พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมซามูเอลฉบับต้น
ตอนนั้นเป็นปี 1117 ก่อนสากลศักราช. ประมาณสามร้อยปีหลังจากยะโฮซูอะยึดครองแผ่นดินตามคำสัญญาได้สำเร็จ. พวกผู้เฒ่าผู้แก่ชาวอิสราเอลมาหาผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาพร้อมกับคำร้องขอที่พิเศษอย่างหนึ่ง. ผู้พยากรณ์ทูลอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้น และพระยะโฮวาทรงอนุญาตตามที่พวกเขาร้องขอ. นี่เป็นการสิ้นสุดสมัยผู้วินิจฉัยและเป็นการเริ่มต้นยุคที่อิสราเอลมีกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ปกครอง. พระธรรมซามูเอลฉบับต้นพรรณนาเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอล.
พระธรรมซามูเอลฉบับต้นซึ่งเขียนโดยซามูเอล, นาธาน, และฆาดครอบคลุมระยะเวลา 102 ปี คือตั้งแต่ปี 1180 ถึง 1078 ก่อน ส.ศ. (1 โครนิกา 29:29) พระธรรมนี้เป็นเรื่องราวของผู้นำสี่คนของชาติอิสราเอล. สองคนเป็นผู้วินิจฉัย อีกสองคนเป็นกษัตริย์; สองคนเชื่อฟังพระยะโฮวา อีกสองคนไม่เชื่อฟัง. เรายังได้รู้จักผู้หญิงที่เป็นแบบอย่างที่ดีสองคนกับนักรบที่กล้าหาญทว่าอ่อนโยนอีกผู้หนึ่งด้วย. ตัวอย่างเหล่านี้ให้บทเรียนที่มีค่าแก่เราในเรื่องเจตคติและการกระทำที่ควรเลียนแบบและควรหลีกเลี่ยง. ฉะนั้น เนื้อหาของพระธรรมซามูเอลฉบับต้นจึงสามารถส่งผลกระทบต่อความคิดและการกระทำของเราได้.—เฮ็บราย 4:12.
ซามูเอลเป็นผู้วินิจฉัยต่อจากเอลี
คราวนั้นเป็นช่วงเทศกาลเลี้ยงฉลองการเก็บเกี่ยวผล และนางฮันนาซึ่งอาศัยในเมืองรามาห์ก็ตื่นเต้นยินดีอย่างยิ่ง.a พระยะโฮวาได้ทรงตอบคำอธิษฐานของนาง และนางได้ให้กำเนิดบุตรชาย. นางฮันนาทำตามที่ได้ปฏิญาณไว้โดยถวายซามูเอลบุตรชายให้ทำงานรับใช้ที่ “พลับพลาพระยะโฮวา.” ที่นั่น เด็กน้อยซามูเอลได้ “ปฏิบัติพระยะโฮวาต่อหน้าเอลีผู้ปุโรหิต.” (1 ซามูเอล 1:24; 2:11) เมื่อซามูเอลยังเด็กมาก พระยะโฮวาตรัสกับท่านและทรงบอกเรื่องการพิพากษาลงโทษเชื้อวงศ์ของเอลี. เมื่อซามูเอลโตขึ้น ประชาชนในชาติอิสราเอลทุกคนยอมรับท่านฐานะผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา.
