จงเลียนแบบอย่างพระยะโฮวาเมื่อฝึกอบรมบุตร
“บิดามารดาทั้งหลายล้วนว่ากล่าวแก้ไขบุตรมิใช่หรือ?”—เฮ็บราย 12:7, ฉบับแปลคอนเทมโพรารี อิงลิช.
1, 2. เหตุใดการเลี้ยงดูบุตรจึงเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจแก่บิดามารดาในทุกวันนี้?
จากการสำรวจที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปรากฏว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์รู้สึกว่ามีการสื่อความกันน้อยเกินไประหว่างบิดามารดากับบุตร และบิดามารดาตามใจบุตรมากเกินไป. ในการสำรวจอีกรายหนึ่งในประเทศนี้ เกือบหนึ่งในสี่ของผู้ที่ให้คำตอบยอมรับพวกเขาไม่รู้ว่าควรสื่อสัมพันธ์กันอย่างไรกับบุตร. แนวโน้มนี้ไม่ได้มีเฉพาะในหมู่ชาวตะวันออก. หนังสือพิมพ์เดอะ โทรอนโต สตาร์ รายงานว่า “บิดามารดาชาวแคนาดาหลายคนยอมรับว่าพวกเขาไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นบิดามารดาที่ดี.” ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในปัจจุบัน บิดามารดาพบว่าการเลี้ยงดูบุตรเป็นเรื่องยาก.
2 เหตุใดการเลี้ยงดูบุตรเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจแก่บิดามารดา? เหตุผลสำคัญคือ เรามีชีวิตอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” และบัดนี้เป็นช่วง “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวด้วยว่า “ความเอนเอียงแห่งหัวใจของมนุษย์นั้นชั่วตั้งแต่เด็กมา.” (เยเนซิศ 8:21, ล.ม.) และเยาวชนอาจถูกซาตานโจมตีได้ง่ายเป็นพิเศษ เพราะมันเป็นเหมือนกับ “สิงโตคำรามแผดเสียงร้อง” เสาะหาผู้ขาดประสบการณ์เป็นเหยื่อ. (1 เปโตร 5:8) อุปสรรคมีอยู่มากมายแน่นอนสำหรับบิดามารดาคริสเตียนที่ตั้งใจมั่นว่าจะเลี้ยงดูบุตร “ด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) บิดามารดาจะช่วยบุตรให้เติบโตขึ้นเป็นผู้นมัสการที่อาวุโสของพระยะโฮวา สามารถแยกแยะ “ไหนดีไหนชั่ว” โดยวิธีใด?—เฮ็บราย 5:14.
3. เหตุใดการฝึกอบรมและการชี้นำจากบิดามารดาจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการเลี้ยงดูบุตรอย่างประสบผลสำเร็จ?
3 กษัตริย์ซะโลโมผู้ฉลาดสุขุมให้ข้อสังเกตว่า “ความโฉดเขลาผูกพันอยู่ในจิตต์ใจของเด็ก.” (สุภาษิต 13:1; 22:15) เพื่อจะขจัดความเขลาเช่นนั้นจากหัวใจเด็ก พวกเขาต้องได้รับการว่ากล่าวแก้ไขด้วยความรักจากบิดามารดา. อย่างไรก็ตาม เยาวชนไม่ยินดีรับการว่ากล่าวแก้ไขเช่นนั้นเสมอไป. ที่จริง พวกเขามักขุ่นเคืองที่มีคนมาแนะนำ ไม่ว่าใครก็ตามที่ให้คำแนะนำนั้น. ด้วยเหตุนั้น บิดามารดาจึงต้องเรียนรู้ที่จะ “ฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น.” (สุภาษิต 22:6) เมื่อบุตรใส่ใจรับฟังการตีสอนเช่นนั้น นั่นอาจหมายถึงชีวิตสำหรับเขา. (สุภาษิต 4:13) สำคัญสักเพียงไรที่บิดามารดาจะทราบว่าการฝึกอบรมผู้เยาว์ของตนนั้นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง!
ความหมายของการตีสอน
4. ความหมายหลักของ “การตีสอน” ตามที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลคืออะไร?
