แหล่งอ้างอิงสำหรับชีวิตและงานรับใช้—คู่มือประชุม
วันที่ 5-11 ตุลาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อพยพ 31-32
“หนีให้ไกลจากการไหว้รูปเคารพ”
ห87-E 1/9 น. 29
การที่คนหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นที่ยอมรับของพระเจ้าและอยู่ในความทรงจำของพระองค์ (มีชื่อของเขาอยู่ใน “หนังสือรายชื่อคนที่จะได้ชีวิต”) ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นได้รับการรับรองว่าได้จะชีวิตตลอดไป เหมือนกับว่าเป็นการกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตอนที่โมเสสเป็นห่วงชาวอิสราเอล เขาขอร้องพระยะโฮวาว่า “ถ้าเป็นไปได้ ขอพระองค์โปรดยกโทษที่พวกเขาทำผิดต่อพระองค์ด้วยเถอะครับ ไม่อย่างนั้น ก็ขอให้ลบชื่อของผมออกจากหนังสือที่พระองค์บันทึกไว้” พระเจ้าตอบว่า “ใครที่ทำผิดต่อเรา เราจะลบชื่อของเขาออกจากหนังสือของเรา” (อพยพ 32:32, 33) ถึงแม้พระเจ้าจะเขียนชื่อคนที่พระองค์ยอมรับไว้ใน “หนังสือ” ของพระองค์แล้ว แต่คนนั้นอาจไม่เชื่อฟังและทิ้งความเชื่อไป ถ้าเป็นแบบนี้ พระเจ้าจะ “ลบชื่อเขาออกจากหนังสือรายชื่อคนที่จะได้ชีวิต”—วิวรณ์ 3:5
วันที่ 12-18 ตุลาคม
“คุณลักษณะที่น่าประทับใจของพระยะโฮวา”
it-2-E น. 466-467
สิ่งที่พระเจ้าสร้างเป็นหลักฐานว่าพระองค์มีอยู่จริง แต่ไม่ได้บอกชื่อของพระองค์ (สด 19:1; รม 1:20) การที่คนหนึ่งจะรู้จักชื่อของพระเจ้าจริง ๆ ต้องไม่ใช่แค่รู้ว่าพระเจ้าชื่ออะไรเท่านั้น (2พศ 6:33) แต่หมายถึงการรู้จักพระเจ้าจริง ๆ รู้ว่าพระองค์ต้องการอะไร รู้ว่าพระองค์ทำอะไร และรู้จักคุณลักษณะของพระองค์ตามที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล (เทียบกับ 1พก 8:41-43; 9:3, 7; นหม 9:10) เรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงโมเสสคนที่พระยะโฮวา “รู้จักชื่อ” คือรู้จักเป็นอย่างดี (อพย 33:12, เชิงอรรถ) โมเสสมีสิทธิพิเศษได้เห็นรัศมีของพระยะโฮวาและได้ยินพระองค์ “บอกให้รู้จักชื่อยะโฮวา” (อพย 34:5) พระองค์ไม่ได้แค่ย้ำว่าพระองค์ชื่อยะโฮวา แต่บอกว่ามีคุณลักษณะอย่างไรและทำอะไรบ้าง พระองค์พูดกับโมเสสต่อไปว่า “พระยะโฮวา พระยะโฮวา พระเจ้าที่เมตตา สงสาร ไม่โกรธง่าย รักใครก็รักมั่นคง และรักษาคำพูดเสมอ พระองค์มีความรักที่มั่นคงไม่ว่าจะผ่านไปกี่พันชั่วอายุคน พระองค์ให้อภัยความผิดและบาป แต่ไม่ละเว้นการลงโทษ พระองค์จะให้โทษของความผิดตกไปถึงลูกหลานสามสี่ชั่วอายุคน” (อพย 34:6, 7) คล้ายกัน ในเพลงของโมเสสที่มีเนื้อร้องว่า “เพราะผมจะประกาศชื่อของพระยะโฮวา” บอกให้รู้ว่าพระองค์ทำอย่างไรกับชาติอิสราเอลและพระองค์เป็นพระเจ้าแบบไหน—ฉธบ 32:3-44
