บทห้า
จงอบรมลูกของคุณตั้งแต่เป็นทารก
1, 2. บิดามารดาควรหมายพึ่งผู้ใดเพื่อได้ความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร?
“บุตรทั้งหลายเป็นมรดกจากพระยะโฮวา” บิดาผู้หยั่งรู้ค่าคนหนึ่งได้กล่าวออกมาเช่นนั้นราว ๆ 3,000 ปีมาแล้ว. (บทเพลงสรรเสริญ 127:3, ล.ม.) จริงทีเดียว ความยินดีของการเป็นบิดามารดานั้นเป็นบำเหน็จล้ำค่าจากพระเจ้า เป็นบำเหน็จซึ่งมีแก่คนที่สมรสแล้วส่วนใหญ่. อย่างไรก็ดี คนเหล่านั้นที่มีลูกย่อมตระหนักในไม่ช้าว่า พร้อมกับความยินดีนั้น การเป็นบิดามารดานำมาซึ่งหน้าที่รับผิดชอบด้วย.
2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้ การเลี้ยงดูลูกเป็นภารกิจที่ยากมาก. ถึงกระนั้นก็ตาม หลายคนทำอย่างมีผลสำเร็จ และผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ได้รับการดลใจชี้ถึงวิธี เมื่อกล่าวว่า “ถ้าแม้นพระยะโฮวาไม่ทรงสร้างเรือน การที่ช่างก่อทำงานหนักก็ไร้ประโยชน์.” (บทเพลงสรรเสริญ 127:1, ล.ม.) ยิ่งคุณปฏิบัติตามคำชี้นำของพระยะโฮวาอย่างใกล้ชิดมากเท่าไร คุณก็จะเป็นบิดาหรือมารดาที่ดีขึ้นมากเท่านั้น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง.” (สุภาษิต 3:5) คุณเต็มใจรับฟังคำแนะนำของพระยะโฮวาขณะที่คุณเริ่มโครงการเลี้ยงลูกระยะ 20 ปีไหม?
การยอมรับทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
3. บิดามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรในการเลี้ยงดูบุตร?
3 ในหลายครอบครัวทั่วโลก ผู้ชายถือว่าการอบรมลูกเป็นงานของผู้หญิงเสียส่วนใหญ่. จริงอยู่ พระคำของพระเจ้าชี้ถึงบทบาทของบิดาฐานะผู้หาเลี้ยงหลักของครอบครัว. อย่างไรก็ดี พระคำของพระเจ้าบอกด้วยว่า เขามีหน้าที่รับผิดชอบในบ้าน. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “จงเตรียมงานของเจ้าที่ภายนอก ทำทุกอย่างของเจ้าให้พร้อมที่ในนา และหลังจากนั้นก็จงสร้างเรือนของเจ้า.” (สุภาษิต 24:27, ฉบับแปลใหม่) ในทัศนะของพระเจ้า บิดาและมารดาเป็นผู้มีส่วนร่วมกันในการอบรมบุตร.—สุภาษิต 1:8, 9.
4. ทำไมเราไม่ควรถือว่าเด็กผู้ชายเหนือกว่าเด็กผู้หญิง?
4 คุณมีทัศนะอย่างไรต่อลูก ๆ ของคุณ? มีรายงานแจ้งว่า ในเอเชีย “บ่อยครั้งบิดามารดาไม่ยินดีที่ทารกเพศหญิงกำเนิดมา.” ตามรายงาน อคติต่อเด็กผู้หญิงยังคงมีอยู่ในลาตินอเมริกา, แม้แต่ในท่ามกลาง “ครอบครัวที่ค่อนข้างจะหัวใหม่.” อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงคือ เด็กผู้หญิงไม่ใช่ชนชั้นสอง. ยาโคบ บิดาผู้มีชื่อเสียงในโบราณกาลได้พรรณนาถึงลูกหลานทั้งสิ้นของท่าน รวมทั้งลูกสาวคนใด ๆ ที่เกิดมาจนถึงเวลานั้นว่าเป็น “ลูกทั้งหลายที่พระเจ้าโปรดประทานให้แก่ข้าพเจ้า.” (เยเนซิศ 33:1-5; 37:35) เช่นเดียวกัน พระเยซูทรงอวยพระพร “เด็กเล็ก ๆ” (ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง) ทุกคนที่ถูกพามาหาพระองค์. (มัดธาย 19:13-15) เรามั่นใจได้ว่า พระองค์ทรงสะท้อนทัศนะของพระยะโฮวา.—พระบัญญัติ 16:14.
