: คุณต้องเดินทางไปที่แห่งหนึ่ง. คุณขอความช่วยเหลือจากเพื่อนคนหนึ่งที่ไว้ใจได้ซึ่งรู้ทางให้ช่วยบอกทาง. ตอนที่เขาอธิบายเส้นทางให้คุณฟังอย่างละเอียด เขาอาจพูดทำนองนี้: “ระวังแยกถัดไปให้ดี เพราะป้ายบอกทางไม่ชัด. หลายคนไปตามที่ป้ายบอกแล้วหลงทาง.” คุณจะขอบคุณที่เขาเป็นห่วงและฟังคำเตือนของเขาไหม? ในบางแง่ พระยะโฮวาทรงเป็นเหมือนเพื่อนคนนี้. พระองค์ทรงให้คำชี้แนะที่รอบคอบเกี่ยวกับวิธีที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางอันได้แก่ชีวิตนิรันดร์ แต่พระองค์ก็ทรงเตือนเราเกี่ยวกับอิทธิพลที่ไม่ดีที่อาจทำให้เราไปผิดทาง.—บัญ. 5:32; ยซา. 30:21
2 ในบทความนี้และบทความถัดไป เราจะพิจารณาอิทธิพลบางอย่างที่มิตรของเรา คือพระยะโฮวาพระเจ้า ทรงเตือนเรา. ขอให้เราจำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงเตือนเราเพราะพระองค์ทรงห่วงใยและรักเรา. พระองค์ทรงประสงค์ให้เราไปถึงจุดหมายปลายทาง. พระองค์ทรงปวดร้าวพระทัยที่เห็นผู้คนพ่ายแพ้แก่อิทธิพลที่ไม่ดีและหลงออกนอกลู่นอกทาง. (ยเอศ. 33:11) ในบทความนี้ เราจะพิจารณาอิทธิพลที่ไม่ดีสามอย่าง. อย่างแรกคือแรงผลักดันที่มาจากภายนอก อย่างที่สองคือแรงผลักดันที่มาจากภายใน. อย่างที่สามเป็นแรงผลักดันของสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ๆ แต่ว่าอันตรายมาก. เราจำเป็นต้องรู้ว่าอิทธิพลเหล่านี้คืออะไรและพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงสอนเราให้ต้านทานอิทธิพลเหล่านี้อย่างไร. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญคนหนึ่งซึ่งได้รับการดลใจทูลพระยะโฮวาว่า “ข้าพระองค์ . . . เกลียดทางที่ผิดทุกทาง.” (เพลง. 119:128, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) คุณรู้สึกแบบเดียวกันนั้นไหม? ขอให้เรามาดูวิธีที่เราจะมีความรู้สึกอย่างแรงกล้าเช่นนั้นและปฏิบัติสอดคล้องกับความรู้สึกนั้น.
อย่าทำตาม “คนส่วนมาก”
3. (ก) เหตุใดจึงนับว่าอันตรายที่จะตามนักเดินทางคนอื่น ๆ เมื่อเราไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหน? (ข) เราพบหลักการสำคัญอะไรที่เอ็กโซโด 23:2?
3 เมื่อเดินทางไกล คุณจะทำอะไรถ้าไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหน? คุณอาจถูกล่อใจให้ตามนักเดินทางคนอื่น โดยเฉพาะถ้าคุณเห็นว่ามีคนมากมายเลือกเส้นทางเดียวกัน. การทำอย่างนั้นนับว่าเสี่ยง. ที่จริง นักเดินทางเหล่านั้นอาจไม่ได้มุ่งไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกันกับคุณ หรือพวกเขาเองก็อาจหลงทาง. ในเรื่องนี้ ขอให้พิจารณาหลักการที่เป็นพื้นฐานของกฎหมายข้อหนึ่งที่พระยะโฮวาประทานแก่ชาติอิสราเอลโบราณ. คนที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาหรือพยานในการพิจารณาคดีได้รับคำเตือนให้ระวังอันตรายของการ “ตามอย่างคนส่วนมาก.” (อ่านเอ็กโซโด 23:2) ไม่ต้องสงสัย เป็นเรื่องง่ายมากที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์จะยอมแพ้แรงกดดันจากคนรอบข้าง และบิดเบือนความยุติธรรม. อย่างไรก็ตาม หลักการที่ว่าไม่ควรตามคนส่วนมากใช้เฉพาะกับการพิจารณาคดีเท่านั้นไหม? เปล่าเลย.