วันที่ 26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | อพยพ 37-38
“ความสำคัญของแท่นบูชาที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์กับการนมัสการแท้”
it-1-E น. 82 ว. 3
แท่นบูชาสำหรับเผาเครื่องหอม แท่นบูชาสำหรับเผาเครื่องหอม (หรือ “แท่นบูชาทองคำ” [อพย 39:38]) ทำด้วยไม้อะคาเซีย ด้านบนและด้านข้างหุ้มด้วยทองคำ มีคิ้วทองคำประดับอยู่ด้านบนรอบแท่น แท่นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 44.5 ซม. ยาว 44.5 ซม. สูง 89 ซม. มีรูป “เขาสัตว์” อยู่ที่มุมด้านบนทั้ง 4 ด้าน และมีห่วงทองคำ 2 ห่วงสำหรับสอดไม้คานที่ทำด้วยไม้อะคาเซียหุ้มด้วยทองคำ ห่วงทองคำเหล่านี้ติดไว้ที่คิ้วทั้ง 2 ด้าน ด้านละ 2 ห่วงตรงข้ามกัน (อพย 30:1-5; 37:25-28) จะมีการเผาเครื่องหอมที่ปรุงขึ้นมาเป็นพิเศษที่แท่นนี้วันละ 2 ครั้งคือตอนเช้ากับตอนเย็น (อพย 30:7-9, 34-38) การใช้ภาชนะสำหรับเผาเครื่องหอมเพื่อเผาเครื่องหอมมีพูดถึงที่อื่นในคัมภีร์ไบเบิลด้วย และดูเหมือนว่าเกี่ยวข้องกับแท่นบูชาสำหรับเผาเครื่องหอม (ลนต 16:12, 13; ฮบ 9:4; วว 8:5; เทียบกับ 2พศ 26:16, 19) แท่นบูชาสำหรับเผาเครื่องหอมตั้งอยู่ตรงหน้าม่านของห้องบริสุทธิ์ที่สุดในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการพูดถึงแท่นนี้ว่าอยู่ “หน้าหีบสัญญา”—อพย 30:1, 6; 40:5, 26, 27
it-1-E น. 1195
เครื่องหอม
เครื่องหอมที่พระยะโฮวาสั่งให้ใช้ในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ตอนอยู่ในที่กันดารทำจากวัตถุดิบราคาแพงซึ่งชาวอิสราเอลนำมาถวาย (อพย 25:1, 2, 6; 35:4, 5, 8, 27-29) ตอนที่พระยะโฮวาบอกเกี่ยวกับเครื่องหอมที่มีส่วนผสม 4 อย่าง พระองค์บอกโมเสสว่า “ให้เอาสิ่งที่มีกลิ่นหอมต่อไปนี้มาอย่างละเท่า ๆ กัน คือ ยางไม้สตักเท อนนิคา มหาหิงคุ์หอม และกำยานบริสุทธิ์ มาทำเป็นเครื่องหอม เป็นส่วนผสมที่มีกลิ่นหอมหวานซึ่งปรุงอย่างช่างผู้ชำนาญ และผสมเกลือด้วย เป็นเครื่องหอมอันบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ ให้เอาส่วนหนึ่งมาตำให้ละเอียด แล้ววางบางส่วนไว้หน้าหีบสัญญาในเต็นท์เข้าเฝ้าที่ซึ่งเราจะมาหาเจ้า นี่เป็นสิ่งบริสุทธิ์ยิ่งสำหรับพวกเจ้า” และเพื่อที่เครื่องหอมนี้จะเป็นสิ่งบริสุทธิ์สำหรับพระยะโฮวาเท่านั้น พระองค์บอกว่า “ใครก็ตามที่ทำเครื่องหอมตามแบบนี้ไว้สูดดมเองต้องถูกประหารชีวิต”—อพย 30:34-38; 37:29
it-1-E น. 82 ว. 1
แท่นบูชา
แท่นบูชาที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ ตอนตั้งเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ มีการสร้างแท่นบูชา 2 แท่นตามแบบที่พระเจ้าสั่ง แท่นบูชาสำหรับเครื่องบูชาเผา (หรือ “แท่นบูชาทองแดง” [อพย 39:39]) ทำด้วยไม้อะคาเซีย มีลักษณะเหมือนหีบไม้กระดานที่ไม่มีอะไรปิดทั้งบนและล่าง แท่นนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 2.2 ม. ยาว 2.2 ม. สูง 1.3 ม. มี “รูปเขาสัตว์” ยื่นออกมาจากมุมด้านบนทั้ง 4 ด้าน แท่นนั้นหุ้มด้วยทองแดง มีตะแกรงทองแดงใส่ไว้ข้างในแท่นให้อยู่ “ต่ำลงมาตรงกึ่งกลางแท่น” แล้วหล่อห่วง 4 ห่วงติดไว้ที่มุมทั้ง 4 ใกล้ ๆ กับตะแกรงทองแดง สำหรับสอดไม้คานที่ทำด้วยไม้อะคาเซียหุ้มด้วยทองแดงเพื่อหามแท่น นี่อาจหมายถึงต้องเจาะช่องทั้งสองด้านของแท่นเพื่อจะสามารถสอดตะแกรงเข้าไปด้านในและมีห่วงห้อยอยู่ด้านนอก นักวิชาการมีความคิดเห็นหลากหลายในเรื่องนี้ หลายคนคิดว่ามี 4 ห่วงติดอยู่ที่ตะแกรง และอีก 4 ห่วงติดอยู่ที่ด้านนอกของแท่นเพื่อใช้สอดไม้คานสำหรับหาม สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างทำด้วยทองแดงคือถังใส่ขี้เถ้า พลั่ว ชาม ส้อมยาวสำหรับจิ้มเนื้อ และภาชนะใส่ถ่านไฟ—อพย 27:1-8; 38:1-7, 30; กดว 4:14
it-1-E น. 36
อะคาเซีย
ต้นอะคาเซียมีกิ่งก้านแผ่กว้างจากต้น มีหนามยาวตามกิ่งก้าน และกิ่งของมันมักจะไปพันกับกิ่งของต้นอะคาเซียที่อยู่ข้าง ๆ ทำให้ดูหนาทึบ นี่เลยทำให้เมื่อพูดถึงต้นนี้ คัมภีร์ไบเบิลมักใช้คำรูปพหูพจน์ว่า ชิททิม (shit·timʹ รูปพหูพจน์ภาษาฮีบรูที่หมายถึงต้นอะคาเซีย) ต้นอะคาเซียอาจสูงได้ถึง 6-8 เมตร แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นทรงพุ่ม ใบบอบบางและมีขน ดอกสีเหลืองมีกลิ่นหอมและดกเต็มต้น ฝักแบนและโค้ง อะคาเซียเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้ละเอียด เปลือกที่ลำต้นหนาขรุขระเป็นสีดำทนต่อแมลง การที่ต้นอะคาเซียมีคุณลักษณะเหล่านี้และหาได้ง่ายในทะเลทราย จึงเหมาะที่จะเอามาทำสิ่งของเครื่องใช้และของประดับในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ทำหีบสัญญา (อพย 25:10; 37:1) โต๊ะวางขนมปังถวาย (อพย 25:23; 37:10) แท่นบูชา (อพย 27:1; 37:25; 38:1) ไม้คานสำหรับหาม (อพย 25:13, 28; 27:6; 30:5; 37:4, 15, 28; 38:6) เสาสำหรับแขวนม่าน (อพย 26:32, 37; 36:36) กรอบผนัง (อพย 26:15; 36:20) และไม้ราวสำหรับยึดกรอบผนัง (อพย 26:26; 36:31)