เข้าใจบทบาทของผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าโมเซ
“พระยะโฮวาพระเจ้าจะทรงแต่งตั้งคนหนึ่งในพี่น้องของพวกท่านให้เป็นผู้พยากรณ์อย่างข้าพเจ้าไว้สำหรับพวกท่าน. จงฟัง . . . เขา.”—กิจ. 3:22
1. พระเยซูคริสต์ทรงมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์อย่างไร?
เมื่อสองพันปีที่แล้ว การกำเนิดของเด็กชายคนหนึ่งได้ทำให้ทูตสวรรค์หมู่ใหญ่พากันสรรเสริญพระเจ้า และคนเลี้ยงแกะบางคนได้ยินคำสรรเสริญนั้น. (ลูกา 2:8-14) สามสิบปีต่อมา เด็กคนนั้นซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้วก็เริ่มทำงานรับใช้ที่นานเพียงสามปีครึ่ง แต่ก็ทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง. ฟิลิป แชฟฟ์ นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 19 ถูกกระตุ้นใจให้กล่าวถึงชายหนุ่มผู้นี้ว่า “แม้ไม่ได้เขียนข้อเขียนใด ๆ ไว้เลย เขาทำให้ปากกามากมายตวัดเขียน ทำให้มีหัวข้อหลักสำหรับคำเทศน์, สุนทรพจน์, การอภิปราย, หนังสือวิชาการ, งานศิลป์, และบทเพลงสรรเสริญมากมาย ยิ่งกว่าบุคคลสำคัญทั้งหลายในสมัยโบราณและสมัยปัจจุบันรวมกัน.” แน่นอน ชายหนุ่มที่น่าทึ่งผู้นี้คือพระเยซูคริสต์.
2. อัครสาวกโยฮันกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซูและงานรับใช้ของพระองค์?
2 อัครสาวกโยฮันเขียนบันทึกเกี่ยวกับงานรับใช้ของพระเยซูและกล่าวลงท้ายว่า “ที่จริงแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งที่พระเยซูทรงทำ ซึ่งถ้าจะเขียนทุกเรื่องไว้อย่างละเอียดละก็ ข้าพเจ้าคิดว่าโลกนี้คงไม่มีที่พอจะเก็บม้วนหนังสือเหล่านั้น.” (โย. 21:25) โยฮันรู้ว่าท่านสามารถบันทึกเพียงแค่เศษเสี้ยวของทั้งหมดที่พระเยซูตรัสและทำระหว่างสามปีครึ่งที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์มากมาย. ถึงกระนั้น เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่โยฮันรายงานไว้ในหนังสือกิตติคุณของท่านมีค่ามหาศาล.
3. เราจะเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับบทบาทของพระเยซูตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้โดยวิธีใด?
3 นอกจากหนังสือกิตติคุณที่สำคัญสี่เล่มแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลก็ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูที่เสริมความเชื่อด้วย. ตัวอย่างเช่น เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับผู้ซื่อสัตย์บางคนที่มีชีวิตอยู่ก่อนพระเยซูให้ข้อมูลที่ทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงบทบาทของพระเยซูตามพระประสงค์ของพระเจ้า. ให้เราพิจารณาเรื่องราวเหล่านั้นบางเรื่อง.
ชายผู้ซื่อสัตย์บางคนที่เป็นภาพเล็งถึงพระคริสต์
4, 5. ใครเป็นภาพแสดงล่วงหน้าถึงพระเยซู และเป็นเช่นนั้นอย่างไร?
4 โยฮันและผู้เขียนหนังสือกิตติคุณอีกสามคนชี้ว่าโมเซ, ดาวิด, และโซโลมอนเป็นภาพเล็งถึงพระเยซูในฐานะผู้ถูกเจิมของพระเจ้าและกษัตริย์ในอนาคต. ผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยโบราณเหล่านี้เป็นภาพแสดงล่วงหน้าถึงพระเยซูอย่างไร และเราเรียนอะไรได้จากเรื่องราวเหล่านี้?