4, 5. ยะโฮซูอะและคาเลบถูกกดดันให้ทำตามฝูงชนอย่างไร แต่อะไรทำให้ทั้งสองสามารถต้านทานได้?
4 ในความเป็นจริง แรงกดดันที่จะ “ตามอย่างคนส่วนมาก” อาจมีผลกระทบต่อเราแทบตลอดเวลา. แรงกดดันอาจเกิดขึ้นในทันทีทันใด และอาจเป็นเรื่องยากมากที่จะต้านทาน. ตัวอย่างเช่น ขอให้นึกถึงแรงกดดันจากเพื่อนร่วมชาติที่ยะโฮซูอะและคาเลบเคยเผชิญ. พวกเขาอยู่ในกลุ่มชาย 12 คนที่เข้าไปในแผ่นดินที่ทรงสัญญาเพื่อสอดแนม. เมื่อกลับมา ชายสิบคนรายงานในแง่ลบอย่างมากและทำให้ท้อใจ. พวกเขาถึงกับอ้างว่ามีบางคนที่อยู่ในแผ่นดินนั้นเป็นพวกยักษ์ที่สืบเชื้อสายมาจากเนฟิลิม ลูกหลานของทูตสวรรค์ที่ขืนอำนาจกับบุตรสาวของมนุษย์. (เย. 6:4) นั่นเป็นข้ออ้างที่ไร้สาระ. พวกลูกผสมที่ชั่วร้ายเหล่านั้นได้ถูกกวาดล้างออกไปคราวน้ำท่วมโลกหลายศตวรรษก่อนหน้านั้นแล้ว และไม่เหลือลูกหลานของพวกมันแม้แต่คนเดียว. ทั้ง ๆ ที่นั่นเป็นแนวคิดที่ไร้เหตุผลที่สุด แต่ก็มีอิทธิพลต่อคนที่ความเชื่ออ่อนแอ. รายงานในแง่ลบจากผู้สอดแนมสิบคนแพร่ความกลัวและความตื่นตระหนกภายในหมู่ผู้คนอย่างรวดเร็ว. ไม่ช้า คนส่วนใหญ่ก็มั่นใจว่าไม่ควรเข้าไปในแผ่นดินที่ทรงสัญญาตามที่พระยะโฮวาทรงชี้นำ. ในสถานการณ์ที่คุกรุ่นเช่นนี้ ยะโฮซูอะกับคาเลบจะทำเช่นไร?—อาฤ. 13:25-33
5 พวกเขาไม่ได้ตามอย่างคนหมู่มาก. ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่อยากฟัง ชายทั้งสองบอกความจริงและยึดมั่นกับความจริง แม้ถูกขู่ว่าจะเอาหินขว้างให้ตาย! พวกเขาได้ความกล้ามาจากไหน? ส่วนหนึ่งนั้นคงต้องมาจากความเชื่อของพวกเขาแน่ ๆ. คนที่มีความเชื่อเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างข้ออ้างที่ไร้สาระของมนุษย์กับคำสัญญาศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวาพระเจ้า. ภายหลังชายทั้งสองคนนี้ก็เผยให้เห็นว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการที่พระยะโฮวาทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์ทุกประการ. (อ่านยะโฮซูอะ 14:6, 8; 23:2, 14) ยะโฮซูอะและคาเลบติดสนิทอยู่กับพระเจ้าผู้ซื่อสัตย์ และพวกเขาไม่ต้องการทำให้พระองค์เสียพระทัยเพียงเพื่อจะตามอย่างฝูงชนที่ไม่มีความเชื่อ. ด้วยเหตุนั้น พวกเขายืนหยัดมั่นคง และวางตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับเราในทุกวันนี้.—อาฤ. 14:1-10
6. เราอาจรู้สึกถูกกดดันให้ตามอย่างคนส่วนมากโดยวิธีใด?
6 คุณเคยรู้สึกถูกกดดันให้ตามอย่างคนหมู่มากไหม? ผู้คนที่เหินห่างจากพระยะโฮวาและเยาะเย้ยมาตรฐานด้านศีลธรรมของพระองค์มีจำนวนมากจริง ๆ ในทุกวันนี้. ในเรื่องความบันเทิงและนันทนาการ คนหมู่มากมักส่งเสริมแนวคิดที่ไร้แก่นสาร. พวกเขาอาจยืนกรานว่าการผิดศีลธรรม ความรุนแรง และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผีปิศาจ ซึ่งมีแพร่หลายมากในรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวิดีโอเกมไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด. (2 ติโม. 3:1-5) เมื่อคุณเลือกความบันเทิงและนันทนาการสำหรับตัวเองและครอบครัว คุณปล่อยให้สติรู้สึกผิดชอบที่หย่อนยานของคนอื่นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคุณและหล่อหลอมสติรู้สึกผิดชอบของคุณไหม? ที่จริง การทำแบบนั้นก็เท่ากับว่าคุณตามอย่างคนหมู่มากมิใช่หรือ?
