พระพรหรือคำสาปแช่ง—มีโอกาสเลือก!
“เราได้ตั้งชีวิตและความตาย พระพรและคำสาปแช่งไว้ตรงหน้าท่านทั้งหลาย; และท่านต้องเลือกเอาชีวิตเพื่อท่านจะมีชีวิตอยู่ต่อไป.”—พระบัญญัติ 30:19, ล.ม.
1. มนุษย์ได้รับการประทานความสามารถอะไร?
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงออกแบบเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างที่เป็นมนุษย์และมีสติปัญญา ให้เป็นตัวแทนซึ่งมีอิสระทางศีลธรรม. เราไม่ได้ถูกสร้างให้เป็นเครื่องจักรอัตโนมัติ หรือหุ่นยนต์ แต่ได้รับสิทธิพิเศษและหน้าที่รับผิดชอบแห่งการตัดสินใจเลือก. (บทเพลงสรรเสริญ 100:3) มนุษย์คู่แรก—อาดามและฮาวา—มีอิสระที่จะเลือกแนวทางการกระทำของตัวเอง และพวกเขาต้องให้การต่อพระเจ้าสำหรับการเลือกของตน.
2. อาดามเลือกอะไร และผลเป็นเช่นไร?
2 พระผู้สร้างทรงจัดเตรียมพระพรถาวรอย่างอุดมบริบูรณ์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานไว้สำหรับชีวิตมนุษย์. เหตุใดพระประสงค์นั้นยังไม่บรรลุ? เป็นเพราะอาดามเลือกผิด. พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาต่อมนุษย์ดังนี้: “บรรดาผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้เจ้ากินได้ทั้งหมด; เว้นแต่ต้นไม้ที่ให้รู้ความดีและชั่วผลของต้นนั้นเจ้าอย่ากินเป็นอันขาด; ถ้าเจ้าขืนกินในวันใด, เจ้าจะตายในวันนั้นเป็นแน่.” (เยเนซิศ 2:16, 17) หากอาดามเลือกที่จะเชื่อฟัง บิดามารดาคู่แรกของเราคงได้พระพรไปแล้ว. การไม่เชื่อฟังนำไปถึงความตาย. (เยเนซิศ 3:6, 18, 19) ดังนั้นบาปและความตายจึงได้ตกทอดมาถึงเทือกเถาเหล่ากอทั้งสิ้นของอาดาม.—โรม 5:12.
ทรงทำให้พระพรเป็นไปได้
3. พระเจ้าทรงให้การรับรองอย่างไรว่าพระประสงค์ของพระองค์สำหรับมนุษยชาติจะสำเร็จ?
3 พระยะโฮวาพระเจ้าทรงจัดตั้งแนวทางปฏิบัติซึ่งจะทำให้พระประสงค์ของพระองค์ในการอวยพระพรแก่มนุษยชาติสำเร็จในที่สุด. พระองค์เองทรงบอกล่วงหน้าถึงพงศ์พันธุ์ โดยพยากรณ์ไว้ในสวนเอเดนดังนี้: “เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน. เขาจะบดขยี้หัวของเจ้าและเจ้าจะบดขยี้ส้นเท้าของเขา.” (เยเนซิศ 3:15, ล.ม.) ภายหลังพระเจ้าทรงสัญญาว่า พระพรต่าง ๆ จะมีมายังมนุษยชาติที่เชื่อฟังโดยทางพงศ์พันธุ์นี้ ซึ่งเป็นเชื้อสายของอับราฮาม.—เยเนซิศ 22:15-18.
4. การจัดเตรียมอะไรที่พระยะโฮวาได้ทำเพื่ออวยพระพรมนุษยชาติ?
4 พงศ์พันธุ์ตามคำทรงสัญญาที่จะนำมาซึ่งพระพรนั้นปรากฏว่าได้แก่พระเยซูคริสต์. เกี่ยวกับบทบาทของพระเยซูในการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่ออวยพระพรมนุษยชาติ คริสเตียนอัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “พระเจ้าได้ทรงสำแดงความรักของพระองค์แก่เราทั้งหลาย คือขณะเมื่อเราทั้งหลายยังเป็นคนบาป พระคริสต์ได้ทรงยอมตายแทนเรา.” (โรม 5:8) มนุษยชาติผู้ผิดบาปที่เชื่อฟังพระเจ้าและรับเอาผลประโยชน์จากคุณค่าแห่งเครื่องบูชาไถ่บาปของพระเยซูคริสต์จะชื่นชมกับพระพรหลายประการ. (กิจการ 4:12) คุณจะเลือกการเชื่อฟังและพระพรไหม? การไม่เชื่อฟังจะยังผลต่างกันลิบลับ.
จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับคำสาปแช่ง?
5. ความหมายของคำ “การสาปแช่ง” คืออะไร?
5 สิ่งที่ตรงข้ามกับพระพรก็คือคำสาปแช่ง. คำ “การสาปแช่ง” หมายถึงพูดไม่ดีแก่บางคนหรือกล่าวให้สิ่งเลวร้ายเกิดแก่เขา. คำภาษาฮีบรูเคละลาʹ มาจากคำกริยาที่เป็นรากศัพท์คือคะลัลʹ ซึ่งความหมายตามตัวอักษรคือ “เบา.” อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ในความหมายเป็นนัย คำนี้มีความหมายว่า “แช่งด่า” หรือ “ดูหมิ่น”.’—เลวีติโก 20:9; 2 ซามูเอล 19:43.
6. เหตุการณ์อะไรเกี่ยวข้องกับอะลีซาที่เกิดขึ้นใกล้กับเมืองเบ็ธเอลโบราณ?
6 ลองพิจารณาตัวอย่างที่น่าตื่นเต้นสักเรื่องหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับการกระทำที่ฉับไวซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการสาปแช่ง. เรื่องนี้เกิดขึ้นขณะที่อะลีซาผู้พยากรณ์ของพระเจ้ากำลังเดินออกจากยะริโฮไปเบ็ธเอล. เรื่องราวบันทึกไว้ดังนี้: “เมื่อกำลังไปกลางทาง, มีพวกหนุ่มคะนองออกมาจากเมืองล้อเลียนท่านว่า, อ้ายหัวล้านจงเหาะขึ้นไปเถิด; อ้ายหัวล้านจงเหาะขึ้นไปเถิด. แล้วท่านก็หันหน้ามาดู, และแช่งเขาในพระนามแห่งพระยะโฮวา. มีหมีตัวเมียสองตัวออกจากป่าไม้กัดฉีกชายหนุ่มเหล่านั้นสี่สิบสองคน.” (2 กษัตริย์ 2:23, 24) คำพูดอะไรที่อะลีซาใช้ตอนที่กล่าวแช่งพวกเด็กหนุ่มที่ล้อเลียนท่านไม่มีการเปิดเผยให้ทราบ. จะอย่างไรก็ตาม คำที่ประกาศออกมานั้นปรากฏผลเนื่องจากกล่าวในนามของพระยะโฮวาโดยผู้พยากรณ์ของพระเจ้าที่ทำสอดคล้องกับพระทัยประสงค์แห่งพระผู้เป็นเจ้า.
7. เกิดอะไรขึ้นกับพวกเด็กหนุ่มที่ล้อเลียนอะลีซา และทำไม?
7 เหตุผลหลักของการล้อเลียนนั้นดูเหมือนเป็นเพราะอะลีซาสวมชุดผู้พยากรณ์ของเอลียาซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นตาและพวกเด็กหนุ่มไม่ต้องการให้มีผู้สืบตำแหน่งของผู้พยากรณ์ท่านนี้. (2 กษัตริย์ 2:13) เพื่อตอบการท้าทายต่อการเป็นผู้สืบทอดของเอลียาและเพื่อสอนคนหนุ่มเหล่านี้รวมทั้งบิดามารดาของพวกเขาให้นับถือผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา อะลีซาจึงแช่งคนล้อเลียนกลุ่มนี้ในพระนามแห่งพระเจ้าของเอลียา. พระยะโฮวาทรงแสดงความเห็นชอบด้วยกับอะลีซาผู้พยากรณ์ของพระองค์โดยให้หมีตัวเมียสองตัวออกมาจากป่าและฉีก 42 คนในพวกคนล้อเลียนเหล่านั้น. พระยะโฮวาทรงจัดการอย่างเฉียบขาดเนื่องจากการขาดความนับถืออย่างเห็นได้ชัดต่อร่องทางการติดต่อที่พระองค์ทรงใช้บนแผ่นดินโลกเวลานั้น.
