“กระบี่พระยะโฮวาและฆิดโอน!”
ฝ่ายศัตรูมีจำนวนมากมายเหมือนฝูงตั๊กแตนที่ลงกินพืชผลในไร่นาเสียหายจนกลายเป็นที่ร้างเปล่า. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยผู้วินิจฉัยปกครองแผ่นดินอิสราเอล และชาวอิสราเอลอับจนสิ้นหวัง. เป็นเวลาเจ็ดปีติดต่อกัน พอเมล็ดพืชที่หว่านลงในดินงอกเป็นต้นอ่อน ชาวเมืองมิดยานทั้งพวกอะมาเลคกับชาวเมืองฝ่ายตะวันออกก็ขี่อูฐยกพวกมาย่ำยีราวีแผ่นดินอิสราเอล. พวกปล้นเมืองปล่อยให้ฝูงสัตว์ของตนไปกินพืชผักทุกชนิดตามทุ่งหญ้าเป็นอาหาร. แต่ชาวอิสราเอลทั้งปวงนั้นไม่มีแม้แต่ลาหรือวัวหรือแกะ. การปกครองของชาวมิดยานร้ายกาจน่ากลัวมาก ทำให้ชาติอิสราเอลลำบากยากเข็ญกระทั่งต้องใช้วิธีซุกซ่อนอาหารไว้ตามซอกเขา, ในถ้ำ, หรือในที่ที่จะเข้าถึงยาก.
เหตุใดจึงตกอยู่ในสภาพลำบากเช่นนั้น? พวกอิสราเอลที่ออกหากปฏิบัติพระเท็จ. พระยะโฮวาจึงทรงปล่อยพวกเขาไว้ในมือผู้กดขี่. ครั้นลูกหลานชาวอิสราเอลทนต่อไปไม่ไหว พวกเขาร้องขอการช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. พระองค์จะสดับฟังไหม? ประสบการณ์ของพวกอิสราเอลสอนอะไรแก่เรา?—วินิจฉัย 6:1-6.
เกษตรกรที่ระแวดระวัง หรือ “บุรุษกล้าหาญ”?
เกษตรกรชาวอิสราเอลโดยทั่วไปได้ใช้วัวลากเลื่อนนวดข้าวและมักจะนวดในที่โล่งโปร่ง ให้ลมช่วยพัดเอาแกลบที่หลุดจากเมล็ดข้าวออกไป. แต่การนวดข้าวย่อมเป็นที่สังเกตเห็นได้ง่ายสำหรับพวกปล้นที่เข้ามาคุกคามและแย่งชิงแผ่นดิน. ดังนั้น เพื่อหลบซ่อนให้พ้นตาชาวมิดยาน ฆิดโอนจึงนวดข้าวสาลีในเครื่องหีบน้ำองุ่น—น่าจะเป็นบ่อหินสกัดขนาดใหญ่ซุกซ่อนอยู่ในที่กำบัง. (วินิจฉัย 6:11) ที่นั่นคงเหมาะที่จะใช้ไม้เรียวฟาดฟ่อนข้าวสาลีกองย่อม ๆ เท่านั้น. ในสถานการณ์เช่นนั้น ฆิดโอนย่อมต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งที่พอจะหาได้จากแถบนั้น.
ลองนึกภาพฆิดโอนซึ่งรู้สึกประหลาดใจตอนที่ทูตของพระยะโฮวาได้มาปรากฏแก่ท่านและกล่าวว่า “ท่านบุรุษกล้าหาญเอ๋ย, พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ด้วยท่าน.” (วินิจฉัย 6:12) ฐานะผู้ซ่อนตัวแอบนวดข้าวสาลีในบ่อหินหีบน้ำองุ่น ฆิดโอนต้องรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนกล้า. กระนั้น ถ้อยคำที่ทูตสวรรค์ได้แจ้งแก่ท่านแสดงว่าพระเจ้าทรงมั่นพระทัยว่าฆิดโอนสามารถเป็นผู้นำที่กล้าหาญในแผ่นดินอิสราเอลได้. กระนั้นก็ดี ฆิดโอนยังต้องการความมั่นใจ.
