แหล่งอ้างอิงสำหรับชีวิตและงานรับใช้—คู่มือประชุม
วันที่ 6-12 กันยายน
ความรู้ที่มีค่าจากคัมภีร์ไบเบิล
“หลบภัยใน ‘แขนอันมั่นคงนิรันดร์’ ของพระยะโฮวา”
it-2-E น. 51
เยชูรูน
เป็นคำที่ใช้เรียกอิสราเอลแบบให้เกียรติ ในฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ แปลคำ “เยชูรูน” ว่า “เป็นที่รัก” คำว่า “เยชูรูน” ควรเตือนใจชาวอิสราเอลให้คิดว่าพวกเขาเป็นประชาชนของพระยะโฮวาและพวกเขาต้องซื่อตรงต่อพระองค์ (ฉธบ 33:5, 26; อสย 44:2) แต่ในเฉลยธรรมบัญญัติ 32:15 คำว่า “เยชูรูน” ถูกใช้ในความหมายประชดประชัน เพราะแทนที่ชาวอิสราเอลจะใช้ชีวิตให้สมกับชื่อเยชูรูน พวกเขากลับดื้อดึง ทิ้งพระเจ้าผู้สร้าง และดูหมิ่นพระองค์ผู้เป็นความรอด
it-2-E น. 439 ว. 3
โมเสส
โมเสสตายตอนอายุ 120 ปี คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าตอนนั้นโมเสสยังสุขภาพดีอยู่โดยบอกว่า “สายตาของเขาไม่ได้ฝ้าฟาง และกำลังของเขาก็ไม่ได้ถดถอยเลย” แต่พระยะโฮวาไม่ให้มีใครรู้ว่าหลุมศพของเขาอยู่ที่ไหน (ฉธบ 34:5-7) ที่พระเจ้าทำแบบนี้อาจเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวอิสราเอลบูชาที่ฝังศพของโมเสส แต่ดูเหมือนว่ามารอยากจะทำแบบนั้นเพราะยูดาซึ่งเป็นทั้งสาวกและน้องชายของพระเยซูบอกว่า “ตอนที่มีคาเอลอัครทูตสวรรค์ขัดแย้งกับมารและโต้เถียงกันเรื่องศพของโมเสส ท่านก็ยังไม่กล้าตัดสินลงโทษมารและไม่ใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามเลย ท่านแค่พูดว่า ‘ให้พระยะโฮวาต่อว่าคุณเองก็แล้วกัน’” (ยด 9) ก่อนที่โยชูวาจะพาชาวอิสราเอลข้ามแม่น้ำเข้าสู่แผ่นดินคานาอัน พวกเขาไว้ทุกข์ให้โมเสส 30 วัน—ฉธบ 34:8
วันที่ 20-26 กันยายน
ความรู้ที่มีค่าจากคัมภีร์ไบเบิล
“พระยะโฮวาอวยพรคนที่ลงมือทำด้วยความเชื่อ”
it-2-E น. 105
แม่น้ำจอร์แดน
ปกติแล้วแม่น้ำจอร์แดนส่วนที่อยู่ทางทิศใต้ของทะเลสาบกาลิลีจะลึกประมาณ 1-3 เมตรและกว้างประมาณ 27-30 เมตร แต่ในฤดูใบไม้ผลิ น้ำในแม่น้ำจอร์แดนจะมากกว่าปกติ แม่น้ำจะกว้างและลึกกว่าเดิม (ยชว 3:15) ในช่วงฤดูน้ำหลากจะไม่ปลอดภัยเลยที่ชาวอิสราเอลทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ๆ จะข้ามแม่น้ำจอร์แดนโดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้เมืองเยรีโค ในปัจจุบันเคยมีข่าวว่าคนที่ลงไปเล่นน้ำบริเวณนั้นถูกกระแสน้ำพัดไปเพราะน้ำไหลเชี่ยวมาก แต่พระยะโฮวาทำการอัศจรรย์โดยทำให้น้ำในแม่น้ำก่อตัวขึ้นเหมือนกำแพง ทำให้ชาวอิสราเอลสามารถเดินข้ามบนดินแห้งกลางแม่น้ำได้ (ยชว 3:14-17) หลายร้อยปีต่อมา ตอนที่เอลียาห์อยู่กับเอลีชาเขาก็ทำการอัศจรรย์คล้าย ๆ กันนี้ และตอนที่เอลีชาอยู่คนเดียวเขาก็ทำการอัศจรรย์นี้เหมือนกัน—2พก 2:7, 8, 13, 14