8. ชนยิศราเอลเห็นพ้องกันในเรื่องอะไร และพร้อมด้วยการคาดหมายอะไร?
8 หลายปีก่อนหน้านั้น พวกยิศราเอลแสดงการขาดความนับถือในลักษณะคล้ายกันต่อการจัดเตรียมต่าง ๆ ของพระเจ้า. นี่คือวิธีที่ความไม่นับถือเช่นนี้ก่อตัวขึ้น: ในปี 1513 ก่อนสากลศักราช พระยะโฮวาทรงแสดงความโปรดปรานต่อไพร่พลชาวยิศราเอลโดยช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากการเป็นทาสแรงงานของอียิปต์ดุจดังอยู่ “บนปีกนกอินทรี.” ไม่นานหลังจากนั้น พวกเขาให้คำปฏิญาณจะเชื่อฟังพระเจ้า. โปรดสังเกตวิธีที่การเชื่อฟังเชื่อมโยงกับการได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าอย่างมิอาจแยกจากกันได้. พระยะโฮวาตรัสผ่านโมเซดังนี้: “ถ้าเจ้าทั้งหลายจะฟังถ้อยคำของเราจริง ๆ, และรักษาคำสัญญาไมตรีของเราไว้, เจ้าจะเป็นทรัพย์ประเสริฐของเรายิ่งกว่าชาติทั้งปวง: เพราะเราเป็นเจ้าของโลกทั้งสิ้น.” จากนั้น หมู่ชนก็ยืนยันรับคำหนักแน่นโดยพากันกล่าวว่า “สิ่งสารพัตรที่พระยะโฮวาตรัสนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายจะกระทำตาม.” (เอ็กโซโด 19:4, 5, 8; 24:3) ชาวยิศราเอลอ้างว่ารักพระยะโฮวา, อุทิศตัวแด่พระองค์, และสาบานตัวว่าจะฟังพระสุรเสียงของพระองค์. การทำเช่นนั้นจะยังผลเป็นพระพรต่าง ๆ อันใหญ่หลวง.
9, 10. ขณะโมเซอยู่บนภูเขาซีนาย ชาวยิศราเอลทำอะไร และผลเป็นอย่างไร?
9 กระนั้น ก่อนที่ข้อบัญญัติพื้นฐานของข้อตกลงนั้นจะถูกสลักลงบนหินโดย ‘นิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า’ จำเป็นต้องมีคำสาปแช่งจากพระเจ้า. (เอ็กโซโด 31:18) ทำไมผลที่เป็นโศกนาฏกรรมเหล่านี้จึงนับว่าสมควร? พวกยิศราเอลได้แสดงความปรารถนาที่จะทำทุกสิ่งที่พระยะโฮวาตรัสมิใช่หรือ? จริงอยู่ โดยคำพูด พวกเขาแสวงหาพระพร แต่โดยการกระทำ พวกเขาเลือกแนวทางซึ่งสมควรกับคำสาปแช่ง.
10 ในช่วง 40 วันที่โมเซอยู่บนภูเขาซีนายเพื่อรับพระบัญญัติสิบประการ พวกยิศราเอลก็ได้หักคำสัญญาของตนที่จะภักดีต่อพระยะโฮวาเสีย. เรื่องที่เกิดขึ้นมีบันทึกไว้ว่า “เมื่อพลไพร่คอยท่าโมเซอยู่ช้านาน, ไม่เห็นลงมาจากภูเขา, เหล่าพลไพร่นั้นจึงได้พากันมาหาอาโรนเรียนว่า, ‘ขอท่านลงมือสร้างพระซึ่งจะนำหน้าพวกข้าพเจ้าไป; ด้วยว่าโมเซผู้นั้นที่ได้นำหน้าพวกข้าพเจ้าออกจากประเทศอายฆุบโตหายไปไหนเสียแล้วข้าพเจ้าหาทราบไม่.’” (เอ็กโซโด 32:1) นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของเจตคติซึ่งไม่แสดงความนับถือต่อตัวแทนที่เป็นมนุษย์ซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้ในตอนนั้นเพื่อนำหน้าและชี้นำไพร่พลของพระองค์. พวกยิศราเอลถูกล่อใจให้หลงเลียนแบบการไหว้รูปเคารพของชาวอียิปต์และเก็บเกี่ยวผลร้ายเมื่อมีประมาณ 3,000 คนล้มตายใต้คมดาบในวันเดียว.—เอ็กโซโด 32:2-6, 25-29.
