เซเค็ม—เมืองในหุบเขา
ลึกเข้าไปในใจกลางของแผ่นดินที่พระเจ้าเลือกไว้สำหรับไพร่พลของพระองค์ เมืองเซเค็มทอดตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขาเอบาลกับหุบเขาฆะรีซีม ที่นี่แหละ—เกือบสี่พันปีมาแล้ว—พระยะโฮวาได้ตรัสคำสัญญากับอับราฮามว่า “แผ่นดินนี้เราจะยกให้พงศ์พันธุ์ของเจ้า.”—เยเนซิศ 12:6, 7.
ประสานกับคำสัญญานี้ ยาโคบหลานชายอับราฮามได้ตั้งทับอาศัยที่เมืองเซเค็มและได้ก่อแท่นบูชาขึ้นซึ่งท่านตั้งชื่อว่า “พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของยิศราเอล.” เป็นไปได้ที่ยาโคบได้ขุดบ่อน้ำในบริเวณนี้เพื่อจะมีน้ำกินน้ำใช้สำหรับครอบครัวและฝูงสัตว์ของท่าน บ่อน้ำซึ่งอีกหลายศตวรรษต่อมารู้จักกันว่า “บ่อน้ำของยาโคบ.”—เยเนซิศ 33:18-20, เชิงอรรถในคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่; โยฮัน 4:5, 6, 12.
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าสมาชิกครอบครัวยาโคบทุกคนได้แสดงความกระตือรือร้นอันแรงกล้าเพื่อการนมัสการแท้. ดีนา ลูกสาวของท่านได้เสาะหาเพื่อนในหมู่หญิงสาวชาวคะนาอันในเมืองเซเค็ม. ดีนา ซึ่งตอนนั้นยังอ่อนวัยได้ละกระโจมของครอบครัวอันเป็นที่ปลอดภัย แล้วเริ่มเที่ยวไปเมืองใกล้เคียง คบหาสมาคมกับคนในเมืองนั้น.
ชายหนุ่มทั้งหลายในเมืองนั้นจะนึกอย่างไรเมื่อหญิงสาวโสดผู้นี้เที่ยวไปเมืองของพวกเขาเป็นประจำ—ดูเหมือนไม่มีคนอื่นเดินทางไปด้วย? บุตรชายเจ้าเมือง “เห็นนางสาวดีนาก็เอาไปหลับนอนทำการอนาจาร.” ทำไมดีนาถึงได้แส่หาเรื่องด้วยการคบหากับชาวคะนาอันที่เสื่อมทรามทางศีลธรรม? เป็นเพราะเธอรู้สึกว่าเธอต้องการมีเพื่อนสาววัยเดียวกันหรือ? เธอเป็นเด็กหัวดื้อและถือเอาแต่ใจตัวเหมือนพี่ชายบางคนของเธออย่างนั้นไหม? โปรดอ่านบันทึกในพระธรรมเยเนซิศและพยายามเข้าใจความเดือดร้อนและความรู้สึกอับอายที่ยาโคบและนางเลอาต้องได้ประสบเนื่องจากผลอันร้ายกาจที่ลูกสาวได้ไปเที่ยวเมืองเซเค็ม.—เยเนซิศ 34:1-31; 49:5-7; อ่านหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 1985 หน้า 31 ด้วย.
เกือบ 300 ปีหลังจากนั้น ผลของการไม่นำพาต่อการชี้นำตามระบอบของพระเจ้าได้ปรากฏให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง. ที่เมืองเซเค็ม ยะโฮซูอะได้จัดให้มีการชุมนุมไพร่พลยิศราเอลครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์. จินตนาการฉากเหตุการณ์ที่หุบเขาแห่งนั้น. ประชาชนทั้งชายหญิงและเด็กมากกว่าหนึ่งล้านคน จากหกตระกูลแห่งยิศราเอลได้มายืนอยู่ตรงหน้าภูเขาฆะรีซีม. อีกฟากหนึ่งของหุบเขามีประชาชนจำนวนมากพอ ๆ กันจากอีกหกตระกูลยืนอยู่หน้าภูเขาเอบาล.a และตรงที่ราบเบื้องล่าง มีพวกปุโรหิตกับยะโฮซูอะยืนอยู่ข้างหีบคำสัญญาไมตรีและอยู่ระหว่างสองค่ายของชาวยิศราเอลจำนวนมหาศาล. เป็นฉากเหตุการณ์ที่น่าดูอะไรเช่นนั้น!—ยะโฮซูอะ 8:30-33.