5. ควรคำนึงถึงอะไรบ้างซึ่งควบคุมการตัดสินใจของคู่สมรสในเรื่องขนาดของครอบครัว?
5 ในชุมชนของคุณมีการคาดหมายว่าผู้หญิงควรจะให้กำเนิดบุตรหลายคนเท่าที่เป็นไปได้ไหม? นับว่าเหมาะสมที่คู่สมรสทำการตัดสินใจเองว่าจะมีลูกสักกี่คน. จะว่าอย่างไรหากบิดามารดาขาดปัจจัยที่จะเลี้ยงดู, จัดหาเครื่องนุ่งห่ม, และให้การศึกษาแก่ลูกจำนวนหลายคน? แน่นอน คู่สมรสควรคำนึงถึงเรื่องนี้เมื่อตัดสินเกี่ยวกับขนาดของครอบครัว. สามีภรรยาบางคู่ซึ่งไม่สามารถเลี้ยงดูลูกทุกคนได้ ได้มอบหน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูกบางคนไว้กับญาติพี่น้อง. การทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ไหม? ไม่เลย. และการทำเช่นนั้นใช่ว่าจะปลดเปลื้องพันธะหน้าที่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตร. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ถ้าแม้นผู้ใดไม่จัดหามาเลี้ยงคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง และโดยเฉพาะคนเหล่านั้นซึ่งเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อ.” (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) คู่สมรสที่มีความรับผิดชอบพยายามจะกำหนดขนาดแห่ง “ครอบครัว” ของตนเพื่อเขาจะสามารถ “จัดหามาเลี้ยงคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง.” เขาจะใช้การคุมกำเนิดได้ไหมเพื่อจะกำหนดขนาดของครอบครัว? นี่ก็เช่นกันเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจเป็นส่วนตัว และหากคู่สมรสตัดสินใจในแนวทางนี้ การเลือกวิธีคุมกำเนิดก็เป็นเรื่องส่วนตัวด้วย. “แต่ละคนจะแบกภาระของตนเอง.” (ฆะลาเตีย 6:5, ล.ม.) อย่างไรก็ดี การคุมกำเนิดที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งในรูปแบบใด ๆ นั้นขัดกับหลักการของคัมภีร์ไบเบิล. พระยะโฮวาพระเจ้าเป็น “บ่อเกิดแห่งชีวิต.” (บทเพลงสรรเสริญ 36:9, ล.ม.) เพราะฉะนั้น การทำลายชีวิตหลังจากปฏิสนธิแล้วคงจะเผยให้เห็นการขาดความนับถือต่อพระยะโฮวาอย่างยิ่งและเท่ากับเป็นการฆ่าคน.—เอ็กโซโด 21:22, 23; บทเพลงสรรเสริญ 139:16; ยิระมะยา 1:5.
การสนองความต้องการของลูก
6. การอบรมลูกควรเริ่มต้นเมื่อไร?
6 สุภาษิต 22:6 กล่าวว่า “จงฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น.” การอบรมบุตรเป็นหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของบิดามารดา. แต่การอบรมนั้นควรเริ่มเมื่อไร? ควรเริ่มแต่เนิ่น ๆ ทีเดียว. อัครสาวกเปาโลได้ชี้ชัดว่า ติโมเธียวได้รับการอบรม “ตั้งแต่เป็นทารก.” (2 ติโมเธียว 3:15, ล.ม.) คำภาษากรีกที่ใช้ในที่นี้อาจพาดพิงถึงทารกที่เล็กมากหรือเด็กที่ยังไม่เกิดมาด้วยซ้ำ. (ลูกา 1:41, 44; กิจการ 7:18-20) เนื่องจากเหตุนี้ ติโมเธียวได้รับการอบรมตั้งแต่เมื่อเขายังเล็กมาก—และสมควรทำเช่นนั้น. วัยทารกเป็นช่วงเวลาอันวิเศษที่จะเริ่มการอบรมเด็ก. แม้แต่ทารกเล็ก ๆ ก็กระหายความรู้.
7. (ก) ทำไมเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งบิดาและมารดาพัฒนาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับทารก? (ข) สัมพันธภาพเช่นไรมีอยู่ระหว่างพระยะโฮวากับพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียว?
