เศษภาชนะดินเผาโบราณยืนยันบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล
คัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้าซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจ. (2 ติโมเธียว 3:16) สิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวเกี่ยวกับผู้คน, สถานที่, และสภาพการณ์ทางศาสนาและการเมืองในครั้งโบราณล้วนถูกต้อง. ความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการค้นพบทางโบราณคดีเลย แม้ว่าการค้นพบเหล่านั้นจะช่วยเสริมความมั่นใจและให้ความกระจ่างเกี่ยวกับบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลก็ตาม.
สิ่งที่นักโบราณคดีค้นพบมากที่สุดระหว่างการขุดค้นโบราณสถานต่าง ๆ คือเศษภาชนะดินเผา. ในสมัยโบราณ เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้ถูกใช้เป็นวัสดุสำหรับเขียนที่ราคาไม่แพงในหลายแห่งแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งอียิปต์และเมโสโปเตเมีย. มีการใช้เศษภาชนะดินเผาเพื่อบันทึกสัญญา, บัญชี, รายการซื้อขาย, และอื่น ๆ เช่นเดียวกับการใช้กระดาษโน้ตและแผ่นกระดาษในทุกวันนี้. โดยทั่วไปข้อความที่เขียนด้วยน้ำหมึกบนเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้จะมีความยาวตั้งแต่หนึ่งคำไปจนถึงหลายบรรทัดหรือหลายแถว.
มีการค้นพบเศษภาชนะดินเผาสมัยคัมภีร์ไบเบิลจำนวนมากจากการขุดค้นทางโบราณคดีในอิสราเอล. ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือเศษภาชนะดินเผาสามชุดซึ่งมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่เจ็ดและแปดก่อนสากลศักราชซึ่งยืนยันรายละเอียดหลายอย่างของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่พบในคัมภีร์ไบเบิล. เศษภาชนะดินเผาสามชุดนี้คือ เศษภาชนะดินเผาซะมาเรีย, เศษภาชนะดินเผาอารัด, และเศษภาชนะดินเผาลาคิช. ให้เรามาดูรายละเอียดเกี่ยวกับเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้ทีละชุด.
เศษภาชนะดินเผาซะมาเรีย
ซะมาเรียเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลทางเหนือจนกระทั่งถูกทำลายโดยชาวอัสซีเรียในปี 740 ก่อน ส.ศ. ที่ 1 กษัตริย์ 16:23, 24 มีการกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของซะมาเรียเอาไว้ว่า “ณ ปีที่สามสิบเอ็ดแห่งรัชกาลอาซากษัตริย์ยูดา [ปี 947 ก่อน ส.ศ.], อัมรีก็ได้เสวยราชย์ในประเทศยิศราเอล . . . และท่านก็ซื้อภูเขาซะมาเรียจากเซเม็รเป็นเงินสองตะลันต์, แล้วก็สร้างเมืองบนภูเขานั้น, เรียกชื่อเมืองนั้นว่าซะมาเรีย.” เมืองนี้ตั้งอยู่มาจนถึงยุคโรมันจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเซแบสตี และในที่สุดเมื่อถึงศตวรรษที่หกสากลศักราชก็ไม่มีเมืองนี้อีกต่อไป.
ระหว่างการขุดค้นซากเมืองซะมาเรียโบราณในปี 1910 คณะนักโบราณคดีได้พบเศษภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาลงความเห็นว่ามีอายุย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่แปดก่อน ส.ศ. ข้อความที่บันทึกนั้นเกี่ยวข้องกับการขนส่งน้ำมันและเหล้าองุ่นจากที่ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงมายังซะมาเรีย. หนังสือชื่อข้อความจารึกโบราณ—เสียงจากโลกสมัยคัมภีร์ไบเบิล ได้กล่าวถึงการค้นพบนี้ว่า “เศษภาชนะดินเผา 63 ชิ้นที่พบในปี 1910 . . . สมควรแล้วที่จะถูกนับเป็นหนึ่งในชุดข้อเขียนที่สำคัญที่สุดซึ่งหลงเหลือมาจากอิสราเอลโบราณ. ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เนื้อความซึ่งบันทึกบนเศษภาชนะดินเผาซะมาเรียเหล่านี้ . . . แต่อยู่ที่รายชื่อมากมาย ทั้งชื่อคน, ชื่อวงศ์วาน, และชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์ของอิสราเอล.” ชื่อเหล่านี้ยืนยันความถูกต้องของรายละเอียดที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร?