7, 8. (ก) เราฝึกใช้ “วิจารณญาณ” ของเราอย่างไร และเหตุใดการฝึกเช่นนั้นจึงเป็นประโยชน์มากกว่าการทำตามกฎมากมายที่เข้มงวด? (ข) เหตุใดคุณจึงรู้สึกว่าตัวอย่างของเยาวชนคริสเตียนจำนวนมากเป็นเรื่องที่น่าชื่นใจ?
7 พระยะโฮวาประทานของขวัญอันล้ำค่าให้เราเพื่อช่วยเราในการตัดสินใจ นั่นคือ “วิจารณญาณ.” อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้อง “ฝึกใช้” วิจารณญาณของเรา. (ฮีบรู 5:14) การตามอย่างคนส่วนมากไม่ได้ช่วยให้เราฝึกใช้วิจารณญาณ; ในอีกด้านหนึ่ง การมีกฎที่เข้มงวดมากมายก็ไม่ช่วยเราให้ทำอย่างนั้นด้วยเช่นกัน. นั่นคือเหตุผลที่ประชาชนของพระยะโฮวาไม่ได้รับรายการชื่อภาพยนตร์ หนังสือ และเว็บไซต์อินเทอร์เน็ตที่ควรหลีกเลี่ยง. เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก รายการชื่อที่ทำออกมาก็จะล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว. (1 โค. 7:31) ที่แย่ยิ่งกว่านั้น รายการชื่อแบบนี้ทำให้เราไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาหลักการของคัมภีร์ไบเบิลอย่างรอบคอบพร้อมด้วยการอธิษฐานแล้วก็ตัดสินใจโดยอาศัยหลักการเหล่านั้น.—เอเฟ. 5:10
8 แน่นอน บางครั้งการตัดสินใจของเราที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักอาจทำให้คนอื่นไม่ชอบเรา. เยาวชนคริสเตียนในโรงเรียนอาจเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากคนหมู่มากให้ดูและทำสิ่งที่คนอื่นทุกคนกำลังดูและกำลังทำกันอยู่. (1 เป. 4:4) ด้วยเหตุนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เห็นคริสเตียนทั้งเด็กและผู้ใหญ่กำลังเลียนแบบความเชื่อของยะโฮซูอะและคาเลบ โดยปฏิเสธที่จะตามอย่างคนหมู่มาก.
อย่าทำตามชอบ “ใจแลตา” ของคุณ
9. (ก) ขณะเดินทาง เหตุใดอาจเป็นอันตรายที่จะทำตามแรงกระตุ้นและความปรารถนาของตัวเราเอง? (ข) เหตุใดกฎหมายที่อาฤธโม 15:37-39 จึงสำคัญสำหรับประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณ?
9 อิทธิพลที่เป็นอันตรายอย่างที่สองที่เราจะพิจารณาก็คือแรงผลักดันจากภายใน. เราอาจยกตัวอย่างอย่างนี้: เมื่อคุณเดินทางไปที่แห่งหนึ่ง จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณตัดสินใจโยนแผนที่ของคุณทิ้งไปและทำตามความปรารถนาของตัวเอง เช่น เลี้ยวไปตามถนนทุกสายที่ดูเหมือนว่ามีทัศนียภาพงดงาม? เห็นได้ชัดว่า การยอมแพ้แก่ความปรารถนาเช่นนั้นคงจะทำให้คุณไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง. ในเรื่องนี้ ขอให้พิจารณากฎหมายอีกข้อหนึ่งที่พระยะโฮวาประทานแก่ชาติอิสราเอลโบราณ. หลายคนในทุกวันนี้อาจรู้สึกว่ากฎหมายที่กำหนดให้ทำครุยและเย็บด้ายสีฟ้าไว้ที่เสื้อเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก. (อ่านอาฤธโม 15:37-39) แต่คุณเห็นความสำคัญของกฎหมายนี้ไหม? การเชื่อฟังกฎหมายดังกล่าวช่วยประชาชนของพระเจ้าให้แตกต่างและแยกตัวอยู่ต่างหากจากชาตินอกรีตที่อยู่รอบ ๆ พวกเขา. นั่นเป็นเรื่องสำคัญหากพวกเขาต้องการได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป. (เลวี. 18:24, 25) อย่างไรก็ตาม กฎหมายนั้นยังเผยให้เห็นอิทธิพลที่เป็นอันตรายซึ่งมาจากภายในที่อาจชักนำเราให้หลงไปจากเป้าหมายที่จะได้ชีวิตนิรันดร์. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
10. พระยะโฮวาทรงแสดงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร?