7 มารดาคนหนึ่งบอกว่า “เมื่อแรกเห็นลูกน้อย ดิฉันก็รู้สึกรักเสียแล้ว.” มารดาส่วนใหญ่รู้สึกเช่นนั้น. ความผูกพันรักใคร่อันดีเช่นนั้นระหว่างมารดาและทารกงอกงามขึ้นขณะที่ทั้งสองใช้เวลาด้วยกันหลังจากการกำเนิดมา. การให้ลูกกินนมยิ่งเพิ่มความใกล้ชิดนั้น. (เทียบกับ 1 เธซะโลนิเก 2:7.) การที่มารดาโอบกอดลูกน้อยและพูดคุยด้วยนับว่าสำคัญมากในการสนองความต้องการด้านอารมณ์ของทารก. (เทียบกับยะซายา 66:12.) แต่จะว่าอย่างไรกับผู้เป็นบิดา? เขาก็เช่นกันควรสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับลูกที่เพิ่งเกิดมา. พระยะโฮวาเองทรงเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้. ในพระธรรมสุภาษิต เราเรียนถึงสัมพันธภาพของพระยะโฮวากับพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียว ผู้ซึ่งมีการแจ้งว่าได้กล่าวดังนี้: “พระยะโฮวาทรงสร้างตัวเราเป็นปฐมแห่งทางการ, . . . เราชื่นชมยินดีทุกวัน [“เป็นผู้ที่พระองค์ทรงรักใคร่เป็นพิเศษวันแล้ววันเล่า,” ล.ม.].” (สุภาษิต 8:22, 30; โยฮัน 1:14) ในทำนองคล้ายกัน บิดาที่ดีปลูกฝังความสัมพันธ์อันอบอุ่น เปี่ยมด้วยความรักกับบุตรตั้งแต่ตอนเริ่มแรกของชีวิตลูกเลยทีเดียว. บิดาคนหนึ่งบอกว่า “จงแสดงความรักใคร่มาก ๆ. ไม่เคยมีเด็กตายเนื่องจากการโอบกอดและการจูบ.”
8. บิดามารดาควรให้การกระตุ้นอะไรด้านสมองแก่ทารกเร็วเท่าที่เป็นไปได้?
8 แต่ทารกต้องการมากกว่านั้น. ตั้งแต่วินาทีที่เกิดมา สมองของเด็กพร้อมที่จะรับและเก็บข้อมูล และบิดามารดาเป็นแหล่งแรกที่จะให้สิ่งนี้. ขอยกเรื่องภาษาเป็นตัวอย่าง. นักวิจัยบอกว่า การที่เด็กเรียนรู้ที่จะพูดและอ่านได้ดีเพียงใดนั้น “เชื่อกันว่าเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับลักษณะที่เด็กติดต่อสื่อความแต่แรกกับบิดามารดา.” จงพูดคุยและอ่านให้ลูกฟังตั้งแต่วัยทารก. ไม่นานเขาจะต้องการเอาอย่างคุณ และในไม่ช้าคุณก็จะสอนเขาให้อ่าน. เขาคงจะสามารถอ่านได้ก่อนเข้าโรงเรียน. นั่นจะมีประโยชน์เป็นพิเศษหากคุณอยู่ในประเทศที่ครูมีน้อยและชั้นเรียนแน่นขนัด.
9. เป้าประสงค์สำคัญที่สุดซึ่งบิดามารดาจำเป็นต้องจดจำไว้นั้นคืออะไร?
9 ความห่วงใยอันดับแรกสุดของบิดามารดาคริสเตียนคือการสนองความต้องการด้านวิญญาณของบุตร. (ดูพระบัญญัติ 8:3.) โดยมีเป้าประสงค์อะไร? เพื่อช่วยลูกให้พัฒนาบุคลิกภาพเยี่ยงพระคริสต์ ที่แท้แล้ว เพื่อสวม “บุคลิกภาพใหม่.” (เอเฟโซ 4:24, ล.ม.) เพื่อให้เป็นเช่นนี้ เขาต้องคำนึงถึงวัสดุก่อสร้างที่เหมาะและวิธีก่อสร้างที่ถูกต้อง.
จงพร่ำสอนความจริงแก่ลูกของคุณ
10. เด็ก ๆ จำเป็นต้องพัฒนาคุณลักษณะอะไรบ้าง?