4 เนื่องจากกลัวจะถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเด็ก—ทางกาย, ทางวาจา, หรือทางอารมณ์—บิดามารดาบางคนหลีกเลี่ยงการว่ากล่าวแก้ไขบุตร. เราไม่จำเป็นต้องกลัวอย่างนั้น. คำว่า “การตีสอน” ตามที่คัมภีร์ไบเบิลใช้ไม่ได้หมายถึงการทำร้ายหรือความโหดร้ายแต่อย่างใด. โดยมากแล้ว คำที่ใช้ในภาษากรีกสำหรับ “การตีสอน” เกี่ยวข้องกับการสั่งสอน, การให้การศึกษา, การว่ากล่าวแก้ไข, และในบางครั้ง การลงโทษที่หนักแน่นแต่เปี่ยมด้วยความรัก.
5. เหตุใดจึงเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาวิธีที่พระยะโฮวาทรงติดต่อกับไพร่พลของพระองค์?
5 ในการตีสอนเช่นนั้น พระยะโฮวาพระเจ้าทรงวางตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบไว้. โดยเปรียบเทียบพระยะโฮวากับบิดาที่เป็นมนุษย์ อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “บิดาทั้งหลายล้วนว่ากล่าวแก้ไขบุตรมิใช่หรือ? . . . บิดาที่เป็นมนุษย์ว่ากล่าวแก้ไขเราชั่วเวลาสั้น ๆ และทำอย่างที่เขาคิดว่าดีที่สุด. แต่พระเจ้าทรงว่ากล่าวแก้ไขเราเพื่อประโยชน์ของเราเอง เพราะพระองค์ทรงประสงค์ให้เราบริสุทธิ์.” (เฮ็บราย 12:7-10, ฉบับแปลคอนเทมโพรารี อิงลิช) ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงตีสอนไพร่พลของพระองค์เพื่อพวกเขาจะบริสุทธิ์หรือไร้มลทิน. แน่นอน เราสามารถเรียนรู้ได้มากเกี่ยวกับการตีสอนบุตรด้วยการพิจารณาว่าพระยะโฮวาได้ทรงฝึกอบรมไพร่พลของพระองค์อย่างไร.—พระบัญญัติ 32:4; มัดธาย 7:11; เอเฟโซ 5:1.
ความรัก—พลังที่ให้แรงกระตุ้น
6. เหตุใดจึงอาจเป็นเรื่องยากที่บิดามารดาจะเลียนแบบอย่างความรักของพระยะโฮวา?
6 อัครสาวกโยฮันกล่าวว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก.” ดังนั้น การฝึกอบรมที่พระยะโฮวาประทานให้จึงได้รับแรงกระตุ้นจากความรักเสมอ. (1 โยฮัน 4:8; สุภาษิต 3:11, 12) นี่หมายความว่าบิดามารดาซึ่งมีความรักตามธรรมชาติต่อบุตรย่อมพบว่าง่ายที่จะเลียนแบบอย่างพระยะโฮวาในแง่นี้อย่างนั้นไหม? ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น. ความรักของพระเจ้าเป็นความรักตามหลักการ. และผู้คงแก่เรียนด้านพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกคนหนึ่งชี้ว่าความรักเช่นนั้น “ไม่สอดคล้องกับความโน้มเอียงตามธรรมชาติเสมอไป.” พระเจ้าไม่ทรงถูกครอบงำโดยความรู้สึกที่เกินควร. พระองค์ทรงคำนึงถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับไพร่พลของพระองค์เสมอ.—ยะซายา 30:20; 48:17.
7, 8. (ก) พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างเช่นไรเกี่ยวกับความรักตามหลักการในการติดต่อกับไพร่พลของพระองค์? (ข) บิดามารดาจะเลียนแบบอย่างพระยะโฮวาได้โดยวิธีใดในการช่วยบุตรให้พัฒนาความสามารถที่จะปฏิบัติตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิล?