เมื่อพระยะโฮวามอบหมายให้ท่าน “ไปช่วยพวกยิศราเอลให้พ้นมือมิดยาน” ฆิดโอนทูลตอบอย่างเจียมตัวดังนี้: “ข้าแต่พระองค์ ข้าพเจ้าจะช่วยพวกยิศราเอลให้รอดพ้นอย่างไรได้? ด้วยเชื้อวงศ์ของข้าพเจ้าต่ำในตระกูลมะนาเซ ส่วนข้าพเจ้าเป็นผู้น้อยที่สุดในวงศ์ของบิดา.” ฆิดโอนผู้รอบคอบถึงกับทูลขอหมายสำคัญว่าพระเจ้าจะสถิตอยู่ด้วยเมื่อท่านโจมตีชาวมิดยาน และพระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยกระทำตามความประสงค์อันมีเหตุผลของฆิดโอนเพื่อให้ท่านแน่ใจ. ดังนั้น ฆิดโอนจึงนำอาหารมาถวายแก่ทูตสวรรค์ผู้มาเยือน และมีไฟไหม้โพลงขึ้นจากศิลาเผาไหม้ของถวายหมด. หลังจากพระยะโฮวาได้ตรัสปลอบใจฆิดโอนให้หายกลัวแล้ว ฆิดโอนก่อแท่นบูชา ณ ที่นั่น.—วินิจฉัย 6:12-24.
“ให้บาละต่อสู้ความฝ่ายตนเอง”
ปัญหาใหญ่ที่สุดของชาติอิสราเอลหาใช่เพราะถูกชาวมิดยานกดขี่ไม่. ปัญหาคือการตกเป็นทาสของการนมัสการพระบาละต่างหาก. พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าผู้หวงแหน” และไม่มีใครสามารถปฏิบัติพระองค์ในแบบที่ยอมรับได้หากยังนมัสการพระเจ้าองค์อื่น ๆ ด้วย. (เอ็กโซโด 34:14) ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวาทรงบัญชาฆิดโอนให้ทำลายแท่นบูชาบาละที่บิดาของท่านได้ก่อขึ้น ทั้งบัญชาให้โค่นเสาศักดิ์สิทธิ์เสีย. ด้วยความกลัวว่าบิดาและคนอื่น ๆ จะต่อต้านหากท่านลงมือรื้อทำลายแท่นในเวลากลางวัน ฆิดโอนจึงปฏิบัติการตอนกลางคืน พร้อมด้วยคนใช้สิบคนเป็นผู้ช่วย.
ความรอบคอบของฆิดโอนมีเหตุผลอันควร เพราะเมื่อชาวเมืองที่นมัสการพระบาละรู้ว่ามีการ “ดูหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์” พวกเขาเรียกร้องให้ฆ่าท่าน. อย่างไรก็ตาม โยอาศบิดาของฆิดโอนหาเหตุผลที่ไม่อาจโต้แย้งได้กับชาวเมืองว่าถ้าบาละเป็นพระเจ้า บาละคงจะสามารถต่อสู้ปกป้องตนเองได้. แล้วโยอาศได้ตั้งชื่อบุตรชายอย่างเหมาะสมว่ายะรูบาละ หมายความว่า “ให้บาละต่อสู้ความฝ่ายตนเอง.”—วินิจฉัย 6:25-32.
พระเจ้าทรงอวยพรผู้รับใช้ของพระองค์เสมอเพราะการยึดมั่นกับการนมัสการแท้อย่างกล้าหาญ. ครั้นชาวมิดยานพร้อมด้วยพันธมิตรรุกล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่ของชาวอิสราเอลอีก “พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาสวมทับฆิดโอน.” (วินิจฉัย 6:34) โดยการพึ่งในอิทธิฤทธิ์พระวิญญาณหรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้า ฆิดโอนได้รวบรวมกองกำลังจากตระกูลมะนาเซห์, อาเชอร์, ซะบูโลน, และนัฟทาลี.—วินิจฉัย 6:35.
