พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยเหลือเรา
“ความอุปถัมภ์ของข้าพเจ้ามาแต่พระยะโฮวา, ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก.”—บทเพลงสรรเสริญ 121:2.
1, 2. (ก) เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าเราทุกคนล้วนต้องการความช่วยเหลือไม่คราวใดก็คราวหนึ่ง? (ข) พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยเหลือแบบไหน?
มีใครในพวกเราที่ไม่ต้องการความช่วยเหลือเลย? ความจริงก็คือเราทุกคนต้องการความช่วยเหลือไม่คราวใดก็คราวหนึ่ง เพื่อจะจัดการกับปัญหาหนักใจ, เพื่อทนรับความสูญเสียที่ปวดร้าวใจ, เพื่อยืนหยัดในการทดลองที่ยากลำบาก. เมื่อจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ บ่อยครั้งคนเราจะไปหาเพื่อนที่ห่วงใยรักใคร่กัน. การบอกเล่าปัญหาเหล่านั้นให้เพื่อนฟังอาจช่วยเราแบกรับปัญหาได้ง่ายขึ้น. แต่สิ่งที่เพื่อนมนุษย์สามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือกันก็จำกัด. ยิ่งกว่านั้น คนอื่น ๆ อาจไม่สามารถช่วยเราได้เสมอไปในยามที่เราต้องการ.
2 อย่างไรก็ตาม มีผู้ช่วยเหลือที่มีอำนาจและสิ่งต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ไม่จำกัด. นอกจากนี้ บุคคลดังกล่าวรับรองแก่เราด้วยว่าจะไม่ทอดทิ้งเรา. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญระบุชื่อผู้นี้เมื่อท่านแถลงด้วยความมั่นใจว่า “ความอุปถัมภ์ของข้าพเจ้ามาแต่พระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 121:2) เหตุใดท่านมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะอุปถัมภ์หรือช่วยเหลือท่าน? เพื่อตอบคำถามนี้ ขอให้เราพิจารณาเพลงสรรเสริญบท 121 ด้วยกัน. การทำเช่นนั้นจะช่วยเราให้เข้าใจเหตุผลที่เราสามารถหวังพึ่งพระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยเหลือเราด้วยความมั่นใจเช่นกัน.
แหล่งที่ให้ความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา
3. อาจเป็นภูเขาลูกไหนที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญแหงนตาดู และเพราะเหตุใด?
3 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเริ่มต้นด้วยการชี้ไปที่ฐานะพระผู้สร้างของพระยะโฮวาว่าเป็นพื้นฐานสำหรับความมั่นใจ เมื่อท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะเงยตาดูภูเขา: ความอุปถัมภ์ของข้าพเจ้าจะมาแต่ไหน? ความอุปถัมภ์ของข้าพเจ้ามาแต่พระยะโฮวา, ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก.” (บทเพลงสรรเสริญ 121:1, 2) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญไม่ได้เงยหน้าดูภูเขาทั่ว ๆ ไป. ตอนที่มีการบันทึกเพลงนี้ พระวิหารของพระยะโฮวาตั้งอยู่ที่กรุงเยรูซาเลม. กรุงนั้น ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาในเขตยูดาห์ เปรียบเป็นที่ประทับของพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 135:21) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอาจแหงนตาดูภูเขาในกรุงเยรูซาเลมที่มีพระวิหารของพระยะโฮวาตั้งอยู่ และหวังพึ่งความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาด้วยความมั่นใจ. เหตุใดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญจึงมั่นใจว่าพระยะโฮวาช่วยเหลือท่านได้? ก็เพราะว่าพระองค์เป็น “ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก.” โดยแท้แล้ว ก็เหมือนกับท่านกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้ามั่นใจว่าจะไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรคสำหรับพระผู้สร้างผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการที่จะช่วยเหลือข้าพเจ้าได้!’—ยะซายา 40:26.
4. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญแสดงอย่างไรว่าพระยะโฮวาคอยเอาพระทัยใส่ดูแลความจำเป็นของประชาชนของพระองค์เสมอ และเหตุใดนี่เป็นแนวคิดที่ให้กำลังใจ?