10 คุณภาพของอาคารขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างนั้นเป็นส่วนใหญ่. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า วัสดุก่อสร้างซึ่งดีที่สุดสำหรับบุคลิกภาพแบบคริสเตียนนั้นคือ “ทองคำ, เงิน, หรือเพชรพลอย.” (1 โกรินโธ 3:10-12) สิ่งเหล่านี้เป็นภาพแสดงถึงคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความเชื่อ, สติปัญญา, ความสังเกตเข้าใจ, ความภักดี, ความนับถือ, และความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาและกฎหมายของพระองค์ด้วยความรัก. (บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11; สุภาษิต 2:1-6; 3:13, 14) บิดามารดาจะช่วยบุตรของตนตั้งแต่วัยเด็กระยะแรกสุดให้พัฒนาคุณลักษณะเหล่านี้ได้อย่างไร? โดยปฏิบัติตามขั้นตอนที่บอกไว้นานมาแล้ว.
11. บิดามารดาชาวยิศราเอลช่วยบุตรของตนให้พัฒนาบุคลิกภาพเยี่ยงพระเจ้าโดยวิธีใด?
11 ไม่นานก่อนชาติยิศราเอลเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา พระยะโฮวารับสั่งแก่บิดามารดาชาวยิศราเอลว่า “ถ้อยคำเหล่านี้, ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้, ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย; และจงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้, และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน, หรือเดินในหนทาง, หรือนอนลง, และตื่นขึ้น.” (พระบัญญัติ 6:6, 7) ถูกแล้ว บิดามารดาต้องเป็นตัวอย่าง, เป็นเพื่อน, เป็นผู้สื่อความ, และเป็นครู.
12. ทำไมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่บิดามารดาวางตัวอย่างที่ดี?
12 เป็นตัวอย่าง. ประการแรก พระยะโฮวาตรัสว่า “ถ้อยคำเหล่านี้ . . . ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย.” ครั้นแล้ว พระองค์ตรัสเสริมอีกว่า “จงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้า.” ดังนั้น คุณลักษณะเยี่ยงพระเจ้าต้องอยู่ในหัวใจของบิดาหรือมารดาก่อน. บิดาหรือมารดาต้องรักความจริง และดำเนินชีวิตตามความจริงนั้น. เพียงแต่เมื่อเป็นเช่นนี้เท่านั้น เขาจึงสามารถเข้าถึงหัวใจของเด็กได้. (สุภาษิต 20:7) เพราะเหตุใด? เพราะเด็กได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่เขาเห็นมากกว่าสิ่งที่เขาได้ยิน.—ลูกา 6:40; 1 โกรินโธ 11:1.
13. ในการให้ความเอาใจใส่แก่บุตร บิดามารดาคริสเตียนสามารถเลียนแบบอย่างของพระเยซูได้อย่างไร?
13 เป็นเพื่อน. พระยะโฮวารับสั่งแก่บิดามารดาในยิศราเอลว่า ‘จงพูดกับบุตรทั้งหลายของเจ้าเมื่อเจ้าทั้งหลายนั่งอยู่ในเรือนและเดินอยู่ในหนทาง.’ การทำเช่นนี้ต้องใช้เวลากับบุตรไม่ว่าบิดามารดามีธุระมากเพียงไรก็ตาม. เห็นได้ชัด พระเยซูทรงถือว่า พระองค์สมควรให้เวลากับเด็ก ๆ. ระหว่างช่วงวันท้าย ๆ แห่งงานสั่งสอนของพระองค์ “เขาพาเด็กเล็ก ๆ มาหาพระองค์, เพื่อจะให้พระองค์ทรงจับต้องตัวเด็กนั้น.” พระเยซูมีปฏิกิริยาเช่นไร? “พระองค์ทรงอุ้มเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้นวางพระหัตถ์บนเขาและทรงอวยพรให้.” (มาระโก 10:13, 16) คิดดูซิ ขณะที่การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคืบใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว. กระนั้น พระองค์ก็ยังทรงให้เวลาและความสนใจต่อเด็กเหล่านี้. ช่างเป็นบทเรียนที่ดีเสียจริง ๆ!
14. ทำไมจึงเป็นประโยชน์ที่บิดามารดาจะใช้เวลากับบุตร?