วันที่ 4-10 ตุลาคม
ความรู้ที่มีค่าจากคัมภีร์ไบเบิล
“บทเรียนจากชาวเมืองกิเบโอน”
it-1-E น. 930-931
กิเบโอน
เจรจากับโยชูวา ในสมัยโยชูวา เมืองกิเบโอนมีชาวฮีไวต์อาศัยอยู่ และชาวฮีไวต์เป็นหนึ่งในชาวคานาอัน 7 ชาติที่ต้องถูกทำลาย (ฉธบ 7:1, 2; ยชว 9:3-7) ชาวเมืองกิเบโอนยังถูกเรียกว่าชาวอาโมไรต์ด้วย บางครั้งมีการใช้คำว่าอาโมไรต์เพื่อหมายถึงชาวคานาอันทั่วไป (2ซม 21:2; เทียบกับ ปฐก 10:15-18; 15:16) แต่ชาวเมืองกิเบโอนไม่เหมือนกับชาวคานาอันคนอื่น ๆ พวกเขารู้ดีว่าแม้พวกเขาจะมีกองทัพและอยู่ในเมืองใหญ่แต่ก็ไม่สามารถต้านทานพระยะโฮวาที่ต่อสู้เพื่อชาวอิสราเอลได้ ดังนั้น หลังจากที่เมืองเยรีโคกับเมืองอัยถูกทำลาย ชาวเมืองกิเบโอนกับอีก 3 เมืองคือเคฟีราห์ เบเอโรท และคีริยาทเยอาริม (ยชว 9:17) ได้ส่งตัวแทนไปหาโยชูวาที่เมืองกิลกาลเพื่อขอให้โยชูวาทำสัญญาว่าจะไม่ต่อสู้กับพวกเขา ตัวแทนของชาวเมืองกิเบโอนเหล่านั้นใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ สวมรองเท้าเก่า แถมยังมีถุงหนังเก่าขาดที่มีรอยปะ พวกเขาเอาเสบียงแห้งกับขนมเก่า ๆ ใส่ถุงหนังขาด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้โยชูวาเข้าใจว่าพวกเขามาจากดินแดนที่ห่างไกลมากและไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่ชาวอิสราเอลจะไปโจมตี พวกเขาได้ยินกิตติศัพท์ของพระยะโฮวาที่ทำกับอียิปต์และกษัตริย์ 2 องค์ของอาโมไรต์คือสิโหนกับโอก แต่พวกเขาฉลาดที่ไม่ยอมพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับเมืองเยรีโคและเมืองอัยเพราะถ้าพวกเขาพูดเรื่องนี้โยชูวาก็จะรู้ทันทีว่าพวกเขาไม่ได้มาจาก “ดินแดนที่ห่างไกลมาก” ตัวแทนของชาวอิสราเอลได้ตรวจดูหลักฐานและตกลงทำสัญญากับชาวเมืองกิเบโอนว่าจะไม่ทำลายพวกเขา—ยชว 9:3-15
ค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
it-1-E น. 1030
แขวน
ในกฎหมายที่พระเจ้าให้ชาวอิสราเอล ศพของคนที่ถูกประหารชีวิตด้วยความผิดบางอย่างจะต้องถูกเอาไปแขวนไว้บนเสาเพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนเห็นว่านี่คือ “สิ่งที่พระเจ้าสาปแช่ง” แต่ศพนั้นจะไม่ถูกแขวนไว้บนเสาตลอดคืน จะต้องเอาลงมาฝังก่อนดวงอาทิตย์ตก การเอาศพทิ้งไว้บนเสาตลอดคืนจะทำให้แผ่นดินที่พระยะโฮวายกให้ชาวอิสราเอลแปดเปื้อน (ฉธบ 21:22, 23) ชาวอิสราเอลต้องทำตามกฎหมายนี้แม้ศพนั้นจะไม่ใช่ศพของชาวอิสราเอล—ยชว 8:29; 10:26, 27