เตรียมปฏิบัติการ
แม้ตอนนั้นฆิดโอนมีรี้พลถึง 32,000 นาย แต่ท่านก็ทูลขอพระเจ้าให้หมายสำคัญ. ถ้าขนแกะที่ทิ้งไว้บนลานนวดข้าวเปียกน้ำค้างทั้ง ๆ ที่ลานแห้ง นั่นจะเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระเจ้าทรงช่วยชาติอิสราเอลให้รอดผ่านทางฆิดโอน. พระยะโฮวาทรงกระทำการอัศจรรย์นี้ และฆิดโอนรับการยืนยันเมื่อหมายสำคัญเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม นั่นคือดินรอบ ๆ ลานเปียกน้ำค้างแต่ขนแกะแห้งดี. ฆิดโอนระมัดระวังมากเกินไปไหม? คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะพระยะโฮวาโปรดให้ตามที่ขอเพื่อท่านจะได้แน่ใจอีกครั้งหนึ่ง. (วินิจฉัย 6:36-40) พวกเราไม่คาดหมายการอัศจรรย์อย่างนั้นในปัจจุบัน. แต่เราจะรับการนำทางและคำรับรองให้แน่ใจได้จากพระคำของพระองค์.
พอถึงขั้นนี้พระเจ้าตรัสว่าฆิดโอนมีรี้พลมากเกินไป. ถ้าพวกเขาทำให้ศัตรูพ่ายแพ้ด้วยกองกำลังใหญ่โตเช่นนั้น ชาวอิสราเอลอาจอวดตัวว่าเขาได้ช่วยตัวเองให้รอด. แต่พระยะโฮวาต่างหากต้องรับชื่อเสียงเกียรติยศจากชัยชนะที่กำลังจะได้มานั้น. ปัญหานี้แก้อย่างไร? ฆิดโอนต้องทำตามพระบัญญัติของโมเซโดยบอกให้คนขลาดกลัวถอนตัวเสีย. ฉะนั้น 22,000 คนที่ได้อยู่กับท่านจึงกลับไป เหลือเพียง 10,000 คน.—พระบัญญัติ 20:8; วินิจฉัย 7:2, 3.
จากแง่คิดของพระเจ้า คนที่เหลืออยู่ก็ยังมากเกินไป. พระเจ้าตรัสสั่งฆิดโอนให้พาพวกเขาไปที่ริมแม่น้ำ. โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวบอกว่าพระเจ้ารับสั่งแก่ฆิดโอนให้นำทัพไปยังแม่น้ำในช่วงของวันที่แดดร้อน. ไม่ว่าสภาพแวดล้อมเป็นเช่นไร ฆิดโอนคอยสังเกตท่าทางดื่มน้ำของพวกทหาร. มีเพียงสามร้อยคนที่วักน้ำขึ้นมาเลียพลางเฝ้าระวังการโจมตีของข้าศึกไปด้วย. เฉพาะคนระแวดระวัง 300 คนได้ไปกับฆิดโอน. (วินิจฉัย 7:4-8) นึกภาพตัวคุณเองในสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญอยู่. เนื่องจากฝ่ายศัตรูมีมากถึง 135,000 คน คุณต้องลงความเห็นแน่ ๆ ว่าการได้ชัยชนะนั้นย่อมเป็นไปโดยฤทธิ์เดชของพระยะโฮวาเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยกำลังของคุณเอง!