การประกาศพระพรและคำสาปแช่ง
11. คำสั่งเสียอะไรซึ่งเกี่ยวกับพระพรและคำสาปแช่งที่ยะโฮซูอะปฏิบัติตาม?
11 ใกล้สิ้นสุดการเดินทางรอนแรมในป่าเป็นเวลา 40 ปี โมเซกล่าวถึงรายการพระพรต่าง ๆ ที่จะเก็บเกี่ยวได้จากการเลือกแนวทางที่เชื่อฟังพระเจ้า. ท่านได้ลงรายการความแช่งที่พวกยิศราเอลจะประสบถ้าพวกเขาเลือกไม่เชื่อฟังพระยะโฮวาด้วย. (พระบัญญัติ 27:11–28:10) ไม่นานหลังจากชาวยิศราเอลเข้าสู่ดินแดนที่ทรงสัญญา ยะโฮซูอะได้ทำตามคำสั่งเสียของโมเซเกี่ยวกับพระพรและคำสาปแช่งเหล่านั้น. หกตระกูลของยิศราเอลยืนอยู่ที่เชิงเขาเอบาล และอีกหกตระกูลอยู่หน้าภูเขาฆะรีซีม. คนตระกูลเลวียืนอยู่ระหว่างภูเขาทั้งสอง. ดูเหมือนว่า ตระกูลที่ยืนอยู่เบื้องหน้าภูเขาเอบาลกล่าว “อาเมน” ต่อคำสาปแช่งที่มีการอ่านต่อหน้าพวกเขา. ส่วนคนอื่น ๆ ตอบรับพระพรที่พวกเลวีอ่านต่อพวกเขา ณ เชิงเขาฆะรีซีม.—ยะโฮซูอะ 8:30-35.
12. คำสาปแช่งบางประการที่พวกเลวีประกาศได้แก่อะไร?
12 ลองจินตนาการว่า คุณได้ยินพวกเลวีกล่าวว่า “ความแช่งจงมีแก่คนที่ทำรูปเคารพคือรูปสลัก, และรูปหล่อเป็นฝีมือของช่าง, และตั้งไว้ในที่ลี้ลับ. การนั้นเป็นที่พระยะโฮวาทรงเกลียดชัง . . . ความแช่งจงมีแก่คนที่ประมาทหมิ่นบิดา [“บิดาหรือมารดา,” ล.ม.] ของตน . . . ความแช่งจงมีแก่คนที่ได้ถอนหลักเขตแดนรุกที่ดินของเพื่อนบ้าน . . . ความแช่งจงมีแก่คนที่ทำให้คนตาบอดหลงทาง . . . ความแช่งจงมีแก่คนพิพากษาความเป็นอสัตย์อธรรมแก่คนต่างชาติ, ลูกกำพร้า, และหญิงหม้าย . . . ความแช่งจงมีแก่คนที่ได้ร่วมสังวาสกับภรรยาของบิดา, เพราะได้เปิดผ้าห่มนอนของบิดาตน . . . ความแช่งจงมีแก่คนที่ได้สังวาสกับสัตว์เดียรัจฉาน . . . ความแช่งจงมีแก่คนที่ได้สังวาสกับพี่สาวน้องสาว, คือบุตรของบิดา, หรือบุตรมารดาตน . . . ความแช่งจงมีแก่คนที่ได้ร่วมสังวาสกับแม่ยายของตน . . . ความแช่งจงมีแก่คนที่ได้ลอบตีเพื่อนบ้านของตน . . . ความแช่งจงมีแก่คนที่ได้รับสินบนฆ่าคนที่ไม่มีผิด . . . ความแช่งจงมีแก่คนที่ไม่เชื่อฟังและประพฤติตามบรรดาถ้อยคำพระบัญญัติเหล่านี้.” หลังคำแช่งแต่ละประการ ตระกูลต่าง ๆ ที่อยู่หน้าภูเขาเอบาลก็จะกล่าวว่า “อาเมน.”—พระบัญญัติ 27:15-26.