10 ขอให้สังเกตว่าพระยะโฮวาทรงบอกไว้อย่างไรถึงเหตุผลที่พระองค์ประทานกฎหมายข้อนี้: “เพื่อจะไม่ให้เจ้าทั้งหลายกระทำตามชอบใจแลตาของเจ้าทั้งหลายตามซึ่งเคยประพฤติผิดล่วงประเวณีแต่ก่อนนั้นมา.” พระยะโฮวาทรงเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง. พระองค์ทรงทราบดีว่าหัวใจหรือบุคคลที่อยู่ภายในของเราถูกล่อลวงอย่างง่ายดายจากสิ่งที่เรารับเข้ามาทางตา. ด้วยเหตุนั้น คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “จิตใจ (มนุษย์) เป็นโกงเกินบรรดาทุกสิ่ง, แลเป็นชั่วร้ายกาจนัก, ใครจะรู้จักใจนั้นเล่า.” (ยิระ. 17:9) คุณเห็นไหมว่าคำเตือนของพระยะโฮวาที่ประทานแก่ชาวอิสราเอลนั้นช่างเหมาะสมสักเพียงไร? พระองค์ทรงทราบดีว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะมองดูชนนอกรีตที่อยู่รอบ ๆ พวกเขาและถูกล่อลวงจากสิ่งที่พวกเขาเห็น. พวกเขาอาจถูกล่อใจให้เป็นเหมือนคนที่ไม่มีความเชื่อแล้วก็คิด รู้สึก และทำเหมือนพวกเขา.—สุภา. 13:20
11. เราอาจถูกล่อใจโดยประสาทสัมผัสของเราอย่างไร?
11 ในสมัยของเรา เป็นเรื่องง่ายยิ่งกว่านั้นอีกที่หัวใจทรยศของเราอาจถูกล่อลวงโดยประสาทสัมผัสของเรา. เราอยู่ในโลกที่ดึงดูดผู้คนให้ทำตามแนวโน้มที่ผิดบาป. ถ้าอย่างนั้น เราจะใช้หลักการที่แฝงอยู่ในอาฤธโม 15:39 ได้อย่างไร? ขอให้พิจารณาว่า ถ้าคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวคุณที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือในชุมชนของคุณแต่งกายอย่างที่ยั่วยวนมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณอาจได้รับผลกระทบอย่างไร? คุณอาจถูกล่อใจให้ “ทำตามชอบใจแลตาของ [คุณ]” และถูกล่อลวงโดยสิ่งที่คุณเห็นไหม? คุณอาจถูกล่อใจให้ลดมาตรฐานของตัวคุณเองโดยการสวมใส่เสื้อผ้าคล้าย ๆ คนอื่นไหม?—โรม 12:1, 2
12, 13. (ก) เราควรทำอะไรถ้าตาของเรามีแนวโน้มที่จะสอดส่ายไปในที่ที่ไม่ควรมอง? (ข) อะไรจะกระตุ้นเราให้หลีกเลี่ยงการเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนอื่นถูกล่อใจ?
12 เราต้องพัฒนาการควบคุมตนเองตั้งแต่บัดนี้. ถ้าตาของเรามีแนวโน้มที่จะสอดส่ายไปยังที่ที่ไม่ควรมอง ขอให้เรานึกถึงความตั้งใจเด็ดเดี่ยวของโยบผู้ซื่อสัตย์ซึ่งตั้งมั่นสัญญากับตาตัวเอง หรือตัดสินใจอย่างแน่วแน่มั่นคง ว่าจะไม่สนใจผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของท่านในเชิงชู้สาว. (โยบ 31:1) คล้ายกัน กษัตริย์ดาวิดตั้งใจแน่วแน่ว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ตั้งสิ่งเลวทรามไว้ต่อตาข้าพเจ้า.” (เพลง. 101:3) สิ่งใดก็ตามที่อาจทำให้สติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดและสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวาเสียหายเป็น “สิ่งเลวทราม” สำหรับเรา. นั่นคงเกี่ยวข้องกับการล่อใจใด ๆ ก็ตามที่ดึงดูดสายตาของเราและล่อลวงหัวใจเราให้ทำผิด.