ในคราวที่ชาวอิสราเอลได้แผ่นดินตามคำสัญญามาครอบครองและแบ่งสรรกันในหมู่ตระกูลต่าง ๆ นั้น บริเวณซึ่งต่อมาคือซะมาเรียตั้งอยู่ในเขตตระกูลมะนาเซ. ตามที่กล่าวในยะโฮซูอะ 17:1-6 สิบวงศ์วานที่เกิดจากมะนาเซโดยทางคีละอาดผู้เป็นหลานชายเป็นผู้ได้รับดินแดนส่วนนี้. วงศ์วานเหล่านี้คือ อะบีเอเซร, เฮเลต, อัศรีเอล, เซเค็ม, และซีมิคา. คนที่หกคือเฮเพ็ร ไม่มีหลานชายแต่มีหลานสาวห้าคนคือ มาฮะลา, โนฮา, ฮัฆลา, มิลาคา, และธิระซา—แต่ละคนต่างก็ได้รับที่ดินของตนเอง.—อาฤธโม 27:1-7.
เศษภาชนะดินเผาซะมาเรียเก็บรักษาชื่อวงศ์วานเหล่านี้ไว้เจ็ดชื่อ คือชื่อบุตรชายของคีละอาดทั้งห้าคนและหลานสาวของเฮเพ็รอีกสองคน คือฮัฆลากับโนฮา. หนังสือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเชิงโบราณคดีของเอ็นไอวี กล่าวว่า “ชื่อวงศ์วานในเศษภาชนะดินเผาซะมาเรียเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งนอกเหนือจากคัมภีร์ไบเบิลที่เชื่อมโยงวงศ์วานต่าง ๆ ของมะนาเซเข้ากับเขตแดนที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าเป็นที่ที่พวกเขาตั้งรกราก.” ดังนั้น แง่มุมดังกล่าวของประวัติศาสตร์วงศ์ตระกูลชาวอิสราเอลในยุคแรกที่พรรณนาไว้ในคัมภีร์ไบเบิลจึงได้รับการยืนยันโดยเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้.
นอกจากนี้ เศษภาชนะดินเผาซะมาเรียยังยืนยันสภาพการณ์ทางศาสนาของชาวอิสราเอลตามที่มีพรรณนาในคัมภีร์ไบเบิลด้วย. ในช่วงเวลาที่มีการเขียนข้อความลงบนเศษภาชนะดินเผาซะมาเรียนี้ ชาวอิสราเอลได้รวมการนมัสการพระยะโฮวาเข้ากับการนมัสการพระบาละของชาวคะนาอัน. คำพยากรณ์ของโฮเซอาซึ่งเขียนในช่วงศตวรรษที่แปดก่อน ส.ศ. เช่นกัน ได้บอกล่วงหน้าถึงเวลาที่ชาวอิสราเอลจะกลับใจและเรียกพระยะโฮวาว่า “สามี” และไม่เรียกว่า “พระบาละ” หรือ “นาย” อีกต่อไป. (โฮเซอา 2:16, 17) ชื่อของบางคนที่พบในเศษภาชนะดินเผาซะมาเรียมีความหมายว่า “บาละคือบิดาของฉัน,” “บาละร้องเพลง,” “บาละเป็นองค์เข้มแข็ง,” “บาละทรงจดจำ,” และอื่น ๆ ทำนองนี้. อัตราส่วนชื่อคนที่มีพระนามยะโฮวาอยู่ด้วยในรูปใดรูปหนึ่ง ต่อชื่อที่มีนาม “บาละ” อยู่ด้วย คือ 11 ต่อ 7.