14 เป็นผู้สื่อความ. การใช้เวลากับลูกจะช่วยคุณให้สื่อความกับเขา. ยิ่งคุณสื่อความมากเท่าใด คุณก็จะสังเกตเข้าใจดีขึ้นเท่านั้นว่าบุคลิกภาพของเขากำลังพัฒนาอย่างไร. แต่โปรดจำไว้ว่า การสื่อความไม่ใช่แค่การพูดคุย. มารดาคนหนึ่งในบราซิลบอกว่า “ดิฉันต้องพัฒนาศิลปะในการฟัง รับฟังด้วยหัวใจ.” ความอดทนของเธอเกิดผลเมื่อลูกชายเริ่มให้เธอรู้ถึงความรู้สึกของเขา.
15. จำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งใดเมื่อมาถึงเรื่องนันทนาการ?
15 เด็กจำเป็นต้องมี “วาระหัวเราะ . . . และวาระเต้นรำ” เวลาสำหรับนันทนาการ. (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 4, ฉบับแปลใหม่; ซะคาระยา 8:5) นันทนาการให้ผลประโยชน์มากเมื่อบิดามารดากับบุตรเพลิดเพลินด้วยกัน. เป็นข้อเท็จจริงอันน่าเศร้าที่ว่าในหลายบ้าน นันทนาการหมายถึงการดูโทรทัศน์. ขณะที่รายการโทรทัศน์บางรายการอาจให้ความบันเทิง ก็มีหลายรายการทำลายค่านิยมที่ดีงาม และการดูโทรทัศน์มักจะปิดกั้นการสื่อความในครอบครัว. เพราะฉะนั้น น่าจะทำอะไรในเชิงสร้างสรรค์กับลูก ๆ ของคุณ. ร้องเพลง, เล่นเกม, สังสรรค์กับเพื่อน ๆ, ไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ให้ความเพลิดเพลิน. กิจกรรมดังกล่าวส่งเสริมการสื่อความ.
16. บิดามารดาควรสอนอะไรแก่บุตรในเรื่องพระยะโฮวา และควรทำเช่นนั้นโดยวิธีใด?
16 เป็นครู. พระยะโฮวาตรัสว่า “จงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้.” บริบทบอกให้คุณทราบสิ่ง ที่จะสอนและวิธี สอน. ประการแรก “เจ้าจงรักพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจ, สุดจิตต์ของเจ้า, และด้วยสิ้นสุดกำลังของเจ้า.” (พระบัญญัติ 6:5) ครั้นแล้ว “ถ้อยคำเหล่านี้ . . . จงอุตส่าห์สั่งสอน.” จงถ่ายทอดคำสั่งสอนที่มุ่งในการพัฒนาความรักอย่างสุดจิตวิญญาณต่อพระยะโฮวาและกฎหมายของพระองค์. (เทียบกับเฮ็บราย 8:10.) คำ “อุตส่าห์สั่งสอน [“พร่ำสอน,” ล.ม.]” หมายถึงสอนโดยการกล่าวซ้ำ. ดังนั้น ที่แท้แล้ว พระยะโฮวาตรัสกับคุณว่า วิธีหลักในการช่วยลูกของคุณพัฒนาบุคลิกภาพแบบพระเจ้าคือ พูดคุยถึงพระองค์เสมอ. นี่หมายรวมถึงมีการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเขาเป็นประจำ.
17. บิดามารดาอาจจำเป็นต้องพัฒนาสิ่งใดในตัวบุตร? เพราะเหตุใด?
17 บิดามารดาส่วนใหญ่ทราบว่าการให้ความรู้เข้าถึงหัวใจของบุตรไม่ใช่เรื่องง่าย. อัครสาวกเปโตรกระตุ้นเตือนเพื่อนคริสเตียนว่า “ดุจดังทารกที่พึ่งคลอด จงปลูกฝังความปรารถนาจะได้น้ำนมอันไม่มีอะไรเจือปนที่เป็นของพระคำ.” (1 เปโตร 2:2, ล.ม.) ถ้อยคำที่ว่า “ปลูกฝัง ความปรารถนา” บ่งชี้ว่า ตามธรรมดาแล้ว หลายคนไม่หิวอาหารฝ่ายวิญญาณ. บิดามารดาอาจต้องหาวิธีพัฒนาความปรารถนาเช่นนั้นขึ้นในตัวบุตร.
18. วิธีการสอนแบบใดบ้างของพระเยซูที่บิดามารดาได้รับการสนับสนุนให้เลียนแบบ?