4 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอธิบายต่อไปว่าพระยะโฮวาคอยเอาพระทัยใส่ดูแลความจำเป็นของผู้รับใช้พระองค์เสมอ เมื่อกล่าวว่า “พระองค์ไม่ทรงให้เท้าของท่านพลาดพลั้งไป: พระองค์ผู้ทรงบำรุงท่านไว้จะไม่ทรงเคลิ้มไป. จงดูเถอะ, ผู้ที่ทรงรักษาพวกยิศราเอลไว้นั้นจะไม่ทรงเคลิ้มหรือม่อยหลับไป.” (บทเพลงสรรเสริญ 121:3, 4) ไม่มีทางที่พระเจ้าจะปล่อยให้ผู้วางใจพระองค์ “พลาดพลั้งไป” หรือล้มลงจนไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้อีก. (สุภาษิต 24:16) เพราะเหตุใด? ก็เนื่องจากพระยะโฮวาเปรียบดุจผู้เลี้ยงแกะที่ตื่นอยู่ตลอดเวลาเพื่อปกป้องฝูงแกะของตน. นั่นเป็นแนวคิดที่ให้กำลังใจอย่างมากมิใช่หรือ? พระองค์ไม่หยุดการเอาใจใส่ดูแลความจำเป็นของประชาชนของพระองค์แม้เพียงครู่เดียว. พระองค์ทรงเฝ้าดูแลพวกเขาทั้งกลางวันกลางคืน.
5. ทำไมจึงกล่าวว่าพระยะโฮวาอยู่ที่ “มือขวา”?
5 ด้วยความมั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงปกป้องประชาชนของพระองค์อย่างภักดี ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนว่า “พระยะโฮวาเป็นผู้บำรุงรักษาท่านไว้: พระยะโฮวาเป็นร่มเงาอยู่ที่มือขวาของท่าน. ดวงอาทิตย์จะไม่ทำร้ายท่านในเวลากลางวัน, หรือดวงจันทร์จะไม่ทำร้ายท่านในเวลากลางคืน.” (บทเพลงสรรเสริญ 121:5, 6) สำหรับผู้เดินทางด้วยเท้าในดินแดนตะวันออกกลาง สถานที่ที่มีร่มเงาเป็นที่กำบังอันน่าปรารถนาให้พ้นแสงแดดที่แผดเผา. พระยะโฮวาเป็นประหนึ่งร่มเงาสำหรับประชาชนของพระองค์ กำบังพวกเขาให้พ้นจากความร้อนแรงแห่งภยันตรายต่าง ๆ. ขอสังเกตว่ามีการกล่าวถึงพระยะโฮวาว่าอยู่ที่ “มือขวา.” ในสงครามยุคโบราณ มือขวาของนักรบจะไม่ได้รับการปิดกำบังไว้เท่าไรนักจากโล่ซึ่งถือในมือซ้าย. สหายผู้ภักดีของเขาอาจให้การปกป้องด้วยการยืนรบอยู่ด้านขวามือ. เช่นเดียวกับสหายผู้นี้ พระยะโฮวายืนอยู่เคียงข้างเหล่าผู้นมัสการพระองค์อย่างภักดี คอยช่วยเหลือพวกเขาอยู่ตลอดเวลา.
6, 7. (ก) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญทำให้เรามั่นใจอย่างไรว่าไม่มีวันที่พระยะโฮวาจะหยุดการช่วยเหลือประชาชนของพระองค์? (ข) เหตุใดเราจึงมั่นใจได้อย่างเดียวกันกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ?
6 จะมีวันที่พระยะโฮวาหยุดการช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ไหม? เรื่องนั้นไม่มีทางเป็นไปได้. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวลงท้ายว่า “พระยะโฮวาจะทรงป้องกันท่านไว้ให้พ้นจากภยันตรายทุกอย่าง; พระองค์จะทรงบำรุงรักษาจิตต์วิญญาณของท่านไว้. การที่ท่านเข้าออกไปมานั้นพระยะโฮวาจะทรงป้องกันไว้ตั้งแต่นี้ไปตลอดอนาคตกาล.” (บทเพลงสรรเสริญ 121:7, 8) ขอสังเกตว่าผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเปลี่ยนจุดเน้นจากปัจจุบันไปเป็นอนาคต. ก่อนหน้านี้ในข้อ 5 ท่านกล่าวว่า “พระยะโฮวาเป็น ผู้บำรุงรักษาท่าน” ซึ่งมีคำกริยาอยู่ในรูปปัจจุบันกาล. ส่วนในข้อ 7 นี้ ท่านกล่าวว่า “พระยะโฮวาจะ ทรงป้องกันท่าน” ซึ่งเป็นรูปอนาคตกาล. ฉะนั้น ผู้นมัสการแท้จึงมั่นใจได้ว่าความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาจะมีไปตลอดอนาคตกาล. ไม่ว่าพวกเขาจะเดินทางไปไหน จะเผชิญภยันตรายเช่นไร พระหัตถ์ของพระยะโฮวาพร้อมจะยื่นมาช่วยเหลือพวกเขาเสมอ.—สุภาษิต 12:21.
7 ใช่แล้ว ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 121 มั่นใจว่าพระผู้สร้างผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการทรงปกป้องดูแลเหล่าผู้รับใช้ของพระองค์ด้วยความอ่อนละมุนดุจผู้เลี้ยงแกะที่ห่วงใยรักใคร่ และด้วยความระแวดระวังดุจผู้ระวังรักษาแกะที่ตื่นอยู่เสมอ. เรามีเหตุผลทุกประการที่จะมั่นใจอย่างเดียวกันนั้นเนื่องจากพระยะโฮวาไม่เปลี่ยนไป. (มาลาคี 3:6) นี่หมายความไหมว่าเราจะได้รับการปกป้องทางกายเสมอไป? ไม่ แต่ตราบใดที่เราหมายพึ่งพระองค์เป็นผู้ช่วยเหลือ พระองค์จะปกป้องเราให้พ้นจากทุกสิ่งที่อาจก่อความเสียหายฝ่ายวิญญาณ. เป็นเรื่องธรรมดาที่เราอยากทราบว่า ‘พระยะโฮวาทรงช่วยเราโดยวิธีใด?’ ขอให้เราพิจารณาสี่วิธีที่พระองค์ทรงช่วยเรา. ในบทความนี้ เราจะพิจารณาว่าพระองค์ทรงช่วยผู้รับใช้ของพระองค์อย่างไรในสมัยพระคัมภีร์. และในบทความหน้า เราจะพิจารณาวิธีที่พระองค์ทรงช่วยประชาชนของพระองค์ในปัจจุบัน.
ความช่วยเหลือจากทูตสวรรค์
8. เหตุใดจึงไม่น่าประหลาดใจที่ทูตสวรรค์สนใจอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพผู้รับใช้ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก?
8 พระยะโฮวามีทูตสวรรค์คอยรับพระบัญชาอยู่จำเพาะพระพักตร์พระองค์เป็นจำนวนนับล้าน ๆ. (ดานิเอล 7:9, 10) เหล่าบุตรกายวิญญาณเหล่านี้ปฏิบัติตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ด้วยความซื่อสัตย์. (บทเพลงสรรเสริญ 103:20) เหล่าทูตสวรรค์รู้ดีว่าพระยะโฮวามีความรักอย่างมากต่อบรรดาผู้นมัสการพระองค์ที่เป็นมนุษย์และพระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือพวกเขา. ไม่น่าประหลาดใจที่ทูตสวรรค์สนใจอย่างยิ่งในสวัสดิภาพผู้รับใช้ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก. (ลูกา 15:10) ดังนั้น เหล่าทูตสวรรค์ย่อมรู้สึกยินดีอย่างแน่นอนเมื่อพระยะโฮวาทรงใช้พวกเขาให้ช่วยเหลือมนุษย์. ในทางใดบ้างที่พระยะโฮวาทรงใช้ทูตสวรรค์ช่วยเหลือผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลกในครั้งโบราณ?
9. จงยกตัวอย่างว่าทูตสวรรค์ซึ่งได้รับอำนาจจากพระเจ้าปกป้องคุ้มครองมนุษย์ที่ซื่อสัตย์อย่างไร.
9 ทูตสวรรค์ได้รับอำนาจจากพระเจ้าให้ปกป้องคุ้มครองและช่วย มนุษย์ที่ซื่อสัตย์ให้พ้นภัยอันตราย. ทูตสวรรค์สององค์ช่วยโลตกับบุตรสาวให้หนีพ้นการทำลายเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์. (เยเนซิศ 19:1, 15-17) ทูตสวรรค์เพียงองค์เดียวสังหารทหารอัสซีเรีย 185,000 นายที่มาคุกคามกรุงเยรูซาเลม. (2 กษัตริย์ 19:35) เมื่อดานิเอลถูกโยนลงบ่อสิงโต พระยะโฮวา “ทรงใช้ทูตของพระองค์มาปิดปากสิงห์นั้นไว้.” (ดานิเอล 6:21, 22) ทูตสวรรค์องค์หนึ่งปล่อยอัครสาวกเปโตรออกจากคุก. (กิจการ 12:6-11) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงตัวอย่างอีกมากมายในเรื่องการปกป้องจากทูตสวรรค์ ซึ่งเป็นการยืนยันถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 34:7 ที่ว่า “ทูตของพระยะโฮวาแวดล้อมเหล่าคนที่ยำเกรงพระองค์, และทรงช่วยเขาให้พ้นจากภัยอันตราย.”
10. พระยะโฮวาใช้ทูตสวรรค์มาชูใจผู้พยากรณ์ดานิเอลอย่างไร?
10 บางครั้ง พระยะโฮวาทรงใช้ทูตสวรรค์เพื่อชูใจและเสริมกำลัง มนุษย์ที่ซื่อสัตย์. ตัวอย่างหนึ่งอันน่าประทับใจพบได้ในดานิเอลบท 10. ในเวลานั้น ดานิเอลคงอายุได้เกือบ 100 ปีแล้ว. ท่านผู้พยากรณ์ท้อใจมาก ซึ่งดูเหมือนคงเนื่องมาจากสภาพร้างเปล่าของกรุงเยรูซาเลมและความล่าช้าในการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่. นอกจากนี้ ท่านรู้สึกพรั่นพรึงเมื่อได้เห็นนิมิตอันน่าสะพรึงกลัว. (ดานิเอล 10:2, 3, 8) ด้วยความรักใคร่ พระเจ้าส่งทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาชูใจท่าน. มากกว่าหนึ่งครั้งที่ทูตสวรรค์องค์นั้นย้ำแก่ดานิเอลว่าในสายพระเนตรของพระเจ้าแล้ว ท่านเป็น “ที่โปรดปรานยิ่งนัก.” ผลเป็นประการใด? ผู้พยากรณ์สูงอายุท่านนี้บอกทูตสวรรค์องค์นั้นว่า “ท่านได้ชูกำลังของข้าพเจ้าแล้ว.”—ดานิเอล 10:11, 19.
11. มีตัวอย่างอะไรที่แสดงให้เห็นวิธีที่ทูตสวรรค์ถูกใช้ให้ชี้นำงานประกาศข่าวดี?
11 พระยะโฮวาใช้ทูตสวรรค์ให้ชี้นำ งานประกาศข่าวดีด้วย. ทูตสวรรค์องค์หนึ่งบอกฟิลิปให้ไปประกาศเรื่องพระคริสต์แก่ขันทีชาวเอธิโอเปีย ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้รับบัพติสมา. (กิจการ 8:26, 27, 36, 38) ต่อมาไม่นาน พระเจ้ามีพระทัยประสงค์ที่จะให้มีการประกาศข่าวดีแก่ชนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัต. โดยทางนิมิต ทูตสวรรค์องค์หนึ่งปรากฏแก่โกระเนเลียว คนต่างชาติผู้เกรงกลัวพระเจ้า และบอกเขาให้เชิญอัครสาวกเปโตรมา. เมื่อคนที่โกระเนเลียวใช้ไปได้พบกับเปโตรแล้ว ก็บอกท่านว่า “โกระเนเลียว . . . ได้รับ [คำสั่ง] จากทูตสวรรค์ผู้บริสุทธิ์ให้มาเชิญท่านไปที่บ้าน เพื่อจะฟังถ้อยคำของท่าน.” เปโตรตอบรับคำเชิญ และโดยวิธีนี้ คนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตกลุ่มแรกได้เข้ามาเป็นสมาชิกของประชาคมคริสเตียน. (กิจการ 10:22, 44-48) ลองคิดดูสิว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรหากทูตสวรรค์ช่วยคุณให้พบกับใครสักคนที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิต!
ความช่วยเหลือโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์
12, 13. (ก) เหตุใดอัครสาวกของพระเยซูมีเหตุผลแน่นหนาที่เชื่อมั่นได้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถช่วยเหลือพวกเขา? (ข) ในทางใดที่ว่าคริสเตียนในศตวรรษแรกได้รับฤทธิ์เดชจากพระวิญญาณบริสุทธิ์?
12 ไม่นานก่อนการสิ้นพระชนม์ พระเยซูรับรองแก่เหล่าอัครสาวกว่าพวกเขาจะไม่ถูกทิ้งอย่างปราศจากความช่วยเหลือ. พระบิดาจะโปรดประทาน ‘ผู้ช่วย คือพระวิญญาณบริสุทธิ์’ แก่พวกเขา. (โยฮัน 14:26) อัครสาวกมีเหตุผลแน่นหนาที่จะเชื่อมั่นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะสามารถช่วยเหลือพวกเขา. ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะพระคัมภีร์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจบรรจุตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นพลังที่มีอำนาจเหนือพลังทั้งมวล เพื่อช่วยประชาชนของพระองค์.
13 ในหลายโอกาส พระยะโฮวาใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อประทานอำนาจ แก่มนุษย์ให้กระทำกิจตามพระประสงค์ของพระองค์. พวกผู้วินิจฉัยได้ฤทธิ์เดชจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยชาติอิสราเอลให้พ้นจากมือของศัตรู. (วินิจฉัย 3:9, 10; 6:34) คริสเตียนในศตวรรษแรกได้รับฤทธิ์เดชจากพระวิญญาณเดียวกันนี้ให้ประกาศต่อไปด้วยความกล้าหาญแม้เผชิญการต่อต้านสารพัดรูปแบบ. (กิจการ 1:8; 4:31) ความสำเร็จในงานรับใช้ของพวกเขาเป็นหลักฐานหนักแน่นแสดงถึงการดำเนินงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์. จะมีคำอธิบายเป็นอย่างอื่นได้หรือที่ “ผู้มีความรู้น้อย และมิได้เล่าเรียนมาก” สามารถเผยแพร่ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรไปได้ตลอดทั่วโลกที่รู้จักกันในเวลานั้น?—กิจการ 4:13; โกโลซาย 1:23.
14. พระยะโฮวาใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อไขความกระจ่างแก่ประชาชนของพระองค์อย่างไร?
14 พระยะโฮวาใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์เพื่อไขความกระจ่าง แก่ประชาชนของพระองค์ด้วย. โยเซฟสามารถแก้พระสุบินเชิงพยากรณ์ของฟาโรห์ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า. (เยเนซิศ 41:16, 38, 39) โดยทางพระวิญญาณ พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์แก่ผู้ถ่อมใจ แต่ปิดซ่อนเรื่องนี้ไว้จากคนหยิ่งทะนงตน. (มัดธาย 11:25) ด้วยเหตุนี้ เมื่อกล่าวเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาจัดเตรียมไว้ “สำหรับคนที่รักพระองค์” อัครสาวกเปาโลจึงกล่าวว่า “พระเจ้าได้ทรงสำแดงสิ่งเหล่านั้นแก่เราทั้งหลายโดยพระวิญญาณ.” (1 โกรินโธ 2:7-10) เฉพาะด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่คนเราจะเข้าใจพระทัยประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างแท้จริง.
ความช่วยเหลือจากพระคำของพระเจ้า
15, 16. พระเจ้าบอกยะโฮซูอะให้ทำอะไรเพื่อท่านจะปฏิบัติอย่างสุขุม?
15 พระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระยะโฮวา “เป็นประโยชน์สำหรับสั่งสอน” และช่วยให้ผู้รับใช้ของพระเจ้าเป็น “ผู้รอบคอบ, คือเป็นผู้ที่ได้ถูกเตรียมไว้พร้อมแล้วสำหรับการดีทุกอย่าง.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17) คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับวิธีที่ประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณได้รับความช่วยเหลือจากพระคำของพระองค์ส่วนที่บันทึกไว้แล้ว.
16 พระคัมภีร์ให้การชี้นำที่สุขุม เพื่อช่วยเหลือผู้นมัสการพระเจ้า. เมื่อยะโฮซูอะได้รับหน้าที่รับผิดชอบให้นำชาติอิสราเอล พระเจ้าบอกท่านว่า “หนังสือกฎหมายนี้ [ซึ่งโมเซบันทึกไว้] อย่าให้ขาดจากปากของเจ้า; แต่เจ้าจงตรึกตรองในข้อกฎหมายนั้นทั้งวันและคืน, เพื่อเจ้าจะได้รักษาประพฤติตามสรรพสิ่งจารึกไว้ในกฎหมายนั้น; แล้วทางที่เจ้าดำเนินไปนั้นจะมีความเจริญ, ถึงกับสำเร็จประโยชน์ [“จะปฏิบัติอย่างสุขุม,” ล.ม.].” ขอสังเกตว่าพระเจ้าไม่ได้สัญญาว่าจะประทานสติปัญญาให้ท่านโดยวิธีอัศจรรย์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ยะโฮซูอะจะปฏิบัติอย่างสุขุมหากท่านได้อ่านและตรึกตรอง “หนังสือกฎหมาย” ดังกล่าว.—ยะโฮซูอะ 1:8; บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3.
17. ทั้งดานิเอลและกษัตริย์โยซียาได้รับความช่วยเหลืออย่างไรจากพระคัมภีร์บางส่วนที่มีอยู่ในสมัยนั้น?
17 พระคำของพระเจ้าที่มีบันทึกไว้ยังเผยให้ทราบ พระทัยประสงค์และพระประสงค์ของพระองค์ด้วย. ตัวอย่างเช่น ดานิเอลทราบจากบันทึกของยิระมะยาว่ากรุงเยรูซาเลมจะร้างเปล่าอีกนานเท่าใด. (ยิระมะยา 25:11; ดานิเอล 9:2) เช่นเดียวกัน ขอพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในรัชกาลกษัตริย์โยซียาแห่งยูดาห์. ในตอนนั้น ชาติอิสราเอลได้หันเหไปจากพระยะโฮวา และดูเหมือนว่ากษัตริย์องค์ต่าง ๆ ไม่ได้คัดลอกพระบัญญัติไว้เป็นฉบับส่วนตัวและประพฤติตามพระบัญญัตินั้น. (พระบัญญัติ 17:18-20) แต่ขณะที่มีการซ่อมแซมพระวิหาร มีผู้พบ “หนังสือธรรมบัญญัติ” ฉบับที่เป็นไปได้ว่าโมเซเป็นผู้เขียน ซึ่งอาจจะเป็นต้นฉบับที่เขียนเสร็จสมบูรณ์ราว 800 ปีก่อนหน้านั้น. หลังจากมีการอ่านเนื้อความในม้วนหนังสือนี้ โยซียาตระหนักว่าชาติอิสราเอลห่างเหินจากพระประสงค์ของพระยะโฮวามากสักเพียงไร และกษัตริย์ดำเนินมาตรการเด็ดขาดเพื่อให้มีการปฏิบัติตามสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือนั้น. (2 กษัตริย์ 22:8, ฉบับแปลใหม่; 23:1-7) เห็นได้ชัดมิใช่หรือว่าประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณได้รับความช่วยเหลือจากบางส่วนของพระคำของพระเจ้าที่มีอยู่ในสมัยของพวกเขา?
ความช่วยเหลือโดยทางเพื่อนร่วมความเชื่อ
18. เหตุใดเราจึงกล่าวได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้นมัสการแท้ช่วยเหลือกัน พระยะโฮวาเป็นแหล่งที่มาของความช่วยเหลือนั้น?
18 ความช่วยเหลือที่พระยะโฮวาจัดให้นั้นบ่อยครั้งผ่านมาทางเพื่อนร่วมความเชื่อ. เมื่อใดก็ตามที่ผู้นมัสการแท้ช่วยเหลือกัน ที่จริงแล้วพระเจ้านั่นเองเป็นแหล่งที่มาของความช่วยเหลือดังกล่าว. เหตุใดเรากล่าวได้เช่นนั้น? มีเหตุผลสองประการ. ประการแรก พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. พระวิญญาณนั้นก่อให้เกิดผล อย่างเช่นความรักและความดี ในตัวผู้ที่พยายามดำเนินตามอิทธิพลชักนำของพระวิญญาณนั้น. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ฉะนั้น เมื่อผู้รับใช้พระยะโฮวาคนใดถูกกระตุ้นใจให้ช่วยเหลืออีกคนหนึ่ง นี่เป็นหลักฐานชี้ถึงการดำเนินงานของพระวิญญาณของพระองค์. ประการที่สอง เราถูกสร้างตามแบบฉายาของพระเจ้า. (เยเนซิศ 1:26) นี่หมายความว่าเราสามารถสะท้อนคุณลักษณะของพระเจ้า ซึ่งรวมไปถึงความเมตตาและความกรุณาของพระองค์. ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่ผู้รับใช้พระยะโฮวาให้ความช่วยเหลือกัน แหล่งที่แท้จริงของความช่วยเหลือนั้นก็คือพระเจ้าผู้ซึ่งคุณลักษณะของพระองค์สะท้อนผ่านทางผู้รับใช้ของพระองค์นั่นเอง.
19. ตามที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้างโดยทางเพื่อนร่วมความเชื่อ?
19 ในสมัยพระคัมภีร์ พระยะโฮวาให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้างโดยทางเพื่อนร่วมความเชื่อ? บ่อยครั้งพระยะโฮวาใช้ผู้รับใช้คนหนึ่งของพระองค์ให้คำแนะนำ แก่อีกคนหนึ่ง เช่นคราวที่ยิระมะยาให้คำแนะนำแก่บารุคซึ่งช่วยรักษาชีวิตของเขาไว้. (ยิระมะยา 45:1-5) เป็นครั้งคราว ผู้นมัสการแท้ถูกกระตุ้นใจให้ช่วยเหลือในด้านวัตถุ แก่เพื่อนร่วมความเชื่อ เช่นคราวที่คริสเตียนในแคว้นมาซิโดเนียและอะคายะแสดงความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือพี่น้องของตนที่ขัดสนในกรุงเยรูซาเลม. อัครสาวกเปาโลให้ข้อสังเกตว่าน้ำใจเอื้ออารีเช่นนั้นเป็นเหตุอันสมควรที่ทำให้มีการกล่าว ‘ขอบพระคุณพระเจ้า.’—2 โกรินโธ 9:11.
20, 21. ในสภาพการณ์เช่นไรที่อัครสาวกเปาโลได้รับการเสริมกำลังจากพี่น้องในกรุงโรม?
20 ที่จับใจเป็นพิเศษคือเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีที่ผู้รับใช้พระยะโฮวาพยายามหนุนใจและให้กำลังใจ กัน. ขอพิจารณาตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับอัครสาวกเปาโล. ในคราวเดินทางไปกรุงโรมฐานะผู้ต้องหา เปาโลเดินทางตามทางหลวงของโรมที่เรียกกันว่าแอปเปียนเวย์. การเดินทางช่วงท้ายค่อนข้างลำบาก เนื่องจากต้องเดินทางผ่านที่ลุ่มแฉะ.a พี่น้องในประชาคมที่กรุงโรมทราบข่าวว่าเปาโลกำลังมา. พวกเขาทำอย่างไรกัน? พวกเขาคอยอย่างสบายอยู่ที่บ้านในกรุงโรมจนกว่าเปาโลจะมาถึงแล้วค่อยไปเยี่ยมไหม?
21 ลูกาผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลที่ร่วมเดินทางกับเปาโลครั้งนั้นบอกเราถึงสิ่งที่เกิดขึ้นดังนี้: “ครั้นพวกพี่น้องในกรุงโรมได้ยินข่าวถึงพวกเรา, เขาจึงออกมาหาเราที่ตลาดแห่งหนึ่งเรียกว่าบ้านอัปปีโอและบ้านไตรภัตตาคาร.” คุณนึกภาพฉากเหตุการณ์ออกไหม? พอพี่น้องทราบข่าวว่าเปาโลกำลังมา พวกเขาก็ส่งตัวแทนเดินทางออกจากกรุงโรมไปพบท่าน. ส่วนหนึ่งไปดักรอที่ตลาดอัปปีโอ ชุมทางอันเป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโรมประมาณ 74 กิโลเมตร. พี่น้องที่เหลือไปดักรอที่บ้านไตรภัตตาคาร ซึ่งเป็นจุดหยุดพักที่อยู่ห่างจากกรุงโรมประมาณ 58 กิโลเมตร. เปาโลรู้สึกอย่างไร? ลูการายงานว่า “เมื่อเปาโลเห็นเขาแล้วท่านจึงขอบพระเดชพระคุณพระเจ้าและมีใจชื่นบานขึ้น.” (กิจการ 28:15) คิดดูสิ เพียงแค่ได้เห็นว่าพวกพี่น้องออกแรงเดินทางกันมาไกลขนาดนั้นก็เป็นที่หนุนใจและเสริมกำลังเปาโลแล้ว! และใครที่เปาโลขอบคุณสำหรับการชูใจที่เป็นประโยชน์ต่อท่านนี้? ท่านขอบคุณพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้เป็นแหล่งที่มาของการชูใจนั้น.
22. ข้อคัมภีร์ประจำปีของเราสำหรับปี 2005 คืออะไร และจะมีการพิจารณาเรื่องใดในบทความถัดไป?
22 บันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าปฏิบัติต่อผู้นมัสการพระองค์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระองค์เป็นผู้ช่วยเหลือพวกเขา. ไม่มีผู้ใดจะช่วยเราได้เสมอเหมือนพระองค์. จึงนับว่าเหมาะทีเดียวที่พยานพระยะโฮวาจะใช้ข้อความจากบทเพลงสรรเสริญ 121:2 ที่ว่า “ความอุปถัมภ์ของข้าพเจ้ามาแต่พระยะโฮวา” เป็นข้อคัมภีร์ประจำปีของพวกเขาสำหรับปี 2005. แต่ว่าพระยะโฮวาทรงช่วยเราในทุกวันนี้อย่างไร? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a โฮเรซ กวีชาวโรมัน (ปี 65-8 ก่อน ส.ศ.) ซึ่งเคยใช้เส้นทางเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงความไม่สะดวกสบายของการเดินทางในช่วงดังกล่าว. โฮเรซพรรณนาถึงตลาดอัปปีโอว่า “แออัดไปด้วยชาวประมงและคนขายเหล้าจอมตระหนี่.” เขาบ่นเกี่ยวกับ “ตัวริ้นและกบที่น่ารำคาญ” กับน้ำที่ “แย่เอามาก ๆ.”
คุณจำได้ไหม?
ในทางใดบ้างที่พระยะโฮวาให้ความช่วยเหลือ—
• โดยทางทูตสวรรค์?
• โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์?
• โดยทางพระคำของพระองค์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ?
• โดยทางเพื่อนร่วมความเชื่อ?
[คำโปรยหน้า 15]
ข้อคัมภีร์ประจำปี 2005: “ความอุปถัมภ์ของข้าพเจ้ามาแต่พระยะโฮวา.”—บทเพลงสรรเสริญ 121:2.
[ภาพหน้า 16]
เปาโลขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับความช่วยเหลือที่ได้รับจากพี่น้องในกรุงโรม