5 กล่าวโดยย่อ คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าโมเซเป็นผู้พยากรณ์, ผู้กลาง, และผู้ช่วยให้รอด. พระเยซูก็ทรงมีบทบาทอย่างเดียวกันนั้นด้วย. ดาวิดเป็นผู้เลี้ยงแกะและกษัตริย์ที่พิชิตบรรดาศัตรูของชาติอิสราเอล. พระเยซูก็ทรงเป็นผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะและกษัตริย์ผู้มีชัยเช่นกัน. (ยเอศ. 37:24, 25) เมื่อยังซื่อสัตย์อยู่ โซโลมอนเป็นผู้ปกครองที่ฉลาดสุขุม และชาติอิสราเอลที่อยู่ใต้การปกครองของท่านมีสันติสุข. (1 กษัต. 4:25, 29) พระเยซูก็ทรงฉลาดสุขุมที่สุดและทรงได้ชื่อว่า “องค์สันติราช.” (ยซา. 9:6) เห็นได้ชัด บทบาทของพระคริสต์เยซูคล้ายกับบทบาทของชายเหล่านี้ที่อยู่ก่อนพระองค์ แต่พระองค์ทรงมีฐานะสูงที่สุดตามพระประสงค์ของพระเจ้า. ก่อนอื่น ให้เรามาเปรียบเทียบพระเยซูกับโมเซ และดูว่าการเปรียบเทียบเช่นนี้จะช่วยเราให้เข้าใจบทบาทของพระเยซูตามพระประสงค์ของพระเจ้าเต็มที่ยิ่งขึ้นอย่างไร.
โมเซเป็นภาพเล็งถึงพระเยซู
6. อัครสาวกเปโตรอธิบายอย่างไรถึงความจำเป็นที่ต้องฟังพระเยซู?
6 ไม่นานหลังวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 อัครสาวกเปโตรยกคำพยากรณ์ของโมเซซึ่งสำเร็จเป็นจริงกับพระเยซูคริสต์ขึ้นมากล่าว. เปโตรกำลังยืนต่อหน้าฝูงชนผู้นมัสการในพระวิหาร. ผู้คน “ประหลาดใจยิ่งนัก” เมื่อเปโตรและโยฮันรักษาชายขอทานซึ่งเป็นง่อยตั้งแต่เกิด และพวกเขาทั้งหมดกรูกันเข้ามาดู. เปโตรอธิบายว่าการกระทำอันน่าทึ่งนี้เป็นผลมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาที่ดำเนินงานทางพระเยซูคริสต์. จากนั้น ท่านก็ยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูว่า “ที่จริง โมเซก็กล่าวไว้ว่า ‘พระยะโฮวาพระเจ้าจะทรงแต่งตั้งคนหนึ่งในพี่น้องของพวกท่านให้เป็นผู้พยากรณ์อย่างข้าพเจ้าไว้สำหรับพวกท่าน. จงฟังทุกสิ่งที่เขาพูดกับพวกท่าน.’ ”—กิจ. 3:11, 22, 23; อ่านพระบัญญัติ 18:15, 18, 19
7. เหตุใดผู้ที่ฟังเปโตรจึงเข้าใจคำกล่าวของท่านเกี่ยวกับผู้พยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าโมเซ?
7 คนที่ฟังเปโตรคงรู้จักคำพยากรณ์ดังกล่าวของโมเซดี. ในฐานะคนยิว พวกเขานับถือโมเซอย่างยิ่ง. (บัญ. 34:10) พวกเขาเฝ้ารอคอยการมาของผู้พยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าโมเซ. ผู้พยากรณ์นั้นจะไม่ได้เป็นเพียงผู้ถูกเจิมคนหนึ่งของพระเจ้าเหมือนโมเซ แต่เป็นพระมาซีฮา “พระคริสต์ที่พระเจ้าทรงส่งมาและเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้.”—ลูกา 23:35; ฮีบรู 11:26
ความคล้ายคลึงกัน ระหว่างพระเยซูกับโมเซ
8. มีอะไรบ้างที่คล้ายคลึงกันระหว่างชีวิตของโมเซกับชีวิตของพระเยซู?