ภูเขาสองลูกสูงขึ้นไปเหนือฝูงชนมหาศาลนี้ให้ภาพตัดกันอย่างชัดเจนในด้านความสวยงามและความแห้งแล้ง. ทางลาดบนไหล่เขาด้านภูเขาฆะรีซิมดูเขียวชอุ่มและอุดมสมบูรณ์ ส่วนทางภูเขาเอบาลนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ไร้สีสันและเป็นภูเขาโล้น. คุณจะได้ยินเสียงดังจ้อกแจ้กเพราะความตื่นเต้นไหม ขณะที่ชาวยิศราเอลรอฟังคำแถลงของยะโฮซูอะ? ทุกศัพท์สำเนียงก้องอยู่ในโรงมหรสพธรรมชาติแห่งนี้.
ในช่วงสี่ถึงหกชั่วโมงที่ยะโฮซูอะใช้อ่าน ‘หนังสือพระบัญญัติของโมเซ’ ไพร่พลทั้งปวงก็ร่วมอยู่ด้วย. (ยะโฮซูอะ 8:34, 35) ปรากฏว่าพวกยิศราเอลที่อยู่ด้านภูเขาฆะรีซีมกล่าวอาเมน! ภายหลังการอวยพรทุกครั้ง ส่วนคำกล่าวอาเมน! ของฝ่ายที่อยู่ทางภูเขาเอบาลนั้นเป็นการตอกย้ำการสาปแช่งทุกครั้ง. บางทีสภาพโล้นเตียนแห่งภูเขาเอบาลอาจเตือนใจไพร่พลให้ตระหนักถึงผลแห่งการไม่เชื่อฟังซึ่งหมายถึงความหายนะ.
ยะโฮซูอะเตือนว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาทบิดาของตนหรือมารดาของตน ให้ผู้นั้นรับคำสาปแช่ง.” เสียงจากผู้คนมากกว่าหนึ่งล้านได้ตอบเป็นเสียงเดียวว่า “อาเมน!” ยะโฮซูอะรอจนกระทั่งเสียงตอบรับดังสนั่นนั้นเงียบลงก่อนท่านกล่าวสืบไปว่า “ผู้ใดที่ยักย้ายเสาเขตของเพื่อนบ้าน ให้ผู้นั้นรับคำสาปแช่ง.” อีกครั้งหนึ่ง ผู้คนหกตระกูลกับบรรดาคนต่างด้าวจำนวนมากต่างก็พากันตอบด้วยเสียงดังว่า “อาเมน!” (พระบัญญัติ 27:16, 17, ฉบับแปลใหม่) หากคุณอยู่ที่นั่น คุณจะลืมการชุมนุมซึ่งจัดขึ้นระหว่างภูเขาสองลูกนั้นได้หรือ? ความจำเป็นต้องเชื่อฟังคงผนึกตรึงจิตใจของคุณจนไม่อาจลบเลือนไปได้มิใช่หรือ?
ไม่นานก่อนยะโฮซูอะสิ้นชีวิตราว ๆ 20 ปีต่อมา ท่านได้เรียกคนในชาติมาร่วมชุมนุมกันที่เมืองเซเค็มอีกครั้งหนึ่งเพื่อพวกเขาจะทำให้ความตั้งใจหนักแน่นยิ่งขึ้น. ท่านได้เสนอทางเลือกซึ่งทุกคนต้องทำการตัดสินใจ. ท่านกล่าวดังนี้: “ในวันนี้ก็ให้เลือกหาว่าจะปฏิบัติผู้ใด . . . แต่ฝ่ายเราทั้งครอบครัวจะปฏิบัติพระยะโฮวา.” (ยะโฮซูอะ 24:1, 15) เห็นได้ชัดว่า การชุมนุมครั้งมโหฬารเหล่านี้ที่ปลุกเร้าความเชื่อให้มั่นคง ณ เมืองเซเค็ม ย่อมก่อความความประทับใจอย่างลึกซึ้งแก่พวกเขา. หลังจากยะโฮซูอะล่วงลับไปแล้วหลายปี ชาวยิศราเอลก็ยังคงปฏิบัติตามแบบอย่างความซื่อสัตย์ของท่านอยู่.—ยะโฮซูอะ 24:31.