พระเจ้ารับสั่งแก่ฆิดโอนให้พาผู้ติดตามไปด้วยคนหนึ่งเพื่อสืบเหตุการณ์ภายในค่ายมิดยาน. ระหว่างอยู่ที่นั่น ฆิดโอนแอบได้ยินชายคนหนึ่งเล่าความฝันให้เพื่อนฟัง ซึ่งเพื่อนก็ไม่รั้งรอจะแก้ฝันว่าพระเจ้าทรงมุ่งพระทัยให้ฆิดโอนชนะกองทัพมิดยาน. นี่เป็นการหนุนกำลังใจตามที่ฆิดโอนต้องการอยู่ทีเดียว. ท่านแน่ใจว่าพระยะโฮวาจะโปรดให้ท่านและกำลังพลอีก 300 นายชนะพวกมิดยาน.—วินิจฉัย 7:9-15.
แผนยุทธศาสตร์
สามร้อยคนนั้นถูกแบ่งออกเป็นสามหมู่ หมู่ละ 100 คน. ทุกคนได้รับแจกเขาสัตว์และหม้อเปล่าใบใหญ่ มีไต้จุดลุกอยู่ภายใน. คำสั่งแรกของฆิดโอนคือ ‘คอยดูฉันให้ดีและทำตาม. พอฉันเป่าเขาสัตว์ พวกเจ้าก็จงเป่าตาม แล้วตะโกนว่า “กระบี่พระยะโฮวาและฆิดโอน!”’—วินิจฉัย 7:16-18, 20.
ทหารอิสราเอล 300 นายค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้าล้อมเลียบค่ายฝ่ายศัตรู. เวลาตอนนั้นประมาณสี่ทุ่ม เพิ่งเปลี่ยนเวรยามได้ไม่นาน. ช่วงเวลานี้ดูเหมือนเหมาะจะทำการจู่โจม เพราะกว่าทหารยามที่เพิ่งเปลี่ยนเวรใหม่จะปรับสายตาให้ชินกับความมืดก็คงใช้เวลานานพอสมควร.
ตอนนี้ทหารชาวมิดยานต้องตกใจกลัวสุดขีดเพียงไร! ทันทีทันใดในความเงียบสงัด พวกเขางงงวยและตกตะลึงเมื่อได้ยินเสียงต่อยหม้อ 300 ใบแตกพร้อมกับเสียงของ 300 คนเป่าแตรเขาสัตว์ดังสนั่นและเสียงกู่ตะโกนของผู้ชาย 300 คน. นี่ทำให้ทหารมิดยานตื่นตะลึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเสียงร้องก้องดังขึ้นว่า “กระบี่พระยะโฮวาและฆิดโอน!” อีกทั้งมีเสียงเอ็ดอึงของชาวมิดยานเพิ่มเข้าไปด้วย. ยามโกลาหลเช่นนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะจำแนกออกว่าใครคือเพื่อนใครคือศัตรู. ส่วนชาย 300 คนฝ่ายฆิดโอนต่างก็ยืนเรียงล้อมค่ายประจำที่ของตนตามที่ถูกมอบหมาย ขณะที่พระเจ้าบันดาลใจพวกศัตรูยกดาบฆ่าฟันกันเอง. ค่ายถูกปิดล้อมไว้ทุกด้าน หมดทางหนี และหลังจากได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดก็เข้ายึดพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการไล่ล่าพวกมิดยานอย่างทรหดเพื่อกำจัดให้สิ้นซาก. การเข้ายึดและเหยียบย่ำแผ่นดินอิสราเอลเป็นเวลานานในที่สุดก็สิ้นสุดลง.—วินิจฉัย 7:19-25; 8:10-12, 28.
ฆิดโอนเป็นคนเจียมตัว กระทั่งภายหลังได้ชัยชนะครั้งนี้แล้ว. ดูเหมือนว่าชาวเอฟรายิมรู้สึกไม่พอใจที่ไม่มีการชวนพวกตนไปร่วมรบ เลยพาลหาเหตุพิพาท แต่ฆิดโอนได้ตอบด้วยถ้อยคำอ่อนโยน. คำพูดที่นุ่มนวลของท่านทำให้ชาวเอฟรายิมหายโกรธและระงับอารมณ์ได้.—วินิจฉัย 8:1-3; สุภาษิต 15:1.