8 ในบางแง่ ชีวิตของพระเยซูเมื่อทรงอยู่ที่แผ่นดินโลกคล้ายคลึงกับชีวิตของโมเซ. ตัวอย่างเช่น เมื่อเป็นทารก ทั้งโมเซและพระเยซูต้องหนีตายจากเงื้อมมือของผู้ปกครองทรราช. (เอ็ก. 1:22–2:10; มัด. 2:7-14) นอกจากนั้น ทั้งคู่ ‘ถูกเรียกออกมาจากประเทศอายฆุบโต.’ ผู้พยากรณ์โฮเซอากล่าวว่า “ครั้งเมื่ออิสราเอลยังเด็กอยู่เราก็รักเขา เราได้เรียกบุตรชายของเราออกมาจากอียิปต์.” (โฮ. 11:1, ฉบับ R73) ถ้อยคำของโฮเซอาชี้ถึงตอนที่ชาติอิสราเอล ซึ่งอยู่ใต้การนำของโมเซผู้นำที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง ถูกนำออกจากอียิปต์. (เอ็ก. 4:22, 23; 12:29-37) อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำของโฮเซอาไม่ได้อ้างถึงเพียงแค่เหตุการณ์ในอดีต แต่ชี้ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย. ถ้อยคำของท่านเป็นคำพยากรณ์ที่สำเร็จเป็นจริงเมื่อโยเซฟและมาเรียพาพระเยซูกลับจากอียิปต์หลังจากกษัตริย์เฮโรดสิ้นพระชนม์แล้ว.—มัด. 2:15, 19-23
9. (ก) โมเซและพระเยซูทำการอัศจรรย์อะไรบ้าง? (ข) จงกล่าวถึงด้านอื่น ๆ ที่คล้ายกันระหว่างพระเยซูกับโมเซ. (โปรดดูกรอบ “ด้านอื่น ๆ ที่พระเยซูทรงเหมือนกับโมเซ” ในหน้า 26)
9 ทั้งโมเซและพระเยซูทำการอัศจรรย์หลายอย่าง และด้วยวิธีนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าทั้งสองได้รับการสนับสนุนจากพระยะโฮวา. อันที่จริง โมเซเป็นมนุษย์คนแรกที่มีบันทึกไว้ว่าได้ทำการอัศจรรย์. (เอ็ก. 4:1-9) ตัวอย่างเช่น โมเซทำการอัศจรรย์ที่เกี่ยวกับน้ำเมื่อท่านสั่งให้น้ำในแม่น้ำไนล์และหนองบึงที่เต็มด้วยต้นกกกลายเป็นเลือด, แยกทะเลแดงเป็นช่อง, และทำให้น้ำไหลพุ่งออกมาจากศิลาในทะเลทราย. (เอ็ก. 7:19-21; 14:21; 17:5-7) พระเยซูก็ทรงทำการอัศจรรย์ที่เกี่ยวกับน้ำด้วยเช่นกัน. การอัศจรรย์แรกเลยที่พระองค์ทรงทำก็คือทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น ณ งานเลี้ยงสมรส. (โย. 2:1-11) ต่อมา พระองค์ทรงทำให้ทะเลแกลิลีที่ปั่นป่วนสงบ. และในโอกาสหนึ่ง พระองค์ทรงถึงกับดำเนินบนน้ำ! (มัด. 8:23-27; 14:23-25) สำหรับเรื่องอื่น ๆ ที่คล้ายกันระหว่างโมเซกับพระเยซูผู้ยิ่งใหญ่กว่าโมเซจะเห็นได้ในกรอบหน้า 26.
เข้าใจบทบาทของพระคริสต์ในฐานะผู้พยากรณ์
10. ผู้พยากรณ์แท้ทำหน้าที่อะไรบ้าง และเหตุใดโมเซเป็นผู้พยากรณ์อย่างนั้น?