13 ในอีกด้านหนึ่ง เราไม่ต้องการทำเหมือนกับว่าตั้ง “สิ่งเลวทราม” ไว้ต่อหน้าคนอื่นอย่างแน่นอนด้วยการชักจูงพวกเขาให้ครุ่นคิดในเรื่องการทำผิด. ด้วยเหตุนั้น เราจึงทำตามคำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจของคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจังที่ให้สวมใส่เสื้อผ้าที่เรียบร้อยและสุภาพ. (1 ติโม. 2:9) ความสุภาพไม่ใช่สิ่งที่เราจะให้คำจำกัดความอย่างที่เราชอบ. เราต้องคำนึงถึงสติรู้สึกผิดชอบและความอ่อนไหวของคนรอบข้าง และให้สันติสุขในจิตใจและสวัสดิภาพของพวกเขามาก่อนความชอบของตัวเราเอง. (โรม 15:1, 2) ประชาคมคริสเตียนมีคนหนุ่มสาวหลายแสนคนที่วางตัวอย่างอันดีเยี่ยมในเรื่องนี้. พวกเขาทำให้พวกเราภูมิใจสักเพียงไรที่ไม่ “ทำตามที่ใจและตาของ [พวกเขา] ปรารถนา” โดยเลือกที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยในทุกสิ่งที่พวกเขาทำ แม้แต่ในเรื่องการแต่งกาย!
อย่าติดตามสิ่งที่ “หามีแก่นสารไม่”
14. พระยะโฮวาทรงให้ซามูเอลเตือนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่ “หามีแก่นสารไม่”?
14 ขอให้นึกภาพว่าคุณเดินทางผ่านทะเลทรายอันกว้างใหญ่. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณหันเหออกนอกเส้นทางเพื่อมุ่งตรงไปหาน้ำที่คุณมองเห็นซึ่งที่แท้แล้วเป็นเพียงภาพลวงตา? การมุ่งติดตามภาพลวงตานั้นอาจทำให้คุณเสียชีวิต! พระยะโฮวาทรงทราบดีเกี่ยวกับอันตรายดังกล่าว. ขอให้พิจารณาตัวอย่างหนึ่ง. ชาวอิสราเอลต้องการเป็นเหมือนชาติที่อยู่รอบ ๆ พวกเขา ซึ่งมีกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ปกครอง. ที่จริง ความปรารถนานั้นเป็นบาปร้ายแรง เพราะการที่พวกเขาปรารถนาเช่นนั้นก็เท่ากับปฏิเสธพระยะโฮวาในฐานะกษัตริย์ของพวกเขา. ถึงแม้ว่าพระยะโฮวาทรงยอมให้พวกเขามีกษัตริย์เป็นมนุษย์ พระองค์ทรงให้ซามูเอลผู้พยากรณ์ของพระองค์เตือนพวกเขาอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสิ่งที่ “หามีแก่นสารไม่.”—อ่าน 1 ซามูเอล 12:21
15. ชาวอิสราเอลมุ่งติดตามสิ่งที่ไม่มีแก่นสารอย่างไร?
15 ชาวอิสราเอลเหล่านั้นคิดไหมว่ากษัตริย์ที่เป็นมนุษย์เป็นจริงมากกว่าและหมายพึ่งได้มากกว่าพระยะโฮวาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง? ถ้าอย่างนั้น แท้จริงแล้วพวกเขากำลังติดตามสิ่งที่ไม่มีแก่นสาร! และพวกเขาตกอยู่ในอันตรายของการติดตามสิ่งลวงตาอื่น ๆ หลายอย่างของซาตาน. เป็นเรื่องง่ายที่กษัตริย์ซึ่งเป็นมนุษย์จะนำพวกเขาให้ไหว้รูปเคารพ. คนที่ไหว้รูปเคารพทำผิดพลาดโดยคิดว่าสิ่งที่เป็นวัตถุ คือพระเจ้าที่สร้างขึ้นจากไม้หรือหิน เป็นจริงมากกว่าหรือไว้วางใจได้มากกว่าพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ไม่ประจักษ์แก่ตาที่ได้สร้างสรรพสิ่ง. แต่ดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ รูปเคารพ “ไม่มีความหมายอะไร.” (1 โค. 8:4) รูปเคารพมองไม่เห็น ยินไม่ได้ พูดไม่ได้ หรือทำอะไรไม่ได้. คุณเห็นและสัมผัสรูปเคารพได้ก็จริง แต่หากคุณนมัสการรูปเหล่านั้น จริง ๆ แล้วคุณกำลังมุ่งติดตามสิ่งที่ไม่มีแก่นสารหรือภาพลวงตาที่ว่างเปล่าซึ่งจะนำคุณไปถึงความหายนะเท่านั้น.—เพลง. 115:4-8
16. (ก) ซาตานล่อลวงผู้คนมากมายในทุกวันนี้ให้มุ่งติดตามสิ่งที่ไม่มีแก่นสารอย่างไร? (ข) เหตุใดเราอาจกล่าวได้ว่าทรัพย์สมบัติวัตถุเป็นสิ่งที่ไม่มีแก่นสาร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพระยะโฮวาพระเจ้า?
16 ซาตานยังคงช่ำชองในการชักนำผู้คนให้หลงติดตามสิ่งที่ไม่มีแก่นสาร เช่น มันได้ชักนำผู้คนมากมายให้คิดว่าวัตถุสิ่งของจะให้ความมั่นคงแก่พวกเขา. เงินทอง ทรัพย์สมบัติ และงานที่รายได้สูงอาจดูเหมือนเป็นข้อได้เปรียบ. แต่วัตถุเงินทองจะช่วยอะไรได้เมื่อสุขภาพของคนเราเสื่อมทรุด เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักหรือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ? วัตถุเงินทองจะช่วยอะไรได้เมื่อคนเรารู้สึกว่างเปล่าในส่วนลึก เพราะไม่รู้จุดมุ่งหมายของชีวิต ขาดการชี้นำ และไม่ได้รับคำตอบสำหรับคำถามที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิต? เมื่อต้องเผชิญความตายวัตถุเงินทองจะช่วยอะไรได้? ถ้าเราหมายพึ่งวัตถุเพื่อสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ เราจะผิดหวัง. ทรัพย์สมบัติช่วยอะไรไม่ได้; สิ่งเหล่านั้นไม่มีแก่นสาร. ในระยะยาว ทรัพย์สมบัติไม่สามารถให้แม้แต่ความมั่นคงด้านร่างกาย เพราะมันไม่ได้ช่วยยืดชีวิตมนุษย์ให้ยาวนานขึ้นหรือช่วยให้คนเราพ้นจากความเจ็บป่วยและความตาย. (สุภา. 23:4, 5) ดังนั้น พระยะโฮวาพระเจ้าของเราทรงเป็นจริงยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติมาก! การมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพระองค์เท่านั้นที่จะทำให้เรามีความมั่นคงอย่างแท้จริง. นั่นเป็นพระพรที่ล้ำค่าสักเพียงไร! ขอเราอย่าละทิ้งพระองค์และหันไปติดตามสิ่งที่ไม่มีแก่นสาร.
17. คุณตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำอะไรเกี่ยวกับอิทธิพลที่ไม่ดีที่เราได้พิจารณา?
17 เราได้รับพระพรที่มีพระยะโฮวาเป็นมิตรและผู้นำทางในเส้นทางชีวิตของเรามิใช่หรือ? ถ้าเราเอาใจใส่คำเตือนด้วยความรักของพระองค์ต่อ ๆ ไปที่ให้ระวังอิทธิพลไม่ดีสามอย่าง คือคนหมู่มาก หัวใจของเราเอง และสิ่งที่ไม่มีแก่นสาร เราก็มีโอกาสมากกว่าที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางอันได้แก่ชีวิตนิรันดร์. ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาคำเตือนอีกสามอย่างจากพระยะโฮวาที่ช่วยเราให้เกลียดและหลีกเลี่ยงแนวทางที่ผิดซึ่งชักนำหลายคนให้หลง.—เพลง. 119:128
คุณคิดอย่างไร?
คุณเองจะใช้หลักการที่แฝงอยู่ในข้อคัมภีร์ต่อไปนี้ได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 11]
คุณเคยถูกล่อใจให้ทำตามคนหมู่มากไหม?
[ภาพหน้า 13]
เหตุใดจึงเป็นอันตรายที่จะทำตามความปรารถนาของตัวเราเอง?
[ภาพหน้า 14]
คุณกำลังมุ่งติดตามสิ่งที่ไม่มีแก่นสารไหม?