สิ่งที่คุณจะนำไปใช้ในงานประกาศ
it-1-E น. 525 ว. 1
สัญญา
สัญญาอื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล (ก) สัญญาที่โยชูวาและหัวหน้าตระกูลชาวอิสราเอลทำกับชาวเมืองกิเบโอนว่าจะไว้ชีวิตพวกเขา แม้ชาวเมืองกิเบโอนเป็นหนึ่งในชาติคานาอันที่จะต้องถูกชาวอิสราเอลทำลาย แต่สัญญาที่โยชูวาทำไว้ว่าจะไว้ชีวิตพวกเขาก็มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ชาวเมืองกิเบโอนก็ต้องเป็นอย่างที่โยชูวาสาปแช่งไว้ นั่นคือพวกเขาจะต้องทำงานเป็นทาสคอยเก็บฟืนและตักน้ำเพื่อชาวอิสราเอล (ยชว 9:15, 16, 23-27)
วันที่ 11-17 ตุลาคม
ความรู้ที่มีค่าจากคัมภีร์ไบเบิล
“พระยะโฮวาต่อสู้เพื่อชาวอิสราเอล”
it-1-E น. 50
อาโดนีเซเดก
กษัตริย์เมืองเยรูซาเล็มสมัยที่ชาวอิสราเอลเข้ายึดแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา อาโดนีเซเดกเข้าร่วมกับกษัตริย์เมืองอื่น ๆ ที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนเพื่อหยุดยั้งกองทัพของโยชูวา (ยชว 9:1-3) แต่ชาวฮีไวต์ที่อยู่ในเมืองกิเบโอนไปทำสัญญาสงบศึกกับโยชูวา อาโดนีเซเดกจึงต้องการสั่งสอนชาวเมืองกิเบโอนเพื่อไม่ให้เมืองอื่นไปเข้ากับพวกอิสราเอลอีก เขาเลยเอาทหารของเขาไปรวมกับกษัตริย์อีก 4 องค์ของชาวอาโมไรต์และตั้งค่ายล้อมเพื่อทำสงครามกับเมืองกิเบโอน โยชูวาช่วยเมืองกิเบโอนไว้ได้และทำให้กองกำลังของกษัตริย์ 5 องค์นั้นพ่ายแพ้ กษัตริย์เหล่านั้นหนีไปที่เมืองมักเคดาห์และเข้าไปติดกับอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง โยชูวาฆ่าอาโดนีเซเดกกับกษัตริย์อีก 4 องค์ต่อหน้าทหารของโยชูวาเองและแขวนศพไว้บนเสา ต่อมาศพเหล่านั้นถูกเอาไปทิ้งในถ้ำที่กษัตริย์เหล่านั้นเคยซ่อนตัวและถ้ำนั้นก็กลายเป็นที่ฝังศพพวกเขา—ยชว 10:1-27
it-1-E น. 1020
ลูกเห็บ
พระยะโฮวาใช้ลูกเห็บ บางครั้งพระยะโฮวาก็ใช้ลูกเห็บเป็นอาวุธเพื่อทำให้คำพูดของพระองค์เป็นจริงและเพื่อแสดงพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ (สด 148:1, 8; อสย 30:30) ครั้งแรกที่มีการบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลว่าพระยะโฮวาใช้ลูกเห็บคือตอนที่พระองค์ทำให้เกิดภัยพิบัติอย่างที่ 7 กับพวกอียิปต์โบราณ ตอนนั้นลูกเห็บทำลายพืชผัก ต้นไม้ รวมทั้งสัตว์และคนที่อยู่ในทุ่ง แต่ในแผ่นดินโกเชนที่ชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ ไม่มีลูกเห็บตกเลย (อพย 9:18-26; สด 78:47, 48; 105:32, 33) ต่อมาในสมัยของโยชูวา ตอนที่เขาไปช่วยชาวกิเบโอนจากกษัตริย์ 5 องค์ของชาวอาโมไรต์ พระยะโฮวาก็ช่วยโยชูวาโดยใช้ลูกเห็บใหญ่เพื่อทำลายพวกอาโมไรต์ ตอนนั้นคนที่ตายเพราะลูกเห็บตกใส่มีมากกว่าที่ตายเพราะถูกชาวอิสราเอลฆ่าฟันด้วยซ้ำ—ยชว 10:3-7, 11