10 คนส่วนใหญ่นึกภาพว่าผู้พยากรณ์เป็นคนที่บอกล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรในอนาคต แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้พยากรณ์. ผู้พยากรณ์แท้เป็นโฆษกของพระยะโฮวา เป็นผู้ประกาศ “ราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า.” (กิจ. 2:11, 16, 17) นอกเหนือจากเรื่องอื่น ๆ แล้ว การพยากรณ์ของผู้พยากรณ์อาจรวมถึงการประกาศเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เปิดเผยในเรื่องพระประสงค์ของพระยะโฮวา หรือการประกาศการพิพากษาของพระเจ้า. โมเซเป็นผู้พยากรณ์อย่างนั้น. ท่านบอกล่วงหน้าเมื่อจะเกิดภัยพิบัติสิบประการกับอียิปต์แต่ละครั้ง. ท่านประกาศสัญญาแห่งพระบัญญัติที่ภูเขาไซนาย. และท่านสั่งสอนชาติอิสราเอลให้ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า. ถึงกระนั้น ผู้พยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าโมเซจะมาในที่สุด.
11. พระเยซูทรงทำให้บทบาทของผู้พยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าโมเซสำเร็จอย่างไร?
11 ต่อมา ในศตวรรษแรก เซคาระยาห์ทำหน้าที่เป็นผู้พยากรณ์ที่เปิดเผยพระประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับบุตรชายของท่าน คือโยฮัน. (ลูกา 1:76) บุตรผู้นี้ในภายหลังกลายมาเป็นโยฮันผู้ให้บัพติสมา ซึ่งประกาศการมาของพระเยซูคริสต์ ผู้พยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าโมเซซึ่งรอคอยกันมานาน. (โย. 1:23-36) ในฐานะผู้พยากรณ์ พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าหลายเรื่อง. ตัวอย่างเช่น พระองค์ตรัสถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เอง ทรงบอกล่วงหน้าถึงวิธีที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์, พระองค์จะสิ้นพระชนม์ที่ไหน, และพระองค์จะสิ้นพระชนม์ด้วยน้ำมือใคร. (มัด. 20:17-19) พระเยซูยังบอกล่วงหน้าถึงพินาศกรรมที่จะเกิดขึ้นกับกรุงเยรูซาเลมและพระวิหารของกรุงนี้ด้วย ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้ยินแปลกใจ. (มโก. 13:1, 2) คำพยากรณ์ของพระองค์เกี่ยวโยงมาถึงสมัยของเรา.—มัด. 24:3-41
12. (ก) พระเยซูทรงวางพื้นฐานไว้อย่างไรสำหรับการประกาศทั่วโลก? (ข) เหตุใดเราจึงทำตามแบบอย่างของพระเยซูในทุกวันนี้?
12 นอกจากเป็นผู้พยากรณ์แล้ว พระเยซูทรงเป็นผู้ประกาศและผู้สอนด้วย. พระองค์ทรงประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า และไม่มีใครพูดด้วยความกล้าหาญยิ่งกว่าพระองค์. (ลูกา 4:16-21, 43) พระองค์ทรงเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน. บางคนที่ได้ฟังพระองค์กล่าวว่า “ไม่เคยมีใครพูดเหมือนคนนี้เลย.” (โย. 7:46) พระเยซูทรงมีใจแรงกล้าในการพยายามเผยแพร่ข่าวดี และพระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าสาวกมีใจแรงกล้าเพื่อราชอาณาจักรเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงวางพื้นฐานไว้สำหรับการประกาศและการสอนทั่วโลกซึ่งยังคงดำเนินอยู่ในเวลานี้. (มัด. 28:18-20; กิจ. 5:42) ปีที่แล้ว มีเหล่าสาวกของพระคริสต์ประมาณเจ็ดล้านคนใช้เวลาประมาณ 1,500,000,000 ชั่วโมงในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและการสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่คนที่สนใจ. คุณมีส่วนร่วมในงานนี้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ไหม?