บัดนี้ สันติสุขได้ตั้งมั่นคงแล้ว ชาวอิสราเอลขอร้องฆิดโอนให้เป็นกษัตริย์ปกครองพวกเขา. ช่างเป็นสิ่งล่อใจเสียจริง ๆ! แต่ฆิดโอนปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่งนั้น. ท่านไม่ได้มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าใครเป็นผู้ปราบชาวมิดยาน. ท่านแจ้งดังนี้: “เราและบุตรของเราจะไม่ปกครองท่านทั้งหลาย: ด้วยพระยะโฮวาจะทรงปกครองท่านทั้งหลาย.”—วินิจฉัย 8:23.
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ ฆิดโอนไม่ได้ตัดสินถูกต้องทุกครั้งไป. โดยไม่มีการระบุถึงเหตุผล ท่านได้นำของที่ริบได้จากการสู้รบแล้วเอามาทำเอโฟด และตั้งแสดงไว้ในเมืองของท่านให้ผู้คนได้รู้เห็น. บันทึกบอกว่าชาวอิสราเอลทั้งปวงเริ่มทำ “ผิดประเพณี” กับเอโฟด. พวกเขานมัสการเอโฟด และเอโฟดนั้นกลายเป็นบ่วงแร้วสำหรับฆิดโอนและครอบครัวของท่านด้วยซ้ำ. กระนั้น ท่านไม่ได้กลายเป็นคนไหว้รูปเคารพ เพราะพระคัมภีร์นับท่านรวมอยู่กับกลุ่มชนที่มีความเชื่อในพระยะโฮวา.—วินิจฉัย 8:27; เฮ็บราย 11:32-34.
บทเรียนสำหรับพวกเรา
ประวัติชีวิตฆิดโอนเป็นบทเรียนแก่เราทั้งด้านการเตือนสติและการชูใจ. ประวัติชีวิตฆิดโอนเตือนสติเราว่าถ้าพระยะโฮวาทรงถอนพระวิญญาณและพระพรของพระองค์ไปจากเราเพราะการประพฤติที่ดื้อกระด้าง สภาพฝ่ายวิญญาณของเราจะกลายเป็นเหมือนคนยากจนข้นแค้นที่อาศัยในแผ่นดินซึ่งประสบความเสียหายจากภัยตั๊กแตน. พวกเรามีชีวิตในยุควิกฤติ และควรจดจำอยู่เสมอว่าพระพรของพระยะโฮวา “กระทำให้เกิดความมั่งคั่ง; และพระองค์จะไม่เพิ่มความทุกข์ยากให้เลย.” (สุภาษิต 10:22) เราได้รับพระพรจากพระเจ้า เพราะเรา “ปฏิบัติพระองค์ด้วยหัวใจครบถ้วน และด้วยจิตใจชื่นบาน.” ไม่เช่นนั้น พระองค์ก็จะปฏิเสธเรา.—1 โครนิกา 28:9, ล.ม.
เราสามารถรับเอาการชูใจจากบันทึกเกี่ยวกับฆิดโอนเพราะปรากฏให้เห็นแล้วว่าพระยะโฮวาทรงช่วยประชาชนของพระองค์พ้นห้วงอันตรายต่าง ๆ ได้ กระทั่งทรงใช้คนที่ดูเหมือนอ่อนกำลังหรือช่วยตัวเองไม่ได้. การที่ฆิดโอนและกำลังคน 300 นายสามารถปราบชาวมิดยานจำนวน 135,000 คนจนพ่ายแพ้ก็เป็นหลักฐานบ่งชี้ฤทธิ์อำนาจสุดคณนาของพระเจ้า. เราอาจเจอด้วยตัวเองในสภาพคับแค้นสิ้นหวังและอาจดูเหมือนหมดทางสู้ศัตรูที่มีจำนวนมากกว่า. กระนั้น บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลว่าด้วยเรื่องราวของฆิดโอนให้กำลังใจเราที่จะวางใจพระยะโฮวา ผู้ซึ่งจะอวยพรพวกเราและโปรดช่วยทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระองค์.