วันที่ 18-24 ตุลาคม
ความรู้ที่มีค่าจากคัมภีร์ไบเบิล
“เชื่อฟังพระยะโฮวาสุดหัวใจ”
it-1-E น. 902-903
เกบาล
พระยะโฮวาบอกโยชูวาว่า “ดินแดนของชาวเกบาล” เป็นหนึ่งในดินแดนที่ชาวอิสราเอลจะได้ครอบครอง (ยชว 13:1-5) แต่พวกนักวิจารณ์บอกว่าข้อมูลนี้ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์เพราะเมืองเกบาลอยู่ห่างจากทางเหนือของอิสราเอล (ประมาณ 100 กม. จากเขตตระกูลดานที่อยู่ทางเหนือ) ดูเหมือนว่าชาวอิสราเอลไม่เคยได้ครอบครองที่นั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนบอกว่าข้อความภาษาฮีบรูต้นฉบับของข้อคัมภีร์นี้อาจเสียหาย พวกเขาคิดว่าข้อนี้อาจอ่านได้ว่า “ดินแดนที่ติดกับเลบานอน” หรือ “ไปจนถึงเขตเมืองเกบาล” แต่น่าสังเกตด้วยว่า พระยะโฮวาบอกไว้ที่โยชูวา 13:2-7 ว่าพระองค์จะทำตามสัญญาหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาเชื่อฟังพระองค์หรือเปล่า ดังนั้น ชาวอิสราเอลอาจไม่เคยได้ครอบครองดินแดนของชาวเกบาลจริง ๆ เพราะพวกเขาไม่เชื่อฟังพระองค์—เทียบกับ ยชว 23:12, 13
วันที่ 25-31 ตุลาคม
ความรู้ที่มีค่าจากคัมภีร์ไบเบิล
“ปกป้องสิ่งมีค่าจากพระเจ้า”
it-1-E น. 1083 ว. 3
เฮโบรน
ตอนที่ชาวอิสราเอลมุ่งลงใต้เพื่อยึดเมืองต่าง ๆ ในคานาอัน ชาวเมืองเฮโบรนและกษัตริย์ของพวกเขา (ดูเหมือนเป็นกษัตริย์ที่สืบตำแหน่งต่อจากโฮฮัม) ก็เลยต้องถูกทำลาย (ยชว 10:36, 37) ถึงอย่างนั้น แม้ชาวอิสราเอลภายใต้การนำของโยชูวาจะยึดเมืองต่าง ๆ ในคานาอันได้ แต่พวกเขาไม่ได้รีบตั้งกองทหารเพื่อดูแลเมืองเหล่านั้น ลูกหลานของอานาคก็เลยกลับมาอยู่ในเมืองเฮโบรนอีกตอนที่ชาวอิสราเอลไปยึดเมืองต่าง ๆ ต่อมาตอนคาเลบ (หรือลูกหลานของคาเลบตระกูลยูดาห์) กลับมารับเมืองเฮโบรนเป็นมรดก พวกเขาเลยต้องตีเมืองนั้นอีกครั้ง (ยชว 11:21-23; 14:12-15; 15:13, 14; วนฉ 1:10) เมืองนี้ถูกยกให้คาเลบตระกูลยูดาห์ และตอนหลังก็กลายเป็นเมืองลี้ภัยที่พระเจ้าเลือกด้วย นอกจากนั้น เมืองนี้ยังเป็นเมืองของปุโรหิตด้วย แต่ “ทุ่งหญ้า [เมืองเฮโบรน]” รวมถึงหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่รอบเมืองนั้นก็ยังเป็นของตระกูลคาเลบ—ยชว 14:13, 14; 20:7; 21:9-13
it-1-E น. 848
ถูกใช้ให้ทำงานหนัก
คำว่า “ถูกใช้ให้ทำงานหนัก” (คำฮีบรู mas มาส) มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลหลายครั้งในท้องเรื่องที่บอกว่าชาติที่ยึดเมืองอื่นได้จะบังคับให้ชาวเมืองนั้นทำงานหนัก (ฉธบ 20:11; ยชว 16:10; 17:13; อสธ 10:1; อสย 31:8; พคค 1:1) ในสมัยที่ชาวอิสราเอลเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ พวกเขาก็ถูกใช้ให้ทำงานหนักเหมือนทาส หัวหน้าที่เป็นชาวอียิปต์บังคับขู่เข็ญให้พวกเขาทำงานหนักในการสร้างคลังเก็บเสบียงอาหารในเมืองปิธมกับราเมเสส (อพย 1:11-14) ต่อมา หลังจากที่ชาวอิสราเอลเข้าไปในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาแล้ว แทนที่พวกเขาจะทำตามคำสั่งของพระยะโฮวาที่ให้ขับไล่ชาวคานาอันออกไปและทำลายให้หมด พวกเขากลับเอาคนเหล่านั้นมาทำงานหนักและเป็นทาสรับใช้พวกเขา คนเหล่านี้ทำให้ชาวอิสราเอลหลงไปนมัสการพระเท็จ (ยชว 16:10; วนฉ 1:28; 2:3, 11, 12) ในสมัยของกษัตริย์โซโลมอนก็ยังคงเกณฑ์ลูกหลานของชาวคานาอันให้ทำงานหนัก เช่น ชาวอาโมไรต์ ชาวฮิตไทต์ ชาวเปริสซี ชาวฮีไวต์ และชาวเยบุส—1พก 9:20, 21
it-1-E น. 402 ว. 3
คานาอัน
แม้ยังมีชาวคานาอันมากมายหลงเหลืออยู่หลังจากการพิชิตแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาและไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจชาวอิสราเอล แต่ยังสามารถบอกได้ว่า “พระยะโฮวามอบแผ่นดินทั้งหมดให้ชาวอิสราเอล ซึ่งเป็นแผ่นดินที่พระองค์สาบานไว้ว่าจะยกให้บรรพบุรุษของพวกเขา” และพระองค์ให้พวกเขา “ได้หยุดพัก” และ “คำสัญญาดี ๆ ทั้งหมดที่พระยะโฮวาทำกับชาวอิสราเอลนั้นไม่มีคำสัญญาไหนเลยที่ไม่เป็นจริง ทุกอย่างที่สัญญาเป็นจริงทั้งหมด” (ยชว 21:43-45) ชาติศัตรูที่อยู่รอบ ๆ ต่างก็กลัวชาวอิสราเอลและไม่กล้ามาคุกคามพวกเขา พระเจ้าได้บอกไว้ก่อนแล้วว่าพระองค์จะ “ค่อย ๆ” ขับไล่ชาวคานาอันออกไป เพื่อแผ่นดินจะได้ไม่ร้างเปล่าจนมีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นและเป็นภัยต่อพวกเขา (อพย 23:29, 30; ฉธบ 7:22) จริงอยู่ที่ชาวคานาอันมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า เช่น รถศึกที่มีดุมล้อติดใบมีดโค้ง แต่ที่ชาวอิสราเอลไม่สามารถยึดบางดินแดนได้ ไม่ใช่เป็นเพราะพระยะโฮวาไม่ทำตามสัญญา (ยชว 17:16-18; วนฉ 4:13) คัมภีร์ไบเบิลบันทึกเหตุการณ์ที่ชาวอิสราเอลแพ้ด้วยซึ่งมีแค่ไม่กี่ครั้ง และที่พวกเขาแพ้เป็นเพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา—กดว 14:44, 45; ยชว 7:1-12