เศษภาชนะดินเผาอารัด
อารัดเป็นเมืองโบราณซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กึ่งแห้งแล้งเรียกว่าเนเกบ ซึ่งห่างจากกรุงเยรูซาเลมไปทางใต้ค่อนข้างมาก. การขุดค้นที่อารัดเผยให้เห็นป้อมปราการของชาวอิสราเอลซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ถึงหกครั้งนับตั้งแต่สมัยรัชกาลของซะโลโม (ปี 1037-998 ก่อน ส.ศ.) จนถึงคราวที่กรุงเยรูซาเลมถูกชาวบาบิโลนทำลายในปี 607 ก่อน ส.ศ. นักขุดค้นได้พบเศษภาชนะดินเผาจากสมัยคัมภีร์ไบเบิลที่เมืองอารัดมากกว่าในที่อื่น ๆ. เศษภาชนะเหล่านี้รวมถึงวัตถุที่มีข้อความจารึกในภาษาฮีบรู, ภาษาอาระเมอิก, และภาษาอื่น ๆ มากกว่า 200 ชิ้นด้วย.
เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้บางชิ้นได้ยืนยันข้อมูลในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับครอบครัวปุโรหิต. ตัวอย่างเช่น มีชิ้นหนึ่งพูดถึง “บุตรของโครา” ซึ่งมีอ้างถึงที่เอ็กโซโด 6:24 และอาฤธโม 26:11. จ่าหน้าบทของเพลงสรรเสริญบท 42, 44-49, 84, 85, 87, และ 88 กล่าวอย่างเจาะจงว่าบทเพลงเหล่านี้เขียนโดย “บุตรหลานของโคราห์.” ครอบครัวปุโรหิตครอบครัวอื่นที่กล่าวถึงในเศษภาชนะดินเผาอารัดคือครอบครัวของปัศฮูรและมะเรโมธ.—1 โครนิกา 9:12; เอษรา 8:33.
ขอพิจารณาอีกตัวอย่างหนึ่ง. ในซากปรักหักพังของปราการแห่งหนึ่งซึ่งมีอายุย้อนไปถึงสมัยก่อนที่บาบิโลนจะมาทำลายกรุงเยรูซาเลมไม่นาน นักขุดค้นได้พบเศษภาชนะดินเผาชิ้นหนึ่งซึ่งเขียนไปถึงผู้บัญชาการป้อม. ดังที่กล่าวในหนังสือบริบทของพระคัมภีร์ ข้อความตอนหนึ่งบนเศษภาชนะชิ้นนั้นกล่าวว่า “ถึงเอลยาชิบ นายข้า. ขอพระยาห์เวห์ [ยะโฮวา] ทรงห่วงใยสวัสดิภาพของท่าน. . . . ในเรื่องที่ท่านได้มีคำสั่งแก่ข้าพเจ้านั้น บัดนี้ ทุกสิ่งเรียบร้อยดี เขาพำนักอยู่ในวิหารแห่งพระยาห์เวห์.” ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าวิหารที่กล่าวถึงนี้คือพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม ซึ่งสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยซะโลโม.
เศษภาชนะดินเผาลาคิช
ลาคิช เมืองหน้าด่านในสมัยโบราณตั้งอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเลมไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 43 กิโลเมตร. ระหว่างการขุดค้นในปี 1930 มีการพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง และมีอย่างน้อย 12 ชิ้นที่เป็นจดหมายโต้ตอบซึ่งมีการกล่าวถึงว่า “มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด . . . ต่อความเข้าใจที่กระจ่างชัดในเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองและความปั่นป่วนวุ่นวายที่มีอยู่ทั่วไปขณะที่ยูดาห์กำลังเตรียมรับมือกับการโจมตีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากนะบูคัดเนซัร [กษัตริย์บาบิโลน].”
จดหมายที่สำคัญที่สุดคือชุดจดหมายโต้ตอบระหว่างเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยคนหนึ่งกับยาโอช ซึ่งอาจเป็นผู้บัญชาการทหารที่ลาคิช. ภาษาที่ใช้ในจดหมายเหล่านี้คล้ายคลึงกับภาษาที่ใช้ในข้อเขียนของผู้พยากรณ์ยิระมะยาซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกัน. ขอพิจารณาว่าจดหมายสองฉบับในชุดนี้สนับสนุนคำพรรณนาในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับช่วงวิกฤตินั้นอย่างไร.
ที่ยิระมะยา 34:7 ท่านผู้พยากรณ์กล่าวถึงเวลา “เมื่อกองทัพของกษัตริย์เมืองบาบูโลนกำลังรบต่อเมืองยะรูซาเลม, แลต่อบรรดาเมืองที่เหลืออยู่แห่งยะฮูดา, แลต่อเมืองลาคิศ, แลต่อเมืองอะเซคา, เพราะเมืองเหล่านี้ที่ยังมีกำแพงอยู่เหลือจากบ้านเมืองแห่งตระกูลยะฮูดา.” ดูเหมือนว่าผู้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งในชุดจดหมายลาคิชได้พรรณนาถึงสถานการณ์เดียวกันนี้. เขาเขียนว่า “เรากำลังมองหาสัญญาณ [ไฟ] จากลาคิช . . . เพราะเรามองไม่เห็นอะเซคา.” ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าคำกล่าวนี้บ่งชี้ว่าอะเซคาถูกบาบิโลนตีได้แล้วและลาคิชกำลังจะเป็นเมืองต่อไป. รายละเอียดที่น่าสนใจในข้อความนี้คือการพูดถึง “สัญญาณไฟ.” ยิระมะยา 6:1 (ล.ม.) ก็พูดถึงการใช้สัญญาณดังกล่าวในการสื่อสารเช่นกัน.
จดหมายอีกฉบับหนึ่งในชุดจดหมายลาคิชนี้เชื่อกันว่าได้สนับสนุนคำกล่าวของผู้พยากรณ์ยิระมะยาและยะเอศเคลเกี่ยวกับกษัตริย์แห่งยูดาห์ที่พยายามขอความช่วยเหลือจากอียิปต์เพื่อจะกบฏต่อบาบิโลน. (ยิระมะยา 37:5-8; 46:25, 26; ยะเอศเคล 17:15-17) จดหมายฉบับนี้เขียนว่า “บัดนี้ผู้รับใช้ของท่านได้รับข้อมูลดังต่อไปนี้: ท่านนายพลคอนยาฮู บุตรเอลนาธาร ได้เคลื่อนทัพลงใต้เพื่อเข้าไปยังอียิปต์แล้ว.” ผู้เชี่ยวชาญโดยทั่วไปตีความหมายการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการพยายามขอความช่วยเหลือทางทหารจากอียิปต์.
นอกจากนี้ เศษภาชนะดินเผาลาคิชยังกล่าวถึงชื่อที่พบในพระธรรมยิระมะยาด้วย. ชื่อเหล่านั้นคือ เนรียา, ยาซันยา, คะมาระยา, เอลนาธาร, และโฮซายา. (ยิระมะยา 32:12; 35:3; 36:10, 12; 42:1) เราไม่อาจทราบแน่ชัดว่าชื่อเหล่านี้หมายถึงคน ๆ เดียวกันหรือไม่. แต่เนื่องจากยิระมะยามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ความพ้องต้องกันดังกล่าวจึงนับว่าน่าสังเกต.
ลักษณะที่เหมือนกัน
เศษภาชนะดินเผาที่พบในซะมาเรีย, อารัด, และลาคิช ยืนยันความถูกต้องของรายละเอียดหลายอย่างที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิล ทั้งชื่อวงศ์วาน, ชื่อทางภูมิศาสตร์, และแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับศาสนาและสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาต่าง ๆ. อย่างไรก็ดี เศษภาชนะดินเผาทั้งสามชุดนี้มีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน.
ชิ้นส่วนจดหมายที่พบในอารัดและลาคิชมีวลีที่กล่าวว่า “ขอพระยะโฮวาให้ท่านมีสันติสุข.” ในข้อความเจ็ดชิ้นจากลาคิช มีการเอ่ยถึงพระนามพระเจ้าทั้งหมด 11 ครั้ง. นอกจากนั้น ชื่อคนมากมายในภาษาฮีบรูที่พบในเศษภาชนะดินเผาทั้งสามชุดก็มีพระนามย่อของพระยะโฮวาอยู่ด้วย. ฉะนั้น เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้จึงยืนยันว่ามีการใช้พระนามพระเจ้าอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวอิสราเอลสมัยนั้น.
[ภาพหน้า 13]
เศษภาชนะดินเผาชิ้นหนึ่งจากซากปรักหักพังเมืองอารัดเขียนถึงชายคนหนึ่งชื่อเอลยาชิบ
[ที่มาของภาพ]
Photograph © Israel Museum, Jerusalem; courtesy of Israel Antiquities Authority
[ภาพหน้า 14]
จดหมายจากลาคิชมีพระนามพระเจ้าปรากฏอยู่
[ที่มาของภาพ]
Photograph taken by courtesy of the British Museum