13. อะไรจะช่วยเราให้ “ตื่นอยู่”?
13 ไม่มีข้อสงสัยว่าพระยะโฮวาทรงทำให้สำเร็จตามคำพยากรณ์ที่ว่าพระองค์จะทรงแต่งตั้งผู้พยากรณ์อย่างโมเซ. ความรู้ดังกล่าวมีผลอย่างไรต่อคุณ? ความรู้นั้นทำให้คุณเชื่อมั่นมากขึ้นไหมในเรื่องความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งเกี่ยวข้องกับอนาคตของเราที่จวนจะถึงอยู่แล้ว? แน่นอน การไตร่ตรองตัวอย่างของพระเยซูผู้ยิ่งใหญ่กว่าโมเซกระตุ้นเราให้ “ตื่นอยู่และมีสติอยู่เสมอ” ในเรื่องสิ่งที่พระเจ้าจะทำในอีกไม่ช้า.—1 เทส. 5:2, 6
จงยกย่องพระคริสต์ในฐานะผู้กลาง
14. โมเซเป็นผู้กลางระหว่างชาวอิสราเอลกับพระเจ้าอย่างไร?
14 เช่นเดียวกับโมเซ พระเยซูทรงเป็นผู้กลาง. ผู้กลางทำหน้าที่เป็นเหมือนกับสะพานเชื่อมระหว่างสองฝ่าย. โมเซเป็นผู้กลางของสัญญาแห่งพระบัญญัติระหว่างพระยะโฮวากับชาวอิสราเอล. ถ้าเหล่าบุตรของยาโคบเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้า พวกเขาก็จะยังคงเป็นสมบัติพิเศษหรือเป็นประชาคมของพระเจ้า. (เอ็ก. 19:3-8) สัญญานั้นมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ปี 1513 ก่อน ส.ศ. จนกระทั่งถึงศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช.
15. พระเยซูทรงเป็นผู้กลางที่ยอดเยี่ยมกว่าอย่างไร?
15 ในปี ส.ศ. 33. พระยะโฮวาทรงเริ่มทำสัญญาที่ดีกว่ากับชาติอิสราเอลใหม่ คือ “อิสราเอลของพระเจ้า” ซึ่งในที่สุดก็เป็นประชาคมที่ประกอบด้วยคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งอยู่ทั่วโลก. (กลา. 6:16) กฎหมายซึ่งพระเจ้าทรงจารึกบนแผ่นศิลาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่โมเซเป็นผู้กลาง แต่สัญญาที่พระเยซูทรงเป็นผู้กลางนั้นยอดเยี่ยมกว่า. กฎหมายของสัญญาที่พระเยซูเป็นผู้กลางนี้พระเจ้าทรงจารึกบนหัวใจมนุษย์. (อ่าน 1 ติโมเธียว 2:5; ฮีบรู 8:10) ด้วยเหตุนั้น ในเวลานี้ “อิสราเอลของพระเจ้า” จึงเป็นสมบัติพิเศษของพระเจ้า เป็น ‘ชนชาติซึ่งเกิดผล’ ที่เหมาะกับราชอาณาจักรมาซีฮา. (มัด. 21:43) สมาชิกของชาติฝ่ายวิญญาณดังกล่าวเป็นผู้มีส่วนร่วมในสัญญาใหม่นั้น. ถึงกระนั้น พวกเขาไม่ใช่พวกเดียวที่ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้น. ผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน แม้แต่คนที่ในเวลานี้หลับอยู่ในความตาย จะได้รับพระพรถาวรเนื่องด้วยสัญญานั้นที่ยอดเยี่ยมกว่า.
จงยกย่องพระคริสต์ในฐานะผู้ช่วยให้รอด
16. (ก) พระยะโฮวาทรงใช้โมเซช่วยชาติอิสราเอลให้รอดอย่างไร? (ข) ตามเอ็กโซโด 14:13 ความรอดมาจากใคร?