18 พระเยซูเข้าถึงหัวใจโดยใช้อุทาหรณ์. (มาระโก 13:34; ลูกา 10:29-37) วิธีการสอนเช่นนี้บังเกิดผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก ๆ. จงสอนหลักการในคัมภีร์ไบเบิลโดยใช้เรื่องราวที่มีความหลากหลาย น่าสนใจ บางทีอาจใช้เรื่องเหล่านั้นที่พบใน หนังสือของฉันเกี่ยวด้วยเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล.a จงให้เด็ก ๆ มีส่วนด้วย. ให้เขาใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยการวาดภาพและเอาเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลมาแสดงในลักษณะละคร. พระเยซูทรงใช้คำถามด้วย. (มัดธาย 17:24-27) จงเลียนวิธีของพระองค์ระหว่างการศึกษาในครอบครัว. แทนที่จะเพียงบอกกฎหมายของพระเจ้า จงถามคำถาม เช่น ทำไมพระยะโฮวาให้กฎหมายนี้แก่เรา? จะเกิดอะไรขึ้นหากเรารักษากฎหมายนี้? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่รักษากฎหมายนี้? คำถามเช่นนั้นช่วยเด็กให้หาเหตุผลและเข้าใจว่า กฎหมายของพระเจ้าใช้การได้จริงและเป็นประโยชน์.—พระบัญญัติ 10:13.
19. หากบิดามารดาติดตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลในการปฏิบัติกับบุตรแล้ว เด็กจะได้รับผลประโยชน์มากมายอะไรบ้าง?
19 โดยการเป็นตัวอย่าง, เป็นเพื่อน, เป็นผู้สื่อความ, และเป็นครู คุณสามารถช่วยลูกตั้งแต่ช่วงปีแรก ๆ ให้สร้างสัมพันธภาพอันใกล้ชิดเป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวาพระเจ้า. สัมพันธภาพเช่นนี้จะส่งเสริมให้เด็กของคุณมีความสุขฐานะเป็นคริสเตียน. เขาจะพยายามดำเนินตามความเชื่อแม้แต่เมื่อเผชิญกับความกดดันจากคนรุ่นเดียวกันและการล่อใจ. จงช่วยเขาเสมอให้หยั่งรู้ค่าสัมพันธภาพอันล้ำค่าเช่นนี้.—สุภาษิต 27:11.
ความจำเป็นยิ่งของการตีสอน
20. การตีสอนคืออะไร และควรนำมาใช้โดยวิธีใด?
20 การตีสอนเป็นการอบรมที่แก้ไขจิตใจและหัวใจให้ถูกต้อง. เด็กจำเป็นต้องได้รับการตีสอนอยู่เสมอ. เปาโลแนะนำบิดาให้ “อบรม [บุตร] ด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) บิดามารดาควรตีสอนด้วยความรัก เช่นเดียวกับที่พระยะโฮวาทรงกระทำ. (เฮ็บราย 12:4-11) การตีสอนที่อาศัยความรักอาจถ่ายทอดได้โดยการหาเหตุผล. เนื่องจากเหตุนี้ เราได้รับการกำชับให้ “ฟังคำสั่งสอน [“การตีสอน,” ล.ม.].” (สุภาษิต 8:33) ควรตีสอนอย่างไร?
21. บิดามารดาควรจดจำหลักการอะไรเมื่อตีสอนบุตร?
21 บิดามารดาบางคนคิดว่า การตีสอนบุตรพาดพิงถึงเพียงแต่การพูดกับเด็กด้วยน้ำเสียงข่มขู่, ดุด่า, หรือถึงกับสบประมาทบุตร. อย่างไรก็ดี ในเรื่องเดียวกันนี้ เปาโลเตือนให้ระวังว่า “ฝ่ายท่านทั้งหลายผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของตนให้ขัดเคืองใจ.” (เอเฟโซ 6:4) คริสเตียนทุกคนได้รับการกระตุ้นเตือนให้ “สุภาพต่อคนทั้งปวง . . . สั่งสอนคนที่มีแนวโน้มไม่ยินดีรับนั้นด้วยใจอ่อนโยน.” (2 ติโมเธียว 2:24, 25, ล.ม.) บิดามารดาคริสเตียน ขณะสำนึกถึงความจำเป็นที่ต้องมีความหนักแน่น จงพยายามคำนึงถึงถ้อยคำเหล่านี้เมื่อตีสอนบุตร. แต่บางครั้ง การหาเหตุผลยังไม่พอ และอาจจำเป็นต้องใช้การลงโทษบางอย่าง.—สุภาษิต 22:15.