13. คุณจะพรรณนาอย่างไรโดยใช้คำพูดของคุณเองถึงพระพรบางอย่างที่พวกเลวีประกาศ?
13 ทีนี้ลองจินตนาการว่าคุณได้ยินคนที่อยู่หน้าภูเขาฆะรีซีมกล่าวตอบรับพระพรแต่ละประการที่พวกเลวีขานออกมา: “เจ้าทั้งหลายจะรับพระพรในเมือง, และจะรับพระพรไร่นา. บุตรทั้งหลายของเจ้า, และพืชผลที่ดินของเจ้า, และลูกสัตว์ต่าง ๆ ของเจ้าจะรับพระพร. กะจาดกะบุงและรางขยำขนมของเจ้าจะรับพระพร. เจ้าทั้งหลายจะรับพระพรเมื่อเจ้าเข้าบ้าน, และออกจากบ้าน.”—พระบัญญัติ 28:3-6.
14. ชาวยิศราเอลได้รับพระพรโดยอาศัยพื้นฐานอะไร?
14 อะไรคือพื้นฐานสำหรับการรับเอาพระพรเหล่านี้? บันทึกบอกดังนี้: “ถ้าเจ้าทั้งหลายจะอุตส่าห์เชื่อฟังถ้อยคำพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า, และทำตามข้อบัญญัติทั้งปวงของพระองค์ ซึ่งเราสั่งเจ้าทั้งหลายไว้ในวันนี้, พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะทรงตั้งเจ้าทั้งหลายไว้สูงเหนือบรรดาชนประเทศทั่วโลก: และความอวยพรเหล่านี้จะมาถึง, และตกอยู่แก่เจ้าทั้งหลาย, ด้วยเจ้าทั้งหลายได้เชื่อฟังถ้อยคำพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า.” (พระบัญญัติ 28:1, 2) ถูกแล้ว เคล็ดลับสำหรับความชื่นชมในพระพรจากพระเจ้าได้แก่การเชื่อฟังพระเจ้านั่นเอง. แต่พวกเราในทุกวันนี้ล่ะ? เราเองเป็นส่วนตัวจะเลือกพระพรและชีวิตโดย “เชื่อฟังถ้อยคำพระยะโฮวา” ต่อ ๆ ไปไหม?—พระบัญญัติ 30:19, 20.
มองให้ถ่องแท้
15. จุดใหญ่ใจความในพระพรที่บันทึกที่พระบัญญัติ 28:3 คืออะไร และเราสามารถได้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างไร?
15 ให้เราใคร่ครวญดูพระพรบางประการที่ชาวยิศราเอลอาจมีได้โดยการเชื่อฟังพระยะโฮวา. อาทิเช่น พระบัญญัติ 28:3 บอกว่า “เจ้าทั้งหลายจะรับพระพรในเมือง, และจะรับพระพร [“ใน,” ล.ม.] ไร่นา.” การได้รับพระพรจากพระเจ้าไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่หรืองานมอบหมาย. บางคนอาจรู้สึกจำใจฝืนทนอยู่ภายใต้สภาพการณ์ของตน ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาอาศัยอยู่ในบริเวณที่ถูกทำลายย่อยยับเนื่องจากภัยธรรมชาติหรือเศรษฐกิจตกต่ำหรืออยู่ในประเทศที่ยับเยินเพราะสงคราม. ส่วนคนอื่น ๆ อาจปรารถนาอย่างยิ่งที่จะรับใช้พระยะโฮวาในที่ซึ่งต่างออกไป. คริสเตียนที่เป็นพี่น้องชายบางคนอาจท้อใจเนื่องจากเขาไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รับใช้หรือเป็นผู้ปกครองในประชาคม. เป็นครั้งคราว คริสเตียนที่เป็นพี่น้องหญิงรู้สึกห่อเหี่ยวใจด้วยเหตุที่พวกเธอไม่สามารถที่จะร่วมในงานรับใช้เต็มเวลาฐานะไพโอเนียร์หรือมิชชันนารี. กระนั้น ทุกคนที่ ‘เชื่อฟังถ้อยคำพระยะโฮวาและทำทุกสิ่งที่ตนควรทำอย่างระมัดระวัง’ ก็จะได้รับพระพรในเวลานี้และตลอดชั่วนิรันดร์.