16 ในคืนสุดท้ายก่อนการอพยพออกจากอียิปต์ ลูกหลานบางคนของชาติอิสราเอลตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง. อีกไม่นาน ทูตสวรรค์ของพระเจ้าจะไปทั่วแผ่นดินอียิปต์ สังหารบุตรหัวปีทั้งหมด. พระยะโฮวาทรงบอกโมเซว่าบุตรหัวปีของชาติอิสราเอลจะรอดชีวิตถ้าชาวอิสราเอลเอาเลือดของลูกแกะปัศคาประพรมที่กรอบประตูบ้านทั้งสองข้างและกรอบข้างบน. (เอ็ก. 12:1-13, 21-23) ปรากฏว่าเหตุการณ์ก็เป็นไปตามนั้นจริง ๆ. ต่อมา ชาติทั้งชาติตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง. พวกเขาติดอยู่ระหว่างทะเลแดงกับกองรถรบของชาวอียิปต์. อีกครั้งหนึ่ง พระยะโฮวาทรงช่วยพวกเขาให้รอดโดยทางโมเซ ซึ่งได้แยกน้ำทะเลออกเป็นช่องอย่างอัศจรรย์.—เอ็ก. 14:13, 21
17, 18. พระเยซูทรงเป็นผู้ช่วยให้รอดที่ยิ่งใหญ่กว่าโมเซอย่างไร?
17 แม้ว่าการช่วยให้รอดดังกล่าวยิ่งใหญ่มาก แต่การช่วยให้รอดที่พระยะโฮวาทรงทำโดยทางพระเยซูนั้นยิ่งใหญ่กว่ามาก. พระเยซูทรงเป็นร่องทางที่ผู้เชื่อฟังทั้งหลายจะได้รับการช่วยให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสของบาป. (โรม 5:12, 18) และการช่วยให้รอดนั้นเป็น “ความรอดนิรันดร์.” (ฮีบรู 9:11, 12) พระนามเยซูมีความหมายว่า “พระยะโฮวาทรงเป็นความรอด.” พระเยซู ผู้ทรงเป็นผู้ช่วยให้รอด ไม่เพียงช่วยเราให้พ้นจากบาปที่เราทำในอดีต แต่ยังเปิดทางไว้ให้เรามีอนาคตที่ดีกว่าด้วย. โดยช่วยเหล่าสาวกให้พ้นจากการเป็นทาสของบาป พระเยซูจึงทรงช่วยพวกเขาให้พ้นพระพิโรธของพระเจ้า และนำพวกเขาให้มีสายสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความรักกับพระยะโฮวา.—มัด. 1:21
18 การที่พระเยซูทรงช่วยเราให้หลุดพ้นจากบาปในที่สุดแล้วจะรวมถึงการเป็นอิสระจากผลกระทบอันน่าเศร้าของบาป คือความเจ็บป่วยและแม้กระทั่งความตาย. เพื่อให้นึกภาพออกว่านั่นจะหมายถึงอะไร ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูทรงไปที่บ้านของชายคนหนึ่งชื่อไยรอส ซึ่งลูกสาวอายุ 12 ปีเสียชีวิต. พระเยซูทรงรับรองกับไยรอสว่า “อย่ากลัวเลย ขอเพียงเจ้ามีความเชื่อ ลูกสาวเจ้าจะรอด.” (ลูกา 8:41, 42, 49, 50) เป็นอย่างที่พระองค์ตรัสจริง ๆ เด็กหญิงนั้นก็ลุกขึ้นมามีชีวิตอีก! คุณนึกออกไหมถึงความยินดีของผู้เป็นบิดามารดา? ทีนี้ คุณคงนึกภาพออกแล้วว่าเราจะมีความยินดีอย่างล้ำลึกเพียงไรเมื่อ “ทุกคนซึ่งอยู่ในอุโมงค์ฝังศพจะได้ยินเสียง [พระเยซู] และออกมา” ในคราวการกลับเป็นขึ้นจากตาย. (โย. 5:28, 29) จริงทีเดียว พระเยซูทรงเป็นผู้ช่วยให้รอดของเรา!—อ่านกิจการ 5:31; ทิทุส 1:4; วิ. 7:10