ต่อมา ชาวฟิลิสตินยกทัพมารบกับชาติอิสราเอล. พวกนั้นยึดหีบสัญญาไมตรีไปและสังหารบุตรชายสองคนของเอลี. เมื่อเอลีผู้ชราทราบข่าวก็ล้มลงตาย โดยท่านได้ “วินิจฉัยคนอิสราเอลอยู่สี่สิบปี.” (1 ซามูเอล 4:18, ฉบับแปลใหม่) เมื่อการครอบครองหีบสัญญาไมตรีนำภัยพิบัติมาให้ ชาวฟิลิสตินจึงคืนหีบนั้นให้แก่ชาวอิสราเอล. ขณะนั้นซามูเอลเป็นผู้วินิจฉัยของชาติอิสราเอล และแผ่นดินก็มีความสงบสุข.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
2:10—ทำไมนางฮันนาจึงอธิษฐานขอพระยะโฮวา “พระราชทานอิทธิฤทธิ์ให้แก่กษัตริย์ของพระองค์” ในเมื่อขณะนั้นชาติอิสราเอลไม่มีกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ปกครอง? เรื่องที่ว่าชาวอิสราเอลจะมีกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์นั้นมีบอกไว้ล่วงหน้าแล้วในพระบัญญัติที่พระเจ้าประทานผ่านทางโมเซ. (พระบัญญัติ 17:14-18) เมื่อยาโคบใกล้จะสิ้นใจ ท่านพยากรณ์ว่า “ไม้ธารพระกร [สัญลักษณ์แสดงอำนาจของกษัตริย์] จะไม่ขาดไปจากยูดา.” (เยเนซิศ 49:10) นอกจากนั้น พระยะโฮวาได้ตรัสถึงนางซาราห์บรรพสตรีของชาวอิสราเอลว่า “กษัตริย์ของพลเมืองต่าง ๆ จะเกิดมาจากนาง.” (เยเนซิศ 17:16) ดังนั้น นางฮันนาจึงอธิษฐานเกี่ยวกับกษัตริย์ที่จะปกครองในอนาคต.
3:3—ซามูเอลนอนในที่บริสุทธิ์ที่สุดจริง ๆ ไหม? ไม่. ซามูเอลเป็นคนตระกูลเลวีเชื้อวงศ์โคฮาธซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่ปุโรหิต. (1 โครนิกา 6:33-38) ฉะนั้น ท่านไม่ได้รับอนุญาตให้ “เข้าไปมองของบริสุทธิ์.” (อาฤธโม 4:17-20, ฉบับแปลใหม่) ส่วนเดียวของสถานศักดิ์สิทธิ์ที่ซามูเอลเข้าไปได้คือลานพลับพลา. นี่คงเป็นที่ที่ท่านนอน. ดูเหมือนว่าเอลีก็นอนในลานพลับพลาเช่นกัน. ถ้อยคำที่ว่า “ที่เก็บหีบสัญญาไมตรีของพระเจ้าไว้นั้น” จึงต้องหมายถึงบริเวณพลับพลาทั้งหมด.
7:7-9, 17—ทำไมซามูเอลจึงถวายเครื่องบูชาเผาที่เมืองมิซพาห์และสร้างแท่นบูชาที่เมืองรามาห์ เพราะเครื่องบูชาจะต้องถูกถวายเป็นประจำ ณ สถานที่ที่พระยะโฮวาทรงเลือกเท่านั้น? (พระบัญญัติ 12:4-7, 13, 14; ยะโฮซูอะ 22:19) หลังจากหีบสัญญาไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ถูกย้ายออกจากพลับพลาที่เมืองชีโลห์แล้ว ไม่มีหลักฐานแสดงว่าพระยะโฮวาทรงสถิตที่นั่นอีกต่อไป. ดังนั้น ในฐานะตัวแทนของพระเจ้า ซามูเอลจึงถวายเครื่องบูชาเผาที่เมืองมิซพาห์และสร้างแท่นบูชาที่เมืองรามาห์ด้วย. ดูเหมือนว่าพระยะโฮวาทรงเห็นชอบกับการทำเช่นนั้น.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:11, 12, 21-23; 2:19. นางฮันนาให้ความสำคัญกับการอธิษฐาน, เป็นคนถ่อมใจ, หยั่งรู้ค่าพระกรุณาของพระยะโฮวา, และเป็นมารดาที่มีความรักใคร่ต่อบุตรอย่างไม่เสื่อมคลาย นางจึงเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับสตรีที่ยำเกรงพระเจ้าทุกคน.