7 ขอให้พิจารณาความรักที่พระยะโฮวาทรงแสดงออกในการติดต่อกับชนยิศราเอล. โมเซใช้ภาพเปรียบเทียบที่งดงามพรรณนาความรักของพระยะโฮวาที่มีต่อชาติยิศราเอลซึ่งเป็นชาติใหม่. เราอ่านดังนี้: “เหมือนนกอินทรีที่กวนรังของมัน กระพือปีกอยู่เหนือลูกโต กางปีกออกรองรับลูกไว้ ให้เกาะอยู่บนปีก พระเจ้าองค์เดียวก็ทรงนำ [ยาโคบ] มา.” (พระบัญญัติ 32:9, 11, 12, ฉบับแปลใหม่) เพื่อสอนลูกน้อยให้บิน แม่นกอินทรี “กวนรังของมัน” ด้วยการกระพือปีกอย่างเร็วเพื่อกระตุ้นลูกให้บิน. เมื่อในที่สุดลูกนกพุ่งออกจากรัง ซึ่งมักอยู่บนผาสูง แม่นกก็จะ “กระพือปีกอยู่เหนือ” ลูกน้อย. หากดูเหมือนว่าลูกนกอาจหล่นสู่พื้นดิน แม่นกก็จะโฉบลงไปอยู่ข้างใต้ แล้วพาลูกไป “ให้เกาะอยู่บนปีก.” ด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงดูแลชาติยิศราเอลที่เกิดใหม่ในวิธีที่คล้ายกันนี้. พระองค์ประทานพระบัญญัติของโมเซแก่ไพร่พลของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 78:5-7) จากนั้น พระเจ้าทรงเฝ้าดูชาตินี้อย่างใกล้ชิด และทรงพร้อมจะเข้าช่วยเหลือเมื่อไพร่พลของพระองค์ประสบความยุ่งยากลำบาก.
8 บิดามารดาคริสเตียนอาจเลียนแบบความรักของพระยะโฮวาอย่างไร? ก่อนอื่น เขาต้องสอนหลักการและมาตรฐานที่พบในพระคำของพระเจ้าแก่บุตร. (พระบัญญัติ 6:4-9) เป้าหมายคือเพื่อช่วยผู้เยาว์ให้เรียนรู้ที่จะตัดสินใจสอดคล้องกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล. ในการทำอย่างนี้ อาจกล่าวโดยนัยได้ว่าบิดามารดาที่เปี่ยมด้วยความรักกระพือปีกอยู่เหนือบุตร คอยสังเกตว่าบุตรใช้หลักการที่ได้เรียนรู้แล้วอย่างไร. ขณะที่บุตรเติบโตขึ้นและได้รับเสรีภาพมากขึ้นทีละน้อย บิดามารดาที่เอาใจใส่อยู่พร้อมที่จะ ‘โฉบลงไป’ และ ‘พาลูกน้อยไปให้เกาะบนปีก’ เมื่อใดก็ตามที่มีอันตราย. อันตรายแบบใด?
9. บิดามารดาที่เปี่ยมด้วยความรักต้องตื่นตัวต่ออันตรายอะไรโดยเฉพาะ? จงยกตัวอย่าง.
9 พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเตือนชนยิศราเอลถึงผลของการคบหาสมาคมที่ไม่ดี. (อาฤธโม 25:1-18; เอษรา 10:10-14) การคบหากับคนที่ไม่ควรคบเป็นเรื่องที่ก่อผลเสียหายร้ายแรงซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปด้วยเช่นกันในสมัยนี้. (1 โกรินโธ 15:33) บิดามารดาคริสเตียนควรเลียนแบบอย่างพระยะโฮวาในเรื่องนี้. เด็กสาวอายุ 15 ปีคนหนึ่งชื่อลิซาเริ่มสนใจในเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีค่านิยมด้านศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณแบบเดียวกับครอบครัวของเธอ. ลิซาเล่าว่า “คุณพ่อคุณแม่ของหนูสังเกตเห็นทันทีว่าทัศนะของหนูเปลี่ยนไป และแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นห่วง. บางครั้ง ท่านว่ากล่าวแก้ไขหนู และบางครั้งท่านให้กำลังใจหนูอย่างนุ่มนวล.” ทั้งสองนั่งลงเพื่อคุยกันกับลิซาและฟังอย่างอดทน โดยวิธีนั้นช่วยเธอให้รับมือได้ในเรื่องที่เขาสังเกตว่าเป็นปัญหาพื้นฐาน คือความปรารถนาจะได้รับการยอมรับจากคนรุ่นเดียวกัน.a
เปิดกว้างไว้เสมอสำหรับการสื่อความ
10. พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างที่ดีอย่างไรในการติดต่อกับชนชาติยิศราเอล?