19, 20. (ก) การใคร่ครวญบทบาทของพระเยซูผู้ยิ่งใหญ่กว่าโมเซส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
19 การรู้ว่าเราสามารถช่วยผู้คนให้รับประโยชน์จากการช่วยให้รอดของพระเยซูกระตุ้นเราให้ร่วมในงานประกาศและงานสอน. (ยซา. 61:1-3) นอกจากนั้น การใคร่ครวญบทบาทของพระเยซูผู้ยิ่งใหญ่กว่าโมเซทำให้เราเชื่อมั่นยิ่งขึ้นว่า พระองค์จะช่วยเหล่าสาวกของพระองค์ให้รอดเมื่อพระองค์เสด็จมาสำเร็จโทษคนชั่วตามการพิพากษา.—มัด. 25:31-34, 41, 46; วิ. 7:9, 14
20 เห็นได้ชัด พระเยซูทรงเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าโมเซ. พระองค์ทรงทำการอัศจรรย์หลายอย่างที่โมเซไม่มีทางทำได้เลย. คำตรัสของพระเยซูในฐานะผู้พยากรณ์และการกระทำของพระองค์ในฐานะผู้กลางส่งผลกระทบต่อครอบครัวมนุษย์ทั้งสิ้น. ในฐานะผู้ช่วยให้รอด พระเยซูไม่เพียงแต่ช่วยให้รอดชั่วคราว แต่ทรงช่วยมนุษยชาติให้ได้รับความรอดอย่างถาวร. ถึงกระนั้น ยังมีอีกมากที่จะเรียนรู้ได้เกี่ยวกับพระเยซูจากผู้ซื่อสัตย์ในสมัยโบราณ. บทความถัดไปจะพิจารณาวิธีที่พระเยซูทรงเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าดาวิดและโซโลมอน.
คุณอธิบายได้ไหม?
พระเยซูทรงยิ่งใหญ่กว่าโมเซอย่างไรในฐานะ
• ผู้พยากรณ์?
• ผู้กลาง?
• ผู้ช่วยให้รอด?
[กรอบ/ภาพหน้า 26]
ด้านอื่น ๆ ที่พระเยซูทรงเหมือนกับโมเซ
◻ ทั้งสองสละตำแหน่งอันสูงส่งเพื่อรับใช้พระยะโฮวาและประชาชนของพระองค์.—2โค. 8:9; ฟิลิป. 2:5-8; ฮีบรู 11:24-26
◻ ทั้งสองเป็น “ผู้ถูกเจิม” หรือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระยะโฮวา.—มโก. 14:61, 62; โย. 4:25, 26; ฮีบรู 11:26
◻ ทั้งสองมาในนามพระยะโฮวา.—เอ็ก. 3:13-16; โย. 5:43; 17:4, 6, 26
◻ ทั้งสองมีความถ่อมใจ.—อาฤ. 12:3; มัด. 11:28-30
◻ ทั้งสองเลี้ยงอาหารผู้คนมากมาย.—เอ็ก. 16:12; โย. 6:48-51
◻ ทั้งสองรับใช้เป็นผู้พิพากษาและผู้บัญญัติกฎหมาย.—เอ็ก. 18:13; มลคี. 4:4; โย. 5:22, 23; 15:10
◻ ทั้งสองได้รับมอบหมายให้เป็นประมุขเรือนของพระเจ้า.—อาฤ. 12:7; ฮีบรู 3:2-6
◻ มีคำพรรณนาว่าทั้งสองเป็นพยานที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา.—ฮีบรู 11:24-29; 12:1; วิ. 1:5
◻ หลังจากโมเซตายพระเจ้าทรงทำให้ศพของท่านหายไป และพระองค์ทรงทำเช่นเดียวกันในกรณีของพระเยซู.—บัญ. 34:5, 6; ลูกา 24:1-3; กิจ. 2:31; 1โค. 15:50; ยูดา 9