22. หากจำเป็นต้องลงโทษเด็ก ต้องช่วยเขาให้เข้าใจอะไร?
22 เด็กแต่ละคนต้องได้รับการตีสอนแบบที่ต่างกัน. บางคน “สักแต่ใช้คำพูดเท่านั้นจะฝึกสอน” ไม่ได้. สำหรับเขาแล้ว การใช้วิธีลงโทษเป็นครั้งคราวเพราะเขาไม่เชื่อฟังนั้นอาจเป็นการช่วยชีวิต. (สุภาษิต 17:10; 23:13, 14; 29:19, ฉบับแปลใหม่) อย่างไรก็ตาม เด็กควรเข้าใจเหตุผลที่เขาได้รับการลงโทษ. “ไม้เรียวและ การว่ากล่าวเป็นที่ให้เกิดปัญญา.” (สุภาษิต 29:15, ล.ม.; โยบ 6:24) นอกจากนี้ การลงโทษย่อมมีขอบเขต. พระยะโฮวาตรัสแก่ไพร่พลของพระองค์ว่า “เราจะตีสอน [“เฆี่ยนตี,” ล.ม.] เจ้าตามขนาด [“ที่เหมาะสม,” ล.ม.].” (ยิระมะยา 46:28ข, ฉบับแปลใหม่) คัมภีร์ไบเบิลไม่สนับสนุนอย่างเด็ดขาดในการเฆี่ยนตีอย่างโกรธแค้นหรือการทุบตีอย่างรุนแรงซึ่งทำให้เด็กฟกช้ำดำเขียวและถึงกับบาดเจ็บด้วยซ้ำ.—สุภาษิต 16:32.
23. เด็กน่าจะสามารถเข้าใจอะไรเมื่อถูกบิดามารดาลงโทษ?
23 เมื่อพระยะโฮวาทรงเตือนไพร่พลของพระองค์ว่า จะทรงตีสอนเขานั้น ทีแรกพระองค์ตรัสว่า “อย่ากลัวเลยเพราะเราอยู่กับเจ้า.” (ยิระมะยา 46:28ก, ฉบับแปลใหม่) เช่นกัน การตีสอนของบิดามารดา ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามที่เหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้เด็กรู้สึกเลยว่าถูกทอดทิ้ง. (โกโลซาย 3:21) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เด็กควรตระหนักว่า ตนได้รับการตีสอนเช่นนั้นก็เนื่องด้วยบิดาหรือมารดา ‘อยู่กับเขา’ เป็นฝ่ายเขา.
จงป้องกันลูกของคุณไว้จากอันตราย
24, 25. อะไรเป็นการคุกคามที่น่าขยะแขยงอย่างหนึ่งที่เด็กจำเป็นต้องได้รับการป้องกันไว้ในสมัยนี้?
24 ผู้ใหญ่หลายคนคิดถึงวัยเด็กของตนว่าเป็นช่วงแห่งความสุขเบิกบาน. พวกเขาหวนคิดถึงความรู้สึกอันอบอุ่นปลอดภัย ความแน่ใจที่ว่าบิดามารดาจะเอาใจใส่ดูแลเขาไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไรก็ตาม. บิดามารดาต้องการให้ลูกรู้สึกอย่างนั้น แต่ในโลกที่เสื่อมทรามทุกวันนี้ เป็นเรื่องยากกว่าที่เคยเป็นมาที่จะให้เด็กปลอดภัย.
25 การคุกคามที่น่าขยะแขยงอย่างหนึ่งซึ่งได้เพิ่มขึ้นไม่กี่ปีมานี้คือการทำร้ายเด็กทางเพศ. ในมาเลเซีย รายงานเกี่ยวกับการทำร้ายเด็กทางเพศมีมากขึ้นเป็นสี่เท่าในช่วงสิบปี. ในเยอรมนี เด็กประมาณ 300,000 คนถูกทำร้ายทางเพศแต่ละปี ขณะที่ในประเทศหนึ่งแถบอเมริกาใต้ ตามรายงานการวิจัย มีจำนวนที่น่าตกตะลึงถึงประมาณ 9,000,000 คนในแต่ละปี! เป็นที่น่าสลดใจ ส่วนใหญ่ของเด็กเหล่านี้ถูกทำร้ายในบ้านของตนเองโดยคนที่เขารู้จักและไว้ใจ. แต่เด็กควรมีบิดามารดาผู้มีความเชื่อเป็นการปกป้องที่แน่นหนา. บิดามารดาจะเป็นผู้คุ้มครองได้อย่างไร?