ประมาณ 15 ศตวรรษต่อจากนั้นเมื่อพระเยซูทรงพักผ่อนอยู่ภายใต้ร่มเงาของภูเขาฆะรีซีมนั้น การสนทนาอันน่าอบอุ่นใจได้เกิดขึ้น. ด้วยความเหนื่อยล้าจากการเดินทางมาไกล พระเยซูขณะทรงนั่งข้างบ่อน้ำของยาโคบก็มีหญิงชาวซะมาเรียแบกเหยือกน้ำเดินมาถึงที่นั่น. ผู้หญิงนั้นประหลาดใจอย่างยิ่งเมื่อพระเยซูขอน้ำดื่ม เนื่องจากคนยิวไม่พูดกับชาวซะมาเรียอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงการดื่มจากภาชนะของพวกเขาเลย. (โยฮัน 4:5-9) ถ้อยคำถัดไปของพระเยซูยิ่งก่อความประหลาดใจแก่นางมากขึ้น.
“ทุกคนที่ดื่มจากน้ำนี้จะกระหายอีก. ผู้ใดที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้แก่เขานั้นจะไม่กระหายอีกเลย แต่น้ำซึ่งเราจะให้เขานั้นจะกลายเป็นบ่อน้ำพุพลุ่งขึ้นในตัวเขาเพื่อให้ชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 4:13, 14, ล.ม.) จินตนาการดูเถอะว่าหญิงคนนั้นเกิดความสนใจในคำสัญญานั้นแค่ไหน เพราะการตักน้ำจากบ่อลึกเป็นงานหนัก. พระเยซูทรงชี้แจงต่อไปว่าถึงแม้ยะรูซาเลมหรือภูเขาฆะรีซีมเคยมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ก็หาใช่ศาสนสถานสำคัญเพื่อใช้เป็นเป็นทางเข้าถึงพระเจ้าไม่. สิ่งสำคัญอยู่ที่เจตคติและการประพฤติต่างหาก ไม่ใช่สถานที่. พระองค์ได้ตรัสดังนี้: “ผู้นมัสการแท้ทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาด้วยวิญญาณและความจริง เพราะแท้จริง พระบิดาทรงแสวงหาคนอย่างนั้นนมัสการพระองค์.” (โยฮัน 4:23, ล.ม.) ถ้อยคำดังกล่าวคงต้องได้ประโลมใจมากเพียงใด! นี่ก็อีกครั้งหนึ่ง หุบเขาแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่ซึ่งผู้คนรับการกระตุ้นให้รับใช้พระยะโฮวา.
ทุกวันนี้ เมืองนาบลูตั้งอยู่ใกล้ ๆ ซากเมืองเซเค็มโบราณ. ภูเขาฆะรีซิมและเอบาลยังสูงตระหง่านเหนือหุบเขานั้น ตั้งมั่นอยู่ประหนึ่งพยานที่นิ่งเงียบต่อเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีต. บ่อน้ำยาโคบที่ตีนเขาสองลูกนี้ยังคงเป็นสถานที่จะไปเยือนได้. ขณะที่เราใคร่ครวญถึงเหตุการณ์ซึ่งอุบัติขึ้นที่นั่น เราได้รับการเตือนใจให้นึกถึงความสำคัญของการเทิดทูนการนมัสการแท้ เช่นที่ยะโฮซูอะและพระเยซูได้สอนเราให้กระทำ.—เทียบกับยะซายา 2:2, 3.
[เชิงอรรถ]
a หกตระกูลที่อยู่หน้าภูเขาฆะรีซีมได้แก่ตระกูลซีโมน, เลวี, ยูดา, ยิซะคาร, โยเซฟ, และเบ็นยามิน. หกตระกูลที่อยู่หน้าภูเขาเอบาลได้แก่ตระกูลรูเบ็น, ฆาด, อาเซร, ซะบูโลน, ดาน, และนัพธาลี.—พระบัญญัติ 27:12, 13.
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.