16. องค์การของพระยะโฮวาในปัจจุบันเป็นไปตามหลักการแห่งพระบัญญัติ 28:4 อย่างไร?
16 พระบัญญัติ 28:4 กล่าวว่า “บุตรทั้งหลายของเจ้า, และพืชผลที่ดินของเจ้า, และลูกสัตว์ต่าง ๆ ของเจ้าจะรับพระพร.” การที่ใช้สรรพนามเป็นเอกพจน์ในภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ของเจ้า” บ่งชี้ว่าชาวยิศราเอลที่เชื่อฟังจะประสบพระพรนั้นเป็นส่วนตัว. จะว่าอย่างไรสำหรับผู้รับใช้ที่เชื่อฟังของพระยะโฮวาในปัจจุบัน? การเพิ่มทวีและการแผ่ขยายไปทั่วโลกโดยไม่หยุดยั้งในองค์การแห่งพยานพระยะโฮวาเป็นผลมาจากการอวยพระพรของพระเจ้าต่อความพยายามอย่างกระตือรือร้นของผู้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรกว่า 5,000,000 คน. (มาระโก 13:10) และศักยภาพสำหรับการเพิ่มทวีที่ยิ่งใหญ่กว่านี้เป็นที่ประจักษ์ชัดเนื่องจากมีมากกว่า 13,000,000 คนเข้าร่วมฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. คุณกำลังชื่นชมกับพระพรต่าง ๆ แห่งราชอาณาจักรไหม?
การเลือกของชาวยิศราเอลก่อผลที่แตกต่างกัน
17. การ ‘ถูกตาม’ โดยพระพรหรือโดยคำสาปแช่งขึ้นอยู่กับสิ่งใด?
17 แท้จริงแล้ว พระพรต่าง ๆ จะติดตามชาวยิศราเอลที่เชื่อฟังไป. มีคำสัญญาดังนี้: “ความอวยพรเหล่านี้จะมาถึง, และตกอยู่แก่เจ้าทั้งหลาย.” (พระบัญญัติ 28:2) ในทำนองคล้ายกัน มีการกล่าวถึงคำสาปแช่งว่า “ความแช่งทั้งปวงเหล่านี้ก็จะมาตามเจ้าทั้งหลาย.” (พระบัญญัติ 28:15) หากคุณเป็นชาวยิศราเอลในสมัยโบราณ คุณจะ ‘ถูกตาม’ โดยพระพรหรือคำสาปแช่ง? นั่นขึ้นอยู่กับว่าคุณได้เชื่อฟังพระเจ้าหรือไม่ได้เชื่อฟังพระองค์.
18. ชาวยิศราเอลอาจเลี่ยงไม่ประสบการสาปแช่งได้อย่างไร?
18 ที่พระบัญญัติ 28:15-68 มีการพรรณนาถึงผลลัพธ์ต่าง ๆ ของการไม่เชื่อฟังซึ่งทำให้ปวดร้าวว่าเป็นความแช่ง. บางประการตรงกันข้ามเลยทีเดียวกับพระพรของการเชื่อฟังตามที่ยกขึ้นมาเป็นข้อ ๆ ในพระบัญญัติ 28:3-14. บ่อยครั้ง ชาวยิศราเอลเก็บเกี่ยวผลร้ายกาจสุดแสนของคำสาปแช่งเนื่องจากพวกเขาเลือกไปเข้าส่วนกับการนมัสการเท็จ. (เอษรา 9:7; ยิระมะยา 6:6-8; 44:2-6) ช่างน่าสมเพชเสียจริง! ผลเช่นนั้นอาจหลีกเลี่ยงได้โดยการเลือกที่ถูกต้อง นั่นคือการเชื่อฟังกฎหมายและหลักการที่ดีงามของพระยะโฮวา ซึ่งชี้บอกไหนดีไหนเลวอย่างชัดเจน. หลายคนในทุกวันนี้ทนความเจ็บปวดและความทุกข์ยากแสนเข็ญเพราะเขาเลือกจะทำตรงข้ามหลักการคัมภีร์ไบเบิลโดยปฏิบัติศาสนาเท็จ, ประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศ, ใช้ยาเสพย์ติดซึ่งผิดกฎหมาย, ใช้เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์มากเกินควร, และสิ่งอื่นคล้าย ๆ กัน. เช่นเดียวกับยิศราเอลและยูดาสมัยโบราณ การเลือกสิ่งชั่วเช่นนั้นยังผลเป็นความไม่ชอบพระทัยของพระเจ้าและความเจ็บปวดรวดร้าวใจโดยไม่จำเป็น.—ยะซายา 65:12-14.