10 เพื่อจะสำเร็จผลในการฝึกอบรมบุตร บิดามารดาต้องพยายามเปิดกว้างไว้เสมอสำหรับการสื่อความกับบุตรที่ยังเล็ก. แม้ว่าพระยะโฮวาทรงทราบดีถึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจเรา พระองค์ทรงสนับสนุนเราให้สื่อความกับพระองค์. (1 โครนิกา 28:9) หลังจากประทานพระบัญญัติแก่ชนชาติยิศราเอล พระยะโฮวาทรงมอบหมายชาวเลวีให้สอนพวกเขา และพระองค์ทรงส่งผู้พยากรณ์ให้หาเหตุผลกับพวกเขาและว่ากล่าวแก้ไขพวกเขา. นอกจากนั้น พระองค์ทรงแสดงความเต็มพระทัยที่จะฟังคำอธิษฐานของพวกเขาด้วย.—2 โครนิกา 17:7-9; บทเพลงสรรเสริญ 65:2; ยะซายา 1:1-3, 18-20; ยิระมะยา 25:4; ฆะลาเตีย 3:22-24.
11. (ก) บิดามารดาจะส่งเสริมการสื่อความที่ดีกับบุตรได้อย่างไร? (ข) เหตุใดจึงสำคัญที่บิดามารดาจะเป็นผู้ฟังที่ดีเมื่อสื่อความกับบุตร?
11 บิดามารดาจะเลียนแบบอย่างพระยะโฮวาได้อย่างไรเมื่อสื่อความกับบุตร? ประการแรกสุดคือ พวกเขาต้องให้เวลาแก่บุตร. นอกจากนั้น บิดามารดาควรหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นที่ไม่ยั้งคิดเป็นเชิงเย้ยหยัน อย่างเช่น “แค่นี้เองเหรอ? นึกว่ามีอะไรสำคัญนักหนา”; “เรื่องขี้ปะติ๋วแค่นี้เอง”; “ลูกจะคาดหมายอะไรมากกว่านี้ล่ะ? ลูกยังเด็กอยู่.” (สุภาษิต 12:18) เพื่อจะสนับสนุนบุตรให้เปิดเผยความรู้สึก บิดามารดาที่ฉลาดสุขุมพยายามเป็นผู้ฟังที่ดี. บิดามารดาที่ไม่ใส่ใจบุตรเมื่อยังเล็กอาจพบว่าเมื่อบุตรเติบโตขึ้นพวกเขาก็อาจไม่ได้รับความสนใจจากบุตรด้วยเหมือนกัน. พระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยสดับฟังไพร่พลของพระองค์เสมอ. พระองค์ทรงเปิดพระกรรณไว้เสมอสำหรับคนที่ถ่อมใจลงและเข้าเฝ้าพระองค์ในคำอธิษฐาน.—บทเพลงสรรเสริญ 91:15; ยิระมะยา 29:12; ลูกา 11:9-13.
12. คุณลักษณะอะไรของบิดามารดาที่อาจทำให้ง่ายขึ้นที่บุตรจะเข้าหา?
12 ขอให้พิจารณาด้วยเช่นกันถึงวิธีที่แง่มุมบางประการเกี่ยวกับบุคลิกภาพของพระเจ้าทำให้ไพร่พลของพระองค์สามารถเข้าเฝ้าพระองค์ได้อย่างอิสระ. ยกตัวอย่าง กษัตริย์ดาวิดแห่งชาติยิศราเอลโบราณทำผิดร้ายแรงด้วยการเป็นชู้กับนางบัธเซบะ. เนื่องจากเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ ดาวิดทำผิดร้ายแรงอื่น ๆ ในชีวิตท่าน. ถึงกระนั้น ท่านไม่เคยลืมเข้าเฝ้าพระยะโฮวาและทูลขอการให้อภัยและการว่ากล่าวแก้ไขจากพระองค์. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความรักกรุณาและความเมตตาของพระเจ้าทำให้ง่ายขึ้นสำหรับดาวิดที่จะหันไปพึ่งพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 103:8) โดยแสดงคุณลักษณะแบบพระเจ้าอย่างเช่นความเมตตาสงสาร บิดามารดาสามารถช่วยรักษาเส้นทางแห่งการสื่อความให้เปิดกว้างเสมอ แม้แต่เมื่อบุตรทำผิด.—บทเพลงสรรเสริญ 103:13; มาลาคี 3:17.
จงมีเหตุผล
13. การมีเหตุผลหมายรวมถึงอะไร?