26. มีวิธีใดบ้างที่จะดูแลเด็กให้ปลอดภัยโดยตลอด และความรู้จะป้องกันเด็กไว้ได้อย่างไร?
26 เนื่องจากประสบการณ์แสดงว่า เด็ก ๆ ซึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องเพศเท่าไรนักถูกผู้รังแกจู่โจมได้ง่ายเป็นพิเศษ มาตรการหลักในการป้องกันคือ สอนเด็ก แม้แต่เมื่อเขายังเล็กอยู่. ความรู้สามารถให้การป้องกันไว้ “จากทางของคนชั่ว, เพื่อให้พ้นจากคนที่พูดดึงดันไปในทางหลงผิด.” (สุภาษิต 2:10-12) ความรู้อะไร? ความรู้เกี่ยวกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล เกี่ยวกับสิ่งที่ถูกต้องและผิดทางด้านศีลธรรม. อีกทั้งความรู้ที่ว่า ผู้ใหญ่บางคนทำสิ่งเลวร้ายและคนหนุ่มสาวไม่ต้องเชื่อฟังเมื่อมีคนแนะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม. (เทียบกับดานิเอล 1:4, 8; 3:16-18.) อย่าจำกัดการสั่งสอนนั้นไว้ในการพูดครั้งเดียว. เด็ก ๆ ส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการสอนซ้ำแล้วซ้ำอีกก่อนจะจำได้ดี. ขณะที่เด็กเติบโตขึ้นอีกหน่อย ด้วยความรัก บิดาจะเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูกสาว และมารดาก็เคารพสิทธินั้นของลูกชาย—ซึ่งโดยวิธีนี้ เป็นการเสริมความสำนึกของเด็กต่อสิ่งที่เหมาะสมให้เข้มแข็งขึ้น. และแน่นอน การป้องกันที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งเพื่อมิให้ถูกทำร้ายนั้นคือ การที่คุณดูแลอย่างใกล้ชิดฐานะบิดามารดา.
แสวงหาการชี้นำจากพระเจ้า
27, 28. ใครเป็นแหล่งสำคัญที่สุดในการให้ความช่วยเหลือแก่บิดามารดาเมื่อเผชิญการท้าทายในการเลี้ยงดูบุตร?
27 ที่จริง การอบรมเด็กตั้งแต่เป็นทารกนั้นเป็นการท้าทาย ทว่าบิดามารดาผู้มีความเชื่อไม่ต้องเผชิญการท้าทายนั้นตามลำพัง. ย้อนไปในสมัยของผู้วินิจฉัย เมื่อบุรุษชื่อมาโนฮาทราบว่ากำลังจะเป็นบิดา เขาทูลขอพระยะโฮวาเพื่อการชี้นำในการเลี้ยงบุตร. พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของเขา.—วินิจฉัย 13:8, 12, 24.
28 คล้ายกันในทุกวันนี้ ขณะที่บิดามารดาผู้มีความเชื่อเลี้ยงดูบุตร เขาสามารถทูลต่อพระยะโฮวาในคำอธิษฐานได้. การเป็นบิดาหรือมารดาเป็นงานที่ยาก ทว่ามีบำเหน็จมากมาย. คู่สมรสคริสเตียนคู่หนึ่งในฮาวายบอกว่า “คุณมีเวลา 12 ปีที่จะทำงานของคุณในการอบรมลูกให้เสร็จก่อนช่วงวัยรุ่นที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น. แต่หากคุณได้พยายามบากบั่นเอาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ ก็ถึงเวลาที่จะเก็บเกี่ยวความยินดีและสันติสุขเมื่อเขาตัดสินใจว่าต้องการจะรับใช้พระยะโฮวาจากหัวใจ.” (สุภาษิต 23:15, 16) เมื่อลูกของคุณตัดสินใจเช่นนั้น คุณก็เช่นกันจะได้รับการกระตุ้นให้กล่าวว่า “บุตรทั้งหลายเป็นมรดกจากพระยะโฮวา.”
a จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก.