พระธรรมเล่มที่ 7—วินิจฉัย
ผู้เขียน: ซามูเอล
สถานที่เขียน: ยิศราเอล
เขียนเสร็จ: ประมาณ 1100 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: ประมาณ 1450-ประมาณ 1120 ก.ส.ศ.
1. ระยะเวลาแห่งผู้วินิจฉัยเป็นที่น่าสังเกตในทางใดบ้าง?
นี่คือหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของยิศราเอลที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ สลับกันไปมาระหว่างการพัวพันที่ยังความหายนะกับศาสนาแบบผีปิศาจและการที่พระยะโฮวาทรงช่วยไพร่พลที่กลับใจของพระองค์ให้รอดด้วยความเมตตาโดยผู้วินิจฉัยที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้ง. การกระทำอันเข้มแข็งของอัธนีเอล, เอฮูด, ซำฆาร, และผู้วินิจฉัยคนอื่น ๆ ที่มาภายหลังนั้นดลใจให้มีความเชื่อ. ดังที่ผู้เขียนพระธรรมเฮ็บรายกล่าวว่า “เวลาไม่พอที่จะกล่าวถึงฆิดโอน, บาราค, ซิมโซน, และยิพธา . . . คนเหล่านั้นอาศัยความเชื่อจึงได้ชัยชนะแผ่นดินต่าง ๆ, ได้กระทำการชอบธรรม . . . เมื่อก่อนอ่อนกำลังแล้วก็มีกำลังมากขึ้น, มีกำลังเรี่ยวแรงมากในการสงคราม, ได้กระทำให้กองทัพประเทศอื่น ๆ แตกพ่ายแพ้หนีไป.” (เฮ็บ. 11:32-34) ถ้าจะรวมผู้วินิจฉัยที่ซื่อสัตย์ให้ครบจำนวน 12 คนในช่วงนี้ก็มี โธลา, ยาอีร, อิบซาน, เอโลน, และอับโดนด้วย. (ตามปกติไม่นับซามูเอลไว้ในหมู่ผู้วินิจฉัย.) พระยะโฮวาทรงสู้รบในสงครามของผู้วินิจฉัยเพื่อพวกเขา และพระวิญญาณของพระองค์สวมทับพวกเขาขณะที่ปฏิบัติงานด้วยความกล้าหาญ. พวกเขาถวายการยกย่องและเกียรติยศทั้งสิ้นแด่พระเจ้าของตน.
2. เหตุใดชื่อในภาษาฮีบรูของพระธรรมวินิจฉัยจึงเหมาะสม?
2 ในฉบับแปลเซปตัวจินต์ พระธรรมนี้ถูกเรียกว่า ครีไทʹ และในคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรู พระธรรมนี้คือ โชเฟทีมʹ ซึ่งได้รับการแปลว่า “ผู้วินิจฉัย.” คำ โชเฟทีมʹ มาจากคำกริยา ชาฟาตʹ ซึ่งหมายความว่า “พิพากษา, พิสูจน์ความถูกต้อง, ลงโทษ, ปกครอง” ซึ่งแสดงอย่างดีถึงตำแหน่งของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งตามระบอบของพระเจ้า “ผู้ทรงพิพากษาคนทั้งปวง.” (เฮ็บ. 12:23) พวกเขาเป็นผู้ชายที่พระยะโฮวาทรงตั้งขึ้นในโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะเพื่อช่วยไพร่พลของพระองค์ให้พ้นจากการตกเป็นทาสของคนต่างชาติ.
3. พระธรรมวินิจฉัยมีการเขียนเมื่อไร?
3 พระธรรมวินิจฉัยถูกเขียนไว้เมื่อไร? คำกล่าวสองตอนในพระธรรมนี้ช่วยเราพบคำตอบ. ข้อความแรกคือ “พวกยะบูศอาศัยอยู่ . . . ในเมืองยะรูซาเลมจนทุกวันนี้.” (วินิจ. 1:21) เนื่องจากกษัตริย์ดาวิดได้ยึด “ป้อมซีโอนอันแน่นหนา” จากชาวยะบูศในปีที่แปดแห่งรัชกาลของพระองค์ หรือในปี 1070 ก.ส.ศ. พระธรรมวินิจฉัยจึงต้องถูกเขียนขึ้นก่อนนั้น. (2 ซามู. 5:4-7) ข้อความที่สองมีการกล่าวสี่ครั้งคือ: “ในสมัยนั้นไม่มีกษัตริย์ในยิศราเอล.” (วินิจ. 17:6; 18:1; 19:1; 21:25, ล.ม.) ดังนั้น บันทึกนั้นจึงถูกเขียนไว้ในสมัยที่มี “กษัตริย์ในยิศราเอล” กล่าวคือ หลังจากซาอูลได้เป็นกษัตริย์องค์แรกในปี 1117 ก.ส.ศ. ฉะนั้น คงต้องระบุวันเวลาของพระธรรมนี้ว่าอยู่ระหว่างปี 1117 และ 1070 ก.ส.ศ.
4. ใครเป็นผู้เขียนพระธรรมวินิจฉัย?
4 ใครเป็นผู้เขียน? ไม่มีข้อสงสัยว่าผู้นั้นต้องเป็นผู้รับใช้ที่เลื่อมใสพระยะโฮวา. ผู้นั้นก็คือซามูเอลซึ่งยืนหยัดอยู่แต่ผู้เดียวในฐานะผู้สนับสนุนคนสำคัญของการนมัสการพระยะโฮวาในช่วงการเปลี่ยนจากสมัยของผู้วินิจฉัยมาเป็นสมัยของกษัตริย์ และท่านยังเป็นคนแรกอีกด้วยในลำดับของผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์. ฉะนั้น ย่อมสมเหตุสมผลที่ซามูเอลเป็นผู้บันทึกประวัติของพวกผู้วินิจฉัย.
5. อาจคำนวณระยะเวลาของพระธรรมวินิจฉัยได้อย่างไร?
5 พระธรรมวินิจฉัยครอบคลุมระยะเวลานานเท่าใด? เรื่องนี้คำนวณได้จาก 1 กษัตริย์ 6:1 (ฉบับแปลใหม่) ซึ่งแสดงว่าซะโลโมเริ่มสร้างพระวิหารของพระยะโฮวาในปีที่สี่แห่งรัชกาลของท่าน ซึ่งเป็น “ปีที่สี่ร้อยแปดสิบหลังจากที่ชนอิสราเอลออกมาจากแผ่นดินอียิปต์” อีกด้วย. (“ปีที่สี่ร้อยแปดสิบ” เป็นเลขที่นับตามลำดับ จึงหมายถึง 479 ปีเต็ม.) ช่วงเวลาที่รู้กันซึ่งรวมอยู่ใน 479 ปีนั้นคือ 40 ปีภายใต้การนำของโมเซในถิ่นทุรกันดาร (บัญ. 8:2), 40 ปีแห่งการครองราชย์ของซาอูล (กิจ. 13:21), 40 ปีแห่งการครองราชย์ของดาวิด (2 ซามู. 5:4, 5), และช่วง 3 ปีแรกเต็ม ๆ แห่งการครองราชย์ของซะโลโม. เมื่อหักจำนวนรวม 123 ปีนี้จาก 479 ปีใน 1 กษัตริย์ 6:1 ก็จะเหลือ 356 ปีสำหรับช่วงเวลาระหว่างการที่พวกยิศราเอลเข้าสู่คะนาอันกับการเริ่มรัชกาลของซาอูล.a เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่บันทึกในพระธรรมวินิจฉัย ซึ่งส่วนใหญ่นับจากคราวที่ยะโฮซูอะสิ้นชีวิตจนถึงสมัยของซามูเอล ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาราว 330 ปีของช่วง 356 ปีนี้.
6. อะไรพิสูจน์ความเชื่อถือได้ของพระธรรมวินิจฉัย?
6 ความเชื่อถือได้ของพระธรรมวินิจฉัยไม่เป็นที่สงสัย. ชาวยิวยอมรับตลอดมาว่าพระธรรมนี้เป็นส่วนแห่งสารบบของคัมภีร์ไบเบิล. ผู้เขียนทั้งของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกต่างอ้างถึงบันทึกในพระธรรมนี้ เช่น ที่บทเพลงสรรเสริญ 83:9-18; ยะซายา 9:4; 10:26; และเฮ็บราย 11:32-34. อย่างตรงไปตรงมา พระธรรมนี้ไม่ปิดบังความผิดพลาดและการถอยห่างของชาติยิศราเอล ขณะเดียวกับที่ยกย่องความรักกรุณาไม่สิ้นสุดของพระยะโฮวา. เป็นพระยะโฮวาเอง ไม่ใช่ผู้วินิจฉัยที่เป็นเพียงมนุษย์ ซึ่งได้รับเกียรติในฐานะผู้ช่วยให้รอดของชาติยิศราเอล.
7. (ก) โบราณคดีสนับสนุนบันทึกในพระธรรมวินิจฉัยอย่างไร? (ข) เหตุใดจึงถูกต้องที่พระยะโฮวาทรงบัญชาให้กำจัดผู้นมัสการพระบาละ?
7 นอกจากนั้น การค้นพบทางโบราณคดียังสนับสนุนความถูกต้องของพระธรรมวินิจฉัยอยู่. ที่เด่นที่สุดคือการค้นพบทางโบราณคดีเกี่ยวกับลักษณะของศาสนาบาละของชาวคะนาอัน. นอกเหนือจากที่มีอ้างอิงในคัมภีร์ไบเบิลแล้ว ลัทธิบาละไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันจนกระทั่งเมืองโบราณคือ อูการิต (สมัยนี้คือ ราส ชามรา อยู่บนฝั่งทะเลซีเรียตรงข้ามกับแหลมทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไซปรัส) ถูกขุดพบในปี 1929. ณ ที่นี่ ศาสนาบาละถูกเปิดเผยว่าเป็นศาสนาที่เน้นลัทธิวัตถุนิยม, ลัทธิชาตินิยมแบบรุนแรง, รวมทั้งการบูชาเพศ. เมืองในคะนาอันแต่ละเมืองมีสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระบาละของตนเอง รวมทั้งวิหารซึ่งเรียกว่าที่สูง. ภายในสถานบูชานั้น คงมีรูปปั้นของพระบาละ และใกล้แท่นบูชาข้างนอกคงมีเสาหิน ซึ่งคงเป็นสัญลักษณ์รูปลึงค์ของพระบาละ. การบูชายัญมนุษย์อย่างน่าสะอิดสะเอียนทำให้วิหารเหล่านี้นองไปด้วยเลือด. เมื่อชาวยิศราเอลแปดเปื้อนด้วยลัทธิบาละ พวกเขาก็บูชายัญบุตรชายบุตรสาวเช่นเดียวกัน. (ยิระ. 32:35) มีเสาศักดิ์สิทธิ์ต้นหนึ่งเป็นเครื่องหมายแทนแม่ของบาละคือ อะเชรา. อัชโทเรท เจ้าแม่แห่งการเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นภรรยาของบาละได้รับการบูชาด้วยพิธีกรรมลามกทางเพศ มีทั้งหญิงและชายที่เก็บไว้เป็นโสเภณีประจำวิหาร “ที่ถวายตัวแล้ว.” ไม่แปลกที่พระยะโฮวาทรงบัญชาให้กำจัดลัทธิบาละรวมทั้งเหล่าผู้ติดตามที่เป็นเยี่ยงเดียรัจฉาน. “อย่าให้ตาของเจ้าเมตตาเขาเลย และอย่าได้ปฏิบัติพระของเขา.”—บัญ. 7:16.b
เนื้อเรื่องในวินิจฉัย
8. พระธรรมวินิจฉัยแบ่งเป็นตอน ๆ อย่างสมเหตุสมผลอย่างไร?
8 พระธรรมนี้แบ่งอย่างสมเหตุสมผลเป็นสามส่วน. สองบทแรกพรรณนาสภาพการณ์ในยิศราเอลขณะนั้น. บท 3 ถึง 16 พรรณนาการช่วยให้รอดพ้นโดยผู้วินิจฉัย 12 คน. จากนั้นบท 17 ถึง 21 พรรณนาเหตุการณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรุนแรงภายในชาติยิศราเอล.
9. ภูมิหลังอะไรที่สองบทแรกของพระธรรมวินิจฉัยได้ให้ไว้?
9 สภาพการณ์ในยิศราเอลในสมัยของผู้วินิจฉัย (1:1–2:23). มีการพรรณนาถึงตระกูลต่าง ๆ แห่งยิศราเอลขณะที่พวกเขากระจายออกไปตั้งถิ่นฐานในเขตแดนที่ได้รับมอบเป็นของตน. อย่างไรก็ตาม แทนที่จะขับไล่ชาวคะนาอันออกไปให้หมด พวกเขากลับใช้พวกนั้นหลายคนให้ทำงานหนัก ปล่อยให้คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ท่ามกลางชาวยิศราเอล. ดังนั้น ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาจึงประกาศว่า “เขาจะเป็น (ดุจเสี้ยนหนาม) อยู่รอบข้างของเจ้า, พระของเขาจะเป็นดังบ่วงแร้วดักเจ้า.” (2:3) ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดชนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้จักพระยะโฮวาหรือพระราชกิจของพระองค์ ในไม่ช้าผู้คนก็ละทิ้งพระองค์ไปปฏิบัติพระบาละและพระอื่น ๆ. เพราะพระหัตถ์ของพระยะโฮวาต่อสู้พวกเขาให้เกิดวิบัติ พวกเขาจึงได้รับ “ความทุกข์ร้อน . . . ยิ่งขึ้น.” เนื่องด้วยความดื้อดึงของพวกเขาและการไม่ยอมฟังแม้แต่ผู้วินิจฉัย พระยะโฮวาจึงไม่ทรงขับไล่ชาติต่าง ๆ ที่พระองค์ละไว้เพื่อจะทดลองชาวยิศราเอลออกไปสักชาติเดียว. ภูมิหลังนี้ช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ตามมา.— 2:15.
10. อัธนีเอลพิพากษาด้วยอำนาจอะไรและเกิดผลอย่างไร?
10 ผู้วินิจฉัยอัธนีเอล (3:1-11). ด้วยความทุกข์โศกเนื่องจากตกเป็นเชลยแก่ชาวคะนาอัน ชนยิศราเอลเริ่มร้องขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. ในตอนแรกพระองค์ทรงแต่งตั้งอัธนีเอลเป็นผู้วินิจฉัย. อัธนีเอลได้พิพากษาโดยกำลังและสติปัญญาของมนุษย์ไหม? เปล่าเลย เพราะเราอ่านดังนี้: “พระวิญญาณพระยะโฮวาสวมทับอัธนีเอล” เพื่อกำจัดศัตรูของพวกยิศราเอล. “ขณะนั้นแผ่นดินเป็นสุขสงบเงียบอยู่สี่สิบปี.”—3:10, 11.
11. พระยะโฮวาทรงใช้เอฮูดอย่างไรในการช่วยพวกยิศราเอลให้รอด?
11 ผู้วินิจฉัยเอฮูด (3:12-30). เมื่อชาวยิศราเอลตกอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์เอฆโลนแห่งโมอาบเป็นเวลา 18 ปี พระยะโฮวาจึงทรงได้ยินการร้องขอความช่วยเหลือของพวกเขาอีกครั้ง และพระองค์ทรงตั้งผู้วินิจฉัยเอฮูด. เมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้ากษัตริย์เป็นการลับ เอฮูดผู้ถนัดมือซ้ายได้ดึงดาบที่ทำเองออกมาจากใต้เสื้อยาวของตนและฆ่าเอฆโลนด้วยการแทงดาบจมลึกเข้าไปในท้องของเอฆโลนผู้อ้วนฉุ. ชาวยิศราเอลรวมกำลังอย่างรวดเร็วมาอยู่ฝ่ายเอฮูดในการต่อสู้ชาวโมอาบ และแผ่นดินจึงมีความสงบที่พระเจ้าทรงประทานอีกครั้งเป็นเวลา 80 ปี.
12. อะไรแสดงว่าชัยชนะของซำฆารนั้นเป็นไปด้วยฤทธิ์ของพระเจ้า?
12 ผู้วินิจฉัยซำฆาร (3:31). ซำฆารช่วยชาวยิศราเอลให้รอดพ้นด้วยการฆ่าชาวฟะลิศตีม 600 คน. ที่ว่าชัยชนะนี้เป็นโดยฤทธิ์ของพระยะโฮวานั้นเห็นได้จากอาวุธที่ซำฆารใช้ซึ่งเป็นแค่ประตัก.
13. เหตุการณ์อันน่าเร้าใจอะไรบ้างที่ถึงจุดสุดยอดโดยเพลงแห่งชัยชนะของบาราคและดะโบรา?
13 ผู้วินิจฉัยบาราค (4:1–5:31). ต่อมาชาวยิศราเอลตกอยู่ใต้อำนาจยาบีนกษัตริย์คะนาอันและซีซะราแม่ทัพของเขา ซึ่งอวดอ้างการมีรถรบติดใบมีดเหล็กโค้ง 900 คัน. เมื่อชาวยิศราเอลเริ่มร้องขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาอีกครั้ง พระองค์ทรงตั้งผู้วินิจฉัยบาราคซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้พยากรณ์หญิงดะโบรา. เพื่อบาราคและกองทัพของท่านจะไม่มีเหตุอวดอ้างใด ๆ ดะโบราจึงแจ้งว่าสงครามจะเป็นไปภายใต้การทรงนำของพระยะโฮวา และเธอพยากรณ์ว่า “ด้วยพระยะโฮวาจะทรงมอบซีซะราไว้ในมือหญิงผู้หนึ่ง.” (4:9) บาราคได้รวบรวมผู้ชายจากตระกูลนัพธาลีและซะบูโลนไปที่ภูเขาธาโบน. จากนั้นกองทัพ 10,000 คนของท่านได้ยกลงมารบ. ในวันนั้นความเชื่อเข้มแข็งมีชัย. ‘พระยะโฮวาให้ซีซะรา, และรถ, และพลโยธาตกอยู่ในความสับสน’ โดยทำให้น้ำท่วมพวกเขาอย่างฉับพลันในหุบเขาคีโซน. “ไม่เหลือสักคนเดียว.” (4:15, 16) ยาเอล ภรรยาเฮเบอร์ชาวเคนี ซึ่งซีซะราหนีไปยังกระโจมของนาง ได้ทำให้การเข่นฆ่าครั้งนั้นถึงจุดสุดยอดโดยตอกขมับซีซะราติดดินด้วยหลักกระโจม. ‘พระยะโฮวาทรงบันดาลให้ยาบีนพ่ายแพ้ด้วยวิธีนั้น.’ (4:23) ดะโบราและบาราคแสดงความปลาบปลื้มยินดีด้วยร้องเพลงซึ่งสรรเสริญฤทธานุภาพอันเกรียงไกรไร้ผู้ต่อสู้ของพระยะโฮวา ซึ่งบันดาลแม้แต่ดวงดาวให้ต่อสู้กับซีซะราจากวงโคจรของมัน. จริงทีเดียว นั่นเป็นเวลาที่จะ “สรรเสริญพระยะโฮวา”! (5:2) หลังจากนั้นจึงมีสันติภาพสี่สิบปี.
14, 15. ฆิดโอนได้รับหมายสำคัญอะไรที่แสดงถึงการหนุนหลังจากพระยะโฮวา และการหนุนหลังนี้ได้รับการเน้นอีกอย่างไรในชัยชนะขั้นสุดท้ายต่อชาวมิดยาน?
14 ผู้วินิจฉัยฆิดโอน (6:1–9:57). ชนยิศราเอลทำชั่วอีกและแผ่นดินถูกล้างผลาญโดยพวกมิดยานที่เข้าจู่โจม. โดยทางทูตสวรรค์ของพระองค์ พระยะโฮวาทรงมอบหมายฆิดโอนเป็นผู้วินิจฉัย และพระยะโฮวาเองทรงเสริมคำรับรองด้วยคำตรัสที่ว่า “เราจะอยู่ด้วยเจ้าเป็นแน่.” (6:16) ปฏิบัติการอันกล้าหาญครั้งแรกของฆิดโอนคือรื้อทำลายแท่นบูชาของพระบาละในเมืองของท่าน. กองทัพพันธมิตรของศัตรูได้ข้ามมายังเยศเรลและ “พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาสวมทับฆิดโอน” ขณะที่ท่านเรียกชนยิศราเอลออกรบ. (6:34) โดยการทดลองเอาขนแกะตากน้ำค้างบนลานนวดข้าว ฆิดโอนได้รับหมายสำคัญสองต่อที่แสดงว่าพระเจ้าสถิตกับท่าน.
15 พระยะโฮวาทรงบอกฆิดโอนว่า กองทัพของท่านซึ่งมี 32,000 คนนั้นใหญ่เกินไปและขนาดของกองทัพอาจเป็นเหตุให้มนุษย์โอ้อวดชัยชนะ. คนขลาดถูกส่งกลับบ้านก่อน เหลืออยู่ 10,000 คน. (วินิจ. 7:3; บัญ. 20:8) จากนั้น โดยการทดสอบให้ดื่มน้ำ จึงตัดคนออกเหลือแต่ผู้ที่ตื่นตัวและระมัดระวัง 300 คน. ฆิดโอนสอดแนมค่ายพวกมิดยานตอนกลางคืนและได้รับการรับรองอีกเมื่อได้ยินชายคนหนึ่งทำนายฝันซึ่งบอกความหมายว่า “นี่ใช่ว่าเหตุอื่นไกลเลย, นอกจากกระบี่ฆิดโอน . . . พระเจ้าทรงมอบกองทัพมิดยานทั้งสิ้นไว้ในมือท่านแล้ว.” (วินิจ. 7:14) ฆิดโอนนมัสการพระเจ้าแล้วจัดคนของท่านเป็นสามกองให้อยู่รอบค่ายพวกมิดยาน. ความเงียบสงบยามกลางคืนถูกทำลายอย่างกะทันหันด้วยเสียงเป่าเขาสัตว์, โดยการต่อยหม้อน้ำใบใหญ่ให้แตกเป็นชิ้น ๆ, โดยแสงคบไฟ, และด้วยการที่คน 300 คนของฆิดโอนตะโกนว่า “กระบี่พระยะโฮวาและฆิดโอน.” (7:20) ค่ายศัตรูเกิดความสับสนอลหม่าน. พวกเขาต่อสู้กันเองและแตกหนีไป. พวกยิศราเอลไล่ตาม สังหารพวกเขาและฆ่าพวกเจ้านายทั้งหลายของเขา. ตอนนี้ชาวยิศราเอลขอให้ฆิดโอนปกครองพวกเขา แต่ท่านปฏิเสธโดยกล่าวว่า “พระยะโฮวาจะทรงปกครองท่านทั้งหลาย.” (8:23) อย่างไรก็ตาม ท่านทำเอโฟดจากของที่ยึดได้จากการรบ ซึ่งต่อมาได้เป็นที่เคารพมากเกินไปและจึงกลายเป็นบ่วงแร้วแก่ฆิดโอนและครัวเรือนของท่าน. แผ่นดินสงบอยู่ 40 ปีระหว่างฆิดโอนเป็นผู้วินิจฉัย.
16. อะบีเมเล็กผู้แย่งชิงพินาศอย่างไร?
16 หลังฆิดโอนสิ้นชีวิต อะบีเมเล็ก หนึ่งในบุตรที่เกิดจากภรรยาน้อยของฆิดโอนได้ยึดอำนาจและฆ่าพี่น้องร่วมบิดาตาย 70 คน. โยธาม ลูกชายคนเล็กของฆิดโอนเป็นคนเดียวที่หนีรอด และเขาประกาศถึงความพินาศของอะบีเมเล็กจากยอดเขาฆะรีซีม. ในอุปมาเกี่ยวกับต้นไม้ เขาเปรียบ “ฐานะกษัตริย์” ของอะบีเมเล็กกับพุ่มหนามที่ไร้ค่า. ในไม่ช้าอะบีเมเล็กตกอยู่ในความขัดแย้งภายในที่เมืองเซเค็มและตายอย่างอัปยศโดยถูกผู้หญิงคนหนึ่งฆ่าด้วยการทุ่มหินโม่จากหอคอยเมืองเธเบศ ซึ่งทำให้กะโหลกอะบีเมเล็กแตก.—วินิจ. 9:53; 2 ซามู. 11:21.
17. บันทึกนี้บอกอะไรเกี่ยวกับผู้วินิจฉัยโธลาและยาอีร?
17 ผู้วินิจฉัยโธลาและยาอีร (10:1-5). สองคนนี้เป็นลำดับต่อมาที่ดำเนินการช่วยให้รอดด้วยฤทธิ์ของพระยะโฮวา ทำหน้าที่วินิจฉัยเป็นเวลา 23 ปีและ 22 ปีตามลำดับ.
18. (ก) ยิพธานำการช่วยให้รอดอะไรมาให้? (ข) คำปฏิญาณอะไรกับพระยะโฮวาที่ยิพธาทำตามอย่างซื่อสัตย์? โดยวิธีใด?
18 ผู้วินิจฉัยยิพธา (10:6–12:7). ขณะที่ชาวยิศราเอลดื้อดึงหันไปบูชารูปเคารพ พระพิโรธของพระยะโฮวาพลุ่งขึ้นต่อพวกเขาอีกครั้ง. ตอนนี้ประชาชนถูกพวกอัมโมนและฟะลีศตีมกดขี่. ยิพธาถูกเรียกกลับจากการถูกขับไล่ไปอยู่ต่างแดนให้นำชาวยิศราเอลสู้รบ. แต่ใครเป็นผู้วินิจฉัยที่แท้จริงในความขัดแย้งครั้งนี้? คำพูดของยิพธาเองให้คำตอบ นั่นคือ “ขอพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นประธานจงตัดสินในท่ามกลางพวกยิศราเอลกับพวกอัมโมนวันนี้.” (11:27) ขณะที่พระวิญญาณของพระยะโฮวาสวมทับท่าน ยิพธาได้ปฏิญาณว่าเมื่อกลับจากอัมโมนด้วยสันติสุข ท่านจะอุทิศผู้แรกที่ออกจากบ้านมาต้อนรับท่านแด่พระยะโฮวา. ยิพธาทำให้พวกอัมโมนพ่ายแพ้ด้วยการฆ่าฟันพวกนั้นมากมาย. ขณะที่กลับมาบ้านที่มิศพา บุตรีของท่านเองที่วิ่งออกมาพบท่านเป็นคนแรกด้วยความยินดีในชัยชนะของพระยะโฮวา. ยิพธาปฏิบัติตามคำปฏิญาณ—เปล่า ไม่ใช่ด้วยการบูชายัญมนุษย์แบบนอกรีตตามพิธีกรรมของพระบาละ แต่โดยอุทิศบุตรีคนเดียวนี้แก่การรับใช้โดยเฉพาะในพลับพลาของพระยะโฮวาเพื่อถวายเกียรติพระองค์.
19. เหตุการณ์อะไรบ้างนำไปสู่การทดสอบโดยใช้คำ “ชิบโบเลธ”?
19 ตอนนี้ผู้ชายตระกูลเอฟรายิมมาประท้วงที่เขาไม่ได้รับการเรียกไปต่อสู้พวกอัมโมน และพวกเขาขู่ยิพธา ทำให้ท่านจำต้องขับไล่พวกเขากลับไป. ชาวเอฟรายิมถูกสังหารรวมทั้งหมด 42,000 คน มีหลายคนถูกฆ่าที่ท่าข้ามแม่น้ำยาระเดน ที่ซึ่งพวกเขาถูกจับได้เนื่องจากเขาออกเสียงคำรหัส “ชิบโบเลธ” ไม่ถูกต้อง. ยิพธาเป็นผู้วินิจฉัยชาวยิศราเอลต่อไปอีกหกปี.—12:6.
20. ต่อจากนั้นมีการกล่าวถึงผู้วินิจฉัยสามคนไหน?
20 ผู้วินิจฉัยอิบซาน, เอโลน, และอับโดน (12:8-15). แม้มีการกล่าวถึงคนเหล่านี้เพียงเล็กน้อย แต่ก็ได้บอกถึงระยะเวลาการเป็นผู้วินิจฉัยของพวกเขาว่านานเจ็ดปี, สิบปี, และแปดปีตามลำดับ.
21, 22. (ก) ซิมโซนทำการยิ่งใหญ่อะไรบ้าง และด้วยอำนาจอะไร? (ข) ชาวฟะลิศตีมเอาชนะซิมโซนอย่างไร? (ค) เหตุการณ์ต่าง ๆ อะไรที่มาถึงจุดสุดยอดในชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดของซิมโซน? และใครที่ระลึกถึงท่านในยามนี้?
21 ผู้วินิจฉัยซิมโซน (13:1–16:31). อีกครั้งหนึ่งที่ชาวยิศราเอลตกอยู่ใต้อำนาจชาวฟะลีศตีม. คราวนี้พระยะโฮวาทรงตั้งซิมโซนเป็นผู้วินิจฉัย. บิดามารดาได้อุทิศท่านให้เป็นนาษารีษตั้งแต่กำเนิด ซึ่งมีข้อเรียกร้องว่า มีดโกนจะสัมผัสเส้นผมของท่านไม่ได้เลย. ขณะที่ท่านเติบใหญ่ พระยะโฮวาทรงอวยพรท่านและ ‘พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาตั้งต้นสวมทับท่าน.’ (13:25) ความลับแห่งกำลังของท่านไม่ได้อยู่ในกล้ามเนื้อมนุษย์ แต่อยู่ในฤทธิ์ที่พระยะโฮวาทรงประทาน. เป็นในคราวที่ “พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาสวมทับซิมโซน” ที่ท่านได้รับกำลังเพื่อฆ่าสิงโตด้วยมือเปล่าและต่อมาก็ตอบแทนการคดโกงของชาวฟะลีศตีมโดยฆ่าพวกนั้นตาย 30 คน. (14:6, 19) เมื่อชาวฟะลีศตีมยังทำการไม่ซื่อต่อไปอันเกี่ยวกับคำสัญญาจะสมรสของซิมโซนกับหญิงสาวชาวฟะลีศตีม ซิมโซนจับหมาจิ้งจอกมา 300 ตัว แล้วเอาหางผูกติดกันเป็นคู่ ๆ และเอาคบเพลิงใส่ไว้ที่หาง และปล่อยพวกมันไปเผานาข้าว, สวนองุ่น, และสวนมะกอกเทศของชาวฟะลีศตีม. จากนั้นท่านจึงฆ่าพวกฟะลีศตีมเป็นจำนวนมาก “เอาขามากองซ้อนทับต้นขา.” (15:8, ล.ม.) ชาวฟะลีศตีมชักจูงเพื่อน ๆ ชาวยิศราเอลของซิมโซนซึ่งเป็นคนตระกูลยูดาให้มัดซิมโซนและส่งให้ตน แต่อีกครั้งหนึ่ง “พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาก็สวมทับซิมโซน.” และเครื่องพันธนาการเหมือนถูกละลายหลุดจากมือท่าน. ซิมโซนฆ่าชาวฟะลีศตีมหนึ่งพันคน—“เป็นกองสองกอง.” (15:14-16) อาวุธทำลายของท่านนะหรือ? ขากรรไกรลาสดอันหนึ่ง. พระยะโฮวาทำให้ผู้รับใช้ที่เหนื่อยอ่อนของพระองค์สดชื่นขึ้นโดยให้น้ำพุขึ้นมาโดยการอัศจรรย์จากบริเวณที่สู้รบ.
22 ต่อมาซิมโซนค้างแรมที่บ้านหญิงโสเภณีที่ฆาซา พวกฟะลีศตีมได้มาล้อมท่านอย่างเงียบ ๆ. อย่างไรก็ตาม พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่กับท่านอีกครั้ง ขณะที่ท่านลุกขึ้นตอนเที่ยงคืน ดึงประตูเมืองกับเสาสองข้างแล้วแบกขึ้นยอดเขาหน้าเมืองเฮ็บโรน. หลังจากนั้นท่านตกหลุมรักดะลีลาหญิงเจ้าเล่ห์. โดยเต็มใจเป็นเครื่องมือของชาวฟะลีศตีม นางเซ้าซี้กวนใจซิมโซนจนท่านเปิดเผยว่า การที่ท่านอุทิศตัวแบบนาษารีษแด่พระยะโฮวาโดยมีผมยาวเป็นเครื่องหมายนั้นเป็นแหล่งที่แท้จริงแห่งพละกำลังของท่าน. ขณะที่ซิมโซนหลับ ดะลีลาจึงให้คนมาตัดผมของซิมโซน.. ครั้งนี้ ท่านลุกขึ้นมาต่อสู้โดยไร้ผล เพราะพระยะโฮวา “ละท่านไปเสียแล้ว.” (16:20, ฉบับแปลใหม่) ชาวฟะลีศตีมจับท่าน, ควักลูกตาท่าน, และให้เป็นทาสโม่แป้งในคุก. พอถึงเวลาเทศกาลเลี้ยงใหญ่เพื่อให้เกียรติพระดาโฆนของพวกเขา ชาวฟะลีศตีมเอาตัวซิมโซนออกมาเพื่อให้ความบันเทิงแก่พวกเขา. โดยไม่สำนึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผมของซิมโซนได้ยาวดกขึ้นอีก พวกเขาให้ท่านยืนอยู่ระหว่างเสาใหญ่สองต้นของวิหารที่ใช้บูชาพระดาโฆน. ซิมโซนทูลขอร้องพระยะโฮวาว่า “พระยะโฮวา, พระองค์เจ้าข้า, ขอทรงโปรดระลึกถึงข้าพเจ้า, ให้ข้าพเจ้ามีกำลังอีกครั้งเดียวเท่านั้น.” พระยะโฮวาทรง ระลึกถึงท่าน. ซิมโซนได้จับเสาทั้งสองแล้ว “โน้มตัวลงด้วยกำลัง”—กำลังจากพระยะโฮวา—‘วิหารนั้นก็พัง ดังนั้น คนที่ท่านฆ่าพร้อมกับการตายของท่านเองก็มากกว่าคนที่ท่านฆ่าเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่.’—16:28-30, ฉบับแปลใหม่.
23. เหตุการณ์อะไรที่มีบันทึกไว้ในบท 17 ถึง 21 และเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเมื่อไร?
23 บัดนี้เรามาถึงบท 17 ถึง 21 ซึ่งพรรณนาถึงความขัดแย้งภายในที่รบกวนชนยิศราเอลในสมัยนั้นให้ไม่เป็นสุข. เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงต้น ๆ แห่งสมัยผู้วินิจฉัย ดังที่เห็นได้จากการกล่าวถึงโยนาธานและฟีนะฮาศหลานของโมเซและอาโรนว่ายังมีชีวิตอยู่.
24. ชาวตระกูลดานบางคนได้ตั้งศาสนาเอกเทศอย่างไร?
24 มีคาและชาวตระกูลดาน (17:1–18:31). มีคา ชายจากตระกูลเอ็ฟรายิมได้ตั้งศาสนาของตนขึ้นเป็นเอกเทศ มี “โบสถ์พระหลังหนึ่ง” เต็มไปด้วยรูปสลัก และมีปุโรหิตชาวเลวีคนหนึ่ง. (17:5) คนตระกูลดานผ่านมาทางนั้นเพื่อหาที่กรรมสิทธิ์ทางเหนือ. พวกเขาปล้นเอาเครื่องมือเครื่องใช้ทางศาสนาของมีคารวมทั้งปุโรหิตและมุ่งขึ้นเหนือเพื่อทำลายเมืองลายิศที่ไม่ระแวดระวัง. พวกเขาได้สร้างเมืองดานของตนขึ้นที่นั่นและตั้งรูปสลักของมีคาไว้. ดังนั้น พวกเขาจึงปฏิบัติศาสนาตามที่ตนเลือกเองตลอดสมัยที่พลับพลาการนมัสการแท้ของพระยะโฮวาอยู่ที่ซีโล.
25. ความขัดแย้งภายในชาติยิศราเอลถึงจุดสุดยอดที่ฆิบอาอย่างไร?
25 บาปของตระกูลเบนยามินที่ฆิบอา (19:1–21:25). เหตุการณ์ต่อไปที่มีบันทึกไว้ทำให้โฮเซอากล่าวในภายหลังว่า “โอ! ยิศราเอล, เจ้าได้ประพฤติชั่วเรื่อยมาตั้งแต่คราวฆิบอา.” (โฮ. 10:9) ชาวเลวีคนหนึ่งจากเอ็ฟรายิมที่เดินทางกลับบ้านพร้อมกับเมียน้อยได้ค้างแรมกับชายแก่คนหนึ่งในเมืองฆิบอาของตระกูลเบนยามิน. พวกทรชนในเมืองนี้มาล้อมบ้านไว้และเรียกร้องจะมีเพศสัมพันธ์กับชาวเลวี. อย่างไรก็ตาม พวกเขายอมรับเอาเมียน้อยของชายคนนั้นแทนและชำเรานางทั้งคืน. ตอนเช้าจึงพบว่านางตายอยู่ที่ธรณีประตู. ชาวเลวีนำศพเธอกลับบ้านและหั่นออกเป็น 12 ชิ้นแล้วส่งไปทั่วยิศราเอล. ด้วยวิธีนี้ ทั้ง 12 ตระกูลจึงถูกทดสอบ. พวกเขาจะลงโทษเมืองฆิบอาและกำจัดการผิดศีลธรรมจากยิศราเอลหรือไม่? พวกเบนยามินเพิกเฉยต่ออาชญากรรมที่ชั่วช้านี้. ตระกูลอื่น ๆ ชุมนุมต่อพระยะโฮวาที่มิศพา ที่ซึ่งพวกเขาจับฉลากลงมติเพื่อจะยกไปต่อสู้พวกเบนยามินที่ฆิบอา. หลังจากพ่ายแพ้อย่างนองเลือดสองครั้ง ตระกูลทั้งหลายก็ประสบผลสำเร็จด้วยการซุ่มโจมตีและแทบจะกำจัดทั้งตระกูลเบนยามิน มีผู้ชายแค่ 600 คนเท่านั้นที่หนีรอดไปยังผาริมโมน. ต่อมาชาวยิศราเอลรู้สึกเสียใจที่หนึ่งตระกูลถูกตัดออก. แต่ก็พบโอกาสจัดหาภรรยาให้กับคนตระกูลเบนยามินที่รอดชีวิต โดยหาจากพวกลูกสาวของชาวเมืองยาเบศฆีละอาดและของชาวเมืองซีโล. เหตุการณ์นี้ได้ปิดฉากความขัดแย้งและความปลิ้นปล้อนในยิศราเอล. ดังคำพูดลงท้ายพระธรรมวินิจฉัยกล่าวซ้ำที่ว่า “ขณะนั้นพวกยิศราเอลไม่มีกษัตริย์: ต่างคนต่างก็ทำตามลำพังใจตนเอง.”—วินิจ. 21:25.
เหตุที่เป็นประโยชน์
26. คำเตือนอันทรงพลังอะไรบ้างในพระธรรมวินิจฉัยที่ใช้ได้กับสมัยนี้ด้วย?
26 พระธรรมวินิจฉัยไม่ใช่แค่บันทึกเรื่องการต่อสู้และการนองเลือดเท่านั้น แต่ยกย่องพระยะโฮวาในฐานะเป็นผู้ช่วยให้รอดองค์ยิ่งใหญ่แห่งไพร่พลของพระองค์. พระธรรมนี้เผยให้เห็นวิธีที่พระองค์ทรงสำแดงความเมตตาอันหาที่เปรียบมิได้และความอดกลั้นทนนานต่อไพร่พลที่ถูกเรียกตามพระนามของพระองค์เมื่อพวกเขามาหาพระองค์ด้วยหัวใจที่สำนึกผิดกลับใจ. พระธรรมวินิจฉัยเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่สนับสนุนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องการนมัสการพระยะโฮวาและในด้านคำเตือนอันทรงพลังเกี่ยวกับความโง่เขลาของศาสนาแบบผีปิศาจ, การรวมความเชื่อ, และการคบหาที่ผิดศีลธรรม. การที่พระยะโฮวาทรงตำหนิอย่างรุนแรงต่อการนมัสการพระบาละควรกระตุ้นเราให้อยู่ห่างจากคู่เทียบในสมัยปัจจุบันคือ ลัทธิวัตถุนิยม, ชาตินิยม, และการผิดศีลธรรมทางเพศ.—2:11-18.
27. พวกเราทุกวันนี้อาจได้รับประโยชน์อย่างไรจากตัวอย่างที่ดีของพวกผู้วินิจฉัย?
27 การตรวจสอบความเชื่อที่กล้าหาญปราศจากความกลัวของพวกผู้วินิจฉัยควรกระตุ้นให้เกิดความเชื่อแบบเดียวกันในหัวใจเรา. ไม่แปลกที่มีการกล่าวถึงพวกเขาด้วยความนิยมยกย่องที่เฮ็บราย 11:32-34! พวกเขาเป็นผู้ต่อสู้เพื่อทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ แต่ไม่ใช่ด้วยกำลังของตนเอง. พวกเขาทราบแหล่งที่มาแห่งกำลังของเขา ซึ่งก็คือพระวิญญาณของพระยะโฮวา และพวกเขายอมรับข้อนี้ด้วยใจถ่อม. เช่นเดียวกัน พวกเราในสมัยนี้สามารถจับ “พระแสงแห่งพระวิญญาณ” อันได้แก่พระคำของพระเจ้า โดยมั่นใจว่าพระองค์จะประทานกำลังให้เราเช่นเดียวกับที่ประทานแก่บาราค, ฆิดโอน, ยิพธา, ซิมโซน, และคนอื่น ๆ. ถูกแล้ว ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระยะโฮวาในการเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ที่ใหญ่โต เราจะแข็งแรงฝ่ายวิญญาณได้เหมือนซิมโซนแข็งแรงด้านร่างกาย ถ้าเราเพียงแต่อธิษฐานถึงพระยะโฮวาและหมายพึ่งพระองค์.—เอเฟ. 6:17, 18; วินิจ. 16:28.
28. พระธรรมวินิจฉัยชี้ไปยังการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์อย่างไรโดยทางพงศ์พันธุ์แห่งราชอาณาจักร?
28 มีสองแห่งที่ผู้พยากรณ์ยะซายาอ้างถึงพระธรรมวินิจฉัยเพื่อแสดงว่าพระยะโฮวาจะทำลายแอกที่ศัตรูวางไว้เหนือไพร่พลของพระองค์อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทำมาแล้วในสมัยของพวกมิดยาน. (ยซา. 9:4; 10:26) เรื่องนี้เตือนใจเราเช่นกันให้ระลึกถึงเพลงของดะโบราและบาราคซึ่งจบลงด้วยคำอธิษฐานอย่างเร่าร้อนที่ว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา: ขอให้ศัตรูของพระองค์พินาศเสื่อมสูญไปเช่นนั้นทั้งสิ้น, แต่โปรดให้ผู้ที่รักพระองค์เป็นดุจดวงอาทิตย์อันส่องอย่างกล้า.” (วินิจ. 5:31) และใครเป็นผู้ที่รักเหล่านั้น? พระเยซูคริสต์เองทรงใช้สำนวนคล้าย ๆ กันที่มัดธาย 13:43 เพื่อแสดงว่าพวกเขาเป็นรัชทายาทแห่งราชอาณาจักร ที่ว่า “คราวนั้นผู้ชอบธรรมจะรุ่งเรืองอยู่ในแผ่นดินพระบิดาของเขาดุจแสงดวงอาทิตย์.” ด้วยเหตุนี้ พระธรรมวินิจฉัยจึงชี้ไปยังเวลาเมื่อพระเยซู ผู้วินิจฉัยผู้ชอบธรรมและพงศ์พันธุ์แห่งราชอาณาจักร จะทรงใช้อำนาจ. โดยทางพระองค์ พระยะโฮวาจะทรงทำให้พระนามของพระองค์ได้รับเกียรติและเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ สอดคล้องกับคำอธิษฐานของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่เกี่ยวกับพวกศัตรูของพระเจ้าที่ว่า “ขอทรงกระทำแก่เขาเหมือนพระองค์ได้ทรงกระทำแก่พวกมิดยาน, พวกซีซะรา, พวกยาบินที่ลำธารคีโซน; . . . เพื่อให้เขารู้ว่าพระองค์ผู้เดียว, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.”—เพลง. 83:9, 18; วินิจ. 5:20, 21.
[เชิงอรรถ]
a ฉบับแปลสมัยใหม่ส่วนใหญ่ยืนยันว่า “ประมาณสี่ร้อยห้าสิบปี” ที่กิจการ 13:19 ไม่ ตรง กับ ระยะเวลาของผู้วินิจฉัยแต่อยู่ก่อนหน้านั้น; ปีเหล่านั้นดูเหมือนครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่การกำเนิดของยิศฮาคในปี 1918 ก.ส.ศ. ถึงการแบ่งแผ่นดินแห่งคำสัญญาในปี 1467 ก.ส.ศ. (การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ ภาษาอังกฤษ เล่ม 1 หน้า 462) ลำดับของผู้วินิจฉัยตามที่กล่าวไว้ในเฮ็บราย 11:32 ต่างไปจากลำดับในพระธรรมวินิจฉัย แต่ข้อเท็จจริงนี้ไม่จำเป็นต้องระบุว่า เหตุการณ์ในวินิจฉัยไม่เป็นไปตามลำดับเวลา เพราะซามูเอลไม่ได้มาทีหลังดาวิดแน่นอน.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 228-229, 948.