19. จงพรรณนาสภาพที่น่ายินดีเมื่อยูดาและยิศราเอลเลือกเชื่อฟังพระยะโฮวา.
19 พระพรมีอุดมและความสงบมีอยู่ดาษดื่นเฉพาะต่อเมื่อยิศราเอลเชื่อฟังพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น เราอ่านเรื่องสมัยของกษัตริย์ซะโลโมดังนี้: “ชนชาวยูดาและยิศราเอลมีจำนวนเป็นอันมาก, ดุจทรายซึ่งอยู่ริมชายทะเล, เขาก็กินและดื่มและเล่นการสนุก . . . ชาวยูดาและยิศราเอลนั้นก็ได้อาศัยอยู่โดยความผาสุก, ทุกคนก็อยู่ใต้เถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน, ตั้งแต่เมืองดานจนถึงเมืองบะเอละซาบา, ตลอดพระชนม์แห่งกษัตริย์ซะโลโม.” (1 กษัตริย์ 4:20-25) แม้แต่ในสมัยของกษัตริย์ดาวิด ซึ่งเด่นในเรื่องการรังควานไม่หยุดหย่อนจากศัตรูของพระเจ้า ชนชาตินี้รู้สึกถึงการหนุนหลังและพระพรจากพระยะโฮวาเมื่อพวกเขาเลือกเชื่อฟังพระเจ้าแห่งความจริง.—2 ซามูเอล 7:28, 29; 8:1-15.
20. พระเจ้าทรงมั่นพระทัยเกี่ยวกับอะไรในส่วนของมนุษย์?
20 คุณจะเชื่อฟังพระเจ้าไหม หรือคุณจะไม่เชื่อฟังพระองค์? ชาวยิศราเอลมีโอกาสเลือก. แม้ว่าพวกเราทุกคนรับสืบทอดแนวโน้มที่ผิดบาปจากอาดาม เราก็ได้รับของประทานแห่งการเลือกอย่างอิสระนี้เช่นกัน. แม้ต้องเผชิญกับซาตาน, โลกชั่ว, และความไม่สมบูรณ์ของตัวเอง เราสามารถทำการเลือกที่ถูกต้องได้. ยิ่งกว่านั้น พระผู้สร้างของเราทรงมั่นพระทัยว่าแม้เมื่อเผชิญการทดลองและการล่อใจอะไรก็ตาม จะมีผู้ที่เลือกอย่างถูกต้อง ไม่เพียงทางคำพูดแต่ในการกระทำด้วย. (1 เปโตร 5:8-10) คุณจะอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้ไหม?
21. จะพิจารณาเรื่องอะไรในบทความหน้า?
21 ในบทความถัดไป เราจะสามารถเทียบเจตคติและการกระทำทั้งหลายของเรากับตัวอย่างต่าง ๆ ในอดีต. ขอให้เราแต่ละคนตอบรับด้วยความหยั่งรู้ค่าต่อคำตรัสของพระเจ้าผ่านทางโมเซที่ว่า “เราได้ตั้งชีวิตและความตาย พระพรและคำสาปแช่งไว้ตรงหน้าท่านทั้งหลาย; และท่านต้องเลือกเอาชีวิตเพื่อท่านจะมีชีวิตอยู่ต่อไป.”—พระบัญญัติ 30:19, ล.ม.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ โดยวิธีใดพระยะโฮวาทรงทำให้พระพรเป็นไปได้สำหรับมนุษย์ที่ผิดบาป?
▫ การสาปแช่งคืออะไร?
▫ โดยวิธีใดชาวยิศราเอลอาจได้รับพระพรแทนที่จะเป็นคำสาปแช่ง?
▫ ชาติยิศราเอลชื่นชมกับพระพรอะไรจากการเชื่อฟังพระเจ้า?
[รูปภาพหน้า 15]
ชาวยิศราเอลชุมนุมกันหน้าภูเขาฆะรีซีมและภูเขาเอบาล
[รูปภาพหน้า 15]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.