13 เมื่อฟังบุตรพูด บิดามารดาต้องมีเหตุผลและแสดงออกซึ่ง “สติปัญญาที่มาจากเบื้องบน.” (ยาโกโบ 3:17) อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า “ให้ความมีเหตุผลของท่านทั้งหลายปรากฏแก่คนทั้งปวง.” (ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.) การมีเหตุผลมีความหมายเช่นไร? คำนิยามหนึ่งของคำในภาษากรีกซึ่งแปลในที่นี้ว่า “มีเหตุผล” คือ “ไม่ยืนกรานตามกฎหมายโดยเคร่งครัด.” ในขณะที่ยึดมั่นและเชิดชูมาตรฐานด้านศีลธรรมและฝ่ายวิญญาณที่หนักแน่น บิดามารดาจะแสดงความมีเหตุผลได้อย่างไร?
14. พระยะโฮวาทรงแสดงความมีเหตุผลอย่างไรในการติดต่อกับโลต?
14 พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องความมีเหตุผล. (บทเพลงสรรเสริญ 10:17) เมื่อพระองค์ทรงกระตุ้นโลตและครอบครัวให้ออกจากเมืองซะโดมที่กำลังจะพินาศ โลต “ยังรีรอ.” ต่อมา เมื่อทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาเรียกให้ท่านหนีไปยังภูมิภาคแถบภูเขา โลตกล่าวว่า “จะหนีไปที่เนินเขาไม่ได้ . . . ดูซิเมืองโน้น [โศอาร์] อยู่ใกล้พอที่จะหนีไปถึงได้และเป็นเมืองเล็ก ขอให้ข้าพเจ้าหนีไปที่นั่น เมืองนั้นเป็นเมืองเล็ก ๆ.” พระยะโฮวาทรงตอบอย่างไร? พระองค์ตรัสว่า “เราอนุญาตเรื่องนี้ คือเราจะไม่ทำลายเมืองที่เจ้าพูดถึงนั้นเสีย.” (เยเนซิศ 19:16-21, 30, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยทำตามคำขอของโลต. จริงอยู่ บิดามารดาจำเป็นต้องยึดมั่นอยู่กับมาตรฐานที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงวางไว้ในพระคำของพระองค์ คือคัมภีร์ไบเบิล. ถึงกระนั้น ในบางกรณีเขาอาจอนุญาตให้ตามความปรารถนาของบุตรเมื่อไม่ขัดกับหลักในคัมภีร์ไบเบิล.
15, 16. บิดามารดาจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเปรียบเทียบที่พบในยะซายา 28:24, 25?
15 การแสดงความมีเหตุผลหมายรวมถึงการเตรียมหัวใจของเด็กให้พร้อมรับคำแนะนำ. โดยใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบ ยะซายาเปรียบพระยะโฮวากับเกษตรกรดังนี้: “เขาผู้ไถนาเพื่อหว่านไถอยู่เสมอหรือ เขาเบิกดินและคราดอยู่เป็นนิตย์หรือ เมื่อเขาปราบผิวลงแล้วเขาไม่หว่านเทียนแดงและยี่หร่า เขาไม่ใส่ข้าวสาลีเป็นแถวและข้าวบารลีในที่อันเหมาะของมัน และหว่านข้าวสแปลต์ไว้เป็นคันแดนหรือ?”—ยะซายา 28:24, 25, ฉบับแปลใหม่.
16 พระยะโฮวาทรง “ไถนาเพื่อหว่าน” และทรง “เบิกดินและคราด.” โดยวิธีนั้น พระองค์ทรงเตรียมหัวใจไพร่พลของพระองค์ก่อนจะตีสอนพวกเขา. ในการว่ากล่าวแก้ไขบุตร บิดามารดาจะ “ไถ” หัวใจของบุตรได้โดยวิธีใด? บิดาคนหนึ่งเลียนแบบอย่างพระยะโฮวาเมื่อว่ากล่าวแก้ไขบุตรชายวัยสี่ขวบ. เมื่อลูกชายไปชกเด็กคนหนึ่งที่อยู่ใกล้บ้าน ทีแรกผู้เป็นพ่อฟังข้อแก้ตัวของลูกชายอย่างอดทน. จากนั้น เพื่อจะ “ไถ” หัวใจของลูกชาย พ่อจึงเล่าเรื่องของเด็กตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งซึ่งพบกับความเดือดร้อนอย่างมากเพราะถูกเด็กเกเรคนหนึ่งรังแก. เมื่อได้ฟังเรื่องอย่างนั้น หนูน้อยคนนี้ถูกกระตุ้นใจจนถึงกับพูดออกมาว่าเด็กเกเรคนนั้นต้องถูกลงโทษ. การ “ไถ” เช่นนั้นเตรียมหัวใจของเด็กคนนี้ไว้ และทำให้ง่ายขึ้นสำหรับเขาที่จะเห็นว่าการชกเด็กที่อยู่ใกล้บ้านคนนั้นเป็นการรังแกผู้อื่นอย่างหนึ่งและเป็นเรื่องผิด.—2 ซามูเอล 12:1-14.