1:8. เอ็ลคานาช่างเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ ในเรื่องการพูดหนุนใจผู้อื่น! (โยบ 16:5) เขาถามนางฮันนาที่กำลังโศกเศร้าโดยไม่ใช้คำถามเชิงตำหนิ แต่ถามว่า “เสียใจด้วยเรื่องอะไร?” นั่นทำให้นางกล้าพูดถึงความรู้สึกของตนเอง. แล้วเอ็ลคานาจึงทำให้นางมั่นใจในความรักของเขา โดยพูดว่า “ฉันไม่ดีกว่าบุตรชายสิบคนหรือ?”
2:26 (ฉบับแปลใหม่); 3:5-8, 15, 19. หากเราทำงานที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าอย่างขยันขันแข็งต่อ ๆ ไป, ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฝึกอบรมฝ่ายวิญญาณ, เป็นคนสุภาพและให้ความนับถือผู้อื่น เราจะเป็น “ที่ชอบมากขึ้น” ทั้งต่อพระเจ้าและคนอื่น ๆ.
4:3, 4, 10. แม้แต่ของที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างหีบสัญญาไมตรีก็ไม่ใช่เครื่องรางป้องกันอันตราย. เราต้อง “ระวังรักษาตัวให้ปราศจากรูปเคารพ.”—1 โยฮัน 5:21.
กษัตริย์องค์แรกของอิสราเอล—ความสำเร็จหรือความล้มเหลว?
ซามูเอลซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาตลอดชีวิตของท่าน แต่บุตรชายสองคนของท่านไม่ได้เดินในแนวทางของพระเจ้า. เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่ของอิสราเอลร้องขอให้มีกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ พระยะโฮวาทรงอนุญาตให้เขามีกษัตริย์องค์หนึ่ง. ซามูเอลทำตามที่พระยะโฮวาชี้นำและได้เจิมซาอูลหนุ่มรูปงามตระกูลเบนยามินให้เป็นกษัตริย์. ตำแหน่งกษัตริย์ของซาอูลมั่นคงยิ่งขึ้นเมื่อท่านรบชนะชาวอัมโมน.
โยนาธานราชบุตรผู้กล้าของซาอูลตีค่ายแห่งหนึ่งของพวกฟิลิสตินได้. พวกฟิลิสตินจึงยกกองทัพใหญ่มาสู้กับพวกอิสราเอล. ซาอูลกลัวมากและได้ถวายเครื่องบูชาเผาด้วยตัวเองซึ่งเป็นการไม่เชื่อฟังพระเจ้า. โยนาธานผู้กล้าหาญพาผู้ถือเครื่องรบของท่านเพียงคนเดียวโจมตีค่ายอีกแห่งหนึ่งของพวกฟิลิสติน. คำปฏิญาณที่หุนหันของซาอูลทำให้พวกอิสราเอลไม่ได้รับชัยชนะเด็ดขาด. ซาอูลต้อง “ทำศึกสงคราม” กับบรรดาศัตรูที่อยู่รอบด้าน. (1 ซามูเอล 14:47) แต่เมื่อเอาชนะพวกอะมาเลคได้ ท่านไม่ได้เชื่อฟังพระยะโฮวาโดยได้ไว้ชีวิตผู้ที่ “ต้องทำลายเสีย.” (เลวีติโก 27:28, 29, ฉบับแปลใหม่) ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวาจึงทรงถอดซาอูลออกจากตำแหน่งกษัตริย์.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
9:9—ถ้อยคำที่ว่า “ตามสมัยนี้เรียกว่าผู้ทำนาย [“ผู้พยากรณ์,” ล.ม.], แต่ก่อนก็เรียกว่าผู้สำเร็จญาณ” นั้นหมายความว่าอย่างไร? ถ้อยคำนี้อาจหมายความว่า เมื่อผู้พยากรณ์มีบทบาทมากขึ้นในสมัยของซามูเอลและในยุคที่อิสราเอลมีกษัตริย์ปกครอง คำว่า “ผู้สำเร็จญาณ” จึงถูกแทนที่ด้วยคำว่า “ผู้พยากรณ์.” ซามูเอลถูกถือว่าเป็นผู้พยากรณ์คนแรก.—กิจการ 3:24.
14:24-32, 44, 45—โยนาธานสูญเสียความโปรดปรานจากพระเจ้าไหมเมื่อท่านกินน้ำผึ้งซึ่งเป็นการทำผิดคำปฏิญาณของซาอูล? ดูเหมือนว่าการทำเช่นนั้นไม่ได้ทำให้โยนาธานสูญเสียความพอพระทัยจากพระเจ้า. ประการแรก โยนาธานไม่ทราบเรื่องคำปฏิญาณของราชบิดา. ยิ่งกว่านั้น คำปฏิญาณที่ซาอูลทำเพราะการมีใจแรงกล้าอย่างผิด ๆ หรือมีทัศนะที่ไม่ถูกต้องในเรื่องอำนาจฐานะกษัตริย์ได้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน. คำปฏิญาณอย่างนั้นจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าได้อย่างไร? แม้ว่าโยนาธานเต็มใจรับโทษเพราะได้ทำสิ่งที่ขัดกับคำปฏิญาณนั้น แต่ท่านก็ได้รับการไว้ชีวิต.
15:6—ทำไมชาวเคนีจึงได้รับความปรานีเป็นพิเศษจากซาอูล? ชาวเคนีเป็นลูกหลานของพ่อตาโมเซ. พวกเขาเคยช่วยเหลือชาวอิสราเอลหลังจากชาวอิสราเอลเดินทางออกจากภูเขาไซนาย. (อาฤธโม 10:29-32) เมื่ออยู่ในแผ่นดินคะนาอัน ชาวเคนีได้อาศัยอยู่กับลูกหลานของยูดาห์ระยะหนึ่ง. (วินิจฉัย 1:16) แม้ว่าต่อมาพวกเขาจะไปอาศัยอยู่ท่ามกลางชาวอะมาเลคและชนชาติอื่น ๆ แต่ชาวเคนีก็เป็นมิตรที่ดีของชาวอิสราเอล. ดังนั้น จึงมีเหตุผลที่ดีที่ซาอูลไว้ชีวิตชาวเคนี.
บทเรียนสำหรับเรา:
9:21; 10:22, 27 (ฉบับแปลใหม่). ความเจียมตัวและความถ่อมใจที่ซาอูลมีเมื่อแรกเป็นกษัตริย์ป้องกันท่านไม่ให้ทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่นเมื่อพวก “อันธพาล” บางคนไม่ยอมรับฐานะกษัตริย์ของท่าน. การมีทัศนะเช่นนั้นช่างเป็นการป้องกันเสียจริง ๆ ไม่ให้ทำสิ่งที่ไร้เหตุผล!
12:20, 21 (ฉบับแปลใหม่). เราต้องไม่ยอมให้ “สิ่งอนิจจัง” เช่น การวางใจมนุษย์, ความมั่นใจในกำลังทางทหารของชาติต่าง ๆ, หรือการไหว้รูปเคารพทำให้เราเลิกนมัสการพระยะโฮวา.
12:24. สิ่งสำคัญที่จะช่วยเราให้รักษาความยำเกรงต่อพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์ด้วยสุดหัวใจของเราคือ การ “ตริตรองดูเหตุการณ์ใหญ่ซึ่งพระองค์ทรงกระทำ” เพื่อประชาชนของพระองค์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน.
13:10-14; 15:22-25, 30. จงระวังอย่าทำเกินสิทธิ์ ไม่ว่าจะโดยการกระทำที่ไม่เชื่อฟังหรือโดยการมีความคิดถือดี.—สุภาษิต 11:2.
เด็กหนุ่มเลี้ยงแกะถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์
ซามูเอลเจิมดาวิดจากตระกูลยูดาห์ให้เป็นกษัตริย์ในอนาคต. หลังจากนั้นไม่นาน ดาวิดได้สังหารฆาละยัธยักษ์ใหญ่ชาติฟิลิสตินด้วยลูกสลิงเพียงลูกเดียว. มิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างดาวิดกับโยนาธานเริ่มต้นขึ้น. ซาอูลแต่งตั้งดาวิดเป็นแม่ทัพ. เนื่องจากดาวิดรบชนะมากมายหลายครั้ง พวกผู้หญิงชาวอิสราเอลจึงร้องเพลงว่า “ซาอูลได้ฆ่าคนนับตั้งพันแต่ส่วนดาวิดฆ่าคนนับตั้งหมื่น.” (1 ซามูเอล 18:7) ซาอูลอิจฉาดาวิดมากจึงหาทางฆ่าท่านเสีย. หลังจากถูกซาอูลพยายามฆ่าถึงสามครั้งดาวิดจึงหนีไปซ่อนตัว.
ระหว่างหลายปีที่ต้องหลบหนี ดาวิดไว้ชีวิตซาอูลถึงสองครั้ง. ท่านยังได้พบและในที่สุดก็แต่งงานกับอะบีฆายิลผู้งดงาม. เมื่อพวกฟิลิสตินยกทัพมาต่อสู้ชาวอิสราเอล ซาอูลทูลถามพระยะโฮวา. แต่พระยะโฮวาทรงทิ้งท่านเสียแล้ว. ซามูเอลสิ้นชีวิตแล้ว. ซาอูลเป็นทุกข์และหวาดกลัวจึงไปปรึกษาคนทรง แต่กลับได้ทราบว่าตนจะถูกสังหารในการรบกับพวกฟิลิสติน. ระหว่างการรบ ซาอูลได้รับบาดเจ็บสาหัส และราชบุตรสององค์ถูกฆ่า. เรื่องจบลงพร้อมกับการตายและความล้มเหลวของซาอูล. ดาวิดยังคงซ่อนตัวอยู่.
คำตอบสำหรับคำถามจากข้อพระคัมภีร์:
16:14 (ฉบับแปลใหม่)—วิญญาณชั่วอะไรที่รบกวนซาอูล? วิญญาณชั่วที่ทำให้จิตใจซาอูลไม่สงบคือแนวโน้มที่ชั่วในความคิดและหัวใจซึ่งเป็นแรงกระตุ้นภายในที่กระตุ้นให้ท่านทำผิด. เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาไม่สถิตกับซาอูลอีกต่อไป ท่านก็ไม่ได้รับการปกป้องจากพระวิญญาณบริสุทธิ์และถูกวิญญาณที่ชั่วร้ายของตนเองครอบงำ. เนื่องจากพระเจ้าทรงยอมให้วิญญาณนั้นเข้ามาแทนที่พระวิญญาณของพระองค์ วิญญาณชั่วนั้นจึงถูกเรียกว่า “วิญญาณชั่วจากพระเจ้า.”
17:55—เมื่อคำนึงถึง 1 ซามูเอล 16:17-23 ทำไมซาอูลจึงถามว่าดาวิดเป็นบุตรของใคร? คำถามของซาอูลไม่ได้เกี่ยวกับชื่อของบิดาดาวิดเท่านั้น. ท่านคงต้องการทราบว่าคนแบบไหนที่เป็นบิดาของเด็กหนุ่มที่ล้มฆาละยัธได้อย่างน่าอัศจรรย์.
บทเรียนสำหรับเรา:
16:6, 7. แทนที่จะประทับใจกับรูปโฉมภายนอกของคนอื่นหรือด่วนตัดสินพวกเขา เราต้องพยายามมองคนอื่นอย่างที่พระยะโฮวาทรงมอง.
17:47-50. เราสามารถเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญกับการต่อต้านหรือการข่มเหงจากศัตรูที่น่ากลัวเหมือนฆาละยัธได้ เพราะ “การสงครามนั้นเป็นของพระยะโฮวา.”
18:1, 3; 20:41, 42. เราจะพบเพื่อนแท้ได้ในท่ามกลางผู้ที่รักพระยะโฮวา.
21:12, 13. พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราใช้ความสามารถในการคิดและความชำนาญในด้านต่าง ๆ แก้สถานการณ์ที่ยุ่งยากในชีวิต. พระองค์ประทานพระคำที่ได้รับการดลใจแก่เรา ซึ่งทำให้เราเฉลียวฉลาด มีความรู้และความสามารถในการคิด. (สุภาษิต 1:4) และเรายังมีคริสเตียนผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งคอยช่วยเหลืออีกด้วย.
24:6; 26:11. ดาวิดช่างเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ในเรื่องการให้ความนับถืออย่างแท้จริงต่อผู้ที่พระยะโฮวาทรงเจิม!
25:23-33. อะบีฆายิลเป็นแบบอย่างในเรื่องการเป็นคนสุขุมรอบคอบ.
28:8-19. วิญญาณชั่วสามารถปลอมเป็นคนที่ตายไปแล้วได้เพื่อทำให้คนหลงเชื่อ หรือเพื่อทำร้ายพวกเขา. เราต้องรักษาตัวให้พ้นจากลัทธิภูตผีปิศาจทุกรูปแบบ.—พระบัญญัติ 18:10-12.
30:23, 24. การตัดสินใจของดาวิดซึ่งอาศัยอาฤธโม 31:27 แสดงว่าพระยะโฮวาทรงเห็นคุณค่าผู้ที่มีบทบาทคอยช่วยเหลือและสนับสนุนในประชาคม. ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะทำสิ่งใด ให้เรา “กระทำด้วยเต็มใจ, เหมือนกระทำถวายพระเจ้า, ไม่ใช่เหมือนกระทำแก่มนุษย์.”—โกโลซาย 3:23.
อะไร “ประเสริฐกว่าเครื่องบูชา”?
ความจริงพื้นฐานอะไรที่มีการเน้นในประสบการณ์ของเอลี, ซามูเอล, ซาอูล, และดาวิด? ก็คือความจริงที่ว่า “การเชื่อฟังก็ประเสริฐกว่าเครื่องบูชา, และการสดับฟังนั้นประเสริฐกว่ามันแกะตัวผู้อีก. เพราะว่าการกบฏนับว่าเป็นบาปเหมือนเล่ห์กลมารยา, และความดื้อดึงนับว่าเป็นบาปเหมือนการไหว้รูปเคารพ.”—1 ซามูเอล 15:22, 23.
นับว่าเป็นสิทธิพิเศษที่เราได้มีส่วนร่วมในงานประกาศราชอาณาจักรและในงานช่วยผู้คนให้มาเป็นสาวกซึ่งกำลังทำกันทั่วโลก! ขณะที่เรานำ “ผลแห่งริมฝีปาก . . . มาเป็นสักการบูชาต่างโค” ถวายแด่พระยะโฮวา เราต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเชื่อฟังการชี้นำที่พระองค์ประทานผ่านทางพระคำที่มีการจารึกไว้และผ่านทางองค์การของพระองค์บนแผ่นดินโลกนี้.—โฮเซอา 14:2; เฮ็บราย 13:15.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับที่ตั้งของสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งกล่าวถึงในพระธรรมซามูเอลฉบับต้น โปรดดูจุลสาร “ไปดูแผ่นดินอันดี” หน้า 18-19 ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 23]
กษัตริย์องค์แรกของอิสราเอลผู้เจียมตัวและถ่อมใจกลับกลายเป็นกษัตริย์ที่เย่อหยิ่งและทำเกินสิทธิ์
[ภาพหน้า 24]
เมื่อเผชิญการต่อต้านจากศัตรูที่น่ากลัวเหมือนฆาละยัธเรามั่นใจได้ในเรื่องอะไร?