17. ยะซายา 28:26-29 ให้บทเรียนอะไรในเรื่องการว่ากล่าวแก้ไขของบิดามารดา?
17 ยะซายาเปรียบการว่ากล่าวแก้ไขของพระยะโฮวาต่อไปกับขั้นตอนอีกอย่างหนึ่งในการทำนา—การนวด. ชาวนาใช้เครื่องมือนวดหลาย ๆ อย่าง ขึ้นอยู่กับความเหนียวของเปลือกเมล็ด. ไม้แท่งใช้นวดเมล็ดต้นเทียนและไม้ตะบองใช้นวดเมล็ดยี่หร่า แต่จะใช้เลื่อนหรือล้อเกวียนเพื่อนวดเปลือกเมล็ดที่เหนียวกว่า. แต่เขาจะไม่นวดเมล็ดที่นวดยากถึงขนาดที่ทำให้มันแหลกไป. เช่นเดียวกัน เมื่อพระยะโฮวาทรงประสงค์จะขจัดสิ่งใด ๆ ที่ไม่พึงปรารถนาในตัวไพร่พลของพระองค์ พระองค์ทรงใช้วิธีการต่าง ๆ กัน ขึ้นอยู่กับความจำเป็น และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่. พระองค์ไม่เคยใช้อำนาจข่มเหงหรือรุนแรง. (ยะซายา 28:26-29) เด็กบางคน เพียงแค่บิดามารดาปรายตามองก็รู้ตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำอะไรอีก. แต่เด็กบางคนจำเป็นต้องได้รับการย้ำเตือนบ่อย ๆ และบางคนอาจต้องใช้วิธีชักจูงที่แรงกว่านั้น. บิดามารดาที่มีเหตุผลจะใช้การว่ากล่าวแก้ไขตามความจำเป็นของเด็กแต่ละคน.
จงทำให้การพิจารณากับครอบครัวน่าเพลิดเพลิน
18. บิดามารดาอาจจัดเวลาสำหรับการศึกษากับครอบครัวเป็นประจำได้อย่างไร?
18 หนึ่งในบรรดาวิธีที่ดีที่สุดในการสั่งสอนบุตรคือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับครอบครัวเป็นประจำ และการพิจารณาข้อพระคัมภีร์ประจำวัน. การศึกษากับครอบครัวบังเกิดผลมากที่สุดเมื่อทำอย่างสม่ำเสมอ. หากทำกันสุดแล้วแต่โอกาสหรือไม่มีการวางแผน อย่างดีที่สุดก็คงนาน ๆ จะได้ศึกษากันสักครั้ง. ดังนั้น บิดามารดาต้อง “ซื้อโอกาสมาใช้” สำหรับการศึกษา. (เอเฟโซ 5:15-17) การเลือกเวลาที่แน่นอนและสะดวกสำหรับทุกคนอาจเป็นเรื่องท้าทาย. หัวหน้าครอบครัวคนหนึ่งพบว่าขณะที่ลูกโตขึ้นเรื่อย ๆ ตารางเวลาที่แตกต่างกันของลูกทำให้เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นที่ครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้ากัน. กระนั้น ครอบครัวของเขาจะอยู่ด้วยกันเสมอในคืนที่มีการประชุมประชาคม. ด้วยเหตุนั้น ผู้เป็นพ่อจึงจัดให้มีการศึกษากับครอบครัวในคืนหนึ่งของวันที่มีการประชุม. การจัดอย่างนี้ได้ผลดี. ในตอนนี้ ลูกทั้งสามคนของเขาเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาซึ่งรับบัพติสมาแล้ว.
19. บิดามารดาจะเลียนแบบอย่างพระยะโฮวาได้อย่างไรเมื่อนำการศึกษากับครอบครัว?
19 อย่างไรก็ตาม เพียงแค่พิจารณาเนื้อหาในพระคัมภีร์ระหว่างที่ศึกษาด้วยกันยังไม่เพียงพอ. พระยะโฮวาทรงสอนชนชาติยิศราเอลที่กลับสู่มาตุภูมิโดยทางเหล่าปุโรหิต ซึ่ง “อธิบายให้คนทั้งปวงรู้เนื้อความที่อ่านนั้น.” (นะเฮมยา 8:8) บิดาคนหนึ่งซึ่งประสบผลสำเร็จในการช่วยบุตรทั้งเจ็ดคนให้รักพระยะโฮวาจะปลีกตัวเข้าห้องของเขาก่อนการศึกษากับครอบครัวเสมอเพื่อเตรียมส่วน ปรับเนื้อหาให้เหมาะกับความจำเป็นของบุตรแต่ละคน. เขาทำให้การศึกษาเป็นเรื่องน่าเพลิดเพลินสำหรับบุตร. บุตรชายคนหนึ่งซึ่งตอนนี้โตเป็นผู้ใหญ่แล้วเล่าว่า “การศึกษาเป็นเรื่องน่าเพลิดเพลินเสมอ. หากเรากำลังเล่นบอลกันอยู่ที่สนามหลังบ้าน พอถูกเรียกให้ไปศึกษากับครอบครัวเราจะเก็บบอลทันทีและวิ่งเข้าบ้าน พร้อมจะศึกษา. เย็นวันที่มีการศึกษากับครอบครัวเป็นวันหนึ่งที่น่าเพลิดเพลินที่สุดในสัปดาห์.”
20. อาจเกิดปัญหาอะไรขึ้นได้ในการอบรมเลี้ยงดูบุตรซึ่งยังจะต้องพิจารณากันต่อไป?
20 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญประกาศดังนี้: “จงดูเถิด, การมีบุตรชายหญิงย่อมเป็นของประทานมาแต่พระยะโฮวา; และการตั้งครรภ์นั้นคือรางวัลของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 127:3) การฝึกอบรมบุตรต้องใช้เวลาและความพยายาม แต่การทำเช่นนั้นอย่างเหมาะสมอาจหมายถึงชีวิตนิรันดร์สำหรับบุตรวัยเยาว์ของเรา. นั่นคงจะเป็นบำเหน็จที่ดีเยี่ยมสักเพียงไร! ดังนั้น ขอให้เราตั้งใจเลียนแบบอย่างพระยะโฮวาเมื่อฝึกอบรมบุตร. อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบิดามารดาได้รับมอบหน้าที่รับผิดชอบในการ “อบรมเลี้ยงดู [บุตร] . . . ด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา” แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะประสบผลสำเร็จ. (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) แม้แต่เมื่อดูแลอย่างดีที่สุดแล้ว บุตรก็อาจกลายเป็นคนขืนอำนาจและเลิกรับใช้พระยะโฮวาได้. หากเป็นอย่างนั้นจะทำอย่างไร? นั่นคือเรื่องที่จะพิจารณาในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ประสบการณ์ที่ลงในบทความนี้และบทความถัดไปอาจมาจากดินแดนที่มีวัฒนธรรมต่างไปจากวัฒนธรรมของคุณ. โปรดสังเกตหลักการที่เกี่ยวข้อง และใช้หลักการนั้นในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของคุณ.
คุณจะตอบอย่างไร?
• บิดามารดาจะเลียนแบบอย่างความรักของพระยะโฮวาดังพรรณนาไว้ที่พระบัญญัติ 32:11, 12 ได้โดยวิธีใด?
• คุณได้เรียนรู้อะไรจากวิธีที่พระยะโฮวาทรงสื่อความกับชนชาติยิศราเอล?
• การที่พระยะโฮวาทรงฟังคำขอของโลตสอนเราในเรื่องใด?
• คุณได้บทเรียนอะไรในเรื่องการว่ากล่าวแก้ไขบุตรจากยะซายา 28:24-29?
[ภาพหน้า 8, 9]
โมเซเปรียบวิธีที่พระยะโฮวาทรงฝึกอบรมไพร่พลของพระองค์กับวิธีที่นกอินทรีฝึกลูกน้อยของมัน
[ภาพหน้า 10]
บิดามารดาจำเป็นต้องให้เวลาแก่บุตร
[ภาพหน้า 12]
“เย็นวันที่มีการศึกษากับครอบครัวเป็นวันหนึ่งที่น่าเพลิดเพลินที่สุดในสัปดาห์”